หากพูดถึง คนไร้บ้าน ภาพจำของหลายคน คงเป็นภาพของคนเร่ร่อน นอนอยู่ตามทางเท้า ใต้ร่มไม้ในที่สาธารณะ เดินเตร็ดเตร่หอบหิ้วของพะรุงพะรัง ถูกมองว่าอยู่ไปวัน ๆ โดยไร้งาน ไร้รายได้ แต่อีกมุมหนึ่งของคนไร้บ้าน เราอาจพบอีกหลายคนที่ต้องการสร้างรายได้ และมีอาชีพเป็นของตัวเอง เพื่อหาเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ต่างจากคนอื่น ๆ
The Active เดินทางไปที่ ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู ย่านบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ได้พูดคุยกับอดีตคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ภายในศูนย์ฯ โดยที่แห่งนี้เปรียบได้กับห้องเช่าราคาถูก ที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับคนที่เปลี่ยนผ่านจากคนไร้บ้านมาประกอบอาชีพ นอกจากนี้ยังเป็นบ้านพักพิงให้กับผู้พิการ แม้กระทั่งผู้สูงอายุที่เลือกที่จะอยู่ที่นี่ในบั้นปลายชีวิต

จากมรสุมชีวิต จนมีวันนี้ของ (อดีต)คนไร้บ้าน
คนที่นี่ต่างที่มา ต่างเรื่องราวในชีวิต กว่าที่พวกเขาจะกลับมาฟื้นฟูตัวเอง และมีอาชีพเป็นหลักเป็นแหล่งอีกครั้ง ต่างก็เคยก้าวเข้าสู่ช่วงภาวะการไร้บ้านมาก่อน หนึ่งในนั้น คือ อาทิตย์ อุ่มเพชร วัย 38 ปี ซึ่งถือว่า เป็นผู้ที่อายุน้อยที่สุดในศูนย์ฯ แห่งนี้ ปัจจุบันเขาเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยที่คอนโดฯ แห่งหนึ่งย่านบางขุนนนท์
อาทิตย์ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ชีวิตของเขาก็เหมือนกับคนปกติทั่วไปที่เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วก็หางานทำ แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน ก็ทำให้ชีวิตของเขาเสียหลัก ไม่มีงานทำ และกลายเป็นคนไร้บ้านไปช่วงหนึ่ง
“เรียนจบก็มาหางานทำ ตกงานบ้าง ทำงานบ้าง พอช่วงโควิดมาก็ตกงาน ช่วงนั้นคือชีวิตย่ำแย่เลย”
อาทิตย์ อุ่มเพชร
เขามาอยู่ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้เกือบ 1 ปีแล้ว ซึ่งก่อนมาเจอที่นี่ก็ต้องอาศัยนอนตามใต้สะพานลอย เหตุผลที่เลือกมาอยู่ที่นี่ก็เพราะมีคนที่เคยอาศัยตามท้องถนนเหมือนกันแนะนำมา และก็มีห้องว่างพอดี
ก่อนไปสมัครงานเป็น รปภ. อาทิตย์ เคยทำงานกับ มูลนิธิกระจกเงา แต่เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายการเดินทาง เขาจึงต้องเปลี่ยนงานใหม่ โดยห้องที่เขาเช่าอยู่ที่ศูนย์ฯ ตอนนี้ รวมค่าน้ำ ค่าไฟ แล้วตกเดือนละประมาณ 520 บาท ถึงแม้ขนาดห้องจะไม่ได้ใหญ่มาก แต่ก็พออยู่ได้

เขาบอกว่าสาเหตุที่ทำให้ต้องผันตัวเองกลายเป็นคนไร้บ้าน และเลือกออกมาใช้ชีวิตคนเดียว ก็เพราะไม่อยากเป็นภาระของครอบครัว พอปู่กับย่าเสียครอบครัวก็แยกย้ายกันไป ทำให้บ้านที่เคยอยู่ไม่มีแล้ว และต่างจังหวัดหางานยาก
“ที่บ้านหางานทำยาก ช่วงโควิดพอออกจากงานขนส่งทางเรือกลับไปบ้าน ตอนนั้นเชียงใหม่ก็ล้ม เลยต้องมาหางานที่กรุงเทพฯ ก็ตกงานเหมือนกัน”
อาทิตย์ อุ่มเพชร
หลังจากผ่านมรสุมชีวิต กลายเป็นคนไร้บ้านในช่วงโควิด พอเริ่มฟื้นตัวได้ จนมาได้สมัครเป็น รปภ. ทำให้ชีวิตปัจจุบันเขาพอมีเงินเก็บอยู่บ้าง และมีเงินส่งกลับไปให้ทางบ้านได้ใช้อีกด้วย
อาทิตย์ ถือเป็นสมาชิกศูนย์สุวิทย์ วัดหนู ที่ยังอยู่ในวัยทำงาน เป็นคนหนุ่ม และเข้ามาพักอยู่แค่ปีเดียว แต่ส่วนใหญ่สมาชิกที่นี่ คือ ผู้สูงอายุ หลายคนก็ล่วงเข้าสู่วัย 70 ปี แล้ว ที่สำคัญคือ อาศัยอยู่ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้มาแล้วเกือบ 10 ปี
อย่าง สมร จันทร์ประมูล วัย 72 ปี เขาออกจากบ้านที่ต่างจังหวัด มาใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ ปี 2526 อาศัยวัดเป็นที่ซุกหัวนอน และขอข้าววัดกินประทังชีวิต ในตอนที่เขายังไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ทุกเช้าก็ต้องไปหาเงินด้วยการหารับของแจกตามงานต่าง ๆ เพื่อนำมาขาย
“ตอนนั้นไปอยู่ตรงเสาชิงช้า พอฝนตกก็ต้องไปหลบในวัด ตามศาลารถเมล์ ฝนตกมันนอนไม่ได้ แต่ตอนนี้มีที่อยู่แล้ว”
สมร จันทร์ประมูล
หลังจากอาศัยนอนหน้าวัด และไร้บ้านมาหลายปี สมร จึงเข้ามาอยู่ที่ศูนย์สุวิทย์ วัดหนู จากคำแนะนำของเพื่อนคนไร้บ้าน ตั้งแต่ ปี 2559 ด้วยการเช่าห้อง เดือนละประมาณ 500 บาท ปัจจุบันในวัย 72 ปี เขา มีอาชีพเป็นของตัวเองด้วยการขายเครื่องดื่ม และยาสามัญประจำบ้าน โดยเข็นรถออกไปขายที่ตลาดบางกอกน้อย ตั้งแต่ตี 3 จนถึงช่วงสายก็กลับเข้ามาที่พัก ซึ่งก็สร้างรายได้ให้กับเขาในทุก ๆ วัน

สมร ยอมรับว่า ถ้ายังอาศัยอยู่ที่นี่ได้ ก็คงจะอยู่ไปเรื่อย ๆ เพราะหากให้กลับบ้านที่ต่างจังหวัดก็คงไม่มีอะไรทำ ส่วนลูก ๆ ก็แยกย้ายกันไปมีครอบครัวของตัวเอง ซึ่งก็ยังติดต่อกันทางโทรศัพท์อยู่บ้าง
ไม่เพียงแค่ อาทิตย์ และ สมร เท่านั้นแต่ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ ยังมีอีกหลายชีวิตที่เปลี่ยนผ่านจากคนไร้บ้าน มาเป็นคนที่มีศักยภาพและมีอาชีพเป็นของตัวเอง ทั้งการทำงานเป็นแม่บ้าน รับจ้าง ขายพวงมาลัย และยังมีอีกหลายคนที่สู้ชีวิต พยายามตั้งหลักใหม่ด้วยการอาศัยศูนย์ฯ เป็นที่พักราคาถูก พักพิงหลังผ่านมรสุมชีวิต…
ทำงานที่ตั้งใจ สู่ โอกาส…ตั้งหลักชีวิต ตั้งตัวใหม่
เช่นเดียวกับ ไฉน กลัดมี วัย 68 ปี ที่เปลี่ยนผ่านจากคนไร้บ้าน จากเคยนอนข้างถนน กลายเป็นหนึ่งในคนทำงานกับมูลนิธิกระจกเงาในตำแหน่งคัดแยกทั่วไปเป็นเวลา 2 เดือนแล้ว
ก่อนหน้านี้ เขา อาศัยนอนบริเวณสนามหลวงมาหลายปี และหารายได้ด้วยการรับจ้างรับพระงานวัดมาขายต่อ บางครั้งก็หารับจ้างทั่วไปเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพไปแต่ละวัน แต่ในช่วงโควิด ยิ่งทำให้เขาต้องตกอยู่ในสภาวะคนไร้บ้านอย่างสมบูรณ์ เพราะหางานทำไม่ได้เลย
“ถ้าเกิดว่าลุงหางานได้ก็จะไปหาทำงาน เราจะได้ไม่ต้องไปแย่งเขา เราไม่ต้องทำความผิด ก็รับจ้างไป พอได้กิน ได้อยู่”
ไฉน กลัดมี
แต่ตอนนี้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไป หลังจากเพื่อนที่เคยเป็นคนไร้บ้านด้วยกัน แนะนำให้มาทำงานที่มูลนิธิกระจกเงา เพื่อนบอกว่า “เขาทำงาน แล้วเขามีบ้านเช่า” ซึ่งตอนนี้ ไฉน ก็มีบ้านเช่าเป็นของตัวเองแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการตั้งต้นทั้งอาชีพใหม่ และที่อยู่ใหม่

“งานแบบนี้ เขาเรียกว่างานไม่หนักนะ แต่เราต้องมีความรับผิดชอบ”
นั่นคือสิ่งที่ ไฉน สะท้อนถึงความตั้งใจในงานที่เขาทำ “เราต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ” หน้าที่คือการคัดแยกสิ่งของที่มูลนิธิกระจกเงาได้รับมา แล้วนำมาทำความสะอาด จัดของตามประเภท และช่วยงานต่าง ๆ ที่ร้านขายมือสองของมูลนิธิกระจกเงา
“ถ้าเรามีงานดี มีเงินใช้เราไม่ต้องคิดมาก” เขา บอกว่า การที่ได้มาทำงานที่นี่ก็เหมือนเป็นการดึงตัวเองออกมาจากสังคมที่สุ่มเสี่ยงกับอบายมุขต่าง ๆ ทั้งการถูกหลอกลวงให้ไปทำความผิด เพราะพื้นที่ของคนไร้บ้านมีความอันตรายหลายอย่าง ชีวิตตอนนี้จึงเปลี่ยนไปเยอะ จากที่ไม่มีเงิน กลายเป็นคนมีรายได้ ที่พอจะใช้ชีวิตอยู่ได้ เพราะในวันข้างหน้าหากเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะได้มีเงินบางส่วนเอาไว้ดูแลตัวเอง
“ก็อยากจะชวนเพื่อน ๆ ที่คิดในทางที่ไม่ดี ให้กลับใจ และมาหางานทำ ไม่ว่าจะทำที่ไหนก็แล้วแต่ ขอให้เป็นงานที่บริสุทธิ์”
ไฉน กลัดมี
‘พึ่งพาตัวเอง’ ชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างน่าภาคภูมิใจ
อดีตคนไร้บ้านย่านสนามหลวงอีกคน คือ เชิง เฉยเฟื่อง วัย 61 ปี เขาก็ทำงานอยู่กับมูลนิธิกระจกเงาในตำแหน่งคัดแยกเสื้อผ้า มาได้ครึ่งปีแล้ว จากเมื่อก่อนที่เคยอยู่ในสภาวะคนไร้บ้านแบบเข้า ๆ ออก ๆ เป็นเวลา 10 ปีที่ต้องนอนข้างถนน ตอนนี้เขากลับมามีอาชีพอีกครั้ง
“ตอนนั้นฝนตก ฟ้าร้อง ก็ต้องนอนอยู่นั้น ไม่ได้ทำอะไร ก็ต้องไปรับข้าวแจก”
เชิง เฉยเฟื่อง
มูลนิธิกระจกเงา มีบริการ สดชื่นสถาน ที่ตั้งอยู่บริเวณโซนราชดำเนิน ให้บริการการซักผ้าอบผ้า เขาจึงได้มาขอสมัครงาน จากนั้นก็เลยได้เข้าระบบการเปลี่ยนผ่านของมูลนิธิฯ ตั้งแต่นั้นมา เชิง บอกว่า ที่ต้องเริ่มทำงานก็เพราะคิดว่าใช้ชีวิตอยู่อย่างนั้นก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ไม่มีรายได้ ตัวคนเดียวก็ไม่รู้จะไปไหน กลับบ้านก็ไม่มีอะไรทำแล้ว การเลือกมาอยู่ที่นี่น่าจะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น
สำหรับโปรแกรมเปลี่ยนผ่านคนไร้บ้านของมูลนิธิกระจกเงา จะดูว่า เมื่อทำงานประมาณ 2 เดือน มีความสม่ำเสมอ ความตั้งใจทำงาน ความตรงต่อเวลามากน้อยแค่ไหน ถ้าประเมินแล้วว่า ผ่าน ก็จะมีการเรียกคุย ในเรื่องที่อยู่อาศัย คือ มีทั้งแบบให้หาเองตามอิสระ หรือสำหรับคนที่ไม่รู้บริบทแถวที่ทำงานทางมูลนิธิฯ ก็จะช่วยหาให้
แต่สำหรับเขาแล้ว สามารถหาห้องพักเองได้โดยเก็บเงินจากการทำงานเพียง 2 สัปดาห์เพราะรู้สึกว่าฝนตกหนัก แล้วอยู่ไม่ไหว

“เพื่อนก็พูดล้อเล่นว่าไม่ไปรับข้าวที่สนามหลวงเหรอ ก็บอกว่าไม่ไปแล้วเลิกงาน อยากจะกลับเข้าห้องแล้ว”
เชิง เฉยเฟื่อง
สิ่งนี้สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากการต้องรอรับข้าวแจก กลายเป็นคนที่ช่วยเหลือ พึ่งพาตัวเองได้ ด้วยการทำงาน และมีรายได้ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจต่อตัวเอง
“เราอายุเท่านี้แล้ว มันทำงานที่ไหนไม่ได้แล้ว ก็ลองดู เขาอยู่ได้ เราก็ต้องอยู่ได้”
เชิง เฉยเฟื่อง
เชิง ยอมรับว่า รู้สึกสนุกที่ได้อยู่กับเพื่อน ๆ หลายคนช่วยกันทำงาน เหนื่อยจากงาน ก็แค่พักก็หายเหนื่อย… สิ่งนี้สร้างความภูมิใจให้กับ (อดีต) คนไร้บ้านหลายคน ที่สามารถตั้งหลักชีวิตใหม่ให้ตัวเองได้อีกครั้ง และเชื่อว่า ตัวเองยังมีศักยภาพมากพอที่จะทำงาน
เรื่องราวของพวกเขาเหล่านี้อาจช่วยสร้างภาพจำของ (อดีต) คนไร้บ้านในรูปแบบใหม่ และเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ได้เปลี่ยนผ่านข้ามสภาวะการเป็นคนไร้บ้านมาได้แล้ว และไม่อยากกลับไปสู่สภาพเดิมที่จากมา ทั้งหมดนี้ขอเพียงแค่โอกาสที่ทุกคนพร้อมมอบให้พวกเขา



ชมย้อนหลังสารคดี คน จน เมือง ซีซัน 5 ตอน “บ้านหลังคาดาว”