บัญชีม้า : กับดักโชคชะตา ซ้ำเติม ‘คนไร้บ้าน’

“สาวถูกหลอกให้เปิดบัญชีม้า”

“นักเรียน ม.3 ถูกหลอกให้เปิดบัญชีม้า”

“ลุงถูกหลอกให้เปิดบัญชีม้า”

ต่างเพศ… ต่างวัย… ต่างสถานะ… ต้องกลายเป็นผู้กระทำความผิดจากการถูกหลอกให้เปิดบัญชีม้า เพียงเพราะต้องการเงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยที่ไม่รู้เลยว่าบัญชีที่เปิดไปนั้นจะนำไปกระทำการใด ๆ ที่ผิดกฎหมาย จนกระทั่งหมายเรียกมาส่งถึงหน้าบ้าน ถึงได้รู้ตัวว่าตนเองกลายเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไปแล้ว

สำหรับ ‘คนมีบ้าน’ และ ‘คนอยู่บ้าน’ คงจะไหวตัวได้ทันก่อนที่หมายเรียกจะกลายเป็นหมายจับ แต่เหตุการณ์แบบนี้อาจใช้ไม่ได้สำหรับ ‘คนไร้บ้าน’ ที่ถูกหลอกให้เปิดบัญชีม้า เพราะกว่าจะรู้ตัวว่าตนเองกระทำความผิด จากหมายเรียกก็กลายเป็นหมายจับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ความเปราะบางที่มีอยู่แล้วของคนไร้บ้าน ยิ่งถูกตอกย้ำไปอีกจาก ความไม่รู้ และเป็นประเด็นสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างที่ The Active ชวนให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนไร้บ้าน และตั้งคำถามไปพร้อมกับ อ.ปลาทอง – ศิวนุช สร้อยทอง หัวหน้าคลินิกกฎหมาย มูลนิธิกระจกเงา ถึงบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องเข้ามาหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นธรรมและการคุ้มครองอย่างเหมาะสมได้อย่างไรบ้าง ?

“ตอนอยู่ราชดำเนิน ถึงจะมีข้าวแจก แต่ตังค์ไม่ค่อยมีใช้
มีอะไรให้ทำที่เป็นเงินเป็นทอง ก็เอาทั้งนั้นแหละ”

ประยงค์ (ชายไร้บ้าน)

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ชีวิตของ ประยงค์ (นามสมมติ) พลิกผันจากคนไร้บ้าน กลายมาเป็น คนกระทำความผิดโทษฐาน รับจ้างเปิดบัญชีม้า ในยุคที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังระบาดรุนแรง เพราะขาดปัจจัย 4 ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต

ประยงค์ (ชายไร้บ้าน) ที่เคยถูกหลอกให้เปิดปัญชีม้า

“มีบัตรประชาชนไหม เดี๋ยวจะพาไปเปิดบัญชีแล้วได้ค่าตอบแทนนะ เปิดไปสักเดือนสองเดือน จะพากลับมาปิด”

เป็นคำชักชวนจากชายเจ้าถิ่นในละแวกที่ประยงค์อาศัยอยู่ จูงใจให้เขาเลือกที่จะขึ้นรถมอเตอร์ไซค์ไปกับชายดังกล่าว เพียงเพราะต้องการค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงิน 500 บาท ด้วยความจำเป็น และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าการเปิดบัญชีให้กับคนแปลกหน้าอาจสร้างความเสียหายได้ในอนาคต

“ก็ไม่น่าจะมีเรื่องที่น่ากลัวอะไร แค่เปิดบัญชี อย่างน้อยก็ได้ตังค์มาซื้อข้าว แถมถ้าไม่ทำก็อาจจะไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ได้”

ประยงค์ เล่าย้อนเหตุผล

ก่อนที่จะถึงธนาคาร ประยงค์ เล่าให้ฟังว่า จะมีการเตรียมข้อมูลสำหรับการตอบคำถามกับเจ้าหน้าที่ธนาคาร โดยให้แจ้งความประสงค์ที่จะ เปิดบัญชีเพื่อใช้รับค่าตอบแทนในการทำงาน ซึ่งขณะนั้นมาตรการของธนาคารเองก็ยังไม่เข้มงวดมากพอในการตรวจสอบ การเปิดบัญชีเพื่อไปกระทำความผิดจึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับมิจฉาชีพในยุคนั้น และทันทีที่เปิดบัญชีเสร็จ เขาจะถูกยึดสมุดบัญชี และบัตรเอทีเอ็ม พร้อมให้เงินค่าตอบแทนจากผู้ที่พามา

หลังจากเปิดบัญชีเสร็จ เวลาก็ได้ล่วงเลยมากว่า 2 เดือนแล้ว คนที่บอกว่าจะพากลับมาปิดบัญชีก็ไม่มีทีท่าว่าจะพาประยงค์กลับไปจัดการให้เรียบร้อย จนกระทั่งมีการจับกุมประยงค์เพื่อดำเนินคดี…

ประยงค์ไม่มีโอกาสแม้แต่ประกันตัว เพราะไม่มีความเข้าใจว่าจะต้องประกันตัวอย่างไร และเมื่อเข้าไปสู่กระบวนการชั้นอัยการ ก็ทำได้เพียงยอมรับว่า มีการเปิดบัญชีจริง ๆ แต่ไม่รู้ว่าการกระทำของประยงค์ครั้งนี้ จะทำให้เกิดความเสียหายกับผู้อื่นมากขนาดนี้

ประยงค์ เพิ่งรู้ไม่นานมานี้ ว่า บัญชีที่เขาเปิด คือ บัญชีม้า ที่นำไปใช้ในขบวนการหลอกให้ลงทุน ซึ่งหลอกลวงให้โอนไปในจำนวนหลายแสนบาท และมีเงินหมุนเวียนอยู่ในบัญชีที่เป็นชื่อของประยงค์ กว่า 2 แสนบาทอีกด้วย

ท้ายที่สุด ประยงค์ได้รับความช่วยเหลือจากคลินิกกฎหมาย มูลนิธิกระจกเงา โดย อ.ปลาทอง นำทีมเข้าไปช่วยเหลือในชั้นที่มีการกำหนดคำพิพากษาของกระบวนการศาล ด้วยการส่งข้อมูลให้ทางศาลทำความเห็นในการทำคำพิพากษา ว่า เรื่องราวของประยงค์ เป็นคนไร้บ้าน และมีความจำเป็นในช่วงนั้นอย่างไรบ้าง

หลอกเปิดบัญชีม้า ผลกระทบที่มากกว่าทำผิดกฎหมาย!

การเจรจาระหว่างประยงค์ และผู้เสียหายจึงเกิดขึ้น และได้ข้อสรุปว่า ประยงค์ต้องทำงานเพื่อการจ่ายเงินให้กับผู้เสียหายในวงเงิน 54,000 บาท เป็นระยะเวลา 18 เดือน เพื่อที่ประยงค์จะไม่ต้องติดคุก และเป็นการชดเชยความผิดในสิ่งที่ทำลงไป ซึ่งขณะนี้ประยงค์สามารถชดเชยให้กับผู้เสียหายเป็นจำนวนเงิน 30,000 บาทแล้ว

อย่างไรก็ตาม ประยงค์ยังได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกให้เปิดบัญชีม้า ที่นอกเหนือจากการหาเงินมาชดเชยให้กับผู้เสียหายอีก คือ บัญชีธนาคารถูกแช่แข็ง จากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้เลย รวมไปถึงการเปิดบัญชีใหม่ก็ไม่สามารถทำได้ ทำให้ สวัสดิการคนพิการของประยงค์ เงินดิจิทัลวอลเล็ต และเงินอื่น ๆ ที่โอนเข้ามาในบัญชีคงค้างอยู่โดยที่ไม่สามารถนำออกมาใช้จ่ายได้เลย

“ผมพูดกับเพื่อนอยู่หลายครั้ง… ขำชีวิตตัวเอง”

ประยงค์ ก้มหน้ารับชะตากรรม

‘ชักชวนเชิงบังคับ’ ข้อผูกมัดที่คนไร้บ้าน…ห้ามปฏิเสธ!

ทั้งหมดนี้จึงเป็นปัญหาที่ยังไร้ทางแก้ และยังมีคนไร้บ้าน รวมถึงกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ อีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับชะตากรรมเดียวกันกับประยงค์ ซึ่ง อ.ปลาทอง เล่าให้ฟังว่า มีหลายคนมาปรึกษาในกรณีเดียวกัน และเกิดปัญหาเหมือน ๆ กัน จากการหลอกลวงให้เปิดบัญชีม้าหลากหลายรูปแบบ โดย อ.ปลาทอง เรียกว่า “การชักชวนเชิงบังคับ”

การชักชวนเชิงบังคับ ไม่ใช่การชักชวนในเชิงที่ทำให้เหยื่อเห็นว่าจะได้รับประโยชน์ เช่น เงิน อย่างกรณีของประยงค์ แต่วิธีการนี้จะเป็นการชักชวนจากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ที่คนไร้บ้านอาศัยอยู่ ซึ่งแม้จะเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่คนเหล่านี้เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแจกบัตรคิวรับข้าว-น้ำ หรือคอยจัดแจงที่อยู่อาศัยให้กับคนไร้บ้านในแต่ละกลุ่ม เมื่อมีคนไร้บ้านปฏิเสธในการเปิดบัญชีกับผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ ก็จะมีการทำร้ายร่างกายให้คนไร้บ้านคนอื่น ๆ เห็นว่าจะต้องเผชิญกับอะไรหากปฏิเสธข้อเสนอนี้

“แม้คนไร้บ้านไม่อยากทำ แต่โดยสภาพก็จำใจที่จะต้องเข้าสู่ขบวนการนี้”

อ.ปลาทอง

นอกจากนี้ยังมี ความเข้าใจเรื่องบัญชีม้า ที่ส่งผลให้คนไร้บ้านตกเป็นเหยื่อได้ง่าย เพราะแม้กระทั่งประชาชนทั่วไปที่สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งทางสื่อหรืออินเทอร์เน็ตก็ยังถูกมิจฉาชีพหลอกลวงเช่นเดียวกัน อ.ปลาทอง จึงชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนไร้บ้านจะตกเป็นเหยื่อจากการไปเปิดบัญชีม้า

“เราไม่ต้องพูดถึงคนไร้บ้านเลยว่าเขาไม่เข้าใจว่าการไปเปิดบัญชีของเขาเพื่อได้เงินมากินข้าว มันจะส่งผลไปสู่การหลอกลวงหรือสร้างความเสียหายให้คนจำนวนมากได้ยังไง เพราะสำหรับเขาหลายคน อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เขาก็คิดแค่ว่าไปเปิดบัญชี ได้เงินมากินข้าว มันก็คงไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร”

อ.ปลาทอง

อ.ปลาทอง – ศิวนุช สร้อยทอง หัวหน้าคลินิกกฎหมาย มูลนิธิกระจกเงา

ถูกหลอก บัญชีถูกแช่แข็ง ถูกละเลย : วงจรความอยุติธรรมของคนไร้บ้าน

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการหลอกให้เปิดบัญชีม้า จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสังคมไทย และควรหันมาสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่าง คนไร้บ้าน ที่ต้องกลายเป็นเหยื่อในขบวนการนี้ จนทำให้พวกเขาต้องกลายเป็น ผู้รับผิดชอบความเสียหาย รวมถึงการถูกแช่แข็งสวัสดิการจากรัฐที่ควรได้รับ ซึ่ง อ.ปลาทอง มองว่า ทางออกยังไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง และต้องช่วยกันหาทางออกอย่างเหมาะสม

“นอกจากลุงประยงค์แล้ว คนอื่น ๆ ที่ไปเกี่ยวข้องกับบัญชีม้าที่ควรได้รับสวัสดิการคนจน สวัสดิการคนสูงอายุ สวัสดิการคนพิการ หรือสวัสดิการเด็ก ก็จะประสบปัญหาเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ต้องหาทางออกในการแก้ไขปัญหาว่า เราจะปล่อยให้ใครซักคนถูกแช่แข็งสวัสดิการทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่เขากระทำความผิดหนึ่งครึ่ง มันเป็นสัดส่วนที่ควรเกิดขึ้นไหม และเราควรแก้ไขปัญหาตรงนี้ยังไง เพราะทันทีที่เราปล่อยใครซักคนไม่มีเงิน แม้กระทั่งยังชีพ มันก็นำไปสู่เหยื่ออาชญากรรมที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นวงจรในอนาคตต่อไป”

อ.ปลาทอง

ตั้งคำถามกระบวนการยุติธรรม สิ่งที่ต้องทำมากกว่าเอา ‘คนเปราะบาง’ ติดคุก ?

อ.ปลาทอง ยังชวนให้คิดถึงขบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้น ซึ่งหากมองเป็นภาพใหญ่จะเห็นว่า การเปิดบัญชีม้าเพื่อนำไปกระทำการใด ๆ ที่ผิดกฎหมายไม่ได้มีเพียงแค่ คนไร้บ้าน ที่ถูกหลอกให้เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิด แต่คนเปราะบางเหล่านี้กลับต้องรับผิดชอบการกระทำความผิดของขบวนการใหญ่ ซึ่งได้เงินไปจำนวนมาก จนไปถึงการฟอกเงินจำนวนหลายพันล้านบาท ขณะที่สวัสดิการและสิทธิ์อื่น ๆ ของคนไร้บ้านเสียไปทั้งหมดเพื่อแลกกับเงินเพียงไม่กี่บาท

ทั้งยังชวนตั้งคำถามถึงการจัดการของกระบวนการยุติธรรม และผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่า..

เราจะได้ประโยชน์อะไรจากการเอาคนเปราะบางมาเข้าคุก ?

นี่เป็นกระบวนการจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพจริงไหม ?

สัดส่วนของการลงโทษควรจะเป็นยังไงบ้าง ?

ควรลงโทษสูงแค่ไหน ? ควรจำคุกเท่าไร ? ควรมีส่วนรับผิดชอบความเสียหายในวงเงินเท่าไร ?

“ตรงนี้ทำให้ทางมูลนิธิกระจกเงาคิดทบทวนเหมือนกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับปัญหาในกระบวนการยุติธรรม สัดส่วนคืออะไร คนไร้บ้านไปเปิดบัญชีจริง เขาได้ค่าตอบแทน 500 บาทต่อบัญชี แต่สิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบมันสูงมาก กลายเป็นว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิดหลักในการหลอกลวงคน”

อ.ปลาทอง

เก็บข้อมูล-หาทางลง-ชีวิตไปต่อได้ : 3 ทางแก้คนไร้บ้านถูกหลอก

สำหรับการแก้ไขปัญหาเห่านี้ อ.ปลาทอง มองว่า ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะ ภาครัฐ ซึ่งจากการให้คำปรึกษากับคนที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ ทั้งผู้เสียหาย และเหยื่อสีเทา ยังไม่รู้ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะต้องเข้าไปคุยกับหน่วยงานไหนเป็นหน่วยงานหลัก เพราะตอนนี้มีผู้เสียหายและเหยื่อตกค้างในกระบวนการชั้นสอบสวนเป็นจำนวนมาก และยังไม่รู้ว่าทิศทางของทางออกจะเป็นอย่างไร

“ไปติดต่อทางตำรวจไซเบอร์ก็มีคิวจำนวนมาก ไปติดต่อธนาคารก็บอกว่าต้องไปคุยกับตำรวจไซเบอร์ ท้ายที่สุดสิ่งที่เขาเจอคือเงินค่าเสียหายที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ บัญชีทุกอย่างก็ถูกแช่แข็งเหมือนที่ลุงประยงค์เจอ”

อ.ปลาทอง

จึงมีแนวทางที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อยู่ 3 ทาง คือ

1. ควรมีมาตรการโดยให้เข้ามาแสดงตัวเพื่อขอปิดบัญชีที่เกี่ยวข้องกับบัญชีม้าทั้งหมด

สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับบัญชีม้าในส่วนของกลุ่มที่มีคดีความไปแล้ว ควรมีมาตรการโดยให้เข้ามาแสดงตัวเพื่อขอปิดบัญชีที่เกี่ยวข้องกับบัญชีม้าทั้งหมด และให้รายละเอียด เพื่อเป็นข้อมูลกลางส่งไปยังตำรวจ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ทราบว่ามีการหลอกลวงให้เปิดบัญชีม้าในพื้นที่ไหนบ้าง และขบวนการที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร

เพราะจากที่ อ.ปลาทอง ได้รับฟังข้อมูลมา ขบวนการนี้ไม่ได้ทำเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แต่มีการเชื่องโยงเป็นเครือข่าย ซึ่งถ้ามีการเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องส่งต่อข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ จะทำให้ส่วนกลางมีคลังข้อมูลที่จะนำไปสู่การป้องกันและปราบปรามในอนาคตได้ แต่งานในส่วนนี้ยังไม่เกิดขึ้น และประชาชนหรือเหยื่อต้องรับผิดชอบตัวเอง

“กลายเป็นว่าประชาชนต้องรู้เอง และการไปปิดบัญชีก็ต้องไปทีละธนาคาร เช่น คุณถูกหลอกให้ไปเปิดหลายบัญชีด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เขาต้องไปทุก ๆ ธนาคารด้วยตัวเอง ซึ่งในความเป็นจริงมันเป็นไปได้ยาก เพราะส่วนใหญ่คนที่ถูกหลอกเป็นคนเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ คนไร้บ้าน หรือเด็กและเยาวชน”

อ.ปลาทอง

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรเป็นศูนย์กลางในการรับข้อมูลจากประชาชน แม้ว่าจะมีข้อมูลที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยทราบอยู่แล้ว แต่ก็น่าจะมีข้อมูลอื่น ๆ ที่ประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือและเป็นข้อมูลที่หน่วยงานยังไม่ทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ในการหามาตรการป้องกันและการสืบสวนสอบสวนคดีต่อไปอีกด้วย

2. นักวิชาการหาแนวทางบังคับใช้กฎหมาย และบทลงโทษ

ในส่วนของกระบวนการดำเนินคดี แน่นอนว่าผู้ที่ไปเปิดบัญชีม้าต้องมีความผิด และไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเหยื่อมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการ แต่จะต้องกลับมาถกกันในเรื่องความเสียหายและการรับผิดชอบ ซึ่งต้องอาศัยแนวคิดเชิงอาชญาวิทยาจากนักวิชาการถึงการบังคับใช้กฎหมายสำหรับลงโทษควรไปในทิศทางใด

ด้านผู้เกี่ยวข้องกับบัญชีที่เป็นขบวนการในกลุ่มผู้ชักจูง หลอกลวง หรือขบวนการใหญ่ที่ฟอกเงิน ก็ต้องดำเนินคดีอย่างเข้มข้น เพราะคนในส่วนนี้มีเจตนาที่ชัดเจน แต่ตอนนี้กลุ่มที่เรายังมองไม่เห็นอย่างเหยื่อที่ถูกหลอก และเป็นส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบเช่นกันก็ต้องมาช่วยกันคิดว่าจะต้องทำอย่างไร

“คือยังไงก็ควรลงโทษ แต่เขาควรถูกลงโทษกี่ครั้ง ถ้ามีคดีที่ 1 จบไปแล้ว ถ้าถูกแจ้งความอีกคดีหนึ่งในบัญชีเดียวกัน เขาต้องเข้าสู่กระบวนการอีกรอบหนึ่งไหม หรือเราควรมีวิธีการแก้ปัญหายังไง อันนี้เป็นการตั้งคำถามที่จำเป็นต้องมีการถกเถียงประเด็นนี้เป็นอย่างมาก”

อ.ปลาทอง

3. มีบัญชีสำหรับการดำรงชีพอย่างน้อย 1 บัญชีที่เปิดโดยธนาคารของรัฐ

อย่างไรก็ตาม แม้เราไม่อาจรู้ว่าทางออกของสองส่วนข้างต้นจะเป็นไปได้หรือไม่ แต่อีกส่วนหนึ่งคือการไปต่อของผู้ที่เป็นเหยื่อหลังจากนี้ โดย อ.ปลาทอง มองว่าต้องมีการจัดการให้เหยื่อสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ นั่นคือ การมีบัญชีสำหรับการดำรงชีพอย่างน้อย 1 บัญชีที่เปิดโดยธนาคารของรัฐ และมีการตรวจสอบที่มาที่ไปของเงินในบัญชีอย่างเข้มงวด เพื่อดูว่าเขาเหล่านี้จะใช้บัญชีไปในทางที่ไม่ผิดพลาด และสามารถรับสวัสดิการของรัฐได้ รวมไปถึงสามารถใช้ชีวิตได้ในความเป็นจริง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการจ้างงานที่อาจเป็นอุปสรรคหากไม่มีบัญชีสำหรับรับเงิน เพราะจากประสบการณ์ของ อ.ปลาทอง บอกว่าส่วนใหญ่นายจ้างหลายคนอาจจะไม่รับทำงานเลยเพราะมีปัญหาเรื่องบัญชี หรืออย่างมากที่สุดคือสร้างกลไกในการจ่ายค่าจ้างเป็นเงินสดเช่นเดียวกันกับมูลนิธิกระจกเงาที่ให้ความช่วยเหลือประยงค์ ทั้งการว่าจ้างและการสร้างกลไกจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินสด แต่ไม่ใช่ทุกที่ที่จะยอมทำเพื่อคนไร้บ้านที่ถูกแช่แข็งบัญชีเหมือนกับที่มูลนิธิกระจกเงาทำ เพราะมีความยุ่งยากในการใช้เงินสดสำหรับดูแลลูกจ้าง

“แม้ว่าจะผ่านการดำเนินคดีต่าง ๆ มาแล้ว แต่ถ้าจะไปสมัครงานใหม่ และไม่มีแม้กระทั่ง 1 บัญชีที่จะรับเงินได้ โอกาสถูกปฏิเสธงานจึงมีสูงมาก และมันจะกลายเป็นวงจรความทับซ้อนที่เรายิ่งผลักคนให้เข้าสู่กระบวนการอาชญากรรมในรูปแบบต่าง ๆ”

อ.ปลาทอง

ดังนั้น 3 ทางออกที่ อ.ปลาทอง เสนอ ทั้งกลไกที่เปิดช่องให้มีการรวบรวมข้อมูลแจ้งเหตุโดยผู้ที่อาจเกี่ยวข้องกับบัญชี, กลไกเรื่องการลงโทษคนที่เกี่ยวข้องกับบัญชีม้าในหลายระดับ และการทำให้เหยื่อได้มีอย่างน้อย 1 บัญชีในการดำรงชีวิตได้จริง ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายอย่างเร่งด่วน เพื่อให้พวกเขามีทางเลือกที่ดีกว่าและไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของขบวนการผิดกฎหมาย

“ปัญหานี้เป็นวาระระดับชาติที่เราต้องมานั่งคิดกัน”

อ.ปลาทอง ทิ้งท้าย

ชมย้อนหลังสารคดี คน จน เมือง ซีซัน 5 ตอน “บ้านหลังคาดาว”