เส้นขนาน การเมืองเดือนตุลา – สังหารหมู่ควังจู

เมื่อการเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย หลายครั้งไม่ได้มาอย่างสันติ

เดือนตุลาคม เป็นอีกเดือนที่มีเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย อย่างเหตุการณ์ ‘14 ตุลาคม 2516’ หรือ ‘6 ตุลาคม 2519’ เมื่อเทียบเคียงกับเกาหลีใต้ จะพบว่าการปราบปรามประชาชนผู้ชุมนุมประท้วงมีบริบทหลายอย่างที่คล้ายกัน

เมื่อระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหาร ทำให้ประชาชนขาดอิสรภาพ เกิดความไม่ยุติธรรม ทำให้คนจำนวนมากลุกขึ้นมาประท้วงครั้งใหญ่ เพื่อเรียกร้อง ‘ประชาธิปไตย’

The Active ชวนรำลึกประวัติศาสตร์เดือนตุลา ที่ไม่ใช่แค่เพียงการตอกย้ำบาดแผลของประชาธิปไตย แต่ยังฉายให้เห็นเส้นขนาน ว่าทำไม หลังการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ เกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่ไทยเปลี่ยนไปอย่างน่าพอใจหรือยัง? กับ ‘ชญานิษฐ์ เชิดธรรมธร’ นักวิจัยด้านเกาหลีศึกษา

ชญานิษฐ์ เชิดธรรมธร

รู้จักเกาหลี ก่อนเข้าสู่ เส้นทางประชาธิปไตย

ก่อนเกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย เดิมปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีกษัตริย์ของราชวงศ์โชซ็อนเป็นบุคคลสูงสุดที่ปกครองประเทศ มีขุนนาง ทหารอยู่ใต้การปกครอง แต่ช่วงที่จักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ามามีอำนาจ ขยายอำนาจในคาบสมุทรเกาหลี ญี่ปุ่นได้ยึดคาบสมุทรเกาหลี จับกษัตริย์ราชวงศ์โชซ็อนไว้เป็นตัวประกันเพื่อให้กลายเป็นกษัตริย์หุ่นเชิดของญี่ปุ่น มีการสังหารกษัตริย์ ทำให้ในยุคนั้นสถาบันกษัตริย์และชนชั้นการปกครองของเกาหลีอ่อนแอลง

เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นจึงต้องถอนกำลังและถอนสิทธิการปกครองออกจากพื้นที่ที่ปกครอง เกาหลีเป็นพื้นที่บริเวณคาบสมุทรจึงถูกแบ่งการดูแลออก โดยแบ่งจากเส้นละติจูดที่ 38 เหนือเส้นละติจูด 38 ขึ้นไปจะเป็นการดูแลคุ้มครองของสหภาพโซเวียต ปัจจุบันคือ เกาหลีเหนือ ล่างเส้นละติจูดที่ 38 ลงมา ที่เป็นเกาหลีใต้ เป็นการปกครองของสหรัฐอเมริกา นี่ก็อาจจะมองได้ว่าเกาหลีเปลี่ยนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แล้ว แต่พอเริ่มตั้งประเทศได้ไม่นาน จำเป็นต้องมีผู้นำ มีรัฐบาล แต่ประเทศเพิ่งผ่านสงคราม ตัวโครงสร้างการปกครองก็ถูกญี่ปุ่นทำลายไป ขุนนางเดิมถ้าไม่ถูกสังหารก็ถูกนำตัวไปที่ญี่ปุ่น เมื่อโครงสร้างการปกครองของเกาหลีถูกทลาย จึงต้องสร้างขึ้นมาใหม่

ในปี 1950-1953 เกาหลีเหนือยกทัพลงมา รัฐบาลกลายเป็นรัฐบาลผลัดถิ่น เพราะกรุงโซลโดนยึด รัฐบาลผลัดถิ่นอพยพไปที่ปูซานเพื่อบริหารจัดการให้สหรัฐฯ และสหประชาชาติเข้ามาช่วยเหลือ ปี 1953 มีการลงนามสนธิสัญญาหยุดยิง มีความพยายามเลือกตั้ง แต่รัฐบาลที่เข้ามาพยายามรวบอำนาจไว้ที่ตัวเอง ออกกฎหมายให้รวบอำนาจไว้ที่ตัวเองได้นานขึ้น ส่งผลให้ประชาชนไม่พอใจเป็นอย่างมาก

ในปี 1961 มี นายพล พัคจองฮี ยึดอำนาจ ทำรัฐประหาร อ้างว่า “ยึดอำนาจเพื่อมาดูแลความสงบเรียบร้อย” สุดท้ายไปลงเลือกตั้ง แล้วชนะ ภายใต้กติกาที่ไม่เป็นธรรม พัคจองฮี จึงกลายเป็นประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 1961-1979 ยาวนานถึง 18 ปี เพราะแก้รัฐธรรมนูญให้ตัวเองอยู่ในตำแหน่งนานที่สุด

เกาหลีใต้ เรียกร้องประชาธิปไตย ประท้วง ลงถนน ขับไล่ เรื่องปกติ?

การประท้วงในเกาหลีใต้เป็นเรื่องปกติ หากใครไปเที่ยวบริเวณ ควังฮวามุน หรือ พระราชวังคยองบกในวันเสาร์อาทิตย์ ก็จะเห็นคนมาเดินขบวน ใช้วันหยุดเป็นพื้นที่ขับเคลื่อน แต่การชุมนุมเดินขบวนทุกครั้งต้องแจ้งให้ตำรวจทราบ หากไม่แจ้งจะผิดกฎหมาย เพราะหากแจ้งตำรวจจะจัดกองกำลังมาดูแล ช่วยปิดการจราจร เพราะจะได้กระจายข้อมูลไปยังบริษัทขนส่งสาธารณะ สามารถแจ้งเตือนว่าจะมีการชุมนุมที่ไหน เวลากี่โมง เพื่อขนส่งสาธารณะจะได้แจ้งผู้ใช้บริการ

หากไทยมี “พฤษภาทมิฬ” “6 ตุลา” “14 ตุลา” เป็นเหตุการณ์ปราบผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตย เกาหลีใต้ก็มี May18 หรือเหตุการณ์สังหารหมู่ควังจู

หากจะบอกว่าเหตุการณ์สังหาร พัค จอง-ฮี ในขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เป็นมูลเหตุสำคัญที่นำมาสู่การสังหารหมู่ควังจูในท้ายที่สุด คงไม่ผิดนัก

26 ตุลาคม 1979 ที่ห้องอาหารบลูเฮาส์ในทำเนียบรัฐบาล ที่มี คิม แจ-กยู หัวหน้าหน่วย CIA ที่ถูกตั้งขึ้นมา และ ชา จี-ชอน คนสนิทที่พัค จอง-ฮี ไว้ใจ ในขณะที่กำลังมีรายงานการประท้วงที่ปูซานและมาซาน มีการส่งหน่วยพลร่มใช้ความรุนแรงปราบปราม โดย พัค จอง-ฮี และ ชา จี-ชอน เห็นว่ามาตรการควบคุมต้องใช้ความรุนแรง ไม่เช่นนั้นก็กำราบไม่ได้ โดยในช่วงหนึ่ง ชา จี-ชอน พูดถึงการใช้ความรุนแรงโดยยกตัวอย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวเขมร ซึ่งเกิดขึ้นในปีเดียวกัน

“ระบบพล พต ฆ่าคนกัมพูชาไปสองล้านคน แต่ก็ยังรักษาอำนาจไว้ได้ ทำไมเราจะใช้ความรุนแรงบ้างไม่ได้ ”

ชา จี-ชอน

แต่ คิม แจ-กยู ไม่เห็นด้วย เพราะหากใช้ความรุนแรงไปเรื่อย ๆ ประชาชนจะยิ่งโกรธแค้น เป็นไปได้ยากที่จะรักษาอำนาจเผด็จการของรัฐบาลไว้ได้ โต้เถียงกันจนสุดท้าย คิม แจ-กยู ชักปืนออกมายิง พัค จอง-ฮี และ ชา จี-ชอน เสียชีวิต

ในเกาหลีใต้ไม่มีรองประธานาธิบดี คนที่มีอำนาจรองจากประธานาธิบดีคือนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นคือนายกฯ ชเว คยู-ฮา จึงต้องดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี และประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศว่าผู้นำถูกสังหาร นอกจากนี้ ยังมีการปรับเปลี่ยนอำนาจในฝ่ายความมั่นคง โดยนายพล ชอน ดู-ฮวาน ถูกเลือกให้เป็นผู้บัญชาการของหน่วยสืบสวนร่วมที่มีอำนาจควบคุมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยตำรวจลับ หน่วยรักษาความมั่นคง การที่ ชอน ดู-ฮวานมีอำนาจเหนือหน่วยทั้ง 3 หน่วย ทำให้เขาเป็นคนที่มีอำนาจสูงสุดในกองทัพ

แต่ถ้าเล่าลึกถึงเบื้องหลังคือ สมัย พัค จอง-ฮี ได้มีการควบคุมกองทัพด้วยการตั้งกลุ่ม และอุปถัมภ์ กลุ่มฮานาฮเว Hanahoe (One Society) เป็นกลุ่มลับที่คนในกลุ่มคือนายทหารที่จบจากโรงเรียนกองทัพรุ่นที่ 11 พัค จอง-ฮีจะแต่งตั้งนายทหารจากกลุ่มนี้ไปดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพ เพื่อ พัค จอง-ฮีจะได้ควบคุมกองทัพได้ ไม่ให้เกิดการต่อต้าน

แต่ในกองทัพก็ไม่ได้มีกลุ่มฮานาฮเวเพียงกลุ่มเดียว กลุ่มอื่น ๆ มองว่า ฮานาฮเวเป็นกลุ่มทหารเพื่อการเมือง ไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองในกองทัพ มองว่าขยายอำนาจ อิทธิพล ทำให้สมรรถนะของทหารลดลง ซึ่ง ชอน ดู-ฮวาน และโน แท-อู อยู่ในกลุ่มนี้

จากเหตุการณ์สังหารที่ควังจู แม้ว่าจะมีการสืบสวนอยู่ว่าคนที่สั่งฆ่าคือใคร แต่ชอน ดู-ฮวานคือคนที่สั่งให้ใช้มาตรการตอบโต้ผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง

ก่อนจะมีการชุมนุมที่ควังจู มีการชุมนุมหลายที่ เมื่อประธานาธิบดีพัคถูกสังหาร หลายคนคิดว่าระบบเผด็จการต้องสิ้นสุดแล้ว แต่แท้ที่จริง กลุ่มฮานาฮเวยังอยู่ ประกอบกับคนในกลุ่มนี้กลายมาเป็นคนที่มีอำนาจสูงสุดอีก ระบบเผด็จการยังอยู่ รักษาการประธานาธิบดีก็ไม่มีอำนาจในการต่อต้านกองทัพ ก่อนที่จะมีการชุมนุมที่ควังจู มีการชุมนุมใหญ่ที่โซล 13-15 พ.ค. แต่มีการประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 15 พ.ค. เพราะมองว่าคงไม่ดีหากต้องปะทะกับทหารที่มีอาวุธครบมือ จึงเหลือการชุมนุมที่หน้าศาลาว่าการในควังจู จากกฎอัยการศึกประกาศใช้เฉพาะพื้นที่ กลายมาเป็นขยายใช้ทั่วประเทศ กระทั่งวันที่ 18 พ.ค. ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของการลุกขึ้นสู้ที่ควังจู หน่วยทหารถูกส่งมาควบคุมมหาวิทยาลัย 20 แห่งในชอลลานัมโด นักศึกษาจึงเดินประท้วงให้มีการเปิดมหาวิทยาลัย ทหารมีการปราบนักศึกษาด้วยความรุนแรง การลุกขึ้นสู้ที่ควังจู นับ 10 วัน ในระหว่างวันที่ 18-27 พ.ค. ที่นำมาสู่การล้อมปราบ สังหารหมู่ครั้งประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้

หลังปฎิบัติการณ์สำเร็จ ทหารสั่งทำความสะอาดคราบเลือด ทำลายหลักฐาน เชื่อว่าจากนี้ไม่มีหลักฐานแน่นอนเพราะปิดกั้นสื่อ ปิดกั้นเมือง ไม่มีหลักฐานเล็ดลอดออกไปได้แน่ แต่หากชมภาพยนตร์ A Taxi Driver จะเห็นว่ามีนักข่าวเยอรมันถ่ายภาพออกมาได้ และนี่คือหลักฐานชิ้นสำคัญ

“แต่หากจะบอกว่าประชาชนพ่ายแพ้ที่ควังจูหรือไม่? ก็ไม่เชิง ถึงจะโดนสลายการชุมนุมไป แต่นี่เป็นรากฐานให้การต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในอีกหลายปีถัดมา”

ชญานิษฐ์ เชิดธรรมธร

หลังการเดินขบวนประท้วง เกาหลีใต้เปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตย แต่ไทยอาจไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างน่าพอใจ

สมัยเรียนที่เกาหลีมีวิชา East Asian Politics การเมืองของประเทศในเอเชียตะวันออก พอจบคลาส เคยไปถามอาจารย์ว่า ทำไมกองทัพเกาหลีใต้ถึงแยกขาดจากการเมืองได้อย่างเด็ดขาด ทั้งที่เกาหลีใต้ก็อยู่ภายใต้เผด็จการทหารมาอย่างยาวนาน ถ้ารวมพัคจองฮีกับชอนดูฮวาน ก็รวม 25 ปี อาจารย์บอกว่า ทหารเกาหลีเขารู้แล้วว่าไม่มีที่ให้เขาแล้วในสนามการเมือง

“Because they know that there is no place for them in politics”

หมายความว่า ทำไมเราต้องการทหารในการเมืองด้วย ถ้าทหารยังอยู่ในการเมือง ประเทศคงไม่ได้เป็นประชาธิปไตย

“Why do we need soldiers in democratic system? If military is still in political system, I think you haven’t passed the process of democratization yet.”

หลังเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ทหารก็ไม่อยากใช้ความรุนแรงกับประชาชนแล้ว มีการลงโทษ สอบสวนการกระทำความผิด การรื้อคดีเผด็จการมาทำใหม่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทหารไม่กล้าออกมา

ปัจจัยต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย

งานศึกษาของ Jongryn Mo and Berry M. Weingast เสนอว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในปี 1987 นั้นไม่มีความแน่นอนว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านที่เป็นไปอย่างสันติและสงบเรียบร้อย แต่มีผลลัพธ์ที่อาจเป็นไปได้อยู่ 7 ประการ คือ

  1. รัฐประหาร (Purge) กลุ่มผู้นำทหารเก่าให้หมดและยับยั้งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย
  2. มีรัฐธรรมนูญคล้ายกับรัฐธรรมนูญยูชินและมีการใช้กฎอัยการศึกควบคู่ไปด้วย
  3. Status quo คือใช้ระบบเลือกตั้งแบบเดิม ให้โน แท-อู เป็นแคนดิเดตลงเลือกตั้ง ซึ่งมีโอกาสชนะสูง
  4. ใช้ระบบบริหารแบบรัฐสภา แทนการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง
  5. เลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรง
  6. ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และให้ทุกพรรคเข้ามามีส่วนร่วมในสภายกร่าง
  7. Purge กลุ่มผู้นำเผด็จการ ไม่ว่าจะด้วยกำลังหรือใช้แรงกดดดันจากสาธารณชน แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะนำไปสู่เผด็จการรูปแบบอื่น

การชุมนุมประท้วงมีทุกประเทศ บ้างก็เปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น บ้างซ้ำร้ายแย่ลง

หากมองที่เกาหลีใต้ว่าเปลี่ยนฉับพลันก็คงไม่ใช่ เพราะแต่ละประเทศมีบริบทแวดล้อมกับปัจจัยต่างกัน แต่ถ้าเรามาย้อนดูที่เกาหลีใต้ ตอนที่ชุมนุมมประท้วงจนเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้สำเร็จในปี 1987 ก็อาจจะเรียกได้ว่าตอนนั้นสถานการณ์ค่อนข้างเอื้ออำนวยต่อการชุมนุมต่อสู้ คือ

1. ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง ประชาชนตื่นตัว ทุกภาคส่วน (รวมถึงสถาบันทางศาสนา) ร่วมด้วยช่วยกัน

2. เกิดความแตกแยกในหมู่ชนชั้นนำทางการเมืองและกองทัพจนไม่สามารถมีฉันทามติร่วมกันที่จะรักษาอำนาจไว้ได้

3. ปัจจัยจากภายนอก เช่น ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาไม่สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการและการใช้กำลังทหารเหมือนที่เกิดเหตุการณ์ที่ควังจู ทำให้รัฐบาลไม่กล้าใช้ความรุนแรงตอบโต้อีก

แต่หากเรามาดูกรณีเมียนมา ประชาชนออกมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมากก็จริง แต่จำนวนของผู้ชุมนุมก็ไม่ใช่ปัจจัยที่จะการันตีว่าการประท้วงจะประสบความสำเร็จ กลุ่มผู้ครองอำนาจและทหารในเมียนมายังเข้มแข็ง ชาติมหาอำนาจไม่ได้ออกตัวชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนรัฐบาลเมียนมาหรือเพราะมีผลประโยชน์อะไรในเมียนมาหากเมียนมาเป็นเผด็จการหรือไม่

แต่สิ่งสำคัญ คือการออกมาประท้วงแล้วยังไงต่อ? ข้อเรียกร้องเข้าสู่กระบวนการรับฟัง หรือรัฐ เอาไปดำเนินการต่อไหม? ซึ่งหลายครั้งที่เกาหลีก็อาจจะไม่ได้มีการดำเนินการต่อ เช่น การประท้วงไล่ประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย สำเร็จเพราะเป็นเรื่องเรียกร้องโดยตรง แต่การประท้วงเรื่องแรงงาน การเท่าเทียมทางเพศ ประท้วงเสร็จแล้วยังไงต่อ? ทำงานต่อหรือเปล่า ก็อาจจะไม่ ถ้าเช่นนั้นถือว่าการประท้วงเหล่านี้สำเร็จหรือไม่? แต่อย่างน้อยที่เกาหลีใต้ก็มีสิทธิเดินออกไปประท้วงไม่มีใครมาขัดขวาง ไม่มีการใช้ความรุนแรง

สิ่งที่ไทยและเกาหลีใต้ต่างกัน ในเรื่องประชาธิปไตย

ถ้ามองช่วงเปลี่ยนผ่าน แม้เราไม่รู้ว่าไทยเรียกว่าเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยหรือยัง แต่สิ่งสำคัญที่เราเห็นคือ เรื่องวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด หากมองที่เกาหลีใต้ ไม่มีประธานาธิบดีคนไหนที่ทำผิดแล้วไม่ติดคุก ถึงมีอำนาจแต่ต้องตรวจสอบได้ ต้องรับผลที่ตัวเองก่อจวบจนสิ้นชีวิต เมื่อสิ้นชีวิตก็ไม่มีใครยกย่องไม่เรียกอดีตประธานาธิบดีด้วยซ้ำ มีบทลงโทษทางสังคม และกฎหมาย แต่ในไทยเราทำไหม? ถ้าเราไม่ทำจะเกิดการกระทำซ้ำวนลูปไปเรื่อย ๆ ไหม หรือคนเหล่านั้นอาจจะกล้าขึ้นมาทำแบบนี้อีกเรื่อย ๆ

สิทธิของสื่อ ที่ไทยกับเกาหลีใต้อาจจะต่างกัน มีภาพยนตร์เกาหลีที่อยากให้ทุกคนไปดู เกี่ยวกับช่วงเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย 1987: When the Day Comes หนังจะเล่าให้เห็นว่าช่วงต่อสู้กับเผด็จการช่วงก่อนเปลี่ยนผ่านสุ่ประชาธิปไตย สื่อเกาหลีมีบทบาทมากแม้จะถูกควบคุม พยายามอย่างมากในการตรวจสอบรัฐ รัฐอุ้มหายใคร หาหลักฐาน ถ่ายรูปไว้ รายงาน คอยสืบสวนหาข้อมูล แต่ต้องมาดูว่าสื่อหลักของไทย ทำแบบนั้นบ้างหรือเปล่า? ตอนที่มีคนออกไปประท้วงนำเสนออย่างตรงไปตรงมาไหม? ตรวจสอบรัฐไหม? จริง ๆ สื่อเกาหลีก็โดนรัฐควบคุมอยู่ไหนระดับหนึ่ง เพราะตำแหน่งสูงสุดในสมาคมสื่อ คือ ประธานาธิบดี แต่ก็เห็นว่าสื่อก็มีอิสระในการตรวจสอบ

อีกเรื่องคือการพยายามรักษาสิทธิของตัวเอง หรือการกล้าที่จะ Speak up ในเกาหลีใต้การเดินประท้วงเป็นเรื่องที่ปกติมาก ไม่มีใครมาชี้หน้าว่ามาทำไม วุ่นวาย ต้องมาดูที่ไทยว่าเป็นแบบนั้นไหม รำคาญคนมาชุมนุมว่าสร้างความวุ่นวายไหม เราเห็นว่าการชุมนุมไม่ควรมี ตำรวจใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมเป็นรื่องที่ถูกต้องแล้วหรือเปล่า แต่ที่เกาหลีไม่เป็นแบบนี้ คนเลยกล้าที่จะออกมา

การรำลึก จดจำ ที่ไม่ใช่การตอกย้ำความเจ็บปวด

วิธีการที่ง่ายที่สุดที่จะจดจำประวัติศาสตร์คือการใส่ไว้ในแบบเรียน ให้เด็กได้เรียนประวัติศาสตร์ตั้งแต่เด็ก อย่างที่เราเห็นตอนสมัยเด็กเราได้เรียนประวัติศาสตร์ได้จดจำเป็นการย้ำไปเรื่อย ๆ แต่พอมาดูเหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา กลับไม่ได้ถูกพูดถึงเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีก แต่ละประเทศมีบริบทแวดล้อมต่างกัน เกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับบทบาทของคนทุกคน ประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่แกนนำ ผู้นำเท่านั้น

นอกจากนี้เกาหลีใต้จะมีการเล่าเรื่องราว นิทรรศการที่จัดประจำทุกปีเพื่อรำลึก มีพิพิธภัณฑ์ให้คนสามารถเข้าไปเรียนรู้ เลยทำให้เรื่องราวเหล่านี้ไม่หายไปไหน

ทำไม ประวัติศาสตร์ มักซ้ำรอยเดิมเสมอ… เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ยังคงวนเวียนเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า รูปแบบอาจจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ภายในก็ยังคงเดิม เมื่อเรายังคงมีเหตุการณ์ และการเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง แต่ ‘ประชาธิปไตย’ กลับเป็นเส้นทางที่ยอกย้อน-วกวน แล้วเรา คนรุ่นใหม่ ควรจะทำอย่างไร?

Author

Alternative Text
AUTHOR

ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์

ผู้ประสาน 10 ทิศ ชอบการติดต่อ-สื่อสารเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยการ "ติ่ง"

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์