“ยินดีต้อนรับสู่นรกของฉัน” ซีรีส์ The Glory ที่เล่าถึงเรื่องราวของหญิงคนหนึ่งที่จิตวิญญาณแตกสลาย จากเหตุการณ์ความรุนแรงในโรงเรียนที่ได้ประสบเมื่อวัยเด็ก ทำให้ประเด็น “ความรุนแรงภายในโรงเรียน” และ “การบูลลี่” กลายมาเป็น “จุดสนใจ” อีกครั้ง
องค์การยูนิเซฟ เผยตัวเลข “เด็กถูกทำร้าย” ทั่วโลก ว่า แต่ละปีจะมีเด็กในอัตราเฉลี่ย 4.2 คนใน 100 คน เป็นเหยื่อการใช้ความรุนแรง ทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ และทางเพศ
ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน จากสถิติของกรมสุขภาพจิตพบว่า พฤติกรรมการกลั่นแกล้งรังแกกัน หรือบูลลี่ (Bully) ของเด็กไทยติดอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น
The Active ชวนสะท้อนบาดแผลจากการกลั่นแกล้งในโรงเรียนผ่านซีรีส์ The Glory กับ ธัชชา ธีรปกรณ์ชัย ครูจากโรงเรียนบางละมุง จังหวัดชลบุรี
ความรุนแรง การกลั่นแกล้ง รุนแรงเหมือนในซีรีส์ ?
ซีรีส์ที่ได้ดูไม่ใช่ตัวชี้วัดคนในชาติเสมอไป เพราะว่าจะสร้างให้ดูดีก็ได้ หรือดูแย่ก็ได้ แต่สื่อในเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นภาพยตร์ ซีรีส์ การ์ตูน มักจะมีเรื่องของการบูลลี่ออกมาเสมอ หากถามว่ามีไหม? มันต้องมีแน่นอนไม่เช่นนั้นคงไม่มีเนื้อหาสื่อออกมา แต่หากถามว่ารุนแรงเหมือนในซีรีส์หรือเปล่า? เอาจริง ๆ หากรุนแรง เราจะรู้ก็ต่อเมื่อลงข่าว แต่ว่าไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นทุกโรงเรียน และเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในที่ลับ ! ลองสังเกตจากในซีรีส์ นักเรียนผู้ก่อเหตุจะทำอะไรที่รุนแรง เขาจะนัดเจอกันที่โรงยิม เพราะฉะนั้นเลยไม่มีผู้เห็นเหตุการณ์ หรือหลักฐานเพื่อเอาไปฟ้องได้เลย คนทำก็เลยลอยตัวเหนือข้อกล่าวหาไป
“จากการพูดคุยกับครูที่มัธยมเกาหลีใต้ จะรู้เรื่องเหล่านี้ก็ต่อเมื่อมีอะไรที่รุนแรงเกิดขึ้น แล้วมองว่าเด็ก ๆ แกล้งกันเฉย ๆ เพราะครูไม่ได้เห็นตั้งแต่ต้น จึงไม่แน่ใจว่าเป็นการทะเลาะ เล่นกัน หรือบูลลี่กันแน่
สาเหตุของการกลั่นแกล้ง ทำไมโรงเรียนกลายเป็นสถานที่ที่น่ากลัวที่สุด
เมื่อเล่าพูดถึงกรณีเกาหลีใต้ต้องย้อนกลับไปก่อนว่าคนในชาติเขาคิดอย่างไร หลายคน Amazing มากว่าประเทศนี้ไปได้ไกล แต่ทราบหรือไม่เมื่อ 70 ปี ก่อน เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดมาก่อน เขาใช้เวลาไม่ถึง 100 ปี พัฒนามาถึงจุดนี้ เพราะวัฒนธรรม 우리(อู-รี) ก่อนอื่นเลยนี่แปลว่า พวกเรา หรือของเรานั่นเป็นการแสดงความเป็นพรรคพวก เป็นความรู้สึกอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ
พอจะทำอะไร หรือก้าวต่อไปก็จะเหมือนคนในชาติร่วมพัฒนา พัฒนา พัฒนา แต่ก่อนเขาใช้คำว่า우리 (อู-รี) ในการสร้างกำลังใจ รวมถึงชิงอำนาจทางการเมือง ปัจจุบันคำว่า우리 (อู-รี) ทำให้เขารู้สึกดี และคำว่า 우리 (อู-รี) ที่ฝังอยู่ในชุดความคิด ทำให้เกิดการแบ่งพรรคพวก ลองสังเกตเด็กที่เป็นเหยื่อเขาจะมีลักษณะภายนอกที่แตกต่างจากเพื่อน อาจจะเป็นคนละเชื้อชาติ หรือชนชั้นที่ต่างกัน เรารู้ว่าเพื่อนในห้องบ้านใครรวย บ้านใครจน เด็กเหล่านี้มักจะตกเป็นเหยื่อ หนักขึ้นก็เกิดการกลั่นแกล้ง อาจจะเพื่อแสดงความมีอำนาจ หรือแค่ความสนุก แต่ท้ายที่สุด มุมมองส่วนตัวมองว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือชุดความคิดของผู้ใหญ่ที่มองว่า “ก็แค่เด็กทะเลาะกัน” ทำให้ผู้ปกครอง ครู หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้มองเป็นปัญหา หรือเรื่องเร่งด่วน ร้ายแรงที่จะต้องรีบจัดการ
วัฒนธรรมการแข่งขัน ชีวิตที่เร่งรีบ ช่องว่างระหว่างชนชั้น สาเหตุให้เกิดการบูลลี่ ?
ตัวเองทราบถึงวัฒนธรรม การใช้ชีวิตที่เร่งรีบผ่านคำว่า빨리빨리 (ปัลลี ปัลลี) ที่หลายคนคงเคยได้ยินผ่านซีรีส์แทบทุกเรื่อง ก็งงอยู่ว่าคนเกาหลีทำไมต้องรีบอะไรขนาดนั้น เพราะเราคนไทยเราไม่ได้รีบร้อนขนาดนั้น ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม มีสำนวนบ่งบอกถึงวิธีคิด ซึ่งคนเกาหลีก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเราชิลล์เกิน จากที่เกาหลีใต้เคยแป็นประเทศที่ยากจน และเขาจะทำอย่างไรให้มาถึงวันนี้ได้ นอกจากความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน การขยันทำงานก็เป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศอีกด้วย สำนวนไทยที่ว่า เวลาเป็นเงินเป็นทอง ในเกาหลีใต้เองก็มีสำนวนคล้ายๆกัน เวลาคือทอง
“จริง ๆ การพัฒนาประเทศก็เป็นส่วนหนึ่งในการหล่อหลอมให้สังคมมีความเครียด มีความเร่งรีบ แข่งขันตลอดเวลา ผู้ปกครองเมื่อเครียดก็อาจมีการระบายความเครียดกับครอบครัว ซึ่งส่งผลต่อตัวเด็กเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เกิดเป็นผลผลิตซ้ำจากรุ่นสู่รุ่น และนี่ก็น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดการบูลลี่ในโรงเรียน
ข้อมูลความรุนแรงในโรงเรียนของเกาหลีใต้
สำหรับสถิติมีอยู่แน่นอน เพราะว่ามีกรณีศึกษาที่พูดถึงอย่างเป็นวงกว้าง ที่รุนแรงขนาดที่คนเกาหลีตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น ย้อนกลับไปปี 2554 มีนักเรียนชายชั้น ม.2 ที่ตกเป็นเหยื่อการบูลลี่จากเพื่อนร่วมชั้น จากข่าวคือเด็กคนนี้กระโดดลงมาจากอพาร์ทเมนต์ชั้น 7 เสียชีวิต จาการสืบสวนพบคำสั่งเสียแสดงความอัดอั้นว่าเขาเจออะไรมาบ้าง เขาตกเป็นเหยื่อถูกบังคับให้เล่นเกมออนไลน์ มีการรีดไถเงิน พฤติกรรมการกลั่นแกล้งในโรงเรียนมีหลายระดับ แต่เขาโดนมาทุกอย่าง โดนเพื่อตี ต่อย เอาท่อนเหล็กฟาด พอเกิดเหตุการณ์ ตำรวจจึงเข้าสอบสวน เพื่อน 2 คน ที่มีชื่ออยู่ในจดหมายสั่งเสีย
“เด็กเหล่านั้นตอบว่า “ก็แค่เล่นกันเฉย ๆ” แต่ที่เกาหลีมีกฎหมายคุ้มครองเยาวชนอยู่ บางทีก็น่าหมั่นไส้ว่า เด็กอายุไม่เกิน 14 ปีจะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายตัวนี้ ไม่ว่าจะก่ออาชญากรรมอะไร ก็จะได้รับการคุมประพฤติ หรือแค่ทำทัณฑ์บนเท่านั้น”
แต่บังเอิญว่าเด็กกลุ่มนี้อายุเกินแล้ว เขาอายุ 15 ปี จึงสามารถจำคุกได้ และศาลที่เมืองแทกูได้สั่งจำคุกคนละ 3 ปีด้วยข้อหารังแกเพื่อน หลังจากกรณีนี้ประเทศก็ตื่นตัวกับการบูลลี่มากขึ้น
วัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์นิยม-อำนาจนิยมที่ทำให้ปัญหา bully รุนแรงยิ่งขึ้น ?
เข้าข่ายพ่อแม่รังแกฉัน เราคุ้นชินกับวัฒนธรรมแบบนี้ คนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องปกติ คนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านก็คงจะมีแต่ผู้ที่เสียผลประโยชน์ เผอิญผู้เสียผลประโยชน์กลับเป็นเด็กสาวตัวเล็ก ๆ จริง ๆ ปรับได้ เราสามารถมองเรื่องเหล่านี้ให้เป็นเรื่องไม่ปกติได้ เพราะว่าสถานศึกษา โรงเรียนเป็นสถานที่แรกที่เราได้มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ฉะนั้นการปรับลดการใช้อำนาจนิยมในโรงเรียน ครูใช้อำนาจกับเด็ก ผอ. ใช้อำนาจกับครู สิ่งเหล่านี้ก็ส่งต่อเป็นทอด ๆ ปรับตรงนี้เสริมหลักสิทธิให้เข้าใจสิทธิของกันและกัน อาจจะทำให้เรื่องเหล่านี้รุนแรงน้อยลงได้
เกาหลีใต้ ผลของการกลั่นแกล้งในเกาหลีรุนแรงแค่ไหน
การที่จะเป็นคนสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง หรือว่าไอดอล ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคมและเยาวชน สังคมเกาหลีมีจุดยืนร่วมกันว่าจะต่อต้านสิ่งที่ไม่ดี ยกตัวอย่างกรณี นักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงระดับซุปเปอร์สตาร์ 2 คน ของเกาหลีใต้ มีคนออกมาบอกว่าเคยโดน 2 คนนี้กลั่นแกล้งสมัยเรียน แม้ผ่านมาเป็น10 ปีแล้ว แต่เรื่องก็ยังคงวนเวียนอยู่กับคนที่โดนกระทำ ทำให้นักกีฬาโดนแบน ซึ่งตอนนี้ผ่านมา 2 ปีแล้วก็ยังไม่เลิกแบน แบนอย่างไม่มีกำหนด เรียกได้ว่าหมดอนาคตไปเลย นอกจากนี้ยังมีนักแสดงชายที่โดนแฉว่ากลั่นแกล้งและสืบไปว่าเป็นเรื่องจริง ก็โดนกดดันจากสังคม โดนถอดจากโฆษณา ที่เกาหลีใต้แม้ว่าจะแสดงไปแล้ว 90 % แต่ถ้ามีข่าวแบบนี้คือเขาไม่เอาเลย
การกลั่นแกล้งในมุมของไทย แค่ขอโทษแล้วจบ?
ก่อนอื่นการบูลลี่ไม่ใช่การทำผิดพลาดแค่ครั้งเดียว ไม่ใช่แค่ ครั้งแรก ครั้งเดียวแล้วจบ เดี๋ยวจะสับสนกับการทะเลาะกัน ถ้าทะเลาะกัน ครั้งแรกครั้งเดียวจบ ขอโทษกันได้ ถ้าคนเรารู้สึกผิดขอโทษก็ควรที่จะสิ้นสุดตั้งแต่ครั้งแรกแล้ว ต้องไม่ทำอีก ฉะนั้นควรที่จะมีมาตรการที่ชัดเจนตั้งแต่สมัยเรียน แน่นอนว่าเราต้องการการยอมรับ เด็กไม่รู้วิธีว่าต้องทำอย่างไรการกลั่นแกล้งอาจเป็นการรู้สึกได้รับการยอมรับ รู้สึกมีอำนาจ มีคนสนใจเยอะขึ้น มองว่าต้องมีมาตรการที่ชัดเจนตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ เลย
เกาหลีใต้ แก้ปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนอย่างไร
ออกตัวว่าเรียนที่มหาวิทยาลัย การที่เห็นสภาพของเด็กมัธยมก็จะเห็นภายนอกไม่ได้เข้าไปอยู่ในตัวโรงเรียน แต่ว่ามีเพื่อนครูคนเกาหลีที่สอนอยู่ในโรงเรียนมัธยมได้มีการสอบถาม และเขาบอกว่าสภาพแวดล้อมในโรงเรียนและมาตรการเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ทุกโรงเรียนจะต้องมีครูผู้ให้คำปรึกษาประจำอยู่ตลอดเวลา มีนักจิตวิทยาประจำอยู่ในโรงเรียน เมื่อกลั่นแกล้งในโรงเรียนมักจะเกิดขึ้นในที่ลับ ทุกโรงเรียนจึงไม่ให้มีจุดอับสายตา เขาจะติดตั้ง CCTV มีการจัดตั้งสายรายงานการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนด้วย มีสายด่วนเพื่อขอรับคำปรึกษา นอกจากนี้มีกระบวนการว่าจะนำไปสู่บทลงโทษอย่างไร ที่เกาหลีใต้แบ่งประเภทการลงโทษการกลั่นแกล้งในโรงเรียน แบ่งเป็น 9 ระดับ
ระดับแรก เป็นการลงโทษสถานเบา เช่น เขียนคำขอโทษผู้เสียหายเป็นลายลักษณ์อักษร
ระดับ 2 ทำการปกป้องผู้เสียหาย ห้ามคุยกับผู้เสียหาย
ระดับ 3 ลงโทษด้วยการให้ทำงานในโรงเรียน
ระดับ 4 ลงโทษด้วยการทำงานบริการสังคม ซึ่งใช้กับการกลั่นแกล้งที่มีความรุนแรง จริงจัง
ระดับ 5 เข้าเรียนในสถานศึกษาพิเศษและเข้ารับการบำบัดทางจิต ซึ่งคิมการัม ถูกลงโทษในระดับนี้ จากสิ่งที่เธอทำไปในตอนเรียน
ระดับ 6 ถูกพักการเรียนชั่วคราว
ระดับ 7 มีการจำกัดการทำกิจกรรม
ระดับ 8 ถูกย้ายโรงเรียน
ระดับ 9 ออกจากโรงเรียน
ทุกอย่างที่ทำจะปรากฏหรือมีการบันทึก คล้าย ๆ กับสมุดพก ข้อมูลเหล่านี้จะติดตัวไปตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ข้อมูลเหล่านี้จะถูกลบทิ้งในเวลา 2 ปี หลังเรียนจบ แต่มีเสียงสะท้อนว่าระยะเวลา 2 ปีนั้นหากสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ย่อมเห็นข้อมูลเหล่านี้ มีข้อถกเถียง ผู้ปกครองหลายคนเห็นว่าลูกเรียนดีแต่มีพฤติกรรมเหล่านี้นิดหน่อย อยากให้ลบออกไปเลย จริง ๆ ลูกฉันเป็นคนดี แต่ผู้ปกครองของเหยื่อมองว่า ทำไมแค่ 2 ปีเอง ควรมีประวัติติดตัวไปนาน ๆ คนอื่นจะได้รู้เลยว่าเด็กคนนี้กลั่นแกล้งคนอื่น เขาจะได้ไตร่ตรองก่อนจะทำอะไรเสมอ
ไทยจะมีทางออกเกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง Bully อย่างไร
“เรื่องนี้ทุกคนควรตระหนักได้ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู ผู้บริหาร รัฐบาล ทุกภาคส่วน นี่เป็นวาระระดับโลก ไม่ใช่แค่ไทย”
ผู้บริหารควรจัดการอบรบให้ครู บุคลากร ได้ทราบ บางคนอาจไม่ทราบว่านี่คือการบูลลี่ หรือการทะเลาะ ยังแยกแยะไม่ได้ จากนั้นต่อยอดให้ความรู้ความเข้าใจกับเด็ก ๆ สามารถจัดกิจกรรมเสริมสร้างให้คนอยู่ร่วมกันได้ ตั้งแต่เล็ก ๆ ให้เขาได้ใช้ชีวิตอยู่กับผู้คนที่มีความแตกต่างกัน หรือควรมีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน เพราะในประเทศไทย นักจิตวิทยาจะมีประจำเขตพื้นที่การศึกษาเท่านั้น เขตพื้นที่การศึกษาหนึ่งมีหลายโรงเรียนอยู่ในนั้นจึงไม่เพียงพอ ควรจัดกิจกรรมให้เด็กๆคลายเครียด เด็กที่มีการบูลลี่ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กวัยรุ่น สุดท้ายคือเรื่องมาตรการที่ชัดเจน หรือจะใช้กฎหมายของฟีบี้ (Phoebe’Law) เป็นกฎหมายต่อต้านการ Bully ภายในโรงเรียน แต่น่าเศร้าที่ทุกเรื่องจะต้องเกิดเคสก่อนถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง บุคลากรหากเพิกเฉยก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ในเรื่องนโยบายควรเป็นสิ่งที่ให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน สื่อให้ชัดเจน การสูญเสียยังไม่เป็นประเด็นที่เร่งด่วนอีกหรือ?
ปัญหา Bully ในโรงเรียน ทำไมปัญหานี้ยังคาราคาซังอยู่ในสังคมไทย
การบูลลี่ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งแรกครั้งเดียว เป็นปัญหาที่เกิดจากความเข้าใจ แยกแยะไม่ได้ว่า เล่นกัน หรือบูลลี่ ผู้กระทำไม่ได้ตระหนักว่าเป็นสิ่งที่ผิด ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่าย นอกจากนั้นตัวครูมีบทบาทเป็นอย่างมาก ถ้าครูแยกแยะไม่ได้ เพิกเฉย ไม่ได้เห็นความสำคัญ ก็คงไม่ดีขึ้น หรือทางโรงเรียนไม่ให้ความช่วยเหลือเพราะกลัวว่าจะเสียชื่อเสียง กลับกลายเป็นการซุกปัญหาใต้พรม
สุดท้ายจากการเป็นครูผู้ปกครองมักฝากฝังให้ดูแลลูกหลาน แบบผลักภาระมา แต่หากย้อนกลับไปครอบครัว คือที่ปลูกฝังพฤติกรรมและแนวคิดความเท่าเทียม ความเป็นมนุษย์ควรเริ่มต้นจากที่บ้าน
การกลั่นแกล้งสามารถสร้างบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพราะฉะนั้น “ไม่ควรมีใครถูกBully” การบูลลี่ในโรงเรียน ปัญหาสังคมที่ไม่ควรมองข้าม
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง