ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ยังคงมีสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลสูงกว่า 60% ขณะที่ไทยยังพึ่งพามากกว่า 80% และภาคพลังงานของไทยยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมด ซึ่งตรงกันข้ามกับมติที่ประชุม COP28 ในปี 2023 ที่เน้นให้มีการ เปลี่ยนผ่านเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคพลังงาน ทำให้เกิดคำถามว่า… ญี่ปุ่นและไทยจะเดินหน้าต่ออย่างไร ? เพราะนี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของ 2 ประเทศ แต่เป็นโจทย์ความยั่งยืนของทั้งโลก
ขณะที่สหราชอาณาจักร ประเทศต้นกำเนิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายเมื่อปี 2024 แต่ในปี 2023 ญี่ปุ่นกลับเปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ท่ามกลางเสียงคัดค้านของคนในชุมชนใกล้เคียง
The Active ชวนฟังเสียงของชาวเมือง คุริฮามะ ที่รวมตัวกันคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อตอกย้ำต่อภาครัฐว่า “ประชาชนต้องเป็นผู้กำหนดอนาคตพลังงานของชาติ”
คุริฮามะ : เมืองแห่งดอกไม้ที่กลายเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ณ เมืองคุริฮามะ จังหวัดคานากาวะ ซึ่งตั้งอยู่ปากอ่าวโตเกียว ที่นี่คือแหล่งธรรมชาติที่สวยงาม วิวเบื้องหน้าเป็นคาบสมุทรสีคราม และเบื้องหลังเป็นเนินเขาแห่งดอกไม้ (華の国) ซึ่งเป็นสวนพฤกษศาสตร์สำคัญของชุมชน ใกล้กันกับเมือง เป็นที่ตั้งของ โรงไฟฟ้าถ่านหินโยโกสุกะ ที่เพิ่งเริ่มเดินเครื่องอีกครั้งในปี 2023 หลังปิดตัวลงมากว่า 20 ปี โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีขนาดราว ๆ 1 ใน 3 ของเมืองคุริฮามะ ชาวเมืองที่อาศัยอยู่ข้างเคียงเริ่มได้รับผลกระทบจากมลภาวะที่มองไม่เห็น

แผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโยโกสุกะ ได้รับการเสนอขึ้นในปี 2016 และเริ่มเข้าสู่กระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ในปีเดียวกัน ก่อนที่การก่อสร้างจะเริ่มขึ้นในปี 2019 ในปัจจุบัน โรงไฟฟ้าแห่งนี้ดำเนินการด้วยถ่านหิน โดยตั้งอยู่บนพื้นที่ของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำมันเก่าที่เคยถูกใช้งานมาก่อน
ริคุโระ ซูซูกิ ชาวเมืองคุริฮามะ และนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมที่ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้ บอกกับ The Active เกี่ยวกับการต่อสู้ที่ยาวนานของกลุ่มชาวบ้าน โดยตั้งแต่ปี 2016 ที่กระบวนการดำเนินการเริ่มต้นขึ้น ทางกลุ่มได้พยายามท้วงติงถึงความไม่เหมาะสมของโครงการนี้ แต่ผลการประเมิน EIA ก็ได้เสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายน 2018 โดยกระทรวงเศรษฐกิจฯ (METI) กลับมีมติว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ไขแผน และออก ‘หนังสือแจ้งการยืนยัน’ อนุญาตให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้
เหตุผลที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ถูกตั้งอยู่ใกล้เขตที่อยู่อาศัย เป็นเพราะโรงไฟฟ้าเก่าที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1960 ขณะนั้น กฎหมายยังไม่มีข้อจำกัดด้านระยะห่างจากชุมชน กลุ่มชาวบ้านไม่อาจยอมรับกระบวนการที่ไม่เป็นธรรมนี้ได้ จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการยืนยันดังกล่าวในเดือนพฤษภาคม 2019 และต่อสู้คดีไปจนถึงศาลสูงสุด แต่สุดท้ายในเดือนตุลาคม 2023 ศาลกลับตัดสินให้ยกฟ้อง
“แม้จะมีหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม แต่ระบบการประเมินผลกระทบกลับพิจารณาเพียงว่าโรงไฟฟ้าผ่านเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แม้โรงไฟฟ้าจะ ผ่านมาตรฐาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันปลอดภัย”
ริคุโระ ซูซูกิ

กำเนิด ‘โรคหอบหืดคุริฮามะ’
ภัยไข้เจ็บจากมลภาวะที่ถูกเรียกโดยชื่อเมือง
“นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของโยโกสุกะ แต่เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทั้งจังหวัดคานางาวะ รวมถึงเมืองใกล้เคียงอย่างโยโกฮามะ และคาวาซากิที่กำลังเผชิญปัญหามลพิษ”
เสียงสะท้อนของ มากิโกะ คิชิ ชาวเมืองคุริฮามะ และนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมที่ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกคน ซึ่งเธอไม่ใช่คนในพื้นที่นี้โดยกำเนิด แต่คนที่เติบโตที่นี่ เล่าว่า ตอนที่โรงไฟฟ้าถูกสร้างขึ้นใหม่ ๆ ทั้งเมืองอยู่ในบรรยากาศของการเฉลิมฉลอง เด็กประถมทุกคนพากันไปทัศนศึกษาโรงไฟฟ้า มีการแจกของที่ระลึก จนใครต่อใครต่างยินดีที่มีโรงไฟฟ้าแห่งนี้ขึ้น
“แต่ในขณะเดียวกัน ก็เกิดปัญหาที่เรียกว่า โรคหอบหืดคุริฮามะ ที่แพร่กระจายไปทั่วแถวนี้ ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพเป็นจำนวนมาก จนถึงขนาดที่มีชื่อโรคนี้ถูกตั้งขึ้นมาเลยทีเดียว แต่ถึงอย่างนั้น โรงไฟฟ้าที่นี่ก็กลับเริ่มดำเนินการไปอย่างเงียบ ๆ”
มากิโกะ คิชิ

หลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะในปี 2011 หลายประเทศทั่วโลกเลือกที่จะลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ เยอรมนีตัดสินใจปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด แต่ญี่ปุ่นกลับเดินหน้าฟื้นฟูโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และสร้างแห่งใหม่ สำหรับ คิชิ เธอยอมรับว่า มันน่าเจ็บใจที่ญี่ปุ่นไม่เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต พร้อมย้ำว่าประชาชนต้องส่งเสียงให้ดังขึ้นเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย
แม้ว่าการชุบชีวิตโรงไฟฟ้าถ่านหินโยโกสุกะจะมีการพูดถึงเรื่องนี้ในขั้นตอนของการประเมิน EIA แต่กระบวนการดังกล่าวกลับมีความไม่สมบูรณ์ เพราะตามหลักแล้ว ควรมีการพิจารณาทั้งแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติและถ่านหินก่อนตัดสินใจ แต่ในความเป็นจริง กลับไม่มีการเปรียบเทียบใด ๆ และแผนการสร้างโรงไฟฟ้าก็ถูกกำหนดให้ใช้ถ่านหินตั้งแต่ต้น
แผนชุบชีวิตโรงไฟฟ้าถ่านหิน
เซ่นปม เหตุรั่วไหลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ
แม้โรงไฟฟ้าจากถ่านหินจะมีผลกระทบที่ควบคุมได้ยาก แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงมุ่งหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ตามรายงาน Stranded Assets and Thermal Coal in Japan: An analysis of environment-related risk exposure โดย Ben Caldecott ผู้อำนวยการโครงการ Sustainable Finance Programme แห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุว่า ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 แห่งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 19 กิกะวัตต์ ขณะเดียวกัน ยังมีโรงไฟฟ้าอีก 49 แห่งที่อยู่ในขั้นตอนการวางแผน ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 28 กิกะวัตต์
โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศญี่ปุ่น ได้ถูกเสนอขึ้นโดยใช้เหตุผลว่า “ไฟฟ้าไม่เพียงพอ” รวมถึงโรงไฟฟ้าแห่งนี้เองก็เช่นกัน ซูซูกิ เปิดเผยว่า การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ถูกลดทอนขั้นตอนลง เพราะจำเป็นต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อป้องกันวิกฤตพลังงาน อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ มีการเปิดโปงว่า JERA บริษัทพลังงานรายใหญ่ของญี่ปุ่น มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าเพียงพออยู่แล้ว แต่กลับไม่ปล่อยพลังงานเข้าสู่ตลาด ทำให้เกิดการขาดแคลนเทียม และนำไปสู่การปั่นราคาไฟฟ้าให้สูงขึ้น
เมื่อกุมภาพันธ์ปี 2568 ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศระดับชาติ (NDC) ฉบับปรับปรุงใหม่ไปยังสหประชาชาติ โดยระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าที่จะลดก๊าซเรือนกระจกลง 60% ภายในปี 2035 แม้ว่ารัฐบาลจะได้รับความคิดเห็นจากประชาชนมากกว่า 80% ที่เรียกร้องให้กำหนดเป้าหมายสูงขึ้น ขณะที่การวิเคราะห์ล่าสุดของ Climate Action Tracker ชี้ว่า ญี่ปุ่นควรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 81% ภายในปี 2035
“ผมเชื่อว่าเราจะต้องผลักดันให้รัฐบาลเพิ่มเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะเป้าหมายปัจจุบันที่รัฐบาลประกาศออกมายังไม่เพียงพอ และพวกเราไม่อาจยอมรับได้”
ริคุโระ ซูซูกิ

นี่จึงไม่ใช่ปัญหาของเมืองโยโกสุกะเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วทั้งจังหวัดคานากาวะ และทั่วโลก
ซูซูกิ บอกอย่างน่าเสียดายว่า ครั้งหนึ่งญี่ปุ่นเคยเป็นผู้นำด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม แต่ตอนนี้ล้าหลังมาก เราหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่กลับเลือกที่จะเดินหน้าสู่การพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ จนทำให้เทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนถูกละเลยและตามหลังประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าด้วยศักยภาพของญี่ปุ่น ถ้ามีความตั้งใจ ย่อมสามารถก้าวไปสู่ระบบพลังงานที่ยั่งยืนได้แน่นอน
บทส่งท้าย : บทเรียนจากญี่ปุ่นที่ไทยไม่จำเป็นต้องเดินตาม
ไทยและญี่ปุ่นได้ลงนามความร่วมมือด้านพลังงานตั้งแต่ปี 2022 และในปี 2023 ญี่ปุ่นยังเป็นผู้นำโครงการ Asia Zero Emission Community (AZEC) เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตาม หลายโครงการภายใต้ความร่วมมือนี้ยังคงเกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ความร่วมมือด้านก๊าซ LNG, การศึกษาการเผาไหม้ถ่านหินร่วมกับแอมโมเนีย และการพัฒนาเทคโนโลยีกังหันก๊าซที่ใช้ไฮโดรเจน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามว่า เรากำลังก้าวสู่พลังงานสะอาดจริงหรือไม่ ?
ตั้งแต่ปี 2016 ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) ได้อัดฉีดเงินกว่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายธุรกิจก๊าซฟอสซิล ซึ่งมากกว่างบฯ ที่ญี่ปุ่นบริจาคให้กองทุนภูมิอากาศสีเขียวถึง 4 เท่า อีกทั้งญี่ปุ่นยังเตรียมลงทุนอีก เกือบ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิล แม้จะให้คำมั่นกับกลุ่ม G7 ว่าจะเลิกสนับสนุนพลังงานประเภทนี้แล้วก็ตาม
ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าก๊าซ LNG 2 แห่งในมาบตาพุดที่ได้รับการสนับสนุนจาก JBIC ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรสิ่งแวดล้อม Friends of the Earth Japan ว่ากระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและวิถีชีวิตชาวประมงในพื้นที่ ทำลายเศรษฐกิจของวิถีชุมชนเดิม ทว่าจนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีการชดเชยให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

สิ่งที่เรากำลังจะเดินตามรอยญี่ปุ่น คือ ไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าถึง 58% โดยกว่าครึ่งมาจาก LNG นำเข้าจากเมียนมา ปัญหาคือ LNG มีต้นทุนสูงและราคาผันผวนตามตลาดโลก ทำให้ค่าไฟพุ่งสูงขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นแผน PDP2024 และ Gas Plan 2024 ยังคงให้ก๊าซเป็นพลังงานหลักของชาติ และเพิ่มการนำเข้า LNG เป็น 43% ภายในปี 2580 ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางพลังงานและเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของประเทศ
นี่จึงอาจเป็นจุดที่ไทยไม่จำเป็นต้องเดินตามรอยญี่ปุ่น รัฐบาลควรทบทวนแผน PDP2024 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานสะอาด หนึ่งในแนวทางแก้ไขคือ การเปิดตลาดไฟฟ้าเสรี ให้ทุกคนสามารถผลิตและใช้พลังงานไฟฟ้าในชุมชนของตัวเองอย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นก็มีโมเดลที่ไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้ เช่น Agrivoltaics ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เสริมความมั่นคงทางอาหาร และพัฒนาพลังงานสะอาดไปพร้อมกัน
อ่านเพิ่มเติม : Agrivoltaics : ปลูกผักใต้แผงโซลาร์ ทำนาแสงอาทิตย์ พลิกวิกฤตความมั่นคงทางพลังงาน