คู่มือปฏิบัติการ ปิดประตูความรุนแรง

: ธรรมชาติ กรีอักษร

เหตุการณ์รัฐประหารของเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา จนถึงการชุมนุมประท้วงในไทย ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คนในสังคมหันมาสนใจ ”ปฏิบัติการ การต่อสู้ของประชาชน” กันมากขึ้น แม้กลุ่ม ”ม็อบ” หรือกลุ่มผู้ชุมนุมหลายกลุ่ม พยายามเคลื่อนไหวเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ เน้นย้ำแนวทาง “ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ” ใช้ “สันติวิธี” แต่อะไรคือเครื่องมือที่จะใช้ในการเคลื่อนไหว เพื่อพัฒนาไปสู่คู่มือปฏิบัติการปิดประตูความรุนแรง

The Active  ชวน ธรรมชาติ กรีอักษร นักข่าวประชาไท ผู้แปลตำราวิชาการต่างประเทศ และศึกษางานด้านสันติวิธี มองความขัดแย้งแต่ไม่รุนแรง…


จุดต่าง จุดร่วม ของ “พลเมืองโต้กลับ การต่อต้านขัดขืนของพลเมือง อารยะขัดขืน ปฏิบัติการใช้ความรุนแรง ปฏิบัติการสันติวิธี”

หากถอยมาก้าวหนึ่ง แล้วโฟกัสที่คำว่า “การต่อสู้ของประชาชน” ซึ่งเอาเข้าจริง การต่อสู้ของประชาชน แบ่งออกได้หลายประเภท แต่จะขอแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ

ประเภทแรก คือ การต่อสู้ของประชาชนโดยใช้ความรุนแรง แบ่งออกได้อีก 2 ประเภทย่อย คือ

  1. การต่อสู้โดยใช้ความรุนแรง แต่ไม่มีอาวุธ จะอยู่ในรูปของการจลาจล การทำลายข้าวของ ปล้นสะดม และทำลายสถานที่ราชการต่าง ๆ
  2. การต่อสู้โดยใช้ความรุนแรง ด้วยการถืออาวุธ แบบนี้ก้ำกึ่ง ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเป็นการต่อสู้ของประชาชนหรือเปล่า เพราะใกล้คำว่า การเป็นทหารเข้าไปทุกที แต่ว่าอันนี้ก็เป็นการต่อสู้กับรัฐเหมือนกัน

ประเภทที่ 2 คือ การต่อสู้แบบไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นอีกหลายวิธี เช่น การต่อสู้ที่ส่วนใหญ่จะใช้คำว่า “สันติวิธี” จะเป็นสัตยาเคราะห์แบบคานที ที่มีความเชื่อแบบฮินดูเข้ามาเกี่ยวข้อง เชื่อว่าชีวิตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คุณจะล่วงละเมิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันนี้ไม่ได้

อีกแบบ คือ การต่อสู้แบบที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เรียกว่า “ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง” หรือ “การต่อต้านขัดขืนของพลเมือง” เป็นคำที่ช่วงหลังใช้กันมากขึ้น ถ้าเราดูปรากฏการณ์ในเมียนมาหรือไทย จะเห็นว่าส่วนใหญ่ใช้การต่อสู้แบบนี้เป็นหลัก และที่น่าสนใจจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คือ ประวัติศาสตร์เราสู้รบกันมาตลอด เมียนมาเป็นศัตรูเข้ามาตีบ้านเรา หรือแม้กระทั่งช่วงโควิด-19 ก็ตาม ก็จะบอกว่า เมียนมาตีเมืองเราแล้ว

แต่พอมีรัฐประหารในเมียนมา เรื่องเล่าเปลี่ยนไปทันที มันมีจุดร่วม เมียนมาไม่ใช่ศัตรูของเราอีกต่อไป ประชาชนเมียนมาเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรม และมีศัตรูร่วมกัน คือ รัฐบาลทหาร การต่อสู้แบบไร้ความรุนแรง ก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

“ถ้าไม่สู้ ก็อยู่อย่างไทย” กระแสสะท้อนต่อต้านการรัฐประหาร

กระแสการต่อต้านระบอบอำนาจนิยมแพร่หลายอยู่ในอาเซียน เพราะว่าอย่างที่เห็นกัน ทุกประเทศจะมีปัญหาเรื่องนี้ ต่อให้เป็นประเทศสิงคโปร์ก็ตาม เรียกกันว่า “ประชาธิปไตยไม่เสรี” หรือ “Illiberal Democracy” คือมีการเลือกตั้งอะไรก็ตาม แต่ว่าประชาชนยังถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอยู่ รู้สึกว่ามันเป็นความรู้สึกในภูมิภาค ไม่ว่าจะมีข่าวที่ใด จะมีคีย์เวิร์ดขึ้นมา “โสมมประชาคมอาเซียน” คำนี้จะเป็นสิ่งที่ติดหูอยู่เสมอ กรณีของไทยกับเมียนมาต่างกัน หากจะตั้งข้อสังเกต ในเคสของเมียนมาเป็นเรื่องการรัฐประหาร ซึ่งการรัฐประหารเกิดขึ้นเร็วมาก โดยปกติแล้วการรัฐประหาร จะเกิดขึ้นโดยใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 วันเท่านั้น ในบางเคสอาจจะนานหน่อย 16 วัน 2 สัปดาห์ 3 สัปดาห์ แต่ส่วนใหญ่ก็ใช้เวลาสั้น ๆ เพราะว่ารัฐประหาร เขาจะต้องยึดอำนาจโดยฉับพลัน

“มันคือการปล้นอำนาจ คุณจะปล้น คุณก็ต้องทำเร็ว”

ฉะนั้น การต้าน คุณก็ต้องต้านเร็วด้วย ฉะนั้นในช่วง 2 – 3 สัปดาห์แรกหลังรัฐประหาร ในเมียนมาระดมคนเร็วมาก เหมือนการต่อสู้ของประชาธิปไตยในไทย แต่กรอเทปเร็วมาก มีการเดินขบวน มีการแฟชั่น มีการอะไรก็ตาม คือ 6 เดือนของไทย เท่ากับ 3 สัปดาห์ในเมียนมา ที่เป็นแบบนี้เพราะว่า เขาอยู่ในสถานการณ์ของการรัฐประหาร จะต้องเรียกระดมพลเร็วมาก เป็นเรื่องของเงื่อนเวลา

แต่ของไทยกับต่างออกไป เพราะว่าของเรามีการรัฐประหารมานาน 8 ปี แล้วก็อยู่ในระบอบเผด็จการมานาน ฉะนั้น การต่อสู้ของเรา เลยถูกเรียกว่า “เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมากกว่า” ซึ่งมันจะเป็นการต่อสู้ ที่กินเวลานาน เหมือนการวิ่งมาราธอน ของเมียนมาเหมือนวิ่ง 100 เมตร แต่ของเราเหมือนวิ่งมาราธอน เมียนมาสู้แล้วแพ้ ก็จะวิ่งมาราธอนแบบเรา นี่จะเป็นความเหมือนและความต่างที่เกิดขึ้น

การต่อต้านขัดขืนของพลเรือน หรือ พลเมืองโต้กลับ

การต่อต้านขัดขืนของพลเมือง คำนิยามคือการใช้เครื่องมือทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในการต่อสู้ เพื่อเรียกร้องให้สังคมเสรีและเป็นธรรมขึ้น ซึ่งตามตำราของ “ยีน ชาร์ป” (Gene Sharp) ซึ่งเป็นบิดาของสันติวิธีสมัยใหม่ เขาจะนิยามว่าแบ่งออกเป็น 2-3 รูปแบบ

หนึ่ง คือการประท้วง อาจจะอยู่ในรูปแบบของการออกแถลงการณ์ ทำป้าย ชูสัญลักษณ์ หรือการชุมนุม อันนี้จะเป็นการประท้วง

สอง คือการไม่ให้ความร่วมมือ อาจจะเป็นการคว่ำบาตร (Boycott) ไม่ซื้อสินค้า อาจจะหมายถึงการนัดหยุดงาน หรือการประกาศไม่ยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาลชุดปัจจุบัน  

สาม สุดท้าย คือ การแทรกแซงโดยไม่ใช้ความรุนแรง ก็จะ hard core ขึ้นมา แต่ยังอยู่ในขอบเขตของการไม่ใช้ความรุนแรง อาจจะเป็นการเข้าไปยึดสถานที่ราชการ อาจจะเป็นการเข้าไปปิดถนน อาจจะเป็นการเข้าไปขอรับบริการของรัฐ โดยที่คุณไม่มีสิทธิ ตามตำราของยีน ชาร์ปจะแบ่งเป็น 3 ประเภทแบบนี้ ทำงานโดยใช้กลไกประมาณ 2-3 อย่าง หนึ่งคือโน้มน้าวใจฝั่งตรงข้าม คุณออกมาประท้วง คุณก็ขอให้เขาเปลี่ยนใจ มาทำตามความต้องการของคุณ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ การเรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญ คุณไปชุมนุม ก็เรียกร้องให้รัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญให้คุณ ยิ่งคนเยอะ ก็ยิ่งมีอำนาจต่อรองสูง แต่บางครั้งก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นที่จำนวนคนก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเห็นการประท้วงของไทย ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นมีคนแค่คนเดียว ไปขวางกองตำรวจทั้งกองทัพ ทำให้เกิดพลวัตของการโน้มน้าวใจขึ้นมา เพราะมันทำให้เกิดผลกระทบทางจิตวิทยาต่อคนที่เห็น

อีกแบบหนึ่งที่สันติวิธีจะทำงานได้ คือ ทำให้เกิดการต่อรอง สร้างอำนาจต่อรอง กดดัน เพราะคนไม่ให้ความร่วมมือมาก ๆ เข้า ฝ่ายรัฐเริ่มลำบาก ทำงานไม่ได้ ข้าราชการนัดหยุดงาน จะทำอย่างไร ก็ต้องทำตามข้อเรียกร้องของเรา เพื่อให้เขาสามารถกลับไปอยู่ในอำนาจ และทำงานได้

บริบทและสถานการณ์ที่ทำให้ “รัฐ” เปลี่ยนท่าที

ขอยกตัวอย่างและพาดพิง กรณีของ Nation ชัดเจน คือกรณีที่เริ่มมีการทำแคมเปญ “No Salim Shopping List” ทำให้เห็นว่า ผู้ที่สนับสนุน Nation มีผู้ประกอบรายใดบ้าง พอคุณ Boycott ไม่มีรายได้เข้ามา คุณก็ต้องถอนการสนับสนุนจาก Nation และ Nation ก็ต้องยอมปรับบทบาทตัวเองเล็กน้อย เพื่อทำให้รายงานสถานการณ์เป็นกลางขึ้น อันนี้คือการต่อรอง “การโอนอ่อนผ่อนตาม” หรือ “Accommodation”

ต่อมา คือการบีบบังคับ ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง สามารถที่จะบีบบังคับให้ผู้มีอำนาจ ลงจากอำนาจได้ ถ้าคุณมีพลังมากพอ ยกตัวอย่างเช่น คุณมีประชาชน 2 ล้านคน อยู่ในเมืองหลวง กดดันให้เขาลาออก คุณก็สามารถบีบบังคับให้เขาลาออกได้ หรือคุณต้องการทำให้การเลือกตั้ง ที่ไม่ชอบธรรมเป็นโมฆะ เช่น ในเซอร์เบีย ช่วงทศวรรษที่ 1990 คนหลายล้านคนไปอยู่ในเมืองหลวง เข้าไปในสำนักงานการเลือกตั้ง แล้วก็เทบัตรปลอม บัตรเสีย ทิ้งมาเลย มันก็ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ แล้วผู้นำก็ต้องหนีออกต่างประเทศไปเลย อันนี้ก็คือพลวัตอีกแบบหนึ่ง ของปฏิบัติการใช้ความรุนแรง ถือว่าเป็นการสันติวิธี ซึ่งมีพลังมาก

สันติวิธีในความหมายประเทศไทย…..

คำว่า “สันติวิธี” จะผูกกับความหมายว่า เราจะต้องรักกันนะ เราจะต้องประนีประนอมกันนะ อย่าต่อสู้กันเลย หยุดเรียกร้องซะเถอะ ซึ่งผมรู้สึกว่าแบบนี้มันไม่ใช่ ถ้าไปดูตำราจริง ๆ เกี่ยวกับเรื่องการประท้วง จะเห็นว่าช่วงหลัง ๆ พยายามปรับคำ แทนที่จะใช้คำว่า “สันติวิธี” เขาก็จะไปใช้ “ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง” หรือ “การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง” หรือ “การต่อต้านขัดขืนของพลเมือง” จะสะท้อนของการต่อสู้แบบนี้มากกว่า

“ผมยกตัวอย่างนี้ในการต่อสู้แบบไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีการนองเลือด อาจจะมีการนองเลือดก็ได้ แต่ว่าต้องมั่นใจว่า การนองเลือดจะไม่เกิดจาก เรา

คำว่า ”เรา” คือฟากของประชาชนที่ต่อสู้ ถามว่าทำไมเราจะต้องสันติวิธีด้วย พูดแบบโรแมนติก  ทำไมต้องไม่ใช้ความรุนแรงด้วย ปล่อยให้เขาทำร้ายเราทำไม

สาเหตุที่จะต้องทำแบบนี้ เพราะว่ามันเป็นความชอบธรรม ทันทีที่เราต่อสู้ เริ่มต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงเมื่อไหร่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือรัฐก็จะใส่ร้ายป้ายสีเราเกินจริงว่า เราเป็นพวกหัวรุนแรง เป็นพวกก่อการร้าย เผลอ ๆ จะเป็นผู้วางระเบิดด้วยซ้ำ แล้วก็ใช้อำนาจรัฐ ในการปราบปรามเรา ด้วยกำลังทหาร  ซึ่งเกมแบบนี้ เป็นเกมที่ผู้มีอำนาจถนัด เพราะเขามีกำลังอาวุธมากกว่า

ฉะนั้นวิธีการที่เราจะปิดประตูความรุนแรง คือการที่เราจะต้องพยายามรักษา สิ่งที่เรียกว่าวินัย ของการไม่ใช้ความรุนแรงเอาไว้ การทำแบบนี้ จะทำให้เราจะมีความชอบธรรม แล้วทหารก็จะลังเล ตำรวจก็จะลังเลว่า ฉันจะใช้ความรุนแรงกับพวกเขาดีไหม เพราะว่าทันทีที่ใช้ความรุนแรง ก็จะถูกมองว่า ทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ การทำแบบนี้ จะทำให้เขาเสียความชอบธรรม หมดความชอบธรรม และทำให้กลับกลายเป็นว่า ประชาชนที่ตอนแรกไม่สนใจการเมือง หรืออาจจะวางเป็นบางตัวเป็นกลาง มาเข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านมากขึ้น

ปรากฏการณ์แบบนี้ ในภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า “Back fire”หรือบางคนก็จะแปลคำว่า “ดาบนั้นคืนสนอง” ขอแปลคำนี้ว่า “การสะท้อนกลับ” มันจะมีพลวัตแบบนี้อยู่ ทันทีที่รัฐปราบคุณ ถ้าคุณไม่ได้โต้กลับ คุณต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม โดยไม่ใช้ความรุนแรง คนในสังคมจะรู้สึกว่า คุณเป็นผู้ถูกกระทำ และมาเข้าร่วมเพื่อสนับสนุนคุณ แล้วมันทำให้การต่อสู้ของคุณมีพลวัต มีพลังมากขึ้น แล้วทำให้เขาเจ็บเอง นี่คือเป็นเหตุผลที่ว่า ในช่วงที่ผ่าน รัฐไทยก็ยังลังเล ที่จะปราบปรามแบบโหด

เครื่องมือ สู่ การปิดประตูความรุนแรง

สำหรับผม ถ้าโจทย์เป็นเรื่องของการปิดประตูความรุนแรง ทั้งในม็อบเอง และทั้งจากฝ่ายรัฐเอง จริง ๆ ก็เป็นโจทย์ที่ยาก เพราะว่าถึงที่สุดแล้ว การใช้ความรุนแรง เป็นเรื่องของการตัดสินใจของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม ต้องเริ่มจากฐานตรงนี้ก่อน พอเราเป็นคน ๆ นึง สมมติว่าเรามีก้อนหินอยู่ในมือ เราจะตัดสินใจปาหรือไม่ปา มันเป็นการตัดสินใจของเรา มันไม่ใช่อะไร ที่ใครจะสั่งได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นหัวหน้าผู้บังคับบัญชาของคุณ หรือว่าเขาจะเป็นแกนนำของคุณก็ตาม ถึงที่สุดแล้วมันเป็นการตัดสินใจ

แต่ถามว่าเราจะทำอย่างไรให้เกิดการจลาจลมันเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด เรื่องนี้เป็นเรื่องของการสื่อสาร การสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญ เช่น การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อนัดรวมตัวหรือกำหนดกิจกรรม ข้อดีก็คือ โพสต์ปุ๊บ เรียกคนปุ๊บ ไปปั๊บ จะแกงรัฐ ก็แกงได้เลย เปลี่ยนสถานที่ชุมนุมได้อย่างรวดเร็ว ระดมพลได้อย่างรวดเร็ว แต่อินเทอร์เน็ตมีข้อเสียแน่นอน เพราะมันไม่สามารถร้อยรัดเชื่อมร้อยผู้เข้าร่วมให้มีสำนึกอันหนึ่งอันเดียวกันได้ พอทุกคนไป จะไปด้วยความรู้สึกที่เป็นปัจเจก ซึ่งต่างจากเวลาที่คุณมีชุมชนหนึ่งอยู่ เป็นชุมชนออฟไลน์ จะมีการทำอีกแบบ มีการตัดสินใจอีกแบบ ซึ่งให้พื้นที่กับการเตรียมการกับคุณมากกว่า

ยกตัวอย่างย้อนกลับไปช่วงทศวรรษที่ 1970 ในการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองในสหรัฐอเมริกา ตอนนั้นก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า “Racism” การเหยียดชาติพันธุ์ในอเมริกา คนขาวจะได้รับอภิสิทธิ์ในสังคม ได้อยู่ในโรงเรียนที่ดีกว่า ได้รับบริการสาธารณะที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นรถเมล์ หรือว่าการกินข้าว อยู่ในทุกส่วนของสังคม วิธีการต่อสู้ของคนผิวสี หรือว่าคนแอฟริกันในอเมริกา เขาก็ต้องไปทวงคืนบริการสาธารณะเหล่านี้ อย่างเช่น เขาก็จะต้องไปนั่งบนรถเมล์ ไปนั่งในร้านอาหารที่ไม่อนุญาตให้คนดำเข้าไปนั่งได้ แต่ว่าเขาก็ไม่ได้บุ่มบ่ามทำเลย เขาจะต้องมีการเตรียมการก่อน ซึ่งการเตรียมการแบบนี้ เป็นบทบาทของชุมชนออฟไลน์ ที่เข้ามามีความสัมพันธ์ เวลาที่คุณจะเข้าไปนั่งในร้านอาหาร คุณก็ต้องฝึกซ้อมก่อน ถามว่าทำไมต้องซ้อมนั่ง เพราะว่าทันทีที่คุณเข้าไปในร้าน ที่คุณไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป ก็จะมีตำรวจมาดึงคุณ คุณก็จะถูกขว้างปาข้าวของ คุณจะต้องซ้อมนั่งอยู่อย่างนั้นให้ได้นานที่สุด เท่าที่จะนานได้ ซึ่งอย่างนั้นคุณก็ต้องมีคนช่วยเตรียม

ถึงจุดนี้ก็อาจจะมีเพื่อนคุณที่อาจจะอยู่ในชมรม ที่คุณเรียนมาด้วยกัน หรือว่าอาจจะเป็นคนที่ อาจจะไปโบสถ์ด้วยกันทุกอาทิตย์  เขาจะมาช่วยคุณเตรียม แล้วพอเวลาที่คุณมีชุมชนออฟไลน์ เขาก็จะทำให้คุณมีผู้เข้าร่วมอย่างแน่นอน หมายความว่าเมื่อเปรียบเทียบกัน ในทศวรรษที่ 1970 สหรัฐอเมริกามีการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ หรือมีการ Boycott  สามารถทำได้ เพราะว่าเขามีชุมชนร้อยรัดอยู่ ทุกคนทำหมด ถ้าเขาไม่ทำเขา จะรู้สึกเขิน รู้สึกอาย ภาษาอังกฤษ เรียก “Peer pressure” ถ้าคุณไม่ไปเข้าร่วมประท้วง คุณจะอายเพื่อนคุณ เพราะว่าเพื่อนคุณไปกันหมด แล้วเวลาที่คุณกลับมาเรียน เวลาที่คุณกลับเข้ามาชมรม เพื่อนคุณก็จะล้อ…

  “ไอ้นี่ไม่เข้า ไม่ไปม็อบด้วยกันนี่หว่า”

จะเกิดความรู้สึกแบบนี้  ซึ่งสำหรับในออนไลน์ ไม่สามารถสร้างความรู้สึกแบบนี้ได้ จะเป็นข้อจำกัดของการต่อสู้ โดยที่นัดหมายผ่านออนไลน์ ทำออนไลน์ก็ดี แต่ว่าควรจะทำออฟไลน์ไปควบคู่กันด้วย

ปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวการต่อสู้ทางการเมือง การชุมนุมต้องเป็นการสมัครใจ?

มันวางอยู่บนพื้นฐานสมัครใจเป็นหลัก กรณีของการ Bully ไม่ไปชุมนุม ไม่ชูสามนิ้ว คือเพื่อนเขาคงไม่ได้ล้อหรอก แต่ว่ามันเป็นความรู้สึกในตัวคุณเอง… เพื่อนฉันไปหมด แล้วถ้าฉันไม่ไปคนเดียว ฉันเป็นใครกัน มันก็จะมีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้น

การสร้างความรู้สึกร่วมแบบนี้ สำหรับผมการทำในออนไลน์อย่างเดียวไม่พอ ถ้ามีการทำออฟไลน์รองรับไปด้วย อาจจะดี แต่ผมก็ไม่รู้จริง ๆ นะว่า จะเริ่มจากตรงไหน แต่ในทางทฤษฎีแล้ว มันก็ควรจะเป็นนี้

กระบวนการสิทธิพลเมือง ของสหรัฐอเมริกา ถูกฝึกความอดทนด้วยการถูกทุบตี..?

ซ้อมถูกตี แต่ว่าคงไม่ได้แบบซ้อมจนตาบวม แต่ที่แน่ ๆ มีซ้อมดึง ให้เห็น Solution ว่า ถ้าคุณไปอยู่ตรงนั้น คุณจะเจอเหตุการณ์อะไรบ้าง แล้วต้องรับมือยังไง เพื่อฝึกความอดทน

เทียบเคียงสถานการณ์ “ไทย” และ “สหรัฐอเมริกา”

ที่ใกล้เคียง น่าจะเป็นเคสของ สนนท. หรือ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เข้าใจว่าในช่วงหนึ่ง ไปเปิดอยู่กับชุมชนเขื่อนปากมูล ไปช่วยทำให้เขาเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งขึ้น แล้วก็ต่อต้านโครงการเขื่อนต่าง ๆ นี่เป็นตัวอย่างที่พอเทียบเคียงได้ แต่ผมไม่อยากทำให้เห็นความต่าง ระหว่างการเคลื่อนไหวของไทย กับอเมริกามากขนาดนั้น เพราะว่าในไทย เราก็มีองค์ประกอบบางอย่าง เหมือนกับในสหรัฐอเมริกาอยู่แน่นอน เช่น การเตรียมการล่วงหน้า หรือว่าการอะไรก็ตาม ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของความเข้มข้นมากกว่า เป็นเรื่องของการให้น้ำหนักมากกว่า ถ้าเราให้น้ำหนักตรงส่วนนี้มากขึ้น ก็จะทำให้การเคลื่อนไหวของเรา มีพลังมากขึ้นเท่านั้นเอง ผมพูดแบบนี้เพราะว่า เวลาที่ไปดูการประท้วงในไทย ไม่ใช่ว่าไม่มีการเตรียมการ ทุกคนก็จะมีการเตรียมเอามือตบไป ก็ฝึกยืนชู 3 นิ้วนาน ๆ หรือว่าทุกคนก็จะต้องมีวิธีการรับมือ เตรียมหน้ากากกันแก๊สน้ำตา หรือว่าวิธีการรับมืออะไรก็ตาม ทุกคนมีการเตรียมพร้อมในระดับหนึ่ง  แล้วก็มีความตั้งใจจริงใจในระดับหนึ่ง แต่ผมรู้สึกแค่ว่า มันพัฒนาได้แค่นั้นเอง

กระบวนการนำไปสู่การสร้าง Community ต่อต้านขัดขืนในระดับพลเรือน

ในไทยมีขบวนการนักศึกษา ตอนนี้มีศักยภาพในการทำ และก็กำลังทำกันอยู่ เช่น การไปดูปัญหาเขื่อน ไปดูปัญหาเหมืองทองคำ ที่จังหวัดเลย หรือว่าเรื่อง Save บางกลอย เรื่องจะนะ เป็นเรื่องที่ผูกโยงอยู่กับชุมชน และมีนักศึกษาเป็นแกนนำ หรือมีนักศึกษาเข้าไปประสานงาน ไปพยายามติดต่อมาโดยตลอด หรืออย่างเรื่องโครงการ EEC ในภาคตะวันออก ผูกอยู่กับนักกิจกรรมของมหาวิทยาลัยบูรพาพอสมควร แล้วก็มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดได้ มองข้ามช็อตไปอีกช็อตนึง ยกตัวอย่าง เช่น พนักงานออฟฟิศในไทย ไม่มีสหภาพแรงงาน เราจะพยายามรวมกลุ่ม หรือว่าตั้งเป็นสหภาพแรงงานขึ้นมาได้ยังไง เพราะว่าถ้าคุณไม่มีสหภาพแรงงาน นัดหยุดงานยากมาก

“นัดหยุดงาน ตอนนี้สภาพเศรษฐกิจแบบนี้ จะบ้าเหรอ”

โอเค คงจะมีคนเถียงแหละว่าอันนี้จะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ผมรู้สึกว่า แน่นอนถ้าคุณสามารถตั้งสหภาพแรงงาน พนักงานออฟฟิศได้ คุณก็จะมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างมากขึ้น สามารถที่จะกดดันเรียกร้องรัฐบาลได้มากขึ้น นี่คือตัวอย่างของการสร้างชุมชนแบบออฟไลน์ การทำกลุ่มใน Facebook หรือการเปิดเพจอย่างเดียวไม่พอ   

การตั้งกลุ่มแบบนี้ มีศักยภาพในการปิดสวิตช์ความรุนแรงได้ เพราะว่าเวลาที่การต่อสู้เป็นเรื่องการนัดหยุดงานเป็นหลัก รัฐจะเอาอะไรมาปราบคุณ คุณไม่อยู่บนถนน เวลาที่คุณทำนัดหยุดงาน มันทรงพลังมาก เพราะว่ามันช่วยทำให้เห็นว่า อำนาจอยู่กับคุณ ถ้าคุณไม่ทำงานให้ เขาก็ทำงานไม่ได้ เขาก็สั่งใครไม่ได้ นี่คือมันเป็นวิธีการที่ทรงพลังมาก แล้วก็ทำให้โอกาสการปราบปรามแทบจะเป็นศูนย์  ถ้าจะเกิดการปราบปรามในกรณีนั้นขึ้นจริง ๆ ก็คือเขาก็ต้องมาลากคุณออกจากบ้าน แล้วภาพมันจะโหดร้ายมาก จะทำให้การต่อต้านยิ่งรุนแรงขึ้น

“รุนแรงขึ้นในที่นี้ ไม่ใช่ความรุนแรง แต่หมายถึงว่า มันมีพลังมากขึ้น”

“การเมืองภาคประชาชน” การเคลื่อนไหวที่ทรงพลัง ช่วยในการปิดสวิตช์ความรุนแรง

“คนคนเดียว ด้วยตัวเองก็ไม่ได้มีพลังมาก มันต้องทำด้วยกัน อย่างเป็นระบบ มีการวางแผนและเห็นภาพการต่อไปในทิศทางเดียวกัน การต่อสู้ถึงจะมีพลังขึ้น”

จริง ๆ อันนี้เป็นเรื่องของกุญแจสำคัญของการต่อสู้ ด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง ถามว่าทำยังไงถึงจะสำเร็จ จะมีคีย์เวิร์ดอยู่ 3 อย่าง คือ เอกภาพ ที่เห็นไปในทิศทางเดียวกัน รักษาความเป็นกลุ่มเป็นก้อนเดียวกันไว้ มีฝันร่วมกัน เห็นภาพทิศทางเดียวกัน

สองคือเรื่อง การวางแผน ทำยังไงเพื่อไปถึงจุดหมายตรงนั้นที่คุณต้องการ ต้องมีการวางแผนเป็นระบบ แต่แน่นอนว่า มันจะต้องไม่ถูกวางแผนรัดกุม จนกลายเป็นระบบราชการไป เพราะว่านี่คือกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม คุณอาจจะมีโครง เป็นโครงกระดูกใหญ่ ๆ เป็นแผนใหญ่ ๆ แล้วทุกคนสามารถจะเข้ามามีส่วนร่วมในแผนนี้ได้ ซึ่งสำหรับผมรู้สึกว่าในไทย ก็ค่อนข้างวางแผนได้ดีพอสมควร เช่นข้อเสนอ 3 ข้อ ที่ตอนแรก คือ ประยุทธ์ลาออก แก้รัฐธรรมนูญ และอย่าคุกคามประชาชน ตอนหลังข้อ 3 เปลี่ยนเป็นเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีภาพใหญ่ร่วมกันอยู่ ผมรู้สึกว่า อาจจะต้องคิดถึงเรื่องรูปแบบของการมีส่วนร่วมในแผนนี้ว่าจะทำยังไงให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในแผนนี้ แล้วขยับไปด้วยกัน

และสุดท้ายคือเรื่อง วินัยของการไม่ใช้ความรุนแรง อย่างที่ได้อธิบายไปแล้วว่า การไม่ใช้ความรุนแรงสำคัญมาก เพราะว่าความชอบธรรมของคุณ ทันทีที่คุณใช้ความรุนแรงเมื่อไหร่ รัฐก็จะอ้างและปราบปรามคุณด้วยความรุนแรงทันที ซึ่งความรุนแรงจากรัฐหนักกว่ามาก คุณไม่สามารถจะต่อกรกับเขาได้เลย

“ด้วยลำพังก้อนอิฐไม่สามารถสู้รถถังได้ ฉะนั้นเรื่องวินัยเลยสำคัญ”

ทันทีที่คุณทำ 3 อย่างนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาจะเกิดขึ้นมาอีก 3 อย่าง

หนึ่ง ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมกับคุณมากขึ้น เพราะว่าเวลาที่คุณรักษาวินัยในการไม่ใช้ความรุนแรง การต่อสู้ของคุณมีระเบียบแบบแผน มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ และเป็นเอกภาพในทิศทางเดียวกัน คุณจะมีความน่าเชื่อถือสูงมาก คุณจะรู้สึกว่ากลุ่มนี้ดีจังเลย เข้าร่วมดีกว่า ถ้าเช่นนั้น ประชาชนจะเข้าร่วมมากขึ้น

สอง คือ ฝั่งตรงข้ามจะย้ายฝ่าย มาก ๆ เข้าก็คือตำรวจ ทหารจะมาเข้าร่วมกับคุณ ใครที่เคยอยู่ฝั่งตรงข้ามจะเข้ามาเข้าร่วมกับคุณ  คือการย้ายข้างสวามิภักดิ์ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Reflection

สาม สุดท้ายก็คือการปราบปรามจะไม่เป็นผล ถามว่าทำไมการปราบปามจะไม่เป็นผล เพราะว่า 2 อย่างแรก พูดแบบนี้ ก็เหมือนแบบงูกินหาง คือเนื่องจากว่าคนเยอะมาก การต่อสู้จะขับเคลื่อนต่อไม่ได้ ไม่ว่าจะมีคนถูกจับมากเท่าไหร่ก็ตาม เพราะเวลามีการปราบปราม คนจะรู้สึกว่าอีกฝ่าย ยิ่งไม่ชอบธรรม แล้วก็ยิ่งมาเข้าร่วมกับคุณมากขึ้น ฉะนั้น การปราบปรามก็เลยไม่เป็นผล อันนี้จะเป็นพลวัต เป็นแบบแผนที่จะเกิดขึ้น เวลาที่คุณใช้การต่อสู้แบบไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่ทฤษฎีที่สวยหรูอะไรเลย

จากการเก็บตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา อัตราความสำเร็จสูงมากครึ่งต่อครึ่งเลย เมื่อเทียบกับความรุนแรงแล้ว 1 ใน 4 ด้วยซ้ำ อันนี้ก็เป็นงานวิจัยที่ผมยกมา คืองานเรื่อง “Why Civil Resistance Works.” เหตุใดสันติวิธีจึงได้ผล โดยหลัก ๆ กุญแจก็จะเป็นแบบนี้

ทิ้งท้ายว่า จะทำยังไงถึงจะทำให้เรารักษาวินัย ในการไม่ใช้ความรุนแรงได้ เพราะช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าการปะทะจะสูงขึ้น ตัวอย่างที่ดี คือการเคลื่อนไหวในเม็กซิโก ในเม็กซิโกในช่วงประมาณปี 2009-2010  ไม่แน่ใจ อาจจะช่วงแถว 2011-2012  ขบวนการนักศึกษาตอนนั้น เขาต่อต้านผู้นำ ที่มาจากพรรคอนุรักษ์นิยม แล้วก็พยายามที่จะควบคุมสื่อ วิธีที่เขาต่อสู้ก็คือ เขาจะทำเป็น Agreement ขึ้นมา ทำเป็นข้อตกลงขึ้นมา ในหมู่ผู้ประท้วงด้วยกัน แล้วก็ให้ผู้ประท้วงโพสต์ข้อตกลงนี้ ลงออนไลน์บนโซเชียลมีเดีย บอกว่า “ข้าพเจ้าชื่อว่า…ขอสัญญาว่าจะปฏิบัติตามนี้

1) เมื่อเกิดการปะทะ ข้าพเจ้าจะนั่งลงทันที 2) จะหลบไปในที่ปลอดภัยทันที  3) ข้าพเจ้าจะไม่มีส่วนร่วมในความรุนแรงใด ๆ 4) หากข้าพเจ้าละเมิดข้อตกลงเหล่านี้ ขอให้ถือว่าข้าพเจ้าไม่ใช่ส่วนหนึ่ง ของขบวนการเคลื่อนไหวในครั้งนี้

คือการสร้างข้อตกลงแบบนี้ มันจะทำให้ความคาดหวังมันชัดเจนขึ้น เวลาที่เราไปเข้าร่วมการประท้วงหรือว่าอะไรก็ตาม เพราะมันจะทำให้เห็นชัดเจนเลยว่า พวกนี้นี่นาที่เป็นพวกก่อกวน เราจะเห็นชัดขึ้นแล้ว เพราะปัญหาอย่างแรก ที่เกิดขึ้นเลยคือ เราไม่รู้ว่าใคร เป็นผู้ก่อกวน มาจากรัฐหรือมาจากเราเอง เราก็ไม่รู้ ฉะนั้น การสร้างข้อตกลงให้ชัดเจน ไม่ว่าจะในพื้นที่ออนไลน์ หรือออฟไลน์ก็ตาม รวมไปถึงการแยกตัวคนให้ได้

“เริ่มจากการทำง่าย ๆ คือทำข้อตกลง เวลามีการปะทะ ก็นั่งหลบแค่นั้นเอง”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์

ผู้ประสาน 10 ทิศ ชอบการติดต่อ-สื่อสารเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยการ "ติ่ง"

Alternative Text
AUTHOR

อรุชิตา อุตมะโภคิน

ตามหาความเสมอภาคผ่านงานทั้งศาสตร์และศิลป์ พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์รอบตัว

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์