มองลึกปัญหา “คนจนเมือง” สู่ “นวัตกรรมแก้จน”

ชีวิตคนเราทุกคนล้วนมีความเปราะบาง ไม่ใช่แค่เพียงแต่กลุ่มคนยากไร้เท่านั้นที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก แต่ไม่ว่าใคร หากต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน อย่างวิกฤตเศรษฐกิจ โรคระบาด หรือภัยพิบัติ ก็อาจตกลงสู่วงจรความยากจนได้เช่นเดียวกัน

Policy WatchThe Active ไทยพีบีเอส จัดงาน “เส้นทางความเหลื่อมล้ำ” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อชวนประชาชนที่สนใจและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน มาร่วมชมนิทรรศการ ซึมซับเรื่องราว และ รับรู้ข้อค้นพบ ตลอดระยะเวลา 5 ปีของการทำงานในประเด็น “คนจนเมือง” เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น และระดมความคิด ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความจนลงไปให้ลึกถึงระดับโครงสร้าง

อ่านเพิ่ม : รื้อกับดักความไม่มั่นคงที่อยู่อาศัย ‘คนจนเมือง’

โดยในวันที่สามของงาน มีหนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจคือ Mini Forum : Talk & Action นวัตกรรมแก้จน” ที่ได้ชวนผู้ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม อย่างมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม, มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม, นักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และภาคธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ปั้นเมือง จำกัด, บริษัท โนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด, บริษัท อินโนเวชั่น จำกัด และ บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาร่วมพูดคุยกันแบบเจาะลึก เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ ปัญหา และร่วมกันออกแบบนวัตกรรมแก้จน ที่จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการแก้ปัญหาเสริมจากที่หน่วยงานรัฐทำอยู่

ความจนข้ามรุ่น การลงทุนกับเด็กคือรากฐานของการมีชีวิตที่ดีขึ้น

“วิกฤตตอนนี้คือ คนที่มีลูกกว่า 50% คือ ‘คนจน’ หรือ ‘คนที่ไม่พร้อม’ ส่วนคนที่พร้อมกลับไม่ค่อยมีลูก การแก้จนจึงเป็นปัญหาซับซ้อน”

ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม

ปัญหาความยากจนไม่ได้หยุดอยู่แค่รุ่นใดรุ่นหนึ่ง แต่คือวงจรที่ส่งผลกระทบถึงเด็ก เมื่อพ่อแม่เป็นหนี้ และขาดโอกาสทางการศึกษา ลูกก็ย่อมเผชิญกับความท้าทายและข้อจำกัดในทุกมิติของชีวิต บางคนต้องเข้าไปพัวพันกับคดียาเสพติด เพียงเพราะเป็นผู้เยาว์อาจได้รับโทษน้อยกว่าจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการส่งยา หรือบางครอบครัวพ่อแม่ประกอบอาชีพเก็บขยะ ลูกก็ต้องเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย และในวิกฤตโควิด-19 พ่อแม่บางคนตัดสินใจจบชีวิตลง ทำให้เด็กๆ ต้องรับรู้และแบกรับบาดแผลทางใจตั้งแต่ยังเล็ก

“หัวใจของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงควรให้ความสำคัญกับเด็ก เพราะถ้าเด็กไม่ถูกทอดทิ้ง ได้รับการดูแลที่ดี พวกเขาจะมีรากฐานที่แข็งแกร่งพอที่จะก้าวออกจากความยากจนและสร้างอนาคตที่ดีให้กับตัวเองได้”

ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม

ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม

คนจนต้นทุนสูง วังวนเป็นหนี้ซ้ำฉุดรั้งชีวิตการทำงาน

20% ของแรงงานไทยกำลังเผชิญกับปัญหา “หนี้นอกระบบ” ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นคนรายได้น้อยที่ถูกผลักเข้าสู่วังวนนี้ ด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว และการขาดโอกาสหรือทางเลือกที่จะมีรายได้ที่ดี ทำให้รายรับที่หามาแทบจะไม่พอใช้ บวกกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น การชำระหนี้จึงแทบไม่ถึงเงินต้น ยิ่งเมื่อชีวิตต้องเผชิญกับความเปราะบางไม่คาดฝัน จึงกลายเป็นติดหนี้ซ้ำซากอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

“หนี้ของพนักงาน ไม่ใช่แค่ปัญหาส่วนตัว แต่เป็นปัญหาใหญ่ขององค์กร เพราะไม่เพียงแต่พนักงานจะไม่มีความสุข แน่นอนว่ากระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานด้วย และในวันที่หลายคนมีความสุข อย่างวันเงินเดือนออก กลับกลายเป็นวันที่บางคนไม่กล้ากลับบ้าน เพราะมีเจ้าหนี้รออยู่หน้าออฟฟิศ หรือบางคนต้องลางานเพื่อหนี”

อัมพวัน กะการดี หัวหน้าแผนก ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์และธุรการ บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน)

อัมพวัน กะการดี หัวหน้าแผนก ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์และธุรการ บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน)

สถานการณ์เช่นนี้ ภูมิ วิสิฐนรภัทร ผู้ร่วมก่อตั้ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ โนบูโร มองว่า “นายจ้าง” จะเป็นคนสำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มคนทำงานเหล่านี้หลุดออกจากหนี้นอกระบบ หรืออาจไปจนถึงการปลดหนี้ได้ ขณะเดียวกันก็ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันแรงงานชนชั้นกลางเสี่ยงจนได้เช่นเดียวกัน ผ่านแนวคิด “3 ใจแก้หนี้” ได้แก่

1. เปิดใจ : นายจ้างต้องรับฟังและพูดคุยกับพนักงาน เพื่อให้พนักงานเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ จนกล้าที่จะพูดอย่างเปิดใจถึงปัญหาทางการเงินที่ตัวเองเผชิญ โดยองค์กรอาจทำแคมเปญจิตอาสา “พี่เลี้ยงแก้หนี้” ให้เป็นผู้ช่วยให้ความรู้ ให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการเงิน

2. เข้าใจ : นายจ้างควรผลักดันให้เกิด “การตรวจสุขภาพการเงิน” รายปี และทำความเข้าใจกับปัญหาและความต้องการของพนักงาน เพื่อนำไปสู่การออกแบบหรือการวางแผนปลดหนี้ให้กับพนักงานได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะถือเป็นกำไรของบริษัทด้วยจากประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้นของของเขา

3. ตั้งใจ : นายจ้างควรเสริมสร้างความตั้งใจให้กับพนักงาน ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ว่าการปลดหนี้ต้องใช้เวลา ไม่ใช่แค่ 1-2 สัปดาห์ และอาจจัดทำแคมเปญการออมที่น่าสนใจ เช่น หวยบริษัทซึ่งพนักงานสามารถซื้อเลขกับองค์กรได้ และหากเลขที่ได้ตรงกับผลสลากกินแบ่งรัฐบาลในงวดนั้น จะได้รับเงินรางวัลเพิ่ม โดยเงินทั้งหมดจะถูกรวบรวมไว้เป็นเหมือนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเมื่อครบปีทุกคนจะได้รับรางวัลให้เพิ่มอีก เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ออมเงินได้ในระยะยาว

ภูมิ วิสิฐนรภัทร ผู้ร่วมก่อตั้ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ โนบูโร

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องทำให้ทุกคนเข้าถึงการทำงาน ลดความเหลื่อมล้ำจากการถูกเลือกปฏิบัติ และขจัดปัญหามิจฉาชีพ เพื่อป้องกันไม้ให้คนทำงานมีหนี้เสียเพิ่มเติม ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็ควรมี “หมอหนี้” ให้ประชาชนเข้าปรึกษา และไม่ควรสนับสนุนการปล่อยกู้ที่เกินกำลังในการจะชำระคืนของลูกหนี้

“ความสุขของพนักงานคือกำไรของสังคม เพราะถ้าพนักงานปลดหนี้ได้ นายจ้างก็แฮปปี้ สถานบันการเงินก็แฮปปี้ และยังลดภาระของรัฐด้วย”

อัมพวัน กะการดี หัวหน้าแผนก ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์และธุรการ บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน)

กำแพงภาษาอุปสรรคที่ขวางกั้นคุณภาพชีวิตแรงงานต่างชาติ

“แรงงานต่างชาติ” เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พวกเขาเข้ามาเป็นส่วนเติมเต็มในงานที่คนไทยไม่นิยมทำ แต่กลับไม่ได้รับการดูแลที่ดีเท่าที่ควร

ไลลา ตาเฮ บริษัท ปั้นเมือง จำกัด เล่าให้ฟังว่า แรงงานกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่บีบรัดและทำให้พวกเขายากจนอย่างต่อเนื่อง การใช้ชีวิตในแต่ละวันเต็มไปด้วยความเปราะบาง

ตั้งแต่การจ้างงานที่ถูกผูกมัดด้วย “สัญญาใจ” แทน “สัญญาจ้าง” พวกเขาจึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ต้องทำงานหาค่าจ้างรายวัน และหากจะลา ถ้านายจ้างไม่ยินยอม ก็อาจไม่ได้ค่าแรง พวกเขาจึงแทบจะไม่กล้าลา

ส่วนประกันสุขภาพ แม้จะมีบัตรแต่พวกเขากลับไม่มีใครบอกให้รับรู้ถึงสิทธิประโยชน์ และกำแพงทางภาษาทำให้พวกเขาต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่มากกว่าคนทั่วไป เพราะต้องพึ่งพาร้านขายยาเอกชนที่มีล่าม นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทุกครั้งที่ป่วยพวกเขาจึงเลือกที่จะซื้อยากินเอง ซึ่งบ่อยครั้งก็กินผิดกินถูก ทำให้การรักษาไม่ได้ผลและแย่สุดคือป่วยเรื้อรัง

นอกจากรายได้ที่แทบจะไม่พอเก็บ พวกเขายังต้องแบกค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ “การต่อใบอนุญาตทำงาน” ซึ่งต้องทำทุก 2 ปี รวมถึงค่าเช่าบ้าน ยิ่งบีบคั้นให้ชีวิตแทบจะติดลบ และชีวิตประจำวันต้องถูกจำกัดอยู่ในซอกหลืบเมืองที่คับแคบและแออัดอย่างไม่มีทางเลือก เพราะราคาถูก

ด้วยพื้นที่สาธารณะที่ไม่มีให้เห็นรอบห้องพัก ความเครียดที่สะสมจึงมักถูกระบายออกด้วยแอลกอฮอล์หลังเลิกงาน จนหลายคนกลายเป็นคนติดสุราเรื้อรัง ซ้ำเติมวังวนของความเจ็บป่วย ขาดเงินรักษา เป็นหนี้ซ้ำ และจบลงที่ความยากจน

ยิ่งไปกว่านั้นในภาวะวิกฤตแรงงานกลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มสุดท้ายที่เข้าถึงการดูแล อย่างโควิด-19 พวกเขาก็เป็นกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับวัคซีน หรือแม้แต่เหตุการณ์ไฟไหม้ที่ตรอกโพธิ์ เจ้าของแฟลตห้องเล็กบางรายก็ตัดสินใจให้กลุ่มแรงงานเหล่านี้ย้ายออกในทันทีหลังเห็นข่าว ด้วยความหวาดกลัวว่าจะเกิดชะตากรรมซ้ำรอย ทำให้ชีวิตที่เปราะบางอยู่แล้วยิ่งไร้หลักประกัน

“แรงงานต่างชาติเขาอยากพูดภาษาไทยได้ เพราะเขาเชื่อว่าถ้าเขาพูดได้ เขาจะมีตำแหน่งและเงินเดือนที่สูงขึ้น”

นี่คือเสียงสะท้อนจากผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ถูกมองข้ามและติดอยู่หลังกำแพงที่ชื่อว่า “ความเหลื่อมล้ำ” ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องยื่นมือเข้ามาช่วยทลายกำแพงเหล่านี้ เพราะพวกเขาคือฟันเฟืองที่จะเติมเต็มทำให้ประเทศเดินหน้าได้

ไลลา ตาเฮ บริษัท ปั้นเมือง จำกัด

“เราปันกัน” โมเดลเพิ่มคุณภาพชีวิตคนให้เท่าเทียม หยุดวงจรป่วย-เป็นหนี้-ยากจน

โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า เป็นเหมือนทุกโรงพยาบาลที่ไม่ว่าจะใคร มีฐานะแบบไหน ก็สามารถเข้ามารับการรักษาได้ เพียงแต่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นปัญหาไม่ใช่การรักษาแต่คือการฟื้นฟูที่บ้าน

โดย พันโทพันธุ์พิสิฐ ม่วงประเสริฐ หัวหน้าแผนกสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า เล่าให้ฟังว่า คนรายได้น้อยส่วนใหญ่ แม้จะได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้น แต่กลับต้องเผชิญกับทางตันอีกครั้งเมื่อออกจากโรงพยาบาล เพราะไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นสำหรับการดูแลตัวเองที่บ้าน หลายคนจึงขออยู่โรงพยาบาลต่อ

ปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างความเครียดและภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลให้กับครอบครัว แต่ยังทำให้เตียงผู้ป่วยหมุนเวียนได้ไม่เพียงพอ และตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ

โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า จึงตั้งใจทำ “โครงการเราปันกัน” ขึ้นในเดือนเมษายน 2567 เพื่อให้ผู้ป่วยยากไร้ยืมอุปกรณ์ที่จำเป็น ช่วยให้พวกเขากลับบ้านได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จากจุดเริ่มต้นที่มีอุปกรณ์เพียงน้อยนิด “เราปันกัน” ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อจัดหาอุปกรณ์ให้เพียงพอกับความต้องการ จนปัจจุบันสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้แล้วร้อยกว่าคน

“ปัจจุบันโครงการ ‘เราปันกัน’ ช่วยเหลือผู้ป่วยแล้วกว่า 145 ราย ด้วยอุปกรณ์หมุนเวียน 253 รายการ หากคิดเป็นเงินหมุนเวียนก็มูลค่ากว่าล้านบาท”

พันโทพันธุ์พิสิฐ ม่วงประเสริฐ หัวหน้าแผนกสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

ความพร้อมด้านอุปกรณ์ทำให้โรงพยาบาลสามารถประชาสัมพันธ์โครงการได้อย่างเต็มที่ ผู้ป่วยจึงเข้าถึงบริการได้มากขึ้น และมีผู้ใจบุญเข้ามาบริจาคเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

โครงการนี้ไม่เพียงแต่เป็นการให้ยืมอุปกรณ์ ยังช่วยให้เครื่องพร้อมใช้ตลอดเวลา ลดอัตราการครองเตียงโดยไม่จำเป็น และลดภาระงานบุคลากรทางการแพทย์

อย่างไรก็ตามยอมรับว่า เมื่อให้ยืม ก็มีบ้างที่ไม่คืน โรงพยาบาลพระมงกุฏจึงตั้งกลุ่มไลน์ เพื่อติดตามอุปกรณ์ หากพบว่าไม่ได้ใช้แล้วจะนำกลับมาหมุนเวียน

“‘เราปันกัน’ แม้จะประสบความสำเร็จ แต่ยังต้องการการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงการขยับขยายให้เกิดโครงการดี ๆ เช่นนี้ขึ้นอีกในวงกว้าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยอีกหลายคน และลดความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุข”

พันโทพันธุ์พิสิฐ ม่วงประเสริฐ หัวหน้าแผนกสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

พันโทพันธุ์พิสิฐ ม่วงประเสริฐ หัวหน้าแผนกสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

จากบทเรียนสู่ “นวัตกรรมแก้จน”

ปัจจุบันคนไทยกว่า 7 ล้านคนอยู่ในภาวะความยากจน และอีก 24 ล้านคนกำลังเสี่ยงจน สถานการณ์ความยากจนในประเทศจึงอาจใกล้ตัวมากกว่าที่คิด และซับซ้อนเกินกว่านโยบายที่มีจะตามทัน

วงเสวนาจึงมองว่าสิ่งแรกที่ทุกภาคส่วนควรจะช่วยกันสร้างคือ “ฐานข้อมูลของคนจนเมือง” ที่ต้องตอบให้ได้ว่า มีกี่กลุ่ม และแต่ละกลุ่มเผชิญปัญหาความท้าทายอะไร ต้องการให้ช่วยเหลืออย่างไร และใครควรที่จะเป็นเจ้าภาพ หรือควรมีหน่วยงานไหนเข้าช่วยเหลือ เพราะนี่คือแนวทางสำคัญที่จะทำให้ทุกภาคส่วนจัดการ “ความจน” ได้อย่างตรงจุด

“วัยเด็ก” คือช่วงเวลาทองในการปลูกฝังความรู้และทักษะในการแก้จนและป้องกันการเป็นหนี้ซ้ำ ดังนั้นการขยายให้มี “ศูนย์เลี้ยงดูเด็ก” ทุกชุมชนจึงจำเป็น เพราะไม่เพียงแต่ช่วยสอนให้เด็กสามารถเติบโตได้อย่างดี ยังช่วยให้พ่อแม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เพียงแต่ในปัจจุบันยังมี “พี่เลี้ยง” ไม่มาก การดึงผู้สูงอายุเข้ามาช่วยและขยายระยะเวลาการเปิดปิดให้ครอบคลุมพ่อแม่ที่เลิกงานดึก จะช่วยคลายเหงาให้กับผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันเด็กก็มีคนสอน

นอกจากนี้ยังควรมี “กองทุนสำรอง” เพื่อสวัสดิการเด็กระดับชุมชน เพราะกองทุนนี้จะช่วยเป็นเงินหมุนเวียนให้ผู้ปกครองไม่ต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะในช่วงเปิดเทอม แม้รัฐจะมีเงินสนับสนุนค่าชุดนักเรียนให้ แต่กว่าจะเบิกได้ต้องรอถึงเทอม 2 ทำให้หลายครอบครัวต้องตกเป็นหนี้เพราะไม่มีเงินสำรองจ่ายส่วนนี้ จึงต้องกู้ยืม ยอมจ่ายดอกเบี้ยแพง เพื่อให้ลูกมีชุดนักเรียนใส่ได้ทันเวลา

เมื่อก้าวสู่ชีวิตการทำงาน สุขภาวะทางการเงิน (Financial Well-being) เป็นรอยต่อสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ซ้ำซาก โดย “นายจ้าง” คือ Game Changer ที่จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินของพนักงานในองค์กร ตัวอย่างเช่น การจัดทำโครงการกู้เงินฉุกเฉิน เพื่อช่วยพนักงานลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ หรือทำหวยบริษัทสนับสนุนการออม เพื่ออนาคตที่มั่นคงให้กับพวกเขาไปจนถึงบั้นปลายชีวิต

ท้ายที่สุดหากต้องการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน รัฐบาลต้องส่งเสริมการ “ออกแบบมาตรการใหม่” โดยใช้ กลไกภาษีจูงใจให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดโครงการที่หลากหลาย ตอบโจทย์ปัญหาคนจนเมืองทุกกลุ่ม ขณะเดียวกันก็ช่วยลดอคติของสังคมที่มีต่อคนรายได้น้อย ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมืองให้เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธิติยา จารุไพบูลย์พันธ์

ผู้ชื่นชอบในการเขียนที่หวังว่า คนธรรมดาจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้