“การศึกษาที่ยืดหยุ่น ไม่สามารถเกิดได้ในระบบที่ไม่ยืดหยุ่น”
คำพูดจาก รศ.ลือชัย ศรีเงินยวง อนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาเยาวชนและแรงงานนอกระบบ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) อาจพอจะสะท้อนข้อสังเกตว่า ในเวลานี้โครงสร้างระบบ กำลังกลายเป็นอุปสรรคสำหรับการจัดการศึกษาอยู่หรือไม่ เพราะทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า การศึกษา การเรียนรู้ ไม่ได้มีทางเลือกเดียวแค่ในโรงเรียน แต่คือความยืดหยุ่น ที่จะสามารถสร้างทางเลือกให้ตอบโจทย์ผู้เรียนมากที่สุด
“ห้องเรียนข้ามขอบ” จึงเป็นอีกความพยายาม เพื่อสร้างระบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ให้เกิดขึ้นจริง สิ่งนี้อาจมีความหมายต่างกันไปในแต่ละมุมมอง นิยามหนึ่งอาจหมายถึง การที่เด็กคนหนึ่งสามารถเรียนรู้จากที่ไหนก็ได้ ในรูปแบบใดก็ได้ ตราบใดที่เขาได้รับทักษะที่นำไปใช้ได้จริงในชีวิต และยังได้รับวุฒิการศึกษาที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดในอนาคตได้ เพราะหากเรียนที่ไหนก็ได้ แต่ไม่ได้วุฒิ นั่นคือ การเรียนรู้ตามอัธยาศัย ถ้าได้วุฒิแล้วต้องเรียนตามรูปแบบเดียว นั่นคือ การเรียนในระบบ ซึ่งสิ่งที่เราต้องการ คือ การเชื่อม 2 สิ่งนี้เข้าด้วยกัน จึงเกิดเป็นแนวคิด ห้องเรียนข้ามขอบ ขึ้นมา

แล้ว ทำไม ? สังคมไทย จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาที่ยืดหยุ่นมากขึ้น คำตอบ คือ เพราะบริบททางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างมาก เราได้ยินคำว่า “คนไทยแก่ก่อนรวย ป่วยก่อนตาย” มาหลายปีแล้ว ครอบครัวที่แก่ก่อนรวยหมายถึงพ่อแม่ไม่สามารถหารายได้ได้อีกต่อไป เด็กจึงต้องกลายเป็นผู้หารายได้เพื่อดูแลครอบครัว
เมื่อรวมกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับวิกฤต ยิ่งสะท้อนให้เห็นความเปราะบางของชีวิตเด็กไทย ในปัจจุบัน เด็กถึง 70% อาศัยอยู่ในครอบครัวรายได้น้อย และในจำนวนนั้น 84.9% เป็นครอบครัวที่มีหนี้มากกว่าเงินที่มี
นี่คือชีวิตของเด็กไทยส่วนใหญ่ที่ถูกแขวนอยู่บนเส้นล่างของความยากจน ยังมีปัญหาการย้ายถิ่นตามผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง เด็กหลายคนต้องเปลี่ยนถิ่นฐานบ่อยครั้ง ซึ่งหลายครั้งการย้ายไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งครอบครัว บางบ้านแยกกันอยู่ หรือพ่อแม่หย่าร้าง เด็กจำนวนมากจึงไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ โดยจากการสัมภาษณ์เด็ก 19 คน ภายใต้โครงการห้องเรียนข้ามขอบ พบว่า เด็ก 17 คนเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกัน
เมื่อพ่อแม่แยกทาง รายได้ครอบครัวก็ลดลง และส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กด้วย ยิ่งในยุคหลังโควิด ภาระภายในบ้านยิ่งเพิ่มขึ้น หลายบ้านมีผู้สูงอายุที่ป่วยหรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เด็กจำนวนไม่น้อยจึงอยู่ในภาวะ “ทั้งต้องการการดูแล และต้องเป็นผู้ดูแลผู้อื่น” ไปพร้อมกัน
ทำให้เห็นได้ชัดว่า เด็กในปัจจุบันไม่ได้มีชีวิตที่เรียบง่ายอย่างที่เคยเป็นอีกต่อไป ทำให้การศึกษาจำเป็นต้องปรับตัวให้ตอบโจทย์ความจริงที่เปลี่ยนไปนี้ด้วย
The Active ชวนทำความเข้าใจลักษณะของ ห้องเรียนข้ามขอบ ที่มองข้ามทุกข้อจำกัดที่ผู้ใหญ่เป็นคนสร้างขึ้นมาเอง แล้วหันมาโอบอุ้มเด็กทุกคนให้เขาได้เขาถึงการศึกษาที่เป็นประโยชน์ และตอบโจทย์ชีวิต ไปกับ ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยในโครงการห้องเรียนข้ามขอบ

อย่าทำให้การศึกษาเป็นเรื่องยาก
ถ้าอยากให้เด็กคนหนึ่งอยู่กับเราไปนาน ๆ
เมื่อเรามองเด็กอายุ 18 ปีที่หลุดจากระบบการศึกษา จะพบว่า ความยากจนนั้นไม่ใช่สาเหตุเดียว หากแต่เป็นปัจจัยที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกับองค์ประกอบหลายด้าน ทั้งภายในตัวเด็กเอง ครอบครัว ชุมชน และระบบโรงเรียน ตัวอย่างเช่น บางกรณีเด็กต้องย้ายโรงเรียน แต่โรงเรียนใหม่กลับไม่สามารถเทียบโอนผลการเรียนเดิมได้ และบังคับให้เริ่มเรียนใหม่ตั้งแต่ชั้น ม.1 สิ่งนี้ทำให้เด็กหลายคนรู้สึกหมดกำลังใจ จนเลือกออกจากระบบและไปทำงานแทน ซึ่งในบางมุมก็มองได้ว่าระบบไทยยังโชคดีที่มี กศน. เป็นทางเลือกให้เด็กได้เรียนต่อนอกระบบ
ณิชา ฉายภาพนิเวศทางการศึกษาไทย นอกเหนือจากภาครัฐ ยังมีการเปลี่ยนแปลงในนิเวศการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่กำลังเติบโตอย่างน่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือ แนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ยูเนสโกสนับสนุน ปัจจุบันประเทศไทยมีถึง 10 เมืองที่เข้าร่วมแล้ว และยังมีเมืองที่แม้ไม่ได้รับการประกาศจากยูเนสโก แต่ลุกขึ้นมาทำพื้นที่เรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่แสดงให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของทางเลือกใหม่ นอกเหนือจากการเรียนในระบบเดิม
ข้อมูลจากการสำรวจ ระบุว่า พื้นที่เรียนรู้นอกระบบเหล่านี้สามารถรองรับเด็กได้กว่า 381,000 คน ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนนักเรียน กศน. ทั้งประเทศ (ประมาณ 800,000 คนต่อปี) สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงพลังของภาคประชาชนที่กำลังร่วมขับเคลื่อนการศึกษานอกระบบอย่างจริงจัง และถ้าเด็กไทยมีโอกาสเข้าถึงพื้นที่เหล่านี้มากขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ประเทศไทยมีเครื่องมือทางกฎหมายที่รองรับการศึกษาที่ยืดหยุ่นพร้อมอยู่แล้ว ทั้ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่เปิดทางให้มีการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย รวมถึง แนวปฏิบัติในการเทียบโอนผลการเรียนตั้งแต่ปี 2549 ที่ยืดหยุ่นมาก สามารถเทียบโอนได้ทั้งในระบบ นอกระบบ และแม้แต่การศึกษาจากต่างประเทศ แถมเรายังมีหลักสูตรที่ระบุชัดว่าสถานศึกษาสามารถปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นได้ เช่น หลักเกณฑ์การปรับใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ซึ่งอนุญาตให้ปรับตัวชี้วัดและโครงสร้างเวลาเรียนเพื่อให้เหมาะกับเด็กที่มีเงื่อนไข เช่น เด็กย้ายถิ่น เด็กด้อยโอกาส เป็นต้น
ตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ออกนโยบายใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566, การดำเนินงานธนาคารหน่วยกิต และ นโยบาย Thailand Zero Dropout ที่มองเห็นเด็กนอกระบบ และพยายามสร้างกลไกสนับสนุนจากระดับพื้นที่ ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าโครงสร้างทางนโยบายและกฎหมายของไทยมีความพร้อมอย่างมาก
คำถามคือ เราจะต่อจิ๊กซอว์เหล่านี้ เข้าด้วยกันได้อย่างไร ?
“เชียงดาวคือหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบ ที่พยายามต่อจิ๊กซอว์ทั้งหมดเข้าหากัน
เพื่อให้การศึกษาที่ยืดหยุ่นเป็นจริงสำหรับเด็กทุกคน”
เชียงดาว : โรงเรียนข้ามขอบนโยบาย เพื่อมาหาเด็ก
ณิชา ได้นำเสนอประสบการณ์จากพื้นที่เชียงดาว ที่มุ่งเน้นถึงการสร้างห้องเรียนข้ามขอบ ที่ไม่จำกัดอยู่ในกรอบโรงเรียน หรือระบบการศึกษาแบบเดิม หากแต่เปิดกว้างให้เยาวชนจากหลากหลายพื้นฐาน ทั้งเด็กโรงเรียน บ้านเรียน หรือเด็กที่หลุดจากระบบ ได้มาเรียนรู้ร่วมกันกับ นักสร้างสรรค์การเรียนรู้ ซึ่งอาจเป็นครูในโรงเรียน หรือประชาชนทั่วไปที่ลุกขึ้นมารับบทบาทผู้นำการเรียนรู้ในพื้นที่ของตนเอง การพบปะกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอนหลากหลายกลุ่มนี้ได้จุดประกายให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง

นักเรียนห้องเรียนข้ามขอบ มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านการมองเห็นศักยภาพของตนเองมากขึ้น เยาวชนที่เคยคิดแค่ว่าจะทำงานไปวัน ๆ หรือเรียนเพียงเพื่อให้ได้วุฒิ กลับค้นพบว่า ตัวเองมีความสามารถและความกล้าที่จะสื่อสาร แสดงความคิดเห็น และกลายเป็นผู้นำในกลุ่มได้ การเรียนรู้ในบรรยากาศที่ปลอดภัยทำให้หลายคนกล้าเปลี่ยนแปลงตนเอง
ที่นี่มีเด็กจากหลายโรงเรียน รวมถึงเด็กชาติพันธุ์ และเด็กบ้านเรียน ได้มาพบปะ พัฒนาความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง บางคนถึงกับมีความรักเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความมีตัวตนและการมีสังคมของเยาวชนกลุ่มนี้
“เด็กคนหนึ่งเขาบอกกับเราว่า การได้มาเรียนที่นี่ เราได้ความรู้ที่ไม่ใช่มีคนมาบอก
ณิชา พิทยาพงศกร
แต่เป็นความรู้ที่เหมือนเราสร้างขึ้นเอง“
ตัวอย่างของการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานนั้นเห็นได้ชัดเจนที่เชียงดาว เช่น การเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเรียนในสิ่งที่ตนสนใจจริง ๆ เช่น หลักสูตรศิลปะและอาชีพของมะขามป้อมที่เด็กสามารถเลือกเส้นทางตามแรงบันดาลใจตนเอง นอกจากนี้ยังมีการประเมินที่ยืดหยุ่น เช่น การใช้ศิลปะสะท้อนการเรียนรู้ หรือการให้ฟีดแบ็กกันเองในกลุ่มเพื่อน อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงกับชุมชนผ่านการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่น เช่น คุณป้าย้อมคราม หรือช่างฝีมือที่เคยสอนชาวต่างชาติ วันนี้กลับมาเปิดบ้านให้เด็กในชุมชนได้เรียนรู้

(ภาพ : Guay Makhampom)
อีกหนึ่งแนวคิดสำคัญคือ การเรียนรู้แบบเชื่อมโยง ที่เสนอว่า หากสามารถเชื่อม 3 โลกของวัยรุ่นเข้าด้วยกันได้ ความสนใจส่วนตัว โลกของวิชาการ และวัฒนธรรมเพื่อน ก็จะทำให้เกิดพลังการเรียนรู้ที่แท้จริง เพราะเด็กได้เรียนในสิ่งที่สนใจ ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน และยังมีระบบการศึกษารองรับ เด็กคนหนึ่งที่อยากเปิดร้านเสริมสวยจึงได้เรียนทั้งเรื่องความงาม การสื่อสาร และยังฝึกคิดต้นทุนกำไร ซึ่งเชื่อมโยงทั้งชีวิตจริง วิชาการ และเพื่อนรอบข้าง
ณิชา อธิบายว่า สิ่งที่ทำให้ห้องเรียนข้ามขอบเชียงดาวพิเศษยิ่งขึ้น คือการสร้าง ทุนทางสังคม ให้กับเด็ก ๆ คือ เครือข่ายความสัมพันธ์ที่ช่วยเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ โอกาสแบบนี้ไม่ได้เกิดจากโชค หากแต่เกิดจากการมีพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้พบผู้ใหญ่ในชั้นถัดไป ที่พร้อมจะส่งต่อคำแนะนำ ทักษะ และแรงบันดาลใจให้พวกเขา
ทุนทางสังคมนี้อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
- Bonding Capital หรือความสัมพันธ์ใกล้ตัวที่ช่วยสร้างความมั่นใจ และความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม เช่น ครอบครัวและเพื่อน
- Bridging Capital หรือความสัมพันธ์ที่เชื่อมไปสู่บุคคลนอกกลุ่ม ซึ่งอาจมีสถานะทางสังคมหรือเศรษฐกิจต่างกัน แต่สามารถเปิดประตูใหม่ ๆ ให้เด็กได้
แนวทางของห้องเรียนข้ามขอบ จึงไม่เพียงแค่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ แต่ยังช่วยให้พวกเขาสร้างเครือข่ายที่มีความหมาย พร้อมเติบโตไปเป็นผู้สร้างความรู้ของตนเองในโลกจริงอย่างมั่นคงและมีคุณค่า
เด็กควรได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ต่างกัน
เพราะ ‘ความหลากหลาย’ ของมนุษย์ ไม่ใช่ ‘ความเหลื่อมล้ำ’
ถ้าหันกลับมาดูที่ ครู และ สถานศึกษา จะเห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงในหลายระดับ ณิชา เล่าว่า ครูหลายคนสนใจแนวคิด ธนาคารหน่วยกิต และนำทักษะที่ได้รับกลับไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียนได้จริง บางโรงเรียน เช่น โรงเรียนบ้านเชียงดาว มีการเปิด วิชาบูรณาการ ที่พาเด็กไปเรียนรู้กับแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ซึ่งเกิดจากการที่ครูเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กที่มาเรียนกับมะขามป้อม แล้วจึงนำแนวคิดกลับไปใช้กับโรงเรียน เป็นการเติมอาวุธให้กับคุณครูด้วย
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความกังวลหลายอย่าง เช่น ถ้าจะทำให้ครบทุกสาระวิชา จะออกแบบอย่างไรให้ครอบคลุม หรือเมื่อเด็กต้องสอบ O-NET หรือ NT จะมีผลต่อคะแนนหรือไม่ โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมอบรมหรือเปลี่ยนแปลงได้พร้อมกันทั้งโรงเรียน ก็อาจเกิดข้อจำกัดในการขยายแนวคิดเหล่านี้
นอกจากนี้ ยังมีทัศนคติบางประการที่มองว่าการเรียนรู้ที่ออกแบบเฉพาะบุคคลนั้น “ไม่แฟร์” กับเด็กคนอื่น
“ยังมีทัศนคติบางอย่างที่มองว่าการเรียนนอกระบบ โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้ตามความสนใจของเด็ก เป็นเรื่องไม่ยุติธรรมกับเด็กคนอื่น เพราะคิดว่า ความเท่าเทียม คือการที่เด็กทุกคนต้องได้เหมือนกัน ทั้งที่จริงแล้วถ้าเด็กไม่ได้สนใจสิ่งนั้นเลย มุมคิดแบบนี้อาจขัดแย้งโดยตรงกับแนวคิดที่ยอมรับว่าเด็กแต่ละคนควรได้รับประสบการณ์ที่ต่างกัน ไม่ใช่เพราะความเหลื่อมล้ำ แต่เพราะความหลากหลายของมนุษย์ต่างหาก“
ณิชา พิทยาพงศกร

เรื่องอะไร ? ที่โรงเรียนต้องวุ่นวายเพื่อเด็ก
มันก็แค่…เรื่องของเด็กคนหนึ่งไง!!”
