ไม่ว่าผ่านมากี่ยุค วงการสงฆ์ไทย ก็ยังคงหนีไม่พ้นเรื่องราวการถูกตีแผ่ ขุดคุ้ย สะท้อนด้านมืดให้สังคมได้รับรู้กันมาตลอด ข่าว พระฉ้อฉล ทุจริตเงินวัด อวดอุตริมนุสธรรม เสพเมถุน มั่วสีกา กระทำชำเราเณร ไปจนถึงตกเป็นทาสยาเสพติด แม้เป็นเพียงพฤติกรรมของสมณเพศแค่ส่วนน้อย แต่ก็ทำให้วงการพุทธศาสนาของไทย ถูกลดทอนคุณค่า เผยให้เห็นความเสื่อมทราม จนชาวพุทธเอือมระอา
ปีก่อน เรื่องราวความจริงอีกด้านของวงการสงฆ์ และความเลวร้ายที่แอบซ่อนอยู่ภายใต้ผ้าเหลือง ถูกหยิบขึ้นมาตีแผ่อย่างโจ่งแจ้ง ผ่านซีรีส์ดัง “สาธุ (Believers)” จนนำมาซึ่งการตั้งคำถามของสังคม และการต่อต้านของคนรุ่นใหม่ถึงบทบาทของ พระ และ วัด ที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะการใช้ความเชื่อและความศรัทธา แปรเปลี่ยนเป็น สินค้า หรือที่เรียกว่า “พุทธพาณิชย์”
จนมาถึงเหตุการณ์ล่าสุด กับเรื่องราวทุจริตเงินวัด ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเป็นข่าวสะเทือนวงการสงฆ์ และชาวพุทธอีกครั้ง เมื่อ อดีตพระธรรมวชิรานุวัตร (แย้ม กิตฺตินฺธโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง จ.นครปฐม เข้ามอบตัวกับกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หลังถูกออกหมายจับ ข้อหายักยอกเงินวัด ซึ่งมีส่วนเกี่ยวพันกับการเล่นพนันออนไลน์ มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท
ไม่เพียงเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริต แต่ยังพบหลักฐานว่าอดีตเจ้าคุณแย้ม นำเงินที่ยักยอกจากวัดโอนเข้าบัญชีตัวเอง ก่อนโอนต่อให้หญิงสาวคนสนิท ยิ่งกว่านั้นตำรวจยังพบคลิปไม่เหมาะสมในโทรศัพท์ของอดีตเจ้าคุณแย้มอีกด้วย แม้กระบวนการในทางคดีกำลังเดินหน้าต่อไปเพื่อหาเส้นทาง ความเชื่อมโยงกับเว็บพนันออนไลน์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งตอกย้ำถึงวิกฤตศรัทธาต่อวงการสงฆ์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คำถามถึงบทบาทหน้าที่พระสงฆ์กลับมาอีกครั้ง เมื่อทิศทางของพุทธศาสนา กำลังถลำลึก ดำดิ่งสู่ด้านมืดลงไปทุกที อย่างไม่มีทีท่าว่าจะปรับตัว
ก่อนหน้านี้ The Active มีโอกาสสนทนากับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักวิชาการอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนา เจ้าของฉายา “ปัญญาชนสยาม” ซึ่งหนึ่งในคำถามสำคัญที่สามารถหยิบมาใช้อธิบายปรากฎการณ์ในวงการสงฆ์เวลานี้ได้เป็นอย่างดี คือ อนาคตของวงการสงฆ์ และพระพุทธศาสนาในไทย จะเดินไปสู่ทิศทางไหน ต้องปรับตัวอย่างไร หรือแท้จริงแล้ว กำลังทำลายตัวเอง ?

มองวงการสงฆ์ในไทย…อ่อนธรรมวินัย จับแต่เงิน มุ่งแต่เรื่องเพศ
คณะสงฆ์ไทยในเวลานี้ กระปกกระเปลี้ย อ่อนแอ นี่เป็นคำจำกัดความสั้น ๆ จากปากอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ พร้อมทั้งย้ำว่า พระสงฆ์สมัยนี้ไม่ถือตามธรรมวินัย มีปัญหาทั้งเรื่อง เงิน และเรื่อง เพศ
พระสมัยนี้จับเงิน มีรายได้จนเปิดบัญชีธนาคารเป็นของตัวเอง การถวายเงินให้พระเป็นอันตรายมาก เพราะนำไปสู่การฉ้อฉล พระโกงเงินบาทเดียวก็หมดความเป็นพระแล้ว เพราะโดยเนื้อหาสาระ พระต้องเป็นผู้ไม่ทำมาหากิน หรือแตะต้องเงินทอง ทุกวัดต้องทำบัญชี แยกเงินของสงฆ์กับส่วนตัวให้ชัด แต่รัฐและคณะสงฆ์กลับไม่เคยจัดการเรื่องนี้เลย
ส่วนเรื่อง เพศนั้น “พระนุ่งเหลืองก็ใช่ว่าเป็นคนดีเสมอไป เป็นถึงเจ้าคุณ เป็นสมเด็จเลวร้ายไม่ใช่น้อย” อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ บอก
มีข่าวปล้ำพระในวัดเลยก็มี พระแบบนี้เรียกว่า เป็น “อลัชชี” แปลว่า ผู้ไม่มียางอาย มันคือ “ปาราชิก” หมดความเป็นพระอย่างสิ้นเชิง
“ปัญหาของวงการสงฆ์ไทยตอนนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน แต่เกิดเพราะเมืองไทยอยากทันสมัยเหมือนฝรั่ง พระในอดีต เรียนหนังสือด้วย ปฏิบัติด้วย ภาวนาด้วย แต่สมัยนี้ พระมีห้องส่วนตัว แอร์ มีวิดีโอ เมื่ออยู่ส่วนตัว ไม่ได้ภาวนา การทำชั่วก็ง่าย”
ส.ศิวรักษ์
แม้เป็นคนหนึ่งที่ได้ดูซีรีส์ “สาธุ” มาแล้ว แต่อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ยังเชื่อว่า มีความเลวร้ายอีกหลายอย่างที่ซีรีส์นี้ยังเข้าไม่ถึง แต่ดีที่แตะให้คนเห็นว่า วงการสงฆ์ไทยตอนนี้อ่อนแอแค่ไหน คนจะได้ตื่นตัว อย่าไปหลงว่าพวกนุ่งเหลืองห่มเหลืองจะเป็นคนดีเสมอไป

วงการสงฆ์…ยากจะปรับตัว ?
อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ย้ำเลยว่า มาถึงขนาดนี้วงการสงฆ์ยากแล้วที่จะปรับตัว ตราบใดที่ มหาเถรสมาคม ยังพึ่งพารัฐอยู่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ก็คอยแต่รับใช้พระ ไม่เคยตรวจตราความผิดชอบ ในด้านของรัฐ อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ย้ำว่า รัฐประหารแต่ละครั้งก็โกงกิน คนที่เข้ามาไม่มีความซื่อสัตย์ แต่มหาเถรฯ ก็ไม่เคยตำหนิรัฐ นั่นเพราะรัฐให้การช่วยเหลืออยู่ ให้เลื่อนสมณศักดิ์ ทั้ง 2 ฝ่าย พึ่งกันไปพึ่งกันมา ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง
“เป็นที่น่าเสียดายที่มหาเถรสมาคม
ส.ศิวรักษ์
เชื่อรัฐ มากกว่า พระพุทธเจ้า”
แม้มหาเถรสมาคม จะเป็นองค์กรหลักดูแลพระ แต่กลับทำตัวเหมือนช้างเผือก คือมีอยู่ แต่ทำอะไรไม่ได้ หนักกว่านั้น อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ได้ใช้คำว่า
“คณะกรรมการมหาเถรสมาคมเอง บางรูปก็เป็นพระที่เลวร้าย เป็นอลัชชี แต่ทำเป็นมองไม่เห็น ไม่เคยจัดการอะไรกันเลย แล้วจะไปแก้ไขคณะสงฆ์ได้อย่างไร ความชั่วร้ายเหล่านี้ กำลังทำลายตัวของมันเอง”
ส.ศิวรักษ์
พุทธพาณิชย์ เครื่องรางของขลัง เรื่องของคนโง่ ?
ทุกวันนี้ พระมาสวด อยากถามว่าสวดให้ใครฟัง สวดภาษาบาลีล้วน ๆ คนฟังรู้เรื่องไหม หรือถึงสวดภาษาไทยก็เป็นภาษาที่คนฟังไม่รู้เรื่อง พิธีกรรมของไทยสื่ออะไรไม่ได้เลย ทำให้คนต้องไปแสวงหาอย่างอื่น พุทธพาณิชย์เลยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกอย่างกลายเป็นเงินเป็นทองไปหมด
“เครื่องรางของขลังจำเป็นสำหรับคนอ่อนแอ พึ่งจอมปลวกบ้าง ศาลพระภูมิบ้าง พระพุทธรูปบ้าง ของพวกนี้มันช่วยใจได้ประเดี๋ยวประด๋าว เป็นแค่ชั่วคราวเท่านั้น แต่มันช่วยไม่ได้จริง เหมือนคุณว่ายน้ำไม่เป็น คุณเกาะต้นกล้วยก็ได้ ลูกมะพร้าวก็ได้ มันจะช่วยให้คุณไม่จมน้ำได้ชั่วคราว แต่สุดท้ายคุณก็ต้องว่ายน้ำให้เป็นอยู่ดี”
ส.ศิวรักษ์
อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ย้ำว่า เครื่องรางของขลังเป็นของคนโง่ เป็นความเชื่อของคนไม่มีสติปัญญา ถ้าคุณหลงมัน คุณไม่มีทางเติบโต แต่พระพุทธศาสนาสอนให้คนเลิกโง่และพึ่งพาตัวเอง ไม่ใช่พี่งพาผู้อื่น ประการแรก ต้องยอมรับความเสื่อมทรามเวลานี้ แล้วหาทางแก้ไข

เมื่อคนรุ่นใหม่ ไม่มีศาสนา ?
อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ยังอธิบายว่า ศาสนา แปลว่า คำสอนเท่านั้น แต่เมื่อคำสอนกลายเป็นลัทธิ มันจะเริ่มมีพิธีกรรม เช่น ต้องจุดธูปสามดอก ต้องกราบไหว้แบบต่าง ๆ วิธีการพวกนี้อาจมีประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์ก็ได้ แต่ตัวหลักธรรมคำสอน ไม่ว่าพุทธ คริสต์ อิสลาม สอนให้เป็นคนดีทั้งนั้น ถ้ายึดคำสอนที่ดีแบบนี้ คุณไม่จำเป็นต้องมีศาสนาก็ได้
“ศาสนาพุทธ ไม่เคยสอนให้คุณต้องเชื่ออะไร แต่ทุกสิ่งคุณต้องพิจารณาเอง ถ้าเชื่อแล้วคุณฉลาดขึ้น เชื่อแล้วเห็นแก่ตัวน้อยลง มีเมตตามากขึ้น อย่างนั้นสมควรเชื่อ“
ส.ศิวรักษ์
คนอย่าง เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ (Bertrand Russell) นักปรัชญาชาวอังกฤษ มีอายุกว่า 90 ปี เขายอมติดคุกเพื่อต่อต้านไม่ให้อังกฤษมีอาวุธนิวเคลียร์ เขายังไม่จำเป็นต้องมีศาสนาเลย แต่สำหรับใครที่นับถือศาสนา มันจะเป็นสิ่งที่ทำให้ช่วยตระหนักว่า ชีวิตอาจไม่ได้มีเพียงโลกนี้ แต่ยังมีโลกหน้า เราควรเตรียมตัวและดำเนินชีวิตไม่ใช่เพียงเพื่อปัจจุบัน แต่เพื่ออนาคต และสูงสุด คือ…นิพพาน
สำหรับเด็กรุ่นใหม่ น่าเสียดายที่เมื่อก่อนการศึกษามอมเมาเขา สอนให้เรียนเป็นหมอ เป็นวิศวกร เพื่อให้รวย ให้มีอำนาจ แต่ผมดีใจที่เด็กรุ่นใหม่วันนี้ไม่ได้เชื่อเรื่องนี้แล้ว เขาเรียนหนังสือเพราะต้องการหาความรู้และความจริง เขาจะนับถือศาสนาอะไรก็เรื่องของเขา แต่เราควรเป็นมิตรกับเขา เป็นเพื่อนกับเขา และเรียนรู้จากเขา ถ้าหากเขาเห็นว่าเราเป็นพุทธศาสนานิกชนที่ดี โอบอ้อมอารี เห็นแก่ตัวน้อย เขาจะมองเป็นแบบอย่าง มีใจคอกว้างขวางขึ้น มีเมตตากรุณามากขึ้น และรู้สึกว่าศาสนาพุทธมีคุณค่าโดยไม่จำเป็นต้องมีผ้าเหลืองห่ม หรือพระสวดเลย เพราะเหล่านี้คือสาระสำคัญของศาสนาพุทธอย่างแท้จริง
“ผมเชื่อว่าในอนาคต เด็กรุ่นใหม่จะยิ่งปฏิเสธการมอมเมา พวกเขาจะเป็นตัวของตัวเอง แสวงหาสัจธรรม และนี่จะทำให้เขาเข้าถึงหัวใจของศาสนา และนี่อาจเป็น ศาสนาอย่างใหม่ ที่คนรุ่นใหม่นี้จะไปด้วยกันได้”
ส.ศิวรักษ์ ทิ้งท้าย