“เรากำลังฝืนโชคชะตา”
นี่คือคำนิยามสภาพสังคมปัจจุบันอย่างรวบรัดที่สุด ในมุมมองของนักวิชาการด้านแรงงานอย่าง ผศ.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ ที่เห็นว่า เราทุกคนอาศัยอยู่ในโลกหลังสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วย “ความเสี่ยงใหม่” ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของอุบัติเหตุทั่วไป แต่หมายถึงความเสี่ยงที่ซับซ้อนและยากจะควบคุม เช่น สงคราม วิกฤตสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีแบบแผน คนที่ถูกผลักให้เผชิญกับความเสี่ยงนี้ คือ กลุ่มแรงงานจบใหม่ที่ต้องเผชิญหน้าอย่างไม่มีเกราะป้องกัน
ขณะที่โลกเผชิญวิกฤตหลากมิติ ภาครัฐกลับลดบทบาทในการดูแลประชาชนลง ด้วยเหตุผลของงบประมาณ ทำให้แนวคิดรัฐสวัสดิการ (Welfare State) กำลังเสื่อมถอยในหลายประเทศ ระบบสวัสดิการสังคมล่มสลายลงอย่างช้า ๆ รัฐผลักให้เอกชนต้องดูแลกันเอง ซื้อประกันเอง เก็บออม วางแผนชีวิตให้รัดกุมที่สุด คนสูงวัยจะถูกบังคับให้ทำงานหลังเกษียณมากขึ้นเพื่ออยู่รอด เด็กอ่อนกำลังขาดเงินสมทบอย่างเพียงพอ วัยแรงงานกำลังดิ้นรนเอาตัวรอดในตลาดงานที่จ้องจะเลย์ออฟในทุกวัน
ไม่ว่า ‘เบญจ-อาเพศ’ จะมีจริงหรือไม่ แต่นี่คือโชคชะตาที่เด็กจบใหม่ต้องเผชิญโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ มีอะไรที่คนรุ่นใหม่เลือกได้บ้าง? รัฐจะยังประกันความฝันให้กับเขาได้หรือไม่? หรือโลกที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงจะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมนี้เอง
โลกที่ไม่มั่นคง ทำให้คนรุ่นใหม่มองหางานที่มั่นคง
สังคมที่เต็มไปด้วย งานไม่มั่นคง (Precarious work) คอยย้ำเตือนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานจบใหม่เสมอว่า สังคมนี้มีตัวเลือกของงานที่ไม่มากนัก หมายความว่า แม้งานจะมีความอันตราย สวัสดิการน้อย ชั่วโมงการทำงานมาก แรงงานส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าเลือกงานตามที่ตัวเองฝัน อาจจะเพราะวุฒิการศึกษาและทักษะที่ไม่ได้ถูกบ่มเพาะมาตรงตามตลาดงาน หรือไม่ได้มีทุนชีวิตที่แข็งแรงพอจะวิ่งหาความฝันได้ และถึงแม้จะอยากพัฒนาตัวเองแค่ไหน ก็ไม่มีเวลาปลีกตัวจากงานที่ทำ เพราะอาจมีหนี้สินและคนที่รออยู่ข้างหลัง
ผลคือ คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยจึงเบนเข็มไปสู่อาชีพที่มั่นคง เช่น งานราชการ หรือองค์กรขนาดใหญ่ และยอมกอดงานนั้นไปตลอด ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ในปี 2566 พบว่า สัดส่วนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Gen Z) ที่เข้าสู่ระบบราชการมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปีงบประมาณ 2562 – 2566 โดยมีอัตราการบรรจุเฉลี่ยสูงกว่า 45% ของจำนวนผู้ได้รับการบรรจุทั้งหมดในแต่ละปี ซึ่งมากกว่าช่วงก่อนหน้า (ปี 2557–2561) ที่สัดส่วนยังไม่เกิน 45%
สาเหตุสำคัญมาจากวิกฤตการณ์ซ้ำซ้อนหลายมิติ ทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองและสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในช่วงปี 2563 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในภาคเอกชนซึ่งมีการเลิกจ้างจำนวนมาก ทำให้อาชีพรับราชการกลายเป็นทางเลือกที่มั่นคงและปลอดภัยมากกว่า
อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2566 อัตราการบรรจุของ Gen Z เริ่มลดลงอีกครั้ง ซึ่งอาจสะท้อนถึงการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจเอกชน และการที่คนรุ่นใหม่มีทางเลือกมากขึ้นในสายอาชีพที่ให้ผลตอบแทนหรือสวัสดิการที่ดีกว่า รวมถึงความยืดหยุ่นในการทำงานที่มากกว่าระบบราชการแบบเดิม จากแนวโน้มนี้ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัว ปรับระบบการทำงานและแนวทางบริหารบุคลากรให้ทันกับยุคสมัย เพื่อจูงใจให้คนรุ่นใหม่มองเห็นคุณค่าและความน่าสนใจของอาชีพรับราชการในบริบทใหม่ที่ตอบโจทย์ชีวิตและความต้องการของพวกเขาให้มากขึ้น

กฤษฎา สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในวัยประมาณ 25 ปี เริ่มหันกลับมาให้ความสนใจกับการทำงานในภาคราชการมากขึ้น โดยมีเหตุผลสำคัญคือ “ความมั่นคง” แม้ภาพรวมของระบบราชการในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปมากก็ตาม
สนามสอบ ก.พ. ยังเป็นที่นิยมอย่างมาก จำนวนผู้สมัครสอบไม่ได้ลดลง ทั้งที่จำนวนตำแหน่งข้าราชการที่เปิดรับลดลง โดยเฉพาะในบางกระทรวงที่เริ่มเปลี่ยนตำแหน่งข้าราชการเป็นพนักงานราชการแทน ซึ่งไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับข้าราชการเต็มรูปแบบ เช่น สวัสดิการหรือการเข้าระบบบำนาญ
อย่างไรก็ตาม ความต้องการเข้าสู่ระบบราชการของคนรุ่นใหม่มีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับภูมิหลัง ประสบการณ์ หรือวิธีคิดของแต่ละคน บางคนเติบโตมาในครอบครัวข้าราชการ หรือครอบครัวชนชั้นกลางที่ให้คุณค่ากับความมั่นคง จึงอยากเดินตามเส้นทางนี้ ในขณะที่บางคนอาจมองว่าระหว่างงานราชการกับเอกชนไม่ได้ต่างกันมากในแง่รายได้ จึงเลือกไปทำงานอิสระตามไลฟ์สไตล์ของตนเอง
อย่างไรก็ตาม แม้เทรนด์ “งานอิสระ” จะเป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษารุ่นใหม่ แต่เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจทำงานจริง หลายคนก็อาจกลับมาเลือกเส้นทางราชการเพื่อความมั่นคง โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไม่แน่นอน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความมั่นคงยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเรื่องงานของคนรุ่นใหม่
จำนวนคนสมัครราชการไม่ได้ลดลง แต่ตำแหน่งเปิดรับต่างหากที่น้อยลง หลายหน่วยงานลดการบรรจุข้าราชการ เหลือแค่พนักงานราชการซึ่งไม่มั่นคง สวัสดิการก็เปลี่ยนไป ไม่เหมือนระบบแบบเดิมที่เราเคยรู้จัก
ผศ.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์

นอกจากนี้ กฤษฎา ยังชี้ให้เห็นว่า ภาครัฐมีแนวโน้มลดบทบาทตัวเองลงอย่างต่อเนื่อง ผ่านการ “ลีนองค์กร” และปรับโครงสร้างการจ้างงาน โดยเปลี่ยนจากข้าราชการเต็มรูปแบบมาเป็นพนักงานรูปแบบอื่น เช่น พนักงานราชการ หรือบุคลากรในองค์กรมหาชนที่อยู่นอกระบบราชการโดยตรง ซึ่งส่งผลให้ความมั่นคงในสายงานราชการก็ลดลงตามไปด้วย แม้บางกระทรวงที่เคยเป็น “เกรดเอ” ก็ยังเริ่มเปลี่ยนโครงสร้างการจ้างงานจากภายใน โดยให้ข้าราชการทำหน้าที่เฉพาะด้านปฏิบัติการหลัก ส่วนสายสนับสนุนกลับกลายเป็นพนักงานราชการมากขึ้น จึงไม่อาจนิยามงานราชการยุคใหม่ได้อย่างตายตัวอีกต่อไป
