สังคมไทยไปต่ออย่างไร? หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

  • คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการกระทำของ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จากการชุมนุมเมื่อ 10 สิงหาคม 2563 เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 และ สั่งให้ผู้ถูกร้อง กลุ่มองค์กรและเครือข่าย เลิกกระทำการดังกล่าวที่เกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 2
  • คำวินิจฉัยด้วยมติ 8 ต่อ 1อาจส่งผลต่อเนื่องมากกว่าแค่แกนนำ 3 คน ที่ศาลสั่งให้ยุติการกระทำ เพราะนอกจากจะเห็นปรากฏการณ์เดินหน้า ตามจุดยืนของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งจากผู้ร้องอย่าง ณฐพร โตประยูร ที่เตรียมจะใช้คำวินิจฉัยยื่นยุบพรรคก้าวไกล รวมถึงกระแสตอบกลับของเครือข่ายและองค์กรที่ให้การสนับสนุนการชุมนุม
  • หลังคำวินิจฉัย รุ้ง ปนัสยา หนึ่งในผู้ถูกร้อง และเป็นผู้ถูกร้องเพียงคนเดียวที่ไม่ได้อยู่ระหว่างการถูกคุมขัง ออกแถลงการณ์ เคารพในคำวินิจฉัย แต่ยังคงย้ำจุดยืน ปฏิรูป ไม่ใช่ล้มล้าง และยืนยันจะเคลื่อนไหวต่อ พร้อมข้อสังเกตว่า คำวินิจฉัยที่ออกมาบางประเด็นอยู่นอกเหนือคำร้องหรือไม่ นอกจากนี้ เฟซบุ๊กของ อานนท์ และภาณุพงศ์ ก็มีความเคลื่อนไหวที่อ้างว่าถูกถ่ายทอดออกมาจากเรือนจำ เพื่อแสดงความเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วย

The Active สนทนากับตัวแทนทางกฎหมายของแกนนำกลุ่มราษฎรและผู้ถูกร้อง และนักรัฐศาสตร์ที่ช่วยมองทิศทางการเมืองไทย หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ


คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะตอบโจทย์ทางกฎหมาย แต่ไม่ตอบโจทย์ทางการเมือง

รศ.ยุทธพร อิสรชัย

รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า หลังจากนี้ยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมือง ว่าจะมีพฤติการณ์ที่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะหากมีลักษณะคล้ายกันคงทำไม่ได้ เพราะคำวินิจฉัยเขียนถึงการเลิกกระทำให้ไปสู่อนาคตด้วย

ซึ่งประเด็นนี้ ข้อถกเถียงจากฝ่ายผู้ถูกร้อง คือ การที่ศาลมีคำวินิจฉัยไปสู่อนาคต ยังเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะในรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการวินิจฉัยคดีนี้ บอกไว้ในเรื่องการล้มล้างการปกครอง มีลักษณะของการกระทำที่เกิดขึ้นก่อน ซึ่งจะเป็นข้อถกเถียงทางกฎหมายและทางวิชาการต่อไป อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ศาลฯ หยิบเอาหลักข้อบังคับตาม มาตรา 74 ของกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ในคำพิพากษาบางส่วน ทำให้การเขียนส่งผลไปถึงอนาคตด้วย

ดังนั้น ประเด็นนี้แม้จะมีผลหรือไม่ ก็เป็นการตีกรอบการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังจากนี้ ว่าอาจจะมีบางประเด็นที่จำกัดการแสดงออก และการเคลื่อนไหวในบางประเด็น

นอกจากนี้ นักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ อธิบายตรงกันว่า คดีทางรัฐธรรมนูญเป็นเพียงแค่การสั่ง หรือบังคับให้รัฐ หรือบุคคลยกเลิกการกระทำ แต่ไม่มีบทลงโทษ เว้นแต่ว่าจะมีการหยิบคำวินิจฉัยไปอ้างอิงในการดำเนินคดี ประเด็นนี้เป็นสิทธิสามารถทำได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลฯ ว่าจะใช้อ้างอิงหรือไม่

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปิดประตูม็อบ และ ม.112 ?

คำถามถัดมา คือ คำวินิจฉัยนี้จะนำมาสู่การปิดกั้นการแสดงออกของกลุ่มผู้ชุมนุม (ม็อบ) พรรคการเมือง และการผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นับจากนี้หรือไม่ ในมุมมองนักกฎหมายอย่าง เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง ที่เปิดเผยผ่านสำนักข่าว The Standard ว่า การชุมนุมมีผู้คนมากมาย จะนับรวมเป็นการกระทำ หรือเจตจำนงเดียวกับแกนนำทั้งหมดไม่ได้ แต่เมื่อศาลพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ก็จะกลายเป็น ฐานของการห้ามกระทำ และ ฐานการลงโทษอื่น ๆ ต่อไปได้ ซึ่งประเด็นนี้ศาลต้องดูผู้ถูกร้องเป็นหลัก ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่เป็นเหมือนผู้ไกล่เกลี่ยคนสุดท้ายเมื่อมีข้อพิพาทในสังคม เพราะฉะนั้น คดีต่าง ๆ ที่ขึ้นสู่ศาลฯ ไม่ใช่คดีของคน 2 คน ของผู้ร้อง กับผู้ถูกร้อง ในหลาย ๆ คดี เป็นคดีที่มีผลทางการเมืองอย่างยิ่ง เป็นคดีที่จำลองเอาความขัดแย้งทั้งหมดในสังคม แทนการสู้ในถนน โยนเข้าไปในการพิจารณา

“หาก ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งถูกปิดตาย เครดิตของศาลก็น้อยลง เพราะแม้จะมีผลในทางกฎหมาย แต่ไม่มีผลต่อความคิดคนในสังคม”

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

ด้าน รศ.ยุทธพร อิสรชัย มองประเด็นนี้ว่า สังคมไทยเกิดการแบ่งขั้วทางการเมืองเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และเห็นได้ชัดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย แต่สิ่งที่ทำให้การแบ่งขั้วมีปัญหา คือ การปิดกั้นเสรีภาพ และไม่ยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่างกัน จะนำมาสู่ความขัดแย้ง และอาจนำมาสู่วาทะกรรมความเกลียดชัง Hate Speech ความรุนแรง ฯลฯ ปัจจัยถัดมา คือ การปิดกั้น กดทับการแสดงออก ท้ายที่สุดจะทำให้การแบ่งขั้วทางการเมืองกลายเป็นปัญหาต่อประชาธิปไตย

หากมี 2 ปัจจัยนี้ เข้ามาก็อาจจะทำให้กลายเป็นปัญหาของสังคมที่แบ่งขั้วทางการเมือง โดยเฉพาะการนำ ม.112 เข้าสภา รัฐสภา และพรรคการเมือง ก็จะมีคำถามเกิดขึ้นว่าผิดหรือไม่ จะถูกยุบพรรคหรือไม่

สำหรับการพิจารณากฎหมายของสภาฯ รศ.ยุทธพร มองว่าฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจที่จะทำได้ เพียงแต่ว่าการพิจารณาดังกล่าวยังมีข้อถกแถลงเกิดขึ้นจากที่ประชุมสภาฯ และในสังคมภายนอก จึงอาจต้องดูว่าเข้าข่ายการวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้น ประเด็นเหล่านี้อาจจะทำให้พื้นที่การพูดคุยแคบลง สุดท้ายอาจจะนำไปสู่แต่ละฝ่ายไม่มีทางออก โดยมองว่า คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญรอบนี้อาจจะตอบในข้อกฎหมาย แต่ไม่ตอบโจทย์ทางการเมือง

“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้คลี่คลายความขัดแย้ง ในทางกลับกัน มีโอกาสทำให้ความขัดแย้งซับซ้อนมากขึ้น

รศ.ยุทธพร อิสรชัย

ข้อสังเกตระบบไต่สวน ในศาลรัฐธรรมนูญ

กระบวนพิจารณาก่อนจะมาสู่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นสิ่งที่ กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความผู้เป็นตัวแทนของ อานนท์ นำภา ตั้งข้อสังเกต โดยเขาระบุว่า ได้ร้องขอการนำพยานหลักฐานมาโต้แย้งคำกล่าวหาของ ณัฐพร โตประยูร ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีคำสั่งใด กระทั่ง 1 ตุลาคม 2564 เพิ่งได้รับการแจ้งว่า ศาลฯ ได้ยุติการไต่สวนแล้ว จึงไม่สามารถสั่งคำร้องที่ขอให้ไต่สวนพยานหลักฐานได้ โดยก่อนจะอ่านคำวินิจฉัย เขาซึ่งเป็นตัวแทนทนายอานนท์ ซึ่งจำคุกอยู่ ขอเบิกตัวพยาน แต่ศาลไม่อนุญาต จึงตัดสินใจเดินออกก่อนจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทนายกฤษฎางค์ ก็ย้ำว่า เป็นความประสงค์ของทนายอานนท์ และแกนนำ ที่ไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

“ผมไม่ได้เป็นตัวผู้ถูกร้อง ผู้ถูกร้อง คือ ไมค์ กับ อานนท์ เขาสั่งผมกับน้องทนายอีกคนหนึ่งว่า ถ้าหากเขาไม่ให้ไต่สวน หรือปิดประตูตีแมว เราอย่าไปรับกระบวนการของเขาให้ออกมาเลย เขาไม่อยากให้ผู้แทน หรือตัวแทนของเขา อยู่ในขบวนการนี้ด้วย

เช่นเดียวกับ รุ้ง ปนัสยา ที่ออกแถลงการณ์ในวันเดียวกันว่า ไม่สามารถรับกระบวนการที่ไม่ถูกต้องได้ เมื่อขบวนการไม่ถูกต้องแล้ว ไม่ว่าคำวินิจฉัยจะเป็นคุณ หรือเป็นโทษกับเรา เราก็รับไม่ได้ ไม่ใช่เพราะเราต้องการจะได้เปรียบ แต่เราอธิบายว่า มาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมมันต้องมี เหตุผลที่ไม่มีมาตรฐานนี่แหละ ทำให้สังคมวุ่นวายจนถึงวันนี้ ที่เขาเรียกว่า 2 มาตรฐาน…

การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่เปิดโอกาสให้ไต่สวนผู้ถูกกล่าวหา เป็นการได้มาซึ่งคำวินิจฉัยที่ไม่สามารถหาข้อเท็จจริง เพื่อการยุติธรรมได้”

ทนายกฤษฎางค์ เล่าต่อว่า ส่วนตัวกังวลใจเรื่องความไม่ชอบธรรม และตัดสินเกินอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหากมองกันตามหลักวิชาการ ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ที่ใช้เป็นหลักและข้ออ้างของคดีนี้ ใช้คำพูดเพียงว่า หากมีคนมาร้องแบบ นายณัฐพร ว่าการกระทำของคนใดคนหนึ่งเป็นการล้มล้างการปกครองของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจแค่วินิจฉัย และสั่งการให้เลิกการกระทำ แสดงว่า 1) มีผลต่อคนที่ถูกร้อง ไม่ใช่เครือข่าย 2) บังคับให้หยุดทำในเรื่องที่ไม่ได้ร้องมา ย่อมทำไม่ได้ จึงกังวลว่า มาตรฐานการพิจารณาคดีในทางวิชาการจะยังหลงเหลืออยู่แค่ไหน

“ผมเคารพในคำตัดสิน ผมทำได้อย่างเดียวหากไม่ให้ไต่สวน คือผมเดินออก นี่คือความเห็นที่ผมคิดว่าที่ดีที่สุดที่ผมจะพูดได้แล้ว”

ส่วนคำถามว่า คำวินิจฉัยของศาลครั้งนี้มีผลต่อประเด็นการแก้ไข ม.112 หรือไม่ ทนายกฤษฎางค์ มองว่า ไม่มีผล เพราะไม่ว่าจะมีคำวินิจฉัยวันนี้หรือไม่ ม.112 เป็นประเด็นที่มีปัญหาอยู่แล้ว และมีคนจะไปแจ้งความประเด็นนี้ต่อเนื่อง

เขาทิ้งท้ายว่า หลักการสำคัญของกฎหมาย คือ การมีหลักนิติธรรม Rule of Law ไม่ใช่ Rule by Law หลักกฎหมายจริง ๆ ไม่ได้อยู่ที่การลงโทษ แต่อยู่ที่เหตุผล การตัดสินต้องตัดสินบนสิ่งที่ประชาชนเชื่อถือ เพื่อไม่ทำลายระบบรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียใจ

“ผมไม่ได้ผิดหวังในคำตัดสินที่ออกมา แต่ผิดหวังในกระบวนการที่ไม่เปิดโอกาสให้จำเลย หรือผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้คดี ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญมากที่สุดในการพิจารณาดำเนินคดี ประเทศนี้มันถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว เพราะทุกคนรู้เท่าทันหมดแล้ว…”


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน