ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้คนที่ 20 ที่ชื่อ “ยุน ซอกยอล” คนนี้ สร้างความฮือฮาให้กับทั่วโลกโดยการประกาศใช้กฎอัยการศึก ผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติเวลา 22:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น อย่างที่ประชาชนเกาหลีใต้ไม่คาดคิด โดยยุนอ้างว่าต้องใช้กฎอัยการศึกนี้ ปกป้องประเทศจากกองกำลังที่เป็นปฏิปักษ์ ต่อรัฐ และร่วมมือกับเกาหลีเหนือนำมาสู่การบ่อนทำลายเกาหลีใต้
นอกจากนี้ที่ผ่านมา ยุน ซอกยอล ยังอยู่ในความไม่แน่นอนในตำแหน่งประธานาธิบดีหลายต่อหลายครั้งทั้งมีเรื่องอื้อฉาวหลายประเด็น ทั้งเรื่องที่ภรรยาของเขาปั่นหุ้น และรับสินบนเป็นกระเป๋าแบรนด์เนมมูลค่ากว่า 2,200 ดอลลาร์สหรัฐ ตัวเขาเองเขายังถูกยื่นคำร้องถอดถอนตำแหน่งประธานาธิบดีถึง 22 ฉบับ และมีอีก 10 ฉบับกำลังถูกพิจารณาในรัฐสภา
เมื่อพูดถึง “กฎอัยการศึก” สำหรับสังคมเกาหลีใต้แล้ว สิ่งนี้ห่างหายไปจากการเมืองไปนานกว่า 44 ปี นับตั้งแต่ปี 1980 ซึ่งได้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ควังจู ที่เป็นบาดแผลประวัติศาสตร์การเมืองครั้งใหญ่ของเกาหลีใต้
แต่การใช้กฎอัยการศึกในยุค 2024 ก็ล้มเหลวใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากเสียงข้างมากของสภานิติบัญญัติเกาหลีใต้ 190 เสียงจาก 300 เสียงไม่เห็นด้วย ทำให้เกาหลีใต้ไม่เกิดการรัฐประหารขึ้น แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอย่างมาก
The Active ชวนส่องความเข้มแข็งของรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ที่เดินมาไกลเกินกว่าจะย้อนไปสู่การรัฐประหาร ผ่านบทวิเคราะห์ของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และเกาหลีศึกษา อะไรคือกลไกสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้ต้านการประกาศใช้กฎอัยการศึกไว้ได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ทางการเมืองของเกาหลีใต้ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่าเป็นเรื่องการเมืองภายใน เนื่องจากคะแนนความนิยมของยุน ซอกยอล นั้นถดถอยลงมาก ตั้งแต่วันที่ชนะการเลือกตั้งก็ไม่ได้รับคะแนนที่ท่วมท้น เป็นประธานาธิบดีที่ไม่ได้เป็นที่นิยมตั้งแต่วันแรก
อีกสาเหตุคือ การที่ระบบการเลือกตั้งเกาหลีใต้นั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่เกิดขึ้นไปเมื่อปี 2022 และการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติเพิ่งเลือกตั้งไปในปีนี้ ปรากฏว่าตอนนี้รัฐสภนั้นครองเสียงข้างมาก ในเมื่อคนที่ครองเสียงข้างมากคือฝ่ายค้าน ยิ่งทำให้ ยุน ซอกยอล เริ่มติดขัดในทางการเมือง
รัฐธรรมนูญปี 1987 รากฐานประชาธิปไตยเกาหลีใต้
เกาหลีใต้เกิดระบบการปกครองรูปแบบประธานาธิบดีมาตั้งแต่ 1987 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประธิปไตย ซึ่งรัฐธรรมฉบับนี้เป็นหมุดหมายสำคัญ ที่เน้นย้ำหลักการเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ การตรวจสอบถ่วงดุล การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ รวมถึงการหลักการการเป็นอิสระของตุลาการ
“ทำไมรัฐประหารถึงไม่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ ก็เพราะผู้ที่เคยเกี่ยวข้องการรัฐประหารถูกศาลตัดสินคดีไปแล้ว ฉะนั้น การพิพากษาของศาลก็เป็นการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมาย”
รัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ มีหลักการให้พลเรือนอยู่เหนือทหาร เขียนชัดว่า “ประธานธิบดีเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด” จะเห็นว่าเหตุการณ์ล่าสุด อำนาจในการประกาศกฎอัยกาศึกจึงเป็นของประธานาธิบดี
“สิ่งที่เป็นอยู่ในเกาหลีใต้ การเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย ตั้งแต่ปลาย 1980 ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้เกาหลีใต้เดินทางมาไกลมากแล้ว ระบอบลงหลักปักฐานมาอย่างเข้มแข็งแล้ว”
ไม่ใช่ว่าการเมืองเกาหลีใต้ไม่มีปัญหา มีเยอะ… แต่นั้นระบอบประธิปไตยเข้มแข็ง เมื่อเกิดการประกาศกฎอัยการศึก มีการเรียกประชุมด่วน ซึ่งนั่นเป็นตามไปกลไกรัฐธรรมนูญ
การประกาศกฎอัยการศึก ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ
กฎอัยการศึก ต้องถูกใช้อย่างเป็นเหตุเป็นผล… อย่างการเกิดเหตุสงคราม ความขัดแย้ง สถานการณ์ฉุกเฉิน เร่งด่วน ของชาติ ประธานาธิบดีสามารถประกาศกฎอัยการศึกได้ แต่ประกาศแล้วต้องปแจ้งต่อรัฐสภาทันที รัฐสภาสามารถยกเลิกกฎอัยการศึกได้ โดยต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ที่สำคัญในรัฐธรรมนูญย้ำว่า ประธานาธิบดีต้องปฏิบัติตาม
ปุรวิชญ์ชี้ว่า สิ่งที่ยุน ซอกยอล สาเหตุที่ประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล ประกาศใช้กฎอัยการศึกนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ใช่เหตุสงคราม ความขัดแย้งที่ฉุกเฉิน ถึงแม้จะอ้างว่ามีภัยจากฝ่ายที่ฝักใฝ่สนับสนุนเกาหลีเหนือก็ตาม
ต่อจากนี้อนาคตของยุน ซอกยอล เหลือนหนทาง คือ จะลาออกหรือถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง แต่ไม่ว่าจะเลือกทางไหน ก็อาจจะตามมาด้วยคดีความ เนื่องจากการออกประกาศกฎอัยการศึก แน่นอนว่าเรื่องราวหลังจากนี้ของยุน ซอกยอล คงไม่จบลงเพียงเท่านี้
ประวัติศาสตร์บาดแผลการเมืองเกาหลีใต้
“ความทรงจำของคนเกาหลี คือประวัติวัติศาสตร์บาดแผล ตั้งแต่สร้างรัฐ ทั้งยุคสงครามเกาหลีจนถึงยุคเผด็จการทหาร”
เมื่อเกิดการประกาศกฎอัยการศึกขึ้น ในรอบ 40 กว่าปี เหมือนเป็นการย้อนรอยแผลของคนเกาหลีใต้ เพราะพัฒนาการของการเมืองเกาหลีใต้นั้นเดินมาไกลแล้ว…
ในทฤษฎีรัฐศาสตร์ ช่วงของการเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบอบประชาธิปไตย หลาย ๆ ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วเกิดภาวะหวนย้อนกลับไปหาระบอบเผด็จการ ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะสถาบันการเมืองยังไม่เข้มแข็ง ไม่มั่นคง ฝ่ายอำนาจเก่าสามารถตลบหลังกลับมาได้ แต่สำหรับเกาหลีใต้เดินมาไกลจากปี 1987 มามากแล้ว
“รัฐธรรมนูญปี 1987 เป็นกติกาเดียวที่ทุกคนยึดถือ สิ่งที่เกิดขึ้นจากการประกาศกฎอัยการศึก คือกลไกของการถ่วงดุลในรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น”
แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้มีการออกแบบที่มีความยืดหยุ่นในเชิงสถาบัน ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตทางการเมืองอะไรก็ตาม สถาบันการเมืองที่ถูกออกแบบไว้ตามรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวมันเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพากลไกนอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งนี้ไม่มีในรัฐธรรมนูญของไทย
ความต่างของรัฐธรรมนูญไทย – เกาหลีใต้
ปุรวิชญ์ บอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของไทยเป็นกติกาที่มาจากคณะรัฐประหาร กลไกที่ฝังอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 60 ก็คือการสืบทอดอำนาจ ถึงแม้วันนี้คณะรัฐประหารจะไม่มีอำนาจโดยตรงแล้ว แต่ยังมีองคาพยพที่กำลังผลัดใบ ทั้งองค์กรอิสระ สว. ฟังก์ชั่นทุกอย่างยังเป็นตามที่คณะรัฐประหารออกแบบไว้อยู่
ถ้าเทียบรัฐธรรมนูญปี 60 ของไทยก็เหมือนรัฐธรรมนูญยุค “ปัก จุง ฮี” และ “ชอน ดูฮวาน” อดีตผู้นำเผด็จการเกาหลีใต้ แต่ของไทยมีการแปลงร่างให้ดูมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ด้วยการเลือกตั้ง
“รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ เหมือนกับเจ็บมาเยอะ ผ่านประสบการณ์ที่เลวร้ายมาเยอะ กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยเคยพุ่งทะยานสูงมากแล้ว จนกระทั่งผู้นำทหารก็ไม่อาจปฏิเสธคลื่นความต้องการของมหาชนได้”
วัฒนธรรมการพ้นผิดลอยนวล… ไม่มีในเกาหลีใต้ มีการฟื้นคดีของคณะรัฐประหารเกาหลีใต้ ถูกพิพากษาว่ามีความผิด ทำให้เกิดบรรทัดฐานในสังคมว่าการทำรัฐหารผิดกฎหมาย การปราบประชาชนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง แต่ของไทยยังไม่ถึงจุดนั้นอย่างที่เกาหลีใต้เจอ
ประชาธิปไตยเกาหลีใต้ ถอยหลังกลับไม่ได้แล้ว
ด้าน เสกสรร อานันทศิริเกียรติ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมไทยคดีศึกษาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเคยใช้ชีวิตและเคยสัมผัสมุมมองการต่อสู้ทางการเมืองของคนเกาหลีใต้ บอกว่า การประกาศกฎอัยการศึกของช่วงปี 1980 กับยุคปัจจุบันมีความต่างกัน ทั้งในแง่ของสถานการณ์ เนื่องจากเหตุการณ์ที่ควังจูอาจเกิดจากความล้มเหลวในเวลานั้น ใช้เวลากว่า 10 วันกว่าเหตุการณ์จะสงบ และเกิดการสูญเสียจำนวนมาก แต่เหตุการณ์ล่าสุดเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด และหลังจากนั้นต้องมีการพิสูจน์สิ่งที่ทำลงไปนั้นถูกต้องหรือไม่
จากประสบการณ์ที่เคยสังเกตการณ์การชุมนุมของประชาชนเกาหลีใต้ที่ออกมาขับไล่อดีตประธานาธิบดี พัค กึนฮเย เมื่อปี 2016 ชาวเกาหลีรวมตัวกันอย่างตั้งใจทุกวันเสาร์ ซึ่งผลจากการรวมตัวก็ส่งผลให้เกิดการถอดถอนตำแหน่งประธานาธิบดีในสภาฯ โดยส่วนตัวเชื่อว่าเหตุการณ์ถอดถอนอาจเกิดขึ้นกับยุน ซอกยอลในไม่กี่วันที่จะถึง
ครั้งแรกในรอบ 40 กว่าปี อาจทำให้มีจังหวะที่สับสนว่าแนวปฏิบัติไหนคือสิ่งที่ใช่ หรือไม่ใช่ เหมาะสมหรือไม่ ดังนั้น เกาหลีใต้เหมือนกับเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในการเรียนรู้การประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งเมื่อมองมาที่ไทย อาจคุ้นเคยมากกว่า แต่ต้องมาดูว่าสัดส่วนของการใช้แต่ละครั้งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงแค่ไหน
“คนรุ่นใหม่ก็รู้สึกว่าวิธีการแบบนี้ ไม่วิธีการของรัฐประชาธิปไตย โดยเฉพาะที่ประธานาธิบดีเป็นถึงอดีตอัยการสูงสุด ก็ไม่ควรจะมาพลาดอะไรในลักษณะนี้”
บทเรียนโครงสร้างประชาธิปไตยจากเกาหลีใต้
ต้องทำให้ประชาธิปไตยเป็นกฎเดียวที่คนยอมรับ การประกาศกฎอัยการศึกในครั้งนี้หลายคนอาจมองว่าเกือบจะเป็นการล้ำเส้นประชาธิปไตย จึงเกิดการต่อต้านอย่างเด็ดขาด
โดยความเป็นประชาธิปไตยพิสูจน์ได้ด้วย 2 อย่าง อย่างแรกคือ ความรับผิด ตรวจสอบได้ เวลาเกิดความผิดพลาด คนที่ทำผิดจะต้องไม่ ‘พ้นผิดลอยนวล’ และจะต้องได้รับบทลงโทษ ซึ่งนี้เกาหลีใต้สำคัญมาก
อย่างที่สอง คือ ต้องมีประสิทธิภาพ ประชาธิปไตยต้องทำให้เห็นว่าทำงานได้ คนที่อยู่ในระบบก็ต้องทำงานได้อย่างดี ทำหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบต่อประชาชน ซึ่งต้องมีองค์ประกอบอย่างอื่นประกอบด้วย
ประชาธิปไตยของเกาหลีใต้มีความเป็น “ชาตินิยม” ประกอบด้วยเสมอ มีความรู้สึกของความเป็นคนเกาหลี มีความรู้สึกว่าการทำแบบนี้จะเกิดความอับอายต่อคนทั้งโลก ซึ่งนั่นเป็นความรู้สึกร่วมกันว่าจะทำอะไรที่ผิดไม่ได้
“ต้องใช้ชาตินิยมให้มีคุณค่า เป็นประโยชน์ มีประสิทธิภาพเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่คนเกาหลีใช้ชาตินิยมลักษณะนี้ ไม่ใช่การสร้างความเกลียดชังไปทั่ว แต่ต้องมีความภูมิใจ ต่อยอดสร้างพลังให้สามารถเดินต่อไปได้”
นั่นเป็นการวิเคราะห์ภาพรวของโครงสร้างประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญของประเทศเกาหลีใต้ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยเต็มใบ ซึ่งประชาชนได้เรียนรู้จากบาดแผลทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง
ภายใต้ความสั่นคลอนของรัฐสภาเกาหลีใต้ช่วงนี้ทำให้ทั่วโลกกำลังความสัมพันธ์ของสองเกาหลีว่าจะเป็นอย่างไรต่อ อีกทั้งเส้นทางการเมืองของ ยุน ซอกยอล หลังจากนี้ที่คงมืดมิดอยู่ไม่น้อย ท่ามกลางข้อสงสัยถึงเบื้องหลังของการกระทำของเขาที่ชาวเกาหลีใต้หลายคนไม่อาจให้อภัย