ไม่ว่าจะเรียกเป็น คำมั่นสัญญา หรือเป็นเพียงคำพูดตามแบบฉบับของนักการเมือง แต่ประโยคที่ออกจากปากของ “สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ก็พอทำให้เห็นว่า อย่างน้อยเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ กำลังอยู่ในสายตาของผู้กำหนดนโยบายอย่างเธอ
“ปุ๋ง” คือ ชื่อเล่นและเป็นคำเรียกที่ สุดาวรรณ ใช้แทนตัวเองอยู่บ่อย ๆ เธอเรียนจบวิศวะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เคยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นธุรกิจของที่บ้าน
เพราะอยู่ในครอบครัวนักการเมือง เป็นลูกสาวของ “กำนันป้อ” วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล อดีต รมช.คมนาคม และ รมช.พาณิชย์ สมัยรัฐบาลประยุทธ์ เธอจึงได้เจริญรอยตามพ่อ ก้าวเข้าสู่วงการการเมืองเต็มตัว ภายใต้สังกัดพรรคเพื่อไทย
หลังการเลือกตั้งปี 2566 สุดาวรรณ ได้เข้าสภาฯ ในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพียงแค่ลงเล่นการเมืองสมัยแรก ยิ่งไปกว่านั้นยังได้รับความไว้วางใจให้นั่งตำแหน่ง รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในรัฐบาลเศรษฐา 1 และภายหลังการปรับ ครม. ของรัฐบาลเศรษฐา 1/1 เธอก็ถูกโยกมานั่งดูแล กระทรวงวัฒนธรรม
3 เดือนกว่า ๆ กับบทบาทหน้าที่ในฐานะเจ้ากระทรวงวัฒนธรรม รมต.ปุ๋ง ยอมรับว่า เป็นงานท้าทาย โดยเฉพาะการเชื่อมร้อยทุกมิติความหลากหลายของผู้คนให้เกี่ยวโยงเข้ากับวิถีวัฒนธรรม ประเพณี และชีวิต นั่นทำให้ประเด็นของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งถือเป็นอีกมิติความหลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรม ที่อยู่ภายใต้การดูแลของนักการเมืองไฟแรงคนนี้ น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
เพื่อให้เข้าถึงในสิ่งที่แทบไม่เคยได้สัมผัส รมต.ปุ๋ง จึงวางแผนลงพื้นที่ทำความรู้จักกลุ่มชาติพันธุ์ให้มากขึ้น โดยเริ่มชิมลางพื้นที่แรกที่ชุมชนปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า และชุมชนอาข่า บ้านผาฮี๊ ต.โป่งงาม อ.แม่สายจ.เชียงราย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นช่วงโอกาสของการ ครบรอบ 14 ปี มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 “แนวนโยบายในการคุ้มครองวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง” ที่ถูกยกให้เป็นแนวนโยบายสำคัญ จุดประกายการยอมรับการมีตัวตน และความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทย
อ่านเพิ่ม : รมว.วัฒนธรรม ลงพื้นที่คุ้มครองฯ ชาติพันธุ์แห่งแรก บ้านห้วยหินลาดใน
The Active ติดตามลงพื้นที่ในภารกิจนี้ พร้อมทั้งมีโอกาสได้สนทนาเปิดใจกับ รมต.ปุ๋ง กับคำถามว่าอะไร ? คือเป้าหมาย นโยบาย และความท้าทายของการขับเคลื่อนงานมิติวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์
‘กระทรวงวัฒนธรรม’ บนความหลากหลาย
ความท้าทายใหม่…ที่พร้อมปรับตัว
หลังได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดูแลกระทรวงวัฒนธรรม เธอยอมรับกับเราว่า ตื่นเต้นและมองเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้ ได้มีโอกาสทำงานที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามาได้ระยะนึง แต่เดิมก็เคยทำงานกับกระทรวงวัฒนธรรมมาอยู่บ้าง พอได้มาอยู่ มารับผิดชอบดูแลกระทรวงวัฒนธรรม ก็ได้เห็นแล้วว่า ค่อนข้างหลากหลายมิติมาก แต่ก็พร้อมจะปรับตัวและทำงานเต็มที่
“บางคนอาจคิดว่ากระทรวงวัฒนธรรมมีเฉพาะอะไรที่โบราณ ๆ รึเปล่า ก็ไม่เชิงนะคะ มีทั้งประเพณี การดูแลศิลปิน ภาพวาด หรือว่าเรื่องดนตรีต่าง ๆ ทั้ง ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีสมัยใหม่ กระทรวงวัฒนธรรมเองก็มีงานที่ค่อนข้างหลากหลายมาก ๆ ยังรวมไปถึงมิติความหลากหลายของผู้คน อย่างกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เราต้องให้การคุ้มครองสนับสนุนดูแล เพื่อให้มีความเท่าเทียม”
