“รักรุ่นใหญ่ หัวใจไม่ว้าวุ่น” ความรักซีซันใหม่ เริ่มต้นได้…ทุกวัย

ในยุคที่สังคมเริ่มเข้าใจว่า “ความรักไม่มีกรอบอายุ” แต่ยังคงมีคำถามมากมายเกี่ยวกับ ความรักของคนรุ่นใหญ่ เวที “มนุษย์ต่างวัย FEST 2025” จึงเปิดพื้นที่แบ่งปันบทเรียน ประสบการณ์ ผ่านมุมมองความรัก โดย ดีเจพี่อ้อยนภาพร ไตรวิทย์วารีกุล ผู้ให้คำปรึกษาเรื่องหัวใจ รายการ Club Friday

ดีเจพี่อ้อย – นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล

บทสนทนาที่ทั้งอบอุ่น และเปิดเผย พร้อมด้วยคำคมที่ทิ่มแทงใจ แฝงด้วยแง่คิดที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้งของ ดีเจพี่อ้อย ที่ชวนย้อนบทเรียนเรื่องราวของความรักในซีซัน 2 ของชีวิต ที่อาจไม่ได้หวานชื่น แต่สิ่งที่ตามมาอาจเต็มไปด้วยภูมิปัญญา และความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์

‘สละโสด’ กับปรัชญาความรักที่ลึกซึ้ง

“อย่ามาบ่อย ถ้าไม่จริงใจ”

คือประโยคเริ่มต้นที่ดีเจพี่อ้อย ชวนเปิดประเด็น เธอเปรียบความรักกับคำว่า “สละโสด” ในภาษาไทย ที่ฟังดูนุ่มนวล แต่ซ่อนความหมายลึกซึ้ง เพราะ “ความโสดมีความสุข จึงต้อง เสียสละ ถ้าจะมีความรัก”

คำว่าสละโสด จึงไม่ใช่แค่การเปลี่ยนสถานะบนโซเชียลมีเดีย แต่เป็นการตัดสินใจที่ต้องใช้สติปัญญา ดีเจพี่อ้อย ชวนตั้งคำถามที่หลายคนอาจไม่เคยคิด ว่า ความรักทำให้เรามีความสุขจริงหรือไม่ ? เพราะหลายครั้งความคาดหวังในความสัมพันธ์ กลับกลายเป็นต้นตอของความทุกข์

เธอยกตัวอย่างที่เรียบง่ายแต่ตรงใจ แค่คนรักลืมวันเกิด ความสุขของวันนั้นก็พังทลาย ทั้งที่มันควรเป็นวันที่เราฉลองชีวิตตัวเอง ไม่ใช่รอให้ใครมาเติมเต็ม บทเรียนจากการจัดรายการ Club Friday ทำให้เธอเข้าใจว่า “มีคู่ ก็ต้องมีให้สุข โสด ก็ต้องโสดให้สุข ถ้ามีคู่แล้วทุกข์ ก็หนีไปมีความสุขกับความโสดเถอะ”

เปิดประตูหัวใจ ไม่ใช่ปิดกั้นความรัก

ดีเจพี่อ้อย ไม่ได้มองความรักเป็นเรื่องของบุคคลเพียงคนเดียว แต่เป็นเรื่องของครอบครัวและสังคม เธอหันมาพูดกับพ่อแม่ที่มีลูกวัยเริ่มมีความรัก ชวนให้เปิดใจและเปิดการสื่อสาร เพราะการ “เป็นทีมเดียวกัน” เริ่มจากความเข้าใจ ไม่ใช่การปิดกั้น

“ลองถามลูกว่า เขารักลูกได้เท่าที่แม่รักไหม” หรือ “ขอกินข้าวร่วมกันกับคนที่ลูกคบ” เป็นวิธีการสอดแทรกความห่วงใยโดยไม่ก้าวก่าย เป็นการเปิดพื้นที่ให้ลูกได้เล่าเรื่องราวแทนการซักถาม

อีกมุมหนึ่ง เธอก็ยังเตือนใจพ่อแม่ว่า พวกเขาเองก็เป็น “หัวใจ” ของลูก เมื่อถึงวัยหนึ่ง ลูกจะไม่อยากเห็นพ่อแม่เจ็บ เพราะมันทำให้เขาหายใจไม่ออก ดังนั้นการดูแลตัวเอง ไม่ปล่อยให้ใครมาทำร้ายหัวใจ ก็เท่ากับดูแลหัวใจของลูกด้วย นี่คือภูมิปัญญาของความรักที่เชื่อมโยงข้ามรุ่นข้ามวัย

ซีซัน 2 ของชีวิต กับโลกแห่งความรักใหม่

“เราไม่ได้แก่ลงอย่างเดียว แต่เรากำลังใช้ชีวิตซีซัน 2”

ประโยคนี้สะท้อนมุมมองที่ให้เกียรติ และให้คุณค่ากับคนสูงวัย ดีเจพี่อ้อย มองคนกลุ่มนี้ไม่ใช่เป็นภาระของใคร แต่เป็นผู้ที่เคยสร้างโลกใบนี้ไว้ให้รุ่นลูกหลาน

