“ไฟบ่ไหม้ ผักหวานบ่ป่ง มันบ่แม่น”…ฝุ่น – ของป่า หรือ ปัญหาชนชั้น

ชาวบ้านหา เห็ดเผาะ หรือ เห็ดถอบ หาผักหวานป่า เป็นหนึ่งในสาเหตุของ PM 2.5 ?…


ปัจจุบันยังคงมีการผลิตซ้ำความเชื่อที่ว่า ชาวบ้านเผาป่าเพื่อให้ได้เห็ดถอบมากขึ้น


ทำไม ? เห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบ ยังตกเป็นจำเลยของสังคมเสมอมา ทั้งที่ในความจริงแล้วอาจมีคำอธิบายอีกด้านของวิถีชีวิตผู้คนที่หากินกับป่า  


ภูมิภาคที่มักถูกจับตากับอคตินี้ คงหนีไม่พ้น ภาคเหนือ และ ภาคอีสาน ที่มีวัฒนธรรมการกินเห็ดเผาะ

“ไฟบ่ไหม้ ผักหวานบ่ป่ง มันบ่แม่น”

นี่คือหนึ่งในความจริงจากปากของชาวบ้านใน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ หลังสิ้นเสียงคำถามว่า การเผาป่า จะทำให้หาเห็ดเผาะกับผักหวานเพิ่มมากขึ้นจริงหรือ ?

เธอ อธิบายว่า ผักหวานไม่จำเป็นต้องไฟไหม้ มันก็แตกยอดเมื่อถึงฤดูกาลของมัน มันก็เกิดตามธรรมชาติ ซึ่งตลอดช่วงเวลา 30 กว่าปี ที่เธอเริ่มหาอยู่ หากินกับผืนป่า ซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวน เทือกเขาภูพาน ที่เปรียบเหมือนตู้กับข้าวของผู้คนในชุมชน เธอยืนยันว่า ของป่าที่หาได้ โดยเฉพาะเห็นเผาะ หาไว้เพื่อให้พอกิน พอขาย ไม่ได้หาไว้เพื่อทำให้รวย

“เราไม่ได้จะทำธุรกิจ จากการขายของป่า ถ้าไม่เชื่อจะพาไปดูว่า ไม่จำเป็น หรือแม้แต่ผักหวาน เห็ดป่า อีลอก หรือดอกกระเจียว มันไม่ต้องเผา มันเกิดขึ้นตามฤดูกาลอยู่แล้ว”

ชาวบ้านคนนี้ ยืนยัน

เธอ ยังยกตัวอย่างว่า บางคนปลูกต้นยาง เพาะเห็ดเผาะตามคันนา ไฟไม่ได้ไหม้ ก็ยังมีเห็ดให้กิน แม้เขาไม่ได้จุดไฟเผาก็ตาม ดังนั้น การไม่เผาป่า ไม่ใช่แค่เรื่องเห็ดเผาะ เห็ดระโหงก เห็ดดิน เพราะตรงไหนไฟไม่ไหม้ ยิ่งเกิดดี และมันจะซ่อนอยู่ตามใต้ใบไม้

ชาวบ้านคนนี้ ยอมรับ ไม่รู้แน่ชัดว่า อะไรมีผลต่อปริมาณของเห็ดเผาะ แต่เล่าเพียงว่า เธอเคยได้ยินชาวบ้านเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ปีไหนลูกเห็บหล่น เห็ดเผาะจะเกิดดี แต่ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับการเผาป่า จากที่ผ่านมาพบว่า ตรงที่ไม่มีการเผา ก็ยังพบการเกิดของเห็ดเผาะ


ส่วนคนที่จุดไฟเผา ก็ต้องยอมรับว่า มันมีอยู่จริง แต่ส่วนตัวเธอมองว่า ขณะที่ผักหวาน ไม่สมควรที่จะเผา เพราะหลายอย่างมันก็ตายไป ถึงฤดูกาลมันก็เกิด ไม่จำเป็นต้องพึ่งไฟ อีกทั้งการเผาป่า ส่งผลกระทบต่ออาหารชั้นสูงเสียดปลายต้นไม่อย่าง ไข่มดแดง ก็จะหายากไปด้วย

“มันไม่สมควรที่จะเผาเพราะการเผามันทำร้ายหลายอย่าง เช่น ต้นผักหวาน ถ้าเป็นต้นเล็กมันถูกไฟเผามันก็จะไม่โตและตาย มันงอกมาจากดินกว่ามันจะโตมันก็ใช้เวลา และยิ่งมาโดนไฟไหม้อีก เท่าที่เคยไปหาตรงไหนที่ไฟไม่ไหม้ มันก็สวยยอดมันแตกออกตามใบ
จะโทษแต่ชาวบ้านที่เก็บของป่าก็ไม่ได้ การทำลายล้างไม่ดีสักอย่าง แม้แต่จะพกไฟแชคขึ้นเขา เรายังไม่กล้าเพราะกังวลว่าเจ้าหน้าที่จะจับ”

ชาวบ้าน อธิบาย

เธอ ยังได้เล่าถึงวิธีการจัดการป่าในพื้นที่ ว่า จะมีการแจ้งปิดป่าเพื่อฟื้นฟูผ่านผู้นำหมู่บ้าน ส่วนมากจะปิดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ หรือหากใครจะเข้าป่า จะต้องลงชื่อกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ตามด่านทางขึ้นด้วย


อีกคำยืนยันถึงการไม่จำเป็นต้องเผาป่า คือ เสียงสะท้อน จากชาวบ้าน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า เขาเองก็อาศัยอยู่กับป่า อาศัยหาของป่าเป็นบางครั้งคราว เขาย้ำชัดเจนว่า ในพื้นที่ก็ไม่ค่อยเผากันแล้ว ไม่จำเป็น ถ้าเห็ดจะขึ้น ก็ขึ้นหมดไม่เกี่ยวกับไฟ

“อยากลองให้คนที่พูด มาดูในพื้นที่ด้วยตัวเอง มาศึกษา วิถีชีวิตของคนบนดอย”

ชาวบ้าน ย้ำ

ก่อนหน้านี้ มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่ชวนให้ทำความเข้าใจเรื่องนี้ อย่าง งานวิชาการเรื่อง “แนวทางการเพาะเห็ดเผาะ เห็ดโคน เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันอย่างยั่งยืน” โดย ผศ.จิตรตรา เพียภูเขียว ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ที่ระบุว่า เห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบ พบได้ในช่วงต้นฤดูฝน ในบริเวณป่าเต็งรัง หรือใกล้กับต้นไม้บางชนิดเท่านั้นเพราะเห็ดเผาะ จัดเป็นเห็ดไมคอร์ไรซา ซึ่งมีความสัมพันธ์อยู่กับรากไม้ของพืชบางชนิด เมื่ออุณหภูมิ และความชื้นเหมาะสม เส้นใยเห็ดเผาะที่รากพืชจะสร้างดอกเห็ดบริเวณใต้ดินและผิวดิน


ดังนั้นการจะพบเห็ดเผาะ หรือเห็ดไมคอร์ไรซา ชนิดอื่นจะขึ้นอยู่กับพืชอาศัยเป็นสำคัญ อีกทั้ง ลักษณะของป่าเต็งรัง ที่มีไม้เด่นเป็นไม้ในวงศ์ไม้ยาง ได้แก่ เต็ง, รัง, พลวง, เหียง และ ยางกราด ดินในป่าเป็นดินลูกรัง ขาดความอุดมสมบูรณ์ และมีความแห้งแล้งหลายเดือน จึงจำเป็นจะต้องพึ่งพาเห็ดไมคอร์ไรซาเพื่อให้อยู่รอด

“เมื่อเห็ดเผาะกับป่าต้องพึ่งพากัน ดังนั้น ถ้าไม่มีป่า…จะไม่มีเห็ด”

งานวิชาการชิ้นนี้ จึงพิจารณาเรื่องราวของ เห็ดเผาะ ซึ่งเป็นราที่อาศัยอยู่กับรากพืช ได้ว่า การเผาเพื่อให้เกิดเห็ดจึงอาจเป็นข้อสรุปที่ไม่ถูกต้อง! เนื่องจากการเกิดไฟป่า สามารถทำลายเส้นใยเห็ดเผาะที่อยู่ใต้ดิน รวมถึงทำลายพืชอาศัยของเห็ดเผาะด้วย ดังนั้น การเกิดไฟป่าจะส่งผลเสีย ต่อเห็ดเผาะมากกว่าผลดี 

“ในการเกิดไฟป่าครั้งแรก ๆ ในพื้นที่ เป็นการทำลายเศษใบไม้ที่ปกคลุมผิวดิน ทำให้เรามีโอกาสเห็นเห็ดเผาะได้ง่ายในช่วงต้นฤดูฝน แต่หากปล่อยให้เกิดไฟป่าในพื้นที่บ่อยครั้งเข้า เชื้อเห็ดเผาะใต้ดินรวมถึงพืชอาศัยจะถูกทำลายลงไป จนกระทั่งเชื้อเห็ดเผาะในพื้นที่หายไป”

นอกจากเรื่องเห็ดเผาะแล้ว ชาวบ้านหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อมีไฟเห็ดโคน จะไม่เกิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เนื่องจาก ไฟป่าทำให้ปลวกตาย รวมถึงทำลายเศษใบไม้ที่เป็นอาหารของปลวกอีกด้วย เมื่อไม่มีอาหารปลวกที่เหลือรอดอาจจะย้ายรังหนีได้ รวมถึงสภาพป่าหลังเกิดไฟป่าแล้วนั้น ไม่เหมาะกับการพัฒนาเป็นดอกเห็ดของเห็ดโคน เนื่องจากขาดความชื้นที่เหมาะสมนั่นเอง


