ศักยภาพท้องถิ่น สู้โรคระบาด | “รัฐบาลอย่าทำทุกอย่างคนเดียว”

จากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ยังคงติดตามการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19

อีกพื้นที่ ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร เมืองซึ่งมีทั้งแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร และโรงงานจำนวนไม่น้อย และมีผู้คนจำนวนมากที่เดินทางเข้าออก เป็นประชากรแฝงกลางวันในกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั่นคือ “จังหวัดนครปฐม”

The Active พูดคุยกับ จิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม ถึงบทบาทการทำงาน สะท้อนปัญหาถึงรัฐบาล ให้รับฟัง และไว้ใจท้องถิ่นในการบริหารจัดการตนเอง

“สิ่งที่ถือเป็นบทบาทหลัก ของ อบจ. ก็คือ งบประมาณ หน่วยงานใดที่ต้องใช้งบประมาณมีหน้าที่ต้องรายงานต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เมื่ออนุมัติแล้ว อบจ. ก็จะสนับสนุน”

นายก อบจ. นครปฐม อธิบายให้เห็นภาพอย่างง่ายว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้น ได้รับงบประมาณส่วนหนึ่งจากภาษีของประชาชน ซึ่งมีจำนวนมากพอที่จะใช้บริหารจัดการภายในจังหวัด ทั้งจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม หรือแม้แต่กระทั่งการระงับยับยั้งการแพร่ระบาดในพื้นที่ อย่างการตรวจคัดกรองเชิงรุก

สิ่งเหลานี้เป็นค่าใช้จ่ายที่งบประมาณแผ่นดินโดยปกติ ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หนึ่งในกระเป๋าเงินที่สำคัญในช่วงเวลาวิกฤตนี้ คือ “การใช้จ่ายเงินสะสม” โดยตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในปี 2564 นี้ อบจ.นครปฐม ได้ใช้เงินไปแล้วกว่า 45 ล้านบาท

นโยบายจากล่างขึ้นบน ให้ผู้ปฏิบัติตัดสินใจ

การของบประมาณเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ของจังหวัดนครปฐมสะท้อนการทำงานแบบล่างขึ้นบน โดยโรงพยาบาลต่าง ๆ ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติ ผู้ที่ต้องใช้ประโยชน์จากเครื่องมือเหล่านั้น จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรใช้อุปกรณ์แบบใด ราคาเท่าไร และซื้อที่ไหน โดย อบจ.ทำหน้าที่เพียงพิจารณาให้ความเห็นชอบ และจะไม่ก้าวก่ายในการตัดสินใจ ซึ่ง นายก อบจ. นครปฐม บอกกับเราว่า “คนใช้ ต้องเป็นคนซื้อ เราจะไปรู้ดีกว่าเขาได้อย่างไร” และได้ใช้นโยบายเช่นเดียวกันนี้กับทุกหน่วยงาน ทั้ง ด้านการศึกษา กีฬา และเทคโนโลยี

นโยบายนี้เองสะท้อนให้เห็นวา การใช้งบประมาณควรเกิดขึ้นจากผู้ปฏิบัติ คนในพื้นที่ ซึ่งในปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้น ส่วนกลางมักคิดมาให้ว่าท้องถิ่นควรใช้เงินเท่าไร และใช้ไปเพื่ออะไรบ้าง โดยสรุปแล้วการจัดสรรงบประมาณให้กับท้องถิ่นจึงไม่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ และไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนนั่นเอง

น้อยใจคุมโควิด-19 ได้ดี แต่กลับถูกตัดวัคซีน เร่งหาวัคซีนตัวเลือก

ในช่วงเวลาที่ The Active สนทนากับ นายก อบจ. นครปฐม จังหวัดนครปฐมเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ “สีแดงเข้ม” ที่มีผู้ป่วยมากที่สุดติด 10 อันดับแรกของประเทศ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ในเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา

แต่หากย้อนกลับไปในการระบาดก่อนหน้านั้น จังหวัดนครปฐมถูกจัดให้เป็นพื้นที่ควบคุม หรือ “สีส้ม” ถึงแม้จะมีพื้นที่ติดกับกรุงเทพฯ ก็ตาม ซึ้งชี้ชัดได้ถึงมาตรการบางอย่างที่ดำเนินการได้สำเร็จผล ในการป้องกันการแพร่ระบาดในพื้นที่

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อมีการปรับแผนการกระจายวัคซีน โดยหันมาพิจารณาถึงพื้นที่การแพร่ระบาด มากกว่าจำนวนประชากร จังหวัดนครปฐม จึงถูกตัดลดวัคซีนเพื่อนำมาฉีดให้กับพื้นที่เร่งด่วน อย่างกรุงเทพฯ ก่อน

“ไม่รู้ว่าเป็นความโชคร้าย หรือความโชคดี หรือจะดีใจ หรือจะน้อยใจ นครปฐมของเราถูกตัดวัคซีน เพราะเหตุผลว่าสามารถควบคุมโควิดได้ดี ฟังดูเหมือนน่าภูมิใจ…แต่ไม่ใช่”

ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนคนปฐม ณ วันที่ 13 ก.ค. 2564 จังหวัดนครปฐมมีการฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 138,666 โดส ซึ่งแบ่งเป็นการฉีดเฉพาะโดสแรก 111,435 คน และฉีดครบ 2 โดส จำนวน 27,231 คนเท่านั้น ซึ่งเมื่อคิดเป็นอัตราส่วนต่อจำนวนประชากรในจังหวัดที่มีมากกว่า 900,000 คน มีคนฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็น ซึ่งเป็นจำนวนที่สวนทางกับผู้ติดเชื้อในจังหวัด ที่ทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องมาโดยตลอด

นายก อบจ. นครปฐม ย้ำว่าจริง ๆ แล้ว ณ ตอนนี้หน้าที่ในการจัดหาวัคซีนเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลาง ส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่เข้าไปเสริม ดูแลเรื่องการจัดการภายในให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งทางจังหวัดเตรียมการมาอย่างดีโดยตลอด แต่เมื่อการจัดสรรวัคซีนจากส่วนกลางล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผน จึงทำให้ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดไม่ได้ทำหน้าที่ฉีดวัคซีน กลับต้องมาแก้ไขปัญหาหลังจากไวรัสเข้าโจมตีพื้นทีแล้ว ซึ่ง ณ ปัจจุบันสถานการณ์ภายในจังหวัดเริ่มเกิดวิกฤต เตียงเต็ม คนไข้ล้นโรงพยาบาลหลัก และโรงพยาบาลสนาม ต้องหันกลับมาเน้นการรักษาตัวที่บ้านและในชุมชนแทน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด

ด้วยการจัดสรรวัคซีนที่น้อย และล่าช้านี้เอง อบจ.นครปฐม จึงใช้เงินสะสมของ อบจ. เพื่อจองซื้อวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 100,000 โดส ล่าสุด 15 ก.ค. 2564 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศเรื่องการ จัดสรรวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ให้หน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งที่ 1 อบจ. นครปฐมได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวน 19,000 โดส ซึ่งนายกอบจ.นครปฐม เล่าให้ The Active ฟังถึงกระบวนการ กว่าจะสามารถจองซื้อวัคซีนตัวเลือกได้ ก็ไม่ง่ายเช่นเดียวกัน

“เราทำหนังสือไปถึงราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้รับการตอบกลับว่าให้ไปผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน และการแบ่งกลุ่มของเรา ก็ไม่ตรงหลักเกณฑ์ของทางราชวิทยาลัยฯ คือ เขาต้องการแบ่งเป็นกลุ่มอาชีพอย่างทั่วถึง แต่เราจัดให้ฉีดกับผู้นำท้องถิ่น ที่จำเป็นต้องลงไปในพื้นที่ เรามองว่าเขาหยุดนิ่งไม่ได้ แต่เมื่อต้องแก้ไข ก็กลับมาจัดใหม่ ส่งให้ผู้ว่าเซ็นแล้ว ตอนนี้ยังรอการจัดสรรอยู่”

เมื่อถามว่ามีแผนการจัดหาวัคซีนตัวเลือกเพิ่มเติมหรือไม่ นายก อบจ. นครปฐม บอกว่าขึ้นอยู่กับการจัดสรรวัคซีนจากส่วนกลาง หากยังช้า และไม่ทันต่อการแพร่ระบาดในพื้นที่ก็จำเป็นต้องสั่งเพิ่ม แต่หากวัคซีนถูกจัดสรรมาได้ทันเวลา หลังจากการฉีดวัคซีนตัวเลือกไปแล้ว ก็ถือว่าเป็นการทำงานเพื่อเสริมและเติมเต็มกัน เพราะสุดท้ายแล้ว คนไทยทุกคนต้องได้รับวัคซีน

และที่สำคัญ อบจ. นครปฐม ก็ไม่สามารถจัดหาวัคซีนมาให้กับประชาชนในจังหวัดนครปฐมทุกคนได้ เนื่องจากงบประมาณจำกัด โดยจากการหาข้อมูลจากเอกสารประกอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ในส่วนของเงินสะสมนั้น มีทั้งสิ้น 631,668,505 บาท แต่หากจะต้องซื้อวัคซีนให้ประชากรประมาณ 900,000 คนนั้น เป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งท้ายที่สุดรัฐบาลก็จำเป็นต้องสนับสนุน และเร่งจัดหาวัคซีนโดยเร็วให้ได้

“รัฐบาลก็มองว่าทุกอย่างเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ทุกคนก็อยากมีส่วนช่วย ทำไมรัฐบาลไม่เปิดกว้างให้เอกชนสามารถหาวัคซีนมาเองได้ มีหลายที่ ที่พร้อมช่วยเหลือ”

นายก อบจ.นครปฐม ทิ้งท้ายเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลว่า หากมีการเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนมาได้เองนั้น จะสามารถช่วยให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น โดยได้ยกตัวอย่างห้างร้าน โรงงาน และเอกชนในจังหวัดนครปฐมที่เรียกร้องวัคซีนให้กับบุคลากรของตนเอง แม้ต้องเสียเงินเองก็ยอมลงทุน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนของตัวเอง

วอนรัฐแก้ระเบียบให้ อบจ. สามารถเข้าไปดูแลรายตำบลอย่างเฉพาะเจาะจงได้

อุปสรรคการทำงานที่สำคัญภายในจังหวัดนครปฐม คือการเข้าไปสนับสนุนงบประมาณให้กับตำบลใดตำบลหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่ง นายก อบจ. นครปฐม บอกกับเราว่า ณ ตอนนี้ถ้าอยากช่วยเหลือต้องดำเนินการในภาพรวม คือ มีมากกว่าหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ ส่วนนี้เองเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการรักษาผู้ป่วยในจังหวัดนครปฐม ซึ่งกำลังจะกระจายไปในแต่ละตำบล โดยยังมีข้อจำกัด

“ต้องยอมรับว่าบางตำบลมีจำนวนประชากรน้อย ซึ่งหมายถึงงบประมาณก็จะน้อยตามไปด้วย ลำพังแค่การจัดการเรื่องอื่นก็แทบจะไม่พอแล้ว ถ้าจะมาให้จัดการด้านนี้อีกด้วย ก็จะลำบาก…แม้จะอยากลงไปช่วยแค่ไหน แต่ระเบียบไม่เปิดช่องให้เราทำได้ จึงต้องเป็นไปในนามส่วนตัว”

ด้วยสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นในจังหวัดนครปฐม ได้มีแนวทางสำหรับรักษาผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ โดยใช้วิธีการให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI)และการดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยระบบชุมชน หรือ Community Isolation (CI) โดยมอบให้ทุกอำเภอได้จัดเตรียม CI ในระดับตำบลทุกตำบล เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในแต่ละตำบลด้วย ซึ่งเมื่อมีการมอบหมายให้แต่ละตำบลดำเนินการจึงนำมาซึ่งการเตรียมความพร้อม กรณีนี้เองหากสามารถพิจารณาช่วยเหลือพื้นที่ใดที่ยังมีศักยภาพไม่มากพอ ย่อมช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมทุกพื้นที่นั่นเอง

นายก อบจ. นครปฐม ทิ้งท้ายว่า “จริง ๆ แล้วถ้าวัคซีนตอนนี้มาไว เราไม่จำเป็นต้องมาพูดถึงปัญหาเรื่องนี้เลย ถ้าบอกว่าวัคซีนทั่วโลกขาดแคลน ทำไมบางประเทศเขาเอาไปฉีดให้กอลิลลากันแล้ว”

จากบทบาทการทำงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐมนี้เอง สะท้อนให้เห็นศักยภาพของท้องถิ่น ที่มีอยู่พร้อมมูล เพียงแต่รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญ ไว้ใจมอบอำนาจ เพื่อเป็นกลไกหลักในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ไม่ผูกอำนาจไว้ที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องเป็นการประสานความร่วมมือ

ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายสุดท้าย คือ ประชาชนในทุกพื้นที่ได้รับความช่วยเหลือ อย่างรวดเร็ว และเท่าเทียมนั่นเอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์