กับดัก ‘หนี้บัตรเครดิต’ แม้แต่ ‘บ้าน’… ก็ไม่เหลือ!

ครั้งแรกที่เราได้ฟังเรื่องราวของ ‘เปิ้ล – ปทิตตา บุญสวัสดิ์’ ซึ่งเป็นหนี้บัตรเครดิต 2 แสนบาท แต่กลับถูกยึดบ้านมูลค่า 10 ล้านบาท!

คำถามชวนสงสัยเต็มไปหมด ว่าอะไร ? ทำให้ชีวิตของเปิ้ล ที่มีดีกรีเป็นถึงนักเรียนนอก มีพร้อมทั้งการศึกษา หน้าที่การงาน และฐานะครอบครัว กลับมาตกอยู่ในสถานะขาดความสามารถในการชำระหนี้ได้ขนาดนี้ แล้วเธอมาอยู่จุดนี้ได้อย่างไร ?

The Active มีโอกาสนั่งจับเข่าคุยกับเปิ้ลหลายชั่วโมง หลายครั้ง ทำให้เราได้มองเห็นเส้นทางไปสู่หุบเหว ‘หนี้’ ที่ทั้งตัวเธอเอง และระบบช่วยกันขุดสร้างกับดักเอาไว้

เปิ้ล – ปทิตตา บุญสวัสดิ์

อุดช่องโหว่ธุรกิจ ด้วย ‘เงินสดจากบัตรเครดิต’ ดอกเบี้ยสูง

เปิ้ล ย้อนเรื่องราวก่อนเป็นหนี้ ยอมรับว่าเธอระมัดระวังการใช้จ่ายเงินจาก ‘บัตรเครดิต’ อย่างมาก ปกติจะใช้ก็ต่อเมื่อเห็นว่ามีส่วนลด ของแถม และเปิดบัตรเครดิตใบแรกด้วยเหตุผลการใช้จ่ายที่คล่องตัวตามคุณสมบัติของบัตร

เธอเรียนจบจากต่างประเทศ หลักสูตรบริหารธุรกิจ มีตำแหน่ง หน้าที่ในบริษัทเอกชน มีเงินเดือนที่สามารถสมัครบัตรเครดิตได้สบาย ๆ และได้หลายใบด้วย ทำให้เธอมีบัตรเครดิตทั้งหมด 5 ใบ วงเงินใบละ 2 แสนบาท 

แล้ววันที่เป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ชีวิตหนี้’ ก็มาถึง… จากที่เคยใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตตามปกติในชีวิตประจำวัน เธอก็ค่อย ๆ กดเงินสดจากบัตรเครดิตมาหมุนทำธุรกิจไปด้วยเมื่อเงินสดขาดมือ

เธอต้องกดเงินสดจากบัตรเครดิตมาใช้หมุนทำธุรกิจรถยนต์มือสองกับเพื่อน ทุกอย่างดูเหมือนไปได้ดี หุ้นส่วนส่งเงินตามปกติ ถึงเวลาก็สามารถจ่ายได้ตรงตามยอดไม่มีค้างชำระ แต่ผ่านไป 1 ปี เหตุการณ์พลิกผัน เมื่อหุ้นส่วนหอบเงินที่ได้จากการขายรถยนต์มือสองเข้ากระเป๋าเพียงฝ่ายเดียว และหนีไป ทิ้งหนี้ในชื่อของเปิ้ลเอาไว้

“กดเงินสดจากบัตรมาลงทุนซื้อรถมือสอง แล้วก็จะเอาไปเข้าไฟแนนซ์ พอขายรถได้ ได้เงินมาต้นทุนต้องคืนเปิ้ล กำไรที่ขายได้แบ่งกัน จริงๆ แล้ว ธนาคารต้องโอนตังค์ไฟแนนซ์เข้ามาหาเราโดยตรง แต่เขาทำให้ยอดเงินโอนเข้าหาเขาแทน มันก็เลยสะดุด  สรุปหนี้ทั้งหมดมันก็มากองอยู่ที่เปิ้ล”

เปิ้ล ย้อนถึงจุดเริ่มต้นของหนี้

เมื่อรู้ว่าตัวเองโดนโกง เปิ้ล ก็แจ้งความดำเนินคดีเพื่อติดตามเงินจากหุ้นส่วน แต่เรื่องก็ไม่คืบหน้า ขณะที่บัตรเครดิตที่ใช้เต็มวงเงินทุกใบ รวมหนี้เกือบ 1 ล้านบาท ติดตามทวงถามเป็นเงาตามตัว

เธอตัดสินใจเดินเข้าไปเจรจากับธนาคารเพื่อขอผ่อนชำระขั้นต่ำเดือนละ 1,000 บาท แต่ได้รับคำตอบยืนยันว่า “ต้องจ่ายขั้นต่ำอยู่ที่เดือนละ 5,000 บาท” ซึ่งในเวลานั้นเธอประเมินตัวเองแล้วว่า หากรับข้อเสนอดังกล่าวเท่ากับว่าถ้ารวมยอดหนี้ทั้ง 5 ใบ เธอต้องจ่ายยอดรวมกันตกอยู่เดือนละ 25,000 บาท ซึ่งเธอจ่ายไม่ไหว!

“เราไปเจรจาต่อรองตั้งแต่วันแรกแล้วว่าเราจ่ายไม่ไหว เวลาคุณเป็นหนี้บัตรเครดิต เขาจะมีฟิกเลทที่เขาต้องการ ตอนนั้นเฉลี่ยประมาณ 5,000 บาท เขาบอกว่าคุณ ก็ต้องเซ็นเพื่อจะจ่าย 5,000 บาท ถ้าคุณจ่ายไม่ไหวเราก็จะยึดทรัพย์”

เปิ้ล อธิบาย

เมื่อกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้กับธนาคารเจ้าหนี้ไม่สำเร็จ ขณะที่ในตอนนั้นเปิ้ลก็ไม่เหลือเครดิตให้กู้ยืมเงินในระบบมาแก้ไขวิกฤตได้

การขาดชำระหนี้บัตรเครดิตติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี กระบวนการตามขั้นตอนกฎหมายที่เจ้าหนี้ทำ ก็คือการฟ้องและยึดทรัพย์ ‘บ้านย่านสีลม’ มูลค่าสูง10 ล้านบาท ซึ่งเธอมีชื่อครอบครองอยู่ จึงได้กลายมาเป็นทรัพย์ที่สามารถสืบยึดได้ในเวลาต่อมา

“เขามาแปะหมาย และบอกว่าจะประกาศขายบ้าน มูลค่าบ้านของเรา 3 ล้านกว่าบาท เห็นตอนแรกตกใจมากทั้งการฟ้องยึดทรัพย์ และราคาบ้าน เพราะบ้านเราอยู่สีลมราคาประเมินน่าจะมากกว่านั้น เราเลยต้องจ้าง บริษัทเอกชนเข้ามาประเมินบ้านได้ตัวเลขใหม่ราคา 10 ล้านบาท ยื่นต่อกรมบังคับคดี ทักท้วงได้ และก็เข้าสู้การประมูลตามขั้นตอนของกรมบังคับคดี”

เปิ้ล ย้อนวินาทีที่บ้านกำลังจะถูกยึด

ทรัพย์ที่เข้าสู่กระบวนการประมูลจะประกาศขายครั้งแรกในราคาประเมิน 100% หากประมูลไม่ได้ในครั้งแรกราคาจะถูกลดลงเรื่อย ๆ จนถึงครั้งสุดท้ายคือครั้งที่ 6 ราคาจะอยู่ประมาณ 70% ทำให้บ้านของเปิ้ลขายได้ในครั้งที่ 6 มูลค่าทรัพย์ลดลงจาก 10 ล้านบาท เหลือประมาณ 6 ล้านกว่าบาท

“เสียบ้านไปแล้ว ในราคาที่โหดร้าย เราไม่เหลือสักบาทไปตั้งตัวเลย ถ้าคุณโดนประกาศขายบ้าน ยอดบ้านมันจะต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก มันช็อค ถามว่าคิดฆ่าตัวตายไหม นับไม่ถ้วนมันก็ต้องแบกรับทุกเรื่อง”

เปิ้ล ทิ้งท้าย

เป็นหนี้ ‘บัตรเครดิต’ ทำไม ? โดน ‘ยึดบ้าน’

จากหนี้บัตรเครดิต แล้วเลยเถิดจนถูกฟ้องยึดบ้านซึ่งเป็นทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงได้อย่างไร ? กฎหมายเปิดช่องให้ทำได้หรือ ?

หากดูจากกรณีของเปิ้ล ก็คงเชื่อว่าทำได้ เพราะทุกขั้นตอนมีกฎหมายรองรับไว้หมด แต่ ‘ขจร ธนะแพสย์’ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้ข้อสังเกตเรื่องนี้ไว้เช่นกัน

“หนี้บัตรเครดิตไม่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกัน เวลาพิจารณาดูเงินเดือนเป็นหลัก กี่เท่ากู้ได้เท่าไหร่ จริง ๆ ผมก็อยากถามเหมือนกันว่า เจ้าหนี้บัตรเครดิต ทำไมถึงสามารถยึดบ้านประชาชนได้ เพราะว่าถ้าการมีหลักประกันแบบนั้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ก็ต้องถูกกกว่านี้ แต่วันนี้บัตรเครดิต มีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง เพราะไม่มีหลักประกัน อยากถามสังคมเหมือนกันว่าทำไมถึงทำได้ ใครควรกำกับดูแลเรื่องนี้”

ขจร ธนะแพสย์

กระบวนการไกล่เกลี่ย ที่มีตั้งแต่ก่อนฟ้องจนถึงยึดทรัพย์ในชั้นกรมบังคับคดีนั้น กรณีของเปิ้ลชัดเจนว่า การไกล่เกลี่ยทำไม่สำเร็จ ซึ่งประเด็นนี้ ขจร ในฐานะคนทำงานที่เห็นปัญหามาหลายกรณียืนยันว่า กระบวนการไกล่เกลี่ยมีปัญหาทั้งระบบ

“การไกล่เกลี่ยทั้งระบบต้องทบทวน ตอนนี้มีคดีที่ไปถึงกรมบังคับคดีเป็นล้าน สะท้อนให้เห็นว่าการไกล่เกลี่ยก่อนหน้านั้น ไม่ประสบผลสำเร็จ ลูกหนี้ไม่สามารถทำตามข้อตกลงของเจ้าหน้าได้ ซึ่งไม่มีความหมาย ปาหี่ มันเป็นของปลอม ถ้าท้ายที่สุดแล้ว ลูกหนี้ปฏิบัติไม่ได้ ต้องมาคิดกันทั้งระบบแล้วว่าสังคมจะมีการไกล่เกลี่ยที่แท้จริงได้อย่างไร”

ขจร ธนะแพสย์

กระบวนการไกล่เกลี่ยในขั้นตอนกรมบังคับคดี ซึ่งมีเจ้าหน้าที่มาเป็นคนกลางประสานระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ เป็นสิ่งที่ ‘ทรงศิลป์ ภิรมย์กุล’ ผู้ตรวจราชการกรมบังคับคดี ชี้แจง แต่ก็ย้ำว่าจะตกลงกันได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ที่เจ้าหนี้ต้องพึงพอใจด้วย

“อยู่ที่ความสามารถของลูกหนี้ การไกล่เกลี่มีข้อเสนอให้เจ้าหนี้พึงพอใจด้วย เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีเป็นเพียงคนกลางเรียกทั้ง 2 คนมานั่งคุยกัน”

ทรงศิลป์ ภิรมย์กุล

บัตรเครดิต คิดอัตราดอกเบี้ย 16% เริ่มคิดจากวันที่เราใช้จ่ายเงิน ให้ร้านค้าหรือวันที่เบิกถอนเงินสดล่วงหน้า ถ้าจ่ายครบจำนวน ตามกำหนดวัน จะไม่คิดดอกเบี้ย หรือเรียกว่าช่วงเวลาปลอดดอกเบี้ย 45 วัน หรือขึ้นอยู่กับข้อตกลงของสถาบันการเงินนั้น ๆ

หากถึงวันชำระตามรอบบิล เราไม่สามารถชำระเต็มจำนวนได้ และจ่ายขั้นต่ำ จะคิดอัตราดอกเบี้ย  8% ของยอดเงินที่ต้องชำระตามใบแจ้งยอดรายการบัตรเครดิต และในปี 2568 จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 10% และต้องจ่ายขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 500 บาท

ทั้งนี้หากตกเป็นผู้ผิดนัดชำระค่าบัตรเครดิต ปัญหาที่จะตามมาคือ จะขาดความน่าเชื่อถือด้านการเงิน สถาบันการเงินเจ้าของบัตรเครดิต จะเปลี่ยนสถานะจากเดิมเป็นลูกหนี้ชั้นดี มาเป็นลูกหนี้ค้างชำระ หรือ แบล็กลิสต์ และจะรายงานข้อมูลการค้างชำระไปยังบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร ส่งผลให้มีประวัติเสียด้านการเงิน และอาจจะขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ยากขึ้น

หนี้บัตรเครดิต ตามกฎหมายจะถือเป็นคดีแพ่ง ซึ่งผลลัพธ์ของคดีแพ่ง คือ การบังคับคดีการชำระหนี้ และชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งในเวลานี้มีบัญชี กว่า 23 ล้านบัญชี กำลังเป็นหนี้บัตรเครดิต รวมมูลค่าหนี้ สูงถึง 546,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของยอดหนี้ครัวเรือนไทยทั้งหมด และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส