เจาะลึกระบบเรียนรวม ลดปัญหาการบูลลี่
ช่วยให้เด็กพิเศษเท่ากัน
นี่คือบรรยากาศที่เห็นได้บ่อยครั้ง ภายในห้อง ม.6/4 โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ เขตดินแดง กทม. ตั้งแต่ ณัฐกฤต ลิมปาวิภากร หรือ บุ๋น เลื่อนจาก ห้องเรียนคู่ขนาน (ห้องเรียนที่มีแต่เด็กพิเศษ) ขึ้นมาเรียนในระบบ ห้องเรียนรวม (การศึกษาภาคปกติ) เมื่อ 2 ปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นการกอด หอม แสดงออกถึงความรัก กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับครู และเพื่อน ๆ
อย่างไรก็ตามชีวิตในโรงเรียนไม่ได้มีแค่ช่วงเวลาแห่งความสุขเพียงอย่างเดียว บุ๋น ยังมีช่วงเวลาที่ต้องเรียน และสอบปลายภาค ที่เหลืออีกเพียงไม่กี่เดือน ซี-ฐิติพงษ์ ด้วงนคร เพื่อนร่วมชั้น และยังเป็นบัดดี้ หรือ ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ตามนโยบายของโรงเรียน คอยให้ความช่วยเหลือ และคำแนะนำ หากบุ๋นมีปัญหาระหว่างการเรียน
ซี ย้ายเข้ามาเรียนช่วง ม.4 เขาบอกว่า ที่โรงเรียนเดิมไม่มีระบบการเรียนรวมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ นี่จึงเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับเขา แต่การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันตลอดปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา ทำให้มุมมองที่มีต่อเด็กพิเศษเปลี่ยนไป
“เดิมทีผมไม่ได้มองเด็กพิเศษในแง่ลบอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่แน่ใจว่าเราต้องดูแลเขาเป็นพิเศษไหม เล่นด้วยได้ไหม แต่บุ๋นเขานิสัยน่ารักมาก ใครอยู่ใกล้ก็สบายใจ เลยสนิทกับเพื่อน ๆ ได้ง่าย ส่วนเรื่องเรียนมีบ้างที่ต้องบอกเพราะเขายังติดเล่นบ้าง ส่วนการบ้านก็คุยกับคุณแม่ของบุ๋นตลอด เพราะตอนนี้สอบปลายภาคแล้วและต้องเตรียมวางแผนเรียนต่อด้วย”
ซี-ฐิติพงษ์ ด้วงนคร
คู่ซี้ ดาว Tiktok กับกระแสพูดถึงการการบูลลี่ในโรงเรียน
กระแสบูลลี่ หรือ กลั่นแกล้งกันในโรงเรียน ดังขึ้นอีกครั้งหลังนักแสดงชื่อดังถูกขุดคุ้ยอดีตในวัยเด็ก สอดคล้องกับข้อมูลโดยกรมสุขภาพจิตพบว่าจากจำนวนเด็กที่ถูกบูลลี่ในโรงเรียนเฉพาะระดับมัธยมศึกษา ในจำนวน 100 คน จะมี 30 คนที่เป็นเด็กพิเศษ ซึ่งผู้ปกครองหลายคนต้องพาออกจากโรงเรียนและหลุดออกจากระบบการศึกษา
โดยทันทีที่เกิดกระแสดังกล่าว คลิปของบุ๋น-ซี และเพื่อน ๆ ในห้องที่ถูกแชร์ออกไป อาจทำให้ผู้พบเห็น และติดตามมองแตกต่างออกไป แต่ทุกคนในห้องยืนยันว่า นี่เป็นสังคมที่พวกเขาอยู่ร่วมกันโดยปราศจากการกลั่นแกล้ง ซึ่งภายในห้องเดียวกันมีเด็กที่มีความต้องการพิเศษรวม 4 คน การอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่แตกต่างหลากหลาย ยังทำให้เด็กกลุ่มนี้มีพัฒนาการในการเข้าสังคมที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันเพื่อน ๆ ก็ได้เรียนรู้หลักการเคารพศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์มากขึ้นด้วย
“ภูมิใจครับที่ได้เป็นเพื่อนกับบุ๋น เราช่วยดูแลเขา ขณะที่เขาก็เติมเต็มความสุขให้เราเวลาไม่สบายใจ ตอนนี้จะจบแล้วผมก็เป็นห่วงเขาครับว่าเขาจะอยู่ได้หรือเปล่า อยากให้ทุกคนใจดีกับเขาครับ สมัยนี้เราไม่ควรกลั่นแกล้งกันแล้ว ควรที่จะส่งเสริมกันมากกว่า”
ซี-ฐิติพงษ์ ด้วงนคร
ครอบครัวทราบอาการของบุ๋นก่อน 1 ขวบ และพาเข้าสู่กระบวนการรักษา ฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ภุมรินทร์ เลิศนุวัฒน์ แม่ของบุ๋น ต้องเข้าออกโรงพยาบาลสัปดาห์ละ 5 วัน เมื่ออายุถึงเกณฑ์จึงส่งเข้าศึกษาต่อที่ โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ ในรูปแบบคู่ขนาน ก่อนเลื่อนสู่ระบบเรียนรวม และในเดือน มี.ค. 66 บุ๋นจะจบการศึกษาพร้อมกับเพื่อน ๆ เรียนต่อในสาขาที่ตัวเองมีความถนัด
คนที่ภาคภูมิใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นผู้เป็นแม่ ที่พยายามพิสูจน์ว่าลูกของเธอไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น ๆ
“บุ๋นเขาชอบวาดรูป แม่ก็ว่าจะส่งเขาเรียนต่อในสายอาชีพ ตอนนี้สอบเข้าได้แล้วที่อาชีวะ จากวันแรกจนถึงวันนี้พัฒนาการเขามาไกลมาก อยากให้ทุกโรงเรียนเปิดใจรับเด็กพิเศษเข้าเรียนรวม เพื่อที่พวกเขาจะได้มีโอกาสเท่ากันกับคนอื่น ๆ”
ภุมรินทร์ เลิศนุวัฒน์ แม่ของบุ๋น
โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ มีนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษจำนวน 313 คน หรือ 26% ของนักเรียนทั้งหมด จัดการเรียนการสอนในรูปแบบคู่ขนานที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และห้องเรียนรวม ที่มีการสอนเพิ่มนอกเวลา เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความพิการ และความต้องการพิเศษ สามารถเข้าถึงการบริการทางการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา โดยมีครูที่จบการศึกษาพิเศษ และครูวิชาการที่ผ่านการอบรมการศึกษาพิเศษ
แต่ที่สำคัญกว่า คือการที่เด็กซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน อย่างน้อย 12 ปี ในรั้วโรงเรียนแห่งนี้ พิสูจน์แล้วว่า ช่วยลดปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน และปูรากฐานไปสู่การเคารพศักดิ์ศรี เคารพกติกา และสร้างสังคมที่ปราศจากความรุนแรง
“เด็กทั้ง 2 กลุ่มจะต้องอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือกัน เพราะเป็นการจำลองชีวิตจริง สังคมจริง เพราะสุดท้ายเราผลิตเด็กออกไปสู่สังคมเขาจะต้องเป็นคนที่มีคุณภาพ สามารถอยู่ร่วมกัน ไม่มีปัญหา และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข นั่นคือเป้าหมายที่แท้จริงของการจัดการศึกษารูปแบบห้องเรียนรวมของโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์”
สุชาติ บรรจงการ
ไทยพร้อมแค่ไหน ในการศึกษาระบบเรียนรวม
โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ ถือเป็นหนึ่งในโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ 52 แห่ง ทั่วประเทศ ภายใต้สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีจำนวนนักเรียนพิการและมีความต้องการพิเศษรวม 3,312 คน โรงเรียนเฉพาะความพิการ 49 แห่ง จำนวน 12,417 คน ศูนย์การศึกษาพิเศษ 77 แห่ง จำนวน 26,199 คน โรงเรียนแกนนำ และโรงเรียนที่จัดการเรียนรวม มีนักเรียนกว่า 394,465 คน
แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะสามารถเรียนได้จนสุดทาง เนื่องจากภาวะด้านอารมณ์ สติปัญญา และปัญหาการถูกรังแกในโรงเรียน ประเด็นนี้ ชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย กล่าวว่า ปัญหาการกลั่นแกล้งกันถือเป็นสิ่งที่เราป้องกันหรือเรียนรู้ไปด้วยกันได้ แต่ประเด็นที่สำคัญคือระบบการจัดการเรียนการสอนในกลุ่มเด็กพิการ และเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพราะทั่วโลกเวลานี้พยายามเน้นย้ำคำว่า “การเรียนรวม” (Inclusive Education) หากสามารถทำได้ตามเป้าหมายสุดท้ายจะเปิดประตูไปสู่การมีงานทำ เพราะหากแยกเด็กที่มีความพิเศษออกจากสังคมตั้งแต่ต้น เมื่อจบออกมาแล้วเด็กจะไปต่อไม่ได้ เหมือนกับการจับเด็กไปไว้อีกกล่องหนึ่ง แต่หากปล่อยให้อยู่ในโลกเดียวกันที่เรียกว่า “สังคมอยู่ดี มีสุขร่วมกัน” (Inclusive Society) ก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่สังคมได้ประโยชน์กว่า แต่ลงทุนน้อยกว่า
“ถ้าเทียบ 100% กระทรวงศึกษาฯ ทำได้ประมาณ 30% เพราะนโยบายมักจะเน้นไปที่การจัดตั้งโรงเรียนเฉพาะความพิการ ซึ่งแห่งหนึ่งต้องใช้งบฯ ขั้นต่ำในการก่อสร้างประมาณ 500 ล้านบาท และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เท่าที่ผมทราบใช้งบประมาณไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ยังไม่รวมการจัดสรรตำแหน่งครูเข้าไปตามโรงเรียนเหล่านั้นเพิ่มเติม เทียบกับระบบเรียนรวมที่มีต้นทุนแค่ครู 2 คน ตัวเลขเพิ่มขึ้นไม่เกินปีละ 8 แสนบาท น้อยกว่ามากถ้าทำพร้อมกันหนึ่งหมื่นโรงเรียน แต่ที่ย้อนกลับมาคือเด็กจบไปแล้วสามารถใช้ชีวิตท่ามกลางคนทั่วไปได้ทันที”
ชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย
ปี 2566 นโยบายของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า จะมุ่งเพิ่มทางเลือกให้เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ณ เวลานี้มีนโยบายพัฒนาโรงเรียนคุณภาพ 245 แห่ง ให้เป็นห้องเรียนเข้มแข็ง เพื่อรองรับความต้องการของผู้ปกครองในการส่งลูกหลานมาเรียนในรูปแบบห้องเรียนรวม หรือคู่ขนาน ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนหารือกับที่ประชุมในการเพิ่มอัตราครูพิเศษ พี่เลี้ยง ให้มีจำนวนที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ
ส่วนในโลกของการทำงาน หากระบบการศึกษาช่วยให้เด็กที่มีความพิการ หรือมีความต้องการพิเศษไปได้ถึงปลายทางความฝันที่ไม่จำกัดแค่ในบางสาขาอาชีพ สิ่งนี้ไม่เพียงจะยกระดับคุณภาพชีวิตจากแรงงานค่าแรงขั้นต่ำ ไปสู่แรงงานที่มีรายได้เหมาะสมกับศักยภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการพิสูจน์ว่า ต่อให้จะเกิดมา “พิเศษ” แต่ก็สามารถเรียนรู้ พัฒนาให้ “เท่ากับ” คนอื่น ๆ ในสังคมได้