เสนอปรับกระบวนการใหม่ ลดเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นกลาง
ทำไมอุทกภัย 2565 จึงรุนแรงเทียบเท่าหรือมากกว่าปี 2554 ในหลายแห่ง
นักวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า สาเหตุหนึ่งมาจากปรากฎการณ์ลานีญาที่ทำให้ฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยในหลายภาค โดยเฉพาะภาคกลางที่มีปริมาณฝนตกมากกว่า ปี 2554 จึงทำให้หลายพื้นที่กระทบหนักทางภาคกลาง และภาคอีสาน
ข้อมูลชลประทาน ระบุ ในปี 2565 พบว่ามี พื้นที่ประสบอุทกภัยปี 2565 หลายจังหวัดที่มาจากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำ ร่องมรสุม และพายุ ประกอบด้วย
- มรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย (วันที่ 21-24 ก.ค.65) - มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับ
ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบนของประเทศไทย (วันที่ 2-10 ส.ค.65) - พายุดีเปรสชัน “มู่หลาน” ที่อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง และเคลื่อน
เข้าปกคลุมประเทศจีนตอนใต้ ประเทศเมียนมาตอนบน และประเทศลาวตอนบน (วันที่ 11-13 ส.ค.65) - ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศ
ต่ำบริเวณประเทศเมียนมาตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย
และอ่าวไทย มีกำลังปานกลาง (วันที่ 20-22 ส.ค.65) - พายุดีเปรสชัน “หมาอ๊อน” ที่อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณประเทศ
ลาวตอนบน (วันที่ 24-26 ส.ค.65) - ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตก
เฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง (วันที่ 5-9 ก.ย.65) - ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับ
มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง (วันที่ 17-21 ก.ย.65) - มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังค่อนข้างแรง
ประกอบกับอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน “โนรู” ที่เข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (วันที่ 28-30 ก.ย.65)
หลังจากที่ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ถอดบทเรียนฤดูฝน 2565 โดยเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน พบว่ามีข้อเสนอต่อการจัดการน้ำหลากหลาย โดยนักวิชาการสะท้อน ต้องสื่อสารให้เข้าถึงชุมชนมากกว่านี้ ขณะที่จังหวัดพื้นที่ฝั่งตะวันตกปลายน้ำต้องไม่จมน้ำฝ่ายเดียวเสนอต้องแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำจัดการน้ำให้ได้
สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า ในปี 2565 ได้มีการการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ที่ได้เปิดไป 3 ศูนย์ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยเฉพาะการคาดการณ์และประเมินพื้นที่เสี่ยงในพื้นที่ภาคใต้ ที่ได้นำบทเรียนจากการทำงานของศูนย์ฯ ส่วนหน้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ที่ได้เปิดศูนย์ฯ ไปก่อน มาปรับกระบวนการทำงานให้มีความเหมาะสม เช่น การตรวจสอบความมั่นคงของพนังกั้นน้ำ การตรวจสอบสภาพอ่างขนาดกลางและขนาดเล็ก การตรวจสอบพื้นที่แก้มลิง การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ประตูระบายน้ำ ทุ่งรับน้ำ การจัดทำแผนชี้เป้าพื้นที่น้ำลด แผนการระบายน้ำและเร่งสูบน้ำ แผนการจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกในพื้นที่น้ำท่วม
“ทำให้วิเคราะห์ คาดการณ์ ชี้เป้าได้อย่างตรงจุด สามารถเตรียมการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที สามารถเร่งซ่อมแซมคันกั้นน้ำหรือจุดเชื่อมต่อทำนบดินกั้นน้ำที่ชำรุดหรือที่เป็นฟันหลอ ให้แล้วเสร็จก่อนน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน ลดผลกระทบและความเสียหายจากน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ก่อนหน้านี้ ก็มีการหารือร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในช่วงฤดูฝนในพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อเพิ่มพื้นที่แก้มลิงรับน้ำหรือพื้นที่หน่วงน้ำให้มากขึ้น ลดปัญหาน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน-พื้นที่เศรษฐกิจ และเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงแล้ง โดยมีเป้าหมายปี 2565-2568 ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย และอุทัยธานี
“โดยดำเนินการตัดยอดน้ำได้อย่างน้อย 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในปี 2566 ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้สูงสุดประมาณ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะขยายพื้นที่เป้าหมายในการเก็บกักน้ำที่จะดำเนินการเพิ่มเติมภายในปี 2568 รวมประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่จะเป็นการบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปีได้อีกด้วย”
ก่อนหน้านี้ สทนช. ได้จัดประชุมสัมมนาถอดบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ฤดูฝน ปี 2565 กับ พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมสัมมนาจากทุกภาคส่วน ได้แก่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก 4 กระทรวง 29 หน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำและเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ ภาคประชาชน และสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ
เพื่อสรุปผลการดําเนินงานและสรุปผลถอดบทเรียน 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 และศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ที่ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมรับทราบปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ รวมทั้งเปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เพื่อนำไปปรับปรุงแนวทางการดำเนินการร่วมกัน อันเป็นการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนถัดไป ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย
รศ.บัญชา ขวัญยืน ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน ม.เกษตรศาสตร์ และรองประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า ที่ผ่านมาน้ำท่วมรอบ 2565 พบว่าก่อนที่พายุโนรูจะเข้า ทุ่งรับน้ำเราก็มีการบริหารจัดการได้ค่อนข้างดี แต่สำหรับทุ่งอื่น ๆ ยังบริหารจัดการได้ไม่เต็มที่เช่น บึงบอระเพ็ด ที่รับน้ำเข้าไปก่อน พอถึงเวลาน้ำมาก็มามาก
“ก่อนหน้านี้ผมเคยคาดการณ์ว่าปี 2565 จะมีน้ำมากกว่าร้อยละ 10 ขณะที่บางหน่วยงานก็ไม่ได้รับข้อมูล น้ำในเขื่อนก็ใกล้เต็ม แต่ก็ต้องบริหารจัดการ เพราะต้องรองรับพายุ แต่สำหรับเขื่อนขนาดใหญ่ เช่นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ก็รับได้ แต่เขื่อนทับเสลา และอีกหลายเขื่อน ไม่ได้พร่องเท่าที่ควร ที่เห็นได้ชัด เขื่อนกระเสียว ในจังหวัดสุพรรณบุรี ก่อนหน้านั้นแล้งมาก เลยรับน้ำและก็ไม่ค่อยได้พร่องรอ จึงทำให้หลายเขื่อนมีปริมาณน้ำเยอะเกิด อันที่จริงต้องคาดการณ์รอพายุไว้ด้วย”
สำหรับประเด็นการสื่อสารข้อมูลการเตือนภัยล่วงหน้า บทเรียนที่ผ่านมา ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด บางส่วนเข้าไม่ถึงการเตือนภัย จึงทำให้บางแห่งเราจะเห็นภาพ การพังทะลายของกำแพงกั้นน้ำหลายแห่งที่ทำให้น้ำท่วมซ้ำเติมหนักกว่าเดิม แทนที่จะมีการเข้าถึงการสื่อสารให้เร็ว เพื่อต้องเฝ้าระวังดีกว่าการเสียหาย
“ส่วนพื้นที่ที่ถูกปกป้องอย่าง กทม. ปทุมธานี นนทบุรี ก็ต้องเห็นใจคนรอบนอกที่รับน้ำอย่าง ชัยนาท ลงมาถึงอยุธยา ที่รับภาระไปมหาศาล ที่ต้องหาทางพูดคุยลดความเหลื่อมล้ำให้ได้”
