“ฝนตกน้ำท่วมขัง ซ้ำซาก”
“ขยะอุดตันท่อระบายน้ำ”
“พื้นที่สาธารณะไม่เพียงพอให้คนไปพักผ่อนหย่อนใจ”
“รถติด ชั่วโมงเร่งด่วน”
สารพัดปัญหาที่คนเทศบาลนครนนทบุรี สะท้อนกับ The Active ก่อนการเลือกตั้งเทศบาลเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 68 จะเกิดขึ้น หวังฝากเป็นการบ้านให้ นายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาล ที่กำลังจะเข้ามาบริหารงาน สานต่อเพื่อแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านอย่างจริงจัง

ปัญหาพื้นฐานที่เกิดขึ้นซ้ำซากเหล่านี้ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ เทศบาล ที่ต้องจัดการ หากเป็นพื้นที่อื่นปัจจัยสำคัญอาจจะมาจาก “งบประมาณที่ไม่เพียงพอ” แต่อาจไม่ใช่กับ เทศบาลนครนนทบุรี ที่มีงบประมาณประจำปีสูง ติด 1 ใน 5 ของประเทศ
The Active ชวน รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ให้เหตุภาพที่ชัดขึ้น ว่า จริง ๆ งบประมาณอาจไม่ใช่คำตอบเดียว สำหรับการแก้ปัญหาท้องถิ่น แต่เป็นอาจหมายถึง การกระจายอำนาจ ที่เกิดขึ้นจริง และตามมาด้วยการทำงานที่ เอาจริงเอาจัง ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญของผู้บริหารท้องถิ่น
โจทย์ใหญ่ บทพิสูจน์นายกเทศมนตรีนครนนท์
รศ.วีระศักดิ์ สะท้อนให้เห็นภาพ โดยยกตัวอย่างจาก เทศบาลนครนนทบุรี ซึ่งเป็นเทศบาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ทั้งในเชิงของงบประมาณ และประชากรตามทะเบียนราษฎร์ ที่มีมากกว่า 250,000 คน คาดว่าหากรวมประชากรแฝงแล้ว ก็อาจจะมีอีกประมาณหนึ่งเท่าตัว ซึ่งเทศบาลนครนนทบุรี เป็นกรณีที่แตกต่างออกไปจากพื้นที่อื่น ตรงที่ปัญหาของเมืองและประชาชน หากเกิดในพื้นที่อื่นมักจะมีข้อจำกัดอยู่ที่ งบประมาณ ซึ่งนครนนท์ก็มีปัญหา แต่ก็มีงบประมาณอยู่มากเช่นกัน หรือกล่าวได้ว่า มีศักยภาพทางการเงินการคลังที่ค่อนข้างดี ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณประจำปี หรือ งบประมาณที่เหลือเก็บสะสมไว้
“งบฯ การเงินที่เหลืออยู่ร่วม 10,000 ล้านบาท แต่เอาจริง ๆ เงินที่เอามาใช้ได้จริงอาจจะอยู่ที่ประมาณสัก 7,000 – 8,000 ล้านบาท ซึ่งก็เยอะอยู่พอสมควร ทำไมถึงเกิดกรณีอย่างนี้ ที่ปัญหาของชุมชนยังมี งบประมาณ ก็มีแต่ทำไมยังคงมีปัญหาอยู่”
รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ

เทศบาล – ปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้นเหตุ แก้ปัญหายาก
รศ.วีระศักดิ์ วิเคราะห์ต่อว่า เรื่องนี้มาจาก 2 สาเหตุใหญ่ ๆ คือ 1. ตัวเทศบาล (ระบบราชการอุ้ยอ้าย) 2. ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเทศบาลเริ่มตั้งแต่ผู้บริหารฝ่ายการเมือง ฝ่ายสภา รวมไปถึงบุคลากร ซึ่งต้องยอมรับว่า ผู้บริหารฝ่ายการเมืองอยู่มานานลำดับต้น ๆ ของนายกเทศมนตรีในประเทศไทย คือ เกิน 30 ปี ซึ่งผลการเลือกตั้งล่าสุด แชมป์เก่า อย่าง สมนึก ธนเดชากุล ก็ยังสามารถรักษาเก้าอี้นายกเล็กเมืองนนท์ ได้เป็นสมัยที่ 10 แล้ว
แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีคู่แข่งทางการเมือง แต่คะแนนความนิยมยังไม่สามารถสู้ได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ตรงที่ว่าเมื่อยู่มานาน ความกระตือรือร้นในทางการเมืองอาจจะไม่เต็ม 100 รวมไปถึงมุมมองใหม่ ๆ ของการจัดการท้องถิ่นที่เติบโตอย่างมาก เมืองขยาย ซึ่งอาจตามไม่ทัน
“วันนี้เราพูดถึงเรื่องเมืองในลักษณะของการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ฉะนั้นก็ต้องการคนที่เข้าใจว่าข้อมูลคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร มันจะสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาเทศบาลได้อย่างไร บางครั้งผู้บริหารไม่ได้ไล่ตามองค์ความรู้หรือ วิทยาการใหม่ ๆ ก็จะเสียเปรียบ ทำให้ปัญหาหลายเรื่องคาราคาซังอยู่”
รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ

ขณะที่ตัวบุคลากรของเทศบาลก็อาจจะมีส่วน เพราะด้วยความที่เป็นท้องถิ่นขนาดใหญ่ ความเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชน ก็จะมีระยะห่างมากขึ้น หากเทียบกับ อบต. เล็ก ๆ ที่มีคนทำงาน 20 – 30 คน เวลาประชาชนมีปัญหาก็จะร่วมด้วยช่วยกันแก้ แต่พอเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีคนหรือบุคลากรประมาณหลัก 1,000 คนขึ้นไป เริ่มมีการแบ่งส่วนงาน แบ่งกอง แบ่งฝ่าย มีระเบียบปฏิบัติที่มากำหนดกติกาขั้นตอนต่าง ๆ ทำให้มีความเป็นทางการมากขึ้น หรือที่เรียกว่า “Red Tape” ความอุ้ยอ้ายของการติดต่อประสานงาน รวมถึงการทำงานประสานงานกันภายในข้ามกอง ข้ามสำนัก ขั้นตอนเยอะ
“เดาว่าตรงนี้ อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้บุคลากรที่ทำงานอยู่ เขาเรียกว่ามี Comefort Zone หรือ Safe Zone อยู่อย่างนี้ ฉันก็แฮปปี้แล้ว มีงานที่มั่นคงปลอดภัย มีค่าตอบแทนเหมาะสม รวมถึงระบบท้องถิ่น ก็จะมีการประเมิน มีแจกโบนัส อยู่ในจุดที่ข้าราชการก็อาจจะรู้สึกว่า ฉันทำประมาณนี้ ทำเท่านี้เพียงพอและอยู่รอดได้ ถ้าไปเจอกับปัจจัยการเมืองที่ไม่กระตุ้นอะไรมาก องค์กรก็จะขาดความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาให้ประชาชน มีความเป็นไปได้สูงแต่ว่าก็ยังไม่ฟันธงนะ ว่ากรณีของเทศบาลนครนนท์ เกิดจากสาเหตุนี้จริงหรือเปล่า แต่มีความเป็นไปได้”
รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ
รศ.วีระศักดิ์ ยังชี้ให้เห็น ปัจจัยหลักที่สำคัญของการบริหารงานท้องถิ่น คือ ปัญหาในเชิงโครงสร้าง รวมถึงเรื่องระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ หลายคนก็พูดว่าตรงนี้ คือ มิติเรื่องกระจายอำนาจ เนื่องจากปัญหาหลายเรื่องของเมือง ของเทศบาลต้องยอมรับว่า ไม่ได้อยู่ในอำนาจที่ที่เทศบาลจะจัดการเองได้ทั้งหมดเพียงลำพัง อย่างเช่น กรณีน้ำท่วม ที่ต้องเจอทุกครั้งเวลาที่ฝนตกหนัก ๆ ซึ่งเทศบาลนครนนทบุรี ติดแม่น้ำเจ้าพระยา การจะไปทำตลิ่งกั้นให้สูงขึ้น เป็นเรื่องที่เทศบาลแม้จะมีงบประมาณ ก็อาจจะทำเพียงลำพังไม่ได้ เพราะการทำตลิ่งกั้น เป็นเรื่องที่กระทบกับ กรมเจ้าท่า ที่ดูแลแม่น้ำและการสัญจร รวมถึงในบางครั้งการจัดการระดับน้ำ เป็นเรื่องที่กรมชลประทาน เป็นคนจัดการในภาพรวมของประเทศ เทศบาลทำเองเพียงลำพังไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อเทศบาลไม่มีอำนาจจัดการได้ทั้งหมด ก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการประสานงาน ว่าจะติดต่อประสานงานได้ขนาดไหน
“สิ่งสำคัญ คือ ถ้าเทศบาลประสานงานดี กระตือรือร้น มีข้อมูลครบถ้วน จะเกิดการจัดการปัญหาที่มีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเทศบาลทำงานแบบไปเรื่อย ๆ ตามระเบียบขั้นตอนทางราชการ สื่อสารด้วยจดหมายอะไรอย่างนี้ ปัญหาชาวบ้านก็คาราคาซังอยู่อย่างนั้นแหละ”
“ฉะนั้นประเด็นที่ 2 นี้ ก็เป็นอีกสาเหตุที่อาจจะทำให้ปัญหาหลาย ๆ เรื่องของท้องถิ่น ที่ไม่ใช่แค่เทศบาล มันจัดการได้ไม่ค่อยลุล่วง เท่าที่วิเคราะห์ดู จากเรื่องโครงสร้างอำนาจ”
รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ

มีงบฯ – ไม่มีอำนาจ คล้ายกับ กทม.
รศ.วีระศักดิ์ ยังชี้ว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างจะคล้ายกับกรุงเทพมหานคร กล่าวคือ กทม. ที่เป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่มีการเลือกตั้งผู้บริหารโดยตรง ส่วนเทศบาลในอดีตไม่ใช่เลือกโดยตรง เป็นการเลือกทางอ้อม โดยเลือก สท. ก่อน แล้ว สท. ค่อยไปโหวตเลือกนายกเทศมนตรีเหมือนรูปแบบรัฐบาล เพิ่งมาเปลี่ยนเมื่อหลังรัฐธรรมนูญ ปี 2540 แต่ท้ายที่สุดวันนี้ กทม. ถึงจะเป็นรูปแบบพิเศษ แต่ในเชิงของอำนาจหน้าที่ ไม่ได้แตกต่างจากเทศบาลเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกแต่จริงและเราก็ทนอยู่กับความแปลกนี้
“ผู้ว่าฯ กทม. หลายครั้งทำอะไรไม่ได้ก็ได้เพียงแค่ประสานงาน อย่างกรณีของภัยพิบัติที่ตึกถล่ม จะสะท้อนให้เห็นปัญหาเลยว่า กทม.ทำได้เพียงบางส่วน เช่น การรื้อถอนซากปรักหักพัง ทำได้เพียงเพราะว่ามีผู้เสียชีวิต เป็นเรื่องของเกี่ยวกับผู้คน แต่จริง ๆ แล้ว อำนาจในการจัดการทั้งหมด พอเคลียร์คนเสร็จต้องรีบคืน ปภ. (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) เพราะว่าเป็นเหตุภัยพิบัติ ปภ.ต้องมาจัดการ แต่ก็ไม่แน่ใจอีกว่า ปภ.จะดูแลได้ขนาดไหน”
รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ
กรณีของ กทม. ชี้ให้เห็นว่าการแบ่งความรับผิดชอบอำนาจหน้าที่ระหว่างราชการกับท้องถิ่น มีประเด็นที่เป็นข้อจำกัดด้วยกันทั้งสิ้น แม้ว่าจะเป็นท้องถิ่นขนาดใหญ่ก็ตาม ก็ไม่ได้หลุดพ้นจากกรอบโครงสร้างแบบเดิม
มีโอกาสไหม ? ที่ท้องถิ่นจะจัดการตัวเองได้จากงบฯ ที่มี
เมื่อถามถึงโอกาสที่จะทำให้ท้องถิ่นใช้งบประมาณที่มีได้อย่างมีประสิทธิภาพ รศ.วีระศักดิ์ ยอมรับว่า ในความจริง เทศบาลตั้งงบฯ ไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีมากพอสมควร ดังนั้นทางออกที่พอจะทำได้ ก็มีข้อเสนอทั้งในระยะสั้น และ ระยะยาว
ระยะสั้น มองว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้อิสระกับท้องถิ่นในการตัดสินใจในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้คล่องตัวขึ้น ซึ่งคำว่า “ให้อิสระ” อย่างง่ายที่สุด คือ ให้ท้องถิ่นเป็นผู้วางกติกาการเบิกจ่าย เช่น เขามีงบประมาณอยู่ และเขาผ่านกระบวนการประชาธิปไตย และเวลาจะใช้จ่ายต้องทำโครงการเข้าสู่สภาเทศบาลเพื่อพิจารณา หรือ กทม. ก็จะมีสภา กทม. แต่ท้ายที่สุดวันนี้ มีงบประมาณ ผ่านสภามาแล้ว แต่พอจะเบิกจ่ายจริง ต้องกลับไปอ้างอิงระเบียบของส่วนกลางว่าสามารถจ่ายเงินได้หรือไม่ และหากไม่มีก็ติดไม่สามารถเดินหน้าโครงการได้
“แม้ว่างบฯ จะผ่านมาแล้ว มีเงินพร้อมจะใช้แล้วก็ตาม แต่พอไม่มีระเบียบรองรับเบิกไม่ได้ หน่วยตรวจสอบก็คือ สตง. (สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน) นี่แหละ ก็จะบอกคุณเบิกจ่ายโดยไม่มีระเบียบ จะถูกเรียกเงินคืน ฉะนั้น การปลดล็อกง่ายที่สุดในระยะสั้น ก็คือให้ท้องถิ่นเป็นคนวางกติกา ว่าเรื่องไหนสามารถเบิกจ่ายได้”
รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ
รศ.วีระศักดิ์ ยังยกตัวอย่าง การจัดการขยะของท้องถิ่น เมื่อกำหนดงบประมาณเสร็จเรียบร้อย จะสามารถจัดการหาวิธีจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อาจจะจ้างเหมาเอกชน หรือจะให้ชุมชนบริหารจัดการขยะเอง โดยอ้างอิงกลับไปที่ระเบียบที่ที่ท้องถิ่นกำหนดไว้ แต่ระเบียบอาจจะต้องมีการปรับให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของเมือง เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปเร็ว ระเบียบอาจไล่ตามไม่ทัน ที่สำคัญคือ การจะแก้จากส่วนกลาง อาจจะกินเวลา 3 – 4 ปี
“นี่คือข้อจำกัดที่ทำให้ท้องถิ่นอยู่ในสภาวะที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก มีเงินแต่ทำไม่ได้ มันก็เกิดความอึดอัดพอสมควร อาจจะเป็นข้อบัญญัติ เทศบัญญัติของกรณีเทศบาล หรืออาจจะเป็นประกาศ คำสั่ง หรือระเบียบปฏิบัติงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแค่นี้พอ นี่คือการแก้ได้เร็ว ทำได้ง่าย แต่ต้องแลกกับการที่ส่วนราชการผู้กำกับดูแล คือ กระทรวงมหาดไทย ต้องเปิดใจยอมรับให้ท้องถิ่นมีอิสระในการกำหนดกติกาของตัวเอง”
รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ
รศ.วีระศักดิ์ ยังชี้ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ยังรวมไปถึงหน่วยงานที่ดูเรื่องการคลังและงบประมาณ เช่น สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานตรวจสอบ อย่าง สตง. ที่ก็ต้องยอมรับกติกาของท้องถิ่น ที่เหมาะกับพื้นที่ตัวเอง แม้ว่าระเบียบนั้นอาจจะเป็นวิธีที่ต่างไปจากแนวปฏิบัติของส่วนราชการทั่วไป ยกเว้นกรณีถ้าให้อิสระปฏิบัติงานไปแล้ว เกิดปัญหา เช่น ปัญหาทุจริต หน่วยงานที่ดูแลต้องไปตรวจสอบดำเนินคดี

ระยะยาว ต้องกระจายอำนาจให้เป็นจริง
การกระจายอำนาจ จึงถือเป็นโจทย์สำคัญ ทั้งการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการ การกระจายอำนาจในเชิงการตัดสินใจ การกระจายอำนาจในเชิงการเงินการคลัง หลายคนอาจจะบอกว่า “เรากระจายอำนาจแล้ว” แต่เนื้อในหรือสาระของการทำงานของท้องถิ่นแทบจะยังเรียกว่า “กระจายไม่เยอะ” โดยสิ่งที่บอกว่าการกระจายอำนาจยังไม่ค่อยอิสระ เช่น ท้องถิ่นบอกว่าจะจัดกิจกรรมกีฬา เพื่อป้องกันปัญหายาเสพติดให้กับเด็กเยาวชนในโรงเรียน แต่ในระเบียบกำหนดว่า ทำได้แค่เฉพาะโรงเรียนในสังกัดท้องถิ่น แต่ในความเป็นจริงปัญหายาเสพติดไม่ได้เลือกโรงเรียนว่าเป็นสังกัดไหน
“คือเด็กและเยาวชน อาจจะได้รับผลกระทบจากยาเสพติด อย่าง บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเยอะมาก แต่ถ้าท้องถิ่นจะไปจัดกีฬาในโรงเรียนสังกัดท้องถิ่น ส่วนโรงเรียนสังกัด สพฐ. ต้องไปดูระเบียบว่าทำได้หรือไม่ แต่เชื่อว่าท้องถิ่นอยากดูแลลูกหลานให้ทั่วถึง พอเป็นหน่วยงานคนละสังกัด จะทำอะไรก็ติดขัด การจัดการเรื่องพวกนี้ ไม่ลุล่วง เรามีปัญหาอย่างนี้เยอะพอสมควร”
รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ
เรื่องกระจายอำนาจ ในมุมมองของ รศ.วีระศักดิ์ คือ ภาครัฐส่วนกลาง ต้องยอมปล่อย ให้อิสระกับพื้นที่มากขึ้น เพราะทุกวันนี้เป็นปัญหางูกินหาง คือ รัฐส่วนกลางก็ไม่ไว้ใจ ไม่อยากให้อิสระกับท้องถิ่นจัดการเองโดยเบ็ดเสร็จ ในแง่หนึ่งอาจมีเหตุผลเพราะว่าท้องถิ่นจำนวนหนึ่งมีพวกแตกแถว ให้อิสระไปเยอะ ก็อาจจะใช้ความเป็นอิสระในการไปหาประโยชน์โดยไม่ควร ซึ่งในความจริงก็สามารถใช่การตรวจสอบความโปร่งใสได้ แต่ความยากกว่าก็คือ “ส่วนกลางไม่ปล่อย” ทำให้เสียโอกาสในการแก้ปัญหาของพื้นที่
มองกระจายอำนาจ จากบทเรียนถ่ายโอน รพ.สต.
รศ.วีระศักดิ์ ยังยกตัวอย่าง กรณี องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่เลือกตั้งไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ที่มีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากกระทรวงสาธารณสุข ไปอยู่ในท้องถิ่น ทำให้ตามกติกาเดิมระบบการดูแลของ รพ.สต.ที่เป็นการดูแลขั้นปฐมภูมิ พอมีการถ่ายโอนไปอยู่ในสังกัดของท้องถิ่นรัฐส่วนกลางเป็นคนขีดเส้นว่าจากเดิม รพ.สต.อยู่กับกระทรวงสาธารณสุข แต่พอถ่ายโอนไปก็ขีดเส้นกั้นว่า เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทย ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไม่ใช่กระทรวงมหาดไทยด้วยซ้ำ แต่เป็นสังกัด อบจ. ทำให้รัฐส่วนกลางไปกำหนดกติกา การประสานงานในระบบเดิมที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงเดียวถูกเปลี่ยน และเพราะใช้กับคนละสังกัด ทำให้ผลกระทบไปตกอยู่ที่ชาวบ้านโดยตรง เช่น การจัดส่งแพทย์จากโรงพยาบาลชุมชนไปตรวจเยี่ยมตาม รพ.สต. แต่พอย้ายไปต่างสังกัด แพทย์ก็ไม่สามารถออกไปตรวจพื้นที่นั้นได้
“ใครเสียประโยชน์ มันไม่ใช่เรื่องอำนาจ มันคือเรื่องของชาวบ้าน หรือการเบิกจ่ายยา เมื่อก่อนอยู่ในสังกัดเดียวกัน ก็เบิกจ่ายยาจาก โรงพยาบาลชุนชน ไป รพ.สต. ได้ แต่พอขีดเส้นแบ่งก็ทำไม่ได้เหมือนเดิม ต้องไปแก้ระเบียบกฎหมายรองรับเพื่อให้มันเบิกจ่ายยาได้ คำถาม คือ มีอะไรเปลี่ยนไปจากการถ่ายโอนมันแค่เปลี่ยนสังกัด แต่ทำไมส่วนราชการต้องไปตั้งกติกาใหม่ แล้วทำให้เรื่องมันยุ่งยากมากขึ้น ชาวบ้านได้รับผลกระทบคุณหมอมาเยี่ยมน้อยลง การเบิกจ่ายยาไม่สะดวกไม่คล่องตัวเหมือนเดิม รวมถึงเรื่องการเบิกจ่ายสิทธิรักษาพยาบาลอื่น ๆ”
รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ

รพ.สต.ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่อดีตจำนวนไม่น้อย สร้างในพื้นที่ในการดูแลของหน่วยงานอื่น เช่น พื้นที่เขตป่า เขตอุทยาน ที่ดินสาธารณะเขตชลประทาน แต่ไม่ได้มีใครทักท้วงเพราะเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ กระทรวงสาธารณสุขสามารถตั้งงบประมาณเพื่อดูแลอาคารสถานที่ได้ ปัญหาคือ เมื่อถ่ายโอนมาแล้ว พบปัญหาที่ดินก่อสร้างไม่ถูกต้อง ไม่มีการขออนุญาต และตัวอาคารสถานที่ไม่ได้ถูกบันทึกเป็นทรัพย์สินของ อบจ. ระเบียบงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้ไม่สามารถใช้งบประมาณซ่อมแซม ปรับปรุงพื้นที่ได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ตกอยู่ที่ประชาชน
“ผลกระทบไปตกอยู่ที่ชาวบ้าน กระทบต่อการให้บริการด้านสุขภาพ เดิมมันก็บริหารจัดการได้ แต่พอแค่กระจายตรงนี้มา กลับตามมาด้วยเงื่อนไขแปลก ๆ ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะเกิด กลายเป็นว่าเป็นอีกตัวอย่างปัญหาที่ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลก็ไม่ได้กระจายอะไรอย่างเต็มที่ลงมา ทางแก้ไม่ยาก จะออกเป็นมติ ครม. หรือแก้กฎหมายเพื่อมาดูแล รพ.สต.ให้คล่องตัวขึ้น แต่ไม่มีใครผลักดันเป็นเรื่องเป็นราว”
รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ
รัฐหวงอำนาจ ? ทำให้กระจายอำนาจ…ไม่ได้จริง
ถึงตรงนี้ รศ.วีระศักดิ์ มองว่า รัฐกลายเป็นเหมือนพยายามดึงอำนาจเอาไว้เอง คือ รัฐไม่ไว้วางใจ หรืออาจเป็นไปได้ว่า ในทางการเมือง รัฐอยากเป็นผู้เล่นหลักในเรื่องนี้ เพราะแรงจูงใจของภาครัฐก็เหมือนท้องถิ่น คือ “อยากมีผลงาน” อยากให้ประชาชนเห็นว่าเป็นผลงานของรัฐบาล เป็นผลงานของนายกเทศมนตรี
พร้อมยืนยันว่า หากกระจายอำนาจได้จริง สิ่งที่ตามมาสำหรับท้องถิ่นคือ ความรับผิดชอบ ตามมา เพราะถ้าท้องถิ่นได้รับอำนาจอิสระเพิ่มขึ้น จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเขาจะสามารถจัดการ หรือทำงานด้วยความโปร่งใส และคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งหรือไม่ ที่สำคัญคือ ต้องสร้าง กลไกการมีส่วนร่วม จากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบและกำกับการทำงานของท้องถิ่นได้ดีขึ้น
“ตรงนี้ผมไม่ค่อยกังวลมากนัก เพราะว่าประสบการณ์ 20 กว่าปี ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 40 เราเห็นการตื่นตัวของภาคประชาสังคม องค์กรตรวจสอบต่าง ๆ กระบวนการวอชด็อก เข้าไปตรวจสอบท้องถิ่นได้ใกล้ชิดมาก แล้วก็ตรวจสอบได้ง่าย ไม่ซับซ้อน เพราะเป็นเรื่องบ้านของเขา ดังนั้นการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ ก็ต้องกระจายความรับผิดชอบในการตรวจสอบไปด้วย”
รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ ทิ้งท้าย