26 เม.ย. 68 พบศพหญิงข้ามเพศถูกของมีคมกรีดลึกตั้งแต่ลำคอลงมาถึงอวัยวะเพศ เต้านมทั้งสองข้างถูกกรีดเอาซิลิโคนออกมาวางไว้ข้าง ๆ ร่างของเธอ พร้อมกับหัวใจที่ผู้ลงมือควักออกมา
ผู้ลงมือได้ให้เหตุผลของการกระทำทั้งหมดนี้ว่า อยากแกล้งศพ แต่ภายหลังกลับคำให้การเป็นการลงมือ เพราะเลียนแบบซีรีส์
แม้เหตุการณ์นี้จะเป็นที่สนใจและถูกตั้งคำถามมากมายจากสังคมถึงเหตุจูงใจในการก่อคดีฆาตกรรม ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในแรงจูงใจที่ทำให้คนร้ายก่อเหตุมาจาก “ความเกลียดชังความแตกต่างทางเพศ”
ชีวิตของเธอที่ถูกพรากไป กลายเป็นจุดกระตุ้นให้สังคมเห็นถึงความทับซ้อนของคนข้ามเพศ รวมถึงพนักงานบริการทางเพศ (Sex Worker) ที่ไร้การคุ้มครองและความปลอดภัยในชีวิตเพียงเพราะอัตลักษณ์ทางเพศไม่เป็นไปอย่างที่สังคมกำหนด
นำมาสู่การเสนอแนวทางการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพิ่มโทษในคดีอาญาฐานความผิดต่อชีวิต ในกรณีที่มีแรงจูงใจก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง (Hate Crime) อีกครั้ง จากภาคประชาชนที่มีความพยายามมาแล้วกว่า 6 ปี ในการเรียกร้องให้สังคมเห็นใจความสำคัญของปัญหา ติดตาม และทำความเข้าใจสถานการณ์ของ Hate Crime สู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด
The Active ชวนคุยกับ แดนนี่ – กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ถึงความจำเป็นในการแก้กฎหมายเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ในการเพิ่มโทษเอาผิดผู้ก่ออาชญากรรมที่มีแรงจูงใจจากความเกลียดชัง (Hate Crime)

เหยื่อ ‘Hate Crime’
“ชีวิตประจำวันของคนข้ามเพศและพนักงานให้บริการทางเพศในประเทศไทย ยังคงมีอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะการถูกเลือกปฏิบัติและใช้ความรุนแรงในหลากหลายรูปแบบ”
แดนนี่ – กิตตินันท์ ธรมธัช
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมทำให้ทัศนคติของผู้คนต่อคนข้ามเพศและผู้ให้บริการทางเพศดีขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ายังมีคนบางกลุ่มพยายามผลักคนเหล่านี้ให้เป็นอื่น เช่นเดียวกับที่แดนนี่เล่าให้ฟังว่า คนข้ามเพศและพนักงานให้บริการทางถูกเลือกปฏิบัติและใช้ความรุนแรงในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะในที่ทำงาน บนท้องถนน หรือแม้แต่ในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานทางกฎหมาย
สาเหตุหลักที่ทำให้คนเหล่านี้ใช้ชีวิตด้วยความไม่ปลอดภัย เพราะการถูกตีตราในฐานะ “ผู้กระทำผิด” ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ซึ่งสะท้อนถึงการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลเหล่านี้อย่างชัดเจน
ขณะที่โลกแห่งความจริง การซื้อขายบริการทางเพศเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั่วไปและเป็นที่รับรู้กันในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่ผู้ให้บริการกลับถูกมองเป็นบุคคลชายขอบ และผู้ใช้บริการกลับอยู่ในสถานะ “อำนาจที่เหนือกว่า”
อำนาจที่เหนือกว่าของผู้ใช้บริการนี้เอง อาจนำไปสู่ความรุนแรงในหลายรูปแบบ ทั้งทางร่างกาย วาจา การเหยียดหยาม หรือแม้แต่ Hate Speech และเมื่อเกิดเหตุร้าย พนักงานบริการทางเพศเหล่านี้ก็ไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง เพราะกลไกของรัฐและมุมมองของสังคมยังคงเลือกปฏิบัติ

“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับ Sex Worker โดยเฉพาะคนข้ามเพศนั้นรุนแรงเกินกว่าที่ควรจะเป็น”
แดนนี่ – กิตตินันท์ ธรมธัช
เมื่อเรื่องความหลากหลายทางเพศเข้ามาทับซ้อนในวงจรของคนชายขอบอย่างพนักงานบริการทางเพศ (Sex Worker) ก็ไม่ต่างจากการทวีคูณความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศในฐานะ Sex Worker ซึ่งเหตุการณ์ที่ยกตัวอย่างในตอนต้นก็ทำให้เห็นแล้วว่าอาจเป็นผลมาจากความทับซ้อนนี้จนเกิดเป็น Hate Crime ก็เป็นได้
แดนนี่ ชวนทำความเข้าใจและแยกแยะความหมายของ “เหตุแห่งความเกลียดชัง” กับ “แรงจูงใจในการก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง (Hate Crime)” ให้ชัดเจนเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้ความรุนแรงต่อคนข้ามเพศว่าการกระทำความรุนแรงเข้าข่าย Hate Crime หรือไม่ ดังนี้
- เหตุแห่งความเกลียดชัง อาจเกิดจากความไม่พอใจส่วนบุคคล เช่น การแย่งแฟน ด่าบุพการี หรือการขัดแย้งส่วนตัว ซึ่งนำไปสู่การทำร้ายร่างกายหรือชีวิต อันนี้กฎหมายอาญารองรับอยู่แล้ว
- แรงจูงใจจากความเกลียดชัง (Hate Crime) หมายถึงการที่บุคคลถูกกระทำรุนแรงเพียงเพราะเป็นคนของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น กลุ่มเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว ความหลากหลายทางเพศ โดยไม่มีปัญหาส่วนตัวมาก่อน
แดนนี่ ได้ยกตัวอย่างผู้ที่ใช้ความรุนแรงด้วยเหตุจูงใจจากความเกลียดชังเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาว่ามีการกระทำที่เกิดจาก Hate Crime อย่างชัดเจน จากเหตุการณ์ตำรวจทำร้ายร่างกายคนข้ามเพศหลายครั้ง โดยที่ไม่มีการรู้จักกันเป็นส่วนตัว และพูดประโยคทิ้งท้ายไว้ว่า “กูเกลียดกะเทย” แต่กลับไม่ถูกจัดการภายใต้กรอบกฎหมาย และเป็นไปได้ว่าการกระทำที่เสมือนไม่รุนแรง อาจนำไปสู่ความรุนแรงถึงชีวิตได้ด้วยคำพูดและการกระทำที่เกิดจากความเกลียดชัง
แม้ในระบบกฎหมายไทยจะมีบทบัญญัติรองรับโทษต่อการฆ่าคนตายโดยเจตนาอยู่แล้ว แต่ประเด็นเรื่อง “แรงจูงใจจากความเกลียดชัง” กลับยังไม่มีบทบัญญัติเฉพาะที่ชัดเจน เช่น กรณีการเสียชีวิตของหญิงข้ามเพศจากข่าวที่ยกตัวอย่างในตอนต้น ที่ระบุว่าเป็นเพศชาย โดยไม่ได้สะท้อนเพศวิถีที่แท้จริงของผู้เสียชีวิต ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถระบุหรือวิเคราะห์แรงจูงใจเชิง Hate Crime เช่นเดียวกับกรณีลักษณะเดียวกันในอดีต ก็ยังไม่มีการเพิ่มโทษหรือกลไกทางกฎหมายเฉพาะ ทั้งที่มีงานวิจัยเสนอให้เพิ่มโทษในลักษณะนี้
“สหรัฐอเมริกาเคยมีเหตุการณ์ฆาตกรรมเพราะเกลียดชังทางเพศและสีผิวในยุค 1990 จนนำไปสู่การผลักดันกฎหมาย hate crime ในหลายรัฐ โดยเน้นที่การเก็บข้อมูลและออกกฎหมายเฉพาะเพื่อเพิ่มโทษในกรณีดังกล่าว”
แดนนี่ – กิตตินันท์ ธรมธัช
สำหรับประเทศไทย ในทางกฎหมายบอกไว้ว่า “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” ซึ่ง แดนนี่ และเครือข่าย ได้เสนอว่าหากจะปรับกฎหมายให้สอดคล้องกับบริบทเพื่อหาแรงจูงใจในการก่อเหตุว่าเป็น Hate Crime หรือไม่ ต้องสืบสวนสอบสวนพฤติกรรมของผู้กระทำผิดสามารถสะท้อนเจตนาได้มากน้อยแค่ไหน เช่น การกระทำหรือคำพูดที่แสดงความเกลียดชังอย่างชัดเจน การสืบสวนย้อนหลัง ตรวจสอบภูมิหลัง พฤติกรรมในอดีต การเป็นสมาชิกกลุ่มที่มีแนวคิดเกลียดชัง และพยานหลักฐานในกลุ่มก้อนเดียวกัน
เมื่อมีความชัดเจนแล้วว่ามีความผิดและเหตุจูงใจเกิดจากความเกลียดชัง ก็ให้มีการเพิ่มโทษจากฐานความผิดเดิม โดยเสนอให้เพิ่มโทษจาก 1 ใน 3 ของโทษเดิมเมื่อก่อเหตุที่เกิดจาก Hate Crime เช่น จากโทษเดิมเป็นการจำคุกตลอดชีวิต ให้เพิ่มเป็นโทษประหารชีวิต
ทั้งนี้ ใจความสำคัญของกฎหมายที่บัญญัติเพิ่มโทษในคดี Hate Crime ไม่ได้มีไว้เพื่อลงโทษอย่างเดียว แต่เป็นเครื่องมือเชิง “ป้องกัน” อาชญากรรมในระยะยาว ซึ่งหากมีกฎหมายที่บอกชัดเจนว่าการก่ออาชญากรรมโดยแรงจูงใจจากความเกลียดชังจะได้รับโทษรุนแรงกว่าปกติ ก็อาจทำให้ผู้ที่มีความคิดรุนแรงลังเลและยับยั้งชั่งใจมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องของภาคประชาชนที่พยายามเคลื่อนไหวและเสนอให้มีกฎหมายเพิ่มโทษในคดีที่เกิดจาก Hate Crime ก็ถูกตีตกไปเพราะรัฐบาลกลับมองว่า “ประเทศไทยไม่มีเหตุการณ์แบบนี้” ทั้งที่ในความเป็นจริง กรณีที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนักเรียนตีกันระหว่างสถาบัน หรือการทำร้ายคนเพราะเพศวิถี ก็เข้าข่าย Hate Crime เช่นกัน
ท้ายที่สุด เครือข่ายภาคประชาชนต้องใช้มาตรการเร่งด่วนและช่วยเหลือกันเอง โดยการการสร้าง “Awareness” หรือการรับรู้ในหมู่ผู้ให้บริการทางเพศ โดยเฉพาะการแชร์ข้อมูลในโลกออนไลน์เกี่ยวกับพฤติกรรมที่น่าสงสัยของลูกค้า การมีระบบแจ้งเตือน หรือการรวมกลุ่มช่วยเหลือในภาวะเสี่ยง เพื่อเป็นการป้องกันการก่ออาชญากรรมในเบื้องต้น
และต้องรอดูต่อไปว่า หลังจากเครือข่ายกว่า 45 องค์กรยื่นหนังสือเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งดำเนินการผลักดันกฎหมายและนโยบายรับมือ “อาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง (Hate Crime) ต่อคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เมื่อ 8 พ.ค. 68 ที่ผ่านมา รัฐจะมีท่าทีอย่างไรหลังจากเหตุการณ์การเสียชีวิตของหญิงข้ามเพศรายนี้
“หนึ่งคดีที่เกิดจากความเกลียดชัง ก็เพียงพอแล้วที่จะต้องมีกฎหมายรองรับ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ซ้ำรอยเกิดขึ้นอีก”
แดนนี่ – กิตตินันท์ ธรมธัช


ภาพ : ลภัสลดา โคตรอาษา
ดังนั้น เราไม่ควรรอให้มี “เหยื่อรายต่อไป” เพื่อจะตระหนักว่านี่คือปัญหาที่จริงจัง การมีกฎหมายที่รับรองและเพิ่มโทษต่อ Hate Crime จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยืนยันว่า ความเกลียดชังไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยจะยอมรับได้อีกต่อไป