“สยามไบโอไซเอนซ์” ทางลัดความมั่นคงทางวัคซีนไทย? | นับถอยหลังวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก EP.3

มากกว่าความหวังในการทุเลาวิกฤตสุขภาพ และผลกระทบทางเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก “วัคซีนโควิด-19” ถูกทำให้กลายเป็นประเด็นความมั่นคงระดับชาติ ในอนาคตการข้ามแดนทางบกและบินผ่านน่านฟ้านานาชาติ ผู้เดินทางจะต้องแสดงใบรับรองการฉีดวัคซีนป้องกัน

ปี 2564 แม้การคิดค้นนวัตกรรมวัคซีนเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ทว่า การกระจายวัคซีนให้เข้าถึงประชาชนทั้งในประเทศและระดับโลก ล้วนเป็น “การเมือง” ที่ถูกตรวจสอบและทำการตลาดขายวัคซีนครั้งประวัติศาสตร์ตลอดทั้งปี ยูนิเซฟ ในฐานะผู้นำการบริหารจัดการ ‘Global COVAX Facility’ โครงการความร่วมมือของกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด ซึ่งเป็นเสาหลักการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียม ที่มี 172 ประเทศเข้าร่วมแล้ว ได้จัดทำ ‘The COVID-19 Vaccine Market Dashboard’ เป็นเครื่องมือให้ภาพรวมของวัคซีนตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนา แพลตฟอร์มเทคโนโลยี กำลังการผลิตที่รายงานทั่วโลก และข้อตกลงการจัดหาทวิภาคีและพหุภาคี รวมทั้งราคาที่ประกาศต่อสาธารณะ

ข้อมูลของ ‘The COVID-19 Vaccine Market Dashboard’ แสดงให้เห็นอุปสงค์และอุปทานวัคซีนทั่วโลก ซึ่งประเมินว่า จะขาดแคลนในช่วงต้นปี 2564 และปลายปีจะล้นตลาด ทำให้ยูนิเซฟสามารถจัดส่งและกระจายวัคซีน 2 พันล้านโดส ได้ภายในสิ้นปี 2564

ความต้องการวัคซีนโควิด-19 ของไทยก็ปลี่ยนไปตามสถานการณ์เช่นกัน ก่อนที่จะมีการระบาดครั้งใหม่ และก่อนที่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคได้เร่งฉีดวัคซีนก่อนไทย วันที่ 24 ต.ค. 2563 คณะรัฐมนตรีได้แถลง 3 แนวทางจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้กับพลเมือง เพื่อเตรียมพร้อมจัดการกับสถานการณ์ในระยะยาว และ “ประกันความเสี่ยง” โดยไม่เลือกวัคซีนชิดเดียว ได้แก่ 1. การพัฒนาวัคซีนด้วยตัวเองจากบุคลกรภายในประเทศ 2. การจัดหาวัคซีนพร้อมด้วยเทคโนโลยีการผลิตจากต่างประเทศ (หรือที่ตกลงซื้อวัคซีนกับบริษัทแอสตราเซเนกา) และ 3. การเข้าร่วมโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก (WHO)

แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป รวมทั้งแรงกดดันทางการเมืองในประเทศไทย วันที่ 5 ม.ค. 2564 ก็มีมติ ครม. รับทราบการจัดหาวัคซีน 3 ช่องทาง คือ

  • การจัดซื้อข้อตกลงเป็นทวิภาคี Bilateral Agreement (Advance Market Commitment) เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตราเซเนกา (Oxford-Astrazeneca) จากสหราชอาณาจักรให้กับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จำนวน 26 ล้านโดส ซึ่งจะได้เดือนมิถุนายน และมีมติสั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส
  • การจัดการวัคซีนจากแหล่งอื่น ร้อยละ 10 กระทรวงสาธารณสุขได้เจรจากับ บริษัท ซิโนวัค ไบโอเทค จำกัด ซึ่งจีนเป็นผู้ผลิต เพื่อจัดหาวัคซีนเร่งด่วนให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 จำนวน 2 ล้านโดส ทั้งนี้ วัคซีนต้องได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนจากสำนักงานอาหารและยา ทั้งของประเทศจีนและไทยก่อน
  • การจัดหาวัคซีนจาก COVAX Facility ร้อยละ 20 ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและการต่อรอง

วัคซีนโควิด-19 กลุ่มที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด
(มีผลประสิทธิภาพของวัคซีนจากการทดลองในคน phase 3 แล้ว)
ข้อมูล ณ วันที่ 10 ม.ค. 2564 โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

เวลาคือความหวัง วัคซีนคือบททดสอบความมั่นคงระยะยาว

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา พยายามยืนยันว่าการพิจารณาจัดหาวัคซีนโควิด -19 โปร่งใส ภายใต้ “คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่มอบหมายให้ อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการแทน ทั้งนี้ “คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ” ทำงานร่วมกับ “คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ” และมีกลไกที่ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ โดยมี “คณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อจัดหาวัคซีนเพื่อคนไทย” โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานพยายามกระจายความเสี่ยง “ไม่แทงม้าตัวเดียว” และทำพิมพ์เขียววางรากฐานเกี่ยวกับวัคซีนเพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ดังนั้น 2 แนวทางการลงทุนระยะยาว คือ (1) การพัฒนาวัคซีนด้วยตัวเองจากบุคลกรภายในประเทศและ (2) การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อวางโครงสร้างการผลิตระดับอุตสาหกรรม รอบรับทางเลือกที่หนึ่งในอนาคต

รัฐบาลจึงจัดสรรเพื่อสนับสนุนการผลิตวัคซีนในประเทศ ประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันการพัฒนาวัคซีนในประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด และอยู่ระหว่างเตรียมเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 (ในไตรมาสแรกของปี 2564) ประกอบไปด้วยวัคซีน 3 ประเภท ได้แก่

  • วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • วัคซีนชนิด DNA โดย บริษัท ไบโอเนท-เอเซีย จำกัด
  • วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการสกัดโปรตีนจากพืช โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด เป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดยทีมสตาร์ตอัพที่บ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ ในแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2563 – 2565 ยังระบุ 6 หน่วยงานที่มีศักยภาพผลิตวัคซีน แบบปลายน้ำ (มีโรงงานผลิต)  เช่น สถานเสาวภา ของสภากาชาดไทย, บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด, องค์การเภสัชกรรม, บริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด, ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์ โมเลกุล ม.มหิดล และโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี

ขณะที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค สวทช. คือ หน่วยงานที่มีศักยภาพผลิตวัคซีน (แบบต้นน้ำ) เป็นผู้เชี่ยวชาญวิจัยวัคซีนไข้ใหญ่ ตอนนี้กำลังวิจัย วัคซีนโควิด-19 ชนิดใช้อะดิโนไวรัส ซึ่งทดลองในสัตว์ได้ผลดี และจะเข้าสู่การทดลองในมนุษย์เดือนเมษายน 2564

อนันต์ จงแก้ววัฒนา​ ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ​ ไบโอเทค สวทช.​

อนันต์ จงแก้ววัฒนา​ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ​ ไบโอเทค สวทช.​ บอกว่า นักไวรัสวิทยาในประเทศไทย​ ก็สามารถจะคิดวัคซีนโควิด-19 ได้รวดเร็วและทันพอ ๆ กับนักไวรัสวิทยาในต่างประเทศ​ แต่ติดปัญหาตรงที่ประเทศไทยยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน ห่วงโซ่การผลิตวัคซีนอย่างครบวงจร เช่น มีหน่วยงานอย่างไบโอเทค​ ในการวิจัยวัคซีน​ต้นแบบ​ แต่เมื่อวิจัยได้แล้ว​ ไม่มีสถานที่ทดลองในสัตว์อย่างถูกต้อง หรือมีจำนวนน้อย ประเทศไทยมีเพียงแค่ 2 แห่ง ต้องไปต่อคิวกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่วิจัยวัคซีนต้นแบบไปพร้อมกัน ทำให้เกิดความล่าช้า และเมื่อทดลองในสัตว์แล้ว จะเริ่มทดลองในมนุษย์ ก็ไม่มีโรงงานผลิตวัคซีน หรือมีจำนวนน้อย ดังนั้น การทดลองวัคซีนในอาสาสมัครมนุษย์จำนวนหลายหมื่นคน จึงทำได้ยาก และช้ากว่าประเทศอื่น ที่สามารถคิดค้นวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม

“โควิด-19 ถือเป็นโอกาสในการสร้างความมั่นคงทางวัคซีนให้กับประเทศไทย​ ซึ่งมีต้นทุนจากการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่เดิมอยู่แล้ว โดยล่าสุด รัฐบาลทุ่มงบประมาณให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม​ ใช้สำหรับวิจัยวัคซีน​ต้นแบบ​ และสร้างโครงสร้างพื้นฐานในห่วงโซ่การผลิตวัคซีนให้ครบวงจร​ เพราะเชื่อว่าในอนาคตต้องมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นตามมาอีก​ หรือแม้กระทั่งการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา ที่อาจจะต้องมีการวิจัยวัคซีนต้นแบบเพื่อให้ทันกับการกลายพันธุ์ของโควิด-19 หลังจากนี้ด้วย”

“สยามไบโอไซเอนซ์” ทางลัดความมั่นคงทางวัคซีนไทย ?

