จิตวิญญาณชาวเล วิถีชีวิตที่ต้องถูกคุ้มครอง

“พิธีกรรม” ที่ยึดโยงชาวเลไว้ด้วยกัน

การเดินทางสู่หมู่บ้านท่าฉัตรไชย หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ชุมชนบ้านแหลมหลา ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ที่ถูกใช้เป็นพื้นที่จัดงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นครั้งแรกของผู้เขียน ที่ได้ลงพื้นที่สัมผัสวิถีของชาวเล

ชุมชนบ้านแหลมหลา เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกลน 137 ครัวเรือน ประชากรราว 700 คน พวกเขาบอกว่าที่อยู่อาศัยตรงนี้ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ

หลังเหตุการณ์สึนามิ พ.ศ. 2547 พื้นที่ชุมชนกลายเป็นที่ราชพัสดุ คนในชุมชนจึงต้องเช่าที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย แต่มีบางส่วนที่ไม่ยินยอมเสียค่าเช่าในส่วนนี้ เพราะต้องการพิสูจน์ว่าพวกเขาคือผู้อยู่อาศัยมาก่อน ทำให้ประสบปัญหาที่แก้ไม่ตก นั่นคือ ปัญหาสิทธิในที่ดินที่อยู่อาศัย รวมถึงการเข้าถึงสาธารณูปโภค ทั้งน้ำและไฟฟ้า ซึ่งต้องต่อสายพ่วงจากภายนอก อีกทั้งยังทำให้พวกเขาตกอยู่ในสถานะที่เปราะบางและเข้าไม่ถึงสิทธิอื่น ๆ

การเข้ามาในชุมชน ทำให้เห็นปัญหาที่คนภายนอกอาจมองไม่เห็น ว่าชุมชนที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติ ทั้ง ภูเขา หาดทราย และทะเล ต้องอยู่กับปัญหาเหล่านี้

อีกสิ่งที่ได้สัมผัสถึงความเป็นชาวเล คือ พิธีกรรมความเชื่อของชาวเล ซึ่งชาวชุมชนบ้านแหลมหลาสืบทอดต่อกันมายาวนาน ไม่ต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ที่พิธีกรรมและความเชื่อได้ทำหน้าที่ยึดโยงลูกหลานชาวเลไว้ด้วยกัน

The Active ชวนอ่านการอยู่ร่วมกับความเชื่อของ ‘ชาวเล’ และการคงอยู่ของของพิธีกรรม แม้ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ความเชื่อของท้องถิ่นยังคงสำคัญกับผู้คน ผ่านมุมมองของชาวเลมอแกลน

จิตวิญญาณชาวเล

อาจกล่าวได้ว่าจิตวิญญาณของชาวเล ส่วนหนึ่งผูกไว้กับบรรพบุรุษของพวกเขา ทั้งวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งที่ชุมชนบ้านแหลมหลายังมีผู้สืบทอดการทำพิธีกรรมดั้งเดิมของชาวเลเอาไว้ และถือเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของคนในชุมชน

‘หลัก กินหลา’ วัย 73 ปี ผู้ที่เกิดและเติบโตในชุมชนบ้านแหลมหลา และสืบทอดการเป็นหมอทำพิธีต่อมาจากรุ่นพ่อและลุง ทั้งทำหน้าที่เป็นผู้นำในพิธีกรรม และรักษาอาการเจ็บป่วยตามความเชื่อ

ชายสูงวัยท่าทางใจดี ยินดีบอกเล่าเรื่องความเชื่อของชาวเลมอแกลนให้เราฟัง เมื่อถามถึงประเพณีที่ชาวเลมอแกลนในชุมชนทำสืบทอดกันมา สิ่งแรกที่เขาบอก คือ “การสะเดาะเคราะห์” ซึ่งการสะเดาะเคราะห์ก็มีประเพณีอยู่สองอย่าง คือ “ประเพณีลอยเรือ” และ “ประเพณีนอนหาด” นอกจากนั้นก็มีการบูชาบรรพบุรุษหรือที่คนในชุมชนมักเรียกว่า การทำตายายถ้วย คือการนำเครื่องเซ่นไหว้ไปบูชาบรรพบุรุษ ซึ่งต้องทำเป็นประจำทุกปี และอีกหนึ่งสิ่งยึดโยงอยู่กับความเชื่อของชาวเล คือ ‘การแก้เหมรย’ หรือในภาษากลางเรียกว่า ‘การแก้บน’ นั่นเอง ซึ่ง หลัก กินหลา บอกว่าพิธีการแก้เหมรย สามารถช่วยแก้หรือทำพิธีให้กับผู้ที่มาขอความช่วยเหลือได้

แม้ในวันรวมญาติชาวเลจะไม่ได้ตรงกับวันที่ทำพิธีลอยเรือจริง ๆ แต่ก็มีชาวบ้านมาร่วมกันทำเรือลำเล็ก ไม่ใหญ่มาก จากหยวกกล้วย ไม้ระกำ ไม้ไผ่  มีการทำใบเรือด้วยผ้าลายสีแดงขาว กลุ่มชายนับสิบคนช่วยกันประกอบเรือให้ทันเวลา ก่อนจะถึงวันงานรวมญาติชาวเล ทั้งเลื่อยไม้ ตอกตะปู และขึงผ้า ท่าทางของพวกเขาดูทะมัดทะแมง และมีฝีมือความเป็นช่าง

พอถึงช่วงค่ำในงานรวมญาติชาวเล “เรือพิธีกรรมมอแกลน บ้านแหลมหลา” หรือ “กาบางลาย้าน” ก็ถูกตั้งโชว์กลางลานกิจกรรม พร้อมประดับกับเทียนที่จุดไฟ ดอกดาวเรืองสีเหลือง และดอกกุหลาบสีแดง รอบ ๆ มีอุปกรณ์การทำประมงวางไว้ด้านข้าง ทั้ง ‘ลอบดักหมึก’ หรือ ‘บูบัยมี่หมึก’ ‘ลอบดักปู’ หรือ ‘กือหยองกือตาม’  ‘ลอบดักปลา’ หรือ ‘บูบัยแอกาน’ สื่อถึงวิถีชีวิตและความผูกพันที่ชาวเลมีต่อท้องทะเล

นอกจากชาวเลมอแกลน ชุมชนบ้านแหลมหลา ยังมีชาวเลจากจังหวัดอื่น ๆ มาร่วมงานในครั้งนี้ ทั้งจากจังหวัดระนอง กระบี่ สตูล และพังงา มีกิจกรรมการแสดงดนตรีจากศิลปิน รวมถึงการทำพิธีผูกข้อไม้ข้อมือให้กับแขกเหรื่อที่มาร่วมงานครั้งนี้ ซึ่งก็มีผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชนเป็นผู้ผูกให้

ชาวเลมอแกลน และความเชื่อ

สำหรับประเพณีลอยเรือ จะจัดขึ้นในวันขึ้น 13-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ ของเดือน 6 และเดือน 11 โดยใช้เวลาในการทำพิธี 4 วัน เป็นประเพณีทางความเชื่อของชาวเล ประกอบขึ้นเพื่อเป็นการขับไล่สิ่งไม่ดีให้ออกไปจากหมู่บ้าน โดยใช้เรือในการลอยนำสิ่งไม่ดีออกไป และเป็นการบูชาขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องลูกหลานชาวเล

จากคำบอกเล่าของผู้นำทางพิธีกรรมของชุมชน เขาบอกว่า ประเพณีลอยเรือ ทำเป็นประจำทุกปี ถ้าไม่ทำอาจส่งผลให้คนในหมู่บ้านมีอาการเจ็บป่วย ไม่สบาย อย่างหาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งในส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อ อีกนัยสำคัญหนึ่งคือเป็นการส่งวิญญาณให้ไปสู่อีกภพภูมิหนึ่ง โดยเป็นความเชื่อว่าเรือลำนี้จะพาเหล่าวิญญาณไปส่งที่เกาะ จะได้ไม่ต้องข้องเกี่ยวกับโลกมนุษย์

เช่นเดียวกับ จิ้ม วารี ชาวชุมชนบ้านแหลมหลา ที่บอกว่าการทำพิธีลอยเรือ แต่ละครอบครัวต้องทำกระทงเพื่อวางในเรือ กระทงนั้นจะประกอบไปด้วยตุ๊กตาที่ทำมาจากใบกล้วย ต้องทำให้เท่ากับจำนวนสมาชิกในบ้าน นอกจากนี้ยังต้องมีข้าวสาร พริกไทย กะปิ กระเทียม หอม หมากพลู เศษเล็บ มีด ขวาน ฯลฯ

นอกจากนี้ ผู้ร่วมพิธีจะกำข้าวตอกมาคนละ 1 กำ และนำข้าวตอกไล่ไปตามลำตัว เพื่อไล่สิ่งไม่ดีออกจากร่างกาย หลังจากนั้นก็ทิ้งข้าวตอกลงในเรือ

เมื่อถึงตอนทำพิธี ชาวบ้านจะโห่ร้อง และหมอทำพิธีจะเรียกดวงวิญญาณให้ขึ้นเรือ ซึ่งเชื่อว่าหมอผู้ทำพิธีจะเห็นดวงวิญญาณเหล่านั้น แต่ชาวบ้านจะมองไม่เห็น ซึ่งตามความเชื่อ หากดวงวิญญาณขึ้นเรือ หมายความว่าได้ข้ามไปอยู่เกาะแล้ว เปรียบเสมือนการส่งวิญญาณ ไม่ว่าเรือจะลอยไปติดตรงไหนก็จะไปอยู่ที่ตรงนั้น เมื่อเรือลอยไปค้างอยู่ที่ไหน ก็จะปล่อยทิ้งไว้ไม่ต้องตามไปเก็บ

“ถ้าลอยเรือแล้วไม่ต้องหันกลับไปดู เดี๋ยววิญญาณจะตามกลับมา”

ส่วนประเพณีนอนหาด จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเช่นกันในช่วง 13 – 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นการรวมตัวกันของชาวเลจากหลายพื้นที่ ซึ่งที่จังหวัดภูเก็ต จะจัดขึ้นที่หาดไม้ขาว ที่ ‘โต๊ะหินลูกเดียว’ เชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวมอแกลน ซึ่งจะมีศาลตั้งอยู่บริเวณชายหาดหินลูกเดียว โดยหมอผู้ทำพิธีจะเป็นคนอันเชิญโต๊ะ โดยการนอนหาดนั้นจะนอน 3 ถึง 5 คืน โดยการสร้างเพิงที่พักเล็ก ๆ เป็นที่สำหรับหลับนอนบนหาด เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน และยังทำเพื่อทำนายความเป็นอยู่ในอนาคตของลูกหลานชาวเล นอกจากนี้ พ่อหมอหลัก ยังบอกว่า ผู้คนเชื่อว่าการนอนหาดนั้นสามารถช่วยให้หายจากอาการเจ็บป่วยได้ หรือจะเป็นการทำเพื่อแก้บน

เขามองว่าประเพณีการนอนหาดในปัจจุบันนั้นแตกต่างไปจากในอดีต ทั้งการเดินทางที่สะดวกขึ้น การทำที่พักในการนอนหาด และการแสดงเพื่อถวายโต๊ะหรือพ่อตาหินลูกเดียว สมัยนี้มีขั้นตอนที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ยังหวังว่าประเพณีความเชื่อนี้ยังคงต้องมีต่อไป

ในส่วนของการสืบทอดการเป็นหมอทำพิธีนั้น เขาไม่ได้มีความกังวลว่าในอนาคตจะหมดไป เพราะเชื่อว่ายังไงก็ต้องส่งต่อให้กับน้องชายรับช่วงต่อ เพื่อรักษาความเชื่อของสายบรรพบุรุษ

และในฐานะผู้อาวุโสของชุมชน เพียงแค่เห็นว่าลูกหลานชาวเลอยู่เย็นเป็นสุขก็หายห่วง หากมีอาการเจ็บป่วยก็จะพยายามรักษาให้จนหาย จากภูมิปัญญาและความเชื่อท้องถิ่นที่ตนจะสามารถช่วยได้ และเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ต้องการที่พึ่งทางจิตใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนถึงวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางความเชื่ออย่างหนึ่งของชาวเลมอแกลน

แต่เรื่องราวความเชื่อของชาวเลมอแกลน จังหวัดภูเก็ต ไม่เพียงมีแค่แง่มุมของการสืบสานหรืออนุรักษ์ให้คงไว้ แต่ยังขึ้นอยู่กับความท้าทายอีกด้วย เมื่อพื้นที่การประกอบพิธีกรรมของพวกเขา อย่างหาดไม้ขาว ต้องถูกกั้นลวดหนาม เมื่อนายทุนกำลังเข้ามาในพื้นที่ และกลายเป็นพื้นที่เช่าสัมปทาน จึงเกิดการเรียกร้องต่อรัฐให้เกิดผลกระทบต่อวัฒนธรรมของชาวเล

พื้นที่วัฒนธรรมต้องถูกคุ้มครอง

การเข้ามาของเอกชน อาจไม่ได้นำมาเพียงการพัฒนาหรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่อาจกลายเป็นการเบียดขับพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชาวเล อย่างตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ

“ชีวิตเราเป็นสิ่งพิเศษ มีพิธีกรรม ประเพณี เคารพธรรมชาติ”

ยิ่งเวลาดำเนินไป วิถีชีวิตของชาวเลที่นี่ยิ่งพบกับความท้าทาย ดังนั้น ความร่วมมือในการคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมจึงสำคัญ และไม่ควรละเลย

ปัญหาสำคัญที่พบในเวลานี้คือ ‘ความขัดแย้ง’ ระหว่างทุนเอกชนกับชุมชนชาวเล ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงต่อวิถีชีวิต การสืบทอดประเพณีและพิธีกรรมดั้งเดิม อาจสูญหายเนื่องจากถูกจำกัดพื้นที่ ซึ่งชาวเลหวังว่าภาครัฐจะเข้ามาให้การช่วยเหลือในเรื่องนี้ และปรับเปลี่ยนการทำงานให้ตอบโจทย์กับปัญหาของชุมชน

ในโอกาสงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2566 หนึ่งในชุมชนชาติพันธุ์ชาวเลมอแกลน อย่าง ชุมชนบ้านหินลูกเดียว ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตลำดับที่ 19 ถือว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของชุมชน ที่ได้ร่วมพัฒนาศักยภาพ จัดการข้อมูล และจัดทำแผนบริหารพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งร่วมด้วยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และมูลนิธิชุมชนไท ทำให้พื้นที่ได้แสดงถึงประวัติศาสตร์ของชุมชน และเกิดความภูมิใจในวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ชาวเลมอแกลน สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือในการส่งเสริมของภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน ที่พยายามเข้ามาผลักดันการรักษาอัตลักษณ์และสิทธิในพื้นที่ของชุมชน

แต่นอกจากชุมชนแห่งนี้ ก็ยังมีอีก 10 ชุมชนชาติพันธุ์ชาวเลที่รอการประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตเช่นเดียวกัน ซึ่งมีเป้าหมายว่าจะสามารถทำได้ภายในปี 2567 และเพื่อขยายการเป็นพื้นที่คุ้มครองให้กับอีก 46 ชุมชน ภายในปี 2570 อีกด้วย

สุดท้าย การที่ประเพณีและพื้นที่วัฒนธรรมได้รับการคุ้มครองย่อมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับชาวเล และสามารถก้าวต่อไปเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาที่สะสมมาทีละขั้นตอนร่วมกับหน่วยงานที่เล็งเห็นความสำคัญของชาวเล และไม่อยากปล่อยให้พวกเขาต้องสูญเสียพื้นที่และตัวตน

งานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ปีต่อ ๆ ไป เราคงจะเห็นเรื่องราวบทใหม่ของชาวเล ไม่ว่าพื้นที่ใด ที่สามารถสะสางปัญหาในพื้นที่ และอยู่อย่างยั่งยืนไปกับวิถีชีวิตชาวเลที่พวกเขาภูมิใจ

Author

Alternative Text
AUTHOR

เมธาวี ทวีผล

เรียนมานุษยวิทยา สนใจเรื่องราวทางสังคม อยากปล่อยใจสู่เสรี