‘กาสิโน’ ถูกกฎหมาย : เดิมพันเม็ดเงินวันนี้…ด้วย ‘อนาคตของชาติ’ วันหน้า

เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ยังคงฝุ่นตลบในสังเวียนการเมือง แม้ว่ารัฐบาลโยกการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวไปยังสมัยประชุมหน้า แต่คำถามที่ทิ้งไว้กับสังคมและเครือข่ายภาคประชาชนที่ออกมาคัดค้าน ยังคงต้องถกเถียงกันต่อ มีทั้งเรื่อง รายได้จากภาษี, การท่องเที่ยว, อัตราการจ้างงาน รวมถึง เม็ดเงินทางเศรษฐกิจ มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อสนับสนุนหลัก

แต่ในทางกลับกัน ผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้น กลับเป็นเรื่องของชีวิต ความสัมพันธ์ในครอบครัว ตลอดจนปัญหาทางสุขภาพจิต ซึ่งยากจะวัดออกมาเป็นเม็ดเงิน

รัฐบาลมักจะพูดในด้านเดียวว่า รัฐจะมีรายได้จากเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์
ไม่ใช่เฉพาะกาสิโน แต่รัฐบาลมักลืมไปว่า เราต้องวิเคราะห์ปัญหานี้ด้วยการเปรียบเทียบกับระบบเศรษฐกิจและผลกระทบทางสังคม

ด้านมืดของธุรกิจนี้ยังคงถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะเมื่อ การพนัน ไม่ได้หยุดอยู่แค่ กิจกรรมนันทนาการ หากแต่กลายเป็นปัญหารุนแรงถึงขั้นเป็น โรคติดการพนัน หรือ Pathological Gambling ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชที่ส่งผลกระทบต่อระดับสังคม งานวิจัยชิ้นสำคัญจากวารสาร Pathological Gambling: A Critical Review ชี้ว่า ปัญหานี้ไม่ได้กระทบเฉพาะตัวนักพนันเท่านั้น หากแต่ส่งแรงสั่นสะเทือนไปถึงครอบครัว ชุมชน และระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า บรรดานักพนันที่เข้าสู่ภาวะของโรค มักเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือความผิดปกติทางบุคลิกภาพ พวกเขายังมีแนวโน้มจะเผชิญกับความเครียดรุนแรง ความล้มเหลวในชีวิต และอารมณ์ที่ผันผวน ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้สารเสพติดหรือพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ผลกระทบจึงไม่ได้หยุดอยู่แค่ตัวบุคคล แต่ยังทำร้ายไปยังคนรอบตัว โดยมีรายงานว่า คู่สมรสของนักพนันถึง 50% อาจเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว ขณะที่ลูกของนักพนันมีแนวโน้มสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และใช้ยาเสพติดมากกว่ากลุ่มทั่วไป อีกทั้งยังมีประสบการณ์วัยเด็กที่เปราะบางและไม่ปลอดภัย

ในกลุ่มเยาวชนที่ไม่มีทางเข้าถึงรายได้ เมื่อเข้ามาพัวพันกับปัญหาการพนัน อาจหันไปพึ่งพาการขโมย ฉ้อโกง หรือยักยอกเงินเพื่อหาเงินไปเล่นพนัน ในบางกรณี การก่ออาชญากรรมไม่ใช่แค่เพื่อ ทุนเล่นพนัน แต่เพื่อชดใช้หนี้สินที่สะสมจากพฤติกรรมเสพติด