ก่อนปี 2552 มีการเคลื่อนไหวในกลุ่มนักวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล สมัยที่ ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นอธิการบดี (ก่อนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) ไปโน้มน้าวผู้บริหารบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (SCG) และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้มีการลงทุนด้านยาและเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะการวิจัยเกี่ยวกับชีววัตถุเพื่อรักษาโรคมะเร็ง หากไม่ลงทุนด้านนี้ ไทยจะล้าหลังในวงการอุตสาหกรรมยาและการรักษาโรคทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก

10 กว่าปีก่อน ไทยนำเข้ายาจากต่างประเทศ 75 % และผลิตเองในประเทศ 25 % แต่การผลิตเองในประเทศคือการนำเข้าสารเคมีตั้งต้นจากอินเดียและจีนมาอัดเม็ดขาย โดยเฉพาะยาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว ซึ่งยานำเข้าทั้งหมดแบ่งเป็น “ยาชีววัตถุ” มากถึง 26 %

“ยาชีววัตถุ” หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่มีตัวยาสำคัญที่ผลิตหรือได้มาจากสิ่งมีชีวิต (living organism) เช่น ยาอินซูลินที่ผลิตขึ้นจากสิ่งมีชีวิต (แบคทีเรียหรือยีสต์) ที่มีการตัดต่อใส่ยีนที่ผลิตอินซูลินออกมา หรือวัคซีน หรือผลิตภัณฑ์เลือด หรือที่ได้มาจากพลาสมา

ล่าสุด ปี 2563 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเซลส์” (TCELS) พบว่า มูลค่าอุตสาหกรรมยาในประเทศไทย 2 แสนล้านบาทต่อปี ไทยนำเข้ายามากขึ้นถึง 90 % กล่าวเฉพาะธุรกิจยาชีววัตถุในประเทศ 40,000 ล้านบาท โดยเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ 25,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าตลาดยาชีววัตถุจะเติบโตและมีบทบาทในการรักษาโรคมากขึ้น ด้วยแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีและยาชีววัตถุรุ่นแรก ๆ กำลังหมดสิทธิบัตร และจะมีการผลิตยาชีววัตถุเลียนแบบออกมาแข่งขันในตลาด

ย้อนกลับไปช่วงปี 10 ก่อนอีกครั้ง กลุ่มนักวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดลทดลองยาในห้องปฏิบัติการเป็นโครงการนำร่องอยู่จำนวนหนึ่ง และต้องการยกระดับตั้งโรงงานผลิตวัคซีนนำร่องเพื่อการทดสอบทาง pre-clinic หรือ “Pilot Pant” ซึ่งพวกเขารู้ข้อจำกัดดีว่า หากวิจัยยาประสบความสำเร็จก็ไม่สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้ เพราะไม่มีโรงงานระดับอุตสาหกรรมรองรับ จึงเป็นที่มาของ “บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ (siambioscience) จำกัด”

ดังนั้น “ด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะให้ประชาชนชาวไทยสามารถได้รับยาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงในราคาที่ถูกลง สร้างความมั่นคงทางยา เพื่อดูแลรักษาสุขภาพของคนไทย เครือสยามไบโอไซเอนซ์ จึงก่อตั้งขึ้นในปี 2552 ซึ่งประกอบไปด้วย 2 บริษัทหลัก คือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ (siambioscience) จำกัด และบริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด เพื่อดำเนินการวิจัย พัฒนา และผลิตยา เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่าง ๆ” ในเว็บไซต์ของบริษัทระบุ และภารกิจสำคัญของเครือฯ คือ การผลิตยาชีววัตถุ หรือ ยาไบโอฟาร์มา ซึ่งเป็นยาที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง สามารถบำบัดรักษาโรคต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลข้างเคียงต่ำ อาทิเช่น การผลิตยาเพิ่มเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว นับเป็น “ผู้ผลิตยาชีววัตถุรายแรกของอาเซียน” โดยมีสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ถือหุ้น 100%

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ปี 2563 ตัวแทนของ สธ. และผู้บริหารของ SCG ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด จึงประสานบริษัทแอสตราเซเนกา มาดูมาตรฐานการวิจัย Cell Base Teacnology ของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงเซลล์ของไวรัส และขีดความสามารถผลิตเชิงอุตสาหกรรม และเริ่มถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต เดือนตุลาคม 2563 (ก่อนการลงนามจัดซื้อ) ซึ่งเทคโนโลยีนี้ องค์การเภสัชกรรมเองก็ยังทำไม่ได้

ผู้เกี่ยวข้องความร่วมมือนี้กล่าวว่า เป็นการเสียสละของเครือสยามไบโอไซเอนซ์ ที่กำลังเร่งวิจัย ผลิต และส่งออกยาชีววัตถุอย่างครบวงจร เน้นยารักษาโรคมะเร็ง โรคโลหิตจาง และโรคแพ้ภูมิตนเอง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ สะเก็ดเงิน เป็นต้น หันมาเริ่งผลิต “อาวุธสงคราม” คือ วัคซีนโควิด-19 อย่างเร่งด่วน

นายกรัฐมนตรีลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้า ระหว่าง สธ. กับบริษัท แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) บริษัทผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 27 พ.ย. 2563 เป็นไปตามมติ ครม. วันที่ 17 พ.ย. ซึ่งให้ความเห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการจองล่วงหน้าและการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัทแอสตราเซเนกา ประเทศไทย และบริษัทแอสตราเซเนกา สหราชอาณาจักร ในวงเงิน 6,049,723,117 บาท ในจำนวนนี้เป็นงบฯ สำหรับการบริหารจัดการวัคซีนกว่า 2 พันล้านบาท โดยคาดว่าจะจัดหาวัคซีน 26 ล้านโดสให้ประชากรกลุ่มเสี่ยง 13 ล้านคนได้ภายในกลางปี 2564 (ประมาณเดือนพฤษภาคมนี้)

แต่ในวงงบประมาณดังกล่าว บริษัท แอสตราเซเนกา ไม่ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทย หรือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ 100 % เป็นราคาไม่รวม “ไวรัสหัวเชื้อ” หากบริษัท แอสตราเซเนกา ไม่ส่งหัวเชื้อเซลล์ และเชื้อไวรัสมาให้ ทางบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ก็ผลิตไม่ได้

เมื่อพิจารณาในสัญญาพบว่า สยามไบโอไซเอนซ์ ได้ตัวอย่างหัวเชื้อ และกำลังการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี เพื่อเปิดตลาดขายเฉพาะในอาเซียนเท่านั้น หมายความว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ ยังไม่ทำให้เกิดความมั่นคงทางวัคซีน จนกว่า สยามไบโอไซเอนซ์ จะสามารถในการผลิตทำหัวเชื้อเอง โดยไม่ต้องต่อรองซื้อหัวเชื้อจากต่างประเทศทุกปี

ภาพ : AstraZeneca

กรณีนี้ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ บอกว่า ได้มอบหมายให้ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค สวทช. วิจัยและผลิตตัวอย่างเชื้อ เพื่อให้เชื่อมต่อเข้ากับการผลิตแบบปลายน้ำของสยามไบโอไซเอนซ์ได้ ขณะที่สัญญาการจองซื้อวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา และสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นแบบ No Profit, No Loss ผลิตให้ในราคาต้นทุน และจำหน่ายกลับมาในราคาต้นทุน ไม่มีเรื่องของกำไรมาเกี่ยวข้อง เป็นการทำเพื่อให้ได้มาซึ่งวัคซีน รวมถึงมีการถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีในการผลิต

อย่างไรก็ตาม วัคซีนทุกชนิดของทุกบริษัทนั้น มีอายุในการสร้างภูมิต้านทานในร่างกาย 3 เดือนและไม่เกิน 2 ปี แปลว่าต้องมีการฉีดวัคซีนทุกปี จนกว่าโรคนี้จะสงบกลายเป็นโรคท้องถิ่น นั่นหมายความว่า การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด -19 ไม่สามารถใช้ “วัคซีน” เป็นเครื่องมือเดียว แต่การใช้งานระบาดวิทยา หรือ “Social Vaccine” การมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันตนเองยังเป็นเรื่องที่ต้องทำคู่ขนานกันไป


ติดตาม “Social Vaccine วิถีปกติใหม่…ตลอดไป” ต่อใน นับถอยหลังวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก EP.4

อ่านเพิ่มเนื้อหาชุด “นับถอยหลังวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก”

EP.1 ระบาดรอบใหม่ บีบ ‘ไทย’ ซื้อวัคซีน ‘จีน’

EP.2 ไวรัสกลายพันธุ์ วัคซีนโควิด-19 คุมอยู่?

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์