ยิ่งเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้ง ยิ่งเห็นหลายพรรคการเมืองเริ่มเปิดนโยบายซื้อใจประชาชนกันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะนโยบาย การแจกเงินช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่แต่ละพรรคงัดออกมาสร้างแรงจูงใจกันอย่างดุเดือด จนเกิดคำถามว่านโยบายเหล่านี้จะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน
The Active รวบรวมนโยบายพรรคการเมือง โดยเน้นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินเพื่อพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ นโยบายเพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการพลัส 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่ง เริ่มจากกลุ่มรายได้น้อย
พรรคก้าวไกล นโยบายของขวัญแรกเกิด 3,000 บาท เงินเด็กเล็ก 1,200 บาทต่อเดือน เยาวชนได้คูปองเปิดโลก สูงสุดปีละ 2,000 บาท ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันที 450 บาท/วัน ปรับขึ้นทุกปี ผู้ประกอบการ SME ได้ทุนตั้งตัว 200,000 รายต่อปี เงินผู้สูงวัย 3,000 บาท/เดือน
พรรคพลังประชารัฐ นโยบายบัตรประชารัฐ 700 บาท “แม่บุตร ธิดา ประชารัฐ” สนับสนุนเงินเดือนละ 10,000 บาท จำนวน 5 เดือน เริ่มตั้งแต่อายุครรภ์ 4 เดือน จนถึง 9 เดือน เงินในการเลี้ยงบุตรจำนวน 3,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 ปี
พรรคประชาธิปัตย์ นโยบายชาวนารับ 30,000 บาทต่อ 1 ครัวเรือน ซึ่งในรายละเอียดจะมีการแถลงในภายหลังอีกครั้ง ให้เงินอุดหนุนกลุ่มเกษตรกรประมง กลุ่มละ 100,000 บาทต่อปีทุกกลุ่ม ทั้ง 2,800 กลุ่ม ธนาคารหมู่บ้านและชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาททั้งประเทศ
พรรคภูมิใจไทย นโยบายกองทุนประกันชีวิต 60 ปีขึ้นไป พรรคเพื่อไทย ค่าแรง 600 บาท/วันและค่าแรงปริญญาตรีขั้นต่ำ 25,000 บาท
พรรคเสรีรวมไทย เรียนฟรีจนจบปริญญาตรี ยกเลิกหนี้ กยศ. สนับสนุนภาคการศึกษาจ่ายตรงให้มหาวิทยาลัย 25,000 บาท ปีละ 2 การศึกษา เป็นเงิน 50,000 บาท ต่อคนต่อปี บำนาญประชาชน 3,000 บาทต่อเดือน เบี้ยผู้พิการ 3,000 บาทต่อเดือน
พรรคไทยสร้างไทย เเก้หนี้ เติมทุน ให้ SMEs และ Start up ด้วย ”กองทุนสร้างไทย” จำนวน 300,000 ล้านบาท
พรรคชาติพัฒนากล้า สร้างบ้านผู้สูงอายุ โดยทุ่มงบ 5 หมื่นล้าน เพื่อปรับปรุงบ้านให้ผู้สูงอายุ จำนวน 1 ล้านหลัง
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ก็ถือว่าเข้าข่ายนโยบายช่วยเหลือประชาชนด้วยเม็ดเงินเช่นกัน แต่คนที่ได้ต้องลงทะเบียนและมีคุณสมบัติเป็นไปตามเงื่อนไข ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่ามีผู้ที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 14,590,000 จากผู้ลงทะเบียนทั้งหมดกว่า 22 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่ถือบัตรเดิมอยู่คิดเป็น 60%
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาชี้แจงว่าสาเหตุที่คนถูกตัดสิทธิ์มากถึง 8 ล้านคน เนื่องจากระบบคัดกรองคุณสมบัติละเอียดมากขึ้น เพื่อให้การช่วยเหลือพุ่งเป้าไปที่ “คนจนตัวจริง” พร้อมระบุด้วยว่าตัวเลขนี้ยังสะท้อนคนที่มีรายได้น้อยลดลง ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
แต่ทว่า ข้อมูลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดูเหมือนจะสวนทางกับความรู้สึกของประชาชนเพราะจากที่ได้ลองไปสำรวจความคิดเห็นของประชาชน พวกเขาเห็นว่าชีวิตตอนนี้หากินยากลำบากกว่าเดิมมาก ข้าวของก็แพงทุกอย่าง น้ำมันก็ขึ้น ค้าขายก็กำไรหดหาย การที่มีนโยบายช่วยเหลือประชาชนแบบให้เงินนั้นจริงเป็นความหวังว่าจะได้ แต่ขณะเดียวกันก็อยากให้ช่วยเรื่องที่สำคัญด้านอื่น ๆ อีกด้วยและควรให้ทุกคนจะได้ไม่ต้องถูกคัดออกจากระบบลงทะเบียน
สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า นโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงโดยจะเพิ่มเงินให้แก่ประชาชนเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนเพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และเห็นด้วยว่าหลายกลุ่มถึงเวลาที่ต้องได้รับการปรับเงินให้สอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
แต่ว่าหากดูจากตัวเลขของบางพรรคที่ระบุมาชัดเจน ซึ่ง TDRI ได้มีการศึกษาแล้วพบว่า มี 2 พรรคการเมือง ที่จะต้องใช้เงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านล้านบาท ส่วนพรรคการเมืองอื่น ๆ จะใช้งบประมาณราวแสนล้านบาท
“งบฯที่เพิ่มมาถือว่าสูงมาก มันมากเกินไปไหม บางเรื่องอาจไม่จำเป็นที่ต้องช่วยกันมากขนาดนี้ บางกลุ่มอาจไม่ได้ต้องการช่วยแบบนี้ รัฐบาลขาดดุลงบประมาณอยู่แล้วตั้งไว้ ที่ 3 ล้านล้านบาท รายได้ไม่พอ ดังนั้นถ้าเพิ่มอีกก็จะเป็นการขาดดุลทันที หนี้สาธารณะก็จะสูงมาก เงินก้อนนี้คิดเป็น 10% ของจีดีพี ปีหนึ่งหนี้เพิ่มขึ้น 10% ประเทศชาติมีปัญหาแน่นอนเรื่องของเครดิต ความน่าชื่อถือก็จะหายไป ต้องระวังอย่างยิ่ง”
ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า หากมีการปรับลดตัวเลขให้อยู่ราวแสนล้านบาท อาจมีความเป็นไปได้มากว่า ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารงบประมาณ การพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวให้เติบโต และเก็บภาษีเพิ่ม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT
“ภาษีที่มีการพูดถึงว่าจะมีการขยับ คือมูลค่าเพิ่มหรือ vat เพราะฐานภาษีใหญ่ ทุกคนต้องจับจ่ายใช้สอย การจ่ายเพิ่มขยับเป็น 10% มีการศึกษาแล้วว่าเงินจากส่วนนี้จะได้ราวแสนล้านบาท แต่ว่าถ้าดูจากความเห็นของประชาชน พวกเขาก็ไม่ไหวในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ แต่ว่าหากจ่ายไปแล้วกลับคืนมาในรูปสวัสดิการถ้วนหน้า จะลดแรงต้านได้ และต้องให้นักการเมืองทำสัญญาใจว่าจะต้องใช้เงินตรงจุดนี้เพื่อสวัสดิการประชาชนจริง ๆ แต่ถ้าจะทำทั้งทีและลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วย ต้องขยับไปดูที่ภาษีตัวอื่น ๆ เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เก็บเงินคนรวยมาช่วยคนจน”
ข้อมูลจากเว็บไซต์กระทรวงการคลัง รายงานผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ งบประมาณ 2564 ที่เก็บได้จากทุกแหล่งของรัฐบาล รวมทั้งสิ้น 2,372,539 ล้านบาท ซึ่งภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่า เพิ่ม ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ขณะที่รายได้ที่รัฐบาลนำส่งคลังรวมทั้งสิ้น 2,446,630 ล้านบาท แต่การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล 3,208,653 ล้านบาท เท่ากับว่าขาดดุลเงินงบประมาณ 762,023 ล้านบาท