ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม หรือ ฝุ่นควัน เป็นที่มาของความร่วมมือแก้ปัญหาเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม รับมือผลกระทบที่ตามมาจากภัยพิบัติในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำงานด้านข้อมูล และการใช้ ‘ข้อมูลเปิด’ ให้เกิดประโยชน์ เห็นได้จากงาน Open Data Day 2025 หรืองานวันข้อมูลเปิดโลก
ภายในงาน Open Data Day 2025 ณ SCBX NEXT TECH จัดกิจกรรมทอล์ก Project Showcase ที่รวมเหล่าคนทำงานสายข้อมูลในประเทศไทยมาบอกเล่าประสบการณ์ในหัวข้อ “เบื้องหลังงาน Data มองปัญหาภัยพิบัติผ่านข้อมูล” ทั้งหมด 10 โปรเจกต์ จาก 9 องค์กร ได้แก่ Punch Up, Boonmee Lab, 101 PUB, Data Hatch, Landometer Co., Ltd., Viz Craft Studio, Rocket Media Lab, คณะก้าวหน้า และ Digital4Peace Foundation (มูลนิธิดิจิทัลเพื่อสันติภาพ)

งานดาต้า แก้ปัญหาให้เกษตรกร
ประเทศไทย ซึ่งมีพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 46% ของพื้นที่ทั้งหมด ต้องเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนในการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเมื่อเกิดภัยพิบัติ
นี่จึงเป็นที่มาของโครงการจาก บุญมีแล็บ ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ได้นำเสนอแนวทางที่น่าสนใจในการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลแก้ปัญหาการเยียวยาภัยพิบัติทางการเกษตร
“เกษตรกรต้องพบเจอปัญหาทุกปี แต่การใช้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบใช้เวลาเยอะ และอาจเกิด human error ได้”
ข้อมูล ช่วยลดเวลา เพิ่มประสิทธิภาพ
ศรสวรรค์ เวทมนต์ Project Manager จากบุญมีแล็บ เล่าถึงระบบการวิเคราะห์ความเสียหายที่พัฒนาขึ้นมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมและฐานข้อมูลภาครัฐ โดยมีจุดประสงค์หลักคือลดระยะเวลาและความผิดพลาดในการสำรวจพื้นที่เสียหาย แทนที่จะใช้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยตนเอง
“บุญมีแล็บเข้ามาช่วยกระบวนการเยียวยาเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยทำระบบวิเคราะห์ความเสียหายจากภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อแปลงเกษตร นำข้อมูลความเสียหาย มาแสดงผลเป็นภาพ (visualize) ให้เจ้าหน้าที่ใช้ โดยหวังว่าเจ้าหน้าที่จะทำงานได้เร็วและทันท่วงทีมากขึ้น”
‘จัดการข้อมูลข้ามหน่วยงาน’ ปัญหาที่ต้องแก้
ความท้าทายสำคัญในโครงการนี้จากมุมของ ศรสวรรค์ คือ การสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“สิ่งที่พบระหว่างดำเนินการคือ แต่ละหน่วยงานเข้าใจข้อมูลไม่ตรงกัน แต่ละภาคส่วนก็จะมีชุดข้อมูลของเขา มีความเข้าใจผิดต่อความหมายข้อมูล คำคำเดียวกลับเข้าใจไม่ตรงกันในแต่ละองค์กร” ศรสวรรค์เล่า
ด้วยการพัฒนา “data glossary” ด้วยรูปแบบคล้าย Dictionary และเสริมด้วยการทำ Venn diagram เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ของข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้การแปลความหมายข้อมูลมีความชัดเจนและแม่นยำมากขึ้น
โจทย์ท้ายทายเรื่องฐานข้อมูลภายใต้กรอบ PDPA
อีกหนึ่งประเด็นที่ศรสวรรค์ยกมาพูดถึงคือ ข้อมูลที่บุญมีแล็บใช้ในโครงการนี้ส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลที่อาจยึดโยงเป็นส่วนบุคคล จึงไม่ใช่ข้อมูลเปิด แต่เป็นข้อมูลที่มาจากภาครัฐและหน่วยงานเอกชน อย่างข้อมูลการลงทะเบียนพื้นที่เกษตรกร และการเคลมความเสียหายในปีที่ผ่าน ๆ มาจากภาครัฐ และข้อมูลภาพถ่ายแปลงเกษตรทางดาวเทียม แสดงให้เห็นความเสียหายในแต่ละช่วงของปีจากภาคเอกชน
ข้อมูลบางอย่างมีความละเอียดอ่อนและต้องจำกัดการเข้าถึง โดยเฉพาะภายใต้กรอบกฎหมาย PDPA เช่น ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยหรือกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในขั้นตอนการช่วยเหลือหลังเกิดภัย ที่ถึงแม้ภาครัฐจะมีฐานข้อมูลเรื่องพวกนี้ แต่กลุ่มคนที่เข้าถึงข้อมูลได้จะมีแค่ผู้ที่ทำงานช่วยเหลือโดยตรงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ศรสวรรค์เชื่อว่า หากข้อมูลเหล่านี้ถูกคัดกรองและนำมาเผยแพร่เป็นข้อมูลเปิด ก็น่าจะเป็นประโยชน์ได้มากขึ้นต่อกลุ่มเกษตรกร
“ข้อมูลในโครงการเหล่านี้อาจถูกยึดโยงว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล แต่ถ้าข้อมูลเหล่านี้มันกลายมาเป็น open data ได้ ก็เชื่อว่าองค์กรอื่น ๆ สามารถเอาข้อมูลไปใช้เป็นประโยชน์ได้มากขึ้น และช่วยกลุ่มเกษตรกรได้มากขึ้นเช่นกัน”
นอกจากการเข้าถึงข้อมูลเปิด ข้อจำกัดของการจัดการข้อมูลในปัจจุบัน คือ ความกระจัดกระจายและไม่เป็นระบบ ทำให้ยากต่อการเข้าถึงและใช้งาน อีกทั้งยังขาดข้อมูลในพื้นที่ในส่วนของภาคเอกชน ทำให้ข้อมูลไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด

งานดาต้า วิเคราะห์ปัญหาและความเชื่อมโยง
ดัชนีความเสี่ยงจากข้อมูลสากล
“ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติหรอกนะครับ แต่สงสัยว่า ภัยพิบัติเป็นเรื่องดวงหรือเปล่า จะเกิดขึ้นกับเราหรือเปล่า แต่ในมุม Data Lover พอพูดเรื่องดวงมันเป็นคำแสลงเพราะมันอธิบายไม่ได้ เราเลยไม่ใช้คำว่าดวง แต่ใช้คำว่าความเสี่ยงแทน เพราะมันอธิบายด้วยข้อมูลได้ดีกว่า”
ในส่วนกิจกรรมทอล์ค Project Showcase งาน Open Data Day จุฬา จิระตระการวงศ์ จาก Viz Craft Studio ได้มาเล่าถึงผลงานการศึกษาที่ได้นำเสนอการวิเคราะห์ความเสี่ยงภัยพิบัติโดยใช้ Inform Index ซึ่งประมวลผลโดยสหภาพยุโรป มาทำให้เห็นภาพในรูปของแผนที่
ในชิ้นงาน ประเทศคุณเสี่ยงแค่ไหน เปิดภาพภัยพิบัติทั่วโลกผ่านข้อมูล ได้พิจารณาความเสี่ยงจาก 2 ปัจจัยหลัก คือระดับความเสี่ยงภัยพิบัติ (Hazard Exposure) และ ความยากในการฟื้นฟู (Recovery Difficulty Level) นำมาเทียบกับรายได้ประชากร หรือ GDP per capita
บทบาทของรายได้ประชาชาติ
“เราตั้งคำถามต่อว่า อะไรทำให้เขามีศักยภาพมากกว่าเรา ผมไม่มีคำตอบให้ เราไม่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ แต่สิ่งที่เราทดลองต่อ คือเอา GDP per capita หรือ income level ลองมาใส่ดู แทนค่านี้ด้วยสี เราเห็นเลยว่า กลุ่มประเทศที่รับมือได้ดี เป็นสีเขียวและฟ้าทั้งหมด” จุฬา เล่าถึงกระบวนการให้ฟัง
“พอถึงตรงนี้ เราเริ่มตั้งคำถามแล้วว่ารายได้มีผลต่อความยากในการฟื้นฟูไหม เลยไปพลอตใน scatterplot ดู เป็น GDP per capita และความยากในการฟื้นฟู เราจะเห็นสไลด์เดอร์เหมือนฮาร์เบอร์แลนด์เลย”
การวิเคราะห์ข้อมูลพา Viz Craft Studio มาพบความสัมพันธ์ที่น่าสนใจระหว่างระดับรายได้ (GDP per capita) กับความสามารถในการรับมือภัยพิบัติ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปัจจัยทางเศรษฐกิจในการบรรเทาผลกระทบ
