ข้อมูลเขย่าการเมือง: คืนอำนาจการตรวจสอบให้ประชาชน

“การมีกลไกการตรวจสอบการเมือง
ทำให้อำนาจของประชาชน ไม่จบลงแค่ 4 วินาทีในคูหา”

ในยุคที่การเมืองมีความซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น การนำข้อมูลมาใช้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของพรรคการเมือง การเก็บและเผยแพร่ข้อมูลเพื่อเปิดให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและตัดสินใจได้อย่างมีข้อมูล เป็นกระบวนการที่สามารถเพิ่มอำนาจให้กับสังคม

ยุคสมัยนี้ ผู้คนมีความสนใจที่แตกต่างหลากหลาย ‘ไลฟ์สไตล์’ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของการออกแบบสินค้าหรือบริการในเชิงพาณิชย์ แต่ยังหมายถึงสินค้าทางการเมืองอย่าง ‘นโยบาย’ ด้วยเช่นกัน ‘ข้อมูล’ อาจเป็นทรัพยากรสำคัญในการคิดออกแบบนโยบายเพื่อเสนอขายแก่ประชาชน เพราะข้อมูลจะสะท้อนความต้องการของผู้คน หากพรรคใดใช้ข้อมูลได้เชี่ยวชาญมากกว่า ก็อาจจะเข้าไปนั่งในใจคนได้อย่างหลากหลายมากขึ้น

ในทางตรงกันข้าม ‘ข้อมูล’ ก็เป็นอำนาจของประชาชน ที่ใช้ในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ เช่น การตรวจสอบการใช้งบประมาณ, การติดตามการทำงานของผู้แทนในสภา ตลอดจนการติดตามผลการดำเนินนโยบาย เหล่านี้ ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถมีส่วนร่วมด้วยผ่านกลไกการเปิดเผยข้อมูลราชการ แต่ที่ผ่านมา รัฐไทยกลับไม่มีวัฒนธรรมเปิดเผยชุดข้อมูลเหล่านี้อย่างอิสระ ทำให้การตรวจสอบการเมือง เป็นเรื่องไกลตัว

The Active ชวนพูดคุยไปกับนักสื่อสารประเด็นทางการเมืองและการติดตามการทำงานของภาครัฐ​ จะเขย่าการเมืองอย่างไร? และจะใช้ข้อมูลเพื่อคืนอำนาจการตรวจสอบให้กับประชาชนได้อย่างไร อ่านบทสัมภาษณ์ของ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw และปราบ เลาหะโรจนพันธ์ Senior Strategist AGO

‘ข้อมูล คือ อำนาจของประชาชน’

ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ Senior Strategist, AGO ในฐานะอดีตทีมสื่อสารกลยุทธ์ของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ช่วงเลือกตั้ง กทม. ปี 2564 เปิดเผยว่า แคมเพนทางการเมืองในปัจจุบันไม่ได้เน้นเพียงแค่การสื่อสารผ่านสื่อมวลชนอีกต่อไป แต่ต้องคำนึงถึงการสื่อสารที่มีผู้เล่นหลากหลาย เพราะประชาชนมีความเป็นตัวของตัวเอง หรือมี ‘ไลฟ์สไตล์’ ที่ชัดเจนขึ้น และคนหนึ่งคนก็ขึ้นมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ เป็นนักสื่อสารได้ ทำให้การทำแคมเพนสื่อสารการเมืองมีความซับซ้อน โดยการเลือกตั้งที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า การสื่อสารเรื่องนโยบายไม่ได้ถูกกำหนดด้วยสื่อหลักเพียงอย่างเดียว

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองไม่ได้มีแค่ประเด็นสำคัญไม่กี่ประเด็นที่ปรากฏในหน้าสื่ออย่างที่เราเข้าใจกัน แต่มีหลากหลายประเด็นที่สื่อสารออกไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครที่กำลังลงพื้นที่เคาะประตูบ้านกำลังสื่อสารคนละอย่างที่ปรากฎบนหน้าจอทีวี ซึ่งการถือครองข้อมูลมากกว่า จะทำให้พรรคการเมืองเข้าไปนั่งในใจคนได้มากกว่า ว่าคนแต่ละกลุ่มชื่นชอบกลยุทธ์แบบใด และในทางกลับกัน ประชาชนเองก็มีอำนาจในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครที่ชอบ บนพื้นฐานข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น

“เราต้องสร้างพื้นที่ทางการเมืองที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลมากขึ้น เพราะว่าการมีข้อมูลเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน”

ปราบ เลาหะโรจนพันธ์

ปราบเล่าเสริมว่า หากพูดในมุมภาคประชาสังคม การมีข้อมูลจะทำให้สังคมและประชาชน สามารถที่จะตัดสินใจทางการเมือง บนพื้นฐานของเหตุผลและอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลได้อย่างโปร่งใสและเปิดเผย ในทางกลับกัน ถ้าการเมืองแข่งขันกันหลังม่าน ไม่เปิดเผยข้อมูล แข่งขันกันโดยประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้ มันเท่ากับเป็นการลดทอนอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชนไปโดยปริยาย ซึ่งนั่นไม่ใช่การเมืองที่เราอยากเห็น

อย่างไรก็ตาม ปราบย้ำว่า การใช้ข้อมูลก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเมืองไทย เพราะการสื่อสารด้วยข้อมูลก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพสำหรับคนทุกกลุ่ม พรรคการเมืองจะต้องกลับมาคิดว่า การสื่อสารด้วยข้อมูลนั้นจำเป็นในสถานการณ์ใดบ้าง สำหรับวันนี้จนถึงการเลือกตั้งในปี 2570 เรายังไม่อาจฟันธงได้ว่า คนไทยหันมานิยมการเมืองบนฐานข้อมูลจริงหรือไม่?

แต่สิ่งสำคัญคือ การใช้ข้อมูลไม่เพียงแต่ช่วยให้ประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบการทำงานของนักการเมือง แต่ยังช่วยสร้างความโปร่งใสและยุติธรรมในระบบการเมือง หากการเมืองสามารถแข่งขันได้อย่างเปิดเผยและโปร่งใสโดยมีข้อมูลเป็นฐาน เราจะเห็นประชาชนได้เป็นเจ้าของระบบการเมืองนี้มากขึ้น

รัฐไทยไม่คุ้นเคยกับการเปิดเผยข้อมูล
วัฒนธรรมการตรวจสอบผ่านข้อมูลจึงเกิดได้ยาก

“เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น”

ข้อความข้างต้นคือใจความของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่หวังสร้างการมีส่วนร่วมให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบการทำงานของรัฐได้อย่างโปร่งใส เพราะการเข้าถึงสิทธิทางข้อมูลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองไทย แต่ถึงอย่างนั้น เรากลับพบว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ไม่ได้ถูกปรับปรุงมา 20 กว่าปีแล้ว คนไทยยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อิสระ และหน่วยราชการกลับเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเปิดเผยข้อมูลใดบ้าง กลายเป็นว่าข่าวสารของราชการจึง “ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น” แทน

แม้ว่ามีกฎหมายรองรับการขอข้อมูลแล้ว การขอข้อมูลยังเต็มไปด้วยอุปสรรค เช่น การยื่นขอผ่านเอกสารซองสีน้ำตาล และการยื่นอุทธรณ์ก็ใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี ทำให้กระบวนการเข้าถึงข้อมูลล่าช้า ซ้ำร้าย มาตรฐานในการจัดเก็บข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐยังไม่เท่ากัน บางหน่วยงานจัดเก็บข้อมูลได้ดี ในขณะที่บางหน่วยงานแทบไม่มีการจัดเก็บ ทำให้ประชาชนและผู้ทำงานด้านนโยบายต้องเริ่มต้นการรวบรวมข้อมูลใหม่ สะท้อนถึงความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลในประเทศ

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw กล่าวในวงเสวนาของงาน ‘Data Connect’ ในหัวข้อ ‘เขย่าการเมือง ด้วยพลังข้อมูล’ ย้ำว่า การเปิดเผยข้อมูลของรัฐมีความสำคัญต่อการสร้างความโปร่งใส และเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องรับผิดชอบต่อภาษีของประชาชนในการจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลอย่างครบถ้วน โดยชี้ให้เห็นว่าการที่รัฐบาลไทยไม่คุ้นชินกับการใช้ข้อมูลเป็นเพราะไม่ได้นำข้อมูลเชิงประจักษ์มาใช้ในการอธิบายปัญหาหรือการตัดสินใจ เน้นการอธิบายหรือแก้ไขปัญหาตามความเข้าใจส่วนตัว ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลและสร้างวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล จะช่วยให้ประชาชนสามารถตั้งคำถามและตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้อย่างตรงไปตรงมา

“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย เพราะกฎหมายข้อมูลนั้นพัฒนาได้ แต่ปัญหาจริง ๆ คือวัฒนธรรม หน่วยงานรัฐไม่เข้าใจว่าประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลไปทำไม”

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

อย่างกรณีการเลือก สว. ที่ผ่านมา iLaw ก็เป็นหนึ่งในภาคประชาสังคมที่พยายามสื่อสารความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น ผ่านวิธีการสื่อสารด้วยข้อมูล โดยการรวบรวมข้อมูลคะแนนผู้ลงสมัครจากแต่ละพื้นที่จังหวัด ทำให้พบว่า มีถึง 8 จังหวัดที่มีผู้เข้ารอบ ‘เลือกไขว้’ เกือบทั้งจังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สตูล เลย อำนาจเจริญ ยโสธร สุรินทร์ ซึ่งล้วนเป็นจังหวัดที่มีสส. จากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งหากดูจำนวนของผู้ได้เป็น สว. จากทั้งแปดจังหวัด รวมแล้วมี 52 คน หรือคิดเป็นหนึ่งในสี่ของวุฒิสภาชุดใหม่ซึ่งมีจำนวน 200 คน

ข้อมูลการลงคะแนนเลือก สว. ที่รวบรวมและแสดงภาพโดย iLaw
เผยให้เห็นลักษณะการลงคะแนนกันแบบเกาะกลุ่มของกลุ่ม Top 8 จังหวัด

นอกจากนี้ ยิ่งชีพ สะท้อนว่า การรวบรวมข้อมูลเหล่านี้มานำเสนอก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ กกต. ยังกีดกันประชาชนไม่ให้สามารถเข้าไปตรวจสอบคะแนนในหน่วยลงคะแนน iLaw ต้องอาศัยจังหวะรีบเข้าไปเก็บข้อมูลคะแนน ไม่อย่างนั้นคนทั่วไปจะไม่มีทางได้รู้ถึงคะแนนระดับรายหน่วย ทั้งที่ กกต. สามารถเป็นหน่วยงานสำคัญที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการลงคะแนนนี้ได้ง่ายมากขึ้น ให้ประชาชนช่วยจับตา มีช่องทางร้องเรียน เพื่อให้อย่างน้อยการเลือก สว. มีจุดเชื่อมโยงประชาชนได้บ้าง แต่ กกต. เลือกที่จะทำตรงกันข้าม

อย่างไรก็ตาม การใช้ข้อมูลในการเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยการวิเคราะห์และความพยายามในการทำความเข้าใจข้อมูลเชิงลึก การตัดสินใจบนฐานข้อมูลจึงต้องการความมุ่งมั่นมากกว่าการตัดสินใจโดยใช้ความเข้าใจหรือความรู้สึกส่วนตัว ซึ่งแม้ว่าจะง่ายกว่าแต่กลับทำให้เกิดความผิดพลาดได้

“เทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้นมาก ถ้าภาครัฐหรือนักการเมืองไม่ปรับตัว และยังพูดอะไรที่มันสวนกับข้อเท็จจริงที่คนสามารถค้นหาได้เอง เขาก็คงอยู่รอดไม่ได้”

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ใช้ข้อมูล เพื่อสร้างการเมืองไทยที่ดีกว่า

ทุกวันนี้ ข้อมูลถูกนำมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมเพื่อผลักดันประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เช่น โครงการ Parliament Watch ของ WeVis ที่จัดทำเป็นเว็บไซต์เปิดเผยประวัตินักการเมือง เปิดผลการลงมติ และติดตามร่างกฎหมาย ติดตามนโยบายรัฐบาล รวมถึง Policy Watch ของไทยพีบีเอส ที่มีระบบการติดตามความคืบหน้าของนโยบายที่พรรคการเมืองให้สัญญากับประชาชนไว้ เพื่อไม่ให้อำนาจของประชาชน จบลงแค่ 4 วินาทีในคูหา แต่ยังสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและนักการเมืองได้ตลอด 4 ปีก่อนเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

ทั้ง ปราบ และ ยิ่งชีพ เห็นพ้องกันว่าการนำข้อมูลมาใช้ในการเมืองเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน ข้อมูลช่วยให้สังคมสามารถตัดสินใจทางการเมืองได้อย่างมีเหตุผล โปร่งใส และลดอิทธิพลจากความสัมพันธ์ทางการเมืองและการต่อรองแบบปิดหลังบ้าน การที่ข้อมูลเข้าถึงได้มากขึ้นทำให้ผู้มีอำนาจต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนและทำให้การเมืองแข่งขันอย่างยุติธรรม

การเปิดเผยข้อมูลไม่เพียงแต่ทำให้การเมืองโปร่งใสมากขึ้น แต่ยังเป็นโอกาสให้นักการเมืองปรับตัว การที่ประชาชนสามารถค้นหาข้อมูลย้อนหลังได้สะดวก ทำให้การโกหกหรือการบิดเบือนข้อเท็จจริงทำได้ยากขึ้น หากพรรคการเมืองหรือรัฐบาลไม่ปรับตัวและใช้ข้อมูลเพื่ออธิบายการตัดสินใจ ย่อมจะสูญเสียความไว้วางใจจากประชาชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง