เบียร์ ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ชนิดแรกของโลก บ้างบอกว่าเบียร์ถูกคิดค้นขึ้นมาโดยชาวบาบิโลเนีย แห่งอาณาจักรบาบิโลน (Babylon) เรื่องราวนี้มีการคาดการณ์ว่าเกิดขึ้นเมื่อ 6-7 พันปีที่แล้ว แต่ประวัติศาสตร์เบียร์ยุคใหม่ยกให้ ประเทศเยอรมนี เป็นเจ้าตำรับแห่งเบียร์
การทำเบียร์ส่วนใหญ่ได้มาจาก ธัญพืช จำพวก มอลต์ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว แม้แต่ข้าวโอ๊ตก็ใช้ได้เช่นกัน ส่วน ฮอปส์ ใช้เพื่อเพิ่มความขมและรสชาติอื่น ๆ ที่สำคัญ ช่วยในการรักษาคุณภาพของเบียร์ไม่ให้บูด
ในเมื่อประวัติศาสตร์การทำเบียร์แทบจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับประเทศไทย ไม่ว่าจะวัฒนธรรมหรือแม้แต่วัตถุดิบส่วนใหญ่ในการทำเบียร์ แล้วทำไมคนไทยถึงให้ความสนใจเรื่องการปลดล็อกการทำเบียร์ ถึงขั้นมีความพยายามผลักดันเป็นกฎหมาย?
การทำเบียร์และสังคมไทย
“ม่อน” อุทิศ เหมะมูล นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2552 เจ้าของผลงานนวนิยายหลายเล่ม หนึ่งในหนังสือที่เขาเขียนคือ “Writer’s Taste ดื่มประวัติศาสตร์ จิบวิวัฒนาการ สำราญรสเบียร์” เอ่ยกับเราก่อนจะเริ่มบทสนทนาที่ลงลึกเรื่องประวัติศาสตร์เบียร์โลกและเบียร์ไทยว่า “ผมไม่ได้มีความรู้มากนัก แต่จะพูดในประวัติศาสตร์ระยะสั้นประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการเคลื่อนไหวโฮมบริวในเมืองไทย น่าจะช่วงปี 2556”
อุทิศ เล่าว่า 10 ปีก่อน เขาตีโจทย์การต่อสู้ออกมาว่ามีเบียร์แมส (Mass) กับเบียร์ท้องถิ่น เรากำลังพูดว่าเบียร์ท้องถิ่นกับเบียร์ตลาดเจ้าใหญ่แตกต่างกันอย่างไร และชูเรื่องการทำเบียร์แบบสร้างสรรค์ ไม่ใช่อุตสาหกรรม เพราะส่วนมากคราฟต์เบียร์จะทำจำนวนน้อยและจำกัด มีเรื่องการใส่ใจในการปรุง เรื่องความพิถีพิถันในการคัดเลือกวัตถุดิบในการทำเบียร์ เรื่องเหล่านี้จึงกลายเป็นวิวาทะของการต่อสู้ระหว่างเบียร์แมสกับเบียร์ท้องถิ่น
ความเคลื่อนไหวของโฮมบริว (Homebrew) หรือกลุ่มทำเบียร์เองในประเทศไทย ได้เปลี่ยนแปลงการรับรู้ของผู้คน เพราะก่อนหน้านี้ จะพบว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเบียร์ มีผู้ผลิตเจ้าใหญ่เพียงไม่กี่เจ้าที่ครองตลาดในประเทศไทยอยู่ ทำให้กลุ่มผู้บริโภคยากที่จะรับรู้ได้ว่าตลาดของเบียร์ใหญ่กว่าที่เห็น การเกิดขึ้นของเบียร์โฮมบริวบางรายในช่วง 10 ปีก่อน ทำให้เห็นว่าเบียร์มีความแตกต่างหลากหลายกว่าที่รู้จักในปัจจุบัน
“คนที่มีโอกาสไปต่างประเทศจะเห็นตู้แช่ที่มีความหลากหลายมากกว่าประเทศเรา มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นว่าคนให้ความสนใจใคร่รู้มากขึ้น ว่าเบียร์มันมีเยอะ เพียงแต่เราถูกจำกัดการรับรู้ แคมเปญของภาครัฐที่พยายามรณรงค์ให้เห็นว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปทำร้ายประชาชน เป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท และเรื่องศีลธรรม พอคำอธิบายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกจำกัดและถูกครอบด้วยความเป็นตัวร้าย เลยทำให้เรื่องราวประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับของมึนเมาถูกปิดปากไปด้วย”
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้คนเริ่มต้มเบียร์กินเอง และทำให้เห็นว่าคราฟต์เบียร์เป็นเครื่องดื่มท้องถิ่นของแต่ละท้องที่เหมือนสินค้าโอทอปอื่น ๆ ได้ อุทิศ ยกตัวอย่างประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เช่น ญี่ปุ่น ที่มองว่าสิ่งนี้เป็นความภาคภูมิใจของแต่ละพื้นที่
“ผมคิดว่าเรื่องนี้มันทำให้คนในบ้านเราเริ่มเห็นมากขึ้นว่าจริง ๆ แล้วเรื่องราวของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มันถูกปิดหรือถูกทำให้ไม่เป็นที่รับรู้ของประชาชน”
เสรีภาพการทำเบียร์ในประเทศไทย
หากจำกันได้ เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ก่อนจะมีการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กฎหมายสุราก้าวหน้า” ในวาระ 2 และวาระ 3 รัฐบาลชิงออกกฎกระทรวงปลดล็อกผลิตสุรา เรื่องกำลังการผลิตและกำลังแรงม้า ปาดหน้า กฎหมายสุราก้าวหน้า เพียง 1 วันเท่านั้น ที่ดูเหมือนว่าการประกาศของกระทรวงการคลังฉบับนี้จะมีความหวังขึ้น แต่ อุทิศ กลับมองว่า นี่เป็นการเล่นเกมทางการเมืองในเรื่องกฎหมายของรัฐ ซึ่งเขามองว่าเป็น “การลักลอบออกกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นยิ่งกว่าเก่า” เพราะไปผูกกับเงื่อนไขอื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่การปลดล็อก แต่เป็นการเปลี่ยนลูกกุญแจล็อก
“เวลาที่เราพูดถึงเบียร์หนึ่งตัว มันไม่ได้พูดเพียงแค่เรื่องของเบียร์ แต่กำลังพูดถึงนิเวศแวดล้อม ร้านเบียร์ คนทำงานกลางคืน พนักงานที่ทำเบียร์ ส่วนผสม การผลิต เกษตรกรที่ปลูกวัตถุดิบต่าง ๆ ในการทำเบียร์ ผมมองว่าเวลาที่เราพูดถึงเรื่องของเบียร์ เราจะต้องพูดถึงระบบนิเวศของการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”
อุทิศ มองว่า บางครั้งเจ้าหน้าที่รัฐยังมีจินตนาการไม่กว้างไกลมากพอ เพราะเวลาเขามองเบียร์ เขาจะมองเป็นเพียงแค่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเป็นเรื่องที่มันผิดศีลธรรม แต่กลับไม่มองเรื่องของเศรษฐกิจหรือเรื่องของการกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในด้านอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมหนึ่ง
“ผมคิดว่ามันมีส่วนสำคัญ เพราะพอเราไม่พูดถึงตรงนี้ มันจะทำให้คนเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลและเหลียวแลอย่างแท้จริง เหมือนกับการปิดปากพวกเขาด้วยกฏหมาย”
นอกจากนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องของไทย ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันด้วยว่า เป็นกฎหมายที่เอื้อต่อผู้ประกอบการรายใหญ่หรือไม่ ทั้งการกำหนดปริมาณการผลิต การห้ามบรรจุขวด ที่หากจะผลิตเบียร์จะต้องมีทุนจดทะเบียนหลักล้าน หากจะตั้งโรงงานต้องมีกำลังการผลิตหลักแสนลิตรต่อปี เขามองว่ากฎหมายเหล่านี้กลายเป็นกฎหมายที่เอื้อให้เกิดทุนผูกขาด เพราะหากคน ๆ หนึ่งจะทำเบียร์ดื่มเอง ก็ไม่สามารถทำได้ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย เป็นต้นตอของปัญหาของการเกิดโฮมบริวรายย่อย ๆ
“ประชาชนควรมีสิทธิเสรีภาพในการที่จะทำ ไม่ใช่รัฐจะต้องเป็นคนมาบอกว่าคุณทำไม่ได้ ถ้าคุณทำ คุณจะถูกจับ”
ในฐานะของคนที่เฝ้าติดตามดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นคนเขียนหนังสือ Writer’s Taste แม้จะผ่านมาเป็น 10 ปีแล้วก็ตาม อุทิศ มองว่าตอนนี้ยังถือเป็นจุดเริ่มต้น เพราะถ้ากฎหมายเปลี่ยนจริง ๆ นี่จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเกิดโฮมบริวที่มากขึ้น
และในฐานะคนทำงานศิลปะ เขามองว่าการทำเบียร์ก็ถือเป็นการทำงานศิลปะอย่างหนึ่ง จึงเชื่อว่าคนทำเบียร์ทุกคนกำลังทำงานศิลปะอยู่ ฉะนั้น เขาจึงเชื่อว่าคนทำเบียร์จะใส่ใจและทำเบียร์ที่มีคุณภาพดีออกมาให้ทุกคนได้ดื่ม
เบียร์ถูกมองด้วยเลนส์ศิลปะกับศีลธรรม จะหาสมดุลสิ่งนี้อย่างไร
นักเขียนเจ้าของหนังสือ Writer’s Taste บอกกับเราอีกว่า เศรษฐกิจถือเป็นเรื่องสำคัญ จึงควรหาตรงกลางระหว่าง ศีลธรรมกับศิลปะ หากมอง ‘เบียร์’ เป็นเรื่องการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ น่าจะมีจุดผ่อนปรนที่ทำให้มาเจอกันได้
“ตอนนี้กฎหมายมันถูกควบคุมโดยคนที่ไม่ได้อยู่ในกฎหมายนั้น คือไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในมิติที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างเรื่องศีลธรรม ฉะนั้น เขาจะใช้สายตาจากคนที่ไม่ได้กินเบียร์ แล้วเขามาตัดสินว่าสิ่งนี้มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควร ผมมองว่ากฎหมายควรจะออกมาจากคนที่รู้จริงและมีประสบการณ์จริง เพื่อร่างกฏหมายขึ้นมาให้เหมาะสมกับคนที่เขาทำ”
ทุนผูกขาดกับโอกาสของผู้ผลิตรายย่อย
แม้การผลิตเบียร์ในประเทศไทย ยังห่างไกลจากประชาชนมากกว่าเหล้า แต่ประเด็นสำคัญคือตลาดของเบียร์มีขนาดใหญ่ มูลค่าการตลาดของเบียร์อยู่ที่ราว 2-3 แสนล้านบาทต่อปี นอกจากคนนิยมดื่มเบียร์แล้ว คนทำเบียร์ในประเทศไทยยังได้รับรางวัลระดับสากลแทบทุกปี
เบียร์ ซึ่งเป็นสินค้าควบคุม จึงได้รับผลกระทบโดยตรงจากการควบคุมของรัฐอย่างน้อยสองแบบ คือ การควบคุมเรื่องใบอนุญาต โดยกรมสรรพสามิต ภายใต้กระทรวงการคลัง และ การควบคุมการจำหน่าย โดยกฎหมายว่าด้วยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอร์ฮอล ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกฎหมาย 2 ฉบับนี้ ทำให้ผู้ประกอบการแอลกอฮอล์รายย่อยไม่ว่าจะเหล้าหรือเบียร์ได้รับผลกระทบ ใครสู้ไหวก็รอด ใครสู้ไม่ไหวก็ต้องปิดตัวไป แม้จะเป็นเบียร์ที่ได้รับการยอมรับในระดับเอเชีย
“ปาล์ม” จารุวิชช์ พึ่งสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งเบียร์สัญชาติไทยชื่อ Eleventh Fort Brewing ที่ต้องปิดตัวไปด้วยสถานการณ์กฎหมายที่บีบบังคับและไม่เอื้อ ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
ย้อนกลับไปช่วงปี 2558 ข้อจำกัดของกฎหมายมากมายในประเทศไทย “Eleventh Fort Brewing” เลือกผลิตในต่างประเทศ อย่างกัมพูชา จารุวิชช์ ต้องเดินทางไปที่โรงงานและขนส่งวัตถุดิบไปมา เมื่อผลิตแล้วจึงนำเข้ามาขายในประเทศไทย แต่เพราะระบบการขนส่งของกัมพูชาที่ไม่เอื้อต่อการขนส่งอาหาร ทำให้ค่าขนส่งมีราคาสูงมหาศาล สุดท้ายไม่เหลือกำไร ด้วยต้นทุนที่สูง ก็สู้ราคาไม่ได้ เมื่อเจอวิกฤตโควิด-19 จึงต้องเลิกผลิต
“เบียร์ไทยที่ไปทำที่อื่นก็หายไปเยอะมาก ไม่ใช่แค่ผม คนอื่นก็หาย ด้วยเหตุผลเดียวกันหมด คือ ทำแล้วไม่รอด ยิ่งมาเจอโควิดเข้าไปอีก หมายถึงว่ารัฐไม่ได้ช่วยอะไรเลย และเจ้าหน้าที่สรรพสามิตจ้องจะซัดอย่างเดียว ก็ยังมีข้อกังวลอยู่ว่าถ้ากฎหมายเปลี่ยน ผู้ประกอบการที่หายไปเขาจะกลับมาหรือเปล่า เพราะมันก็อยู่ที่ความพร้อมของช่วงนั้น ๆ”
จารุวิชช์ เชื่อว่าหากกฎหมายเปิด อย่างประเทศอื่น ๆ ในโลก ผู้ประกอบการก็ต้องสู้กันก่อนในช่วงแรก การแข่งขันต้องเกิด ต้องมีแบรนด์ที่ชนะและแบรนด์ที่แพ้ คล้ายกับหลาย ๆ วงการที่มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม เช่น ร้านอาหาร หากอะไรที่อยู่ในที่เดียวกันเยอะ ๆ มันก็ต้องมีร้านที่ไปได้และไปไม่ได้ มันเป็นเรื่องปกติของธุรกิจ
ขณะที่ธุรกิจในประเทศไทย ที่กฎหมายยังเอื้อให้เกิดทุนผูกขาด กลายเป็นว่าจำกัดการผลิตไว้ให้กับกลุ่มทุนใหญ่ที่ต้องมีเงินลงทุนมากระดับหนึ่งจึงจะสามารถทำได้ หากกฎหมายเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายย่อยมากขึ้น ก็คงต้องแข่งขันฟาดฟันกันได้อย่างเป็นธรรมมากกว่านี้
ท่ามกลางข้อจำกัดมากมายของวงการแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ยังมีความเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มที่ทำเบียร์ และร่วมผลักดันกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ค้ารายย่อย “ตูน” ศุภพงษ์ พรึงลำภู ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเบียร์สหประชาชื่น (United People Brewery) พยายามปลดล็อกไปทีละขั้นเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าคราฟต์เบียร์ของคนไทยมีอยู่ และคนธรรมดาสามารถทำเบียร์ได้จริง ๆ รอเพียงการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมอย่างการปลดล็อกกฎหมาย
เขาเล่าย้อนกลับไป ณ ตอนเริ่มทำโรงเบียร์ มีตัวเลือกอยู่ 2 อย่าง คือ ใช้ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เป็นบริวผับแบบจำหน่ายไม่ได้ กับอีกหนึ่งทางเลือก คือ จ้างผลิตในต่างประเทศ แล้วส่งกลับมาที่ไทย ซึ่งทางเลือกหลังนี้พบว่ามีความลำบาก
โรงเบียร์แบบบริวผับ สามารถหมักเบียร์ ต้มเบียร์ขายได้ แต่ต้องขายในร้านเท่านั้น ไม่สามารถใส่บรรจุภัณฑ์ออกไปขายข้างนอกได้ ทั้งที่เบียร์ทั้งถังก็เสียภาษีอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถขายออกไปได้ นี่คืออีกปัญหาของผู้ผลิตรายย่อยแบบบริวผับที่ ศุภพงษ์ ยกตัวอย่างให้เห็น แต่หากอยากบรรจุได้ ก็ต้องเป็นโรงเบียร์ขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งเงื่อนไขกฎหมายก็บังคับว่าจะต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งฟังดูผิวเผินอาจสมเหตุสมผล แต่เขาเล่าว่า จะต้องเป็นโรงเบียร์ขนาด 7.2 ล้านลิตรต่อปี ถึงจะมีคนรับทำรายงาน EIA
“โรงเบียร์ผมอยากทำอีไอเอก็ทำไม่ได้ เพราะมันขนาดเล็กเกินไป ไม่ได้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขนาดนั้น ตรงนี้จึงเป็นอุปสรรค การที่ผู้ประกอบการรายย่อยจะทำเบียร์ที่เป็นธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มจากธุรกิจขนาดเล็ก ๆ ธรรมดา ไม่สามารถทำได้ ไม่สามารถสร้างโรงงานขนาดใหญ่ได้ แต่กฎหมายบังคับให้ใหญ่ แปลว่าคนทั่วไปทำไม่ได้”
“เราทำกันมา 9 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นขอแค่การควบคุมของรัฐให้เป็นไปอย่างมีเหตุผล เราพร้อมจะพิสูจน์ว่าเราทำได้ มันทำให้เห็นว่าเอกชนหรือคนไทยมีความสามารถ ขอแค่การควบคุมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม มีเหตุผล และเพื่อสนับสนุนการแข่งขัน ผมขอแค่ไม่เกิน 3 ปี เราจะมีโรงเบียร์ท้องถิ่นจำนวนมาก และเราจะมีโรงเบียร์ที่ได้มาตรฐาน”
สุราและการเมือง
แม้ตอนนี้ ประเทศไทยยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่พรรคการเมืองที่ผลักดันเรื่องนี้มาตลอด อย่าง พรรคก้าวไกล เดินหน้ายื่นร่างกฎหมายให้สภาฯ พิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566
ศุภพงษ์ ยังมีความหวังว่ากลไกทางการเมืองจะทำให้เรื่องนี้ถูกพูดถึงและถูกแก้ไขในระดับกฎหมาย และเขาเชื่อว่าถ้ารัฐบาลใหม่ยังยึดตาม MOU ที่ประกาศไว้กับ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องส่งเสริมกฎหมายเพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งปัญหาการผลิตอยู่ภายใต้กฏกระทรวงที่สามารถแก้ไขได้ด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขามองว่าต้องมองข้ามกรมสรรพสามิตไปได้แล้ว เพราะปัญหานี้คุยกันมานานมากแล้ว
“เราคาดหวังการแก้ไขจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลหน้า ส่วนภาคประชาชนเรามีการเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปทางสภาฯ แล้ว ปัญหานี้เป็นปัญหาระดับ พ.ร.บ. ฉะนั้น ต้องไปแก้ที่สภาฯ แต่เบื้องต้นสามารถแก้กันได้ด้วยการออกจดหมายเวียนก่อน”
“ผมมองว่ากฎหมายที่เป็นประเด็นเกี่ยวกับ ม.32 เป็นประเด็นมาแล้วหลายปี แค่จดหมายเวียนราชการว่าช่วยงดเว้นความเข้มงวดและไตร่ตรองก่อนจะฟ้องหรือแจ้งความประชาชน สามารถทำได้นะ อยู่ที่ว่าเขาอยากแก้หรือเปล่า หรือคุณได้รับประโยชน์จากตรงนี้ คุณเลยอยากให้มันอยู่”
บทส่งท้าย
กฎหมายที่ปิดช่องทุนผูกขาด (Demonopolize) ที่พรรคก้าวไกลเสนอ คือ หนึ่ง ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือ ‘สุราก้าวหน้า’ เพื่อปลดล็อกการผลิตสุราของผู้ผลิตรายย่อยและสุราชุมชน โดยแก้ไข ม.153 เพื่อห้ามไม่ให้การขอใบอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้า มีการกำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับขนาดกำลังการผลิต กำลังแรงม้าเครื่องจักร จำนวนพนักงาน ประเภทบุคคลผู้มีสิทธิขออนุญาต จำนวนทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ หรือเกณฑ์อื่นที่อาจเปิดช่องให้มีการกีดกันการแข่งขันและผู้ผลิตสุรารายย่อย
สอง ร่าง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า เพื่อสร้างกติกาแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ผ่านการปฏิรูปคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (เช่น ขยายขอบเขตอำนาจ ปรับกระบวนการสรรหาให้ได้กรรมการที่มีความเชี่ยวชาญและยึดโยงกับประชาชน เพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินการของกรรมการ) ออกกฎ ‘คนฮั้ววงแตก’ เพื่อป้องกันการฮั้วประมูลของบางบริษัทที่ร่วมมือกันผูกขาดหรือลดการแข่งขัน และขยายสิทธิผู้เสียหายในการฟ้องคดี