“ถ้าแม่ไม่รอดจาก สึนามิ ผมก็คงไม่มีวันนี้” : ต้นกล้า…ในวันที่ต้องแกร่ง ถึงเวลาชุมชนจัดการ ‘ภัยพิบัติ’

“เมื่อ 20 ปีก่อน ที่เกิดสึนามิ
หากแม่ผมไม่รอด…
ก็ไม่มีผม และน้อง ๆ ในวันนี้”

7 ปี หลังมหันตภัยสึนามิ… ‘อารักษ์ เทพสง’ หรือ ‘ต้นกล้า’ ถือกำเนิดขึ้น ในครอบครัวชาวเลมอแกลน บ้านทับตะวัน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา  

แม้ ต้นกล้า ไม่เคยมีความทรงจำต่อเหตุการณ์สึนามิ แต่เมื่อเกิดเป็นลูกหลานชาวเล สิ่งที่เด็กหนุ่มวัย 13 ปีคนนี้ ได้ถูกถ่ายทอดตั้งแต่เล็กจนโต คือ ภูมิปัญญาการรับมือพิบัติ ที่มีส่วนสำคัญทำให้เขามีวันนี้   

ต้นกล้า – อารักษ์ เทพสง ลูกหลานชาวเลมอแกลน บ้านทับตะวัน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

“ตอนที่เกิดสึนามิ ปี 47 ตอนนั้นแม่ผม ก็น่าจะอยู่ในวัยเดียวกันกับผม แม่บอกว่าที่รอดมาได้ เพราะชาวเลเรามีเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ ที่เล่าต่อกันมาให้ได้รู้จักกับคลื่นยักษ์ 7 ชั้น ที่แบบลูกใหญ่สูงถึงภูเขา โดยที่เราจะรู้ได้ว่า คลื่นมันมาตอนไหน ก็ให้สังเกตน้ำทะเลลดไปมาก ๆ กว่าปกติ ปลาน้ำลึกตัวใหญ่ ที่ไม่เคยเห็นมาโผล่บนฝั่ง แล้วก็หมูหมากาไก่ก็แตกตื่น และก็วิ่งขึ้นไปที่สูง ก็จะรู้ว่า นั่นแหละ สึนามิมา และเกิดแบบนั้นจริง ชาวเลรอดเยอะ เพราะไหวตัวทันตามคำบอกเล่านี้ ทำให้ต้องรีบหนีขึ้นที่สูง”

ต้นกล้า – อารักษ์ เทพสง


การเติบโตมาในชุมชาวเล อาศัยในพื้นที่ริมทะเลอันดามัน มาตั้งแต่บรรพบุรุษ อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยคลื่นยักษ์ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ทำให้ ต้นกล้า สนใจ และลุกขึ้นมามีส่วนร่วมเพื่อจัดทำแผนจัดการภัยพิบัติของชุมชน

ทุก ๆ ปี ชุมชนทับตะวันของเขา จะประชุม หารือ ทั้ง กลุ่มเยาวชน ชาวบ้านในชุมชน เพื่ออัพเดทสถานการณ์ และวางแผนป้องกัน รับมือ เผชิญเหตุ ที่สำคัญ คือ การวางเส้นทางอพยพ

ภัยพิบัติอาจเตรียมการรับมือเพื่อลดความเสี่ยงได้ แต่ภัยคุกคามที่กำลังท้าทายชุมชนชาวเลเวลานี้ คือ การขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก เพราะกระทบต่อสิทธิที่ดิน ที่ทำกินของชาวเล และยังเป็นอุปสรรคต่อการจัดการภัยพิบัติอีกด้วย นี่คือสิ่งท้าทายที่ ต้นกล้า และพี่น้องชาวเลทับตะวัน แสดงความกังวล

“โลกเปลี่ยนไปทุก ๆ วัน การพัฒนาก็มากขึ้น ที่นี่โรงแรม สร้างกันเพิ่มขึ้นรองรับการท่องเที่ยวเยอะมาก ไม่เหมือนแบบเมื่อก่อน ก็มาถือครองกรรมสิทธิ์ เป็นพื้นที่ส่วนบุคคล สร้างรั้วปิดกั้นพื้นที่ ทางสาธารณะก็แน่นแคบลง ซึ่งเราคิดว่า ถ้าเป็นแบบนี้ เส้นทางที่เราวางไว้ใช้ในการอพยพ อาจจะไปไม่ได้ คือเขาสร้างรั้วปิด เกิดเหตุชาวบ้านจะวิ่งไปไม่ได้ กังวลตรงนี้”

ต้นกล้า – อารักษ์ เทพสง

ต้นกล้า ยังพาเราไปดูที่ หอเตือนภัย ซึ่งตั้งตระหง่านกลางหมู่บ้าน สิ่งนี้ยังคอยย้ำเตือนให้ เขา และพี่น้องชาวเล ได้เรียนรู้ว่า การเตรียมพร้อมชุมชนเพื่อเอาตัวรอดจากภัยพิบัติเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากจะหวังพึ่งการเตือนภัย การช่วยเหลือจากรัฐ คงเป็นไปได้ยาก เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านยอมรับว่า แทบไม่เคยซ้อมแจ้งเตือน หรือซ้อมแผนอพยพให้กับชาวบ้านเลย  

“เรารู้แหละว่าเราเข้มแข็ง เรามีแผนอะไรต่าง ๆ แต่เราคิดว่าจะดีกว่านี้มาก ๆ ถ้าได้ร่วมกับโรงแรม หรือภาคเอกชน หน่วยงานต่าง ๆ เราอยากให้มาทำร่วมกันครับ แบบไม่ต้องให้เรากังวลว่า เราจะวิ่งเส้นทางนี้ไม่ได้ ให้รู้ให้เข้าใจร่วมกันหมด เพราะว่าถ้าเป็นอย่างนั้น ประโยชน์ที่เราได้ มันไม่ใช่แค่ตัวชุมชน ชาวบ้านที่ร่วมทำแผน แต่มันจะได้ทั้งนักท่องเที่ยวและก็ภาคเอกชนด้วย”

ต้นกล้า – อารักษ์ เทพสง

สึนามิ…เหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งรุนแรงในหน้าประวัติศาสตร์ ผ่านมาแล้ว 20 ปี ทำให้เราได้เห็นตัวตน และศักยภาพชาติพันธุ์ชาวเล แม้พวกเขาใช้ชีวิตด้วยภูมิปัญญา มีองค์ความรู้ ที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้อยู่รอดจากภัยพิบัติ ในหลายรูปแบบ

แต่การจะคาดหวังให้ชุมชน ปรับตัว รับมือภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ บนต้นทุนที่พวกเขามี อาจยังไม่เพียงพอ จะดีกว่าหรือไม่ ? ถ้าการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง จะสามารถเกิดขึ้นได้จากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยไม่ทิ้งพวกเขาไว้เพียงลำพัง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