เคยมีคำพูดว่า ‘ข้อมูล’ เปรียบได้กับ ‘น้ำมัน’ ของโลกยุคใหม่ เพราะข้อมูลคือทรัพยากรสำคัญที่ขับเคลื่อนทุกด้านของชีวิต ทั้งยังเป็นฐานรากของการออกแบบนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม ดังนั้น หากประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเสรี พวกเขาจะสามารถใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อสร้างข้อเสนอที่มีคุณค่า แต่สังคมไทยนั้นเชื่อมั่นในพลังของข้อมูลมากน้อยเพียงใด? แล้วภาครัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลภาครัฐมากน้อยแค่ไหน?
‘การสื่อสารข้อมูลในไทยยังคงเป็นเรื่องท้าทาย’ The Active ชวนสนทนากับนักสื่อสารข้อมูลอย่าง ตั้ม-สันติชัย อาภรณ์ศรี บรรณาธิการ Rocket Media Lab และ กุ๊งกิ๊ง-ธนิสรา เรืองเดช CEO ของ Punch up & WeVis ทั้งสองชี้ให้เห็นว่า ทุกปัญหาที่มองเห็นได้ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทาง ระบบขนส่งมวลชน คุณภาพชีวิต สวัสดิการต่าง ๆ จะดีหรือร้ายอย่างไร ล้วนขึ้นอยู่ว่า ‘ภาครัฐสามารถจัดการข้อมูลได้ดีแค่ไหน?’ ไม่เช่นนั้น ชีวิตคนไทยก็จะยุ่งเหยิงและเละเทะ ไม่ต่างอะไรกับคนที่จมอยู่ในภูเขาข้อมูลที่มีชื่อว่า ‘Big Data’
การแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ จึงมีเป้าหมายเพื่อขยายพื้นที่ในการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะข้อมูลไม่ใช่แค่เครื่องมือในการตรวจสอบการทำงานของรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นช่องทางให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมอย่างแท้จริง
ชวนดูภาพข้างล่างนี้ มองเห็นอะไรเป็นข้อมูลบ้าง?
ตั้ม: อย่างที่เราทราบกันดีว่าตอนนี้กำลังมีประเด็นเรื่องปฏิรูปรถเมล์ซึ่ง ขสมก. กำลังโอนย้ายถ่ายบางสายให้กับบริษัทเอกชนในการเดินรถ ซึ่งสิ่งที่เราจะเจอตรงนี้ก็คือ หนึ่ง ไม่รู้ว่าสายรถเมล์บนป้ายนี้ ชื่อสายเดิมหรือสายใหม่ยังอยู่หรือเปล่า
ตั้ม: เพราะฉะนั้น ปัญหาของภาพนี้ นอกจากเรื่องรถเมล์ มันยังมีเรื่องการซ้อนทับทั้งเรื่องอำนาจ กรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจเกี่ยวกับเรื่องรถเมล์ แต่เป็นกรมขนส่งทางบก ซึ่งมีอำนาจมากกว่า ในขณะที่คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็ต้องลุ้นว่าตกลงแล้วปฏิรูปรถเมล์นี่รถเมล์จะมากขึ้นน้อยลง หรือว่าจะมีสายไหนที่จะผ่านบ้านหรือไม่ผ่านบ้าน หรือจะถูกยุบบ้างจะต้องรอติดตามกัน
สอง ก็คือว่าแล้วสายถูกโอนย้ายไปหรือยัง และเมื่อถูกโอนย้ายไปแล้วนี่มีจำนวนเท่าไหร่ที่เป็นจำนวนคันรถที่วิ่ง ซึ่งบางอย่างก็ตอบได้ บางอย่างก็ตอบไม่ได้ บางอย่างที่เราเห็นข่าวก็คือว่า บางสายรถไม่พอก็ต้องเอาบางสายวิ่งเสริม
กุ๊งกิ๊ง: สิ่งที่เราเห็นบางส่วนในนี้แต่ไม่เห็นทั้งหมด คือ เห็นคนที่ยืนรอรถเมล์อยู่ จริง ๆ ภาษา Data อาจจะเรียกว่าเป็น Congestion Rate หรืออัตราความหนาแน่น เป็นสิ่งที่คุยกันมานานแล้วว่าทำไมคนถึงต้องยืนรอรถเมล์เยอะ แล้วพอรถมาแต่ละทีต้องอัดกันขึ้น และเดี๋ยวมันก็จะมีรถว่างที่เก็บเงินใครไม่ได้เลย จริง ๆ เราสามารถเก็บข้อมูลเหล่านี้ได้เป็นข้อมูลของเมืองเพื่อประเมินว่าเราควรจะวางแผนเรื่องของการจัดการรถเมล์อย่างไร
ในแต่ละวัน คนไทยรับข้อมูลข่าวสารอะไรกันบ้าง?
กุ๊งกิ๊ง: มันมีโพรเจ็กต์ หนึ่งที่ Punch Up เคยทำ คือเราอยากรู้ว่าคนไทย เห็นอะไรในหน้าหนังสือพิมพ์แล้วเราเขียนชื่อโพรเจ็กต์ว่า Thailand Headline ก็คือเราอยากรู้ว่าหน้าแรกของเว็บข่าว เอาเนื้อหาข่าวประเภทไหนขึ้นเป็น Headline เอามาวิเคราะห์และเจาะลึกลงไปว่าเมื่อพูดถึงเศรษฐกิจ เมื่อพูดถึงการเมือง เมื่อพูดถึงสิ่งแวดล้อมกันอย่างไร มันก็จะเห็นแล้วว่าเทรนด์อะไรที่เป็นข่าวในแต่ละช่วงเดือน แล้วข่าวแบบไหนที่ได้แอร์ไทม์นานสุด ซึ่งตอนนั้นเหมือนจะเป็นข่าวบันเทิง ที่หลัง ๆ มันกลายเป็นข่าวอาชญากรรมที่เต็มไปด้วยเงื่อนปมอย่างข่าวแตงโม-นิดา ที่เป็นเหตุตกเรือที่แม่น้ำเจ้าพระยา รองลงมาคือข่าวน้องชมพู่-ลุงพล
ลองดูภาพประกอบการอภิปรายของนักการเมือง มีอะไรทะแม่ง ๆ ไหม?
อันดับแรกเรารู้สึกว่ามันเปรียบเทียบกันไม่ได้ด้วยการใช้กราฟแนวนอน เพราะว่ากราฟแต่ละเส้นอยู่คนละระดับ แล้วสายตาเราจะไม่สามารถเทียบค่าได้
กุ๊งกิ๊ง: มันมีข้อมูลอันหนึ่งที่ไม่ควรจะอยู่ในกราฟนี้ คือ ข้อมูลของงบประมาณผลรวม โดยงบของกระทรวงศึกษาธิการทั้งหมดถูกแบ่งประเภทเป็น 5 ประเภท แต่เส้นบนสุด เส้นที่ 6 กลับเป็นเส้นผลรวม ซึ่งมันทำให้คนอ่านกราฟเข้าใจผิดได้ แล้วก็ถ้าจะให้เพิ่มคือข้อมูล 3 เส้นล่างมันซ้อนกัน เพราะข้อมูลมันใกล้กันมาก ทำให้คนไม่สามารถอ่านค่าได้เลย ดังนั้นกราฟที่เหมาะกับข้อมูลนี้คือ Stacked Bar Chart
กุ๊งกิ๊ง: จริง ๆ เขาพยายามใช้กราฟสองแกน แกนซ้ายคือกราฟข้อมูลงบประมาณต่อคนต่อปี และแกนขวาคือกราฟจำนวนเด็กพิการ จริง ๆ แล้วมันมีงานวิจัยมาว่าการนำเสนอกราฟ 2 แกนแบบนี้ทำให้คนอ่านเข้าใจผิดได้ง่าย และถ้าสมมติภาพนี้เป็นสีขาวดำ คนจะแยกข้อมูลไม่ได้เลย รวมถึงเราอยากรู้ด้วยว่างบฯ ที่ลดลง เทียบกับงบฯ ทั้งหมดมันลงไปเท่าไหร่แน่ เพราะกราฟมันจะไม่เมคเซนส์ถ้าเราไม่รู้จำนวนงบประมาณทั้งหมด
ทำไมเรามักเห็นการสื่อสารข้อมูลที่ไม่ ‘ทรงพลัง’ ?
กุ๊งกิ๊ง: อย่างแรกคือมันไม่จำเป็นที่จะต้องสื่อสารกันด้วยข้อมูลไปทุกเรื่อง คนทำงานสื่อสารเองก็ต้องดูผู้รับสารด้วยว่าเขาถนัดหรือเข้าใจข้อมูลแบบไหน บางคนอาจชอบแบบมุขปาฐะ (เรื่องเล่าปากต่อปาก) เพราะฉะนั้นเราต้องศึกษาผู้รับสารให้ดีก่อน
กุ๊งกิ๊ง: อย่างที่สองคือ ผู้สื่อสารเลือกเครื่องมือไม่เหมาะสมกับข้อมูล บางคนคิดว่าการ Visualization ข้อมูลคือต้องทำให้สวย มีสีสัน ทำเป็นสามมิติ แต่คำถามคือ กราฟแบบไหนที่มันเหมาะกับข้อมูลที่เรามีอยู่มากที่สุด? การ Visualize ข้อมูล ควรทำให้คนอ่านเห็นแล้วเข้าใจง่ายมากที่สุด มากกว่าทำให้สวยงาม
รัฐไทย ‘จัดการ’ กับข้อมูลของราชการอย่างไร?
กุ๊งกิ๊ง: ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดเลยคือเรื่อง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร มันยังไม่ถูกแก้ให้เป็นสิทธิของประชาชน และผู้ตัดสินใจว่าจะเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐอย่างไร เป็นสาธารณะหรือไม่สาธารณะก็ขึ้นอยู่กับหน่วยราชการ ถ้าแก้กฎหมายนี้ไม่ได้ ประชาชน สื่อมวลชน นักนโยบายก็ยากที่จะเข้าถึงข้อมูลของราชการ
กุ๊งกิ๊ง: และต่อให้มีกฎหมายรองรับแล้ว เราก็ต้องยื่นขอด้วยซองสีน้ำตาล ซึ่งเป็นภาระมาก บางทีเราต้องกรอกข้อมูลและวิ่งซองเอกสารไปหน่วยงานราชการต่าง ๆ ด้วยตัวเอง พอขอไม่ได้ ก็ต้องมายื่นอุทธรณ์ ก็เสียเวลาไปอีก 10 เดือนอย่างต่ำ เพื่อให้เขาบอกว่าไม่สามารถเปิดเผยให้ได้
ตั้ม: ส่วนมาตรฐานการเปิดข้อมูลของรัฐแม้จะมีข้อบังคับในบางส่วนแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ทำอย่างมีมาตรฐานทุกหน่วย อย่างบางหน่วยงานจัดเก็บข้อมูลไว้ดีมาก แต่บางหน่วยก็ไม่ได้เลย คนทำงานอย่างเราก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ต้องมานั่งเก็บรวบรวมใหม่เหมือนว่ามันไม่เคยมีบันทึกมาก่อน เราเลยพบว่า มันไม่มีความสมบูรณ์ของข้อมูลเลยในประเทศนี้
ตั้ม: เราเห็นหลายภาคส่วน ตอนนี้เริ่มปรับปรุง นำข้อมูลให้มาอยู่รวมเป็นหลักแหล่ง แต่มันก็ยังขาดการอัปเดตข้อมูล จากการทำงานกับภาครัฐมา เราพบว่าข้อมูลจากหน่วยงาน ความใหม่ของข้อมูลจะอยู่ที่ประมาณ 2 ปีให้หลังเป็นอย่างเร็ว เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะทำข้อมูลบางอย่างที่เกี่ยวกับนโยบายเร่งด่วนในปี 2567 แต่ข้อมูลที่มีเป็นของปี 2566 มันก็ไม่สามารถใช้ได้แล้ว หรือมันก็คลาดเคลื่อนไป พอเป็นแบบนี้หลายคนก็ไม่อยากจะขอข้อมูลแล้ว พอมันไม่มีงานสื่อสารข้อมูล การขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ด้วยข้อมูลมันก็น้อยตามไปด้วย
การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ จะช่วยส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างไร?
กุ๊งกิ๊ง: การเปิดเผยข้อมูลมันคือเรื่องการสร้างความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐด้วย อย่าลืมว่าข้อมูลเหล่านี้มันมาจากภาษีของประชาชนในการจัดเก็บ จัดทำ และเผยแพร่ ดังนั้นก็ไม่ควรมีคำถามท้วงติงใด ๆ เพราะนี่เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องรับผิดชอบต่อภาษีประชาชน
กุ๊งกิ๊ง: สอง มันคือการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดข้อมูลหนึ่งอย่าง มันนำไปสู่การขับเคลื่อนที่หลากหลาย ทั้งการสื่อสารประเด็น สร้างการรับรู้ สร้างนโยบาย ผลิตนวัตกรรมแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ ได้อีกมาก และมันเป็นการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐด้วย และสุดท้ายมันจะกลับมาเป็นประโยชน์ต่อผู้บังคับใช้นโยบายเอง เพราะเขามีคนช่วยทำงาน ช่วยตรวจสอบเต็มไปหมด
ตั้ม: มันไม่ใช่แค่เราสองคนหรือสื่อมวลชน แต่มีหลายคนมากที่ต้องใช้ข้อมูลในการทำงาน มันจะสามารถทำให้ภาครัฐได้เครื่องมือฟรี ได้ข้อมูลที่ผ่านการทำงานมาแล้ว ซึ่งมันแทบไม่มีอะไรเสียหายเลยในเมื่อมันเป็นข้อมูลที่ต้องเปิดอยู่แล้ว
ข้อค้นพบจากข้อมูลก็มีอยู่มาก
แต่ทำไมเราไม่ค่อยเห็นการใช้ข้อมูลเป็นฐานคิดนโยบาย?
ตั้ม: บางทีเราก็ไม่เข้าใจการทำงานของรัฐว่าทำไมเขาถึงไม่ทำงานบนฐานข้อมูล แต่เราจะไม่โทษกันและ เราจะกลับมามองว่า จะผลักดันอย่างไรให้การทำงานผ่านข้อมูล มันเปลี่ยนแปลงการทำงานของเขาได้ มันสำคัญกว่าการต้องไปนั่งทะเลาะกับภาครัฐแล้ว อย่างเราหรือกุ๊งกิ๊งเองก็พิสูจน์ให้รัฐเห็นว่าการทำข้อมูลให้ง่ายต่อการประมวลผลบนคอมพิวเตอร์ หรือ Machine-readable Data มันช่วยทำให้เขาและสังคมทำงานกันง่ายขึ้น พูดกันบนภาษาเดียวกัน
กุ๊งกิ๊ง: อย่างกรณีเอกสารงบประมาณรายจ่ายฯ เราทะเลาะกับเขามาหลายปีว่าขอในแบบ Machine-readable Data ได้ไหม สุดท้ายเราตัดสินใจทำเองให้ดู และทำให้ดูว่ามันมีคนเอาไปใช้ทำอะไรต่อได้ ซึ่งปีล่าสุด (2567) ก็เป็นความพยายามครั้งแรกที่สำนักงบประมาณได้เริ่มทำ แม้จะยังไม่ถูกรูปแบบทีเดียว แต่ถือเป็นความสำเร็จก้าวหนึ่งเลย เลยคิดว่าการชวนทะเลาะหรือการนั่งวิจารณ์เป็นสิ่งที่อาจจะไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์สำหรับการอยู่ในประเทศนี้ แต่การทำให้เห็นความร่วมมือฝั่งภาคประชาชน หรือสื่อมวลชนเอง และแสดงให้รัฐดู อาจจะได้ผลมากกว่า
ทำยังไงให้คนไทยมีวัฒนธรรมในการสื่อสารกันด้วยข้อมูล?
ตั้ม: เรารู้สึกว่า สังคมทุกวันนี้อยากได้ข้อมูลและข้อเท็จจริงมากกว่าเรื่องเล่า ถ้าเราเข้า Tiktok ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทุกอย่างมันสู้กันบนข้อมูล ไม่ว่าใครจะออกนโยบายอะไรมา มันจะมีคนในสื่อสังคมออนไลน์ออกมาถกเถียงบน Data ปาข้อมูลใส่กัน เราเริ่มเห็นการใช้ข้อมูลไม่ใช่แค่ในวงการสื่อสารมวลชนแล้ว แต่คนทั่วไปก็เริ่มใช้กันมากขึ้น เพียงแต่ว่าเราจะยกระดับการพูดคุยด้วยภาษาข้อมูลอย่างไรให้เกิดการขยับสังคมด้วย
กุ๊งกิ๊ง: ถ้าเราจะสร้างวัฒนธรรมของการสื่อสารด้วยข้อมูล อย่างแรกก็ต้องสร้างวัฒนธรรม เทรนด์ของโลกกำลังมา เราดูจากในหนังสือพิมพ์หรือในอภิปรายการอภิปรายในสภาก็เริ่มเห็นว่ามีการใช้ข้อมูลมากขึ้น
ตั้ม: ดังนั้น หากภาครัฐเปิดเผยข้อมูลได้มากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณ แต่เป็นทุกที่ยังไม่เคยเปิดมาก่อน สังคมจะรู้สึกคุ้นเคย และเมื่อคนเห็นตัวอย่างการสื่อสารด้วยข้อมูลมากขึ้น มันก็จะเริ่มเรียนรู้ตาม
กุ๊งกิ๊ง: อย่างที่สองคือ เราต้องสร้างความรู้เท่าทัน เพราะโลกมีข้อมูลอยู่อย่างมหาศาล ทำอย่างไรที่คนจะไม่โดนข้อมูลหลอก ไม่ถูกกราฟหลอกได้ง่าย ๆ ส่วนหนึ่งระบบการศึกษาก็มีส่วนช่วย และการเรียนรู้ด้วยตัวเองก็ทำได้เช่นกัน
กุ๊งกิ๊ง: อย่างที่สามคือเรื่องการเข้าถึงแหล่งข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องของภาครัฐ ถ้าอยากสร้างวัฒนธรรม อยากสร้างแหล่งข้อมูล คุณ (ภาครัฐ) ก็ต้องเปิดข้อมูลให้เขาสามารถเข้าไปใช้ได้โดยง่าย
กุ๊งกิ๊ง: และสุดท้าย คนทำงานด้านข้อมูลจำเป็นต้องมีเครือข่าย การสื่อสารจะทรงพลังได้ต้องร่วมมือกัน ก็เลยอยากชวนทุกคนไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน Data Connect 2024 ในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เวลา 10.00 – 17.00 น. ที่ True Digital Park โดยงานนี้จะเป็นพื้นที่พบเจอกันระหว่างกลุ่มคนที่มีไอเดียอยากเปลี่ยนแปลงสังคม แต่กำลังมองหาข้อมูลหรือผู้เชี่ยวชาญด้านงานข้อมูล กับคนอีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่มีของ มีทักษะ แต่อยากหาทีมร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่ใครที่ยังไม่มีไอเดียอะไร ก็มาหา มาจุดประกายได้เช่นกัน
ติดตามรายละเอียดงานทั้งหมดที่ www.dataconth.com/activity/21 หรือทาง Facebook, Instagram, X : DataCon TH