คำถามที่ยังไม่ได้คำตอบคือ แล้วการมีอยู่ของ Entertainment Complex จะส่งผลให้ปัญหาการพนันพุ่งสูงขึ้นหรือไม่ ? คำตอบคือ “เป็นไปได้” ในงานวิจัยที่ศึกษาบนบริบทของสหรัฐอเมริกา พบว่า คนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 10 ไมล์จากคาสิโน มีแนวโน้มจะกลายเป็นนักพนันที่มีปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในชุมชนรายได้น้อย ซึ่งมักไม่มีระบบรองรับทางสังคมและจิตใจที่เพียงพอ ไม่เพียงเท่านั้น ลักษณะการออกแบบภายในกาสิโนยังถูกวางกลยุทธ์เพื่อดึงผู้เล่นให้อยู่ในพื้นที่ให้นานที่สุด เช่น ไม่มีแสงธรรมชาติเข้ามา ไม่มีนาฬิกา ทำให้ผู้เล่นไม่รู้ว่าเวลาผ่านไปนานเท่าใด ส่งผลต่อการควบคุมตัวเองและยับยั้งชั่งใจ

ในงานวิจัยยังได้ยกข้อค้นพบที่น่าสนใจว่า แม้กาสิโนจะถูกเสนอให้เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม แต่การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่กลับละเลยต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นกับตัวบุคคลและครอบครัว เช่น การติดพนัน หนี้สิน หรือการกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งกลายเป็น ต้นทุนที่มองไม่เห็น หรือ intangible cost ที่ไม่ได้สะท้อนในตัวเลขเศรษฐกิจ แต่กลับกลายเป็นชนวนของปัญหาสังคมระยะยาวที่ย้อนกลับมาสร้างภาระให้กับชุมชนและรัฐในอนาคต

เยาวชนไทย กว่า 4 ล้านคน ตกอยู่ในวังวนการพนันโดยไม่รู้ตัว

สมาร์ทโฟน เกม และการพนัน ถูกเทคโนโลยีผลักดันให้เข้าถึงเยาวชนได้อย่างรวดเร็ว และไร้การตรวจสอบ ด้วยเกมพนันที่เข้าถึงง่ายและเปิดให้เล่นได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านช่องทางสื่อหลากหลายรูปแบบ โดยอาศัยอินฟลูเอนเซอร์ในการโฆษณา เช่น ชักชวนให้ทดลองเล่นฟรี บิดเบือนว่าไม่ใช่การพนัน หรือแอบอ้างว่าเป็นเว็บไซต์ที่ถูกกฎหมาย รวมถึงใช้กลยุทธ์จูงใจอย่างโบนัสเช็กอินรายวัน ส่งผลให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่กว่า 4 ล้านคนหลงเข้าไปในวงจรการพนันออนไลน์อย่างไม่รู้ตัว

ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยข้อมูลปี 2566 ว่า การที่เด็กและเยาวชนเห็นคนรอบตัวเล่นพนัน ส่งผลให้เยาวชนกว่า 1 ใน 4 รู้สึกอยากเล่นตาม นำไปสู่ผลกระทบทั้งด้านการเงิน สุขภาพจิต ความสัมพันธ์ในครอบครัว และการเรียน โดยมีคนไทยกว่า 7.4 ล้านคน ได้รับผลกระทบเหล่านี้ และกว่า 6 ล้านคนมีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นนักพนันที่เป็นปัญหา ซึ่งควรได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต แต่ปัจจุบันระบบบริการยังไม่เพียงพอรองรับปัญหานี้ได้อย่างทั่วถึง

นั่นทำให้เมื่อเร็ว ๆ นี้ ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการพนัน โดยชี้ว่า ปัญหาการติดพนันในเด็กและวัยรุ่นไทยทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลสำรวจของศูนย์คุณธรรม ปี 2566 พบว่า เยาวชนกว่า 20% เคยมีประสบการณ์เล่นพนันออนไลน์ และในจำนวนนี้กว่า 70% เริ่มเล่นตั้งแต่อายุต่ำกว่า 18 ปี อีกทั้งยังมีเยาวชนจำนวนมากที่เริ่มเป็นหนี้จากการพนันตั้งแต่วัยเรียน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ความสัมพันธ์ในครอบครัว และผลการเรียนอย่างชัดเจน โดยจิตแพทย์ต้องเผชิญกับจำนวนผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 5 – 10 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ปัญหาการเติบโตในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก โดยข้อมูลจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่า 79.1% ของเด็กและเยาวชนที่ก่ออาชญากรรมอาศัยอยู่ในชุมชนที่มีปัญหา เช่น ชุมชนที่มีการซื้อขายยาเสพติดหรือมีแหล่งบ่อนพนัน ซึ่งเด็กที่เติบโตในสภาพแวดล้อมเช่นนี้มักจะซึมซับพฤติกรรมไม่เหมาะสมและเลียนแบบการกระทำเหล่านั้น

กลุ่มจิตแพทย์ เตือนว่า การพนันในกลุ่มเยาวชนไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมเสี่ยงชั่วคราว แต่ยังนำมาซึ่งปัญหาต่อเนื่อง ทั้งด้านสุขภาพจิต ความสัมพันธ์ในครอบครัว และผลการเรียน โดยปัจจุบันมีเด็กจำนวนมากที่มีหนี้สินจากการพนันตั้งแต่อายุยังน้อย แม้รัฐบาลจะมีนโยบายควบคุมการพนัน แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันยังมีเว็บไซต์พนันเถื่อนจำนวนมากที่เด็กสามารถเข้าถึงได้ผ่านสมาร์ตโฟน โดยไม่มีระบบยืนยันตัวตนที่เข้มงวด ทำให้การพนันเกิดขึ้นแม้ในช่วงเวลาเรียนหนังสือ

“แม้ร่างกฎหมายฯ จะกำหนดข้อจำกัดต่าง ๆ ในการเข้าถึง แต่ในทางปฏิบัติ การดำเนินธุรกิจย่อมมีแรงจูงใจในการเพิ่มรายได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การทำการตลาดโดยตรงหรือโดยอ้อมกับกลุ่มเปราะบาง…สิ่งเหล่านี้ล้วนเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะเข้าสู่วงจรของการพนันตั้งแต่อายุยังน้อย”

ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย

‘เม็ดเงินวันนี้’ หรือ ‘คุณภาพคนวันหน้า’ สิ่งที่รัฐต้องเลือก ?

เครือข่ายสภาการศึกษาทางเลือกไทย ซึ่งประกอบด้วยศูนย์การเรียน บ้านเรียน โรงเรียนขนาดเล็ก และเครือข่ายเยาวชนจากทั่วประเทศ ก็ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายฉบับนี้ขัดกับหลักการพื้นฐานของระบบการศึกษาไทยที่สอนให้เยาวชนหลีกเลี่ยงการพนัน

เครือข่ายฯ เห็นว่า ธุรกิจกาสิโนและการพนันที่ถูกต้องตามกฎหมายอาจขัดแย้งกับบทบาทของครอบครัว และร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสังคม วัฒนธรรม และการศึกษาอย่างเป็นระบบ รวมถึงยังไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง อันอาจนำไปสู่การผลักดันนโยบายโดยขาดฉันทามติจากภาคสังคม

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของการใช้ธุรกิจการพนันเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเครือข่ายฯ เห็นว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานของต้นทุนทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว มากกว่าการเลือกเส้นทางที่อาจสร้างปัญหาระยะยาว และยังกังวลว่า การเร่งผลักดันร่างกฎหมายเข้าสู่สภาฯ โดยที่ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอ อาจทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสในการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ และเลือกแนวทางที่เป็นประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อเด็ก เยาวชน และสังคมในภาพรวม

“ท่ามกลางกระแสการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยความบันเทิง จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อรัฐบาลและรัฐสภา ว่าจะเลือกเดินหน้าในทิศทางใดระหว่าง รายได้ในวันนี้ หรือ คุณภาพคนในวันหน้า ซึ่งอาจเป็นคำถามที่สังคมไทยควรมีส่วนร่วมตอบร่วมตัดสินใจไปพร้อมกัน”

เครือข่ายสภาการศึกษาทางเลือกไทย ย้ำด้วยว่า นอกจากไม่ควรเอาธุรกิจกาสิโนและการพนันมาเป็นเครื่องมือสร้างรายได้ที่ฉาบฉวยไม่มั่นคงให้กับประเทศแล้ว รัฐบาลควรเอาเวลา และความใส่ใจในการศึกษา ค้นคว้าและสร้างสรรค์นโยบายและกฎหมายที่ดีบนฐานที่เป็นต้นทุนทางสังคม วัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีมีคุณค่ามหาศาล

สภาแห่งชาติว่าด้วยปัญหาจากการพนัน

สอดคล้องกับมุมมองของ รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการเปิดให้กาสิโนถูกกฎหมายในประเทศไทยในช่วงเวลานี้ โดยให้เหตุผลว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดไม่เพียงพอ ขณะที่ประเทศที่สามารถเปิดกาสิโนได้อย่างปลอดภัยนั้น ต้องมีกฎหมายที่ซับซ้อนและมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้เพื่อป้องกันปัญหาทางสังคม ความปลอดภัย และอาชญากรรม

หากมีกาสิโนถูกกฎหมาย จะเพิ่มความเสี่ยงหลายด้าน ได้แก่ การเพิ่มจำนวนผู้ติดพนัน การกระทบต่อครอบครัวและชุมชน และปัญหาอื่นๆ เช่น การฟอกเงิน อาชญากรรม และภาพลักษณ์ของประเทศ โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัย

แม้ร่างกฎหมายฯ ที่เสนอจะมีมาตรการป้องกันถึง 45 ข้อ เช่น ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าเล่น, กำหนดค่าธรรมเนียมการเข้าเล่นสำหรับคนไทย, มีมาตรการคัดกรองผู้มีปัญหา รวมถึงข้อเสนอจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ระบุว่า ผู้ที่จะเล่นต้องมีบัญชีเงินฝากอย่างน้อย 50 ล้านบาท แต่ รศ.นวลน้อย ก็ยังมองว่า มาตรการเหล่านี้ยังไม่เพียงพอ และข้อเสนอบางข้อ เช่น การจำกัดเฉพาะคนที่มีเงินฝาก 50 ล้านบาท ก็อาจไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง

“คำถามคือ ข้อกำกับควบคุมพอไหม? คำตอบคือไม่พอ ดูตัวอย่างจากสิงคโปร์ เขาคิดเรื่องนี้ตั้งแต่ ปี 2505 ออกกฎหมาย ปี 2506 และตั้ง สภาแห่งชาติว่าด้วยปัญหาจากการพนัน ควบคู่กันไปเลย ให้สภานี้ทำงานอย่างอิสระจากคณะกรรมการควบคุมกาสิโน มีการแก้กฎหมายหลายครั้ง เพื่อเพิ่มอำนาจให้สภานี้ควบคุมปัญหาได้จริง และป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน นี่คือการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง”

รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์

ตัวอย่างจากสิงคโปร์ที่เริ่มพิจารณาเรื่องนี้ตั้งแต่ ปี 2505 แสดงให้เห็นว่า แม้จะมีกฎหมายควบคุมอย่างละเอียดแล้ว รัฐบาลยังตั้ง “สภาแห่งชาติว่าด้วยปัญหาจากการพนัน” ขึ้นมาทำหน้าที่ควบคู่กับคณะกรรมการกำกับกาสิโน โดยเน้นการทำงานอย่างอิสระเพื่อหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน

จากบทเรียนของสิงคโปร์ รศ.นวลน้อย จึงเสนอว่า หากประเทศไทยจะเดินหน้าทำกาสิโนถูกกฎหมาย ควรมีคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาอย่างจริงจัง เพื่อศึกษาผลกระทบ ออกมาตรการป้องกัน คัดกรองกลุ่มเสี่ยง ให้ความรู้แก่ประชาชน และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาการพนัน พร้อมทั้งเสนอให้มีการเชื่อมโยงกับระบบสุขภาพจิตและการบำบัดฟื้นฟูอย่างครบวงจร เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง