“มันจะบ้ากันใหญ่แล้วโว้ย” : ถ้าวันนี้ ‘ท่านพุทธทาส’ ยังอยู่…ท่านจะทำอย่างไร ?

ท่ามกลางวิกฤตใหญ่ของพุทธศาสนาในเวลานี้ การกระทำผิดวินัยสงฆ์ร้ายแรงของพระชั้นผู้ใหญ่ พัวพันสีกา อาบัติร้ายแรงถึงขั้น “ปาราชิก” ทำให้ศีลธรรมของวงการสงฆ์ถูกสั่นคลอนอีกครั้ง

The Active พูดคุยกับ นพ.บัญชา พงษ์พาณิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) เพื่อชวนสังคมย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ทำความเข้าใจ และปิดช่องว่างบางอย่าง

ก่อนวงการสงฆ์ และพุทธศาสนาจะสูญสิ้นศรัทธา และเสื่อมถอยไปมากกว่านี้

‘ศาสนา’ ปรับตัวครั้งใหญ่ เกิดพระหลายรูปแบบ

ตลอด กว่า 2,500 ปี พุทธศาสนาได้ปรับตัวมาโดยตลอดเป็นปกติ นพ.บัญชา ย้ำ จนทำให้ทุกวันนี้ เราเห็นพระทั่วโลก ที่อยู่ในสังคมหลายรูปแบบ และหลายวัตถุประสงค์มากโดยไม่ได้แยกตัวเองออกไปจากสังคม เช่น การที่พระเริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชนให้เกิดการพัฒนา (พระนักพัฒนา) พระช่วยกิจการสังคมสงเคราะห์ หรือแม้กระทั่งพระด้านพิธีกรรม

“หัวใจของการบวชในสมัยพุทธกาล คือ บวชเพื่อปลีกตัวออกจากโลก เรียนรู้ความจริง เข้าใจความเป็นไป และไปถึงหัวใจอันเป็นแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ แต่ตอนนี้พัฒนาการของพุทธศาสนา ทำให้เกิดพระหลายรูปแบบ ไม่ได้มีแต่พระที่บวชเพื่อการหลุดพ้นเท่านั้น ผมคิดว่าแบบนี้ หากไม่ได้ผิดไปจากเจตนาในการบวช และยังอยู่ในเส้นทางเพื่อส่งเสริม เจริญศีล เจริญสมาธิ ก็เป็นเรื่องดี แต่ต้องมีระบบตรวจสอบคัดกรองและแก้ไขด้วย”

นพ.บัญชา พงษ์พาณิช

นพ.บัญชา ยังยกตัวอย่างให้เห็นถึงกรณีของ ท่านพุทธทาสภิกขุ ที่จุดเริ่มต้นการบวชของท่าน คือ การบวชตามประเพณี แต่เมื่อท่านบวชแล้วกลับพบว่าเป็นสิ่งที่มีความหมาย เลื่อมใสในพุทธศาสนา จึงบวชไม่สึก

“ดังเช่นท่านอาจารย์พุทธทาสนั้นท่านก็บวชตามประเพณี แต่เมื่อบวชแล้วท่านตั้งใจและได้รับโอกาสในการศึกษาค้นคว้าจนพบว่าพระพุทธศาสนานี้ยิ่งใหญ่ถึงประกาศเป็นทาสรับใช้พระพุทธเจ้าจนเป็นอย่างที่เป็น กรณีของท่านอาจารย์พุทธทาสนั้น น้องชายของท่านพุทธทาส (ธรรมทาส) ซึ่งในเวลานั้นกำลังเรียนในคณะแพทย์ จึงจำต้องลาออกเพื่อกลับมาดูแลกิจการครอบครัวแทน เพื่อให้ท่านได้บวชต่อไป หรือแม้ เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ก็บวชเพราะโยมเห็นว่าสุขภาพไม่ดี แต่แล้วท่านก็ได้รับโอกาสศึกษาพัฒนามาจนถึงเช่นทุกวันนี้ ประเด็นจึงอยู่ที่ระบบการดูแล ส่งเสริม บ่มเพาะพัฒนาเป็นสำคัญ”

นพ.บัญชา พงษ์พาณิช

นพ.บัญชา ย้ำว่า เจตนาการบวชเป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว อาจจะได้พระที่มีคุณูประการกับวงการศาสนาอย่างมาก แต่จะเกิดขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องได้รับการบ่มเพาะที่ดีระหว่างเส้นทางการบวชด้วย ซึ่งนี่จำเป็นต้องเป็นหน้าที่ของการจัดการคณะสงฆ์อย่างรัดกุม

ถ้าวันนี้ ‘ท่านพุทธทาส’ ยังอยู่ ?

“มันจะบ้ากันใหญ่แล้วโว้ย”…
“กูไม่เอากับมึงแล้วโว้ย”…

นี่คือประโยคที่ นพ.บัญชา เชื่อเหลือเกินว่า น่าจะออกจากปากของท่านพุทธทาส หากท่านยังอยู่ และรับรู้ได้ถึงสถานการณ์ของวงการสงฆ์ไทยในตอนนี้ ทั้งยังคิดว่า ท่านพุทธทาส จะชวน ทุกฝ่ายมาคุยกันอย่างจริงจัง ว่าทำอย่างไร เพื่อทำให้พุทธศาสนาย้อนกลับไประลึกถึงหลักคำสอนของพระพุทธองค์ให้มากที่สุด 

นพ.บัญชา พงษ์พาณิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ)
(ภาพ : หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ – สวนโมกข์กรุงเทพ)

“เมื่อครั้งท่านอาจารย์พุทธทาสบวชได้ไม่กี่พรรษา และญาติโยมแนะนำให้เข้าไปศึกษาเปรียญธรรมในกรุงเทพฯ นั้น ถึงจังหวะหนึ่งท่านเคยปรารภว่า จากที่เคยคิดว่าพระในกรุงเทพฯ น่าจะเป็นพระสุปฏิปันโนหรืออริยสงฆ์ แต่ที่ไหนได้พบว่ายังมีพระฉันอาหารเย็นกันอยู่ ประกอบกับเมื่อท่านสอบเปรียญธรรมที่ท่านศึกษาค้นคว้ามาว่าถูกแน่ แต่ผลการตรวจในการสอบตัดสินว่าท่านตอบผิด ท่านจึงเลิกเรียนต่อและกลับไปไชยาเพื่อศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติด้วยต้นเอง โดยขอยืมพระไตรปิฎกไปศึกษาค้นคว้าเองจนพบว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นยิ่งใหญ่ ถึงขั้นปวารณาถวายตัวเป็นทาสพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่นั้น”

นพ.บัญชา เล่าให้ฟังอีกว่า พวกเราที่สวนโมกข์ เคยได้ยินคำสอนเชิงเตือนจากท่านอาจารย์พุทธทาส เสมอ ๆ ทั้งที่ว่า “มันจะบ้ากันใหญ่แล้วโว้ย” เมื่อท่านเห็นว่าผิดไปจากหลักการในพุทธศาสนา และที่ว่า “กูไม่เอากับมึงแล้วโว้ย” ที่ท่านยกมาจากข้อธรรมสำคัญของพระพุทธเจ้าที่ว่า อตัมยตา ที่หมายถึง ที่สุดต้องปล่อยวาง ละเลิก ไม่ยุ่งอะไรทั้งนั้น โดยเฉพาะกิเลสที่มากัดกิน

จึงย้ำว่า คำสอนพระพุทธเจ้า คือ ไม่เอากับกิเลส ต้องปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ตัวตน แต่ตอนนี้พวกเราทั้งหลายล้วนติดตัวตน ติดกิเลส… สุดท้ายชีวิตต้องละวาง นี่คือหัวใจสำคัญในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่ต้องรักษาไว้ซึ่งพระธรรมวินัย ให้ส่วนที่ดีได้ดำรงอยู่ ส่วนที่ผิด ไม่ดีก็ต้องปล่อยวาง

“คำที่ท่านพุทธทาสพูด ว่า จะบ้ากันแล้ว ท่านมักจะใช้เพื่อกระแทก ตอกย้ำให้เราต้องคิดอย่างหนัก ว่ามันเลยเถิดไปขนาดนี้ได้อย่างไร ไม่ใช่การตำหนิ แต่เพื่อให้ช่วยกันหาทางออกด้วย ถ้าระบบใหญ่หาทางออกไม่ได้ ก็ต้องทำในส่วนเท่าที่ทำได้ ท่านจะชวนทุกคนมาขบคิดอย่างจริงจัง ผ่านคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าเราจะทำอย่างไรกันดี ซึ่งสำหรับผมเองนั้น จังหวะนี้ที่เกิดเหตุร้ายแรงและรุนแรงมากขนาดนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะใช้โอกาสและจังหวะพิเศษนี้ ปฏิรูปวงการสงฆ์และกิจการพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังเสียที

นพ.บัญชา พงษ์พาณิช

พระ – ฆราวาส – กิจการพุทธฯ : ระบบพุทธศาสนามีปัญหาทั้งองคาพยพ

ปัญหาวงการสงฆ์ที่ผ่านมาทั้งทุจริตเงิน พัวพันสีกา ล้วนสั่นคลอนศรัทธา และความรู้สึกพุทธศาสนิกชนไม่น้อย เกิดคำถามตามมามากมาย ว่าหรือนี่คือยุคสมัยแห่งความเสื่อมโทรมของพุทธศาสนาในไทย

ปรากฎการณ์เหล่านี้ ไม่ได้เกิดแต่ตัว “พระ” เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจาก “โครงสร้าง” และ “วิถีปฏิบัติ” ที่บิดเบี้ยวไปของทั้งองคาพยพ ได้แก่ พระ การบริหารจัดการวัด และการบริหารจัดการคณะสงฆ์

หากจะมองปัญหานี้ขอให้แยกเป็นส่วนของ พระพุทธศาสนา และ กิจการพุทธศาสนา ซึ่งเป็นปัญหาหลัก

“พระพุทธศาสนาสำหรับผมแล้วคือหลักการแท้ไม่มีการเสื่อมไป แต่กิจการทางพุทธศาสนา หรือการบริหารจัดการต่างหาก ที่กำลังแปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขสภาพและองคาพยพของผู้คนในสังคม โดยความเสื่อมนี้ แม้จะเห็นชัดเจนว่า ปัญหาเกิดจากตัว พระ เอง แต่นี่เป็นเพียงต้นเหตุหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด ยังมีอีกหลายปัญหาพัวพันอยู่ที่เรามองไม่เห็น”

นพ.บัญชา พงษ์พาณิช

นพ.บัญชา พงษ์พาณิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ)
(ภาพ : หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ – สวนโมกข์กรุงเทพ)

สาเหตุหนึ่ง คือ การปล่อยปละละเลยของพวกเราทั้งนั้น พระท่านต้องทำสารพัดอย่างตามความนิยมของพวกเราชาวพุทธจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่อง พิธีกรรม

“สังคมไทยเรียกร้องให้พระต้องประกอบศาสนกิจ พิธีกรรม ที่ไม่ใช่กิจหลักสำคัญของสงฆ์ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับหัวใจของพุทธศาสนาด้วยซ้ำ สำหรับพระ ชาวพุทธมักคาดหวังว่าท่านต้องสุดยอด บรรลุธรรม แต่พอถึงเวลาจริง ๆ เรากลับเอาแต่นิมนต์ท่านมาทำเรื่องเปลือกนอกกับพิธีกรรมที่ไร้แก่นสาร พอเรานิยมกันแบบนี้ พระก็คิดว่า สิ่งนี้คือความต้องการของญาติโยม จึงเอาแต่ทำเรื่องนี้ แทนที่จะสอนธรรมะ”

นี่คือปัญหาใหญ่ที่สุดของพุทธศาสนาไทยตอนนี้ จากมุมมองของ นพ.บัญชา 

‘เจตนาการบวช’ เรื่องใหญ่ที่ต้องเข้าใจ และสังคายนา

ในขณะที่เรื่องของ เจตนาการบวช ก็อาจเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องเร่งสังคายนา เพราะผู้เข้ามาบวชเป็นพระตอนนี้ ต่างจากเมื่อก่อน เจตนาไม่ได้มาจากการเลื่อมใสศาสนา ต้องการฝึกปฏิบติ หรือการเข้าใจหลักธรรมเท่านั้น แต่มาจากหลายเหตุผล เช่น บางคนบวชเพื่อต้องการการศึกษาสงเคราะห์ (บวชเรียน) บวชเพื่อรอโอกาส และจังหวะบางอย่างในชีวิต หรือบางคน บวชเพื่อเป็นพิธี เท่านั้น

“บางคนบวชแค่ 2-3 วันก็มี เช่น บวชแก้บน บวชตามปรเะเพณีเมื่ออายุถึงวาระ หรือบวชเพื่อจะแต่งงาน ทั้งหมดนี้เป็นการบวชโดยไม่ได้สนใจแก่นแท้ของศาสนา แต่เป็นการบวชเพื่อพิธีกรรม ในขณะที่ บางคนมาบวชเพราะว่าง อยู่ระหว่างรอหางานทำ บางคนก็มีปัญหาชีวิต พอไม่รู้จะไปทางไหน ก็เข้ามาบวชพระ เพราะรู้สึกว่าผ่อนคลาย สบายดี ระบบผ้าเหลือง และระบบวัดไทยตอนนี้ ก็เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันแบบนี้”

นพ.บัญชา พงษ์พาณิช

แต่สิ่งสำคัญ คือ สถาบันสงฆ์ กลับไม่ได้เข้มงวดกับการดูแล บ่มเพาะ พัฒนาพระอย่างเหมาะสม และยิ่งทำให้ พระ แยกตัวออกไปมากขึ้น

“ทุกวันนี้นั้น พระ เป็นอะไรกันแบบไหนบ้างก็ไม่รู้ได้ อย่าว่าแต่ผู้คนอย่างเรา ๆ เลย แม้แต่พระด้วยกันเองเท่าที่ผมทราบ ท่านก็บอกกันไม่ถูกพอกัน หากสังคมรับรู้ มีส่วนร่วม และเร่งหาทางออกแต่เนิ่น ๆ ฟูมฟักพระอย่างถูกต้องดีพอ ปัญหาที่พุทธศาสนาในไทยกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ อาจไม่บานปลาย และปะทุอย่างรุนแรงออกมาทีเดียวเหมือนเช่นในเวลานี้”

นพ.บัญชา พงษ์พาณิช

อย่างไรก็ตาม เรื่องของเจตนาการบวช อาจไม่สามารถสรุปได้ทั้งหมดว่า หากเจตนาไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ แล้วจะบ่มเพาะพระที่ไม่มีคุณภาพเสมอไป แต่การบวช อาจเป็นโอกาสสำหรับใครอีกหลายคน ในการใช้ร่มบุญของพระในการหาโอกาสทางการศึกษา ซึ่งก็สามารถสร้างพระที่มีคุณภาพออกมาจำนวนไม่น้อย

ระบบพุทธศาสนาอ่อนแอ ไม่เอื้อให้เกิดพระดี  ?

ตอนนี้ พุทธศาสนา อาจกำลังอ่อนแอที่สุด โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการกลั่นกรองผู้มาบวช จนไปถึง เมื่อบวชพระแล้ว จะทำอย่างไรให้ระบบอุปัชฌาย์ในไทยเป็นไปอย่างสม่ำเสมอตามหลักการ

“โดยปกติแล้ว ระบบการอุปัชฌาย์นั้น ผู้ที่บวชต้องอยู่ในความรับผิดชอบของพระอุปัชฌาย์โดยตลอด เป็นพระนวกะ 5 ปีแรก เพื่อบ่มเพาะ ขัดเกลา เรียนรู้ ดูนิสัยใจคอ แต่ทุกวันนี้ ระบบกลั่นกรองอ่อนแอ บ้างบวชแล้วพระอุปัชฌาย์ก็ไม่มีเวลาดูแล หรือกระทั่งการบวชในพรรษาที่ปกติต้องมีหลักสูตรการเรียน แต่ทุกวันนี้คนบวชสั้นมากบางที่แค่ 2-3 วัน ปัญหาหลายอย่างจึงปะทุอย่างที่เห็นในระยะนี้”

นพ.บัญชา พงษ์พาณิช

ทั้งหมดนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นอกจากขาดระบบการบวช การดูแลฝึกฝนพระที่จำเป็นต้องเข้มงวด และคงไว้ตามหลักการเดิมแล้ว การเข้ามามีบทบาทของพุทธศาสนิกชน ก็กลายเป็นโจทย์ใหญ่ในวงการสงฆ์เช่นกัน

“ตามกฎหมาย วัดเป็นนิติบุคคล และเจ้าอาวาสทำหน้าที่เป็นเหมือนหัวหน้านิติบุคคล การที่พุทธศาสนิกชนอย่างเรา ๆ จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย สามารถทำได้ในขอบเขตที่กำหนดเท่านั้น นี่เป็นช่องว่างสำคัญที่ทำให้วงการสงฆ์เกิดการรวมศูนย์ แยกขาดจากสังคม และพุทธศาสนิกชนมากกว่าจะให้ญาติโยมเข้ามามีส่วนร่วม”

“แต่ในขณะเดียวกัน การเข้ามาที่มากเกินไปของพุทธศาสนิกชน ก็กลับสร้างผลทางลบกับพุทธศาสนาเช่นกัน บางวัดปล่อยให้ญาติโยมเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการวัดมากเกินไป จนกลายเป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากวัด การหาความพอดีและลงตัวจึงมีความสำคัญและน่าจะจำเป็นเร่งด่วนมากเพราะหากแก้เรื่องนี้ได้ไม่ลงตัว ก็น่าจะเกิดปัญหาตามมาอีกมาก”

นพ.บัญชา พงษ์พาณิช

พระมีไว้ทำไม  ? เมื่อคนรุ่นใหม่น้อมคำสอนเน้นปฏิบัติแต่ไม่เข้าวัด

และข้อสังเกตที่ว่า เวลานี้ประชาชน คนรุ่นใหม่เริ่มเสื่อมศรัทธาใน พระ แต่กลับแสวงหาหลักธรรม สนใจเนื้อหามากกว่ารูปแบบ จึงเป็นที่น่าตั้งคำถามว่า แล้วประเทศไทยยังจำเป็นต้องมี พระ อยู่อีกอีกหรือไม่ ?  นพ.บัญชา มองว่า แท้จริงแล้วพระมีหน้าที่เป็นตัวแทน และเป็นแบบอย่างของพุทธศาสนิกชน เพื่อให้เราได้เข้าใจในหลักธรรมคำสอน

สังคมไทยเป็นสังคมที่พัฒนามาโดยยกให้พระเป็นพี่ใหญ่ โดยเฉพาะด้านจิตใจ สติปัญญา และการเผยแพร่หลักธรรมคำสอน ที่ทุกวันนี้เป็นที่ยอมรับว่าหลักพระพุทธศาสนานั้นลึกซึ้งมาก เรื่องนี้พวกเราที่สวนโมกข์กรุงเทพพบข้อสังเกตุสำคัญมาก ๆ อันที่จริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องของคนรุ่นใหม่รุ่นเก่า พวกเราพบว่า คนรุ่นไหน ๆ ทุกวันนี้ให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระที่เป็นแก่นสารมากกว่ารูปแบบพิธีกรรม และเราก็สนใจคนที่เอาจริงเอาจัง พระในพระพุทธศาสนาที่ทุ่มเทศึกษาค้นคว้าปฏิบัติ และสอนได้จึงมีความสำคัญและมีความหมายมากสำหรับพวกเราไม่ว่าจะรุ่นไหน พวกเราพบว่าทุกวันนี้มีพระรุ่นใหม่ ๆ จำนวนไม่น้อยที่ท่านบวชเรียนศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ทั้งที่บวชมานานแล้วและที่บวชหลังจากทำงานมาระยะหนึ่งแล้ว พระเหล่านี้กำลังรวมตัวกันทำงานหลากหลายรูปแบบและพวกเราพบว่าที่ท่านกำลังทำนั้น สนองต่อการเสาะแสวงหาของคนที่กำลังแสวงหา รวมทั้งคนรุ่นใหม่ด้วย”

นพ.บัญชา พงษ์พาณิช

นอกจากนี้เราก็พบว่าคนรุ่นใหม่ที่สนใจแสวงหาคำตอบเรื่องชีวิต จิตใจ ซึ่งเป็นหัวใจของคำสอนพุทธศาสนาก็มีจำนวนไม่น้อย ยิ่งมีพระที่พร้อมพอ ก็จะยิ่งตอบสนองเรื่องนี้ได้มาก พระจึงยังมีความสำคัญมากสำหรับทัศนะของ นพ.บัญชา แต่ปัญหาใหญ่ที่สำคัญกว่ามาก ๆ คือ จะมีพระที่มีคุณสมบัติดังกล่าวได้อย่างไร ? เราอาจจะต้องกลับมาถามตัวเองด้วยว่า

แล้วพวกเรานี้บวชเรียนจริง ๆ กันบ้างไหม ?

หรือ มีครอบครัวไหนบ้างที่สละลูกชายไปบวชเพื่อพระศาสนาและสังคมบ้าง ?

ทั้งหมดนี้ คือบทบาทของ พระ ผู้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการส่งต่อแนวคิดทางพุทธศาสนา ในช่วงจังหวะเวลาเช่นนี้ พระ ทำให้พุทธศาสนิกชนสิ้นศรัทธาไปมาก และส่งผลกระทบต่อพุทศาสนาโดยตรง 

นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายภาครัฐ และพุทธศาสนิกชน ต้องพูดคุยกันอย่างจริงจังว่าจะก้าวผ่านช่วงเวลาอันเสื่อมโทรมของวงการผ้าเหลืองนี้ไปได้อย่างไร ? เพื่อให้พุทธศาสนากลับมาเฟื่องฟูได้อีกครั้งหนึ่ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ปุณยอาภา ศรีคิรินทร์

บุญคุณต้องทดแทน มนต์แคนต้องแก่นคูน