รมต.ปุ๋ง ยอมรับในบทบาทใหม่
จากเด็กวิศวะ – เจ้าของโรงงาน…สู่การดูแล ‘กลุ่มชาติพันธุ์’
อย่างที่ทราบ รมต.ปุ๋ง จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เธอยอมรับ หลายคนอาจจะคิดว่า หลักคิดก็จะค่อนข้างเป็นตรรกะตรงไปตรงมา อย่าง 1+1 เป็น 2 แต่จริง ๆ แล้วในการใช้ชีวิต หลักการตรงนี้ก็เป็นเพียงหนึ่งส่วนที่นำมาใช้ชีวิตเท่านั้น และจากประสบการณ์ก่อนจะเข้าสู่เส้นทางทางการเมือง ก็มีโอกาสเข้ามาดูแลโรงงานของครอบครัว เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท แป้งมันเอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม จำกัด แต่ตอนที่ทำงานในโรงงาน ส่วนใหญ่ก็จะมีโอกาสไปอยู่กับชาวบ้าน อยู่กับพี่น้องเกษตรกร ได้พบเจอคนเยอะอยู่แล้ว ดังนั้นจึงมีความคุ้นเคยกับผู้คน
การที่ตั้งใจและได้มาเยี่ยมเยียนกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างครั้งแรก ที่ ชุมชนปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน และ ชุมชนชาวอาข่า ที่บ้านผาฮี๊ จ.เชียงราย ก็ไม่ต่างกัน อาจจะต่างกันในวิถีการใช้ชีวิต ถือว่าได้มาเรียนรู้สิ่งใหม่ และนำไปปรับใช้ในชีวิตและการทำงานได้
เพราะข้อมูลบนโต๊ะ ไม่เท่าการลงมาสัมผัส
นี่คือเหตุผลสำคัญที่ รมต.ปุ๋ง ยืนยัน หลังถูกตั้งคำถามว่าทำไม ? ต้องลงพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ เธอเชื่อว่า การได้ลงพื้นที่จริง จะได้สัมผัสและพูดคุยกับผู้คนในพื้นที่จริง ๆ เจอกลุ่มชาติพันธุ์ตัวจริง พวกเขาสามารถสื่อสารมาได้โดยตรง ทั้งเรื่องความเป็นตัวตน ได้เห็นวิถีวัฒนธรรม ไปจนถึงปัญหา ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่พวกเขาเผชิญ ที่สำคัญเป็นการสื่อสารกันสองฝั่งได้ทันทีและชัดเจน อันนี้จึงเป็นความตั้งใจที่อยากมาคุย อยากมาฟัง อยากมาเห็นด้วยตัวเอง
และอย่างที่ทราบกันว่า ประเทศไทย มีกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 60 กลุ่ม เกือบ 7 ล้านคน อยู่ในแต่ละภาค และหลายกลุ่มมาก ๆ ใจจริงอยากไปให้ครบทุกภาค ตอนนี้มาครั้งแรกทางภาคเหนือ ใน จ.เชียงราย ได้ไป 2 ชุมชน คือ ชุมชนปกาเกอะญอ และ ชุมชนอาข่า ซึ่งก็มีทั้งความแตกต่าง และความเหมือนกัน
“การลงมาพื้นที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ ก็ได้ทราบว่า แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีความต้องการ มีความหลากหลาย มีวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ถึงแม้ว่าความเป็นอยู่บนพื้นที่ภูเขาคล้ายกัน แต่ว่าในการดำเนินชีวิต หรือว่า วิถีชีวิตที่เขาใช้ ก็ไม่เหมือนกัน และสิ่งที่เขายังขาด หรือว่าต้องการการสนับสนุนจากเราก็ไม่เหมือนกันด้วย อย่างชุมชนปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน ก็มีติดขัดประเด็นการใช้พื้นที่ทำไร่หมุนเวียน ซึ่งชาวบ้านพยายามอธิบายว่า เป็นพื้นที่ตามวิถีดั้งเดิมอย่างไร ติดปัญหาอย่างไร อยากให้รัฐผลักดันอย่างไร ส่วนในชุมชนอาข่า ก็จะเป็นอีกคนละรูปแบบ ที่เขามีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ด้านผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ต้องสนับสนุนต่างกัน และมีวิถีชีวิตไม่เหมือนกัน”
รมต.ปุ๋ง ขยายความ
ทำการบ้าน…วางแนวทางแก้ปัญหาให้กลุ่มชาติพันธุ์
ในระหว่างที่ลงพื้นที่ฟังเสียงสะท้อนกลุ่มชาติพันธุ์ เราสังเกตเห็นว่า รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมจดบันทึกข้อมูลในระหว่างรับฟังชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง แล้วเธอจดอะไร ?
“อยากที่ปุ๋งบอกว่า มีความหลากหลายมาก อย่างชุมชนปกาเกอะญอ ที่ไปบ้านห้วยหินลาดในไม่มีสัญญานโทรศัพท์ ไฟฟ้าก็ไม่มี และทางชุมชน พยายามอธิบายว่า จริง ๆ แล้ว เขาตั้งใจจะอยู่ในผืนป่า ผืนดิน และก็อยู่ได้โดยที่ไม่ขยายหรือรบกวนบริเวณมากขึ้นด้วยค่ะ ก็จะอธิบายว่าใช้พื้นที่เท่าไร และอยู่กันยังไง ด้วยความที่ทำงานเยอะไปหลายพื้นที่ ก็ไม่อยากที่จะหลุดข้อมูลในส่วนไหนออกไป”
“ก็เลยพยายามจดทุกประเด็น เพราะว่าบางครั้งฟังอย่างเดียว จำได้ไม่หมดหรอก ก็เลยพยายามจดให้ครบทุกประเด็นเอาไว้ ก็จะเอากลับไปทำการบ้าน ก็พยายาม ส่วนไหนผลักดันได้เร็วก็อยากจะทำ และส่วนไหนที่จะเป็นหนึ่งในตัวกลางที่จะไปติดต่อกับผู้เกี่ยวข้อง อื่น ๆ เพราะว่าจริง ๆ เรื่องชาติพันธุ์ ก็ไม่ใช่แต่กระทรวงวัฒนธรรมหน่วยเดียว เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานด้วย ก็เลยต้องโน้ตไว้เยอะหน่อย”
รมต.ปุ๋ง ให้คำตอบ
ชุมชนชาติพันธุ์ กับความประทับใจ
รมต.ปุ๋ง ตอบด้วยรอยยิ้มโดยรู้สึกว่า ทุกกลุ่มชาติพันธุ์พยายามที่จะอยู่ร่วมกับพื้นที่ที่เขาใช้ชีวิตอยู่จริง ๆ แล้วก็ใช้ชีวิตด้วยกัน แบบบูรณาการพึ่งพากัน อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มและพึ่งพากันในหมู่บ้านจริง ๆ ยกตัวอย่าง ชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน ไม่ว่ารายได้อะไรก็ตามที่ทางชุมชน หรือกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ สามารถสร้างรายได้ขึ้นมาได้ เขาจะปันส่วนหนึ่งเข้าส่วนกลาง เพื่อที่จะใช้ทุนก้อนนี้ ในการพัฒนา หรือว่าดูแลชุมชนตนเอง ถือว่าอันนี้เป็นความเข้มแข็งของกลุ่มชาติพันธุ์ และก็ไม่ต้องรอให้ใครที่จะต้องมาดูแล ถือว่าเป็นความเข้มแข็ง เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ
“จริง ๆ ตัวเองค่อนข้างเซอไพรส์เหมือนกัน เพราะว่ากลุ่มชาติพันธุ์ห้วยหินลาดใน เขาอยู่กันแค่ 100 กว่าคน กว่า 60 หลังคาเรือน แต่แนวคิดการใช้ชีวิต การดำเนินชีวิต ค่อนข้างทันสมัยมาก คือเขาพยายามดูแลตัวเองให้ได้ก่อน เหมือนกับไม่ว่าใครก็ตามที่มีรายได้ เขาจะต้องหักไว้ส่วนหนึ่ง นี่ปุ่งถือว่าทันสมัยมากนะ เพื่อที่จะดูแลกลุ่มตัวเองให้อยู่รอด และมีความสุขในกลุ่มตัวเอง หลัก ๆ เขามุ่งเน้นที่จะพึ่งพาตนเอง และหลังจากนั้น ก็จะเป็นการทำสินค้าผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรที่เขาร่วมจัดการดูแล”
รมต.ปุ๋ง สะท้อนภาพความประทับใจ
เปิดมุมมองใหม่ สร้างความเข้าใจ ลบล้าง ‘อคติ’ ชาติพันธุ์
แต่ต้องยอมรับว่าจากข่าวและข้อมูลที่ยังถูกนำเสนอเชิงลบแบบเหมารวมว่ากลุ่มชาติพันธุ์ค้ายาเสพติด ขี้เกียจ รอรับแต่การสงเคราะห์ และทำลายป่า จึงยังคงมีอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ สำหรับประเด็นเหล่านี้ รมว.กระทรวงวัฒนธรรม จึงตั้งใจเป็นอีกเสียงสะท้อน ที่หวังสร้างความเข้าใจใหม่ ไม่เหมารวมและลดอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์
“ปุ๋งไม่แน่ใจนะคะ ว่าตอนนี้คนทั่วไปมองยังไงกับเรื่องชาติพันธุ์ แต่สิ่งที่ได้สัมผัสและรับรู้จากการลงพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์เพียงครั้งแรก ทั้ง 2 ชุมชน ต้องบอกว่าประทับใจการพึ่งพาตนเองของชาวบ้านมาก ๆ เขาพยามใช้ทุกอย่างในสิ่งที่ตนเองมี รวมทั้งการรวมกลุ่มกัน เพื่อความอยู่รอด นอกจากอยู่รอดแล้วเนี่ย ยังพัฒนาพื้นที่ที่ตนเองอยู่ และก็หาวิธีรักษาพื้นที่ที่ตนเองอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ชาวปกาเกอะญอ เขาพยายามใช้พื้นที่ทำเกษตรตามวิถี โดยเมื่อทำเสร็จในรอบ 1 ปี จะพักฟื้นพื้นที่ ให้ได้พื้นคืนธรรมชาติ หรือป่าไปอีก 7 ปี และค่อยวนกลับมาใช้ใหม่”
“เดิมปุ๋งเคยเข้าใจว่า นั่นคือ ไร่เลื่อนลอย แต่จริง ๆ เขาเรียกว่า ไร่หมุนเวียน ซึ่งคนละความหมายกันเลย เราเข้าใจแล้วและอย่างที่มาชุมชนอาข่า ก็มีศักยภาพในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ปีนึง 40 ล้าน ถือว่าเยอะมาก ยังมีคนเข้ามาท่องเที่ยวอยู่เรื่อย ๆ ก็ถือว่าแต่ละชุมชนอาศัยและดูแลพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ ช่วยเหลือตัวเองได้ดีมาก ๆ เลยค่ะ”
สำหรับกระทรวงวัฒนธรรม ตอนนี้ก็เป็นหนึ่งในกระทรวงหลัก ๆ โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ทื่เสนอกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ เป้าหมายคืออยากลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเท่าเทียมให้กับทุกกลุ่มชาติพันธุ์
“อยากให้มีความเสมอภาคบนความเท่าเทียม โดยร่างกฎหมายชาติพันธุ์ ก็พยายามทำให้ครอบคลุมที่สุด อยากให้เป็นก้าวแรก อยากผลักดันให้เร็วที่สุด จะผลักดันให้ประสบความสำเร็จในเร็ว ๆ นี้ “
“และอีกส่วนหนึ่งที่เราทำได้ คือสามารถที่จะช่วยพัฒนาเรื่องผลิตภัณฑ์ของแต่ละกลุ่มที่มีจุดเด่นไม่เหมือนกัน คือยกระดับเป็น Cpot หรือ ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนรรรม แล้วก็หาวิธีช่วยในการกระจายและสร้างรายได้ คือเอาทุนวัฒนธรรมของเขามาสร้างรายได้ให้แต่ละชุมชน เพื่อให้เขาอยู่ได้ หรือแม้แต่ประสานกับหน่วยงานอื่น อย่างในส่วนของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งซอฟต์พาวเวอร์ คือสื่งที่เราเห็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หรือว่าวัฒนธรรมต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์ทั้งหมด ก็อยากร่วมผลักดันให้มากที่สุด”
รมต.ปุ๋ง เผยความตั้งใจ
ถึงตรงนี้ รมว.วัฒนธรรม ยอมรับว่า จริง ๆ แล้วมีหลายมิติมากที่เรื่องท่องเที่ยว กับ วัฒนธรรมแทบแยกกันไม่ออกเลย จึงหวังว่า ผลผลิตของชาติพันธุ์ จะเป็นหนึ่งในวัตถุดิบ ที่จะส่งต่อให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้เอาไปต่อยอดให้กับทั้งคนไทย และต่างชาติ จะได้ช่วยกันมาเพิ่มรายได้ และเพิ่มนักท่องเที่ยว ให้กับประเทศไทยเยอะ ๆ
มองเห็นเป้า และความมุ่งหมายของ รมว.กระทรวงวัฒนธรรมคนนี้กันไปแล้ว จากนี้เป็นหน้าที่ของสังคมชาติพันธุ์ คงได้ร่วมกันจับตาแนวนโยบาย และการลงมือปฏิบัติจริงว่าจะเกิดขึ้นได้จริงจังแค่ไหน ?
การเข้ามาดูแลในมิติการคุ้มครอง ส่งเสริม และแก้ไขปัญหาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต รวมทั้งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ให้เข้มแข็งนับแต่นี้ จะปรากฎเป็นรูปธรรม หรือเป็นแค่คำพูด…นี่คือบทพิสูจน์สำคัญของรัฐมนตรีที่ชื่อ สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล