ประเทศไทยกับโรคอุบัติใหม่ | เมื่อโควิด-19 ไม่ใช่โรคระบาดสุดท้าย

หากดูจากประวัติศาสตร์สาธารณสุขร่วมสมัย เท่าที่หนังสือ 100 ปี ร้อยเรื่องราวกรมควบคุมโรค ย้อนกาลเวลาให้เรารู้จักกับโรคระบาดในอดีต “กาฬโรค” หรือ Black Death ที่คร่าชีวิตประชากรโลกมากเกือบ 200 ล้านคน ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 แต่การระบาดในประเทศไทยเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ช่วงพุทธศักราช 2447 พบว่า ต้องใช้เวลานานถึง 48 ปี จึงจะไม่มีรายงานผู้ป่วยด้วยโรคนี้อีก

ไม่มีวัคซีนป้องกัน มีเพียงยารักษาเท่านั้น…

หรือหากเป็นโรคระบาดระดับโลก ในปี 2461 หรือ คริสต์ศักราช 1918 โรคไข้หวัดสเปน ก็คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกมากถึง 50 ล้านคน ภายในเวลาเพียง 2 ปี

กาลเวลาอีกเช่นกัน ที่ทำให้โลกข้ามผ่านโรคระบาดอันน่าวิตกหลายครั้งมาได้ แม้จะไม่มีทั้งยาและวัคซีนป้องกัน

สิ่งที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์ 100 ปี คือ ห้วงเวลาครึ่งศตวรรษหลังมานี้ โรคที่เกิดขึ้นใหม่ หรือ “โรคอุบัติใหม่” มีความถี่และมีผู้ติดเชื้อแพร่กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น นับตั้งแต่ อหิวาตกโรครอบสุดท้าย ที่ระบาดในประเทศไทยเมื่อปี 2501 ก่อนที่ไทยจะพบการระบาดของ โรคเอดส์ ครั้งแรกเมื่อปี 2527 ซึ่งทิ้งห่างจากการที่โลกพบเชื้อไวรัส HIV ถึง 2 ปี

จากนั้น ในห้วงเวลาไม่ถึง 20 ปี ไทยและโลก ต้องพบทั้ง ซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (A H1N1) และ เมอร์ส

แต่ละโรค ทิ้งช่วงห่างกันไม่เกิน 10 ปี…

การพบการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เมื่อปลายปี 2562 คือ การระบาดในระดับ Pandemic ที่ระบาดไปแล้ว 191 ประเทศทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อแล้ว 81 ล้านคน และมีถึง 1.7 ล้านคน ต้องเสียชีวิต (31 ธ.ค. 2563)

ขณะเดียวกัน โควิด-19 ชื่อโรคอุบัติใหม่จากไวรัสโคโรนา 2019 ก็มีผู้ติดเชื้อที่รอดชีวิตและสามารถรักษาหายได้มากถึง 46 ล้านคน แม้วัคซีนจะเพิ่งเริ่มนำมาทดลองใช้ในมนุษย์ เมื่อมีการระบาดไปแล้วถึง 1 ปีเต็ม

องค์การอนามัยโลก โดย เทดรอส อะดานอม เกเบรเยซุส ออกมายืนยันอีกครั้ง เมื่อ 27 ธ.ค. 2563 ว่า ไวรัสโคโรนา 2019 จะไม่ใช่การระบาดครั้งสุดท้าย ดังนั้น ทุกประเทศต้องลงทุน เพื่อเพิ่มความสามารถและศักยภาพในการเตรียมความพร้อม ป้องกัน ตรวจจับ และบรรเทาภาวะฉุกเฉินจากโรคระบาดทุกประเภท เพราะ “ประวัติศาสตร์บอกเราว่านี่จะไม่ใช่การระบาดครั้งสุดท้าย และการแพร่ระบาดเป็นความจริงของชีวิต”

เขายังบอกด้วยว่า “การรักษาพยาบาลเบื้องต้นที่เข้มแข็ง” มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นรากฐานของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) จึงได้ประกาศให้วันที่ 27 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดสากล หรือ International Day of Epidemic Preparedness เพื่อกระตุ้นให้โลกศึกษาบทเรียนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เตรียมพร้อมสำหรับวิกฤตด้านสาธารณสุขที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

The Active สนทนากับ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมโรค ที่เวลานี้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ว่าหากโควิด-19 ไม่ใช่โรคระบาดครั้งสุดท้าย แล้วระบบสุขภาพและประเทศไทย จะวางแผนและตั้งรับอย่างไรกับการระบาดระลอกใหม่ รวมถึงโรคที่จะอุบัติใหม่ในอนาคต

หลายครั้งที่โลกออกมายอมรับว่า ประเทศไทย มีความสามารถในการสืบสวนโรคและนำมาสู่การควบคุมโรค ถือเป็นจุดแข็ง แต่จริง ๆ แล้ว เรายังมีจุดอ่อน

การวิเคราะห์จุดอ่อน ตามกรอบ ‘หลักของความมั่นคงด้านสุขภาพ’ เพื่อจัดการปัญหาโรคอุบัติใหม่ สามารถแบ่งได้เป็น 4 ส่วน

ส่วนที่ 1 การป้องกัน

ส่วนที่ 2 การค้นหา

ส่วนที่ 3 การควบคุม หรือการตอบโต้

ส่วนที่ 4 การประสานสั่งการ การเข้าไปจัดการกับปัญหา

นพ.ธนรักษ์ เริ่มต้นอธิบาย ว่าเมื่อเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ ไม่ใช่แค่ด้านสาธารณสุขอย่างเดียว ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาได้ แต่เป็นเรื่องของการทำงานข้ามสายงาน ข้ามภาคส่วน หลายภาคส่วน หลายกระทรวง

“แล้วก็ไม่ใช่แค่ภาครัฐจะต้องเข้ามาจัดการ ภาคเอกชนจะต้องเข้ามาร่วมจัดการด้วย เรื่องของการบริหารจัดการ และการประสานงาน เป็นเรื่องที่สำคัญมาก”

Mindset หรือเรื่องของวิธีคิด เรื่องของการจัดการภาวะฉุกเฉิน ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ผมมีความรู้สึกว่า ทุกคนคิดว่ามันเป็นเรื่องของกระทรวงสาธารณสุขที่เดียว ความเป็นจริงมันต้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การระบาดระลอกแรก ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมน้อยเกินไป แต่ช่วงหลังดีขึ้น แต่ความเป็นจริงเขาควรจะเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น

การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชนจะมีความสำคัญมาก ยกตัวอย่างง่าย ๆ ในช่วงการจัดการหน้ากากอนามัย, ชุดป้องกันควบคุมโรคส่วนบุคคลของทีมแพทย์ (PPE), หน้ากาก n95 เอกชนมีส่วนตั้งแต่ที่เป็นผู้ผลิตจนถึงผู้นำเข้า ภาคอุตสาหกรรมจะเข้ามาช่วยเราได้มากน้อยแค่ไหน ตอนนี้ หน้ากากมี 3 ชั้นจะมีอยู่ชั้นหนึ่งที่เราผลิตเองไม่ได้ ตรงนี้ทำให้เรา ไม่มีสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ความมั่นคงด้านสุขภาพ’ เลย ถ้าเราทำตรงนั้นไม่ได้ แม้แต่อุปกรณ์ที่เป็นอุปกรณ์พื้นฐานง่าย ๆ เรายังทำไม่ได้ ผลิตเองไม่ได้ ถ้าคนอื่นเขาไม่ส่งพวกวัสดุสำหรับการผลิตเข้ามา เราจะลำบากมาก

“ทำอย่างไรให้เราสามารถพึ่งตนเองได้ เรื่องของความมั่นคง คือ เรื่องของความสามารถที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศได้ เราจะปกป้องสุขภาพของคนของเราได้ไหม เราจะปกป้องเศรษฐกิจของเราได้เองหรือเปล่า พวกนี้ จะต้องกลับมาทบทวนใหม่หมดเลย ว่าอะไรบ้าง คือ สิ่งที่เราจะต้องพึ่งตัวเองได้”

ส่วนแรก ส่วนของการป้องกันโรค ยกตัวอย่างเรื่องของการทำงานจากบ้าน ถ้าภาคเอกชนหรือหน่วยงานไม่ให้ความร่วมมือ ก็ยากลำบากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นภาคเอกชนต้องให้ความร่วมมือ ซึ่งที่ผ่านมาต้องชื่นชม ในอนาคต ภาคเอกชนจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่เป็นอยู่ หากเขาเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาตั้งแต่เริ่ม หลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทเล็ก ๆได้รับผลกระทบหนักมาก การ Work From Home คือ ยอมปิดสำนักงานชั่วคราว หรือเปลี่ยนรูปแบบการทำงานขององค์กรไปเลย

ส่วน เรื่องของการเข้ามามีความร่วมมือในการแก้ปัญหา เป็นเรื่องจำเป็นมาก การจัดการภาครัฐจะต้องมีกลไก ซึ่งจริง ๆ เราพัฒนากลไกมาสักระยะหนึ่งแล้ว คือ ‘กลไกจัดการภาวะฉุกเฉิน ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย’ จะมี ประกาศตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, การจัดการโครงสร้างสาธารณภัย, การจัดการศูนย์ภาวะฉุกเฉินเหมือนกันนะครับ สิ่งที่จะทำให้เข้มแข็ง คือ “ต้องทำกลไกให้เข้มแข็งและเป็นจริง”

“รอบนี้เรากระโดดข้ามเลย เราไม่ได้ใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เรากระโดดไปใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เลย ถ้าเราเตรียมตรงนี้ไว้ วันหนึ่งจะได้ใช้แน่ ๆ อันนี้ จะเป็นเรื่องของการประสานงาน การจัดการ การสั่งการ”

เตียง บุคลากรทางสาธารณสุข และความพร้อมของอุปกรณ์ทางการแพทย์ ต้นทุนสำคัญรับมือภาวะวิกฤต

“การป้องกัน ตรวจจับ และการควบคุม” คือ เรื่องที่ต้องพัฒนา โดยเฉพาะการควบคุมโรค เมื่อเกิดภาวะโรคระบาดแล้ว ที่เน้นหนักเรื่องการตอบโต้ในภาวะฉุกเฉิน โดย ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเป็นระบบบัญชาการเหตุการณ์ หรือเรื่องของโรงพยาบาลและการรักษาที่อยู่ในส่วนของการป้องกัน ตอบโต้ หรือการควบคุม ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยจะต้องร่วมกันพัฒนาเพื่อรับมือกับโรคระบาดระลอกใหม่ หรือโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

เช่น จำนวนเตียงคนไข้ หรือจำนวนห้องไอซียู ที่เวลานี้ เรามีจำนวนเตียงคนไข้พอดีกับความต้องการ พูดง่าย ๆ คือ ถ้าเรามีคนเจ็บประมาณหนึ่ง เรามีเพียงพอสำหรับรักษา แต่หากเริ่มมีคนไข้มากขึ้นผิดปกติ บางโรงพยาบาลจะเริ่มล้นแล้ว

“บางโรงพยาบาลมีอัตราครองเตียงมากกว่า 100% คนตั้งข้อสงสัย ทำคิ้วขมวดเลย จริงหรอ? จริงครับ เพราะว่าเขาเอาคนไข้มานอนตามระเบียง บางที่หนักมากจนถึงขนาดเตียงเข็นคนไข้ยังไม่พอสำหรับการขนคนไข้ เพราะว่าใช้เตียงเข็นคนไข้ไปไว้รับคนไข้ในทั้งหมด คำถาม คือ แล้วเราควรจะมีเตียงเท่าไหร่? แล้วควรจะเตรียมเตียงเผื่อภาวะฉุกเฉินเท่าไหร่?”

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก ช่วงต้นของการระบาดมีปฏิกิริยาเยอะมาก เพราะเราไม่ได้คิดประเด็นพวกนี้ไว้ก่อน “เราไม่ได้เข้าใจหลักการของการจัดการเตรียมในภาวะฉุกเฉินมาก่อน” แต่เราก็ทำได้ดีมาก เราก็สามารถไปหาเตียงสำหรับรับคนไข้มาได้ ไปใช้โรงพยาบาลสร้างใหม่ ที่ยังไม่ได้เปิดใช้มารับคนไข้ไปพลางก่อนได้ แล้วก็ใช้หลายสถานที่มาดัดแปลงรองรับคนไข้ที่อาการน้อย ๆ

แล้วระยะยาวจะรับมืออย่างไร? หากในภาวะปกติเราต้องการเตียง 100 เตียง เราจะยอมลงทุนที่จะมีเตียงสำหรับภาวะฉุกเฉินเพิ่มขึ้น ประมาณสักเท่าไหร่ แล้วจะบริหารจัดการมันอย่างไร? หลักคิดคงไม่ใช่เพิ่มเตียงให้กับทุกโรงพยาบาล โรงพยาบาลละ 10-20% คงไม่ใช่อย่างนั้น เรื่องเหล่านี้ต้องคิดไว้ล่วงหน้า เตียงเป็นตัวอย่างหนึ่งในการเตรียมทรัพยากรในภาวะที่เราต้องการทรัพยากรมากกว่าปกติ

“แต่ในภาวะผิดปกติ เราต้องการทรัพยากรทุกอย่างเพิ่มขึ้น การมีเตียงอย่างเดียว ไม่แก้ปัญหา”

ถ้าไม่มีหมอที่จะไปดูแลคนไข้ในเตียงเหล่านั้น ถ้าไม่มีพยาบาลในการที่จะไปดูแลคนไข้บนเตียงเหล่านั้น การมีเตียงมากพอก็ไม่แก้ปัญหา การมีแพทย์และพยาบาลมากพอสำหรับภาวะฉุกเฉินเป็นสิ่งจำเป็น จะลงทุนมากแค่ไหน หรือจะมีวิธีการอย่างไรในการที่จะลงทุนเรื่องเหล่านี้ จะบริหารจัดการอย่างไร เพราะการจ้างงานล่วงหน้า สำหรับภาวะปกติไปเผื่อภาวะฉุกเฉิน เป็นการลงทุนระยะยาวที่ต้องตัดสินใจ

อุปกรณ์ทางการแพทย์ก็เช่นกัน รอบนี้เรายังใช้อุปกรณ์แบบนี้อยู่ อีกไม่กี่ปี อุปกรณ์พวกนี้อาจจะโยนทิ้งแล้ว การซื้อมารอไว้ทั้งหมด อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกทั้งหมด การวางแผนเรื่องเหล่านี้เป็นการวางแผนที่สำคัญ ซึ่งโรคระบาดครั้งนี้ ปลุกให้พวกเราตื่น หลายเรื่องคงต้องกลับมานั่งคิดให้ชัดมากขึ้น แต่ก็ในมุมของสาธารณสุขเท่านั้น ต้องถามภาคส่วนอื่น ๆ ว่าพร้อมที่จะเตรียมการเหล่านี้อย่างไร

“คนอื่นจะเอาด้วยหรือเปล่า รัฐบาลเอาด้วยหรือเปล่า สังคมจะเอาด้วยหรือเปล่า ถ้ารัฐบาลจะเอาด้วย ต้องตอบมาเป็นนโยบายที่ชัดเจน ผ่านการจัดสรรอย่างเหมาะสม ไม่ใช่บอกว่าเราต้องเตรียมการสำหรับภาวะฉุกเฉิน แต่ไม่ให้ทรัพยากรมาเพิ่มเลย ก็คงไม่ใช่ และทางฝ่ายสาธารณสุข ก็ต้องมีแผนที่สมเหตุสมผล นี่คือฝั่งการตอบโต้นะครับ ฝั่งการตรวจจับเน้นหนักแน่นอน”

ในส่วนของ ห้องปฏิบัติการทางสาธารณสุข ในต่างประเทศมีห้องปฏิบัติการทางสาธารณสุขมากพอ สามารถตรวจตัวอย่างได้มากพอ สำหรับภาวะฉุกเฉิน แล้วสามารถจะเพิ่มศักยภาพได้เร็ว เช่น เกาหลีใต้ การระบาดในช่วงแรก ที่สามารถตรวจได้มากกว่า 20,000 ตัวอย่างต่อวัน โดยใช้เวลาสั้นมากในการเพิ่มศักยภาพการตรวจ หากเราต้องการศักยภาพแบบนั้น ก็ต้องลงทุนด้วย แต่จะต้องลงทุนอย่างเหมาะสมเหมือนเดิม เพราะเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยโตเร็วมาก เปลี่ยนเร็วมาก การซื้อมาเผื่อไว้ แล้วเอาผ้าคลุม ก็คงไม่ใช่คำตอบเหมือนกัน

“เกาหลีใต้ใช้เวลาไม่ถึงเดือนในการเพิ่มศักยภาพ ของเราใช้เวลาค่อนข้างยาว ตรงนี้จะต้องลงทุนได้เหมือนกัน ไปจนถึงเรื่องของการป้องกัน”

ความหวังพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ บทเรียนไข้หวัดใหญ่ 2009 “มีเงินก็ซื้อไม่ได้”

โรคอุบัติใหม่ ป้องกันค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่การป้องกันจะพูดถึงเรื่องของ วัคซีน  เราจะต้องถามว่าแล้วเราจะลงทุนได้หรือเปล่า ศักยภาพพึ่งตัวเองในการผลิตวัคซีน วิจัยวัคซีนได้เอง เรื่องนี้จริง ๆ เรามีบทเรียนที่แรงมากครั้งหนึ่งในสมัยไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งนำมาซึ่งความพยายามในการพัฒนาหรือจัดตั้งโรงงานวัคซีนในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้หลายฝ่ายก็เร่งกันมาก ซึ่งต้องให้เครดิตคนทำงานเรื่องนี้ ถึงแม้เราอาจยังไม่เห็นภาพชัดเจน แต่เชื่อว่าเร็ว ๆ นี้เราจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น

ไข้หวัดใหญ่ 2009 สอนอะไรเรา? ตอนนั้นมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาดใหญ่ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว แล้วการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ทำได้เร็วมาก ไม่ถึงปีที่มีการแพร่ระบาดก็มีวัคซีนออกมาเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลเห็นความสำคัญมาก บอกกับกระทรวงสาธารณสุขว่าเท่าไหร่เท่ากัน จะซื้อมาให้มากที่สุด เท่าที่จะหามาได้

“แต่ทราบไหมว่า เราซื้อมาได้กี่โดส สำหรับคนกี่คน คำตอบคือ 0 ครับ ไม่มีใครขาย”

ข้อสรุป คือ เมื่อถึงเวลาวิกฤต มีเงินก็ซื้อไม่ได้ สุดท้ายต้องอาศัยความร่วมมือเก่าแก่ดั้งเดิมกับบริษัทวัคซีนบริษัทหนึ่ง จึงได้มาจำนวนหนึ่ง น้อยมาก ไม่ถึง 5 ล้านเข็มด้วยซ้ำ เรื่องเหล่านี้เป็นบทเรียนที่สำคัญมาก

ฉะนั้น ศักยภาพการป้องกันโรค การความสามารถในการผลิตวัคซีนได้เอง ความสามารถในการวิจัยวัคซีนได้เองตั้งแต่ต้นจนจบ สำคัญมาก แล้วเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนระยะยาวจริง ๆ ตั้งแต่นักวิจัย ห้องวิจัย ไปจนถึงความสามารถ คือ โรงงานการผลิตวัคซีนจริง ๆ เรื่องนี้เรามาไกลมาก และต้องชื่นชมคนทำงาน แต่เรายังมีทางอีกไกลมากเหมือนกัน ที่เราจะต้องเดินไปและช่วยกันกระตุ้นทุกภาคส่วน โดยเฉพาะรัฐบาล ว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน

โรคอุบัติใหม่ – โรคระบาดใหญ่ ยากเกินคาดการณ์ ความเชียวชาญด้าน “ระบาดวิทยา” จึงสำคัญ

หากให้พยากรณ์โรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีก ตอบยากมาก ไม่มีเลย แต่หากถามว่าเราเตรียมไหม เราเตรียม และไม่ได้เตรียมเฉพาะแค่กระทรวงสาธารณสุข ยังมีทีมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ช่วยตรวจวินิจฉัยคนไข้โควิด-19 คนแรก ซึ่งช่วยทั้งรอบนี้และรอบเมอร์สระบาด ที่เป็นโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง ก็มีการเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ จุฬาฯ พบเชื้อใหม่ทุกปี ปีละหลายตัว คอยศึกษาว่ามีแนวโน้มหรือมีโอกาสที่จะเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ หรือการแพร่โรคในคนได้บ้างหรือไม่ ทั้งหมดนี้คือเรื่องความร่วมมือในการเฝ้าระวัง

แต่ความความสามารถในการพยากรณ์ว่า จะเกิดโรคอุบัติใหม่ขึ้นมาเมื่อไหร่ ตอนนี้ยังค่อนข้างยากอยู่ เพราะต้องไปดูเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของตัวเชื้อในสัตว์เป็นหลัก เพราะเชื้ออุบัติใหม่ในระยะหลังแทบทุกตัว เป็นโรคที่มาจากสัตว์ไม่ว่าจะเป็นซาร์ส ไข้หวัดใหญ่ 2009 ,ไข้หวัดนก, โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง รอบหลังสุดนี้ก็ใช่ เพราะฉะนั้นหลัก ๆ การระบาดของโรคส่วนใหญ่จะมาจากสัตว์

อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในการจัดการกับภาวะฉุกเฉิน คือ การพัฒนากำลังคน โดยเฉพาะกำลังคนที่มีความสำคัญที่สุด ที่อยู่ในแผนขององค์การอนามัยโลก คือ กำลังคนด้านระบาดวิทยา

เวลาเราจบหมอ เราจะไปเรียนต่อสาขาเชี่ยวชาญพิเศษ บางคนอยากเป็นหมอผ่าตัด บางคนอยากจะไปเป็นหมอเด็ก บางคนอยากจะไปเป็นหมอด้านอายุรกรรม แต่การจะมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการโรคอุบัติใหม่ เราต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา เวลานี้ กรมควบคุมโรค เป็นแห่งเดียวที่ผลิตนักระบาดวิทยาภาคสนาม หรือผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยามาควบคุมโรค ซึ่งเมื่อเกิดโรคระบาด จะต้องฟังนักระบาดวิทยา ดังนั้น จึงต้องเตรียมศักยภาพด้านนี้ให้มาก เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและสนับสนุน

“ต้องชี้ให้เห็นว่า เรื่องนี้สำคัญจริง ๆ หมอที่จบระบาด ได้เงินเดือนต่ำกว่าหมอที่จบใหม่ พูดกันง่าย ๆ เลยก็คือเราจ่ายเงินเดือนให้กับผู้เชี่ยวชาญในการป้องกันควบคุมโรค ในระดับที่ต่ำกว่าแพทย์จบใหม่ พอพูดอย่างนี้แล้วหลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า แล้วอย่างนี้ใครจะมาเรียนนะ มันการันตีความจนเลยนะ”

“เราหวังว่าจะพึ่งแต่คนมีอุดมการณ์อย่างเดียวก็คงจะไม่ง่ายนะครับ” คือสิ่งที่ นพ.ธนรักษ์ ทิ้งท้าย

เขาย้ำว่า นี่จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย หากมีคนถอดใจ ทำให้กำลังคนด้านระบาดวิทยามีไม่มากพอรับมือกับโรคระบาดที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ลักษณะของการระบาดเป็นอย่างไร และรุนแรงระดับไหน ประเทศไทยมีความพร้อมเพียงพอที่จะรับมือหรือยัง?

แต่ความมั่นคงทางสุขภาพ อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะโควิด-19 ทำให้เห็นว่า เรื่องสุขภาพ เข้ามากำหนดสังคมและเศรษฐกิจ หากจะมีนโยบายส่งเสริมความมั่นคงทางสุขภาพ พร้อมกับประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคงด้วย

คุณคิดว่านโยบายนั้น คืออะไร?


The Active ชวนดูความรู้เรื่อง “ระบาดวิทยา” และความพร้อมของ “ระบบสุขภาพไทย” เพื่อรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ และโรคอุบัติใหม่ ในอนาคต ในรูปแบบ Data Visualization ชุด โควิด-19 ทำให้เห็นอะไรในระบบสุขภาพไทย?

หมายเหตุ สัมภาษณ์ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2563

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active