ภายใต้คำว่า “รักอิสระ” ของคนไร้บ้าน มีอะไรซ่อนอยู่ ?

“ไม่อยากไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ มันไม่อิสระ ขอออกมาอยู่แบบนี้ดีกว่า”

คำพูดของชายสูงวัย ที่ใช้พื้นที่เล็ก ๆ ใต้ต้นไม้ริมคลองผดุงกรุงเกษม กรุงเทพฯ เป็นที่นอนมานานกว่า 7 ปี

คำตอบง่าย ๆ ที่ทำให้เราพยักหน้าและเตรียมออกเดินต่อ หากแต่ อาชน – ชนต์ธร โพธิ์ทอง แกนนำศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์วัดหนู เรียกให้เราหยุดเดิน พร้อมอธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ชายคนนี้ต้องมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ คือ ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว

“การพูดว่ารักอิสระ มันง่ายกว่าการบอกว่าตัวเองผ่านปัญหาอะไรในชีวิตมา”

อาชน – ชนต์ธร โพธิ์ทอง

เดินย่ำกรุง เป็นกิจกรรมที่เครือข่ายคนไร้บ้าน เดินสังเกตวิถีชีวิตของพี่น้องคนไร้บ้านตามจุดต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ รวมถึงการประสานให้เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ และชวนไปทำงานรับจ้างรายวันเพื่อมีรายได้ หากต้องการเช่าห้องเพื่ออยู่อาศัย ไม่ต้องใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะอีก

ห้องเช่าแบบไหน ? ที่พี่น้องคนไร้บ้านจะเข้าถึงได้

นอกจากราคาของที่พัก สิ่งที่คนไร้บ้านต้องการคือ การเป็นอิสระในการเข้าออก เพราะไม่มีใครต้องการถูกจำกัดเวลา ทุกคนยังต้องการใช้ชีวิตแม้จะเป็นผู้สูงวัยก็ตาม

ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์วัดหนู เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2551 ปัจจุบันมีอดีตคนไร้บ้านพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้กว่า 70 ชีวิต ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และคนพิการ

เราได้เจอกับ ป้านุช วัย 62 ปี กล่าวต้อนรับแบบเป็นกันเอง พร้อมชวนเราเข้าไปในห้องของเธอ ขนาด 3×3 เมตร รวมค่าน้ำค่าไฟ ตกเดือนละ 480 บาท เป็นราคาที่ป้านุชจ่ายไหว แม้จะไม่ใหญ่โต แต่ก็สบายกว่าใช้ชีวิตไร้บ้านเหมือนที่เคยเป็นตั้งแต่ยังสาว

“ป้านุชโตมาในสถานสงเคราะห์ หน้าพ่อหน้าแม่ก็ไม่เคยเห็น บัตรประชาชนอะไรก็ไม่มีกับเขา พออายุ 20 ปี เจ้าหน้าที่ก็ให้ออกมา จะไปทำงานที่ไหนเขาก็ไม่รับเพราะไม่มีบัตร ต้องไปเป็นลูกจ้างขายของ โบกธง อาศัยนอนตามท้องสนามหลวง จนตอนนี้อายุ 60 ปี อะไรก็ยังไม่มีกับเขา สวัสดิการอะไรก็ไม่เคยได้รับ”

ป้านุช

นี่คือชะตากรรม ที่เกิดขึ้นกับป้านุชตั้งแต่เกิดจนถึงช่วงบั้นปลายของชีวิต ที่ความขยันก็ไม่ช่วยให้หลุดพ้นจากการเป็นคนไร้บ้านในเมืองใหญ่แห่งนี้

ป้านุชเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นี่ เช่นเดียวกับพี่น้องกว่า 70 ชีวิตในบ้านหลังนี้ บางคนหาเลี้ยงชีพด้วยการไปทำงานกับ มูลนิธิกระจกเงา รับจ้างรายวัน ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ พวกเขาอาศัยพื้นที่ตลาดริมทางรถไฟสถานีจรัญสนิทวงศ์ ขายสินค้ามือสอง หารายได้เอาไว้เป็นค่าใช้จ่าย กิน อยู่ในแต่ละวัน

ที่สำคัญบ้านหลังนี้ ยังเป็นที่พึ่งให้กับคนไร้บ้านหน้าใหม่ สามารถมีที่อยู่อาศัยระหว่างรอหางานจนตั้งตัวได้ และกลับเข้าสู่ระบบแรงงาน มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงอีกครั้ง

หยุดเป็นคนไร้บ้านถาวร 2 ปีแรก คือช่วงเวลาทอง

ข้อมูลการแจงนับคนไร้บ้านทุกจังหวัดทั่วประเทศเมื่อ พ.ค. 2566 พบคนไร้บ้าน 2,499 คน สาเหตุหลักมาจาก ไม่มีงานทำ ตกงาน 44.72% รองลงมา คือ ปัญหาครอบครัว 35.18%

โดยช่วงอายุคนไร้บ้านส่วนใหญ่ คือ วัยกลางคน อายุ 40 – 59 ปี 56.8% หรือ 1,419 คน รองลงมาวัยสูงอายุ 22% หรือ 553 คน ลักษณะภายนอกที่เห็นได้ชัด คือ ติดสุรา 18.1% มีปัญหาสุขภาพจิต 17.9% ในจำนวนนี้มีแนวโน้มความรุนแรงเพียง 1-2%

นอกจากนี้ยังพบสัดส่วนคนไร้บ้านที่มีปัญหาด้านสิทธิสถานะ สวัสดิการสูงถึง 30% และมีคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านไม่เกิน 2 ปีมากถึง 27% โดยในจำนวนนี้พบคนไร้บ้านเลือกอยู่ตามลำพังกว่า 74.1%

การศึกษาแนวทางวิเคราะห์ต้นทุนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน และติดตามการเปลี่ยนแปลงทางชีวิตของคนไร้บ้านในช่วงเริ่มต้น พบ นิยามคนไร้บ้านหน้าใหม่ว่า คือ คนที่กำลังอยู่ในช่วงระหว่างการตัดสินใจที่จะไร้บ้านหรืออยู่ในช่วงการทดลองไป ๆ กลับ ๆ ระหว่างบ้านหรือที่พักอาศัยกับพื้นที่สาธารณะ หรือบ้านพักพิงที่มีการจัดไว้ให้หรือที่ออกจากบ้านที่พักซึ่งเคยอาศัยอยู่แต่เดิมด้วยปัจจัยผลักบางประการทำให้ต้องใช้ชีวิตในสภาพที่ไม่มีที่อยู่อาศัยที่ตัวเองมีสิทธิ์การเป็นเจ้าของ หรือครอบครองโดยทั่วไปมักมีระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี

โดยปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาหลักในการส่งผลให้คนตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ มีปัญหาครอบครัวที่ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตาข่ายรองรับปัญหาได้เป็นกลไกสำคัญในการขยายปัญหาให้รุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อคนตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะพวกเขายังคงต้องการงานและภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่มีการจ้างงานเป็นครั้งคราว กลายเป็นฟองน้ำรองรับคนเหล่านี้ในการหางานทำ

แต่การจ้างงานของภาคเศรษฐกิจนอกระบบมักเป็นงานประเภทรับจ้างที่มีแต่ค่าตอบแทนน้อยไม่เพียงพอ และไม่แน่นอน ในด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ประกอบการในภาคเศรษฐกิจนอกระบบส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำ แต่ในอีกด้านหนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่ตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะก็คือการขูดรีดและซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีก

นอกจากนี้ยังพบว่า ในระยะของการเปลี่ยนผ่าน คนไร้บ้านหน้าใหม่ที่ไร้บ้านมาแล้ว 1-2 ปี  สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก

  • กลุ่มคนที่ตัดสินใจจะกลับไปอยู่บ้าน พบว่า กลุ่มคนเหล่านี้ค่อนข้างเป็นกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากพวกเขาอาจจะยังไม่ได้แก้ไขปัญหาชีวิตที่ทำให้พวกเขาไร้บ้าน การเข้าไปเผชิญปัญหาอีกครั้งอาจทำให้เขากลับมาเป็นคนไร้บ้านได้อีก

  • กลุ่มคนที่มีรายได้มั่นคงและมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ คนกลุ่มนี้มีโอกาสหลุดพ้นออกจากภาวะไร้บ้านได้

  • กลุ่มคนที่กลายเป็นคนไร้บ้านถาวร พวกเขาสามารถเป็นได้ทั้งคนที่มีโรคจิตเภท และคนที่จิตใจปกติ ทำใจยอมรับกับการเป็นคนไร้บ้านได้แล้ว

แต่ทั้ง 3 กลุ่ม หากพ้นเวลาช่วง 1-2 ปีแล้ว คนที่ยังเป็นคนไร้บ้านจะกลายเป็นคนไร้บ้านถาวรอย่างมีแนวโน้มการพึ่งพาจากภาครัฐ และยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ทำงานหาเลี้ยงชีพได้ แต่ไม่เพียงพอกับการมีบ้านอยู่ ซึ่งอาจจะมาจากการทำงานไม่เป็นเวลาหรือการได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่ควรจะเป็นซึ่งภาครัฐอาจจำเป็นต้องพิจารณาประเด็นการขูดรีดนี้ด้วย

ห้องเช่าคนละครึ่ง ตอบโจทย์ที่อยู่อาศัยคนไร้บ้าน แต่ยังไร้วี่แววสานต่อ

สมพร หารพรม  ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ระบุว่า แก้ปัญหาคนไร้บ้าน หรือคนไร้บ้านหน้าใหม่ ต้องประกอบด้วยที่พักอาศัย และการหนุนเสริมอาชีพ ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องที่อยู่อาศัยมี 2 แบบ คือ ที่พักชั่วคราว เช่น ศูนย์คุ้มคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรุงเทพมหานคร และการนำร่อง ห้องเช่าคนละครึ่ง จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นการทำงานร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ช่วยให้คนที่เคยเช่าห้องรายวัน อยู่ในระยะเช่าได้ยาวขึ้น ซึ่งเวลานั้นนำร่องที่จุดหัวลำโพง โดยมีงบสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช., มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เข้าไปหนุนเสริม จาก 7 ห้อง เป็น 21 ห้องในหลายย่าน และปัจจุบันคนกลุ่มนี้จ่ายค่าเช่าเองทั้งหมด

“สิ่งที่เปลี่ยนคือเขาไม่อยากกลับมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เพราะรู้สึกว่าการที่มีห้องเช่าได้หนุนเสริมศักดิ์ศรีเพิ่มขึ้น เพียงแต่จะอยู่ในระยะยาวไหมอีกเรื่องหนึ่ง เพราะจะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของอาชีพด้วย”

สมพร หารพรม

ความสำเร็จของห้องเช่าคนละครึ่ง ทำให้กระทรวง พม. นำไปพัฒนาเป็นนโยบายนำร่อง อนุมัติงบประมาณมีเป้าหมายชัดเจน 8 จังหวัด 200 หน่วย โดยคนไร้บ้านต้องเลือกห้องเช่าเอง แต่มีเงื่อนไขห้องเช่าไม่เกิน 3,000 บาท รัฐช่วย 1,500 บาท คนไร้บ้านจ่าย 1,500 บาท ผ่านการพิจารณาร่วมกันระหว่างเครือข่ายภาคประชาสังคม และศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งใน 8 จังหวัด

แต่สมพร ตั้งคำถามว่า จนถึงวันนี้โครงการยังไม่คืบหน้าเพราะยังติดเงื่อนไขว่าการที่จะจ่ายเงิน รัฐจ่ายไปที่ผู้ประกอบการ หรือตัวคนไร้บ้าน ซึ่งยังไม่ทราบความคืบหน้าจึงยื่นขอพบรัฐมนตรีกระทรวง พม. เพื่อทวงถามความชัดเจน

“อย่างโครงการบ้านเพื่อคนไทย ก็สงสัยว่าทำไมรัฐถึงขยับได้เร็ว แต่โครงการห้องเช่าคนละครึ่งซึ่งเป็นเรื่องของกลุ่มเปราะบาง คนตัวเล็กตัวน้อย ทั้งที่ความชัดเจน กติกาต่าง ๆ ก็คุยตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำไมยังไม่ขยับ ก็อยากเห็นทิศทางการส่งเสริมคนไร้บ้านอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่สงเคราะห์”

สมพร หารพรม

จากการเดินย่ำกรุง เรื่องราวของผู้คนในศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์วัดหนู จนมาถึงโครงการห้องเช่าคนละครึ่ง ทำให้เราเข้าใจในความแตกต่างของภาวะไร้บ้าน จะนำมาสู่การคำนึงถึงการหนุนเสริมที่แตกต่าง และเหมาะสมกับกลุ่มคนไร้บ้านที่นิยามตนเองแตกต่างกัน

เพราะสำหรับบางคน ภาวะของการไร้บ้านเป็นเพียงอุบัติเหตุในชีวิต ที่อาจทำให้ใครคนหนึ่งสะดุดล้ม แต่ไม่ได้แปลว่าจะล้มเหลวตลอดไป

พวกเขารอเพียงโอกาส และคนที่จะเชื่อมั่นในศักยภาพของของพวกเขา ก็จะสามารถขจัดคำว่าคนไร้บ้านออกไปได้ และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีในที่สุด


ชมสารคดี คน จน เมือง ซีซัน 5 ตอน บ้านหลังคาดาว

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : จบปัญหา! ‘คมนาคม’ มอบสัญญาเช่าที่ดินรถไฟ ‘ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู’

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน