สถานการณ์ภัยพิบัติที่รุนแรงปีนี้ เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ท่ามกลางตัวเลขความเสียหายทั้งทรัพย์สิน และชีวิตผู้คน เบื้องหลังยังซ่อนความเจ็บปวดทางจิตใจ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
The Active ชวนสำรวจจิตใจในวันที่ภัยพิบัติรุมเร้า พร้อมหาวิธีพลิกฟื้นเยียยาใจไปกับ นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่
ท่ามกลางมหาอุทกภัย ใครคือผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิต ?
แน่นอนว่า ทุกคน ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง แต่ในทางหลักการแล้ว เมื่อเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ขึ้น นพ.กิตต์กวี ระบุว่า สามารถแบ่งผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตได้เป็น 5 กลุ่ม คือ
- กลุ่มผู้รอดชีวิต บาดเจ็บรุนแรง หรือญาติผู้สูญเสีย เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติโดยตรง เป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์สูญเสีย หรืออาจต้องแช่อยู่ในน้ำ หรือโคลนหลายวันติดกัน ซึ่งจะมีความเครียดสูง จึงจำเป็นต้องติดตามให้ครบ 100%
- กลุ่มญาติของผู้ประสบเหตุหรือสูญหาย
- กลุ่มประชาชนผู้ประสบภัยทั้งหมด โดยประมาณการว่าจะมีประชากรกลุ่มนี้ประมาณหมื่นราย โดย 6,000 กว่าคน อยู่ในพื้นที่เชียงราย ซึ่งกลุ่มนี้จำเป็นต้องติดตามต่อ เพราะหากบางรายได้รับผลกระทบสูง เช่น บ้านพัง หรือมีการสูญเสียทางเศรษฐกิจมากก็ต้องปรับเป็นกลุ่มที่ 1
- กลุ่มผู้ช่วยเหลือ (Helpers) เช่น บุคลากรทางการแพทย์ จิตอาสา มูลนิธิต่าง ๆ ที่เข้าไปช่วยเหลือ มักจะเกิดความอ่อนล้า หรือบางครั้งรู้สึกโทษตัวเองที่ช่วยเหลือไม่ได้ ทำให้เกิดความทุกข์
- กลุ่มประชาชนทั่วไป คือ กลุ่มใหญ่สุดที่ติดตามข่าวสารทุกวัน ทำให้เครียดทุกวัน แล้วหากรู้สึกอินตามไปอีก ก็กระทบต่อสภาพจิตใจได้เช่นกัน
และนอกจาก 5 กลุ่มดังกล่าวแล้ว ยังมีกลุ่มย่อยที่ซ้อนอยู่ในนั้นคือ ‘กลุ่มเปราะบาง’ ซึ่งแบ่งได้เป็น กลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง โรคประจำตัว หรือ มีปัญหาทางสุขภาพจิตอยู่ก่อนแล้ว การดูแลจำเป็นต้องสืบค้นประวัติก่อน หากมีความเสี่ยงซึมเศร้าหรือการทำร้ายตัวเอง ต้องรีบเข้าไปช่วยเหลือก่อน
อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งช่วง 2 สัปดาห์แรก เด็กจะไม่แสดงอาการเครียด แต่เมื่อเขารับรู้ได้ว่าผู้ปกครองเครียด และต้องแบกรับอะไรหลายอย่าง เด็กจะเริ่มงอแง อาจแสดงออกผ่านการวาดรูปน้ำ รูปโคลน ต้องหาทางให้เด็กได้ระบายความรู้สึกออกมา
ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่ลืมไม่ได้ คือ กลุ่มผู้สูงอายุ เขาต้องการพื้นที่พูดคุยเล่าเรื่องราวเพื่อผ่อนคลายความเครียด บางกลุ่มอาจส่งสัญญาณ โดยอาจสังเกตจากคำพูดง่าย ๆ เช่น “ถ้าไม่ออกมาจากตรงนั้นคงโดนโคลนถล่มตายไปแล้ว” กลุ่มนี้จึงอาจต้องรับการดูแลเป็นพิเศษ
‘จัดการใจ’ เมื่อเกิดภัย(พิบัติ)
สิ่งแรกที่ นพ.กิตต์กวี ย้ำคือ ต้องรู้ตัวก่อน ว่ายังไงความเครียดมาเยือนแน่ ๆ เมื่อถึงเวลานั้นให้ลองสำรวจใจตัวเองดู หากไม่ไหวขอให้อย่าลังเลที่จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
แต่ความเครียดก็มักมาเยือนตอนเราเผลอ คนอยู่ใกล้ตัวต้องช่วยกันสังเกตดูแลด้วย ซึ่ง นพ.กิตต์กวี ให้หลักไว้ง่าย ๆ คือ สอดส่องมองหา หมั่นสังเกตคนรอบ ๆ ตัวว่าผิดปกติ หรือซึมเศร้าไปไหม หากมีอาการเหม่อลอย หรือหวาดผวาควรส่งต่อมารักษา และ ใส่ใจรับฟัง ทำได้โดยไม่ต้องมีคำพูดจา เพียงแค่รับฟังอย่างตั้งใจ ให้กำลังใจ มีพื้นที่ระบาย และหากเจอสัญญาณอันตราย เช่น ร้องไห้ตลอด หรือบ่นว่าไม่อยากอยู่แล้ว ให้รีบส่งต่อ
เมื่อคำว่า “สู้ ๆ นะ”… อาจเป็นฟางเส้นสุดท้าย
สำหรับคนวงนอกที่ติดตามข่าวสารจากสื่อหรือทางโซเชียล มีเดีย แม้จะมีเจตนาดีแต่มีข้อควรระวังในการแสดงความเห็นและการให้กำลังใจเช่นกัน
“สำหรับผู้ประสบภัย บางที่การพูดว่า ‘สู้ ๆ นะ’ อาจกลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย นั่นเพราะเขาสู้เต็มที่แล้ว การพูดแบบนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีอะไร และอาจเป็นการทำร้ายมากกว่า แนะนำว่าให้พูดว่า ‘ให้กำลังใจนะ’ หรือ ‘เราไม่ทอดทิ้งกันนะ’ แค่นี้ผู้ฟังก็รับรู้เจตนาเราได้แล้ว”
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน
เสพสื่ออย่างมีสติ – สื่อสารอย่างมีจรรยาบรรณ
การโพสต์คลิปวิดีโอหรือภาพที่ชวนสะเทือนใจในโลกออนไลน์พบเห็นได้ง่ายมากเพียงแค่เลื่อนนิ้วผ่าน ทั้งผู้ส่งสารและผู้เสพสื่อจำจึงต้องร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย นี่คืออีกเรื่องที่ นพ.กิตต์กวี เน้นย้ำ เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ที่กำลังทุกข์ใจอยู่กับเหตุการณ์จากภัยพิบัติ และกรณีความสูญเสียที่เกิดขึ้น
“ตอนนี้ทางกรมสุขภาพจิตขอความร่วมมืองดแชร์ภาพสะเทือนใจแล้ว เพราะผู้ที่รับข่าวสารมากเกินไปจะอินโดยไม่รู้ตัว บางคนหวาดผวาจนนอนไม่หลับ แล้วเกิดภาวะซึมเศร้าได้ ขอให้เลือกติดตามข่าวสารเท่าที่จำเป็นแทนสื่อโซเชียลมีเดีย ไม่เกินวันละ 30 นาที/วันก็เพียงพอ”
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน
นอกจากจะลดการเสพสื่อแล้ว การเป็น ‘จิตอาสา’ หรือ การบริจาค อาจเป็นวิธีหนึ่งในการเยียวยาจิตใจ ลดความเครียด สร้างพลังบวกให้ตัวเองและสังคมด้วย
เตรียมกาย เตรียมใจสำหรับภัยพิบัติใหม่ในอนาคต
แน่นอนว่าภัยพิบัติคงไม่ได้เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ดังนั้นการเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้อาจจะดีกว่า อันดับแรกต้องประเมินว่าพื้นที่ที่เราอยู่นั้น เป็นพื้นที่เสี่ยงไหม เช่น ดินโคลนถล่ม น้ำท่วม ก่อการร้าย ฯลฯ
รวมถึงประเมินตนเองและคนในครอบครัวว่ามีปัจจัยจำเป็นอะไรที่ต้องใช้ยามฉุกเฉิน เช่น ยาประจำตัว หรือแบตเตอรี่โทรศัพท์ รวมถึงการเตรียมเบอร์ฉุกเฉิน การศึกษาเส้นทาง ศูนย์พักพิง หรือบริการของหน่วยงานทางการแพทย์ในพื้นที่เพื่อผ่อนหนักเป็นเบา
และเมื่อเตรียมกายเป็นอย่างดีแล้ว ด้านการเตรียมใจ คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการมี ‘สติ’