จากห้องเรียนข้ามขอบที่เชียงดาว เราอาจขยายไปเชียงใหม่ และจังหวัดอื่น ๆ ที่เริ่มขยับแล้ว ณิชา ได้ยกตัวอย่าง การออกแบบ หลักสูตรคนละครึ่ง โดยใช้ช่องวิชาเลือกในหลักสูตร สพฐ. เป็นที่ตั้ง แล้วนำประสบการณ์นอกระบบมารับรองเป็นหน่วยกิต หรือสร้าง ธนาคารหน่วยกิตจังหวัด ที่ให้เด็กสะสมทักษะได้ ทั้งในและนอกระบบ เมื่อเราพูดถึง การศึกษาที่ยืดหยุ่น สำหรับเด็กและเยาวชน เราอาจนึกถึง 2 แนวทางหลักที่สามารถดำเนินไปพร้อมกันได้
- แนวทางที่ 1: ทำให้ระบบโรงเรียนยืดหยุ่นมากขึ้น
เด็กส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังอยู่ในระบบโรงเรียน การเปลี่ยนแปลงในระบบนี้จึงมีความสำคัญ เช่น การปรับโครงสร้างเวลาเรียน รายวิชา เงื่อนไขการจบการศึกษา หรือการสะสมชั่วโมงเรียนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เปิดโอกาสให้เด็กสามารถออกไปเรียนรู้ข้างนอก หรือสะสมประสบการณ์ผ่านกิจกรรมนอกห้องเรียน โดยไม่หลุดจากระบบ - แนวทางที่ 2: พัฒนาระบบการเรียนรู้นอกโรงเรียนให้มีคุณภาพสูง
เราต้องสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลายและมีมาตรฐาน เช่น ศูนย์เรียนรู้ องค์กรภาคประชาชน หรือกลุ่มอาสาสมัครที่สามารถออกแบบกิจกรรมให้ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็กได้อย่างแท้จริง ระบบนี้อาจใช้แนวทางหลักสูตรคนละครึ่ง คือเรียนในระบบครึ่งหนึ่ง เรียนนอกระบบอีกครึ่งหนึ่ง โดยที่ทั้งสองส่วนสามารถเชื่อมโยงกันได้ผ่านกลไกการเทียบโอนวุฒิ
ณิชา ยังแนะว่า ถ้าไม่สามารถนับเป็นวุฒิใหญ่ได้ ก็อาจให้ วุฒิจิ๋ว (Microcredentials) แทน ซึ่งสามารถใช้สมัครงานได้ และเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ ควรมีระบบสนับสนุน เช่น คูปองการเรียนรู้ ที่สนับสนุนการจัดการเรียนรู้นอกระบบ ซึ่งตอนนี้ต้องพึ่งพากำลังภาคประชาชนอย่างมาก และไม่ยั่งยืนหากไม่มีภาครัฐสนับสนุน
แต่ไม่ว่าจะเลือกแนวทางใด ณิชา ย้ำว่า เราจำเป็นต้องมี กลไกเทียบโอนประสบการณ์สู่หน่วยกิตการศึกษา ซึ่งวุฒิการศึกษาในไทยยังคงมีความสำคัญ การเปลี่ยนการวัดผลจาก ชั่วโมงเรียน มาเป็น สมรรถนะ-ทักษะ ที่เด็กสามารถทำได้ จึงเป็นหัวใจของการปฏิรูป
อย่างไรก็ตาม แม้กฎระเบียบจะเปิดทางไว้แล้ว การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หาก โรงเรียนหรือครูไม่มีเจตจำนง ที่จะอำนวยความสะดวกให้เด็ก ระเบียบและธรรมเนียมปฏิบัติอาจกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ของเด็กคนหนึ่งที่ความสามารถของเขาไม่ได้อยู่ในแบบเรียนปกติ ซึ่งจริงๆ แล้ว การช่วยให้เขาได้กลับมาเรียน อาจเป็นจุดเปลี่ยนของทั้งชีวิตเขา
“มันทำได้นะ แต่คำถามคือ โรงเรียนมีเจตจำนงหรือเปล่า เรื่องอะไรจะต้องวุ่นวาย ตั้งคณะกรรมการเทียบโอนแค่เพื่อให้เด็กคนหนึ่งได้เข้ามาเรียน…แต่ถ้ามองจากมุมของเด็ก การได้เข้าเรียนครั้งนั้นอาจมีความหมายกับชีวิตเขามาก มากจนเปลี่ยนอนาคตได้เลย ถ้าผู้ใหญ่ปรับวิธีคิด เห็นความทุกข์ของเด็กตรงนั้นจริง ๆ เราอาจไม่ต้องประกาศนโยบายอะไรด้วยซ้ำ”
ณิชา พิทยาพงศกร
สุดท้าย คือ นโยบาย เราไม่จำเป็นต้องออกนโยบายใหม่ที่ดูหรูหรา เซ็กซี่ เพราะเรามีโครงสร้างทางกฎหมายและนโยบายที่เอื้อให้เกิดอยู่แล้ว ความเป็นจริงคือ เราพบว่าครูจำนวนมากแม้จะสนใจ แต่ติดข้อจำกัดหลายด้าน หากเราสามารถแบ่งกลุ่มครูตามระดับการรับรู้และให้การสนับสนุนที่เหมาะสม มองเห็นว่า ครูคือมนุษย์ เพื่อลดภาระงาน เปิดพื้นที่ให้ครูได้สะท้อนคิด ก็อาจสร้างแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนได้ในที่สุด

บทส่งท้าย : ข้ามขอบกำแพงที่เราสร้างขึ้นมาเอง
เมื่อเราก้าวข้ามกรอบห้องเรียน ก้าวข้ามขอบเขตชุมชน และข้ามข้อจำกัดของนโยบายไปแล้ว สิ่งที่ท้าทายที่สุดกลับเป็น การข้ามกระบวนทัศน์ ที่ฝังรากลึกในระบบการศึกษาของไทย เราอาจมีนโยบาย กฎระเบียบ และแนวทางที่ดีอยู่แล้ว แต่เหตุใดการเปลี่ยนแปลงจึงยังเกิดขึ้นได้ไม่เต็มที่ ?
คำตอบหนึ่งคือ การรับรู้ของครูและผู้ปฏิบัติในระบบยังมีความคลุมเครือ บางครั้งแม้เห็นความต้องการของเด็ก แต่ก็ยังไม่กล้าก้าวไปสู่แนวทางใหม่ อาจเพราะขาดความมั่นใจ หรือไม่แน่ใจว่าทำแล้วจะผิดระเบียบหรือไม่ บางคนรู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงแต่ยังขาดเครื่องมือ ขาดโมเดล ขาดแนวทางปฏิบัติที่จับต้องได้
ตรงนี้เองที่บทบาทของการ หนุนเสริม จากหน่วยงานรัฐและฝ่ายบริหารมีความสำคัญ การสร้างความเข้าใจว่ากฎระเบียบที่เปิดพื้นที่ให้การเรียนรู้แบบยืดหยุ่นมีอยู่แล้ว และสามารถใช้ได้จริง จะช่วยลดความลังเลใจ พร้อมกันนั้น ต้องมีการสนับสนุนในเชิงเทคนิค สร้างโมเดลที่นำร่องได้ทันที เพื่อให้ครูไม่รู้สึกว่าต้องเริ่มต้นจากศูนย์ หรืออยู่เพียงลำพังในการทดลองอะไรใหม่ ๆ และสำคัญคือ ต้องเปิดพื้นที่ให้ครูได้คิด ได้ทบทวนตัวเองและผู้เรียน ไปพร้อมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
อย่างไรก็ตาม การออกประกาศกฎเกณฑ์ หรือแนวทางเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ หากไม่มีนิเวศการเรียนรู้ที่อุดมสมบูรณ์มารองรับ พื้นที่นอกโรงเรียน ทั้งจากภาคประชาสังคม ชุมชน องค์กรท้องถิ่น จำเป็นต้องเข้ามาร่วมสร้างแหล่งเรียนรู้แบบอัธยาศัย โดยอาจพัฒนาแนวคิดเรื่อง คูปองการเรียนรู้ หรือกองทุนท้องถิ่น ที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว และเปิดทางให้การเรียนรู้ที่หลากหลายเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
“ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือวิธีมองผู้เรียนที่ยังฝังรากอยู่ในระบบเก่า มองเด็กเป็นภาชนะ เป็นวัตถุที่ต้องรับความรู้ แต่เด็กคนหนึ่งในการเรียนแบบคำของกลับบอกกับเราว่า หนูรู้สึกว่าหนูสร้างความรู้ด้วยตัวเอง คำพูดนี้ย้ำให้เห็นว่า ผู้เรียนคือผู้สร้างความรู้ ไม่ใช่ผู้รอรับเท่านั้น”
ณิชา พิทยาพงศกร
ในกระบวนการทั้งหมดนี้ เราต้องไม่เฝ้ารอแต่การประกาศจากผู้มีอำนาจ เพราะแม้แต่ผู้ปฏิบัติเองก็มีแนวโน้มจะรอคำสั่งเช่นกัน การศึกษาของไทยต้องหยุดวัดความสำเร็จจากการประกาศนโยบายแล้วเสร็จ แต่ต้องยึดผลลัพธ์เป็นที่ตั้ง หากยังไม่มีเด็กสักคนหนึ่งที่จบการศึกษาด้วยระบบธนาคารหน่วยกิต การเปลี่ยนแปลงนั้นยังไม่สำเร็จ
อย่าลืมว่า การศึกษาต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนาเต็มศักยภาพ และเชื่อมโยงกับโลกจริงที่เขาต้องออกไปเผชิญในอนาคต