ชุมชนถ้ำผาจม อ.แม่สาย จ.เชียงราย เผชิญน้ำท่วมหนัก ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน และชุมชนเรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤต พวกเขาเผชิญความยากลำบากมา 2 สัปดาห์เต็ม ๆ
ที่นี่เป็นจุดแรก ๆ ที่เกิดเหตุน้ำจากแม่น้ำสายหลากเข้าท่วมชุมชน น้ำลดลงไปแล้ว แต่ความยากของการฟื้นฟู คือ การเอาดินโคลนออกจากบ้านเรือนชาวบ้าน กว่า 160 หลัง ไม่ใช่งานง่าย และเวลานี้ชาวบ้านเริ่มท้อแท้กับความพยายามฟื้นฟูชุมชน แม้มีทหาร ทีมอาสา ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงระดมสรรพกำลังเข้าไปฟื้นฟู ชุมชนถ้ำผาจม กันอย่างต่อเนื่อง
The Active ชวนรู้จักหนึ่งในทีมอาสาที่ระดมกำลังเข้าให้ความช่วยเหลือพื้นที่แห่งนี้มาตลอด คือ มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยาก สภากาชาดไทย ซึ่งความยากลำบากของภารกิจตั้งแต่ช่วยเหลือ กู้ภัยตั้งแต่วันแรก จนถึงกระบวนการฟื้นฟู ในระยะเวลา 13 วัน อนุกูล สอนเอก ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญทีมปฏิบัติการภัยพิบัติ มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยาก สภากาชาดไทย ยังจดจำได้ดี เขาบอกว่า ภารกิจสำคัญ คือ ทำให้ประชาชนรอดชีวิตจากภัยพิบัติให้ได้มากที่สุด
อนุกูล สอนเอก
ช่วงแรกหลังเกิดภัยพิบัติ ชุมชนถ้ำผาจม เป็นพื้นที่สีแดงที่ยังรอความช่วยเหลือ ทีมจึงเข้ามาปฏิบัติการช่วยชีวิตเป็นทีมแรก โดยเน้นไปที่กลุ่มเปราะบางคนสูงวัย ผู้ป่วยติดเตียง และยังได้ประเมินสถานการณ์ว่า เตรียมวางแผนฟื้นฟูก่อนจะส่งมอบงานให้หน่วยงานในพื้นที่ได้ทำงานต่ออย่างเป็นระบบ เช่น
- เปิดเส้นทางถนน เพื่อเอาดินออก
- เคลียร์ลำห้วยลำราง ต้องขอประสานกับ หมู่บ้าน เพื่อขอปิดหมู่บ้าน
- เคลียร์ดินออกจากบ้านประชาชน
“เราเริ่มเคลียร์บ้าน ตั้งแต่วัที่ 21 กันยายน เคลียร์ได้ 52 หลัง วันที่ 22 กันยายน เป้าหมาย 35 หลัง จากทั้งหมด 160 หลัง หากทำงานตามเป้าทุกวัน คิดว่าไม่เกิน 5 วันน่าจะเคลียร์ได้จบ… เพื่อเอาดินออก เอาน้ำฉีดในบ้านเรือนประชาชน”
อนุกูล สอนเอก
เปิดระบบ ทีมอาสากู้ภัย เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)
ทีมอาสากู้ภัย เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ปฏิบัติการภัยพิบัติเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) Disaster Relief Operation ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามทำงานเชิงระบบทั้งการฟื้นฟู และป้องกันภัยพิบัติหลังน้ำลด โดยเฉพาะการนำดินตะกอน โคลนออกจากในชุมชน มาถมเป็นคันกันน้ำล้อมระหว่างชุมชน กับแม่น้ำสาย เพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำในอนาคต โดยทำคันดินล้อมระหว่างชุมชนถ้ำผาจม กับ แม่น้ำสาย 4 แนวคันดิน และแบ่งพื้นที่การจัดการออกเป็น Zone พื้นที่ได้รับผลกระทบหนักจะถูกแบ่งเป็น สีส้ม – เหลือง – เขียว
- สีส้ม คือ บ้านที่ยังไม่ได้ขุดดินออก
- สีเหลือง อยู่ระหว่างการดำเนินการ
- สีเชียว คือ ดำเนินการเสร็จแล้ว
ทั้งนี้จากสภาพพื้นที่ และการปฏิบัติงานจริง พบว่า ทีมอาสาใช้เวลาหนึ่งวันเต็ม ๆ กว่าจะทำบ้านเสร็จ 1 หลัง ต้องใช้แรงงานขุดดิน 5-6 คน ซึ่งเวลานี้ต้องใช้คำว่า ขาดแคลนกำลังคน และต้องการอาสาสมัคร โดยกำลังหลักก็คือ ทหาร กว่า 200 นาย ที่ยืนยันได้ถึงความยากของการกู้ ฟื้นฟูบ้านเรือนให้กับชาวบ้าน ดังนั้นจึงยังต้องการอาสาสมัครอีกจำนวนมาก
อีกปัญหา คือ การเคลื่อนย้ายดินโคลนออกจากชุมชน จำเป็นต้องประสานงานกับเจ้าของพื้นที่ และต้องใช้เวลาเคลื่อนย้าย รวมถึงการจัดโซนนิ่งในการแก้ปัญหา
สำหรับโครงสร้างปฏิบัติงาน ของ ทีมปฏิบัติการภัยพิบัติ มูลนิธิเพื่อนเพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ตามหลักการมี IC (Incident Commander) ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ดูแล 4 ส่วนงานหลัก คือ
- ส่วนงานวางแผนฯ
- ส่วนงานปฏิบัติการ
- สนับสนุน
- งบประมาณ
โดยในภารกิจรอบนี้ มีทีมปฏิบัติการภัยพิบัติ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) อ.แม่สาย จ.เชียงราย ทำงานร่วมกับหลายส่วน แบ่งเป็น IC (Incident Commander) ผู้ประสานงานหลัก และ ทีมบริหาร ที่ปรึกษา
- ทีมทำงานท้องถิ่น : เทศบางเวียงพางคำ, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, สาธารณสุข
- ทีมควบคุมเครื่องจักหนัก : ภารกิจจัดการถนน, คลอง, คันดิน
- ทีมควบคุมเครื่องจักรขนาดเล็ก : ภารกิจ จัดการดินโคลนภายในบ้าน
- ทีมควบคุมฉีดน้ำ ทำความสะอาดบ้าน
- ทีม กฟผ., ชลประทาน, อบจ.เชียงใหม่, มูลนิธิอาเว่ย
โดยหลังจากนี้ ทีมอาสาจาก มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) จะถอนทีม และเตรียมผ่องถ่ายงานให้ทางเทศบาลเวียงพางคำ และเทศบาลแม่สาย ดำเนินการต่อ
สำหรับพื้นที่ชุมชนถ้ำผาจม วันนี้ (23 ก.ย. 67) ยังคงดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง น้ำท่วมครั้งใหญ่สร้างความเสียหายให้กับชุมชน แหล่งท่องเที่ยว จมอยู่ใต้โคลน ซึ่งทหารช่าง และเจ้าหน้าที่กู้ภัย ยังคงทำงานกันอย่างหนัก เพื่อขุดลอกและเคลื่อนย้ายโคลน ให้สามารถปฏิบัติงานได้ง่านขึ้น
ขณะที่ชาวบ้านและอาสาสมัคร ต่างก็ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ช่วยเคลียร์ฟื้นฟูพื้นที่ แม้เหน็ดเหนื่อยจากการต่อสู้กับโคลนที่ลึก และหนาแน่น แต่การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนก็เป็นไปอย่างไม่ลดละ
การฟื้นฟูพื้นที่ถ้ำผาจม ถือเป็นภารกิจสำคัญ ทั้งต้องขุดลอกโคลน ซ่อมแซมถนน และการจัดหาน้ำดื่มสะอาด เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของชุมชน พร้อมทั้งพาชาวบ้านกลับเข้าสู่บ้านเรือนที่ปลอดภัย ท่ามกลางความหวังว่า ทุกอย่างจะกลับคืนสู่สภาพปกติในเร็ววัน
อย่างไรก็ตาม ความหวาดกลัวต่อภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น และการสูญเสียที่ชาวบ้านต้องเผชิญ ยังเป็นสิ่งที่ยากจะลืมได้ง่าย ๆ หลายครอบครัว เคยใช้ชีวิตอย่างสงบสุข กลับต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในชีวิต ขณะที่บางคน ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตในพื้นที่นี้ได้เหมือนเดิมหรือไม่ ?
การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในชุมชน ยังเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ เนื่องจากหมู่บ้านถ้ำผาจม พึ่งพิงการค้าชายแดนเป็นหลัก การสูญเสียพื้นที่ใช้สอย และการชะงักของการค้าขาย จึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อรายได้ และการจ้างงานของชาวบ้าน
การฟื้นฟูตลาด และพื้นที่เชิงพาณิชย์ จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการกู้คืนพื้นที่ นอกจากการสร้างที่พักอาศัยใหม่ให้กับผู้ประสบภัย
แม้หนทางข้างหน้ายังคงท้าทาย แต่ความร่วมมือ และความพยายามจากทั้งภาครัฐ เอกชน และจิตอาสา รวมถึงตัวชุมชนเอง จึงเป็นกุญแจสำคัญ เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติในบ้านของพวกเขาอีกครั้ง