อาจารย์ประเชิญ คนเทศ ที่ปรึกษามูลนิธิลุ่มน้ำท่าจีนนครปฐม กล่าวว่า บทเรียนน้ำท่วมปี 2554 ปี 2564 และปี 2565 คือข้อมูลสำคัญต่อการวิเคราะห์เปรียบเทียบออกแบบเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย อย่างปี 2564-2565 แม้ปริมาณน้ำท่าจีนจะมากกว่าปี 2554 ร้อยละ 12-14 ทำให้เห็นว่า จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดนครปฐม กลายเป็นจังหวัดที่ต้องแบกรับภาระการระบายน้ำครั้งนี้มาก ๆ เลย
“ขณะที่ 12 ทุ่งรับน้ำ การบริหารจัดการก็ยังไม่ลงตัวมากนัก และพบช่องว่า’ความเข้าใจ หลังน้ำจำนวนมหาศาลที่เอาเข้า กทม. ไม่ได้ หรือพื้นที่ปกป้องปทุมธานี นนทบุรี ในฐานะพื้นที่เศรษฐกิจ ภาระก็มาตกในพื้นที่ 12 ทุ่งรับน้ำ สุพรรณบุรี นครปฐม จังหวัดทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เรื่องนี้ เราต้องร่วมสะท้อนเพราะมันเกิดความเหลื่อมล้ำอยู่ จากความเหลื่อมล้ำด้านน้ำ ที่น้ำไม่มีที่ไป”
เราก็ต้องหาน้ำมีที่อยู่บ้าง อย่างในปีที่แล้ว 2565 จังหวัดนครปฐมที่บริเวณแม่น้ำท่าจีน รับได้น้ำ 250-290 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ส่งมาให้เรา 500-600 อย่างนี้ก็หนักไป เราเข้าใจมันไม่มีทางไปแต่ก็ต้องเห็นใจคนตอนล่างบ้าง ดังนั้นการน้อมนำเอาศาสตร์พระราชา การหาที่ให้น้ำอยู่และบริหารจัดการให้น้ำไป คือสิ่งจำเป็น
ในเมื่อพื้นที่รับน้ำฝั่งตะวันตกอย่างแม่น้ำท่าจีนเกิดความเหลื่อมอยู่ ทางที่จะแก้ได้คือภาษีน้ำท่วม ถ้ามีการปกป้องฝั่งตะวันออก หรือการปกป้องพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่เศรษฐกิจ คนเหล่านั้นต้องจ่ายภาษี และภาษีน้ำท่วมมันต้องถูกบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมเพราะมันสามารถใช้ได้ทันที สำหรับคนที่อยู่ในคันล้อม คนนอกคันล้อมหรือพื้นที่เปราะบางทั้งหมดเลยนี่เป็นความคิดริเริ่มที่ ทางภาคประชาสังคมก็มองว่าถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานรัฐต้องเข้าใจและหาแนวทาง เรื่องการจัดเก็บภาษีน้ำท่วมให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่แบกรับภาระน้ำเขาต้องลดความเหลื่อมล้ำและบริหารจัดการน้ำอย่างเที่ยงธรรม อย่างคนสุพรรณบุรี นครปฐม คนอีกหลายที่ต้องแบกรับภาระ
ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) มจธ. กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำรวมถึงโครงสร้างขนาดใหญ่ ต้องมองการขับเคลื่อนด้วยการนำศาสตร์พระราชามาใช้ด้วย ซึ่งเราคำนึงถึงธรรมชาติช่วยธรรมชาติประหยัดและชุมชนมีส่วนร่วม โดยชุมชนมีส่วนร่วมสามารถเข้ามาในกระบวนการ ทั้งในระดับตำบลหมู่บ้าน หรือหน่วยงานด้านน้ำ ถ้าใช้ศาสตร์พระราชา หาที่ให้น้ำอยู่ หาที่ให้น้ำใหล ทำที่เก็บน้ำ ไว้ใต้ดิน ก็จะส่งผลดีทั้งแล้งทั้งท่วม ยกตัวอย่างในภาคอีสาน
“ชุมชนบ้านลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ในวันนี้ มีน้ำท่าใช้ได้ตลอดปีด้วยการทำแก้มลิงและเก็บกักน้ำในคลองส่งน้ำมากกว่า 852 ล้านลิตร ที่ประสบผลสำเร็จถูกขยายผลไปสู่ชุมชนใกล้เคียงรวม 42 หมู่บ้านใน 5 ตำบล จนถือเป็นชุมชนตัวอย่างด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศ สามารถทำรายได้ให้ชุมชน เพิ่มรายได้ เก็ยน้ำเกินมาใช้ ประสบความสำเร็จ 300 % แล้วก็การเป็นอยู่ดีขึ้น ถ้าเรามีส่วนร่วมในการสร้างให้ประชาชนเข้มแข็งก็จะทำให้การจัดการน้ำเป็นระบบ ไม่ใช้รัฐทำฝ่ายเดียว แต่ส่วนอื่น ๆ ก็ต้องสอดคล้องกันไป องค์ความรู้ก็ต้องมีให้ด้วย ถ้าได้อย่างนี้จะทำให้เกิดการยั่งยื่นในการจัดการ”
สมพงษ์ พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอ่างทอง สะท้อนว่า น้ำท่วมปี 2565 มีบทเรียนสำคัญ คือเกิดความไม่เท่าเทียมด้านน้ำ ตั้งแต่น้ำท่วม น้ำแล้ง
- จะมีปัญหาเรื่องของเส้นทางน้ำ การระบายน้ำ ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก
- บางพื้นที่ที่ไม่มีน้ำ ต้องใช้น้ำบาดาล และไม่มีการกระจายน้ำอย่างทั่วถึง
- ปัญหาการชดเชยผลกระทบจากน้ำท่วมต่อเกษตรกรยังไม่ครบถ้วน
- ปัญหาขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบต่อไม้ยืนต้นสูงมาก ยังขาดการวางนโยบายการจัดการที่ดี