ในซีซัน 2 นี้ โลกของความรักก็เปลี่ยนไป โลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่หนึ่งของการเริ่มต้นความสัมพันธ์ แอปหาคู่อย่าง Tinder มีคนรุ่นใหญ่อยู่ไม่น้อย แต่การใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ให้ปลอดภัย จำเป็นต้อง จิตแข็ง และ “ไม่หลงเชื่อสิ่งที่ยังไม่เคยเห็นตัวตนจริง”

ดีเจพี่อ้อย ยังเตือนด้วยประสบการณ์จริงเกี่ยวกับมุกหลอกลวงในโซเชียล เช่น เรื่องคนรักชาวต่างชาติที่ส่งเงินในกล่องพัสดุ แต่ติดศุลกากร ต้องโอนเงินไปช่วย มุกที่แม้จะซ้ำ ๆ แต่ก็ยังมีคนโดนหลอกอยู่เรื่อย ๆ

“อยากมีความรักไม่ใช่เรื่องแย่ แต่ต้องดูให้ดีว่าเราอยู่กับ มิจจี้! (มิจฉาชีพ)”

คำเตือนที่ออกมาด้วยน้ำเสียงขำขัน แต่แฝงด้วยความห่วงใยอย่างแท้จริง…

ดีเจพี่อ้อย – นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล

ความเปราะบาง แสงแดด และใจที่ต้องการความอุ่น

ความเปราะบางไม่ได้มีเฉพาะในวัยใดวัยหนึ่ง ดีเจพี่อ้อย อธิบายด้วยความเข้าใจ ว่า บางคนเปราะช่วงหน้าฝน บางคนเปราะเมื่อแสงแดดหายไป เธอยังเล่าถึงซีรีส์เกาหลีเรื่อง Daily Dose of Sunshine ที่เป็นเรื่องของโรงพยาบาลจิตเวช มีห้องกระจกใสให้แสงแดดส่องถึง เพื่อเยียวยาจิตใจผู้ป่วย

แสงแดดเป็นทั้งแหล่งวิตามินและแหล่งเยียวยาความรู้สึก เรื่องนี้จึงสะท้อนว่า วันนี้สุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม หลายคนอาจต้องพึ่งจิตแพทย์ตั้งแต่วัยอนุบาล จนถึงวัยสูงอายุ ซึ่งเป็นช่วงที่คนจำนวนมากเผชิญกับคำถามใหม่ในชีวิตว่า ต่อจากนี้จะใช้ชีวิตอย่างไร ?

การที่เราเข้าใจความเปราะบางของตัวเอง ไม่ใช่ความอ่อนแอ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง

เรื่องเล่าจากผู้ฟัง “แม่กับคุณลุงที่น่ารัก”

เมื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมตั้งคำถาม หนึ่งในเรื่องราวที่สะท้อนความรักระหว่างวัยอย่างชัดเจน มาจากลูกสาวคนหนึ่งที่เล่าถึงแม่ที่อยู่คนเดียวมานาน หลังพ่อเสียไป แต่ช่วงหลังมี “คุณลุง” คนหนึ่งที่คอยดูแล ไปไหนมาไหนด้วยกัน ลูกสาวรู้สึกดีกับทั้งสองคน แต่อยากรู้ว่าจะพูดเรื่องนี้กับแม่อย่างไรดี โดยไม่ทำให้แม่รู้สึกอึดอัด

ฟังคำถามแล้ว ดีเจพี่อ้อยยิ้ม ก่อนบอกว่า นี่คือ “ความไม่ชัดเจนที่คนทุกวัยต้องเจอ” เธอแนะนำด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน ว่า เราอาจไม่ต้องพูดตรง ๆ ให้แม่รู้สึกเหมือนถูกสอบสวน แต่อาจเริ่มจากคำแซวเบา ๆ อย่างเช่น

“แม่ยังสวยอยู่เลยนะ ถ้ามีใครมาจีบแม่ตอนนี้ หนูห่วงป่ะเนี่ย ?”

“ถ้ามีคนมาจีบแม่ หนูไม่ห่วงนะ แต่ขอผ่านการคัดกรองของหนูก่อนนะคะ”

วิธีนี้คือ การเปิดประตู ให้แม่ได้พูดในสิ่งที่อาจเก็บไว้ในใจ และหากคุณแม่มีใจให้คุณลุงจริง ๆ คำพูดของลูกอาจช่วยปลดล็อกความลังเลของแม่ที่กลัวว่าลูกจะไม่ยอมรับ

ดีเจพี่อ้อย ยังเสริมว่า ความสัมพันธ์ไม่จำเป็นต้องนิยามให้ชัดในทันทีว่า เป็นแฟนหรือเป็นเพื่อน เพราะบางคนอาจอยู่ใน “ตำแหน่งเพื่อน 0.5” ที่มีทั้งความคุ้นเคย ความห่วงใย แต่ยังไม่กล้าก้าวข้ามเส้นบาง ๆ ระหว่างเพื่อนกับคนรัก

“เส้นบาง ๆ จากเพื่อนเป็นแฟน บางคนใช้เวลาเดินอยู่บนนั้นทั้งชีวิต”

คำพูดจากดีเจพี่อ้อย ที่ทำเอาหลายคนพยักหน้าด้วยความเข้าใจ…

บทเรียนจากความรัก เมื่อคนเก่ากลับมา

ความรักของคนสูงวัยไม่ง่ายกว่าเด็ก ดีเจพี่อ้อย สารภาพว่า การตอบปัญหาความรักของคนรุ่นใหญ่ ยากกว่าตอบคำถามของวัยรุ่น เพราะคนวัยนี้รู้หมดแล้วว่าอะไรผิด อะไรถูก มีวุฒิภาวะ มีประสบการณ์ ผ่านความเสียใจมาไม่น้อย แต่สิ่งที่ยากคือ “การกล้าข้ามเส้นบาง ๆ เพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง”

หนึ่งในตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมาอธิบาย คือ เรื่องราวจากประสบการณ์ในรายการ Club Friday ที่ดีเจพี่อ้อย ยอมรับว่า สะเทือนใจอย่างมาก โดยเป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่เลิกกับสามี เพราะจับได้ว่านอกใจ ทั้งที่มีลูกด้วยกันแล้ว ฝ่ายชายหันไปหาผู้หญิงอีกคน แต่สุดท้ายผู้หญิงคนนั้นก็ไปแต่งงานกับคนอื่น

ผู้ชายกลับมาหาภรรยาเก่า แต่เธอเลือกไม่รับเขาคืน เพราะไม่สามารถทนความระแวงได้อีก สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ฝ่ายชายฆ่าตัวตาย และครอบครัวของเขากลับตำหนิฝ่ายหญิงว่าใจร้าย ไม่ให้อภัย

“ทำไมคนที่ไม่ยอมรับการนอกใจ กลายเป็นคนผิด ?”

คำถามนี้สะเทือนใจดีเจพี่อ้อยอย่างมาก และกลายเป็นหนึ่งในคำคม ที่เธอมักเตือนคนที่ความรักกลับมาเคาะประตูใจอีกครั้ง

“ตอนคนเก่ากลับมา เช็กให้ดีว่าเขามีใจ หรือแค่ไม่มีที่ไป”

และอีกหนึ่งคำคมที่ดีเจพี่อ้อยฝากไว้ก็คือ

“อย่าอดทนเพื่อใคร จนใจร้ายกับตัวเอง”

เพราะความอดทน แม้เป็นคุณสมบัติที่ดี แต่หากถูกใช้ผิดที่ผิดทาง ก็อาจกลายเป็นกับดักของความสัมพันธ์ที่ทำร้ายตัวเองโดยไม่รู้ตัว

วันที่ร้องไห้ และการรักตัวเองอย่างพอเพียง

ช่วงท้าย ดีเจพี่อ้อย ทิ้งข้อความที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง โดยเธอเตือนใจว่า

“ไม่ว่าจะวัยไหน การยอมรับว่าตัวเองไม่ไหว ไม่ใช่ความอ่อนแอ แต่คือความกล้าหาญ”

“อย่าพยายามเข้มแข็งในวันที่อ่อนแอ เพราะแผลจะใหญ่กว่าเดิม”

คำเตือนที่มาจากประสบการณ์การใช้ชีวิตและการให้คำปรึกษา ย้ำว่า ไม่มีใครร้องไห้แล้วตายคาที่ ทุกคนผ่านช่วงเวลานั้นไปได้ และทุกคนจึงสมควรได้ “รักตัวเอง” อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ของที่เรารักใครสักคน

“ไม่ว่าจะวัยไหน ความรักเป็นจุดอ่อนของทุกคน แต่ถ้าเรารักตัวเองเป็น เราจะรอด”

เธอเตือนใจพ่อแม่อีกครั้งว่า พวกเขาคือหัวใจของลูก อย่าให้ใครทำร้ายใจของท่าน เพราะลูกเองก็เจ็บเช่นกัน

ความรักไม่มีวันหมดอายุ

“ถ้าจะมีใครสักคนเข้ามาในชีวิต ต้องทำให้เรามีความสุขมากกว่าตอนที่โสด ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องรีบโดดจากคาน”

เป็นอีกประโยคที่ลึกซึ้งจากดีเจพี่อ้อย ที่ช่วยสรุปแก่นแท้ของการใช้ชีวิตในซีซัน 2 ได้อย่างชัดเจน ชีวิตในวัยนี้ยังสามารถมีความรักได้ ถ้า “บังเอิญเจอก็โชคดี ไม่เจอก็อยู่ได้” ความรักไม่ใช่เรื่องที่ต้องแข่งขัน แต่ต้องอาศัยการเรียนรู้ การตั้งสติ และการสื่อสารที่ดี

“ไม่มีใครได้ดั่งใจเราไปเสียทุกอย่าง แต่ขอให้เรา รักตัวเองมากพอ ก่อนจะไปรักใคร”

เพราะความรักไม่มีวันหมดอายุ และหัวใจไม่มีวันแก่ ถ้าเรายังเลือกที่จะ “รักตัวเอง” เป็นอันดับแรกเสมอ

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS