รักแท้ รักที่อะไร…AI หรือ คุณ ?

“รักกันไม่บังคับ ก็ AI นะครับ กดปุ๊บปั๊บได้อย่างใจ” เครื่องมือตัวช่วย ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตหลาย ๆ คนโดยสมบูรณ์ ตั้งแต่การทำงานไปจนถึงเป็นตัวช่วยวางแผนการท่องเที่ยวในวันหยุด


จนมาถึงการใช้ AI เป็นที่ปรึกษาด้านหัวใจ ความสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งมีความรู้สึกดี ๆ กับ AI เหมือนในภาพยนตร์ จะมีความน่ากังวลอย่างไรบ้าง


เราได้เห็นภาพสะท้อนของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และ AI ผ่านภาพยนตร์หลายเรื่อง


Her ที่นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ AI ในฐานะคู่ชีวิต


สมศรี 422R หุ่นยนต์แม่บ้านฉบับประเทศไทยในตำนาน ที่โดนชายหนุ่มตกหลุมรักในภาคที่ 2


Ex Machina ที่สำรวจขอบเขตของความรู้สึกและจริยธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และ AI

และในปีที่ผ่านมา รวมถึงปีนี้ ก็ยังมีหลากหลายสื่อที่ใช้คอนเซ็ปต์ความรักระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ (หรือ ปัญญาประดิษฐ์ AI) เป็นตัวดำเนินเรื่อง อย่างภาพยนตร์ระทึกขวัญ Companion ซีรีย์ดังระดับโลกจากเยอรมณี เรื่อง Cassandra หุ่นยนต์แม่บ้าน AI


หนึ่งในความน่ากังวลของ AI ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากสื่อรูปแบบต่าง ๆ ที่ทำให้เห็นวันสิ้นโลกที่เกิดขึ้นเพราะ AI หรือ อีกด้านคือการเล่าเรื่องราวของ AI ที่มีบทบาทช่วยเหลือจิตใจมนุษย์​ แต่ภาพยนตร์ หรือซีรีย์เหล่านั้น ก็มักจะลงเอยได้ไม่ค่อยสวยงาม นำมาสู่คำถามว่าในโลกความเป็นจริงตอนนี้ AI กำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ของมนุษย์อย่างไรบ้าง ? 


เปรียบเทียบกับการประยุกต์ใช้ AI เพื่อหัวใจของตัวเองในสมัยนี้ ก็คงหนีไม่พ้นความสัมพันธ์ใน 3 ระดับ คือการ รักและเข้าใจตัวเอง ใช้ AI ช่วยให้ รักคนอื่น หรือมีความสัมพันธ์ที่รู้สึก รักกับ AI


เป็นที่มาของคำถามที่ ว่า AI จะสามารถมอบความรักได้เหมือนคนหรือไม่ ? The Active ชวนหาคำอธิบายเรื่องนี้

AI ช่วยหัวใจตัวเอง

การใช้ AI ในฐานะผู้ให้คำปรึกษาทางจิตวิทยากำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากคุณสมบัติการเป็น Search Engine ที่ใช้การประมวลผลและตอบโต้ด้วยภาษาธรรมชาติ สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ได้ทันที และได้ตลอดเวลา 


ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือการเข้าถึงที่ง่ายและสะดวก ไม่มีการตัดสินหรือมีอคติเหมือนการเล่าให้มนุษย์ รักษาความเป็นส่วนตัวได้สูง และมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ที่ต้องเสียทั้งเวลาและค่าเดินทาง ค่ารักษา และยังมีปัจจัยด้านครอบครัวเมื่อต้องคุยเรื่องการไปพบจิตแพทย์


น้ำหวาน – กันตพร ขจรเสรี ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรอบรมจิตวิทยาเพื่อคนรุ่นใหม่ (Mindventure) เล่าว่า AI ทำงานแทนมนุษย์ได้แล้ว ช่วยเป็นผู้สอบถาม คัดกรองเบื้องต้นในรูปแบบแชทบอท หรือแชทพูดคุย แต่ที่ยังทำไม่ได้ คือเรื่องความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์ จริยธรรม การเห็นใจ การแสดงความเข้าใจอารมณ์ และในการตัดสินใจบางอย่างที่ใช้จริยธรรม

“AI ทำได้เบื้องต้น ระบายไปช่วยตกผลึกสิ่งที่คิด ให้ทางออกเบื้องต้น หรือช่วยหาวิธีจัดการอารมณ์ก็พอน่าจะช่วยฟังได้ ช่วยตัดสินใจ อย่างประเด็นเยาวชนกับการเรียนต่อที่พวกเขาเครียดกันในตอนนี้ AI ก็สามารถให้ข้อมูลได้ ช่วยวางแผนและตั้งเป้าหมายได้”

กันตพร ขจรเสรี

อย่างไรก็ตาม AI ก็มีปัจจัยความน่ากลัวของข้อมูลหลุด หากเราใช้ AI เป็นที่ปรึกษาในเรื่องส่วนตัวหรือความลับ แต่ข้อมูลนั้นดันไม่ได้รับการปกป้อง ถูกปล่อยให้หลุดรอดออกไป ก็อาจจะส่งผลกระทบด้านลบได้ในอนาคต


รายงานผลสำรวจจาก Mitre เปิดเผยว่า คนกว่า 61% เชื่อว่า เทคโนโลยี AI ยังไม่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ หลายคนยังมีความรู้สึกกังวลกับ AI มากกว่าความรู้สึกตื่นเต้น แม้กระทั่ง Generation Z ก็มีผู้กังวลกับ AI ถึง 43%


ข้อจำกัดสำคัญของ AI คือการขาดความเข้าใจในบริบททางวัฒนธรรมเชิงลึก แม้ AI จะถูกป้อนข้อมูลและถือชุดความรู้ขนาดใหญ่อยู่ในมือ แต่มันก็ยังเสี่ยงที่จะให้คำแนะนำที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์เฉพาะของบางคน วัฒนธรรมเฉพาะ หรือยังมีข้อจำกัดในการรับมือกับภาวะวิกฤตทางจิตใจที่ซับซ้อน


ประเด็นนี้ ผศ.ฉัตรวิบูลย์ ไพจ์เซล รองหัวหน้าภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสริมประเด็นการใช้ AI เข้าใจตนเอง ที่อาจจะส่งผลกระทบในอนาคต โดยมองว่า ในปัจจุบันมีการใช้ AI วิเคราะห์ตนเองผ่านพฤติกรรม อารมณ์ และรูปแบบความคิดที่ผู้ใช้เปิดเผยให้เห็นบทโลกออนไลน์ โดยวิธีการถาม AI ว่า “คิดว่า (เรา) เป็นคนยังไง” กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่ก็นำมาซึ่งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อการรับรู้ตนเอง

“การพึ่งพา AI มากเกินไปอาจทำให้เราสูญเสียความสามารถในการเข้าใจและจัดการอารมณ์ด้วยตนเอง และความเชื่อถือในการวิเคราะห์ของ AI อาจนำไปสู่การละเลยสัญญาณทางอารมณ์ที่แท้จริงของตนเอง”

ผศ.ฉัตรวิบูลย์ ไพจ์เซล

ภาพประกอบจาก AI

AI พิชิตหัวใจคุณ

การสื่อสารระหว่างบุคคลได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากด้วย AI ทั้งการพึ่งพา AI ในการร่างข้อความ การใช้เครื่องมือแปลภาษาอัตโนมัติในการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม แม้จะช่วยอำนวยความสะดวก แต่ก็อาจส่งผลต่อทักษะการสื่อสารโดยตรงและความเป็นธรรมชาติในการปฏิสัมพันธ์


ในด้านการหาคู่ อัลกอริทึมการจับคู่ของ AI ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของแพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์ ความแม่นยำในการทำนายความเข้ากันได้ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ผู้ใช้ แต่ยังมีข้อจำกัดในการประเมินปัจจัยที่จับต้องไม่ได้ เช่น เคมีระหว่างบุคคล หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการพบกันจริง

“จริง ๆ การใช้ AI เป็นเครื่องมือเสริมในแอพหาคู่นับว่าน่าสนใจดี ช่วยให้คนโสดหาคู่ได้ง่ายขึ้นในสมัยนี้”

“ข้อดีของ AI ในแอพหาคู่คงเป็นการช่วยคัดแยกโปรไฟล์ เค้ารู้อยู่แล้วว่าเราน่าจะกดแมชต์กับโปรไฟล์แบบไหน รู้ไลฟ์สไตล์ คล้าย ๆ กับ Netflix ที่แนะนำหนังที่ถูกใจมาให้เพิ่มเติมนั่นแหละ เรื่องของข้อเสียก็เรื่องของเคมีที่อาจจะไม่ได้ตรงตามข้อมูลที่ AI วิเคราะห์ กับอีกเรื่องที่คล้ายกันก็คือความเป็นส่วนตัวของข้อมูล” 

กันตพร ขจรเสรี

หยุดหัวใจ ไว้ที่นาย (AI)

สื่อต่างประเทศหลายเจ้ารายงานความรักจากรอบโลก และหนึ่งในเทรนด์ความรักที่มีมาใหม่นั่นคือความสัมพันธ์กับ AI หรือ เพื่อนปัญญาประดิษฐ์คนโปรดของเรา ถึงแม้จะเป็นไอเดียที่ใหม่ แต่การมอง AI เป็นความสัมพันธ์รูปแบบของคนรักก็เป็นเพียงมุมมองที่ต่อยอดมาจากการมอง และการใช้ AI เป็นเพื่อนคนหนึ่งนี่เอง

“ความรักกับ AI เป็นไอเดียที่น่าสนใจ เวลาเห็นตามโพสต์สตอรี่ แต่ไม่ได้เชื่อมความสัมพันธ์จริง ๆ เห็นชีวิตไม่ครบ เราเหงา โดดเดี่ยวแม้จะอยู่ท่ามกลางคนมากมาย การใช้ AI มาให้มนุษย์ได้เชื่อมความสัมพันธ์มากขึ้น”

“จากที่เห็น พอวัยรุ่นส่วนใหญ่ใช้โซเชียลมากขึ้น เทรนด์คือต้องการเจอ human touch มากขึ้นเวลาจัดออนไซต์ เป็นสิ่งที่ฮีลใจ สนุกกับมัน แม้อยู่ในที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย ไม่มีโอกาสได้คุยเชิงลึกกับคน ไม่ได้พูดคุยสนทนาจริง ๆ การมีเครื่องมือเป็นอีเวนต์ กลัวคนลืม physical connection”

กันตพร ขจรเสรี

“ความเป็นไปได้ของความสัมพันธ์เชิงลึกระหว่างมนุษย์ และ AI เป็นประเด็นที่น่าสนใจ แม้ AI จะสามารถจำลองความเข้าใจและการตอบสนองทางอารมณ์ได้ แต่ความผูกพันที่แท้จริงยังคงเป็นคุณสมบัติเฉพาะของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์”

ผศ.ฉัตรวิบูลย์ ไพจ์เซล

อีกประเด็นที่น่ากลัวและน่าจะเกิดขึ้นคือการใช้ AI ผิดประเภท ตัวอย่างที่ น้ำหวาน ยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดคือ จากที่ฝ่ายการตลาดใช้วิธีต่าง ๆ ในการดึงดูดให้ผู้บริโภคซื้อสินค้ามากขึ้น การมีเครื่องมือ AI มาผสมผสานการดึงดูดให้ซื้อสินค้าก็จะยิ่งเพิ่มความน่ากังวล ในประเด็นจรรยาบรรณหรือจริยธรรมในการขายสินค้า

ภาพประกอบจาก AI

จับตาอนาคต : AI ไปถึงใจคุณได้ไหม ?

สรุปได้ว่า การใช้ AI ก็ยังคงต้องทดลองปรับ เรียนรู้ และพัฒนากันต่อไป ทั้งในฝั่งของผู้ผลิต AI เอง หรือในฝั่งของผู้ใช้เองก็ตาม การใช้ AI เป็นตัวช่วยให้เข้าใจตนเองก็สามารถทำได้ในเบื้องต้น แนะนำให้ลองพูดคุย ปรึกษา และใช้เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ ในฐานะที่คุณ AI นับเป็นผู้มีความรู้ที่อาจจะรอบด้าน และความรู้หลากหลายมากกว่าคนธรรมดาทั่วไป แต่ AI ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก หรือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และมนุษย์ได้ 


ข้อจำกัดของเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นจุดอ่อนที่มีส่วนทำให้การเกิดความสัมพันธ์ระหว่างคนกับ AI ก็ยังไม่สามารถเทียบเท่าความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนนั่นเอง ถึงอย่างไรก็ตาม AI ได้อยู่คู่อัลกอริทึมแอปพลิเคชันหาคู่มาสักพักหนึ่งแล้ว และก็อยู่เบื้องหลังในการทำให้คนได้เจอคู่ตามที่ต้องการรวดเร็วขึ้น และทำให้การจับคู่มีประสิทธิภาพดีขึ้น


สักวัน AI อาจจะถูกพัฒนามาจนสามารถตอบโจทย์หัวใจของทุกคนได้ ทั้งการเป็นนักจิตวิทยา กามเทพแผลงศร หรือเป็นคนรักคนต่อไปของคุณได้อย่างไร้ข้อบกพร่อง


และหากวันนั้นมาถึง ก็นับเป็นงานสำคัญของเหล่านักจิตวิทยา และผู้ทำงานในวงการสุขภาพจิต ที่ต้องประเมินความเป็นไปได้ของผลกระทบจากนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างปัญญาประดิษฐ์นี้ คนจะเหงาน้อยลง หรือคนจะเหงามากขึ้น เป็นคำถามที่จะได้คำตอบในอีกไม่นาน

Author

Alternative Text
AUTHOR

อนวัช มีเพียร

รักโลก แต่รักคนบนโลกมากกว่า