“Climate Change” ปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ สาเหตุหลักมาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก จากข้อมูลพบว่าในปัจจุบัน กว่า 72 % ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดขึ้นจากรถยนต์สันดาปภายใน เช่นนั้นแล้ว รถยนต์ไฟฟ้า ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนใช่หรือไม่?
แม้สหภาพยุโรป (EU) ประกาศเลื่อนกำหนดลงมติครั้งสุดท้ายในการเสนอห้ามจำหน่ายรถยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเครื่องยนต์สันดาปจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ภายในปี 2035 ออกไป เนื่องจากมีประเทศสมาชิกบางส่วนเสนอให้มีการทบทวน เพราะมองว่าการแบนรถยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเครื่องยนต์สันดาปจากเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นไม่ใช่ทางออก การบริหารจัดการคาร์บอนให้มีประสิทธิภาพสูงสุดน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่า
แต่กระแสรถยนต์เครื่องยนต์ไฟฟ้า 100 % (Battery Electric Vehicle: BEV) ของประเทศไทยเป็นที่จับตา รถยนต์ไฟฟ้าเติบโตก้าวกระโดด ต้นปี 2566 จดทะเบียนกว่า 14,000 คัน คาดว่าปลายปีจะอยู่ราว ๆ 50,000 คัน
ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ เป็นประเทศหนึ่งที่มีการเติบโตด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มีนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งมีการประกาศให้แหล่งท่องเที่ยวอย่างเกาะเจจูเป็นเกาะคาร์บอนฟรี เพื่อผลักดันให้เป็นตัวอย่างส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
The Active ชวนมองความสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า ทางเลือกใหม่ที่ใช่ สำหรับคนใส่ใจโลก ผ่านการเติบโตด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเกาหลีใต้ กับ รศ.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย
รถยนต์ไฟฟ้า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม?
ถ้าเราพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่มีเครื่องยนต์เลย ที่เราเรียกว่าเป็นไฟฟ้า 100 % หรือเป็น Battery electric vehicle หรือ BEV รถแบบนี้ในเชิงของการปล่อยมลพิษ ท่อไอเสียก็จะไม่มีเลย เรียกว่าเป็น Zero Emissions ขณะเดียวกันประสิทธิภาพที่เป็นการใช้ไฟฟ้า ตัวมอเตอร์ การประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานน้อยลง ก็จะไปช่วย Carbon neutrality หรือการลด การปลดปล่อย CO2 ลงไปด้วย ในบางประเทศ อย่างไทยและเกาหลีใต้ก็คิดคล้าย ๆ กัน คือ นวัตกรรมใหม่ ต่อยอดจากอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่หากมองเรื่องสิ่งแวดล้อม แม้ไม่ปล่อยมลพิษก็จริง แต่ที่มาอย่างไฟฟ้ายังเป็นประเด็น เกิดการตั้งคำถามว่าไฟฟ้ามาจากไหน ซึ่งมักจะถูกถกเถียงกันว่า รถยนต์ไฟฟ้าสะอาดจริงหรือเปล่า? ต้องบอกว่า ถ้าไฟฟ้ามาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็จะเป็นปัญหาว่าเป็นการปลดปล่อยตัว CO2 ที่สูงกว่าในภาพรวมด้วยซ้ำ ฉะนั้น ไฟฟ้าที่ดีก็ควรมาจากแหล่งพลังงานทดแทน พลังงานลม หรือแสงแดด
EU ลงมติบังคับให้รถยนต์ใหม่ทุกคันที่จะออกสู่ตลาดตั้งแต่ปี 2035 ต้องไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลก และตั้งแต่ปี 2030 รถยนต์ทุกคันที่จัดจำหน่ายจะต้องปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง 55 % ทิศทางของยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลกจะเป็นอย่างไร
ผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ เพราะการปลดปล่อย CO2 นอกจากการสั่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมแล้ว ก็มาจากเรื่องของการเดินทาง ฉะนั้น ยานพาหนะที่เดินทางก็สำคัญมาก จริง ๆ จีนก็เป็นอีกหนึ่งประเทศตัวอย่าง มีการขับเคลื่อนด้วยการที่ต้องการให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ EV จึงเป็นอะไรที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมได้ง่าย แต่บางประเทศ อย่างยุโรปก็ค่อนข้างที่จะเข้มงวดเรื่องการปลดปล่อยมลพิษ มีความเข้มงวดด้านมาตรฐานมลพิษ มาตรฐานยูโร 6 ที่จะมีเรื่องการปลดปล่อย CO2 ผู้ประกอบการ OEM (ผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะไปขายในแบรนด์ของตัวเอง) ที่เป็นผู้ผลิตในโลกนี้ จะต้องเตรียมผลิตภัณฑ์รักสิ่งแวดล้อมมากขึ้น บางบริษัทก็ประกาศว่าภายในปีไหนจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเดียว บางบริษัทประกาศเลิกขายรถยนต์น้ำมัน ประเทศไทยมีการประกาศ Carbon neutrality ไว้ว่าเป็น 2050 มีการประกาศ Net Zero Emission ในปี 2065 ตัวยานยนต์การเดินทางเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราไม่ลดตัวนี้ ภาพรวมก็จะลำบาก ลดตัวนี้หมายถึงก็ต้องเปลี่ยนรถยนต์ที่เป็นไฟฟ้ามากขึ้น ขณะเดียวกันเรื่องการใช้ไฟฟ้าในประเทศให้เป็นโซล่าและวินมากขึ้น แต่ปัจจุบันตลาดพลังงานงานทดแทนก็มีราคาที่ลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับสมัย 10-20 ปีก่อน ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าการใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็จะถูกลง ใน 5-10 ปีนี้แน่นอน
เกาหลีใต้กับการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
เกาหลีเองก็มีการ Subsidy (เงินสนับสนุน) ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ บางที่ก็ค่อนข้าง EXTREME อย่างเกาะเจจู ประกาศว่าปี 2030 จะมีรถยนต์ไฟฟ้า 100 % ซึ่งตอนนี้ เขามีรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 300,000 คันในเกาะ ถ้าดูตัวเลขปี 2022 มีรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 30,000 คัน หรือประมาน 10 % คือมีเวลาอีก 8 ปี ในภาพรวมของตลาด บริษัทรถยนต์อย่าง Hyundai หรือ KIA เองก็ปรับตัวเองมาใช้ BEV ซึ่งก่อนหน้านี้เขายังพูดถึงตัว Fuel cells อยู่เลย เหมือนค่ายอื่น ๆในญี่ปุ่นบอกไว้ว่าเป็น Hybrid และ Fuel cells แต่เกาหลีใต้ปรับตัวเร็วมาก เขามี BEV ออกมาหลายโมเดลมาก อาจจะเป็นเพราะความพร้อมของอุตสาหกรรม ถ้าเรารู้จักยี่ห้อแบตเตอรี่อย่าง LG หรือ Samsung เขาก็เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่ใหญ่มากของโลก เป็นอันดับต้น ๆ ของเกาหลี ก็อาจจะทำให้เกาหลีปรับตัวได้เร็วในการที่จะมีโมเดลรถไฟฟ้าออกมา เพราะว่าตัวบริษัทเองมีบริษัทอย่าง LG หรือ Samsung ที่ผลิตแบตเตอรี่อยู่แล้วทำให้เกิดความร่วมมือได้ง่ายขึ้น
เกาะเจจู ประกาศเป็นเกาะคาร์บอนฟรี สนับสนุนให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
การสนับสนุนเงินในเกาหลีใต้ จะมีทั้งระดับที่เป็นรัฐบาลกลางและในระดับเมืองด้วย แต่ถ้าเรามาดูในระดับเกาะอย่างเจจูหรืออูโด คือจากความเป็นเกาะ ก็คิดว่าเหมาะกับรถยนต์ไฟฟ้ามาก ๆ เลย เพราะว่าระยะทางวิ่งของทั้งเกาะ การชาร์จไม่น่าจะมีปัญหา พลังงานวิ่งของรถยนต์ไฟฟ้าในเกาะน่าจะเพียงพอ อย่างเจจูมีเงินสนับสนุนให้เพิ่มจากที่รัฐบาลกลางให้ไปอีก เพื่อให้คนในเจจูอยากที่จะซื้อรถ EV มากขึ้น เป็นแรงจูงใจ
“เหมือนหากเราอยากจะเปลี่ยนรถ ถ้าเราซื้อรถ EV คนใช้รู้สึกว่าสะดวก ไม่ได้มีปัญหาเรื่องสถานีชาร์จ ราคาไม่ได้แตกต่างกับรถน้ำมันเลย คนก็อาจจะอยากเปลี่ยนมาใช้มากขึ้น ประเด็นเดียวที่เขาอาจจะกังวล ก็น่าจะเป็นเรี่องแบตเตอรี่ แต่ด้วยความที่เกาหลีใต้เป็นประเทศผู้ผลิตแบตเตอรี่ เขาอาจจะคิดว่าอย่างไรอุตสาหกรรมก็น่าจะสนับสนุน จึงทำให้เขาเปลี่ยนได้ง่ายขึ้น”
เกาะคาร์บอนฟรี ไทยมีความเป็นไปได้หรือไม่?
เมืองไทยก็มีเกาะให้เลือก เช่น ภูเก็ต สมุย ถ้าถามว่าเป็นไปได้ไหม ก็เป็นไปได้ อย่างภูเก็ตมีทางเชื่อม มีสะพานเชื่อม จริง ๆ ก็เชียร์ อย่างเกาะสมุยให้เป็นเกาะคาร์บอนฟรี คล้าย ๆ เกาะเจจู ถ้าสามารถบริหารจัดการเรื่องของระบบไฟฟ้าได้ คือ ต้องถามว่าสามารถที่จะมีตัวระบบโซล่าและพลังงานลมได้ด้วยตัวเองไหม แต่เข้าใจว่าปัจจุบัน ระบบไฟฟ้าก็เริ่มจะพึ่งพาจากตัวเกาะ จริง ๆ คงต้องมีการศึกษา อยากให้ส่งเสริม และมองว่าทั้งเกาะจะทำอย่างไรให้มีพลังงานทดแทนทั้งเกาะได้ แต่ต้องมีการต่อระบบไปยังแผ่นดินด้วย เผื่อมีปัญหา ในประเทศไทยก็มีนโยบายเรื่องเงินสนับสนุนอยู่ ถึง 150,000 บาท ในแง่ของท้องถิ่นก็อาจจะไม่ได้มีการรณรงค์อย่างชัดเจนมากนัก ก็อาจจะต้องมีการทำงานร่วมมือกันของส่วนกลางกับท้องถิ่น จะรณรงค์เจาะจงอย่างเกาะท่องเที่ยวได้ไหม? ส่งเสริมให้คนภายในเกาะใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้สะดวก ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวที่มาก็สามารถท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ด้วย เป็นประโยชน์ทุกฝ่าย และอาจจะเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วย มาท่องเที่ยวไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เดินทางด้วยรถไฟฟ้า และไฟฟ้าที่ใช้ในเกาะเป็นพลังงานทดแทนได้ด้วยก็จะยิ่งดี ควรมีการนำร่องให้ชัดเจน
จะผลักดันให้คนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า แค่เรื่องรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างเดียว อาจไม่พอ?
“คนส่วนใหญ่ที่ซื้อรถไฟฟ้าไม่ได้ซื้อเพราะรักษ์สิ่งแวดล้อม”
ส่วนใหญ่ซื้อเพราะในระยะยาวประหยัดค่าพลังงาน รถยนต์วิ่งจาก A ไป B ตราบใดที่เขาสามารถประหยัดค่าน้ำมัน หรือค่าใช้จ่ายได้ถูกกว่า เขาก็ทำ ซึ่งแรงจูงใจคือต้นทุนค่าพลังงานถูกกว่ารถน้ำมัน ต้นทุนอยู่ที่ไม่ถึง 50 สตางค์/กม. ถ้าชาร์จไฟที่บ้าน แต่ถ้าไปชาร์จที่สถานีสาธารณะ ก็อาจจะอยู่ที่ 1-2 บาท/กม. แต่ถ้าเป็นรถน้ำมันเราจะมีค่าพลังงานอยู่ที่ 2.5–4 บาท/กม. ซึ่งหมายถึงรถยนต์ไฟฟ้าประเภท ที่แรงจูงใจการใช้รถยนต์ไฟฟ้าคือต้นทุนต่ำกว่า แม้ช่วงนี้จะมีกระแสค่าไฟแพง แต่ก็ไม่ได้แพงเท่ากับการใช้น้ำมัน หลายคนหาทางออกด้วยการติดตั้ง Solar Rooftop
ประเทศไทยควรมีกระบวนการสนับสนุนให้มาใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างไร
จริง ๆ รัฐบาลมีมุมส่งเสริมการผลิตในประเทศ ที่มีการใส่เงินสนับสนุนลงไปแล้ว แต่ในมุมของเอกชน ด้วยความที่ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจใหม่ ในมุมของผู้ประกอบการก็เป็นผู้ประกอบการใหม่ที่เข้ามาในตลาด ทุกคนก็พยายามปรับปรุงกระบวนการของตัวเองให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าประกันรถยนต์ไฟฟ้าที่หลายคนคิดว่าแพงกว่ารถน้ำมันหรือเปล่า? จริง ๆ ค่าประกันขึ้นอยู่กับราคารถ มีสูตรในการคำนวณ ประเด็นอยู่ที่เวลาที่เกิดเหตุที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาหน้างาน คนซ่อมรถ DEALER เขาอาจประเมินราคาซ่อมแพงด้วยความใหม่ เช่น แบตเตอรี่ที่มีปัญหานิดหน่อย อาจจะเสนอว่าเปลี่ยนเลย พอเปลี่ยนใหม่ทำให้ราคาของแบตเตอรี่เป็นกี่เปอร์เซ็น ของราคารถ ตามกฎของการประกัน ทำให้แพงมาก พอมีข่าวก็ทำให้เสียภาพลักษณ์ หรือกระทบต่อผู้ใช้คนอื่น ๆ ไป ซึ่งผู้ประกอบการและผู้ใช้เองก็ต้องเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน ผู้ประกอบการเองก็ต้องคิดให้เยอะขึ้นว่าหลายกรณีที่เกิดขึ้นจะมีวิธีการแก้ปัญหาหรือป้องกันได้อย่างไร เพราะยานยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องใหม่ ผู้ซื้อบางกลุ่มก็รับความเสี่ยงได้ แต่ว่าความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนก็อาจจะทำให้ไม่มั่นใจ ก่อนจะซื้ออาจจะต้องศึกษาหาข้อมูล หรือคุยข้อสงสัยให้ชัดเจน
ในส่วนของสถานีชาร์จ สำหรับใครที่ใช้รถแล้วโหลดแอปพลิเคชัน อาจมีปัญหาว่ามีหลายแอปพลิเคชัน แต่ว่าสถานีชาร์จมีไม่น้อยเลย กดไปทุกที่มีหมด ปัญหาเดียวที่เราเจอตอนนี้คือ ผู้ประกอบการเยอะเกิน มีหลายแอปพลิเคชัน ในถนนเส้นหลัก ทางหลวงทุก ๆ 50 กม. จะมีสถานีชาร์จ ยิ่งในกรุงเทพฯ ทุก ๆ 5-10 กม. เราจะเจอสถานีชาร์จ แต่เราอาจไม่ทันสังเกต เพราะบางทีอยู่ในอาคาร หรืออยู่ในลานจอดรถ อาจจะไม่เหมือนปั้มน้ำมันที่เราเห็นแล้วรู้เลย ไม่แปลกใจที่คนที่ไม่ได้ใช้รถ EV จะไม่เห็นสถานีชาร์จ
ไทยกับโอกาสการเป็น HUB ของยานยนต์ไฟฟ้า
ถ้าในอาเซียน เราเป็นผู้นำในเรื่องอุตสาหกรรมรถยนต์ ใน TOP 10 เราก็อยู่ลำดับ 10-11 ของโลก เป็นผู้ผลิตที่ผลิตปีละ 2 ล้านคัน แต่ความสามารถเราจริง ๆ ผลิตได้มากกว่านั้น ส่วนรถ EV เริ่มจะมาเป็นอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ หลายประเทศชื่นชมประเทศไทยว่าเป็นกระบวนการผลิตที่สำคัญ ต่อยอดเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าได้ดีมาก หลายคนอิจฉาว่ารัฐบาลที่ผ่านมามีนโยบายทำให้มีนักลงทุน คนสนใจเยอะมากที่จะมาเปิดตลาด EV ในบ้านเรา
ตัวนโยบายและภาคเอกชนค่อนข้างเข้มแข็งไปพร้อม ๆ กัน และเชื่อว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาก็จะส่งเสริมเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องนวัตกรรมเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ดีที่จะต่อยอดไปได้มากขึ้นด้วย ไทยน่าจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลกแน่นอน
ข้อเสนอเชิงนโยบาย ความท้าทายในประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
สำหรับใครที่จะได้ดูนโยบายตรงนี้ ในอนาคตอาจจะมาคุยกัน แต่มีอย่างหนึ่งที่อยากจะให้ส่งเสริมต่อไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม จะมีกลุ่มรถบางประเภทที่ยังไม่ได้รับการส่งเสริม และเราก็พยายามต่อสู้มาโดยตลอด ก็คือกลุ่มรถตุ๊กตุ๊ก ประเทศไทยสัญลักษณ์คือตุ๊กตุ๊ก ใครมาเมืองไทยก็ต้องนั่ง ถ้าไม่ได้นั่งก็เหมือนมาไม่ถึง ตุ๊กตุ๊กบ้านเราก็เป็นไฟฟ้าบางส่วน บริษัทชื่อ Muvmi เขาก็พยายามทำเรื่องนี้อยู่ แต่ก็มีข้อกฏหมายที่จะต้องแก้ ตุ๊กตุ๊กเป็นประเภทของรถที่ถูกจำกัดสิทธิ ไม่ให้จดทะเบียนเพิ่ม ปัญหาตรงนี้ควรที่จะต้องรีบดำเนินการ หรือการช่วยปลดล็อกในบางเรื่อง หรือข้อเสนอที่จะต้องไปคุยในภาพใหญ่ การจะมีที่จอดรถหรือสร้างที่จอดรถขึ้นมาควรจะต้องมีจุดชาร์จ EV หรือที่จอดรถเดิมควรมีกฏหมายว่าสามารถมีการให้บริการตัวชาร์จได้ ไม่เช่นนั้นคอนโดมิเนียมเก่า จะให้บริการชาร์จยากมากเพราะนิติบุคคลอาจมองว่าสิทธิของที่จอดรถเดิมหายไป การที่มีผู้ใช้ EV เข้ามาอาจเป็นการกันผู้ใช้เดิมออกไป ตรงนี้อาจจะต้องมีการพูดคุยว่าจะทำอย่างไร มีหลายเรื่องที่ต้องทำต่อ อย่างรถสาธารณะตามท้องถนนที่ควรต้องเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ตามเทคโนโลยีทำได้อยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรจะเร็วขึ้นได้กว่านี้ เพราะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ก็ไม่ได้บรรเทาลง อย่างในเมืองใหญ่ กรุงเทพฯต้องรีบแก้ไข ในเรื่องรถสาธารณะยังช้าอยู่มาก
“3 ปัจจัยหลักที่สนับสนุนรถยนต์ BEV คือ 1. การสนับสนุนจากภาครัฐที่ทำให้ราคาที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้มากขึ้น รวมทั้งจูงใจผู้ประกอบการให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น 2. การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยี และ 3. ต้นทุนการใช้งานที่มีความคุ้มค่ากว่ารถยนต์สันดาปภายในถึงเกือบ 20 %”
แต่ถ้ามองในมุมที่กว้างขึ้นไป การใช้รถยนต์ EV จะช่วยให้ประเทศชาติลดการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกได้อย่างบรรลุเป้าหมาย ลดฝุ่น PM 2.5 ได้อีกด้วย
หากประเทศไทยตั้งเป้าอีก 12 ปี ต่อจากนี้ จะเป็นประเทศการใช้งาน EV ยานยนต์พลังงานสะอาดอย่างเต็มรูปแบบ 100 % จะเตรียมรับมือสังคม EV สร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างไร?