หนึ่งคนตาย ช่วยอีกหลายคนเป็น ‘บริจาคอวัยวะ – ร่างกาย’ กุศลสุดท้ายของผู้วายชนม์

“แค่ไปทำบัตรประชาชน ก็สามารถแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะและดวงตาได้…”

จากนี้การบริจาคอวัยวะและดวงตาไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป และเจตนาดี ๆ นี้ จะถูกส่งต่อให้ผู้ป่วย เพื่อช่วยชีวิตผู้คนได้อีกมหาศาล คือสิ่งดี ๆ ที่สภากาชาดไทย นำมาบอกกล่าว

เรื่องราวของการบริจาคอวัยวะ อาจดูเป็นสิ่งไกลตัว แต่ก็เป็นอนาคตสำหรับการออกแบบชีวิตก่อนเผชิญกับวาระสุดท้าย และที่สำคัญเมื่อวันนั้นมาถึง บางทีร่างกาย อวัยวะที่ดูเหมือนไร้ซึ่งประโยชน์ อาจกลายเป็นการสร้างคุณค่าต่อชีวิตใหม่ให้กับอีกหลายคนก็ได้

The Active ชวนรู้จักเรื่องราวของ พ่ออ้วน และ ลูกชาย วัย 1 ขวบเศษ ผู้ซึ่งได้รับชีวิตใหม่จากการได้รับ บริจาคดวงตา ไปจนถึงสิ่งที่ควรรู้สำหรับการบริจาคอวัยวะ รวมไปถึงการอุทิศร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่ เพื่อส่งต่อกุศลสุดท้ายของผู้วายชนม์ให้สมดังปรารถนา ก่อนร่างกายสุดท้ายจะกลายเป็นเถ้าธุลี

(เนื้อหาส่วนหนึ่งภายใน วิชา “รวมฮิตบริจาคทั่วตัว” ส่วนหนึ่งของงาน Death Fest 2025 เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 68)

ดวงตาใหม่ ของเด็กชายวัย 1 ขวบ

ตอนนี้ในประเทศไทยมีผู้ป่วยที่ต้องการรับบริจาคดวงตากว่าหมื่นราย แต่สามารถปลูกถ่ายได้สำเร็จแค่หลักร้อย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือครอบครัวของ ปภาณัท ร่วมใจ หรือ พ่ออ้วน

พ่ออ้วน คือ คุณพ่อของเด็กชายวัย 1 ขวบ 10 เดือน ที่ได้รับบริจาคกระจกตา จากสภากาชาดไทยได้สำเร็จ

“ลูกชายของผมมีภาวะกระจกตาเสื่อมแต่กำเนิด เราไปหาหมอประจำจังหวัดก่อน แล้วถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่าไปเรื่อย ๆ จนพบว่า วิธีเดียวที่จะรักษาได้คือปลูกถ่ายกระจกตา”

พ่ออ้วน

ปภาณัท ร่วมใจ และลูกชายวัย 1 ขวบ ที่ได้รับบริจาคกระจกตา

พ่ออ้วน เล่าว่า ตอนนั้นครอบครัวไม่รู้เลยว่าการปลูกถ่ายเก็บกระจกตาคืออะไร คิดว่าเป็นการเปลี่ยนลูกตาทั้งลูกด้วยซ้ำ แต่หมอก็อธิบายจนเข้าใจแล้วให้ลงทะเบียนรอรับการบริจาค

“หมอแจ้งว่า ต้องรอคิวประมาณ 4 ปี ตอนนั้นผมกังวลมาก เพราะถึงตอนนั้นลูกคงต้องเข้าอนุบาลแล้ว ผมกลัวว่าเขาจะโดนเพื่อนล้อ แต่สุดท้ายสภากาชาดไทยก็ช่วยให้น้องได้รับการผ่าตัดได้เร็วกว่าที่คิด”

พ่ออ้วน

การปลูกถ่ายกระจกตาในเด็กเป็นเรื่องทึ่ต้องเตรียมพร้อมทุกฝ่าย ทั้งความพร้อมคนไข้ การเตรียมการของแพทย์ และการเสียชีวิตของผู้บริจาค

ผู้รอรับบริจาค ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไรที่จะมีผู้ที่บริจาคดวงตาไว้เสียชีวิตลง และทันทีที่ผู้บริจาคเสียชีวิต จะต้องผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาให้กับผู้รับทันภายใน 7 วัน

“เราจะไม่มีทางรู้ล่วงหน้าเลยว่าจะมีผู้บริจาคดวงตาเสียชีวิตเมื่อไร และในเคสของลูกชาย ผู้บริจาคต้องเป็นเด็กเท่านั้น ที่ไม่รู้เลยว่าผู้ปกครองจะยินยอมให้บริจาคหรือไม่

“ระหว่างที่รอเข้าคิวรับบริจาค หมอจะนัดผมไว้ 1 ครั้งต่อเดือน เพื่อจองห้องผ่าตัดไว้ก่อน ก่อนวันนัดหมาย 1 วัน ผมจะได้รับโทรศัพท์จากโรงพยาบาลว่าได้รับกระจกตาบริจาคหรือยัง

“ผมต้องเจอกับการรอคอยที่เลื่อนลอย ไม่รู้ว่าเมื่อไร และอาจจะยาวนานถึง 4 – 5 ปีก็ได้ ผมรับโทรศัพท์ด้วยความผิดหวังอยู่อย่างนั้น 4 เดือน จนกระทั้งครั้งสุดท้ายที่ได้ยินว่า ลูกชายผมได้กระจกตาแล้ว และต้องเตรียมเข้ารับการผ่าตัดภายใน 2 วัน”

พ่ออ้วน

สุดท้าย ลูกชายของเขา ก็ได้รับการบริจาคและปลูกถ่ายกระจกตาได้สำเร็จในช่วงอายุ 1 ขวบ 6 เดือน พ่ออ้วน ย้ำว่า ช่วงระยะเวลาแห่งการรอคอยนี้สำคัญมาก ที่ครอบครัวต้องเตรียมพร้อม เพราะหากช่วงที่ผู้บริจาคเสียชีวิต แต่ครอบครัวไม่พร้อม หรืออยู่ต่างประเทศจะถูกข้ามคิวไปทันที

ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย เป็นหน่วยในการรับบริจาคดวงตาและอวัยวะที่มีบริการทั่วประเทศ หากพูดถึงทั้งดวงตาและอวัยวะ อาจจะชวนสับสนเล็กน้อย The Active จะขอเล่าให้ฟังง่าย ๆ โดยแยกเป็น 2 กรณี คือ บริจาคดวงตา และ บริจาคอวัยวะ

บริจาคดวงตา – ตายที่ไหนก็ได้ แต่ต้องภายใน 6 ชม.

วรางค์วรรษา มาระเนตร์ หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย อธิบายว่า หากคุณเป็นผู้ที่มีอายุระหว่าง 2 – 80 ปี  ไม่ว่าจะมีสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง หรือเคยผ่าตัดต้อกระจกมาก่อน และปราศจากการติดเชื้อที่ติดต่อได้จากการปลูกถ่าย ก็สามารถบริจาคดวงตาได้ (โดยต้องผ่านการประเมินของเจ้าหน้าที่อีกครั้ง)

และเมื่อใดที่คุณอยู่ในภาวะหัวใจหยุดเต้น หรือภาวะสมองตาย ไม่ว่าจะเสียชีวิตที่ใดในประเทศไทย ทางศูนย์ฯ จะประสานงานแจ้งม้าเร็วในพื้นที่เพื่อเข้าปฏิบัติการโดยเร็วที่สุด 

“หากผู้มีเจตจำนงบริจาคดวงตาเสียชีวิตลง ญาติจำเป็นต้องแจ้งสภากาชาดไทย ภายใน 6 ชั่วโมง (หรือไม่เกิน 12 ชม. หากนำร่างไว้ในช่องแช่เย็นของโรงพยาบาล) ไม่ว่าขณะนั้น ผู้บริจาคจะเสียชีวิตที่บ้านหรือโรงพยาบาลจะมีเจ้าหน้าที่ลงไปจัดเก็บดวงตา ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใดในประเทศไทย” 

วรางค์วรรษา มาระเนตร์

โดยดวงตาของผู้เสียชีวิต หากเก็บได้ทันท่วงทีในเวลาที่กำหนด ดวงตาทั้งดวง สามารถนำไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยกระจกตาพิการได้ และในเฉพาะส่วนของตาขาว สามารถนำไปใช้ผ่าตัดโรคตาชนิดอื่น ๆ ได้อีก

คนไข้ 1.2 หมื่นคน กำลังรอรับบริจาคดวงตา 

วรางค์วรรษา ย้ำว่าตอนนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายกระจกตา และขอขึ้นทะเบียนขอรับบริจาคดวงตากว่า 1.2 หมื่นคนทั่วประเทศ แต่ในแต่ละปีสามารถปลูกถ่ายได้เพียง 1,700 คนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ

ปัญหาส่วนหนึ่งมากจากการที่คนไทยจำนวนมากยังไม่รู้ว่าจะเข้าถึงการเป็นผู้บริจาคได้อย่างไร หรือในบางครั้งแม้จะแสดงเจตจำนงการบริจาคไว้แล้ว แต่กลับไม่ได้แจ้งคนใกล้ชิดไว้ หรือในสภาวะที่เพิ่งเสียชีวิตใหม่ ๆ หลายครอบครัวอยู่ในสภาวะหัวใจสลายและวุ่นวายกับการจัดการ ทำให้หลงลืมเจตจำนงนี้ของผู้เสียชีวิตไป

บริจาคอวัยวะ – ตายที่โรงพยาบาลเท่านั้น

ในส่วนของการบริจาคอวัยวะ จะหมายถึงอวัยวะหรือเนื้อเยื่อในร่างกายที่สามารถปลูกถ่ายได้ โดยแบ่งได้ดังนี้

  1. อวัยวะ ได้แก่ หูชั้นกลาง, ปอด, หัวใจ, ไต, ตับอ่อน และลำไส้

  2. เนื้อเยื่อ ได้แก่ ลิ้นหัวใจ, หลอดเลือด, ผิวหนัง, กระดูก, เส้นเอ็น, กระจกตา, ไขกระดูก และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน

โดยจะมีเงื่อนไข ต่างออกไป จากการบริจาค ดวงตา ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

“ผู้บริจาคจำเป็นต้องตายที่โรงพยาบาลเท่านั้น โดยต้องถูกลงความเห็นโดยแพทย์ 3 คน และต้องทำ 2 ครั้งในระยะเวลาห่างกัน 6 ชม. เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะสมองตาย และได้เสียชีวิตลงแล้วอย่างแท้จริง บางครั้ง ญาติอาจจะไม่เข้าใจว่าผู้ป่วยจะตายได้อย่างไรทั้ง ๆ ที่หัวใจยังเต้นอยู่ แท้จริงแล้วอาจเป็นการพยุงชีพด้วยเครื่องช่วยหายใจหรือยากระตุ้น หากยุติทั้งหมด อวัยวะผู้ป่วยจะค่อย ๆ หยุดทำงานลงในที่สุด”

วรางค์วรรษา มาระเนตร์

วรางค์วรรษา ยกตัวอย่างให้ฟังว่า อวัยวะที่เป็นเนื้อเยื่อ เช่น ผิวหนัง สามารถนำไปช่วยเหลือคนไข้ที่เผชิญกับไฟไหม้ น้ำร้อนลวกขั้นรุนแรง การทำแผลที่ไม่มีผิวหนังปกปิดจะสร้างความทุกข์ทรมานมาก เพราะเสียเลือดมาก นำไปสู่การติดเชื้อได้ง่าย การปลูกถ่ายผิวหนังจะช่วยให้เจ็บปวดน้อยลง ลดการติดเชื้อ และทำแผลได้ง่ายขึ้น

วรางค์วรรษา มาระเนตร์ หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป ศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย

“ในส่วนของกระดูก โดยเฉพาะกระดูกเชิงกราน จะสามารถนำไปช่วยคนไข้มะเร็งกระดูกที่เสียกระดูกส่วนนี้ไป แม้กระทั้งในการทำรากฟันเทียม ก็สามารถนำกระดูกมาทำให้เป็นผง และเติมเข้าไปในกรามคนไข้เพื่อให้มีพื้นที่ให้รากฟันยึดติดได้ด้วย”

“มีคนแสดงเจตนาบริจาคดวงตา 900 คน/ปี และขอบริจาคอวัยวะ 400 คน/ปี โดยเฉลี่ยแล้ว การบริจาคของคนหนึ่งจะช่วย ผู้อื่นได้ประมาณ 3.3 อวัยวะ เหตุที่ไม่สามารถใช้ได้หมดเพราะขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของอวัยวะ โดยเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ประเมิน”

วรางค์วรรษา มาระเนตร์

ในบางกรณี ญาติอาจเกิดความกังวลใจว่า หลังการเสียชีวิต เจ้าหน้าที่จะมานำลูกตา หรืออวัยวะออกไปจากร่าง ทำให้เกิดความไม่สบายใจให้กับผู้ที่ยังอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติงานด้วยความเป็นมืออาชีพ

“บางครอบครัวกังวลว่า หลังเสียชีวิต เจ้าหน้าที่จะมาควักลูกตาออกจาตาโบ๋ไหม และสร้างความไม่สบายใจแก่ผู้ยังอยู่ แต่แท้จริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้นเลย เพราะหลังจากนำดวงตาออกไป จะมีอุปการณ์ใส่แทนที่ และเย็บปิดเปลือกตาอย่างดี ไม่ต่างจากคนนอนหลับปกติ หรือหากเป็นการนำอวัยวะออก ก็จะเย็บปิดร่างกายอย่างดี ทำด้วยความเคารพ เป็นมืออาชีพ และมีมาตรฐาน จากนั้นจึงส่งมอบร่างให้แก่ญาตินำไปประกอบพิธีทางศานาต่อไป”

วรางค์วรรษา มาระเนตร์

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคุณจะมีเจตจำนงในการบริจาคอวัยวะไว้อย่างชัดเจน แต่หากเมื่อเสียชีวิตลงแล้ว ทางสภากาชาดไม่ได้รับการอนุญาตและเซ็นยินยอมจากญาติ ก็ไม่มีสามารถนำดวงตาหรืออวัยวะใด ๆ ของผู้เสียชีวิตออกไปได้เลย การพูดคุยและทำความเข้าใจของญาติและผู้บริจาคจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องเตรียมกันในครอบคร้ว

อย่าตามหาผู้มีพระคุณ ทำบุญให้ก็พอ

ผู้รับบริจาคอวัยะจำนวนมาก รู้สึกซาบซึ้งกับสิ่งที่ได้รับ หลังการรับบริจาคอวัยวะเสร็จสมบูรณ์ มีผู้ให้-ผู้รับ จำนวนไม่น้อยที่อยากเจออีกฝ่าย เราอาจเห็นซีนเหล่านี้ในภาพยนตร์ หรือสารคดีของต่างประเทศบ้าง ในวันที่ครอบครัวผู้บริจาคกับผู้รับบริจาคมาเจอกัน แต่โดยหลักการแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องต้องห้าม

วรางค์วรรษา อธิบายว่า การบริจาคอวัยวะเป็นประเด็นอ่อนไหว ทางที่ดี ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ควรพบเจอหรือรู้จักกัน เพราะอาจนำมาซึ่งปัญญาภายหลังได้ดังเช่นกรณีที่เคยเกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ

“ในต่างประเทศ เคยมีเคสที่แม่บริจาคหัวใจของลูกชายที่เสียชีวิต หลังจากนั้น แม่ตามไปหาผู้ที่ได้รับบริจาค เพราะอยากรู้ว่าดูแลหัวใจของลูกชายตัวเองดีหรือไม่ สุดท้ายกลายเป็นการคุกคามครอบครัวอีกฝ่ายแทน”

“ที่ผ่านมา มีผู้รับบริจาคจำนวนมากที่ขอทราบข้อมูลของผู้บริจาค เพราะอยากไปขอบคุณ แต่นี่คือหลักการสากลว่าจะต้องปิดบังข้อมูลผู้บริจาค เนื่องจากเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาก เราจะแจ้งเสมอว่า แทนที่จะตามหาพวกเขา แต่ขอให้ระลึกถึงเขา ทำบุญให้พวกเขาเป็นการขอบคุณก็เพียงพอแล้ว

วรางค์วรรษา มาระเนตร์

บริจาคอวัยวะแสนง่าย แค่ไปทำบัตรประชาชน-ใบขับขี่

ศูนย์กลางบริจาคอวัยวะ คือ สภากาชาดไทย และไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนในประเทศไทย ก็สามารถแสดงเจตจำนงได้ง่ายมากแค่ปลายนิ้ว เพียงแต่หลายคนยังไม่รู้ โดยแบ่งเป็น 2 ช่องทาง ดังนี้

  1. การทำบัตรประชาชาชน และใบขับขี่

  2. เว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน

วรางค์วรรษา เล่าว่า หลายคนยังไม่รู้ว่าตอนไปทำเอกสารเหล่านี้ สามารถแจ้งความจำนงกับเจ้าหน้าที่ได้เลย ข้อมูลนี้จะปรากฏบนฐานข้อมูลออนไลน์ แต่สำคัญที่สุด ต้องไม่ลืมแจ้งไว้กับญาติที่ใกล้ชิดด้วย

“เวลาไปทำใบขับขี่ เราสามารถแจ้งกับเจ้าหน้าที่ได้เลยว่าต้องการบริจาคอวัยวะ จากนั้นใบขับขี่ของเราจะมีเครื่องหมายสภากาชาดไทยปรากฏที่หน้าบัตร เช่นเดียวกับเวลาทำบัตรประชาชน ข้อมูลทั้งหมดจะบรรจุอยู่ในฐานข้อมูล ซึ่งระบุได้ว่าต้องการบริจาคดวงตา หรืออวัยวะ หรือทั้งคู่ก็ได้”

วรางค์วรรษา มาระเนตร์

หากไม่มีโอกาสไปแสดงเจตจำนงที่ไหน ช่องทางเว็บไซต์ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย และแอปพลิเคชัน “บริจาคดวงตา-อวัยวะ” ก็เป็นช่องทางที่ง่ายและสะดวกรวดเร็ว

“ท่านสามารถแสดงเจตจำนงผ่านช่องทางออนไลน์ได้ โดยจะได้รับ e-card ที่สามารถบันทึกไว้ในมือถือ และแชร์ในโซเชียลมีเดียได้ด้วย และในแอปฯ ยังสามารถอัปโหลดคลิปวิดีโอของท่านเพื่อยืนยันเจตนาอีกด้วย เพราะหลายครอบครัวอาจไม่กล้าคุยเรื่องนี้ตอนยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อถึงเวลาที่มีคนเสียชีวิตจริง ๆ อาจเกิดข้อขัดแย้งในบ้าน ซึ่งอาจขัดต่อเจตนาของผู้เสียชีวิต”

วรางค์วรรษา มาระเนตร์

บัตรประจำตัวผู้บริจาคดวงตา- อวัยวะ ในรูปแบบ e-card

“เราอยากให้ทุกคนแชร์เรื่องนี้ออกไปให้มากที่สุด เพราะเราอยากให้การรับรู้เกิดในวงกว้าง ถึงท่านจะยังไม่พร้อมในการบริจาคก็ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น จะได้ไม่ละเลยเจตนาของผู้เสียชีวิต และเข้าใจเรื่องการบริจาคอวัยวะมากขึ้นด้วย”

วรางค์วรรษา มาระเนตร์

อาจารย์ใหญ่ – อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา

การบริจาคร่างกาย จะมีเป้าหมายต่างออกไปจากการบริจาคอวัยวะ คือ เป็นไปเพื่อการศึกษาให้กับนักศึกษาแพทย์ พยาบาล กายภาพบำบัด และสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ต่าง ๆ รวมทั้งเหล่าแพทย์เฉพาะทาง หรือที่เรียกว่าบริจาคร่างเพื่อเป็น อาจารย์ใหญ่

ภาคภูมิ ถิ่นท่าเรือ นักวิทยาศาสตร์และนักศึกษาปริญญาเอกสาขาวิชาเวชศาสตร์ปริวรรต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ภายหลังเสียชีวิต กระบวนการบริจาคร่างกายอาจแตกต่างนิดหน่อยกับการบริจาคดวงตาและอวัยวะ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะการบริจาคร่างกายจะเป็นการลงทะเบียนกับโรงเรียนแพทย์แต่ละแห่งโดยตรง (ตามความสะดวกของผุ้บริจาค) 

โดยทั่วไปแล้ว การบริจาคร่างกายต้องมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดี มีสภาพไม่เน่าเสีย ไม่มีการฉีดยารัษาสภาพศพก่อนบริจาค และไม่มีโรคติดเชื้อบ้างประเภท

“หากมีโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น HIV หรือไวรัสตับอักเสบบี เราจะปฏิเสธรับเป็นอาจารย์ใหญ่ เนื่องจากมีโอกาสแพร่เชื้อได้แม้ว่าจะเสียชีวิตไปแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ออกไปรับร่างผู้เสียชีวิต จะมีชุดเทสเพื่อตรวจเลือดก่อนเสมอ”

ภาคภูมิ ถิ่นท่าเรือ

อย่างไรก็ตาม กฏเกณฑ์และมีเงื่อนไขจะถูกกำหนดแตกต่างกันไปตามแต่ละแห่ง แต่ที่สำคัญ คือ หลังจากเสียชีวิต ญาติต้องแจ้งบริจาคแก่โรงเรียนแพทย์ที่ผู้บริจาคแสดงเจตจำนงไว้ภายใน 12 ชม. และภายใน 24 ชม. ร่างต้องถึงที่โรงเรียนแพทย์แล้ว โดยต้องมีใบมรณบัตรที่ออกอย่างเป็นทางการเท่านั้น มิเช่นนั้นการนำร่างมาจะถือว่าผิดกฏหมาย โดยโรงเรียนแพทย์แต่ละสถาบันจะเก็บรักษาร่างผู้บริจาคไว้ประมาณ 1 – 2 ปี เพื่อให้นักศึกษาได้เรียน หลังจากนั้นจะประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพให้อย่างสมเกียรติโดยที่ญาติไม่เสียค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว

“โดยส่วนมาก ญาติต้องการประกอบพิธีศพ ก็จะตั้งโลงเปล่าแทนแล้วทำพิธีตามปกติ ส่วนร่างจริงจะถูกเก็บรักษาไว้ที่คณะแพทย์ฯ เพื่อให้นักศึกษาเรียน หลังจากเรียนเสร็จ บางครอบครัวต้องการนำร่างอาจารย์ใหญ่ไปประกอบพิธีเอง ทางโรงเรียนแพทย์ก็จะคืนให้”

ภาคภูมิ ถิ่นท่าเรือ

และหากท่านเป็นญาติของผู้บริจาคร่างกาย มีข้อที่ต้องทำความเข้าใจคือ หลังจากที่ร่างอาจารย์ใหญ่ถูกใช้เรียนแล้ว จะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าร่างไหนเป็นของใคร และสภาพร่างที่ผ่านการเรียนมาแล้วอาจไม่น่ามองนักสำหรับญาติ หากต้องส่งร่างคืนญาติ จึงจำเป็นต้องปิดหนึกอย่างดีไม่จนสามารถมองเห็นอะไรได้อีก

“บางครั้ง ญาติทำใจจากการสูญเสียได้แล้ว แต่พอเห็นร่างหลังจากเป็นอาจารย์ใหญ่ กำลังใจจะตกทันที อาจทำให้รู้สึกไม่อยากบริจาคร่างกายแล้ว เราจะระวังไม่ให้ญาติเปิดดูเลย เพราะเป็นการรักษาสภาพจิตใจ และการป้องกันจากสารเคมีที่ใช้ในการเก็บรักษาด้วย”

ภาคภูมิ ถิ่นท่าเรือ

อุทิศร่างกาย กุศลสุดท้ายของผู้วายชนม์

ภาคภูมิ ยกตัวอย่างให้ฟังว่า สำหรับคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เพิ่งเปิดรับการบริจาคร่างกายครั้งแรกเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานี้ มีผู้แจ้งความประสงค์ขอบริจาคร่างกายแล้วราว 4 – 5 พันคน แต่ยังคงไม่เพียงพอ และยังน้อยกว่าโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่อื่น ๆ อย่าง คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราช, ม.ชียงใหม่ หรือ ม.ขอนแก่น

“ตอนนี้ เรายังมีร่างอาจารย์ไม่เพียงพอต่อการศึกษาเท่าที่ควร สำหรับนศ.แพทย์ รามาฯ เราจะใช้อาจารย์ใหญ่ประมาณ 60 ร่างต่อปี และยังต้องมีร่างที่ต้องเตรียมไว้สำหรับแพทย์เฉพาะทาง เช่น ฝึกใส่ท่อช่วยหายใจ ฝึกผ่าตัดเปลี่ยนเข่า ฯลฯ ซึ่งยังคงมีความต้องการร่างอาจารย์ใหญ่อีกมาก”

ภาคภูมิ ถิ่นท่าเรือ

ท้ายที่สุด ภาคภูมิย้ำว่า ร่างกายมนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกันมาก การอุทิศร่างกายเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ ทักษะและศักยภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ 

“หากหมอต้องเรียนกับหุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยี หมอจะไม่มีทางรู้จักความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ประสบการณ์การฝึกหัดจึงยิ่งสำคัญ การอุทิศร่างกายจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวงการแพทย์ได้อย่างมีคถุณภาพมากขึ้น”

ภาคภูมิ ถิ่นท่าเรือ


หากท่านใดมีความประสงค์บริจาคร่างกายเพื่ออุทิศร่างเป็นอาจารย์ใหญ่ ให้ลองพิจารณาดูในพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่อาศัย โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ ศูนย์ฝึกผ่าตัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์


กายวิภาคศาสตร์คลินิก สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (เดินทางมาสมัครได้ด้วยตนเองหรือกรอกแบบฟอร์มและส่งไปรณีย์) และสถาบันการศึกษาอื่นที่เปิดรับบริจาค