การพลอตข้อมูลลงกราฟ ทั้งรูปแบบแผนที่ scatterplot หรือ pivot table ช่วยให้เห็นความเป็นความเชื่อมโยงกันของประเด็นปัญหา (Polycrisis) ของภาคเศรษฐกิจ โยงมาสู่ปัญหาด้านการจัดการรับมือและเยียวยาภัยพิบัติได้ชัดเจนมากขึ้น
จุฬา ย้ำถึงความเชื่อมโยงและเกี่ยวพันกันของปัญหา โดยทิ้งท้ายในบทด้วยคำถามว่า “หากรายได้ (GDP per capita) เป็นเรื่องของการทำงานและการพยายาม นั่นแปลว่าความมั่นคงของเราขึ้นอยู่กับความพยายาม หรือโชคชะตา”

งานดาต้า พาสืบสวนเชิงลึกผ่านหน้าจอ
“เรารู้ว่าไฟป่ามาทุกปี บทลงโทษมันรุนแรงมากนะครับ จำคุก 20 ปี ปรับสูงสุด 2 ล้านบาท แม้โทษแรงขนาดนี้ แต่ทำไมไฟป่ายังมีอยู่ เราต้องรู้ก่อนว่าตรงไหนมีการเผาอยู่บ้าง มาศึกษาดูช่วงเวลาของทะเลเพลิงของไทย อย่างช่วงนี้เป็นช่วงพีคเลยนะครับ”
จิระศักดิ์ แก้วเจริญ Growth builder จาก Landometer มาเล่าถึงเบื้องหลังและระบบการทำงานของโครงการใต้บริษัท Landometer ภายในงาน Open Data Day 2025
ระบบติดตามจุดความร้อน
โครงการ City METER ได้พัฒนาระบบติดตามจุดความร้อนและการเกิดไฟป่า โดยใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ ซึ่งช่วยให้สามารถระบุแหล่งกำเนิดและติดตามสถานการณ์ได้โดยไม่ต้องลงไปสำรวจพื้นที่
จิระศักดิ์ เล่าถึงความตั้งใจเบื้องหลังานข้อมูลว่า “อยากให้ทุกคนมาจับตาว่าไฟเกิดที่ไหน เพื่อติดตามดำเนินการได้ ให้ทุกภาคส่วนสามารถออกความเห็น ชวนดูว่าไฟเกิดขึ้นเพราะอะไรกันแน่ เจ้าหน้าที่ติดขัดอะไรอยู่ เพราะอุปกรณ์ไม่พอหรือเปล่า ไม่ใช่มองเห็นแค่ข้อมูล แต่ต้องรับรู้ถึงเหตุผลด้วย
“อยากชวนชี้เป้าเฝ้าระวัง จุดไหนเผาอยู่บ้าง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เห็นว่าต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อเฝ้าระวังการเผา การมีแผนที่จะช่วยให้เห็นว่า ต้องไปอยู่จุดไหนในการจับตาจุดเผาไหม้”
เป้าหมายเพื่อการมีส่วนร่วม สร้างข้อมูลเชิงลึก
ระบบของโครงการ City METER มุ่งเน้นการกระตุ้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ผ่านเครื่องมือที่ช่วยให้สืบสวนถึงต้นตอได้จากเว็บไซต์ออนไลน์
จิระศักดิ์ เล่าว่า เคยลองใช้ City METER นั่งดูว่าจุดไหนมีการเผาไหม้ที่น่าสนใจอยู่บ้าง และได้เห็นว่า มีจุดความร้อนที่กระจุกตัวอย่างน่าสนใจที่นราธิวาส ที่มีการเผากระจุกตัวอยู่ แม้พื้นที่รอบ ๆ จะไม่มีการเผา
“บังเอิญไปเจอพื้นที่ที่จุดรอบ ๆ ไม่เผา ทำไมจุดนี้เผา เลยลองเสิร์ชเข้าไปดูข่าว ข่าวบอกว่าจุดนี้เกิดไฟป่า มาดูว่า ก็เลยสืบดูว่าเริ่มมีจุดไหม้ช่วงไหน ในวันที่ 2 พ.ค. เห็นจุดเริ่มต้นของการเผา ตรงกับในข่าว เลยเดาได้ว่าอาจจะเกิดจากการที่ชาวบ้านไปเผาเพื่อเคลียร์พื้นที่ทางการเกษตร”
“ตัวเราอยู่กรุงเทพ แต่เราช่วยสืบได้จากข้อมูลที่มีอยู่” จิระศักดิ์ ยกตัวอย่างการสืบหาต้นตอไฟป่า แบบที่ไม่ต้องลงพื้นที่ไปถึงนราธิวาสได้ด้วยเครื่องมือข้อมูล City METER
นวัตกรรมการใช้ข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลในการสนับสนุนการตัดสินใจและการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี การวิเคราะห์ข้อมูล และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาระบบการจัดการภัยพิบัติที่ยั่งยืน