Civic Imagination: เพราะโลกมันเคยแย่กว่านี้ และมันก็ดีขึ้นมาได้ ด้วยจินตนาการของผู้คน

“ประเทศไทยเป็นรัฐล้มเหลวแล้วหรือยัง?”

หนึ่งในคำถามที่ปรากฏอยู่ในสื่อโซเชียลช่วงที่ผ่านมา สะท้อนถึงความแคลงใจในประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ ภายหลังเหตุการณ์ตึกสำนักงาน สตง. ถล่มจากแผ่นดินไหว

ความอ่อนแอเชิง ‘โครงสร้าง’ ทางวิศวกรรม กลับเผย ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ ในสังคมให้จับต้องได้และเห็นเป็นที่ประจักษ์ ทั้งการคอร์รัปชัน การฮั้วประโยชน์ของกลุ่มอำนาจภายในรัฐ หรือแม้แต่ระหว่างรัฐด้วยกันเอง

คำตอบแบบเร็ว ๆ ของคำถามข้างต้นคือ “ยัง” จากรายงานดัชนีรัฐเปราะบาง (Fragile States Index: FSI) โดย Fund for Peace เปิดเผยข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2567 พบว่า ประเทศไทยได้คะแนน 66.2 คะแนน อยู่อันดับที่ 95 จาก 179 ประเทศ ถ้าดูเฉพาะประเทศในอาเซียน ไทยจะรั้งอันดับที่ 5 ด้วยสถานะ Warning (เฝ้าระวัง) ยิ่งประเทศไหนได้คะแนนสูง ก็แสดงถึงความเปราะบางของรัฐที่สูงขึ้น รายงานนี้จึงไม่ใช่แค่การจัดอันดับ แต่เป็นภาพสะท้อนของรัฐว่าเผชิญปัญหาหนักเพียงใด และมีแนวโน้มดีขึ้นหรือแย่ลงเมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาต่าง ๆ

แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะนี่ไม่ใช่ดัชนีที่ดูคะแนนของประเทศตัวเองแล้วสบายใจได้ เพราะเกณฑ์การประเมิน 12 ข้อ มีบางข้อมุ่งพิจารณาถึงปัจจัย “ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ” (Refugees and internally displaced persons) จะสะท้อนวิกฤตที่ทำให้ประชาชนต้องหนีออกจากบ้านหรือข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และปัจจัย “การแทรกแซงจากต่างชาติ” (External intervention) ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่แสดงให้เห็นว่า ความเปราะบางของรัฐหนึ่งอาจเกิดจากปัจจัยภายนอก ไม่ใช่แค่ปัญหาภายในเท่านั้น

ดัชนีรัฐเปราะบาง จึงไม่ใช่เรื่องของ “บ้านใครบ้านมัน” แต่ชวนให้รัฐและผู้คนมองเห็นตัวเองในแผนที่โลกให้มากขึ้น เช่นเดียวกับกรณีของไทย ที่มีพรมแดนติดกับเมียนมากว่า 2,400 กิโลเมตร ท่ามกลางภาวะสงครามกลางเมืองและความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมียนมาถูกประเมินคะแนนดัชนีรัฐเปราะบางสูงถึง 100 คะแนน นับเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ประเทศไทยจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นผู้ลี้ภัย หรือแรงกดดันต่อความมั่นคงบริเวณชายแดน สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกสะท้อนอยู่ในดัชนีรัฐเปราะบางของไทยด้วยเช่นกัน

คำถามจึงไม่ควรหยุดแค่ “บ้านของเรามันล่มสลายแล้วหรือยัง?” แต่ควรวิ่งออกมาดูหน้าบ้าน แล้วมองถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นรอบ ๆ บ้านของเรา ข้างบ้านเขาไฟไหม้อยู่หรือเปล่า? ไฟจะลามมาไหม? เขาจะวิ่งเข้ามาขอความช่วยเหลือจากเราไหม? การมองเห็นโลกให้กว้างขึ้น อาจนำไปสู่จินตนาการถึงทางออกที่ไกลกว่าที่เราเคยเชื่อ

ชวนคิดหาวิธีอาศัยในสังคมที่ดูไร้หวัง ในบทเรียนวิชาสังคมศึกษากับ ครูทิว—ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูที่เชื่อว่าสังคมที่ดีจะไม่มีวันเป็นไปได้ หากผู้คนยังไร้จินตนาการถึงสังคมที่ดีกว่า

ครูทิว—ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

Fragile State: รัฐเปราะบางไม่ต่างจากตึกที่ร้าว

ในมุมมองของ ครูทิว คิดว่าประเทศไทยยังไม่ใกล้เคียงกับคำว่า Failed State หรือ “รัฐล้มเหลว” ขนาดนั้น เพราะนิยามของ failed state คือรัฐที่ไม่สามารถทำหน้าที่พื้นฐานของรัฐได้ เช่น การจัดบริการสาธารณะ การรักษาความมั่นคงของเขตแดน หรือควบคุมอำนาจในดินแดนของตัวเองไม่ได้ พื้นที่บางส่วนอาจกลายเป็น “พื้นที่ไร้รัฐ” ที่มีกลุ่มอิทธิพลอื่น ๆ เข้ามาแทนที่รัฐโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย หรือรัฐไม่สามารถควบคุมได้เลย

แต่ถ้าจะบอกว่าไทยเป็น Fragile State หรือ “รัฐเปราะบาง” น่าจะใกล้เคียงกว่า เพราะมีความเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งเรื่องการบริหารจัดการ และความเชื่อมั่นของประชาชนที่ลดลง รัฐเปราะบางในที่นี้ หมายถึงรัฐที่ยังพอทำหน้าที่ได้อยู่ แต่มีแนวโน้มเสี่ยงที่จะล้มเหลว ถ้าไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง ถ้าให้เปรียบเทียบ ประเทศที่เป็น Failed State จริง ๆ อย่างชัดเจน เช่น โซมาเลีย ช่วงที่มีปัญหาโจรสลัด หรือซีเรียช่วงสงครามกลางเมือง — รัฐไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ซึ่งประเทศไทยยังห่างจากจุดนั้นพอสมควร

แม้จะยังไม่ใช่ Failed State แต่หลายคนเริ่มรู้สึกว่านี่อาจเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ครูทิว ลองวิเคราะห์ถึงจุดที่ทำให้คนที่ไม่เคยตั้งคำถาม เริ่มฉุกคิด หรือคนที่เฝ้ารอการเปลี่ยนแปลงมานาน เริ่มรู้สึกว่ามันถึงจุดวิกฤตแล้วจริง ๆ ตัวปัญหาอาจเป็นตัวรัฐเอง รวมถึงระบบและกลไกต่าง ๆ ของรัฐที่เริ่ม “ล้มเหลว” ในแง่การตอบสนองประชาชน เราเริ่มรู้สึกว่าไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานหรือคุณภาพชีวิตที่สมควรได้ ไม่ต่างอะไรกับตึกที่ร้าว ภายนอกตึกก็ยังเป็นตึกเหลี่ยม ๆ แม้จะยังไม่ถล่มในวันนี้ แต่ใครล่ะที่จะกล้าอาศัยในตึกนั้น

Deep State และ Failed State

ครูทิว อธิบายด้วยภาพเปรียบเทียบว่า Failed State เหมือนต้นไม้ที่ล้มลงไปแล้ว ไม่มีร่มเงา ไม่มีลำต้นหลัก กลายเป็นพื้นที่ว่างที่แต่ละกลุ่ม ชุมนุม งอกขึ้นมาแทน ไม่มีศูนย์กลางของอำนาจหรือรัฐอีกต่อไป แต่สถานการณ์ของไทยในตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น สิ่งที่เราเจออาจจะคล้ายกับต้นไม้ที่ยังยืนอยู่ แต่ถูก “กาฝาก” เกาะกินจนไม่สามารถเติบโตได้เต็มที่ — และกาฝากในที่นี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า Deep State (รัฐเร้นลึก)

Deep State หมายถึงโครงสร้างหรือกลุ่มอำนาจที่อยู่ซ้อนทับลงไปบนรัฐอย่างแนบเนียน มักเป็นสถาบันหรือองค์กรที่มีอิทธิพลทางการเมือง แต่อยู่เหนือหรืออยู่นอกเหนือการตรวจสอบของกลไกประชาธิปไตย เรามักบอกกันว่าประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนควรมีสิทธิในการกำหนดทิศทางของรัฐ ผ่านการเลือกตั้งหรือรัฐสภา เพื่อสร้างสังคมตามที่ต้องการ แต่ในความเป็นจริง หลายอย่างกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะอาจมี “ปัจจัยอื่น” ที่แทรกเข้ามาควบคุมหรือชี้นำกลไกของรัฐ โดยที่รัฐบาลที่ประชาชนเลือกมากลับควบคุมสิ่งเหล่านี้ไม่ได้

ปัญหาจึงอยู่ตรงนี้ครับ รัฐไทยยังคงมีโครงสร้างคล้ายเดิม แต่โครงสร้างนั้นอาจถูกบิดเบือน จนไม่ตอบสนองต่อประชาชน และแม้รัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่สามารถควบคุมองค์กรหรือกลุ่มที่ใช้ทรัพยากรของรัฐได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ หน่วยงาน หรือบุคลากร

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

ในขณะเดียวกัน กลุ่มที่อยู่ในโครงสร้าง Deep State เหล่านี้ ก็อาจเข้ามาแทรกแซงและควบคุมการทำงานของรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมาอีกด้วย พูดง่าย ๆ คือ ถึงแม้โครงสร้างรัฐจะยังไม่ล้ม (ยังไม่เป็น Failed State) แต่การมี Deep State ทำให้การเติบโตของประชาธิปไตยชะงักลง และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน นี่จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้รัฐของเรา เปราะบาง และอาจเสี่ยงจะล้มเหลวได้ในอนาคต ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขอย่างจริงจัง

รัฐที่ล้มเหลวในการสร้างความหวัง

เมื่อรัฐไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นความอยู่ดีมีสุข สิทธิขั้นพื้นฐาน หรือโอกาสในการมีชีวิตที่ดีขึ้น คนก็จะเริ่มตั้งคำถาม และรู้สึกว่าระบบทั้งหมดมันล้มเหลว ครูทิว เห็นว่า ต่อให้ประชาชนบางคนอาจไม่เข้าใจระบบการเมืองหรือไม่ได้สนใจการเมืองโดยตรง แต่สิ่งที่ทุกคนต้องการเหมือนกันคือ “ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์” ตั้งแต่เรื่องปากท้อง ความปลอดภัย ไปจนถึงการได้รับการยอมรับในสังคม

ยิ่งไปกว่านั้น ความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อกลไกของรัฐก็ถูกสั่นคลอนอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อพวกเขามองเห็นความอยุติธรรมชัดเจน เช่น คนธรรมดาทำผิดก็ถูกดำเนินคดีทันที แต่คนมีอำนาจกลับลอยนวล การเห็นภาพแบบนี้ซ้ำ ๆ มันทำให้เกิดความรู้สึกว่า “กฎหมายมีไว้ใช้กับคนบางกลุ่มเท่านั้น” และสังคมมีสองมาตรฐาน

ครูทิวชวนมองว่า ทุกวันนี้ “เสียงของประชาชน” เริ่มถดถอยลงเรื่อย ๆ หลายคนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจอะไรเลย ทั้งที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะผลลัพธ์สุดท้ายอาจถูกบิดเบือน หรือถูกครอบงำโดยกลุ่มอำนาจอื่น ๆ ในสังคมประชาธิปไตย เราควรพูดถึงการสร้าง “ฉันทามติ” ของสังคม มากกว่าการใช้เสียงข้างมากอย่างเดียว เพราะถ้าเสียงของคนส่วนน้อยถูกละเลย หรือแม้แต่เสียงข้างมากเองยังถูกกดทับ ความรู้สึกสิ้นหวังย่อมเกิดขึ้น เพราะสุดท้ายไม่ว่าจะพยายามส่งเสียงแค่ไหน ก็ไม่มีใครรับฟัง

ความรู้สึกล้มเหลวหรือสิ้นหวังของประชาชน ไม่ได้เกิดจากปัจจัยเดียว แต่มาจากหลายมิติที่เชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นการขาดความมั่นคงในชีวิต ความอยุติธรรม การจำกัดเสรีภาพ หรือความไม่โปร่งใสในการบริหารประเทศ ซึ่งสุดท้ายแล้วนำไปสู่คำถามสำคัญว่า “รัฐยังทำหน้าที่ของมันได้อยู่หรือเปล่า?”

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

“ก็โลกมันเป็นแบบนี้ จะให้ผมตอบยังไง”
เสียงสะท้อนจากห้องเรียนสังคมศึกษา ในวันที่อนาคตยากจะจินตนาการถึง

สำหรับครูทิวที่ทำงานกับเด็ก ๆ มาหลากหลายกลุ่ม ตนพบว่าเด็กบางคน — โดยเฉพาะคนที่มีต้นทุนชีวิตค่อนข้างดี — อาจไม่ได้เดือดร้อนเรื่องปากท้องโดยตรง แต่เขาก็มี “จินตนาการทางจริยธรรม” หรือความกล้าหาญที่อยากเห็นสังคมดีขึ้น เขาตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว แม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็ตาม เช่น เขาอาจถามว่า “ทำไมสังคมเราถึงเป็นแบบนี้ ทั้งที่มันน่าจะดีกว่านี้ได้นะ” ในขณะเดียวกัน ก็มีเด็กอีกกลุ่มที่รู้สึกหมดหวัง รู้สึกว่า “ก็โลกมันเป็นแบบนี้ จะให้ผมตอบยังไง” เหมือนเขายอมรับความไม่ยุติธรรมเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เพราะเขาเห็นซ้ำ ๆ ว่าสิ่งที่ควรดี มันไม่ดีจริง

คำถามหนึ่งที่ครูทิวใช้กระตุ้นความคิดของนักเรียนอยู่เสมอ คือ “จริงหรือไม่ที่มนุษย์ไม่ได้เกิดมาเท่าเทียมกัน” โดยเปิดกว้างความคิดเห็นจากนักเรียน ช่วงปี 2563-2564 ที่บรรยากาศทางการเมืองตื่นตัว เด็กส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า “คนเราต้องเท่ากันสิ” เพราะตอนนั้นกระแสในสังคมส่งเสริมแนวคิดเรื่องความเสมอภาค และคุณค่าประชาธิปไตย แต่พอผ่านมาช่วงหลัง ๆ ปี 2566-2567 กลับเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน เด็กเริ่มเห็นด้วยกับประโยค “มนุษย์ไม่ได้เกิดมาเท่าเทียมกัน” มากขึ้น

ไม่ใช่เพราะเขาไม่รู้ว่าคนควรเท่ากัน แต่เพราะเขา “เห็นด้วยตาว่าไม่เท่ากันจริง ๆ”
เขาเห็นความเหลื่อมล้ำตั้งแต่การเกิด ฐานะ สีผิว การศึกษา โอกาสในชีวิต หรือแม้แต่การถูกปฏิบัติในสังคม เด็กจึงตอบตามสิ่งที่เขา “เห็น” ไม่ใช่ตามสิ่งที่เขา “หวัง”

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า ความรู้สึกของเด็ก ๆ ไม่ได้หลุดจากโลกความจริงเลย พวกเขา “รับรู้” “ประมวล” และ “ตอบสนอง” ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างซื่อตรง ซึ่งบางครั้งนั่นเองที่น่าตกใจมากที่สุด เพราะมันสะท้อนว่า ที่ผ่านมาเราได้สร้างสังคมแบบไหนให้ลูกหลานอยู่ รัฐกำลังฉายภาพความจริงแบบไหนให้คนรุ่นใหม่รับไป และจำยอมถึงความเป็นจริงนั้น โดยไม่กล้าจินตนาการถึงสังคมใหม่ที่ดีกว่า

ครูทิว ย้ำว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อจินตนาการของเด็ก ๆ และทุกปัจจัยนั้นเชื่อมโยงกัน ยกตัวอย่างเรื่องเศรษฐกิจ แม้ตอนปี 2563-2564 เราจะเจอโควิด แต่ตอนนั้นยังพอมีแรงฮึดอยู่บ้าง แต่ตลอดช่วง 4–5 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์มันไม่ได้ดีขึ้นเลย กลับดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง เด็กจำนวนมากเผชิญปัญหาในชีวิตประจำวันโดยตรง พ่อแม่ทำมาหากินลำบาก เด็ก ๆ หลายคนจึงต้องถอยกลับมาอยู่กับความเป็นจริงเฉพาะหน้า สนใจแค่ว่าวันนี้จะกินอะไร มากกว่าจะนึกถึงภาพรวมของสังคม หรือเชื่อมโยงเรื่องปัญหาโครงสร้างที่ใหญ่กว่าได้

อีกเรื่องสำคัญคือ การเลือกตั้งที่ผ่านมาในปี 2562 และ 2566 หลายคนมีความหวัง แต่กลับต้องเจอกับกลไกและกติกาทางการเมืองที่ทำลายความหวังนั้นลง เด็ก ๆ ที่เคยรู้สึกว่าตัวเองคือพลังที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคต ต้องพบกับความผิดหวังครั้งแรก มันเหมือนกับการอกหักจากสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าคือ “ประชาธิปไตย” ทั้งที่อาจจะยังไม่เคยเข้าใจลึกซึ้งด้วยซ้ำว่าระบอบประชาธิปไตยคืออะไร เด็กบางคนหมดแรง บางคนยังเชื่อว่าไปต่อได้ แต่ก็ยอมรับว่ามันเหนื่อยและรู้สึกหมดหวังอยู่ลึก ๆ

ผมคิดว่าความท้าทายคือ เราจะทำยังไงให้เด็กเข้าใจว่าประชาธิปไตยไม่ได้แปลว่าแค่การเลือกตั้ง การแพ้หรือชนะไม่ได้เท่ากับว่า เสียงข้างมากจะทำอะไรก็ได้ เพราะประชาธิปไตยจริง ๆ มันมีองค์ประกอบอื่นที่สำคัญไม่แพ้กัน เช่น หลักนิติธรรม (Rule of Law) สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค หรือแม้แต่ความเป็นมนุษย์ที่ไม่อาจถูกลดทอนได้ แม้เสียงส่วนใหญ่จะเห็นเช่นนั้น

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

เราต้องช่วยให้เด็กเข้าใจว่าในสังคมประชาธิปไตย มันมีความหลากหลายของมุมมอง ทุกคนมีภาพของ “สังคมที่ดี” ในแบบของตัวเอง ซึ่งอาจไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายต้องหาจุดร่วมเพื่ออยู่ร่วมกันให้ได้ ไม่ว่าจะมีอำนาจมากหรือน้อย ต้องยอมรับความแตกต่างและสร้างพื้นที่ตรงกลางเพื่อความอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม

Civic Imagination:
สังคมจะดีกว่านี้ไม่ได้เลย หากเราไม่กล้าจินตนาการถึงสังคมที่ดีกว่า

ห้องเรียนสังคมศึกษาต้องไม่ทำให้ปัญหาของสังคมเป็นเรื่องของปัจเจก และต้องไม่ทำให้เด็กติดกับดักของความจริง ‘จินตนาการ’ จึงกลายเป็นทักษะของห้องเรียนยุคปัจจุบัน ที่ช่วยฝึกให้เด็กมองเห็นถึงความเป็นไปได้ของสังคม เชื่อในพลังของตนเอง และเชื่อว่าสังคมนี้มันดีกว่านี้ได้ แต่เมื่อย้อนกลับมาดูบริบทของห้องเรียนในปัจจุบัน หลายครั้งที่เมื่อเราพูดถึงปัญหา เด็กกลับนึกหนทางแก้ไข หรือภาพที่ดีกว่าไม่ออก ส่วนหนึ่งเพราะเขาไม่มีโอกาสมองเห็นโลกที่ดีกว่านี้มากพอ

ครูทิว อธิบายว่า เด็กที่มีโอกาสได้อ่านนิยาย ได้พบปะผู้คนจากต่างวัฒนธรรม หรือได้เดินทางไปในสังคมอื่น ย่อมสามารถเปรียบเทียบและจินตนาการภาพของสังคมที่หลากหลายได้ชัดเจนกว่า เช่นเดียวกับช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย ที่เริ่มมีชนชั้นกลางซึ่งได้เดินทางไปยุโรป แล้วเห็นภาพของรัฐและบริการสาธารณะในรูปแบบที่แตกต่างจากระบบศักดินาไทย ซึ่งทำให้พวกเขาจินตนาการได้ว่าประชาชนควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้

ห้องเรียนจึงควรส่งเสริมให้นักเรียนมีจินตนาการพลเมือง หรือ Civic Imagination เพื่อทำความเข้าใจโลกและเพื่อคิดถึงสังคมที่ดีกว่า การจินตนาการในที่นี้ยังหมายรวมถึงการเข้าใจผู้อื่น เช่น แทนที่จะตัดสินว่าใครถูกหรือผิดอย่างผิวเผิน เราควรสอนให้เด็กรู้จักจินตนาการถึงปัจจัยโดยรอบหรือประสบการณ์ที่อีกฝ่ายอาจเคยเผชิญมา ซึ่งทำให้เขาคิดและตัดสินใจเช่นนั้น จินตนาการจึงเป็นรากฐานของความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) นอกจากนี้ การจินตนาการถึงเป้าหมายหรือสภาพสังคมที่ดีขึ้น เช่น การมีน้ำประปาใช้บนดอย หรือการเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียม คือแรงผลักที่ทำให้คนพยายามหาหนทางไปสู่จุดนั้น เพราะหากไม่มีภาพปลายทางในใจ เราก็จะไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหน

แน่นอนว่าจินตนาการต้องมีพื้นฐานอยู่กับความจริงอยู่บ้าง แต่มนุษย์เราทุกคนมีความต้องการพื้นฐานอยู่แล้ว หากเราสามารถช่วยเด็กปลดล็อกอุปสรรคทางความคิด มองข้ามข้อจำกัดชั่วคราว แล้วให้เขาถามตัวเองว่า “ฉันต้องการอะไร” “ฉันอยากอยู่ในสังคมแบบไหน” ก็อาจทำให้เขาเริ่มจินตนาการถึงสิ่งที่ไม่เคยมี เป็นการฝันถึงสิ่งใหม่ที่ดีกว่า แม้ยังไม่รู้ว่าทำได้จริงหรือไม่ก็ตาม และเมื่อฝันนั้นชัดเจนขึ้น จึงค่อยย้อนกลับมาคิดหาหนทางไปสู่เป้าหมาย จินตนาการจึงเป็นทั้งเครื่องมือในการเข้าใจโลก และเป็นจุดตั้งต้นของการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในสังคม

“สิ่งที่ผมพยายามทำในฐานะครู คือการชวนนักเรียนมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ว่า บางสิ่งที่เรามีในวันนี้ ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา เช่น สิทธิของผู้หญิง คนผิวดำ หรือชุมชน LGBTQ นั้น ล้วนเป็นผลลัพธ์จากการต่อสู้ ความเปลี่ยนแปลง และการสูญเสียในอดีต จุดนี้ช่วยให้เห็นว่าโลกไม่ได้อยู่กับที่ โลกมันเคยแย่กว่านี้ และมันก็ดีขึ้นมาได้ด้วยพลังของผู้คน

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่แค่การท่องจำปี พ.ศ. แต่เป็นการเปิดมุมมองให้เห็นว่า “สิ่งที่เคยเป็นไปไม่ได้” ในวันหนึ่งก็อาจกลายเป็นความจริงในอนาคต ถ้าเราจินตนาการมันออกและร่วมกันลงมือทำ ลองจินตนาการว่าเราเกิดเมื่อร้อยปีก่อน เป็นผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ ที่ไม่มีสิทธิใด ๆ เลย เราคงรู้สึกสิ้นหวังมาก แต่ถ้ามีใครบอกว่าอีกร้อยปีข้างหน้า ผู้หญิงจะมีสิทธิเลือกตั้ง เท่าเทียม และเป็นผู้นำได้ เราอาจเริ่มมีความหวังและพลังที่จะเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ความหวังจึงไม่ได้เกิดจากความเพ้อฝัน แต่เกิดจากการรู้ว่าประวัติศาสตร์เคยเปลี่ยนมาแล้ว และมันจะเปลี่ยนได้อีกครั้ง

บทส่งท้าย: จินตนาการจะเกิดขึ้น เมื่อผู้คนมีอนาคตให้จินตนาการถึง

“จินตนาการ” เป็นคุณสมบัติสำคัญไม่กี่ประการที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์อื่น จินตนาการช่วยให้มนุษย์รู้จักกังวล และหมั่นตระเตรียมกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง จินตนาการได้พามนุษย์ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้ แม้ว่าจินตนาการของคน ๆ เดียวอาจไม่มีพลังเปลี่ยนแปลงสังคมที่เขาอาศัยอยู่ได้ แต่จินตนาการรวมกันของสมาชิกในสังคม อาจนำพาการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในโลกที่พวกเขาอาศัยอยู่ แต่เราจินตนาการไปได้แค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่า สังคมที่เราอยู่จะยั่งยืนไปได้ไกลแค่ไหนด้วยเช่นกัน

หากในปีหน้า มีคำพยากรณ์ว่าโลกจะแตก การจินตนาการถึงโลกในอีกสิบปีข้างหน้าก็ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น เช่นเดียวกันกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในสังคมที่ไร้ทางไป การลงทุนจินตนาการถึงสังคมที่ในไม่ช้าก็ล่มสลาย จึงไม่คุ้มค่า การตั้งหน้าตั้งตาเอาชีวิตรอดให้ผ่านพ้นไปในแต่ละวัน อาจมีประโยชน์มากกว่าสำหรับพวกเขา

สำหรับ ครูทิว เชื่อว่า บทเรียนวิชาสังคมศึกษาไม่ควรยืนยันความคิดเช่นนั้น เราอาจล้มเหลว ผิดหวัง ท้อแท้ได้ แต่นั่นเป็นเรื่องปกติ ขอแค่ยังมีความหวังว่าสังคมจะดีขึ้นได้ และพยายามทำเท่าที่ทำได้ในแต่ละวัน ในสังคมที่ดูเหมือนไร้ความหวัง เราจำเป็นต้องชี้ให้คนอื่นเห็นสิ่งดี ๆ ที่ยังมีอยู่ ชวนกันมองว่าเราเดินทางมาได้ไกลแค่ไหน มีอะไรที่เราพอทำให้สังคมวันนี้ดีขึ้นได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว สังคมจะไม่สามารถเดินหน้าไปได้เลย หากเราไม่มีความหวังว่าเราจะเปลี่ยนแปลงมันได้

เช่นกัน นี่ไม่ใช่โจทย์ที่ปัจเจกต้องต่อสู้เพียงลำพัง รัฐที่มีอนาคต ก็มีหน้าที่ประกันว่าความฝันและจินตนาการเหล่านั้นจะยังคงทำงานต่อไปในสังคม จัดหาพื้นที่ให้ผู้คนแต่ละกลุ่มสังคมได้นำเสนอและถกเถียงถึงจินตนาการของสังคมที่พวกเขาเชื่อว่าดีกว่า ภายใต้กติกาที่เชื่อว่าทุกคนเท่าเทียมกัน


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง