อยู่นอกบ้านอย่างมีศักดิ์ศรี กับโอกาสที่คุณภาพชีวิตจะดีกว่านี้ได้
บางคนไม่มีบ้านให้อยู่ บางคนมีบ้าน แต่อยู่แล้วไม่สบายกาย-ไม่สบายใจ บางคนอยากมีชีวิตอิสระ หรือบางคนไม่มีที่ไป หลายเหตุผล ของคนที่ “อาศัยอยู่ในที่สาธารณะ” หรือที่หลายคนเรียกพวกเขาว่า “คนไร้บ้าน” แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามแก้ปัญหาให้คนกลุ่มนี้ด้วยการจัดสถานที่สงเคราะห์ เป็นที่อยู่อาศัยทดแทนบ้าน แต่เนื่องจากคนไร้บ้านมีจำนวนมากเกินการรองรับ และอาจไม่ได้เป็นหนทางในการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจกับสังคม และทราบความความต้องการที่แท้จริงของคนไร้บ้าน เพื่อหาแนวทางที่จะทำให้พวกเขาอยู่ในที่สาธารณะได้โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น …
13 เหตุผล ที่ทำให้กลายเป็น “คนไร้บ้าน”
อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน อธิบายว่า ปัญหาของคนไร้บ้านคือปลายทางของโครงสร้างใหญ่ ตั้งแต่การเข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการ การถูกกีดกันโดยทัศนคติ ไปจนถึงนโยบายการพัฒนาประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่ไม่สามารถดูแลคนได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียม ทั้งหมดมีผลเกี่ยวเนื่องต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนไร้บ้าน และสิ่งกระตุ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเข้าสู่สังคมสูงวัย กลุ่มคนเปราะบาง ที่ขาดโอกาสในชีวิต ทำให้ต้องตกอยู่ในสภาพของคนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง
“หลักๆ ของปัญหาคือโครงสร้างสวัสดิการ ตั้งแต่เกิด เบี้ยแรกเกิดได้แค่ 600 บาท ถ้าครอบครัวไม่มีรายได้ก็ไม่พอสำหรับค่าเลี้ยงดู รัฐอยากให้มีประชากรเกิดขึ้นแต่โครงสร้างยังไม่รองรับ พอถึงวัยเรียน เรียนฟรีจริงไหม อาจจะไม่เสียค่าเทอมแต่มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทำให้เด็กบางคนหลุดออกระบบก็เป็นปัญหาเด็กเร่ร่อน เด็กข้างถนน พอในวัยทำงานถ้าใครไม่เข้าระบบประกันสังคม เป็นลูกจ้างทั่วไป หากรายได้ไม่พอ เกิดอะไรขึ้นมาก็ดูแลตัวเองไม่ได้ สู่วัยชราเบี้ยยังชีพเริ่มที่ 600 บาท ไม่พอ แม้แต่ข้าราชการบำนาญถ้าอยู่โดดเดี่ยวติดเตียง ค่าจ้างพยาบาลก็ไม่พอ”
มูลนิธิอิสรชนแบ่งประเภทและสาเหตุของการเป็น “คนไร้บ้าน” ออกเป็น 13 ประเภท ดังนี้
- ผู้ติดสุรา เนื่องจากติดสุรามานานครอบครัวรับไม่ไหว ต้องออกมาอยู่ข้างนอก
- ผู้พ้นโทษ เมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษไปแล้ว แต่สังคมไม่ยอมรับ ไม่มีงานไม่มีรายได้ จำต้องออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ
- ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ชุมชนไม่ยอมรับ ถูกเลือกปฏิบัติ กีดกันออกจากพื้นที่
- พนักงานบริการ ให้บริการทางเพศเลี้ยงชีพ โดยใช้พื้นที่สาธารณะรับลูกค้า
- เด็กเร่ร่อน คือเด็กที่ต้องออกมาหางานทำ บ้างขอทาน หรือย้ายตามครอบครัวโดยไม่มีที่พักเป็นหลักแหล่ง
- คนเร่ร่อน คนที่ตกงาน ผู้มีปัญหาครอบครัว หรือรักการใช้ชีวิตอิสระ อาจจะมีรายได้จากการทำงานเล็กๆ น้อยๆ โดยมักอาศัยใกล้กับแหล่งงาน
- ผู้ใช้ที่สาธารณะชั่วคราว เช่น คนที่มาทำธุรกิจต่างถิ่น แต่ไม่มีเงินเช่าที่พักจึงต้องอาศัยพื้นที่สาธารณะเป็นที่หลับนอนชั่วคราว
- ต่างชาติตกยาก อาจเป็นนักท่องเที่ยวที่ถูกโกงเงิน หรือถูกขโมยเงินจนหมดตัว ไม่สามารถกลับประเทศของตัวเองได้
- แรงงานเพื่อนบ้าน แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่รับจ้างแบบย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ ไม่มีที่อยู่ประจำ จึงต้องอาศัยในที่สาธารณะ
- คนจนเมือง คนที่ผิดหวังจากการทำงานในเมือง จะกลับบ้านก็ไม่มีที่ทำมาหากินแล้ว หมดหนทางไป
- คนเร่ร่อนไร้บ้าน คนที่ย้ายที่พักไปเรื่อยๆ ตามความพอใจ
- คนไร้บ้าน คนที่ถูกไล่ที่ หรือไม่มีที่ทำกิน
- ผู้ป่วยข้างถนน อาจพลัดหลงจากบ้านมาเนื่องจากอาการป่วยทางสมอง เช่น ผู้ป่วยความจำเสื่อม ไม่สามารถจำทางกลับบ้านได้ ไม่สามารถให้ข้อมูลญาติ เพื่อให้ความช่วยเหลือตัวเองได้
เมื่อบริบทแวดล้อมผลักไสให้มาเป็นคนเร่ร่อนแล้ว สังคมภายนอกก็ไม่ยอมรับเป็นการซ้ำเติมให้คุณภาพชีวิตของคนเร่ร่อนแย่ลง เช่น ทัศนคติแง่ลบที่มองว่าเป็นคนสกปรก หรือทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย แม้แต่การเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ควรจะเป็นสวัสดิการพื้นฐานของคนในสังคมก็ยังเป็นเรื่องที่เข้าถึงยาก หลายคนไม่มีบัตรประชาชนเพราะอาจถูกขโมย ถูกโกง หรือทำหายในที่สาธารณะ ก็ใช้สิทธิรักษาไม่ได้ หรือบางคนมีบัตรแต่สิทธิรักษาอยู่ต่างจังหวัดก็เข้ารักษาไม่ได้เช่นกัน ทำให้คนไร้บ้านคุณภาพชีวิตแย่ลงเรื่อยๆ
“เหตุที่คนไร้บ้านไม่อยากจะไปหาหมอเวลาเจ็บป่วย เพราะเขามีประสบการณ์ถูกปฏิเสธการรักษา ถูกมองเหยียดหยาม หรือถูกใช้คำพูดที่ไม่ดี แต่เราก็พยายามชวนให้คนในสังคมได้เข้าใจคนไร้บ้านมากขึ้น เห็นปัญหาร่วมกันและปรับมุมมอง ทัศนคติ ผ่านการทำโครงการอาสาสมัครต่างๆ มาให้ความช่วยเหลือในหลายๆ ด้าน บางคนคิดว่าเราให้สิทธิพิเศษกับคนเร่ร่อนไหม ไม่ใช่ มันคือโครงสร้างพื้นฐานที่ควรได้รับอยู่แล้ว ถ้าวันหนึ่งเกิดป่วยทางจิต หลงออกจากบ้าน หรือตกงานไม่มีบ้านอยู่ ถูกทิ้งข้างถนน อย่างน้อยก็ควรมีหน่วยงานที่ดูแลให้สวัสดิการต่างๆ”
มูลนิธิอิสรชนพยายามผลักดันให้เกิดโครงการเพื่อช่วยเหลือคนเร่ร่อนไร้บ้าน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือเพื่อให้โอกาสที่จะกลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปได้ ผ่าน 4 โครงการ ได้แก่
“1 อิ่ม 1 สะอาด FOOD FOR FRIENDS” แบ่งปันอาหาร ทุกวันอังคาร เวลา 17.00 น. เนื่องจากเคยมีเพื่อนผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะบางคน ค้นหาอาหารในถังขยะเพื่อนำมากิน แล้วมีสารปนเปื้อน จนทำให้เสียชีวิต เราเลยอยากสร้างพื้นที่แบ่งปัน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ให้คนที่อยากแบ่งปัน มาเปิดมุมมอง ร่วมเรียนรู้วิถีความเป็นอยู่ของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ
“ถุงปันสุข” ในสถานการณ์ยามวิกฤตช่วงนี้ หลายท่านต้องออกจากงาน และกลายมาเป็นผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะจำนวนมาก รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ลดถอยลง บางคนแทบไม่มีเงินที่จะซื้อหาอาหารเพื่อประทังชีวิตมูลธิอิสรชน จึงทำ #ถุงปันสุข ออกตระเวนแบ่งปันตามจุดต่างๆ พร้อมทั้งเก็บข้อมูล พูดคุย เยียวยาเบื้องต้น ช่วยประคับประคองไปก่อนเพื่อให้กลุ่มคนเหล่านั้นมีแรงสู้ต่อไป
“ปลูกปันอิ่ม Farm for Friends” พื้นที่การพัฒนา พื้นที่การเรียนรู้ เห็นคุณค่าในตัวเองพื้นที่แห่งการแบ่งปัน พื้นที่แห่งการต่อยอด งานบางงาน บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ เราให้โอกาสทุกคนได้ลอง ถ้าไม่ชอบไม่ต้องทำ แต่ถ้าทำแล้วมีความสุข เราก็ดีใจ อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกคนได้ทำสิ่งดีๆ ให้เขาได้มีตัวตน ภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ
“หมอกระเป๋า First Aid Mobile” เป็นอีกหนึ่งโครงการที่พยายามสร้างอาสาด้านหมอในการลงมาดูแลคนไร้ที่พึ่ง “เจ็บเอง หายเอง” เมื่อคนไร้บ้านเกินครึ่งเจ็บป่วย แต่ไม่กล้ารับการรักษาในสถานพยาบาลจากอุปสรรคด้านสิทธิ กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ทัศนคติในการให้บริการ ทำให้บุคคลากรทางการแพทย์กลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ให้บริการ และเรียนรู้ไปพร้อมกับภาคประชาสังคม
“การช่วยเหลือต้องทำในเชิงรุก ต้องเดินหาเคส หากราชการจะทำงานนี้จะต้องปรับระบบใหม่ ทำให้เกิดสวัสดิการเคลื่อนที่เข้าไปช่วยเหลือได้ และการส่งเสริมให้เข้าถึงสิทธิ การตรวจสอบสิทธิ การส่งรักษาพยาบาล ในทางปฏิบัติต้องช่วยอำนวยความสะดวกให้ ประสานงานให้ ส่วนการสร้างที่อยู่อาศัยให้อาจไม่ตอบโจทย์ เพราะจะกลายเป็นเหตุผลให้ครอบครัวยิ่งผลักออกมา แต่เราจะทำยังไงให้คนที่อยู่ข้างถนนก็ยังอยู่ได้ ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น มีงานทำ ห้ามจับจอง นอนเป็นจุดๆ รักษาความสะอาด มีระเบียบร่วมกันตามกฎหมาย”
‘กรุงเทพฯ’ เมืองที่เจริญที่สุด แต่มีคนไร้บ้านมากที่สุดในประเทศ
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องคนไร้บ้านไม่ใช่แค่เรื่อง “บ้าน” แต่เป็นทั้งเรื่องงานและเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ที่ต้องดูแลทั้งวงจร
“จะทำอย่างไรให้ทั้งสังคมเห็นคนไร้บ้านมีศักดิ์ศรี มีความเป็นมนุษย์ เท่าเทียมกัน บางทีเราอาจจะรู้สึกว่าคนไร้บ้านทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องออกแบบพื้นที่เมืองให้คนทุกคนเห็นความเท่าเทียมและความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน ต้องออกแบบเมืองอย่างไรให้ดี โดยมาหารือร่วมกันว่าจะแบ่งเขต (zoning) อย่างไร หรือจะอยู่ร่วมกันในพื้นที่อย่างไร เพราะสุดท้ายเราต้องอยู่ร่วมกันในสังคมให้ได้ ซึ่งเป็นกระบวนของทั้งทางภาครัฐและกระบวนการความเข้าใจทางสังคมที่เราจะต้องยกระดับไปด้วยกัน”
โดย กรุงเทพมหานครได้วางแนวทางดำเนินการด้านคนไร้บ้านทั้งหมด 6 มิติ ได้แก่ 1. มิติด้านฐานข้อมูล 2. มิติด้านที่พักอาศัยที่ปลอดภัย 3. มิติด้านการรักษาสิทธิและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน 4. มิติด้านอาชีพ ช่วยหางาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคง 5. มิติด้านสุขภาพ และ 6. มิติการบูรณาการช่วยเหลือของหน่วยงานสนับสนุนและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งทุกมิติล้วนเชื่อมโยงสอดคล้องกัน
มิติด้านฐานข้อมูล ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงานในระยะยาว เพราะปัจจุบันแต่ละหน่วยงาน มูลนิธิต่าง ๆ ได้มีการเก็บข้อมูลคนไร้บ้านไว้ และตัวเลขของแต่ละหน่วยงานนั้นค่อนข้างจะใกล้เคียงกัน เป็นต้นทุนในการทำฐานข้อมูลร่วมกัน โดยจะต้องมีการหารือกันเพื่อจัดรูปแบบ (format) หัวข้อการเก็บข้อมูลต่าง ๆ วิธีการติดตาม (tracking) วิธีการอัปเดตข้อมูล เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางให้ทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้และเกิดประโยชน์กับการเข้าให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้านต่อไป
มิติด้านที่พักอาศัยที่ปลอดภัย มิติด้านการรักษาสิทธิและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน มีข้อเสนอถึงการเป็น Emergency Shelter หรือ ที่พักพิงฉุกเฉิน และการจัดหาที่พักเพิ่มเติม เช่น บ้านเช่า ห้องเช่าราคาถูก ห้องเช่าคนละครึ่ง ที่พักอาศัยระยะยาว ที่พักอาศัยถาวร รวมถึงการมีพื้นที่สวัสดิการและพื้นที่แห่งโอกาส ให้คนไร้บ้านสามารถเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ ซักผ้า พักผ่อนหย่อนใจ ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนพักค้างคืน แต่หากต้องการพักค้างก็สามารถทำได้ อาจจะมีโต๊ะลงทะเบียนรับสิทธิต่าง ๆ หรือหากประชาชนที่ต้องการบริจาคสิ่งของให้คนไร้บ้าน
มิติด้านอาชีพ ช่วยหางาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคง เป็นงานรับจ้างทั่วไป ได้เงินเป็นรายวัน ได้เงินทันทีหลังจบงาน
มิติด้านสุขภาพ กรณี long term care / nursing home ดูแลคนไร้บ้านที่เป็นผู้ป่วยทางกายและจิต ควรจัดหาพื้นที่สำหรับดูแลเป็นการเฉพาะ
ธนิต ตันบัวคลี่ รองผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตานโยบายของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อยากจะทำ ‘บ้านอิ่มใจ’ ขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นที่พักพิงและให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้าน แต่ด้วยปัจจัยเรื่องงบประมาณ ที่อาจจะไม่คุ้มค่าหากจะเปิดพื้นที่ในลักษณะเดิม จึงมีการพิจารณาในคณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบไปด้วยภาคประชาชน นักวิชาการ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านคนไร้บ้าน ให้ความเห็นพ้องกันว่า ควรจะเปลี่ยนมาเป็นการจัดหาจุด drop-in แทนซึ่งน่าจะทำได้เร็วที่สุด และสามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงทีกว่า
เบื้องต้นมีการแบ่งกลุ่มคนไร้บ้านออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่ เป้าหมายคือจะทำยังไงที่จะช่วยเหลือให้สามารถกลับไปเป็นคนมีบ้านได้เหมือนเดิม กลุ่มที่ 2. กลุ่มคนไร้บ้านถาวร ที่มีความประสงค์จะเป็นคนไร้บ้าน ไม่ต้องการกลับเข้าบ้าน จึงต้องมีวิธีว่าจะจัดการอย่างไรให้สามารถใช้ชีวิตนอกบ้านได้ กลุ่มที่ 3. คือคนไร้บ้านที่มีปัญหาทางกาย ทางจิต ก็ต้องให้ความช่วยเหลือในเชิงการรักษา
แม้วันนี้ กทม. จะไม่ได้เปิดพื้นที่ช่วยเหลือและพักคอยเหมือน “บ้านอิ่มใจ” อย่างเดิม แต่ได้มีจุดให้ความช่วยเหลือ อยู่ที่เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักงานเขตพระนคร และได้มีการดำเนินการจัดระเบียบ การแจกอาหารให้กับคนไร้บ้านจากเดิมที่บริเวณถนนราชดำเนิน ก็เปลี่ยนไปอยู่ที่บริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเทน และได้มีแผนที่จะพัฒนาเป็นจุด drop-in แทนโดยความร่วมมือกับ สำนักพัฒนาสังคมฯ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นักวิชาการ ภาคประชาชนสังคม เช่น มูลนิธิด้านต่างๆ มาร่วมดำเนินงาน
โดยเบื้องต้นประเมินว่าจุด drop-in จะให้บริการเดือนละ 2 ครั้ง มาให้ความช่วยเหลือในเรื่องการคัดกรองด้านสาธารณสุข เพื่อดูแลสุขภาพให้กับคนไร้บ้าน การจัดสรรสวัสดิการ เช่น ทุนประกอบอาชีพ หรือสิทธิบางประการที่ยังขาด อย่างหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ บัตรประชาชนที่เป็นสิ่งแสดงตนในการรับสิทธิต่างๆ การให้บริการรถซัก-ล้างเสื้อผ้า อาบน้ำ รวมถึงการแจกอาหาร สิ่งของจำเป็นต่างๆ เสริมเพิ่มเติมจากที่มีบริการอยู่แล้ว
และอีกพื้นที่คือบริเวณทางด่วนบางรัก พื้นที่เขตบางรัก บริเวณถนนสี่พระยา ปัจจุบันเปิดให้บริการเป็นลานกีฬา สำหรับออกกำลังกาย และมีพื้นที่ว่างอีกกว้างขวางจึงวางแผนที่จะขออนุญาตใช้พื้นที่จากการทางพิเศษฯ เพื่อดำเนินการในลักษณะของ “บ้านอิ่มใจ” ซึ่งน่าจะมีการให้บริการที่มากกว่า เช่น การพักค้าง แต่อย่างไรก็ต้องมีการหารือในรายละเอียด และการออกแบบกันอีกครั้ง
“การทำที่พักอาจทำให้เกิดคนไร้บ้านถาวรก็ได้ สู้มาทำจุดให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมศักยภาพ แล้วพยายามดึงคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่มีปัญหา ทำให้สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือด้านสวัสดิการที่ภาครัฐมีอยู่แล้ว รวมถึงการหางานให้ทำ การฝึกทักษะด้านต่างๆ ส่งเสริมอาชีพ ซึ่ง กทม. ก็มีศูนย์ฝึกอาชีพที่รองรับอยู่แล้ว”
เปิดแบบสอบถาม รู้ใจคนไร้บ้าน อยากให้เราช่วยเหลืออะไร ?
อนรรฆ พิทักษ์ธานิน แผนงานสนับสนุนองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ และ สสส. กล่าวว่า ข้อมูลของ สสส. และทางเครือข่ายคนไร้บ้าน รวมถึงกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เบื้องต้นมีการเก็บข้อมูลเชิงจำนวน พบว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คนไร้บ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 20%-30% อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ราว 1,800 คน เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากไม่รีบให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการเพื่อเร่งฟื้นฟูคนกลุ่มนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนไร้บ้านหน้าใหม่อาจกลายเป็นคนไร้บ้านถาวร และยากที่จะกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนเดิม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีข้อมูลเชิงลึก สำหรับการวิเคราะห์แนวทางการให้ความช่วยเหลือ
“จำเป็นต้องทำ ฐานข้อมูลรวม หรือ ฐานข้อมูลสวัสดิการของคนไร้บ้าน และวางแผนบริหารจัดการทั้งรูปแบบของการเก็บข้อมูล และการนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกันกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คนไร้บ้านได้รับการช่วยเหลือครอบคลุมมากที่สุด ที่ผ่านมามีการเก็บข้อมูลเรื่องจำนวนคนไร้บ้าน ข้อมูลผู้มารับบริการความช่วยเหลือด้านต่างๆ ทั้งคนไร้บ้านหน้าใหม่ คนไร้บ้านที่อยู่มานาน เพื่อให้รู้ว่าเป็นใครบ้าง และมีการติดตามข้อมูลว่าหลังจากได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นแล้วเป็นอย่างไร ต้องการอะไรอีกบ้าง เพื่อให้ตั้งหลักชีวิตได้ หรือการวิเคราะห์ว่าทำไมถึงยังต้องมารับบริการซ้ำ ข้อมูลพวกนี้จะมีการอัพเดทตลอดเวลา”
ข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องใช้เพื่อประเมินสถานการณ์ของการให้ความช่วยเหลือให้เหมาะสม เช่น บางคนเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ อาจจะต้องการแค่งานทำ มีรายได้เราอาจจะต้องช่วยหารายได้ให้เขา เรามองว่าฐานข้อมูลไม่ได้ทำให้เห็นภาพเท่านั้น แต่จะนำไปสู่การช่วยเหลือกับชีวิตของคนไร้บ้านแต่ละคน เนื่องจากคนไร้บ้านทุกคนไม่ได้มีความต้องการเหมือนกัน แต่ละคนมีปัญหาส่วนตัวที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่แค่ตกงาน บางคนอาจมีปัญหาด้านสุขภาพกาย หรือสุขภาพจิตร่วมด้วย ซึ่งมีความซับซ้อน
ยกตัวอย่าง เวลาที่มีการแจกของบริเวณ ถนนราชดำเนินใน หากพิจารณาแล้วจะพบว่าไม่ใช่คนไร้บ้านทั้งหมด บางคนยังไม่ไร้บ้านแต่เริ่มเป็นกลุ่มเปราะบางที่อาจจะมีบ้านแต่มีปัญหาเรื่องภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ทำให้ต้องมารับความช่วยเหลือ
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบโปรแกรมสำหรับใช้เก็บข้อมูล โดยมีองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าถึงฐานข้อมูล เก็บข้อมูลด้วยกัน อาจเป็น Dashboard เพื่อให้ทุกคนประเมินสถานการณ์ร่วมกันได้ และอาจจะคล้ายกับลักษณะ Case Management ช่วยเหลือรายบุคคล แต่อาจจะทำให้เห็นภาพกว้างในภาพรวมด้วย ซึ่งลำดับแรกจะเน้นเก็บข้อมูลด้านสวัสดิการ การช่วยเหลือ ความต้องการ และสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของคนไร้บ้าน คาดว่าภายใน 1-2 เดือนจะมีความชัดเจนมากขึ้นและนำมาใช้ได้จริง”
เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยอาจจะพัฒนาในแง่ของวัตถุมากกว่าการพัฒนาคน ทำให้คนห่างเหิน ถูกทอดทิ้งมากขึ้น ความพยายามในการจัดตั้งคณะทำงานด้านคนไร้บ้านตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหนคร นับเป็นจุดเริ่มต้นของข้าราชการในการทำงานเชิงรุกมากขึ้น และทำให้เห็นว่าคนไร้บ้านถูกมองเห็นมากขึ้น มีคนมาสนใจ ผ่านการเก็บข้อมูลเป็นที่ประจักษ์ แต่เนื่องจากสาเหตุและปัญหาเฉพาะบุคคลของคนไร้บ้านแต่ละคนหลากหลายแตกต่างกัน และมีปัญหามากมายหลายประการ จึงยากที่จะแก้ไขได้ในเร็ววัน และยังติดขัดในการดำเนินงานจากระบบระเบียบราชการ
“เบื้องต้นอาจจะมีการเก็บข้อมูล ให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า อาจช่วยให้บางคนกลับไปเป็นคนมีบ้านได้ เช่นเราตามหาญาติให้ได้ แต่ยังเป็นการช่วยเหลือเชิงปัจเจกรายคน แต่จะสามารถทำงานง่ายมากขึ้นเพราะว่าเป็นความร่วมมือกับทุกภาคส่วน หรือสื่อเข้ามาเป็นกระบอกเสียงให้ อย่างน้อยสังคมได้รับรู้ปัญหา เป็นโอกาสที่จะหาทางออกร่วมกันในอนาคต แต่การแก้โครงสร้างใหญ่คงต้องอาศัยเวลา”
อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน
เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ย้ำว่า “คนไร้บ้าน เป็นปัญหาจากโครงสร้างใหญ่ ซึ่ง กทม. เพียงอย่างเดียวอาจแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด แต่เป็นจุดเริ่มที่จะเป็นต้นแบบให้เห็นว่าทำได้ จัดการให้ดีขึ้นได้ และทำให้ฝ่ายนโยบายระดับชาติเห็น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้กับคนไร้บ้านทั้งประเทศ”
The Active ชวนติดตามซีรีส์ “ฟังคนต่าง ฟังความต่าง” ใน The Listening