ภาพรวมทั้งหมดสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบราชการไทย ภายใต้นโยบายแนวเสรีนิยมใหม่ ที่เน้นลดบทบาทรัฐและเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร แม้จะยังเป็นที่พึ่งพิงของคนรุ่นใหม่ในแง่ความมั่นคง แต่ก็ต้องยอมรับว่าความมั่นคงนั้นไม่ได้เท่าเทียมและครอบคลุมเหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว
คนรุ่นใหม่หมดไฟ เพราะโลกของงานไม่เปิดกว้าง
ในโลกการทำงานยุคปัจจุบัน คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มวัย 25 ปีที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตหลังเรียนจบ กำลังเผชิญกับความรู้สึกหมดไฟและสับสน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ข้อมูลในโซเชียลมีเดียที่รายงานอัตราการว่างงานของเด็กจบใหม่ อาจสร้างความกังวลและตีกรอบความฝันของพวกเขาตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้น
เด็กจบใหม่วันนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายมากกว่าที่เคย ไม่ใช่แค่การหางานเท่านั้นที่ยากขึ้น แต่ “งานที่ดี” โดยเฉพาะงานที่ให้ค่าจ้างสูงตามความคาดหวัง ยิ่งหายากไปอีก ข้อมูลจาก ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ‘คิด for คิดส์’ โดยมีเพียง 2.7% ของเยาวชนไทยเท่านั้นที่ได้ทำงานที่มีรายได้เกิน 23,268 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นรายได้ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยความคาดหวังของเยาวชนไทย นอกจากนี้ 87.8% ของแรงงานเยาวชนในประเทศไทยได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 15,201 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นระดับค่าจ้างที่สามารถให้คุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับแรงงานเยาวชนได้ตามมาตรฐานการครองชีพเฉลี่ยของสังคม
ขณะเดียวกัน เด็กจบใหม่จำนวนมากยังหางานไม่ได้ภายใน 1 ปีแรก ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า 67% ของบัณฑิตจบใหม่ยังไม่มีงานทำ และมากกว่าครึ่งของคนว่างงานทั้งหมด (53.3%) เป็นผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา แสดงให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างในระบบตลาดแรงงานที่ไม่สามารถรองรับแรงงานคุณภาพหน้าใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยิ่งไปกว่านั้น โอกาสในการได้งานดี ยังขึ้นอยู่กับ ‘สถานที่’ เป็นอย่างมาก งานทักษะสูงนอกภาคเกษตรกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่ครองสัดส่วนมากถึง 40.1% ตามมาด้วยจังหวัดอย่างนครราชสีมา ชลบุรี และเชียงใหม่ ส่งผลให้แรงงานรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยต้องย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิดมาเริ่มชีวิตใหม่ในเมือง ซึ่งเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวม
เมื่อทำงานหนัก แต่ชีวิตไม่บาลานซ์ ปัญหาสุขภาพจิตจึงตามมา คนวัยทำงานใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของชีวิตไปกับการทำงาน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ติดอันดับ 5 เมืองที่ทำงานหนักที่สุดในโลก จากการจัดอันดับของบริษัท Kisi ส่งผลให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า และหมดไฟได้ง่าย โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z ที่กำลังเผชิญภาวะหมดไฟมากที่สุดถึง 17% ขณะที่องค์การอนามัยโลกก็ย้ำว่าภาวะนี้เป็นปัญหาสุขภาพที่ควรได้รับการดูแลอย่างจริงจัง
แม้ภาคธุรกิจจะมีตำแหน่งงานรองรับอยู่บ้าง แต่สิ่งที่น่ากังวลคือเงื่อนไขในการรับสมัคร ที่หลายครั้งเน้นประสบการณ์ระหว่างเรียนมากกว่าทักษะที่จำเป็นจริงในงาน ทำให้คนรุ่นใหม่อาจพลาดโอกาสในการเรียนรู้เนื้อหาวิชาชีพอย่างลึกซึ้ง เพราะต้องรีบเก็บ “ซอฟต์สกิล” เพื่อให้เข้าตาตลาดแรงงาน นอกจากนี้ การฝึกงานระหว่างเรียนที่ควรเป็นการเรียนรู้จริง กลับกลายเป็นภาระของนักศึกษาหากไม่มีแผนที่ชัดเจนจากทั้งมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการ
“ประเทศไทยยังขาดระบบวางแผนอาชีพที่ชัดเจนตั้งแต่ระดับมัธยม ทั้งที่ควรเริ่มก่อนเข้ามหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ เพราะบางสาขาเลือกแล้วคือเส้นทางอาชีพเลย ถ้าไม่วางแผนตั้งแต่ต้น สุดท้ายเด็กก็เลือกตามใจหรือข้อมูลไม่รอบด้าน ทำให้หลุดเป้าหมายที่แท้จริงไป”
ผศ.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์
แล้วรัฐควรประกันงานที่ดี ให้พวกเขาอย่างไร?
ในโลกการทำงานยุคปัจจุบัน คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มวัย 25 ปี ที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตหลังเรียนจบ กำลังเผชิญกับความรู้สึกหมดไฟและสับสน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ข้อมูลในโซเชียลมีเดียที่รายงานอัตราการว่างงานของเด็กจบใหม่ อาจสร้างความกังวลและตีกรอบความฝันของพวกเขาตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้น
แม้ภาคธุรกิจจะมีตำแหน่งงานรองรับอยู่บ้าง แต่สิ่งที่น่ากังวลคือเงื่อนไขในการรับสมัคร ที่หลายครั้งเน้นประสบการณ์ระหว่างเรียนมากกว่าทักษะที่จำเป็นจริงในงาน ทำให้คนรุ่นใหม่อาจพลาดโอกาสในการเรียนรู้เนื้อหาวิชาชีพอย่างลึกซึ้ง เพราะต้องรีบเก็บ “ซอฟต์สกิล” เพื่อให้เข้าตาตลาดแรงงาน นอกจากนี้ การฝึกงานระหว่างเรียนที่ควรเป็นการเรียนรู้จริง กลับกลายเป็นภาระของนักศึกษาหากไม่มีแผนที่ชัดเจนจากทั้งมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการ
กฤษฎา มองว่า นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่รัฐโดยเฉพาะกระทรวงอุดมศึกษาฯ กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงแรงงาน ที่อยู่ภายใต้พรรคภูมิใจไทยทั้งสิ้น ต้องเข้ามาจัดการ ไม่ใช่ผลักภาระให้แต่ละภาคส่วนดิ้นกันเอง มหาวิทยาลัยควรทำงานร่วมกับสถานประกอบการ วางระบบฝึกงานอย่างจริงจัง ส่วนสถานประกอบการเองต้องเปิดกว้างและรับผิดชอบทางสังคมมากขึ้น ไม่ใช่แค่รอ “คนพร้อมใช้งาน” โดยไม่ลงทุนในการสร้างคน
อีกประเด็นใหญ่คือ ประเทศไทยยังขาดระบบการวางแผนอาชีพที่ดีตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย นักเรียนเลือกเรียนต่อโดยไม่มีข้อมูลรอบด้าน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจบไปแล้วจะทำอะไรได้ การวางแผนพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศจึงควรเริ่มตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนปริญญาตรี ให้เด็กเห็นเส้นทางของตนเองตั้งแต่ต้น จะได้เรียนรู้ได้อย่างมีเป้าหมาย
สำหรับบทบาทของรัฐในเรื่องการประกันงานที่ดี (Decent Work) หรืองานที่ให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม มีคุณค่า และปลอดภัยให้กับแรงงานทุกช่วงวัย กฤษฎา เสนอว่า มี 4 เรื่องที่รัฐต้องรับผิดชอบอย่างชัดเจน ได้แก่
- การคุ้มครองสิทธิในการทำงาน เช่น ชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม หรือสิทธิพื้นฐานของลูกจ้าง
- การส่งเสริมศักยภาพแรงงาน ให้เขาพัฒนาเป็นผู้ประกอบการ หรือสามารถ Re-skill เพื่อปรับตัวกับตลาดแรงงาน
- ระบบสวัสดิการและการคุ้มครองทางสังคม ที่ช่วยพยุงชีวิตเมื่อเกิดความไม่แน่นอน
- การส่งเสริมการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง เพื่อให้แรงงานสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่ส่งผลต่อชีวิตพวกเขา
ทั้งหมดนี้คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้ แต่เรากลับไม่รู้ว่ามันคือสิทธิของเรา เพราะไม่มีใครเคยสอนหรือสื่อสารเรื่องนี้ให้เราเข้าใจสิ่งที่เรากำลังเผชิญไม่ใช่แค่ปัญหาการว่างงาน แต่คือระบบที่ยังไม่พร้อมจะสร้างโอกาสที่แท้จริงให้กับคนรุ่นใหม่
ผศ.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์
“เราเปลี่ยนแปลงโชคชะตาได้”
ในสังคมยุคใหม่ ความเชื่อมโยงระหว่างคนในชุมชนลดลงเรื่อย ๆ การใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ทำให้คน “ไร้สังคม” มากขึ้น ชุมชนแยกตัวออกจากกัน ชีวิตในออฟฟิศไม่จำเป็นต้องพบปะกัน เพราะสามารถทำงานจากที่บ้านได้ ครอบครัวขนาดเล็กลง และความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวหรือเครือญาติเริ่มห่างเหินมากขึ้น ขณะที่รัฐยังไม่มีนโยบายหรือกลไกที่จะส่งเสริมการรวมกลุ่ม หรือสร้างพื้นที่ให้ผู้คนสามารถแสดงออกถึงอัตลักษณ์ร่วมกันได้ แนวคิดเรื่องจิตสำนึกร่วมในสังคมจึงเริ่มสลายลงไปตามระบบที่ผลักให้เอกชนจัดการชีวิตตนเองมากขึ้น
เมื่อมองกลับมาที่ระบบพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เช่น ที่อยู่อาศัย ระบบสุขภาพ อาหาร การเดินทาง สาธารณูปโภค หรือพลังงานเชื้อเพลิง ถ้าต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ก็ไม่สามารถพึ่งพาภาครัฐได้เต็มที่ กลายเป็นภาคเอกชนที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้มากกว่า ทั้งที่ระบบพื้นฐานเหล่านี้ควรเป็นสิ่งที่รัฐต้องดูแลและรับผิดชอบ
สถานการณ์เช่นนี้ทำให้หลายคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เริ่มหมดหวังกับการคาดหวังให้รัฐเป็นคำตอบของชีวิต แต่คำถามสำคัญยังคงอยู่ว่า เราจะปล่อยให้ความหวังนั้นจางหายไปโดยไม่มีทางเลือกอื่นเลยหรือ?
แม้จะไม่มีพลังมากพอจะเปลี่ยนแปลงในทันที แต่การตั้งคำถามและพูดถึงปัญหาอย่างต่อเนื่องในสังคม ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทิศทางของอนาคตเปลี่ยนไปได้ — แม้จะเพียงเล็กน้อย แต่นั่นอาจเพียงพอที่จะไม่ต้องยอมจำนนต่อโชคชะตาที่เราไม่ได้เลือกเอง
ผศ.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์
ติดตาม หลากหลายความสูญหายหมายเลข 5 ที่ไม่ใช่แค่โชคชะตากำหนด ใน No.5 Crisis|เบญจ-อาเพศ กับ Thai PBS in Focus