ความรัก(ไม่เคย)โรแมนติก : ขอขูดรีดร่างกาย เป็นต้นทุนสุดท้าย พลิกชีวิตข้ามพ้น ‘ความจน’ ?

หญิงวัยเลยเกษียณ อย่าง เจ๊ก เฮเซลไดน์ หรือ ป้าเข็ม ตัวเดินเรื่องสำคัญใน สารคดี คนจนเมือง ซีซัน 4 ตอน คุณป้าบาร์เบียร์ มีสมบัติเพียงชิ้นเดียว คือ บ้านหลังเล็กที่หวังจะส่งต่อให้ลูกหลาน แต่ชีวิตไม่ได้เอื้อให้เธอรักษามันไว้ได้ง่าย ๆ เธอใช้ร่างกายเป็นต้นทุนในการทำงานเป็นสาวบาร์เบียร์สูงวัยที่พัทยา เพื่อหาเงินจ่ายหนี้บ้านและเลี้ยงชีพ

ป้าเข็ม จาก สารคดี คนจนเมือง ซีซัน 4 ตอน คุณป้าบาร์เบียร์

ป้าเข็ม เติบโตมาท่ามกลางปัญหาครอบครัวและความยากจน หนทางที่เลือกคือการเป็น เมียเช่า ให้กับชาวต่างชาติ โดยหวังว่าจะมีใครสักคนช่วยโอบอุ้มชีวิตเธอให้ดีขึ้น ซึ่งเอาเข้าจริงชีวิตป้าเข็ม ก็เคยสมหวังในรักจนก่อร่างสร้างเป็นครอบครัวกับสามีชาวต่างชาติ ทุกอย่างดูเหมือนจะดีมีบ้าน มีโอกาสดี ๆ เข้ามาในชีวิต แต่ก็เป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพราะหลังมีความสุขไม่นานสามีก็เสียชีวิต ความสูญเสียที่เกิดขึ้นทำให้ทุกอย่างที่พยายามสร้างร่วมกันมาพังทลายลงไปในทันที

ป้าเข็มและสามี

ป้าเข็มพยายามทำงานทุกอย่างที่พอทำได้ แต่ไม่มีอาชีพใดหล่อเลี้ยงชีวิตได้เท่ากับบาร์เบียร์ที่เธออยู่มาอย่างยาวนาน แม้ในวันที่ สาวบาร์เบียร์ จะกลายเป็นคำที่ห่างไกลจากวัยของเธอไปแล้วก็ตาม

ไม่ใช่แค่ป้าเข็ม แต่ยังมีคนอีกมากที่ต้องดิ้นรนด้วยต้นทุนเพียงเล็กน้อยที่เหลืออยู่ในชีวิต แม้ไม่เหลืออะไรติดตัว ก็ขอขูดรีดแรงกายแลกเงิน ใช้ร่างกายแลกโอกาส ใช้ความสัมพันธ์เป็นเครื่องมือต่อรองให้ตัวเองและคนข้างหลังได้มีชีวิตที่ดีขึ้น แม้จะใจเจ็บปวด ก็ต้องเดินหน้าตามอัตภาพของตนเอง

เพราะความรักไม่ใช่เรื่องโรแมนติกเสมอไป และการแต่งงานก็ไม่จำเป็นต้องหวานชื่นตามสูตรสำเร็จของชนชั้นกลาง ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำยังฝังรากลึก

ผิดตรงไหนที่เรือนร่างและความสัมพันธ์จะกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดิ้นรนสู่โอกาสที่ดีกว่า นี่ไม่ใช่ ทางลัด อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ บางครั้งมันอาจจะเป็น ทางรอด แต่ที่แน่ ๆ นี่เป็น ทางเลือก ของใครหลายคนที่หวังเพียงแค่พาตัวเองและคนข้างหลังได้มีชีวิตที่ดีกว่า

The Active ร่วมสำรวจนิยามความรักในมิติทางชนชั้น ที่ไม่ใช่แค่เรื่องโรแมนติกแสนหวาน แต่เป็นเครื่องมือกรุยทางสู่ชีวิตที่ดีกว่า ผ่านบทสนทนากับ ผศ.ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมียเช่า—Sex Worker : พื้นที่สีเทาที่สังคมกำหนดขึ้นเอง

สังคมมักมีภาพจำว่า Sex worker หมายถึง ผู้ให้บริการทางเพศในสถานบริการอย่าง ผับ บาร์ หรือซ่อง มีแม่เล้า มีระบบการควบคุมแบบเป็นกิจจะลักษณะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว sex worker ในบริบทสังคมไทยมีความซับซ้อนและหลากหลายกว่านั้นมาก อาชีพนี้ไม่ได้ผูกติดอยู่กับสถานบริการเสมอไป แต่อาจหมายถึงผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้า ไปอยู่กินด้วยกันเป็นเดือนหรือเป็นปี ปรากฏการณ์นี้คือสิ่งที่เรียกกันในสังคมไทยว่า เมียเช่า

ผศ.ติณณภพจ์ อธิบายคำว่า เมียเช่า เริ่มปรากฏอย่างชัดเจนในช่วงสงครามเย็น เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในไทยเพื่อต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ ในช่วงเวลาดังกล่าว สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองได้เปิดช่องให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงไทยกับทหารหรือชาวต่างชาติในลักษณะที่เป็นการพึ่งพิงกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ละครโทรทัศน์ หรือวรรณกรรมหลาย ๆ เรื่องอย่าง ข้าวนอกนา หรือ ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด อาจไม่ได้กล่าวถึงเมียเช่าโดยตรง แต่ก็สะท้อนภาพของสังคมไทยที่ได้รับผลพวงจากช่วงสงครามเย็นจนกลายเป็นเรื่องราวถูกผลิตซ้ำในสื่อกระแสหลัก

สังคมไทยจึงมักมองว่า เมียเช่า คือ โสเภณี คือผู้ให้บริการทางเพศที่มีสถานะต่ำในทางสังคม และที่สำคัญคือ มักถูกผูกโยงกับภาพจำของความยากจน หรือการขาดทางเลือกในชีวิต ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ถูกมองว่าน่าสงสาร น่าเวทนา ในขณะเดียวกัน ทัศนคติของชนชั้นกลาง และคนเมืองยังตัดสินผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์กับชาวต่างชาติว่าประพฤติตัวไม่เหมาะสม ถึงขั้นมองว่าการใช้ร่างกายแลกเปลี่ยนกับเงินทอง คือการปล่อยให้ความเป็นไทยถูกย่ำยีโดยตะวันตก ซึ่งสะท้อนแนวคิดชาตินิยมแบบอนุรักษนิยมที่ยังฝังรากอยู่ในสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน

อคติ อีสาน และหญิงงามเมือง

หากย้อนกลับไปช่วงปี 2562 มีบทความชิ้นหนึ่งชื่อ อุปนิสัยชี้ชะตากรร เผยแพร่ในเว็บไซต์มติชนออนไลน์ ซึ่งเสนอคำอธิบายว่าทำไมผู้หญิงอีสานจึงกลายมาเป็น เมียเช่า หรือทำงานในสถานบันเทิงยามค่ำคืนในจังหวัดท่องเที่ยว บทความดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากมีการนำเสนอภาพเหมารวมในเชิงลบต่อผู้หญิงจากภาคอีสาน จนสุดท้ายมติชนต้องถอนบทความออกจากระบบ

เหตุการณ์นี้จุดประกายให้เกิดคำถามสำคัญในสังคมไทยว่า เหตุใดเวลาพูดถึง เมียเช่า หรือ Sex Worker เราจึงมักนึกถึงผู้หญิงอีสานก่อนเสมอ ?

ผศ.ติณณภพจ์ อธิบายเพิ่มว่า คำตอบหนึ่งอาจอยู่ในโครงสร้างของประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมและการเมืองที่ฝังรากลึกมายาวนาน ภาคอีสานถูกสร้างภาพให้เป็น ความเป็นอื่น (the otherness) ในสายตาของรัฐไทยหรือสยามส่วนกลางมาโดยตลอด เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ส่วนกลางที่ถูกทำให้ดูทันสมัย ศิวิไลซ์ และมีอารยะ อีสานมักถูกวาดภาพว่าเป็นภูมิภาคที่ล้าหลัง แห้งแล้ง ขาดทรัพยากร และขาดโอกาสในการพัฒนา ภาพจำเหล่านี้สะท้อนซ้ำผ่านวรรณกรรม ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์หลายยุคสมัย ซึ่งมักบรรยายว่า “คนอีสานไม่มีทางเลือก จึงต้องย้ายถิ่นฐานมายังพื้นที่ที่มีโอกาสมากกว่า” ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต หรือเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ และในบรรดางานบริการที่มีอยู่มากมาย งานบริการทางเพศก็มักถูกมองว่าให้ผลตอบแทนสูงกว่า จึงกลายเป็น ทางเลือกสุดท้าย ของผู้หญิงอีสานในสายตาสังคม

ในอีกมุมหนึ่ง ผู้หญิงอีสานเหล่านี้กำลังท้าทายค่านิยมแบบชนชั้นกลางที่ผูกเรื่องการแต่งงานไว้กับภาพฝันอันแสนโรแมนติก อ่อนหวาน และน่ายกย่อง พวกเธอกำลังรื้อสร้างและสถาปนาคุณค่าใหม่ ด้วยการทำให้การแต่งงานกลายเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ เป็นการวางแผนเพื่อความอยู่รอด มากกว่าจะยึดโยงกับแนวคิดเรื่อง ‘ความรัก’ ตามแบบอุดมคติ เมื่อรูปแบบการแต่งงานเช่นนี้ไปสั่นคลอนคุณค่าดั้งเดิมของการสมรส (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับความรัก) จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้หญิงเหล่านี้จะถูกมองว่าเป็นผู้ทำลายคุณค่าอันดีงามของสถาบันครอบครัว ในสายตาของชนชั้นกลางที่ยึดมั่นกับคุณค่าการแต่งงานในแบบอุดมคติ

“งานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า ผู้หญิงจากหลากหลายภูมิภาคก็มีแนวโน้มสมรสกับชาวต่างชาติได้ทั้งนั้น แต่เรื่องเล่าเรื่อง ความด้อยพัฒนา ทำให้สังคมมักเหมารวมไปที่อีสานก่อนเสมอ”

ผศ.ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง

เมียฝรั่งในโลกใหม่ กับ การต่อรองอำนาจของผู้หญิงยุคใหม่

ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ผศ.ติณณภพจ์ ชวนมองภาพว่า สังคมไทยได้ค่อย ๆ เปิดพื้นที่ให้กับแนวคิดเรื่อง การเสริมพลังอำนาจทางเพศ (sexual empowerment) ของผู้หญิงมากขึ้น แนวคิดนี้ส่งเสริมให้ผู้หญิงเห็นคุณค่าของตัวเอง ให้พวกเธอเชื่อว่าสามารถยืนหยัดได้ด้วยลำแข้ง สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพได้ ดูแลคนรอบข้างได้ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการศึกษาที่อาจจจะเป็นเส้นทางหนึ่งในการยกระดับสถานะของตนเอง ที่ไม่ได้ผูกติดอยู่กับการเป็นช้างเท้าหลัง หรือแม่บ้านตลอดไป

แต่อีกด้านหนึ่ง ยังมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้ การแต่งงานข้ามวัฒนธรรม เป็นกลยุทธ์หรือเครื่องมือในการเสริมอำนาจให้กับชีวิตตัวเอง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Influencer และ Content Creator จำนวนมากที่ได้แต่งงานกับชาวต่างชาติ ย้ายถิ่นฐานไปพำนักถาวรในประเทศโลกที่ 1 และสร้างตัวตนในโลกออนไลน์ด้วยภาพลักษณ์ของ เมียฝรั่ง อย่างภาคภูมิใจ ทำนองเดียวกันกับหลายความคิดเห็นที่เข้ามารับชมเนื้อหา แสดงความชื่นชอบ และมีทัศนคติเชิงบวกต่อพวกเธอ

ตัวตนและพื้นที่ของเมียฝรั่ง ได้ก่อตัวขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านของค่านิยมร่วมสมัย โดยเฉพาะในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้คนเริ่มตั้งคำถามกับ ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ ตามขนบแบบเดิม ๆ และเปิดรับทางเลือกสู่การมีชีวิตที่สุขสบายที่หลากหลายมากขึ้น

โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ตั้งแต่เจนวายเป็นต้นมา มีการตั้งคำถามต่อบทบาทงานบริการทางเพศ เช่น Sex work ก็คืองานรูปแบบหนึ่งหรือไม่ ? เสียงที่สนับสนุนผู้ให้บริการทางเพศเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายเริ่มมีพลังมากขึ้น พร้อม ๆ กับการพูดถึงสิทธิและศักดิ์ศรีของผู้หญิงอย่างแข็งขัน

แม้กระบวนการ Legalization of sex work (การทำให้อาชีพให้บริการทางเพศถูกกฎหมาย) นี้อาจไม่ได้เชื่อมโยงโดยตรงกับการแต่งงานกับชาวต่างชาติ แต่ก็มีผลสืบเนื่องในทางวัฒนธรรม คือ การช่วยคลี่คลายอคติที่สังคมมักมีต่อผู้หญิงที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ แม้ผู้หญิงเหล่านี้จะไม่ใช่ sex worker ก็ตาม การมีความสัมพันธ์กับชาวต่างชาติไม่ได้ถูกมองว่าเป็น สิ่งผิดศีลธรรม อย่างที่เคยเป็น แต่กลับกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในชีวิต และที่สำคัญคือ เป็นทางเลือกที่วางแผนมาแล้วอย่างรอบคอบ

“มันไม่ใช่เรื่องของการไม่มีทางเลือก แต่คือการวางแผนอย่างมีเป้าหมาย
ตั้งแต่เลือกแพลตฟอร์ม จัดการความสัมพันธ์ จนถึงสร้างเครือข่ายเพื่อไปถึงชีวิตใหม่
ในต่างแดน นี่คือรูปแบบหนึ่งของการลงทุน และเป็นกระบวนการต่อสู้ของผู้หญิงยุคนี้”

ผศ.ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง

โลกีย์ โลภาภิวัฒน์ รักของเราจะทันสมัย

ค่านิยมทางความรักในสังคมไทยได้เปลี่ยนผ่านไปพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับ ผศ.ติณณภพจ์ มองว่า โลกาภิวัตน์ (Globalization) มีบทบาทตั้งแต่ยุคที่ปรากฏการณ์เมียเช่าเริ่มถือกำเนิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานหรือปักหลักในประเทศไทย พร้อมนำแนวคิดแบบสมัยใหม่ (Modernism) เข้ามาด้วย แนวคิดหนึ่งที่ฝังอยู่ในยุคนั้นคือ การมีสามีฝรั่งคือหนทางสู่ความเจริญ เพราะเมื่อเทียบกับสามีชาวไทยที่มักถูกมองว่าพึ่งพาไม่ค่อยได้ ชายชาวตะวันตกกลับถูกสร้างภาพว่าเป็นผู้ชายที่ดูแลได้ มีวุฒิภาวะ และพร้อมจะมอบชีวิตที่ดีกว่าให้กับผู้หญิงไทย

แต่ภาพของโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปมากจากยุคนั้น เพราะมันไม่ได้มาเพียงแค่ตัวบุคคลหรือแนวคิดแบบสมัยใหม่ แต่ยังมาพร้อมกับ สื่อดิจิทัล โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ทำให้คนในสังคมได้มองเห็นตัวอย่างความสัมพันธ์ที่หลากหลาย และเป็นไปได้ และเริ่มยอมรับและเข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับความโรแมนติกอันสูงส่งเพียงรูปแบบเดียว

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือสิ่งที่เคยถูกมองว่า ไม่เหมาะสม หรือ ผิดบรรทัดฐาน กลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงและยอมรับในวงกว้างมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การมีความสัมพันธ์กับชาวต่างชาติในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องที่ผู้หญิงไทยต้องรู้สึกอับอายเหมือนในอดีตอีกต่อไป ในยุคนี้ กลับมีคำใหม่ ๆ ที่นำไปใช้นิยามความสัมพันธ์ที่สภาวะอำนาจเท่าเทียมกันมากขึ้น เช่น “สายฝอ” ย่อมาจาก ฝรั่ง, สายฝอ จึงหมายถึงบุคคลที่ชื่นชอบคนที่มีรูปร่างหน้าตาแบบคนตะวันตก

หรืออย่าง “Sugar baby” ใช้เรียกบุคคลอายุน้อยกว่า ที่มีความสัมพันธ์กับผู้ที่มีอายุมากกว่า และร่ำรวยกว่า หรือก็คือ “Sugar daddy” ซึ่งแทนที่จะถูกมองว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่สมดุลทางอำนาจ ผู้หญิง (หรือผู้ชายก็ได้) จะให้ความรู้สึกว่า ตนเองเป็นฝ่ายเลือก เป็นคนตัดสินใจว่าจะมีความสัมพันธ์กับชายต่างชาติ—ไม่ใช่เพราะฉันถูกเขาเช่าและใช้ปรนเปรอด้วยความลำเค็ญ แต่เป็นการตัดสินใจของฉันเอง

แม้แต่คำว่า sugar daddy ซึ่งฟังดูเหมือนอีกฝ่ายจะมีอำนาจ มีทุน มีอายุมากกว่า แต่ก็ถูกพูดถึงด้วยความรู้สึกที่แฝงความเอ็นดู ออดอ้อน และเป็นมิตร มากกว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบกดขี่ นำไปสู่ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมใหม่ ๆ เช่น บทเพลง ฟ้ารักพ่อ ของ BADMIXY (มิกซ์ เฉลิมศรี) ที่เนื้อเพลงสะท้อนถึงการเล่นเกมให้เป็นของผู้หญิงยุคสมัยใหม่ รู้ว่าต้องใช้อารมณ์ ความน่ารัก หรือกลยุทธ์ใดในการต่อรองความสัมพันธ์และอำนาจ ต่างจากภาพแห่งโศกนาฏกรรมของเมียเช่าที่ถูกเล่าขานผ่านเนื้อเพลงลูกทุ่งและลูกกรุง อย่างเพลง จดหมายรักจากเมียเช่า โดย มาณี มณีวรรณ ที่เล่าถึงชีวิตเมียเช่าที่ไร้ทางไปเมื่อถูกทิ้ง

“My sugar daddy หมดใจเลยที่ฟ้าให้พ่อ
รักจริงไม่ได้หลอก แค่อยากจะขอให้พ่อช่วยฟ้าหน่อย
กระเป๋าดีดีต้องมีใช้ พ่อซื้อให้ฟ้าหน่อยได้ไหม
และอยากได้คอนโดใหม่นะคะ นะคะ นะ ฟ้ารักพ่อ”

— ฟ้ารักพ่อ, BADMIXY (2566)

“You ทิ้งเมียเช่า หิ้วกระเป๋า go home
ทิ้งรอยจูบลูบโลม
จน shape I โทรมเพราะ you enjoy”

— จดหมายรักจากเมียเช่า, มาณี มณีวรรณ (2510)

เราควรเข้าใจและให้ความหมายต่อความสัมพันธ์เหล่านี้อย่างไร ?

ผศ.ติณณภพจ์ ให้แง่มุมอยู่ 2 ประการ

  1. อย่าผูกปรากฏการณ์อย่าง Transnational intimacy หรือ ความสัมพันธ์ข้ามชาติ เข้ากับภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งอย่างตายตัว กล่าวคือ เราไม่ควรทึกทักไปเองว่าคนภาคไหนมีความสัมพันธ์กับคนชาติอื่นอย่างไร การตีตราว่าผู้หญิงอีสาน คือ กลุ่มเดียวที่เป็นเมียเช่า เป็น Sugar baby หรือ สายฝอ เป็นการมองอย่างเหมารวมและผิดฝาผิดตัว เพราะในความเป็นจริง ความสัมพันธ์เหล่านี้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้หญิง (และไม่ใช่แค่ผู้หญิง) จากหลากหลายภูมิภาค หลากหลายพื้นฐานชีวิต และในหลากหลายเงื่อนไขที่ซับซ้อนกว่านั้น

  2. อย่าผลิตซ้ำเรื่องเล่าว่าด้วย ความเป็นเหยื่อ ของผู้หญิง โดยเฉพาะการพูดว่าผู้หญิงที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้ไม่มีทางเลือก เป็นเพียงผู้หญิงที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือขาดการศึกษา เพราะนั่นคือคำอธิบายที่ลดทอนศักยภาพและการตัดสินใจของพวกเธออย่างรุนแรง

ความจริงคือ ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์ลักษณะนี้อย่างมีแผน มีเป้าหมาย และมีการวางกลยุทธ์ในแบบของตัวเอง พวกเธอรู้ว่าต้องสื่อสารอย่างไร สร้างภาพลักษณ์อย่างไร หรือรักษาความสัมพันธ์อย่างไร เพื่อใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการต่อรองอำนาจ และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจหรือชีวิตที่ดีกว่า ดังนั้น หากเราต้องการเข้าใจปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างแท้จริง เราจำเป็นต้องเลิกมองผู้หญิงเหล่านี้ว่า คิดไม่ได้ ผิดพลาด หรือไม่มีทางเลือกเพราะความคิดเช่นนี้ ทำให้เรามองข้ามความจริง ดูแคลนพลังและการตัดสินใจของผู้หญิง และยังปิดกั้นการเข้าใจกลไกเชิงอำนาจที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในสังคมร่วมสมัยอีกด้วย

บทส่งท้าย : เพราะรักเราไม่เท่ากัน ความฝันสู่ชีวิตที่ดีกว่าจึงต่างกัน

ปรากฏการณ์ เมียเช่า, เมียฝรั่ง, Sugar baby และอีกหลายความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นมา ไม่ใช่เพียงเรื่องส่วนบุคคล หากแต่งานวิจัยและบทความจำนวนมาก ล้วนชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า นี่คือผลพวงของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ที่ฝังรากลึก ทั้งในมิติ เศรษฐกิจ สังคม และโอกาสในชีวิต

ที่ผ่านมา สังคมไทยมีช่องว่างระหว่างกลุ่มคนที่เข้าถึงโอกาสกับคนชายขอบ กว้างขึ้นเรื่อย ๆ นโยบายที่ควรเกิดขึ้นเพื่อลดช่องว่างนี้ อาจไม่ได้จำกัดแค่เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ หรือ การทำให้การค้าบริการทางเพศถูกกฎหมาย แต่ต้องครอบคลุมตั้งแต่ การศึกษา การกระจายรายได้ ไปจนถึงการส่งเสริมให้ผู้หญิง (และผู้ชาย) เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจในระดับสากล เพื่อเป็นการเพิ่มตัวเลือก ในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ และแน่นอนการเลือกตัดสินใจยกฐานะตัวเองผ่านการแต่งงานก็เป็นเรื่องที่ทำได้เช่นกัน

“อย่าด่วนตัดสินว่าผู้หญิงเหล่านี้ไม่มีทางเลือก หรือไม่รู้คิด
เพราะสำหรับบางคน สิ่งนี้คือรสนิยม คืออาชีพ คือการใช้สิทธิในเนื้อตัวของตนเอง
อย่างมีแบบแผน พวกเธอเลือกแล้ว …และเราควรเคารพ”

ผศ.ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง

คำถามคือ สังคมไทยจะสามารถสร้างตัวเลือกได้มากพอที่จะทำให้คนรู้สึกว่า “ฉันมีทางเลือก” โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความสัมพันธ์ข้ามชาติในฐานะทางออกสุดท้ายได้หรือไม่ ? แนวทางหนึ่งคือ การคืนพื้นที่ให้กับนโยบายเพิ่มโอกาสทางการศึกษา การกระจายอำนาจ พัฒนาท้องถิ่น การส่งเสริมอาชีพ ตลอดจนเปิดช่องให้ผู้คนสามารถเข้าถึงตลาดแรงงานในประเทศอื่นอย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรีมากขึ้น

การมองเมียเช่าเป็นเพียง เหยื่อของระบบ หรือ สัญลักษณ์ของความยากจน อาจเป็นเพียงบางมุมหนึ่งของความจริงเท่านั้น เพราะในอีกมิติหนึ่ง ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยมองว่านี่คือทางเลือกชีวิต ทางรอด หรือแม้กระทั่งเป็น วิชาชีพ ที่พวกเธอเลือกเดินอย่างตั้งใจ การตั้งคำถามถึงความเหมาะสมอาจไม่ได้นำไปสู่ชีวิตของพวกเธอที่ดีขึ้น และสังคมก็อาจไม่ได้ทางออกอะไรไปมากกว่าการตัดสินบนศีลธรรมเพียงอย่างเดียว

สิ่งสำคัญคือเราควรมองไปให้ไกลกว่านั้น เราควรตั้งคำถามว่า โครงสร้างสังคมแบบไหนกัน ที่ทำให้คน ๆ หนึ่งมีโอกาสตัดสินใจในชีวิตน้อยกว่าผู้อื่น ?’ ลองเริ่มต้นจากคำถามนี้ แล้วเราอาจมองเห็นถึงนิยามความรักที่ไม่เท่ากัน ความฝันและหนทางสู่ชีวิตที่ดีกว่าจึงต่างกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง