หากชีวิตคือการเดินทางเป็นเส้นตรง เราหวังออกเดินทางจากจุดแรกอย่างเรียบง่าย แล้วจบลงที่จุดสุดท้ายอย่างสวยงาม แต่น่าเศร้าที่ชีวิตมนุษย์มิได้เรียบง่ายปานนั้น
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความสงสัย คลางแคลงใจ และไม่รู้จักตัวเอง เราเป็นนิรันดร์ไหม ? ความหมายคืออะไร ? และทำไม ? ต้องหลุดพ้น…
หลายแนวคิดทางพุทธศาสนา และปรัชญาพยายามแสวงหาคำตอบ และทำความเข้าใจการดำรงอยู่ ความหมาย และ ความตาย ของมนุษย์ แต่วิชาชีวิตแบบไหนกัน ที่จะพาการเดินทางครั้งนี้ให้มีตอนจบที่สวยงามที่สุด
The Active เรียบเรียงบทเรียนจากตำรา “วิชาสุดท้าย” จาก พระอั๋น – พระเอกวีร์ มหาญาโณ ในปาฐกถาสุดท้ายภายในงาน Death Fest 2025 : Better Living, Better Leaving. : เพื่อการเป็นอยู่ที่มีความหมาย และวาระสุดท้ายที่ดีที่สุด
มองชีวิตบนฝาโลง
ท่ามกลางเสียงจอแจในช่วงเวลาสุดท้ายก่อนงานเลี้ยงแห่งความตายนี้จะเลิกรา เสียงบทสวดหนึ่งกลับดังกึกก้อง สะกดผู้คนโดยรอบ ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งปรากฏกาย ค่อย ๆ ย่างกรายขึ้นมาบนเวที
พระเอกวีร์ มหาญาโณ หรือ พระอั๋น คือ ปาฐกองค์สุดท้าย ก่อน เทศกาลแห่งความตาย ในปีนี้จะลาลับไป
เสียงบทสวดค่อย ๆ แผ่วเบาลง แทนที่ด้วยความเงียบสงัด ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร คือ พระสูตรบทสวดนั้น บทสวดที่มีแก่นแท้ว่าด้วย สุญตา หรือ ความว่างเปล่า
แต่ ความว่างเปล่า เกี่ยวข้องอย่างไรกับ ความตาย หรือนี่ควรจะเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่เราควรยึดถือไว้ก่อนสิ้นลม…ถึงตรงนี้อาจยังไม่มีคำตอบ

พลันพุ่งสายตาไปบนเวที โลงศพไม้สีขาวสะอาดตา ที่วางอยู่ถูกแปรเปลี่ยนเป็นกระดานชนวนขนาดย่อม
พระอั๋น ขีดเส้นตรงด้วยหมึกสีน้ำเงินเข้ม ตามแนวยาวของโลงไม้ จุดเริ่มต้นของเส้นยาว คือ การเกิด และจุดสิ้นสุดที่ปลายสาย คือ ความตาย
ชีวิตมนุษย์ที่ดูเหมือนยาวนานหลายสิบปี กลับถูกย่นย่อลงเหลือเพียงเส้นตรงยาวเพียงคืบ คมชัด หนักแน่น ทว่าบูดเบี้ยว รกรุงรัง
บัดนี้ ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ยืนยาวของมนุษย์ กำลังถูกจารึกไว้ด้วยเพียงเส้นสมมติสั้น ๆ ข้างฝาโลงศพ
ใช่แล้ว…ระหว่างการเดินทางของชีวิต มนุษย์อาจไม่ได้มีเส้นทางที่ราบรื่นดังปรารถนา แต่เมื่อเดินทางมาถึงจุดสุดท้าย เรากลับย่อมอยากจากไปอย่างสมบูรณ์แบบ แต่กลับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยทั้งการเตรียมตัวทางร่ายกาย และที่ใช้เวลายาวนานไปกว่านั้นคือ ทางจิตวิญญาณ
ชีวิตมนุษย์ ไม่ได้หยุดแค่ความตาย ?
มนุษย์เริ่มต้นที่การเกิด เติบโตผ่านการใช้ชีวิตที่มีสุข ทุกข์ และท้ายที่สุด ชีวิตก็ต้องจบลงที่ความตายไม่ต่างจากจุดสิ้นสุดของเส้นหมึกสีเข้มที่ถูกขีดไว้หน้าโลงศพ
แต่หลังจากความตาย คืออะไร ?
หากเราไม่สนใจโลกหลังความตาย ชีวิตเราจะต่างออกไปไหม ?
นี่อาจเป็นคำถามที่ตอบยากสำหรับคนที่ยังไม่ตาย แต่ พระอั๋น อธิบายว่า หากเราขยับจุดสิ้นสุดชีวิตออกไปให้ไกลกว่าความตาย วันนี้เราอาจใช้ชีวิตในแบบที่ต่างออกไปก็เป็นได้
“หากชีวิตเปรียบเหมือนการเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย หากเรามองเป้าหมายแค่การเรียนจบ และรับปริญญา เราจะเรียนหนังสือแบบหนึ่ง แต่หากเรามองว่า จุดสุดท้ายของเส้นทางนี้ไม่ใช่แค่การเรียนจบ แต่คือการใช้ชีวิตที่ยาวนานไปกว่านั้น เราจะเรียนหนังสือในแบบที่ต่างออกไป และโหยหาอะไรบางอย่างที่ต่างจากเดิม”
พระเอกวีร์ มหาญาโณ

สิ่งที่ พระอั๋น อธิบาย หมายถึงการปรับทัศนคติต่อความตาย ที่อาจไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่หากว่านี่คือจุดเริ่มต้น ระหว่างทางเราอาจจะเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
พระอั๋น ยังบอกอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ต่างหาก คือ แก่นแท้ที่สำคัญของมิติทางจิตใจ ในหลายศาสนา หรือครูบาอาจารย์ด้านสภาวะภายในเคยพยายามพูดถึงเรื่องนี้ไว้มากมาย ฉะนั้นแล้ว การเตรียมตัวตายที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงเตรียมแค่ถึงช่วงสุดท้ายก่อนตาย แต่ต้องเตรียมจนถึงหลังความตายด้วย
โลกหลังความตาย – ทฤษฎีที่จริงใจในทางพุทธศาสนา
ในทางพระพุทธศาสนา มีคำสอนหนึ่งที่ชัดเจนถึงโลกหลังความตาย คือเรื่อง ภพภูมิ ซึ่งอธิบายได้ว่า เป็นสภาวะที่สัตว์โลกทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบอยู่ใน สังสารวัฏ ในภพภูมิทั้ง 31 แห่งนี้ จะได้ไปที่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับผลกรรมของแต่ละคน
“แนวคิดเรื่องภพภูมิ มีการอธิบายถึงการเวียนว่ายตายเกิด และกรรม ที่เรียกว่า ‘ปฏิจจสมุปบาท’ เราอาจหลุดออกจากชีวิตนี้ แล้วเข้าสู่วงจรเกิด-ดับ เวียนว่ายไปเรื่อย ๆ ที่เรียกว่า สังสารวัฏ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังความตายเหล่านี้ ถูกพูดถึงอย่างไม่อ้อมค้อม ในคำสอนด้านจิตวิญญาณและพระพุทธศาสนา”
“หากใครรู้สึกว่านี่งมงาย อยากหาคำอธิบายด้วยเหตุผล แท้จริงแล้ว พุทธศาสนากำลังจะบอกว่า เหตุที่ดีจะนำไปสู่ผลที่ดี และสิ่งไม่ดีหรืออกุศลในใจ จะนำไปสู่สิ่งที่ยากมากขึ้นอีกในชีวิต เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่เรียกว่า กรรม เกิดขึ้นตามเหตุและผลนั่นเอง”
พระเอกวีร์ มหาญาโณ
“หากยังไม่รู้จัก ก็อยากเชิญชวนให้ลองทำความเข้าใจกับเรื่องราวพวกนี้สักหน่อย” นี่คือสิ่งที่ พระอั๋น พยายามจะบอก หากเข้าใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้น จะทำให้มุมมองต่อชีวิตของเราเปลี่ยนไป และนำไปสู่การเลือกให้ความสำคัญกับบางอย่างในชีวิตที่ต่างออกไปด้วย

ตายก็คือตาย จะสนใจโลกหลังความตายไปทำไม ?
“พอเราใกล้ตาย เราจะได้ไม่กลัวยังไงหละ” พระอั๋น ตอบอย่างฉะฉาน แต่ทำไม ? การรู้จักโลกหลังความตาย แล้วจะทำให้เราไม่กลัวตาย ?
นั่นอาจเป็นเพราะมนุษย์ไว้วางใจในสิ่งที่คาดเดาได้ หากเราได้เห็น ได้รู้จักบางสิ่ง ความระแวง หวาดกลัว หวั่นไหวย่อมลดน้อยลง
หากเปรียบการเดินทางของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เหมือนการผจญภัยไปในนวนิยายสักเล่ม เล่มไหนที่พอจะเดาตอนจบได้ ย่อมสร้างความรู้สึกอุ่นใจ ปลอดภัย และเกิดสันติสุขในใจมากกว่า
แต่หากเล่มไหนที่เดายาก พาเราออกเดินทางในเรื่องราวที่ไม่อาจคาดเดา จินตนาการแห่งความไม่รู้ ย่อมนำเราไปสู่ความมืดบอดที่ปลายทาง และถึงตอนจบด้วยจิตใจที่ตื่นตระหนัก สั่นไหว
และหากนิยายเล่มนี้เริ่มต้นหน้าแรกด้วยความตาย คงยังไม่มีมนุษย์คนไหนเลย ที่รู้เฉลยในตอนจบ
บ้างเชื่อว่า ตายแล้ว จะขึ้นสวรรค์สู่อ้อมกอดพระเจ้า
บ้างเชื่อว่า ตายแล้ว กลับคืนสู่ธรรมชาติ
บ้างเชื่อว่า ตายแล้ว ก็เวียนว่ายในวัฏจักรของสรรพสิ่ง
ไม่มีใครรู้ว่าโลกหลังความตายเป็นอย่างไร แต่เราสามารถเตรียมเรื่องราวของชีวิตหลังความตายได้ในแบบที่เราฝันใฝ่ เชื่อมั่น และศรัทธา
“สมมติว่าโยมกำลังจะออกเดินทางไกล โยมจัดแจงเตรียมข้าวของอย่างดี แล้วมาที่สถานีเพื่อรอขึ้นรถ ระหว่างคันที่รู้ว่าปลายทางจะพาเราไปไหน กับรถคันที่ไม่รู้ปลายทางชัดเจน โยมจะอยากขึ้นรถคันไหน ? อาตมาคิดว่าเราคงอยากขึ้นรถที่เรารู้แน่ ๆ ว่าพาเราไปไหน ไม่ใช่การเสี่ยงดวงที่ไม่รู้ปลายทาง”
“อาตมาเคยเจอคนที่อยู่ในระยะท้าย อาตมาเคยเจอคนที่เสียชีวิตลงตรงหน้า การที่รู้ว่าต่อจากนี้ ชีวิตกำลังจะเจอกับอะไร จะช่วยให้ช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ ลดความกระวนกระวายไปได้ อาตมาไม่ได้บอกว่าเราต้องเชื่อเรื่องโลกหลังความตายนะ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือไม่นับถือศาสนาอะไรเลย แต่อย่างน้อย ขอให้ครุ่นคิด ศึกษา และตัดสินใจกับตัวเองให้ชัดว่าจะเลือกเชื่อแบบไหน เมื่อวันที่ความตายเดินทางมาถึง และเมื่อเลือกแล้ว ก็ขอให้มั่นใจ ไม่วอกแวก โลเล”
พระเอกวีร์ มหาญาโณ
ความตายและโลกหลังความตาย ยังคงเป็นเรื่องลึกลับ แต่หากเรามีจินตนาการ ความรู้ หรือความเชื่อบางอย่างที่ยึดถือไว้ สิ่งนี้อาจเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เพื่อให้เราไม่หวาดหวั่นเกินไป ในวินาทีที่ความตายมาถึง

ชีวิตไม่ไร้ความหมาย ไม่เป็นนิรันดร์ แต่แก่นสำคัญ คือ การหลุดพ้น
ในทางศาสนาและปรัชญา มีแนวคิดที่ใช้มองชีวิตและความตายอย่างน้อย 2 แบบ
แนวคิดแรก คือ สุญนิยม (Nihilism) ที่เชื่อว่า ชีวิตคือความว่างเปล่า ไร้ความหมาย ชีวิตคนจบลงเมื่อความตายมาถึง และหลังจากนั้นจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นต่อไปอีก
ขณะที่อีกแนวคิดหนึ่ง คือ อมตะนิยม (Eternalism) ที่เชื่อว่า ชีวิตคือนิรันดร์ เวียนว่ายตายเกิดตลอดกาลไม่มีวันสิ้นสุด
แนวคิดเหล่านี้ ฟังแล้วดูอาจจะดูสุดโต่งไปทั้ง 2 ด้าน นั่นคือการ ไม่มีอะไรเลย กับ มีอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
แต่ในทางพระพุทธศาสนา มองว่าทั้ง 2 แนวคิดนี้ คือ มายา รูปแบบหนึ่ง
เพราะพุทธศาสนาสอนเรื่อง ทางสายกลาง หรือ สุญญตา ที่บอกว่า เราทุกคนไม่มีตัวตนแท้จริง แต่ล้วนเป็นสิ่งที่ส่งเสริมการมีอยู่ของกันและกัน แก่นแท้ของพระพุทธศาสนาจึงคือการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏจักรซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้ต่างหาก
“หัวใจของพระพุทธศาสนาพูดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดก็จริง แต่กลับไม่ได้มีเป้าหมายให้เราต้องไปสู่ภพภูมิที่ดี เป้าหมายแท้จริง คือ ต้องการให้เราหลุดพ้นออกมาจากการเวียนว่ายในวงจรนี้ต่างหาก และการจะหลุดพ้นได้นั้น ต้องย้อนกลับมาทำความเข้าใจเสียก่อนว่า อะไรคือสิ่งที่เวียนว่ายอยู่ และหากยังไม่เคยหันกลับมาทำความเข้าใจตัวเองว่า ตัวเรา คืออะไร ต่อให้ตายไป วงจรนี้จะเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ”
พระเอกวีร์ มหาญาโณ
พระอั๋น ยังได้พาย้อนกลับมาทำความเข้าใจสิ่งที่เป็น ตัวเรา อีกครั้งว่า โดยปกติแล้ว ตัวตน ของเราเกิดจากการหลอมรวมของร่างกายและจิตใจร่วมกันเป็นระบบราวกับ operating system แต่หากรู้จักแยกแยะ กายและใจออกมาได้ จะทำให้เห็นปรากฏการณ์ที่ตัวเราเป็นจริง ๆ
สิ่งนี้ จะถ่ายถอนความเข้าใจผิดว่า เรามีจริง
สิ่งนี้ จะถ่ายถอนความเข้าใจผิดว่า มีเราที่ตาย
และสิ่งนี้ จะถ่ายถอนความเข้าใจผิดว่า มีเราที่เวียนว่ายตายเกิด
ฉะนั้น การถ่ายถอนความเข้าใจผิดนี้ จะทำให้เราย้อนกลับมาเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองในปัจจุบันจริง ๆ นี่จึงเป็นเหตุผลว่า เหตุใดการฝึกฝนทางพุทธศาสนา จึงหาใช่การฝึกวิชาที่อื่น หากแต่คือการย้อนกลับมาฝึกฝนที่กาย ใจของตัวเราเองต่างหาก
สิ่งที่มนุษย์ควรฝึกฝน คือ การย้อนกลับมาสังเกตตัวเอง รู้จักตัวเองผ่านการมองเห็นปรากฏการณ์ของตน แล้วเราจะเริ่มเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่า
“เมื่อมีการเกิด.. แล้วอะไรเกิด ?”
“เมื่อมีการตาย… แล้วอะไรตาย ?”
และการฝึกสังเกตนี้เรียกว่าการ เจริญสติ นั่นเอง

อัลกอริทึมชีวิต คือ นิมิตก่อนตาย
ระหว่างการมีชีวิต เราแต่ละคนมักจะมีอารมณ์บางแบบป็นค่ามาตรฐาน หลายครั้งเกิดโดยไม่รู้ตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นนิสัย แทรกซึมเข้าในเนื้อในตัว ต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี
“บางครั้ง เราเห็นเพื่อนแล้วหมั่นไส้ทั้งที่ไม่ได้ขัดแย้งกัน เราเห็นแฟนแล้วหงุดหงิดทั้งที่จริงก็รักกันดี เราไม่ได้อยากมีอารมณ์แบบนั้น แต่มันเกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ นั่นเพราะระหว่างทางเราขาดการควบคุมตัวเอง เมื่อเกิดขึ้นบ่อยครั้งเข้า ก็กลายเป็นอารมณ์ที่ฝังอยู่ในเนื้อตัว ทั้งหมดนี้อาจดูเหมือนไม่เป็นไร หากเรายังอยู่ในสภาวะปกติ แต่หากเข้าสู่ระยะท้ายของชีวิต อารมณ์เหล่านี้จะยิ่งเข้มข้น เราจะยิ่งอ่อนแอ ไร้ความสามารถในการเป็นเจ้านายตัวเอง อารมณ์ความรู้สึกที่ฝังแน่นอยู่ในเนื้อตัวนั้นจะยิ่งปรากฏ และครอบงำ”
พระเอกวีร์ มหาญาโณ
พระอั๋น ย้ำว่า การเจริญสติเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝน หากระหว่างการใช้ชีวิตปล่อยให้อารมณ์ครอบงำซ้ำแล้วซ้ำเล่า หน้าจอทัชสกรีนชีวิตของเรา คงไม่ต่างอะไรกับโซเชียลมีเดียที่มีคอนเทนต์ซ้ำ ๆ โผล่มาให้เห็นจากการทำงานของอัลกอริทึม
“โยมลองนึกถึงยูทูป สิ่งที่เราเห็นที่หน้า feed มักเป็นสิ่งที่เราแทบไม่ได้เลือกเลย แต่มันโผล่ขึ้นมาตามการจัดของอัลกอริทึมที่เราเคยดูซ้ำ ๆ เพราะบางสิ่งที่เราเคยดูไว้เมื่อก่อน เป็นสิ่งเหนี่ยวให้เราเห็นบางสิ่งในปัจจุบัน เหมือนกับสิ่งที่เราเคยเป็นบ่อย ๆ จะกลายเป็นเนื้อตัวเราในวันนี้”
พระเอกวีร์ มหาญาโณ
ฉะนั้นแล้ว ขอให้หมั่นย้อนกลับไป สำรวจชีวิต สังเกตปรากฏการณ์ในใจ อนุญาตให้บางสิ่งในใจเกิดขึ้นมา แล้วตั้งมั่น นั่งดูมัน และปล่อยให้ผ่านไป ยิ่งดูใจตัวเองนานเท่าไร จะยิ่งเผยสิ่งที่ฝังลึกในใจเราได้มากเท่านั้น และถ้ารู้เสียตั้งแต่วันนี้ ต่อให้มาปรากฏอีกทีตอนใกล้ตาย ก็ไม่น่าตกใจอีกต่อไปแล้ว

ความว่างข้างฝาโลง…
ถึงตรงนี้…ชีวิตมนุษย์ไม่ได้ไร้ความหมาย และไม่ได้เป็นนิรันดร์กาล เราต่างเป็นความหมายให้แก่กันและกันในวงจรไม่รู้ดับ แต่กลับไม่ยืนยาวพอที่จะเรียกได้ว่าตลอดไป
พุทธศาสนาจึงสอนให้เราหลุดพ้นจากวงจรไม่รู้จบนี้ ปล่อยวางสิ่งที่ยึดถือ เพราะเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง อาจไม่มีสมบัติใดที่เลอค่าและเบาสบายเท่ากับ ความว่างเปล่า
และระหว่างทางการใช้ชีวิต หากได้ดำเนินไปอย่างรู้ตัว ทวนสอบอารมณ์ มองเห็นสำนึก สัมผัสความรู้สึก จนรู้จัก จนเข้าใจ เมื่อวันสุดท้ายมาถึง เราจะไม่รู้สึกแปลกหน้ากับตัวเราอีกต่อไป
หากถามว่า วิชาสุดท้าย ที่ชีวิตควรเรียนรู้คืออะไร คงไม่มีคำตอบไหนที่ถูกต้องที่สุด
แต่สิ่งที่ พระอั๋น ให้ไว้ คือ วิชาระหว่างใช้ชีวิต ที่ไม่มีวันสอบปลายภาค เพราะนี่คือ วิชาภาคปฏิบัติ ที่ต้องเรียนรู้ฝึกฝน และตรวจข้อสอบด้วยตนเองตลอดชีวิต จนกว่าวาระสุดท้ายจะมาถึง…