วิวัฒนาการ ‘ความกลัว’ เงื่อนปมผูกโยงการเมือง แต่ละยุค
พรรคเพื่อไทย ประกาศเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล “สลายขั้ว” จับมือพรรครัฐบาลเดิมเป็นรูปแบบรัฐบาลพิเศษ หวังแก้ 3 ปมปัญหาใหญ่ของประเทศ คือวิกฤตรัฐธรรมนูญ วิกฤตเศรษฐกิจ และ วิกฤตความขัดแย้งแบ่งสีแบ่งฝ่าย พร้อมย้ำว่าช่วงนี้ เป็นเวลาที่เหมาะสมในการเดินหน้าคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่สะสมมาตลอด 20 ปี
แต่อีกด้านยังเกิดคำถามว่าการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยจะนำพาการเมืองไปสู่จุดไหน สีเสื้อสลาย ความขัดแย้งจะหายไปจริงหรือไม่ หรือแค่ซุกปัญหาใหญ่ไว้ใต้พรม ?
The Active ชวนสะท้อนมุมคิด เปิดมุมมองต่อการเปลี่ยนผ่านภูมิทัศน์การเมืองไทย หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 กับ “พิภพ ธงไชย” อดีตหนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตอบคำถามสำคัญว่าจากนี้ สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงจะพัดพาสังคมไทยไปในทิศทางไหน และอะไรบ้างคือสิ่งสำคัญที่คนไทยต้อง “ไม่ลืม” หากจะช่วยกันทำให้การเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัยเป็นไปอย่างราบรื่น
ในวัย 78 ปี วันนี้ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเด็กและอดีตแกนนำมวลชนคนเสื้อเหลือง กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพ หลังตรวจพบเซลล์มะเร็งในต่อมลูกหมากตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันแม้จะยุติบทบาทผู้นำมวลชนเคลื่อนไหวการเมืองนอกสภาฯ มากว่า 10 ปี แต่ พิภพ ยังคงเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลง และความเป็นไปทางการเมือง โดยเฉพาะช่วงรอยต่อสำคัญ หลังสองพรรคใหญ่อย่าง “เพื่อไทย” และ “ก้าวไกล” แยกทางกันเดิน
“กลัวพิธา”
คำตอบสั้น ๆ เมื่อถามว่า มองสถานการณ์การเมืองวันนี้อย่างไร? ก่อนเจ้าตัวจะขยายความต่อว่า “ความกลัว” เกิดขึ้นกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพราะนโยบายพรรคก้าวไกล ต้องการ “รื้อโครงสร้างอำนาจ”
แต่หากมองไปถึง 14 ล้านเสียง ที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล นอกจากคนรุ่นใหม่ ก็จะพบว่าส่วนหนึ่ง มาจาก “คนสีเสื้อเดิม” ทั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ กปปส. ซึ่งเป็นกลุ่มคนวัยกลางคนที่ก้าวหน้าขึ้น มองเห็นว่าการเมืองแบบเก่าไปไม่รอด และเห็นความแตกต่างของนโยบายพรรคก้าวไกลที่นำเสนอสิ่งใหม่ ต่างจากพรรคการเมืองเดิม แต่ขณะเดียวกัน แม้ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสถาบัน แต่ก็เป็นความสงสัยที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ และเป็นความสงสัยที่เกิดจาก “ความกลัว”
เมื่อ “ความกลัว” กลายเป็น “เงื่อนปมทางการเมือง”
เวลาดูการเมือง นอกจากดูผลประโยชน์ ของปัจเจกบุคคล ของพรรค ผลประโยชน์ของนักการเมืองแล้ว ต้องดูความกลัวของสังคมด้วย เพราะเมื่อมีความกลัวของสังคมเกิดขึ้น นักการเมืองก็จะจับความกลัวนั้นมาใช้ทางการเมือง
พิภพ ขยายความให้เห็นว่าบริบทการเมืองในแต่ละช่วง ผูกโยงกับ ”ความกลัว” ในสังคมไทย ที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่
- หลังยุค 14 ตุลา 2516 เป็นรอยต่อ ในช่วงที่มีบรรยากาศการเมืองเรื่องทฤษฎีโดมิโน่ เกิดความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ จนนำมาสู่เหตุการณ์ล้อมปราบ ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
- ช่วงที่เกิดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชนชั้นกลางที่เข้าร่วมชุมนุม ก็เกิดจากความกลัว “ทักษิณ” ซึ่งมีทั้งที่จับต้องได้ คือ ประเด็นการใช้อำนาจ ปัญหาคอร์รัปชั่น และการรวมกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ประเด็นข้อกล่าวหาเรื่องความไม่จงรักภักดี ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เห็นว่าอาจจะมีการคุกคามสถาบัน จริงหรือไม่ ไม่รู้ เป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้
- ในช่วงของ การชุมนุมของมวลชน กปปส. ก็เกิดมาจากความกลัวรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” และความพยายามเร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย
- หลังเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นมาบริหารประเทศ นำมาสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ และเริ่มมีการท้าทายประเด็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่ง พิภพ มองว่ามีรูปแบบต่างไปจากความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ในยุค 14 ตุลา ซึ่งตอนนั้นมีการเรียกร้องแค่ 3 เรื่อง คือ เสรีภาพ รัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้ง แต่ไม่มีความคิดตั้งพรรคการเมือง ไม่เหมือนคนรุ่นใหม่ในยุคของ “พรรคอนาคตใหม่” ที่คนรุ่นใหม่ขยับก้าว จาก “ผู้เรียกร้อง” เข้ามาเป็น “ผู้เล่น” ในสนามการเมือง พร้อมกับความต้องการเข้ามาจัดระเบียบของชนชั้นนำใหม่ให้โปร่งใส และตรวจสอบได้ ดังนั้นนโยบายของพรรคก้าวไกลจึงทำให้ “ความกลัวความเปลี่ยนแปลง” ไปอยู่ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม และกลุ่มอำนาจเดิม โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน
แต่ที่ผ่านมา หลายเหตุการณ์ในการเมืองร่วมสมัย จุดจบของ “ความกลัว” ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย มักจบลงที่ความรุนแรง หรือไม่ก็การทำรัฐประหาร แต่ครั้งนี้ พิภพมองว่า ต้องจัดการความกลัวด้วยวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย ก็คือ การต่อสู้กันด้วยกฎหมาย
“ตอนนี้ วิธีการขจัดความกลัวของฝ่ายที่อยู่ในอำนาจรัฐ จึงใช้กฎหมาย และฝ่ายคนรุ่นใหม่ก็จะต้องศึกษากฎหมายนำมาสู้ เกิดเป็นภาวะอย่างที่เรียกกันว่า นิติสงคราม ซึ่งจะเห็นว่ามีการใช้กฎหมายกันอย่างเข้มข้น และเกินเลยมากขึ้น ดังนั้นความรุนแรงบนท้องถนนที่ใช้อาวุธแบบยุคก่อนมันจึงมีน้อยมาก และเมื่อต่างฝ่ายต่างก็หันมาใช้กระบวนการทางกฎหมาย ก็จะเกิดข้อดีคือทุกฝ่ายก็จะเอา ‘ระบบการเลือกตั้ง’ เข้ามา แล้วการเลือกตั้งก็จะล้มยากขึ้น”
เมื่อกล่าวถึงพัฒนาการทางการเมือง ที่ใช้กลไกทางกฎหมายเข้ามาแก้ปัญหา พิภพ เห็นว่า เริ่มขยับและเห็นชัดขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่ รัฐธรรมนูญ ปี 40 เมื่อมีการสร้างกลไกทางกฎหมายใหม่ขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น กระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และต่อเนื่องถึงการประเมินผลกระทบทางทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพและคุณภาพชีวิต ที่ทำให้กลุ่มทุน หรือแม้แต่โครงการงานรัฐ ไม่สามารถรุกล้ำและใช้ความรุนแรงกับชาวบ้านได้เหมือนในอดีต หรือการเปิดทางให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ เหล่านี้เป็นกลไกที่ต่อเนื่องมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
“นี่คือวิวัฒนาการของการต่อสู้ทางการเมือง ที่เคลื่อนไหวจากการใช้ความรุนแรง มาสู่การใช้ความรุนแรงที่ค่อย ๆ อ่อนลง อ่อนลง”
คนไทยประกาศ ‘จุดยืน’ ทางการเมืองชัดเจน และมากขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลังเดินทางไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มองว่า รัฐบาลสลายขั้วจะไปต่อไม่ง่าย เพราะกระแสต่อต้านยังอยู่ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีแรงกระเพื่อมจากทั้งในและนอกสภาฯ เกิดขึ้น แต่ก็คงไม่มาก ขณะเดียวกันรัฐบาลใหม่ ก็จะมีเรื่องใหญ่ที่ต้องทำร่วมกัน คือ
- การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งพิภพมองว่า จะกลายเป็นปมขัดแย้งใหม่ ว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะเขียนกันอย่างไร ด้วยกระบวนการและวิธีไหน
- การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งต้องจับตาว่า จะออกมาในรูปแบบใด
- เรื่องพลังงาน จะมีการปรับเปลี่ยน และกำหนดทิศทางต่อไปอย่างไร
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ทุกฝ่ายต้องมองไปให้ถึงการเมืองระยะยาว ถ้าแต่ละพรรคการเมืองวางแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงต่อจากนี้ไม่ดี จะส่งผลกระทบไปถึงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งพิภพ มองว่าจะเกิดขึ้นเร็ว รัฐบาลจะอยู่ไม่ครบเทอม หลังมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแล้วเสร็จ ซึ่งแต่ละพรรคการเมือง ต้องกำหนดจังหวะก้าว และต้องจับอารมณ์กับความต้องการของมวลชน ที่จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามกระแสให้ดี
ส่วนการเมืองนอกสภาฯ หากมองลึกลงไปในการตื่นตัวของมวลชนที่มีมากขึ้น นอกจากพัฒนาการในการปรับรูปแบบการเคลื่อนไหวทางการเมือง จากมวลชนขนาดใหญ่ มาเป็นมวลชนขนาดเล็กลง จนกลายมาเป็นแฟลชม็อบ เคลื่อนมาสู่การเคลื่อนไหวในพื้นที่โซเชียลมีเดียมากขึ้น รวมถึงความเปลี่ยนแปลงจากการใช้อำนาจประชาชนผ่านการใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งล่าสุด
อย่างไรก็ตาม จากนี้ไป คนไทยจะแสดงจุดยืนทางการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าตนเองอยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายก้าวหน้า หรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมแบบก้าวหน้า ไม่ต่างจากการเมืองในยุโรป ที่ประชาชนจะแสดงตัวตน ว่ามีจุดยืนทางการเมืองแบบไหน ซึ่งถือเป็นข้อดีของการพัฒนาการทางการเมือง
ซึ่งที่ผ่านมา สังคมไทยก็เริ่มมีพัฒนาการมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุค 14 ตุลา จากที่ ‘เป็น’ หรือ ‘ไม่เป็น’ พรรคคอมมิวนิสต์ มาสู่การเริ่มแสดงตัวตนเป็นฝ่ายเสรีนิยม สังคมนิยม หรือผลักดันรัฐสวัสดิการมากขึ้น ตามแต่จุดยืนและปัญหาที่เห็น ซึ่งถ้าจุดยืนใดที่รวมตัวกันได้เป็นกลุ่มใหญ่มากพอ ก็จะมีพลังในการขับเคลื่อนทางการเมืองไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ แต่กลับกัน ถ้ามีจำนวนไม่มากพอ ก็อาจไม่ตาย แต่เป็นได้แค่พรรคการเมืองเล็ก อย่างเช่น พรรคกรีน ในเยอรมนี หรือพรรคอนุรักษ์นิยมในอังกฤษ
“ให้เสรีภาพมากขึ้น” แต่ต้องมีกลไกตรวจสอบ เพื่อเปลี่ยนผ่านยุคสมัยไปได้อย่างราบรื่น
“เราทุกคนจะต้องระวัง ให้เปลี่ยนผ่านแบบราบรื่น และอย่าไปขัดขวางการเปลี่ยนแปลง”
เมื่อถามว่า อะไร คือสิ่งที่สังคมไทย “ห้ามลืม” หากจะเปลี่ยนผ่านยุคสมัยไปได้อย่างราบรื่น พิภพ ย้ำถึงความสำคัญของการ “เปิดพื้นที่เสรีภาพ” ให้เคลื่อนตัวไปได้มากขึ้น แต่ต้องมี “การตรวจสอบการใช้เสรีภาพ” ที่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคการเมือง หรือกลุ่มมวลชนต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงนี้
คำถามคือ จะให้เสรีภาพแค่ไหน เพราะเสรีภาพไม่มีขีดจำกัด แต่ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิหรือขัดต่อกฎหมาย ดังนั้นหากเห็นว่ามีกากระทำเกินเลย ก็ต้องใช้การต่อสู้ด้วยกฎหมายที่เสมอภาคและเป็นธรรม แทนที่การจัดการด้วยการใช้ความรุนแรง ขณะเดียวกัน กฎหมายก็ต้องให้โอกาสในการต่อสู้ อย่างเช่น การมีกองทุนยุติธรรมที่ช่วยเหลือเรื่องการประกันตัวให้ต่อสู้คดีโดยไม่ต้องติดคุก หรือกลไกในการจัดหาทนาย
“คุณด่าผม คุณบอกคุณมีเสรีภาพ ผมมีกฎหมาย ผมก็เอากฎหมายมาจัดการคุณ แต่ทีนี้ต้องดูว่ากฎหมายเป็นธรรมและการต่อสู้ในทางกฎหมายเสมอภาคกันไหม ผมติดคุกมาแล้ว ผมก็รู้ว่าถ้ากฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมไม่เสมอภาค คนเสียเปรียบก็จะติดคุกง่าย”
ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ‘เลือกตั้ง’ ต้องไม่สะดุด
ในวันนี้ อดีตแกนนนำมวลชนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ละวางจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง มาดูแลสุขภาพหลังป่วยเป็นมะเร็ง และกลับมาดูแลมูลนิธิเด็ก กับโรงเรียนหมู่บ้านเด็กที่ตัวเขาเป็นผู้ก่อตั้ง โดยเปิดทางให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารเพื่อให้ทันและเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของสังคมสมัยใหม่ แต่ยังผลักดันเรื่อง “เสรีภาพในโรงเรียน” ผ่านรูปแบบโรงเรียนทางเลือก โดยปฏิเสธการใช้อำนาจนิยมในโรงเรียน ยกตัวอย่างเช่น ครูห้ามตีเด็ก แต่ต้องใช้จิตวิทยาเข้ามาแทน
พิภพ มองว่า สังคมไทยยังติดอยู่กับอำนาจนิยมส่วนหนึ่ง แต่ถูกคนรุ่นใหม่ปฏิเสธและกำลังลุกขึ้นมาต่อสู้ ขณะที่โอกาสเกิดการรัฐประหารยังมีอยู่ แต่จะกลับมาไม่ได้ ตราบที่ประชาชนยังตื่นตัวทางการเมือง และต้องการ “ปกครองตนเอง” จากในอดีตที่ให้กษัตริย์ปกครอง แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนมาเป็นนักการเมืองกับทหารสลับกัน ถึงตอนนี้ ประชาชนบอกว่าพอแล้ว และขอใช้อำนาจปกครองตนเองผ่าน “การเลือกตั้ง” พร้อมกับติดตาม และแสดงปฏิกิริยาต่อนักการเมืองที่เลือกเข้ามา โดยเฉพาะยุคนี้ ที่การแสดงออกผ่านพื้นที่โซเชียลมีเดียได้ง่าย ทำให้นักการเมืองทำงานลำบากขึ้น ต้องฟังเสียงประชาชน
“เราต้องยกประชาชนขึ้นมา พยามลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชนขึ้นเรื่อย ๆ จนขึ้นมาเสมอกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ต้องทำให้การเลือกตั้งให้ติดต่อกัน เรามีปัญหาเพราะการเลือกตั้งสะดุด พอเลือกตั้งไปแล้วก็เกิดการรัฐประหาร การเรียนรู้ก็เลยตะกุกตะกัก แต่ตอนนี้ ประชาชนกำลังบอกว่า เฮ้ย ยอมไม่ได้แล้วนะ”