ในขณะที่หลายพื้นที่ในประเทศไทยกลับสู่ภาวะปกติหลังผ่านพ้นเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.7 บนรอยเลื่อนสะกาย ในเมืองมัณฑะเลย์ เมียนมา สะเทือนมาจนถึงผู้คนในกรุงเทพมหานคร รับรู้ได้ เจ้าของห้องพักในคอนโดฯ หลายคนยังอยู่ในขั้นตอนขอรับเงินเยียวยาจากภาครัฐ บางคนได้รับการเยียวยาแล้ว หลายคนก็ยังไม่รู้ว่าเงินที่รัฐเยียวยามาให้นี้ จะเพียงพอสำหรับการฟื้นคืนสภาพที่อยู่อาศัยหลังภัยพิบัตินี้ได้ขนาดไหน ?
แต่ผลกระทบจากแผ่นดินไหวรอบที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่คนเมืองเท่านั้นที่เผชิญ หลายพื้นที่ภาคเหนือก็ไม่ต่างกัน โดยเเฉพาะพื้นที่ บ้านแม่สุริน หมู่ 3 ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ยังต้องเจอกับกับปัญหา หลุมยุบ (Sinkhole) ซึ่งถือเป็นพื้นที่เดียวในประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบในลักษณะนี้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา

เหตุการณ์ หลุมยุบ ยังเกิดขึ้นอีกครั้งหลังแผ่นดินไหว ในพื้นที่ จ.กระบี่ ในช่วงเทศกาลหยุดยาวสงกรานต์ 14 เม.ย.68 จากนั้นชาวบ้านพบการยุบตัวขนาดใหญ่ของแผ่นดิน พร้อมรอยแยกขนาดใหญ่ เป็นทางยาวกินเนื้อที่กว่า 4 ไร่ ภายในสวนปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่ ต.พรุเตียว อ.เขาพนม จ.กระบี่ แม้ยังอยู่ระหง่างการตรวจสอบว่าเชื่อมโยงกับเหตุแผ่นดินไหวที่กระบี่หรือไม่
แต่อย่างน้อยผลกระทบหลังแผ่นดินไหว อย่างกรณีหลุมยุบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในบ้านเรา ก็อาจบ่งบอกได้ถึงความไม่แน่นอนของความเสี่ยง โดยเฉพาะหากหลุมยุบเกิดขึ้นกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน
The Active ลงพื้นที่ไปยังบริเวณที่เกิดเหตุหลุมยุบ ที่บ้านแม่สุริน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน สิ่งที่เห็นชัดเจน คือ หลุมยุบดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรกรรม ที่ชาวบ้านใช้ทำไร่ถั่วเหลืองสลับกับนาข้าว แม้กรณีนี้ผ่านมาเกือบเดือนแล้ว แต่การทำไร่ถั่วเหลือง หรือนาข้าว ซึ่งเป็น อาชีพ และรายได้ของผู้คนที่นี่ ก็ยังไม่สามารถดำเนินการต่อได้ นี่จึงหมายถึงความเดือดร้อนที่กระทบต่อการทำกิน ที่เป็นผลพวงมาจากภัยธรรมชาติในอีกมิติ
สำหรับพื้นที่บ้านแม่สุริน มีหลุมยุบรวม 6 หลุม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไล่ขนาดตั้งแต่ 2 เมตรเป็นต้นไป โดยหลุมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีลักษณะเป็นรูปวงรี กว้าง 22 เมตร ยาว 27 เมตร กว้างกว่าสนามบาสเกตบอลขนาดมาตรฐาน

นอกจากนี้เมื่อช่วงสัปดาห์หยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ในพื้นที่ยังเกิดพายุฤดูร้อนขึ้น ทำให้ฝนตกหนัก ยิ่งทำให้หลุมที่ยุบลงไปต่ำอยู่แล้วลึกลงไปมากกว่าเดิม มีการพบหลุมที่ยุบเพิ่มขึ้นมา และหลุมเล็ก ๆ ได้ขยายขนาด จนรวมกันกลายเป็นหลุมใหญ่ ทำให้เห็นว่าปรากฏการณ์หลุมยุบ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และยังไม่ทราบว่าจะเกิดหลุมยุบแบบนี้ เพิ่มในพื้นที่ไหนอีกบ้าง
หลุมยุบ…กลืนพื้นที่ทำกินชาวบ้าน
สำหรับปัญหาหลุมยุบที่บ้านแม่สุริน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร 3 ครัวเรือน พ่อหลวงธวัช คำฟู ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่สุริน ในฐานะเจ้าของที่นาที่เจอหลุมยุบ ซึ่งเขาปล่อยเช่าที่แปลงนี้ให้กับ พิเดช ช้างลี้ และ สิริพร คำภู ได้ทำกิน
พ่อหลวงธวัช เล่าว่า หลุมยุบมาพร้อมกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ตอนนั้นยังไม่เป็นอะไร แต่พอวันที่ 29 มี.ค. มีคนไปทำนา ก็ได้เจอกับหลุมยุบ

พิเดช ซึ่งเช่าที่นาของพ่อหลวงธวัช ปลูกถั่วเหลือง คือ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากหลุมยุบเยอะที่สุด เขายอมรับว่า สำหรับพื้นที่ที่เจอทรุดเยอะมาก พื้นที่ 1 ไร่ก็ทรุดหมดเลย ไม่มีที่ทำแล้ว ปีนี้ฤดูทำนาก็ทำไม่ได้แล้ว ไม่กล้าเข้าไปทำ ต้องทิ้งไว้อย่างงั้น ขอเอาปลอดภัยไว้ก่อน
ชาวนาที่ทำกินในพื้นที่รอบข้างของพิเดช ก็ไม่กล้าปล่อยน้ำเพื่อปลูกถั่วเหลืองต่อในฤดูกาลนี้ และไม่กล้าที่จะนำรถเข้าไปเก็บเกี่ยวถั่วเหลือง
โดยผลพวงจากหลุมไม่กี่หลุมนี้ ทำให้ขาดรายได้จากการลงทุนปลูกถั่วเหลืองในฤดูกาลที่ผ่านมา นอกจากนี้ชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงที่มีพื้นที่ทำนาใกล้กับหลุมยุบ ก็ไม่กล้าทำนาข้าวในฤดูฝนนี้เช่นกัน เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตราย
“ช่วงนี้ก็ไม่ได้ปล่อยน้ำลงไปในแปลง ถั่วเหลืองก็จะไม่โต ปล่อยมันแห้งอย่างงี้เพราะกลัวมันทรุดอีก”
พิเดช ช้างลี้

สิริพร ยังเล่าถึง วัฐจักรของวิถีทำการเกษตรในพื้นที่ คือ ปลูกถั่วเหลือง หรือพืชชนิดอื่น ๆ เพื่อนำไปขาย แต่พวกเขาจะปลูกข้าวในช่วงนาปี เพื่อเก็บไว้กินในหมู่บ้าน
“ข้าวเราไม่ขาย แต่เอามาสีกินเอง และส่งเป็นค่าเช่าที่ให้พ่อหลวง ทำเสร็จก็จะใส่ยุ้งไว้ เอาไปสี วิถีชีวิตชาวบ้านเป็นแบบนี้ เราปลูกข้าวโพด นา ถั่วเหลือง กระเทียม และขายปีละ 2 ครั้ง ทุกอย่างเราขายหมด ยกเว้นแต่ข้าวที่เอาไว้กิน”
สิริพร คำภู
เกษตรกรบ้านแม่สุริน ต่างยอมรับเลยว่า ปรากฏการณ์หลุมยุบครั้งนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในพื้นที่ที่นาที่ทำกินสืบทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตายาย
“ไม่เคยมีเรื่องหลุมยุบ ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย
ตำนานหลุมยุบก็ไม่มี มันมามีปีนี้”
พวกเขายังกังวลถึงอนาคตการทำเกษตร และการดำรงชีวิต
“ผมก็เป็นห่วงว่า ที่ดินมันก็ไม่เยอะ มีกันคนละไร่สองไร่
พิเดช ช้างลี้
ถ้าไม่มีที่แล้ว จะเอายังไงต่อ”
นอกจากนี้ เกษตรกรยังเป็นห่วงเกี่ยวกับการทำนาในฤดูการผลิตต่อไป โดยคิดว่าในฤดูกาลที่จะถึงนี้ก็คงทำนาไม่ได้แล้ว ถั่วเหลือง จะเก็บหมดประมาณสิ้นเดือนนี้ หลังจากนั้นจะทำนาก็ต้องระวังอยู่ดี โดยเฉพาะมันเป็นหน้าฝน
“ปีนี้คงจะไม่ได้ทำนาแล้ว เพราะว่ามันยุบเยอะ มันก็ทำไม่ได้”
โพรงใต้ดินกับหินปูน : ต้นตอหลุมยุบ ?
ณรงค์พัชญ์ นาคทรัพย์ นายอำเภอขุนยวม เปิดเผยกับ The Active โดยอธิบายถึงสาเหตุของการเกิดหลุมยุบว่า ทางอำเภอได้ประสานกับทางผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาผ่านทางจังหวัด ทางธรณีวิทยาเข้ามาดูหลังจากเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา


“ทางธรณีวิทยาให้ข้อมูลหลังมาดูว่า ที่ตรงนี้อาจจะมีโพรงอยู่ใต้ดิน หรืออาจจะเป็นหินปูน พอแผ่นดินไหวก็ทำให้ดินมันทรุด หรือหินปูนที่ไปถูกน้ำก็อาจจะละลายและทำให้เกิดหลุมขึ้นมา”
ณรงค์พัชญ์ นาคทรัพย์
นอกจากนี้ ยังมีการรายงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของตาน้ำในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยพบว่า ตาน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งทางธรณีวิทยาให้เหตุผลถึงความเป็นไปได้ที่เคยมีตาน้ำอยู่ พอแผ่นดินไหว มันแยก ก็ทำให้น้ำเพิ่มขึ้นมาได้
ขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ กำลังดำเนินการสำรวจพื้นที่ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ โดยนายอำเภอขุนยวม ย้ำว่า ได้หารือกับทางธรณีวิทยาแล้ว อาจจะต้องใช้เครื่องธรณีฟิสิกส์ ที่ตั้งอยู่สำนักงานธรณีวิทยาที่ลำปาง มาสำรวจดูก่อน เป็นห่วงเพราะไม่รู้ว่าใต้ดินมีจุดไหนบ้าง ที่อาจจะยุบอีกในอนาคต
สำหรับการเยียวยาชาวบ้านนั้น นายอำเภอขุนยวม ระบุว่า ต้องรอคุยกับท้องถิ่น จะประชุมศูนย์ช่วยเหลือกัน แต่ที่เห็นว่าล่าช้า เพราะเขาอยากดำเนินการให้เบ็ดเสร็จ เรื่องของการปรับพื้นที่ด้วย พร้อมทั้งจะประเมินความเสียหาย ทั้งในเชิงพื้นที่ รายได้ เยียวยาให้ตามระเบียบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
รอเยียวยา รอเวลาสำรวจ
การแก้ไขปัญหาหลุมยุบในพื้นที่ขุนยวม ยังคงเป็นความท้าทายสำหรับทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเกษตรกร เนื่องจากต้องรอการสำรวจอย่างละเอียดก่อนจะสามารถดำเนินการด้านอื่น ๆ ได้
“เดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะต้องเข้ามาสำรวจอีกรอบ หลังจากชาวบ้านรอบข้างเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรเรียบร้อย จะได้รู้ว่าจุดไหนล่อแหลม และดำเนินการช่วยเหลือ ปรับพื้นที่ให้ชาวบ้าน”
ณรงค์พัชญ์ นาคทรัพย์
เช่นเดียวกับ พ่อหลวงธวัช ก็ได้เตรียมหารือแนวทางช่วยเหลือกับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
“ผมก็ปรึกษากันว่า สมมุติเขาไม่ถมหลุมแล้วจะทำยังไง เดี๋ยวจะปรึกษานายอำเภอว่าจะชดเชยไร่ละเท่าไร”
พ่อหลวงธวัช คำฟู

แม้เป็นเพียงพื้นที่เดียวในประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 ในรูปแบบของหลุมยุบ แต่เหตุการณ์นี้กลับสร้างความเสียหาย และความไม่แน่นอนในชีวิตให้กับเกษตรกรกลุ่มนี้
การสูญเสียพื้นที่ ซึ่งทำมาหากินตกทอดกันมายาวนาน สำหรับบางคนนี่อาจเป็นเพียงช่องทางเดียวสำหรับการหารายได้เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงปากท้อง จึงเป็นอีกโจทย์สำคัญของภาครัฐที่ไม่ควรหลงลืมคนกลุ่มนี้ สำหรับกับการฟื้นฟู เยียวยา ที่บางครั้งอาจไม่ใช่แค่ผู้คนในเมืองเท่านั้นที่ แต่ชาวบ้านตัวเล็ก ๆ พวกเขาก็อาจกำลังรอคอยความช่วยเหลือ เพื่อให้มองเห็นหนทางไปต่อในชีวิตที่มั่นคงไม่ต่างกัน