ดังนั้นความเชื่อ และการบอกเล่าต่อกันมา จะมีทั้งเรื่องจริงและเรื่องที่เป็นการเข้าใจผิดปะปนกันไป จึงควรคิดวิเคราะห์ตามเหตุและผลรวมถึงพิจารณาองค์ความ รู้ที่ถูกต้องให้สอดคล้องในธรรมชาติ


อีกหนึ่งข้อสังเกต คือ ปัจจุบันประเทศไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสมัยใหม่มากขึ้น คนนิยมเข้าร้านสะดวกซื้อ บริโภคผักปลอดสารพิษ และรับประทานอาหารที่ส่งผลดีต่อสุขภาพมากขึ้น ความต้องการในการบริโภคของป่าอย่างเห็ดเผาะ และผักหวาน ยังมีมากพอให้เกิดการเผาป่าเพื่อของเหล่านี้อยู่หรือไม่ ?


ประชาไท เคยเผยแพร่บทความ เรื่อง “เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” ตัวการขัดขวางกระบวนการเป็นประชาธิปไตย เมื่อปี 2555 ซึ่งได้แสดงภาพจุดสีแดงที่เกิดไฟป่า ในช่วงเวลาเดียวในระยะเวลาห่างกัน 5 ปี (พ.ศ.2545 – 2550) การเกิดไฟป่ากินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างมาก ขณะเดียวกันช่วงเวลาดังกล่าว การบริโภคแบบสมัยใหม่ก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น ซึ่งเมื่อการบริโภคในรูปแบบสมัยใหม่เข้มข้นขึ้น มันจะกระตุ้นความต้องการต่อของป่า อย่างผักหวาน และเห็ดเผาะให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร ? ซึ่งตามความน่าจะเป็น อุปสงค์ต่อของป่าน่าจะลดลงตามความเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทไปสู่สังคมเมือง 

ดังนั้นจากบทความจึงมีการ สรุปว่า เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ จึงไม่น่าจะใช่สาเหตุหลักของฝุ่นควันแน่นอน แต่การเผาเพื่อผลิตพืชเงินสด เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อย ยังจะฟังมีเหตุผลมากกว่า


อีกข้อสังเกตในเรื่องนี้คือ การสร้างอคติเรื่อง PM 2.5 กับวิถีชีวิตการกิน และการหาเห็ดเผาะ กำลังจะโยนความผิดต่อใครบางกลุ่ม บางผู้คนบางพื้นที่หรือไม่ ? เพราะอย่างที่กล่าวตั้งแต่ตอนต้น ภูมิภาคที่มักถูกจับตากับอคตินี้คือ ภาคเหนือ และ ภาคอีสาน ที่มีวัฒนธรรมการกินเห็ดเผาะ และอาศัยอยู่กับป่า 


ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ เปิดเผยกับ The Active ถึงปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ว่า เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่อยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำ มีตั้งแต่คนจนในป่า จนกระทั่งถึงคนรวยที่สุดในประเทศ


อีกทั้ง PM 2.5 เกิดจากการเผาทุกชนิด เผาน้ำมัน เผาถ่านหิน เผาพื้นที่เกษตร เผาในป่า และการเผาจากเพื่อนบ้านด้วย รวมถึง ขบวนการผลิตอาหารสัตว์ ที่ปลูกข้าวโพด ภาคเหนือ ลาว เมียนมา แต่ที่ผ่านมา พบว่า ไม่มีมาตราการใด ๆ เลย ที่จะไปจับหรือตรวจสอบควบคุม หรือว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลที่ปลูกอ้อยทั้งหลาย ก่อให้เกิดฝุ่นควันที่ชัดเจนควรมีมาตรการที่ชัดเจน ก็ไม่เกิดขึ้น 

“ก็เลยไปลงที่ชาวบ้านจน ๆ ก็มีลักษณะความเหลื่อมล้ำที่ไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม” 

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ

ขณะที่การบริโภคเนื้อสัตว์ที่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารสัตว์ที่มาจากการปลูกข้าวโพด คือ คนกลุ่มใหญ่ของสังคมยุคใหม่ และเป็นกลุ่มคนที่ใหญ่กว่า ถ้าเทียบกับกลุ่มคนที่บริโภคเห็ดเผาะ หากจะสร้างความรู้สึกรับผิดชอบกับผู้สร้างผลกระทบเรื่องผลกระทบ PM 2.5 ที่เกิดจากจานอาหาร เพื่อสร้างการสำนึกเป็นวงกว้าง ทำไม ? ถึงไม่เป็นกลุ่มผู้บริโภคเนื้อสัตว์ แต่กลับเป็นเห็ดเผาะ…