ใต้ชายคาของศูนย์ฝึกเยาวชน “บ้านเบญจธรรม” แสงแดดยังส่องผ่านเข้ามา สนามหญ้ายังมีพื้นที่ให้เด็กบางคนได้วิ่งเล่น ห้องเรียนยังเปิดรับความสนใจจากหลากวิชาชีพ
และที่นี่ยังเป็นจุดนัดพบของ พ่อ แม่ ลูก ที่มีโอกาสกลับมานั่งคุยกันใหม่ เพราะบ้านเบญจธรรมยังเชื่อในพลังของ “โอกาส” และยังยึดมั่นในนิยามของความยุติธรรม ที่ไม่ได้หมายถึงแค่การลงโทษเพื่อให้หลาบจำ แล้วลืมกันไป แต่คือการให้เด็กได้สำนึกผิด กลับไปสำรวจและเยียวยาสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยเฉพาะครอบครัวและชุมชน เพื่อให้พวกเขาไม่ต้องหันหลังกลับไปยังความมืดอีกครั้ง

“แก๊งหิมะเดือด” (Ice Carving Crew) ภาพยนตร์ไทยที่กำลังเป็นกระแสบน Netflix พาผู้ชมเข้าไปสำรวจศูนย์ฝึกเยาวชนชาย “บ้านเบญจธรรม” ผ่านสายตาของกลุ่มเด็กที่สังคมตีตราว่าเป็น “ปีศาจ” แต่ต้องพลิกบทบาทกลายมาเป็นตัวแทนทีมชาติไทยในการแข่งขันแกะสลักน้ำแข็งที่ซัปโปโระ ภายใต้การนำของ “ครูชม” (รับบทโดยแต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์) ครูวิชาช่างไม้ประจำศูนย์ฯ ผู้ที่ไม่ได้ถือสิ่วและค้อนเพื่อสร้างงานศิลป์เท่านั้น หากแต่หวังจะแกะสลัก “เทวดาในใจเด็ก” ให้ปรากฏขึ้นอีกครั้งในใจของเด็กที่ถูกสังคมมองว่าเป็นปีศาจ
ภาพยนตร์เผยให้เห็นเบื้องหลังชีวิตของเหล่าเยาวชนในศูนย์ฝึกแห่งนี้ บางคนต้องโทษลักทรัพย์ เพราะครอบครัวติดการพนันและผลักดันให้ลูกไปหาเงิน บางคนต้องคดีฆ่าหั่นศพพ่อเลี้ยง ผู้เคยทำร้ายทั้งเขาและแม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือกรณีของ “แจ๊บ” (รับบทโดย แบงค์-ณฐวัฒน์ ธนทวีประเสริฐ) เด็กใหม่ประจำศูนย์ ผู้มีพรสวรรค์ด้านการแกะสลักเทียน แต่หลังจากเสียแม่ไป พ่อก็จมอยู่กับสุราและความรุนแรง จนในที่สุด แจ๊บก็พลั้งมือก่อเหตุขึ้นมาเช่นกัน
จะเห็นได้ว่า ต้นตอของพฤติกรรมอาชญากรรมในเด็กจำนวนมาก มักเริ่มต้นจากความร้าวรานในครอบครัว—ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวที่สุดของพวกเขา ข้อมูลจาก สภาพัฒน์ ระบุว่า เด็กที่ก่ออาชญากรรมกว่า 70% ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ โดยตรงนี้เองเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็ก ซึ่งตรงกับรายงานจากกรมพินิจฯ ว่าการขาดการดูแลจากครอบครัวหลัก อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมที่เบี่ยงเบน
การสำรวจสถานการณ์ครัวเรือนไทยก็สะท้อนภาพที่ไม่ต่างกันมากนัก เด็กเล็กเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศไม่ได้อยู่กับครอบครัวที่สมบูรณ์แบบพ่อแม่ลูก ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2023 (SES 2023) ระบุว่า มีเพียง 57.5% ของเด็กเล็กที่อาศัยอยู่กับพ่อและแม่พร้อมหน้า ที่เหลืออีก 42.5% ต้องอยู่กับครอบครัวที่ไม่ครบองค์ประกอบ หรือเผชิญกับรูปแบบครอบครัวที่เปราะบาง ไม่ว่าจะด้วยปัญหาเศรษฐกิจ ความรุนแรง หรือการละเลย ซึ่งล้วนเป็นสัญญาณสะท้อนถึงสังคมที่ยังไม่สามารถโอบอุ้มเด็กได้อย่างมีคุณภาพเพียงพอ
เมื่อเด็กมีปัญหา เกิดจากปัญหาครอบครัว
แต่สถานพินิจกลับแยกครอบครัวออกจากเด็ก
เมื่อสาเหตุของปัญหาอยู่ที่ครอบครัว แต่กระบวนการยุติธรรมเด็กกลับแยกเด็กออกจากครอบครัว การเรียกสถานที่เหล่านี้ว่า “คุกเด็ก” จึงอาจไม่ยุติธรรมพอ แม้พวกเขาจะกระทำผิด แต่เด็กไม่ควรได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ในเรือนจำ เพราะยังมีโอกาสที่จะเยียวยา พัฒนา และเติบโตได้ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมกรมพินิจฯ จึงถูกจัดแยกบทบาทจากกรมราชทัณฑ์ เพราะเป้าหมายของที่นี่ คือการ “ฟื้นฟูและเฝ้ามอง” มากกว่าการ “ลงโทษ”
เหนือกว่าเหตุผลเหล่านั้น คือแนวคิดพื้นฐานที่ขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมเด็ก แนวคิดว่าด้วย “สิทธิเด็ก” ซึ่งตระหนักว่าเยาวชนไม่ใช่เพียงผู้ใหญ่ที่ตัวเล็ก แต่เป็นมนุษย์ที่ยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ร่างกายยังเติบโตอย่างไม่สมบูรณ์ ยังต้องการสังคมที่ให้โอกาส กล่อมเกลา และชี้ทางก่อนก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ นี่คือเหตุผลที่ศาลเยาวชนมีระบบแยกจากศาลปกติ และศูนย์ฝึกต้องมีทั้งห้องเรียน กระบวนการบำบัด ล้วนเกิดจากการมองเห็นว่าเด็กเหล่านี้ ยังเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่แค่ผู้กระทำผิด
เมื่อเรามองเห็นเด็กเป็น “เด็ก” ไม่ใช่ “ปีศาจ” การใช้ความรุนแรงโดยผู้ใหญ่จึงไม่ใช่ทางออก ในภาพยนตร์ มีฉากที่ครูฝึกใช้กำลังกับเด็กที่ทะเลาะวิวาท นั่นสะท้อนอย่างชัดเจนว่า ยังมีผู้ใหญ่จำนวนมากที่ไม่เชื่อว่า เด็กเหล่านี้สามารถพัฒนา หรือกลับตัวกลับใจได้จริง

หากกระบวนการยุติธรรมจะให้ความเป็นธรรมจริง ก็ต้องเริ่มจากการกลับไปมองที่ต้นตอของปัญหา และนั่นคือ “ครอบครัว” นี่คือแนวคิดที่ ทิชา ณ นคร หรือ ป้ามล แห่งบ้านกาญจนาภิเษก ยึดมั่น บ้านกาญจนาฯ ให้พ่อแม่มีบทบาทตั้งแต่วันแรกของการรับเด็กเข้า ศูนย์ฝึกแห่งนี้ไม่แยกเด็กออกจากครอบครัว และเชื่อว่าปัญหาของเด็กจะคลี่คลายได้ เมื่อครอบครัวพร้อมเปลี่ยนแปลงตัวเอง
“คุกมันออกแบบมาจะเกือบร้อยปีแล้ว มันออกแบบให้ผู้ปกครองเป็นปัญหาไม่ใช่โอกาส ดังนั้นมันก็จะออกแบบให้ผู้ปกครองอยู่ข้างนอกกำแพง …การติดคุกมันไม่ได้แก้ที่ผู้ปกครองแล้วมาแก้ที่เด็กฝ่ายเดียว ดังนั้น เวลาพอคืนเรือนไปโอกาสที่มันจะเกิดแผลเดิม
ทิชา ณ นคร
ซ้ำรอยมันมีสูงมาก”
นั่นคือเหตุผลว่าทำไมบ้านกาญจนาฯ จึงเน้นปล่อยตัวเด็กเมื่อถึงวัยที่พวกเขายืนหยัดได้ด้วยตนเอง พร้อมกับการปรับเปลี่ยนครอบครัวให้กลายเป็นจุดแข็ง เช่น พ่อที่ประกาศเลิกเหล้าในวันสุดท้ายของการปล่อยตัวลูก เพื่อเป็นของขวัญชีวิต อีกเรื่องราวหนึ่งคือเด็กชายผู้เคยคิดหนีจากบ้านกาญจนาฯ ไปแก้แค้นอดีตแฟน แต่แสงไฟจากห้องทำงานของป้ามล ทำให้เขาตัดสินใจเดินย้อนกลับมา เขาไม่ได้กลับมาเพราะกลัวโทษ แต่เพราะรู้ว่ายังมีคนที่พร้อมจะฟังเขาอยู่ และการฟังนั้นเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของเขาในที่สุด
บางคนอาจมองว่าวิธีคิดเช่นนี้ “โลกสวยเกินไป” แต่การกักขังเด็กไว้ในกำแพงสูง โดยหวังว่าพวกเขาจะสำนึกผิดเองในขณะที่โลกภายนอกยังเต็มไปด้วยอบายมุข ขาดโอกาส ขาดพื้นที่การเรียนรู้ และระบบสนับสนุนที่ดี ก็อาจจะเป็นความคิดที่ “โลกสวย” ยิ่งกว่า เพราะอัตราการกระทำผิดซ้ำ คือภาพสะท้อนของสังคมที่ยังปล่อยให้เด็กเติบโตโดยไร้หลักพึ่งพา
นี่ไม่ใช่โอกาสที่มอบให้เด็ก
แต่นี่เป็นโอกาสที่สังคมจะได้พลเมืองคุณภาพกลับมา
แน่นอน ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยกับการที่เด็กจากบ้านเบญจธรรมได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนแข่งขันแกะสลักน้ำแข็ง อย่างน้อยก็ไม่ใช่พ่อแม่ของผู้เสียชีวิตจากการกระทำของเด็กเหล่านี้ แต่สิ่งสำคัญคือ การให้โอกาสกลับใจ ไม่ใช่การล้างผิด เด็กยังต้องใช้ชีวิตอย่างมีสำนึก และสำนึกผิดเองก็เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญที่บ้านกาญจนาฯ พยายามหล่อหลอม

แต่ใครบ้างล่ะที่ต้องสำนึกผิด? มีแค่เยาวชนคนเดียวเลยหรือไม่ หัวใจสำคัญของการสำนึกผิดนี้ ไม่ใช่การผลักไสให้เด็กเขาต้องแบกรับบาปนี้ชั่วชีวิตแต่เพียงผู้เดียว แต่ผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจในการกำหนดโครงสร้างของสังคมต้องทำอะไร เพื่อคืน “ความยุติธรรม” ให้กับสังคม หรือจะปล่อยให้สังคมยังเปราะบาง เยาวชนไร้ที่พึ่ง พ่อแม่ขาดโอกาสลืมตาอ้าปาก จึงชวนย้อนกลับไปที่คำถามว่า แล้วความยุติธรรมที่สังคมนี้ควรได้รับคืออะไรกัน?
“เรากำลังตามหาระบบที่ดีอยู่ บ้านกาญจนาไม่กอดความสำเร็จระดับปัจเจก
ทิชา ณ นคร
เพราะมันไม่ยั่งยืนเราต้องการระบบที่ดี และคนที่จะทำให้เกิดระบบที่ดี
ต้องมีอำนาจแบบคุณ [รัฐ] ไม่ใช่แบบเรา”
ระบบที่ ทิชา หมายถึง ไม่ใช่แค่การสร้างคุกให้ปลอดภัย หรือมีระบบการบำบัดที่เข้มข้นแข็งแรง นั่นก็อาจเป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งในสายพานกระบวนการยุติธรรม แต่ต้องย้อนกลับไปดูที่ต้นน้ำอย่างสถาบันครอบครัว พ่อแม่ทุกวันนี้มีฐานะเศรษฐกิจที่มั่นคงหรือยัง พวกเขามีเวลามากพอที่จะเลี้ยงดูลูกได้อย่างดีหรือไม่ โรงเรียนยังใช้ความรุนแรงลงโทษเด็กอยู่หรือเปล่า สภาพแวดล้อมในชุมชนมีแหล่งอบายมุขมากแค่ไหน มีพื้นที่การเรียนรู้ที่เปิดรับทุกสภาพตัวตนของเด็กหรือยัง เหล่านี้คือชุดคำถามที่ทวงถามถึงความยุติธรรมในสังคม ที่ยังเป็นปมผูกมัดในจิตใจเด็กคนหนึ่งอย่างไม่จบสิ้น
ถ้ากระดุมเม็ดแรกไม่ถูกแก้ไข อย่าหวังให้ปลายน้ำอย่างสถานพินิจเป็นที่พึ่งสุดท้าย และตลอดสายพานของกระบวนการยุติธรรมนี้ มีสังคมที่หมายถึงคุณประกอบร่วมด้วย ดังเช่นคำกล่าวที่บอกว่า การเลี้ยงเด็กหนึ่งคน ย่อมใช้คนทั้งหมู่บ้าน เมื่อคืนความเป็นมนุษย์แก่ผู้ต้องขัง สังคมย่อมได้รับความยุติธรรมกลับคืนเช่นกัน
บทส่งท้าย: เยาวชนใต้ภูเขาน้ำแข็งที่รอวันแกะสลัก
ไอเดียของภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ใช่การพยายาม Romacticize ว่าทุกความผิดจะต้องได้รับอภัย หรือบังคับให้ทุกคนเชื่อว่าเด็กทุกคนนั้นใสสะอาดดั่งผ้าขาว แต่เป็นการชวนผู้ชมให้ชะลอความคิด มองเห็นเด็กคนหนึ่งให้มากไปกว่าการกระทำอุกฉกรรจ์บนยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะชีวิตของเยาวชนเสมือนก้อนน้ำแข็งทรงลูกบาศก์ที่มีอยู่หลายด้าน พวกเขามีเรื่องราวในชีวิตที่ผูกโยง และก่อร่างขึ้นมาเป็นตัวเขา
ภาพยนตร์ชวนมองเห็นเด็กในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่ผิดพลาดได้ มีดีและเลว น่าสงสารและไม่น่าให้อภัย พร้อมชวนสังคมตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วเราในฐานะผู้อาศัยร่วมกับสมาชิกใหม่ของสังคม เรามีหน้าที่ใดอีกบ้างที่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมให้เยาวชนสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง หรือถ้าพวกเขากำลังจะก้าวพลาด อ่อนแอ เรามีพื้นที่ใดบ้างจะช่วยพาเขากลับมายืนตัวตรงได้อีกครั้งหนึ่ง
“แก๊งหิมะเดือด” จึงไม่ใช่เรื่องของคุกหรือสถานพินิจเพียงอย่างเดียว แต่มันสะท้อนภาพรวมของทั้งระบบที่มีเด็กเป็นองค์ประกอบอยู่ในนั้น ถึงเวลาหยุดผูกขาดความยุติธรรมไว้ที่กรมพินิจฯ หรือศาลเยาวชน แต่เราสามารถนิยามความยุติธรรมนี้เองได้ โดยรัฐต้องทำหน้าที่เป็นคุณอำนวย ให้แนวทางการพิทักษ์สิทธิเด็กเกิดขึ้นได้และเป็นรูปธรรมในสังคม
การพูดถึงเยาวชน จึงต้องพูดถึงระบบทั้งหมด ไม่ใช่แค่ปลายทาง แต่ต้องคิดใหม่ตั้งแต่ต้นน้ำ ว่ารัฐควรเตรียมพร้อมให้พ่อแม่อย่างไร โรงเรียนต้องเปลี่ยนอะไร และชุมชนต้องช่วยกันอย่างไร เพื่อให้การฟื้นฟูเด็กคนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องโลกสวยอีกต่อไป แต่คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้จริง
ติดตาม หลากหลายความสูญหายหมายเลข 5 ที่ไม่ใช่แค่โชคชะตากำหนด ใน No.5 Crisis|เบญจ-อาเพศ กับ Thai PBS in Focus