ไม่เทรวม : แคมเพนคัดแยกขยะของ กทม.
นับ 1 ขบวนการแก้ปัญหาขยะล้นเมือง
แต่ละวัน กทม. มีขยะที่ต้องจัดการเกือบๆ 10,000 ตัน (หรือเท่ากับวาฬโตเต็มวัยราวๆ 100 ตัวมัดรวมกัน) ต้องอาศัยกำลังของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดกว่า 10,000 คน และงบประมาณในการจัดการหลาย 10,000 ล้านบาทต่อปี พูดกันบ่อยเรื่อง ‘ปัญหาขยะล้นเมือง’ แต่วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ สองมือสองไม้ของทุกคน จะช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ง่าย ๆ แค่ แยกขยะจากอาหารเหลือทิ้ง กับแคมเพน ‘ไม่เทรวม’ คัดแยกขยะ กับ กทม. เพราะว่าความจริงคือ ต่อให้ผู้ว่าฯ แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี อย่าง ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ก็ไม่อาจทลายกองภูเขาขยะได้เพียงคนเดียว แต่พลังของทุกคนรวมกันต่างหาก ที่จะทำให้ฝันเห็นเมืองน่าอยู่เกิดขึ้นได้จริง
The Active ชวนคุยกับ 3 บุคคล จากมุมของคนเก็บขยะ คนคัดแยกขยะ และคนคิดนโยบายกำจัดขยะของเมือง พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจ ไอเดีย และโอกาสดี ๆ ที่จะเปลี่ยนเมืองของเราให้ดีขึ้น เชิญอ่านกันเลย!
เรื่องในบ้าน ของ ‘แอนนา เสืองามเอี่ยม’
หลายคน รู้จัก แอนนา เสืองามเอี่ยม ในนามของ Miss Universe Thailand 2022 หากเคยได้อ่านประวัติก็อาจจะทราบว่า คุณพ่อและคุณแม่ของเธอเป็นพนักงานฝ่ายรักษาความสะอาดของกรุงเทพมหานครมานานกว่า 20 ปี อาชีพนี้เองที่เลี้ยงดูให้เธอเติบโตมาเป็นแอนนาทุกวันนี้
นอกจากต้องจัดการขยะมหาศาล พนักงานเก็บขยะยังต้องเสี่ยงอันตรายจากขยะที่ทิ้งรวม แอนนา บอกว่า คุณพ่อของเธอมักถูกแก้วบาด และไม้จิ้มทิ่มมือบ่อยมาก ทำให้ต้องปวดมือไปอีกหลายวัน ซึ่งการที่ออกมาพูดเรื่องการแยกขยะในวันนี้ อย่างน้อยแอนนาก็อยากให้คุณพ่อคุณแม่ทำงานโดยมีความเสี่ยงน้อยลง แต่ถ้ามองในภาพใหญ่เราจะเห็นว่าขยะมีปริมาณมากขึ้นทุกปีและภาครัฐใช้งบประมาณเกี่ยวกับการดูแลขยะจำนวนมาก ถ้าสามรถจัดการขยะได้ดีมากขึ้น รัฐอาจใช้งบฯ จัดการในเรื่องนี้น้อยลง และหยิบยกงบฯ ตรงนี้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชในด้านอื่น ๆ ได้ และช่วยลดมลพิษทางอากาศของเมืองด้วย ดังนั้นไม่มีอะไรที่เสียหายเลยหากจะแยกขยะโดยเริ่มจากตัวเรา
“หลายคนมักเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ไม่แยกขยะ แต่สิ่งที่เราควรโฟกัสมากที่สุดคือตัวเรา ว่าเราคัดแยกขยะก่อนที่เราจะโยนขยะทิ้งไปหรือเปล่า เป็นเราหรือเปล่าที่เทขยะรวมโดยไม่ได้แยก เพราะฉะนั้นต้องเริ่มต้นจากมือเรา เริ่มต้นจากก้าวเล็ก ๆ โดยแอนนาและ TPN ได้เริ่มรณรงค์เรื่องการคัดแยกขยะมาสักพักแล้ว และวันนี้มีโครงการดี ๆ มากมายของ กทม. ที่ทำให้เห็นว่า ขยะที่ถูกแยกออกมามีประโยชน์มากขนาดไหน เช่น ชุดสะท้อนแสงที่ทำจากขวดแก้ว หลายคนอาจจะคิดว่าขยะก็แค่ขยะ แต่ขยะมีประโยชน์จริง ๆ ถ้าเรารู้จักที่จะจัดการ”
รวมพลังคนรักสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติการแยกขยะในเมือง
ชยุตม์ สกุลคู ผู้ก่อตั้ง Tact ธุรกิจเพื่อสังคม ในนามภาคีภาคเอกชน ร่วมแคมเพน ‘ไม่เทรวม’ สะท้อนว่า ที่ผ่านมามีหลายองค์กรพยายามทำงานเพื่อจัดการขยะในเมืองอยู่แล้ว แต่ในโอกาสที่กรุงเทพมหานครผลักดันประเด็นการจัดการขยะ และเปิดโอกาสให้มีความเชื่อมโยงการทำงานของภาคประชาสังคม องค์กรธุรกิจเพื่อสังคม สตาร์ตอัปต่าง ๆ ให้เข้ามาทำงานร่วมกันกับ กทม. ก็มองว่าจะช่วยจัดการขยะได้ดีมากขึ้น
“เราจึงร่วมกันทำกลยุทธ์ในการคัดแยกขยะ โดยวางแผนว่าเราจะคัดแยกขยะกันอย่างไร ลงมติว่าจะเริ่มต้นจากการรณรงค์ให้ประชาชนทราบว่า กทม. ไม่เทรวมขยะที่เก็บมาจากครัวเรือน และขอให้ประชาชน คัดแยกขยะเปียก-แห้ง มาจากต้นทางด้วย ซึ่งมีแผนที่จะทำต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ”
เป้าหมายแรกคือ จะลดปริมาณขยะที่จะลงไปในหลุมฝังกลบให้ได้มากที่สุด นโยบายแรกจึงมุ่งเน้นเรื่องการคัดแยกที่ต้นทาง จะทำยังไงให้โรงเรียนอาคาร สถานที่ หรือพื้นที่สาธารณะของ กทม. มีการคัดแยกขยะ ข้อความที่ตั้งใจสื่อสารกับประชาชนผ่านการหารือร่วมกันทั้งรัฐ เอกชน ประชาสังคม คือ ‘ไม่เทรวม’
สำหรับสิ่งที่ tact ช่วยทำโดยเฉพาะคือ จุดทิ้งขยะที่ออกแบบให้คนแยกขยะได้ง่ายขึ้น สำหรับงานอิเวนต์ จะจัดให้มีจุดทิ้งขยะที่ประกอบไปด้วยป้ายดีไซน์ตั้งอยู่ที่ถังทิ้ง มีการอบรมแนวทางจัดการเพิ่มเติมให้กับสำนักสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้สามารถจัดการต่อได้สะดวก ซึ่งชุดเซ็ตสำหรับการแยกขยะง่าย ๆ ก็ได้จัดไปตั้งไว้แล้วหลายที่ของ กทม.
”เราพยายามกระตุ้นให้เกิดการคัดแยกขยะในงานเทศกาลต่าง ๆ ที่ถูกจัดขึ้น เทคนิคคือเราต้องให้เขาแยกน้ำ กับอาหารออกมาก่อน ถ้าน้ำกับอาหารไม่ปนกับสิ่งอื่น ๆ ที่เหลือสามารถเอาไปกำจัดได้ เช่น เอาไปรีไซเคิล หรือเผา เราจะต้องกระตุ้นให้ประชาชนเห็นว่ามันต้องแยกนะ ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งการมีคนยืนบอกก็ช่วยได้ หรือการมีตัวอย่างขยะที่เห็นชัด ๆ ก็ช่วยได้เหมือนกัน กระบวนการแบบนี้ไม่ว่าใครก็ทำได้ ไม่ต้องลงทุนอะไรมากเลย เป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ของงานอิเวนต์ที่ทำได้เลย”
ชยุตม์ บอกว่า หลังจากนี้จะมีการพัฒนา Zero Waste Program ในสถานที่ต่าง ๆ โดยพยายามจะทำเหมือนแผนที่ขึ้นมา เพื่อปักหมุดเชิญชวนโรงเรียน สำนักงาน ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่เป็นภาคเอกชนเข้ามาทำโครงการรณรงค์ให้ขยะเป็นศูนย์ร่วมกัน และ กทม. อาจจะมีกลไกประกาศความร่วมมือ แสดงให้เห็นถึงความพยายามทำเพื่อสังคมของภาคส่วนต่างๆ กทม. จะได้เป็นเหมือนคนช่วยรวบรวมฐานข้อมูลความสำเร็จตรงนี้ไว้ด้วยกัน
”เราอยากจะให้ กทม. เก็บข้อมูลแล้วนำมาลดค่าขยะด้วยซ้ำ ซึ่งเราจะเห็นว่าค่าขยะทุกวันนี้มันถูกมาก อาจจะมีการขึ้นค่าขยะสำหรับคนที่ไม่แยกขยะ และลดค่าขยะให้กับคนที่แยก ก็ชั่งไปเลยว่า ขยะ 5 ตัน ถ้าวันนี้คุณแยกขยะรีไซเคิลไป 3 ตัน คุณก็ลดค่าขยะ จ่ายน้อยกว่าคนที่ทิ้งรวม”
ถามว่า กทม. ควรทำอะไรต่อหลังจากนี้ ? ชยุตม์ เสนอ 2 เรื่องหลัก คือ หนึ่งการสร้างแรงจูงใจ เช่น ช่วยให้คนคัดแยกขยะได้แบรนด์ ได้ชื่อเสียง หากเป็นเอกชนอาจจะได้ลดราคาค่าขยะ หากเป็นครัวเรือนจะทำยังไงให้การแยะขยะง่าย สะดวกมากขึ้น สุดท้ายคือสร้างจิตสำนึกให้คนทั่วไป สิ่งนี้สำคัญ เพราะวันนี้เห็นว่าหลายคนตื่นตัวมากขึ้นแล้ว หลายบ้านแยกได้แล้ว แต่จะทำยังไงให้การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นและต่อเนื่อง
”หลายคนตั้งคำถามว่า นำร่อง 3 เขตแล้วพื้นที่ฉันหละ ผมว่าถ้า กทม. ทำให้เร็วได้ในเรื่องการจัดการทรัพยากร เช่น ระบบการจัดเก็บขนส่ง รถจัดเก็บ พนักงานที่พร้อม การสื่อสารที่ชัดเจน แรงจูงใจของเอกชน ภาคประชาชน คิดว่าขยะ 10,000 ตันที่เป็นปัญหาในแต่ละวันอาจจะแก้ไขได้ในเวลาอันรวดเร็ว”
ชยุตม์ ย้ำว่า หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการจัดการขยะ เขามีการปลูกฝังให้การศึกษามาตั้งแต่ในโรงเรียนตั้งแต่เรื่องประเภทขยะ ก็เลยง่ายสำหรับเขา แต่ถ้าจะมาใช้กับทั้ง กทม. ในทันที ก็คงต้องคิดว่าจะทำยังไงให้ประชาชนร่วมมือ อาจจะต้องอิงกับปัจจัยทางการเงิน หรือพฤติกรรมศาสตร์ ความยากคือจะชวนยังไงให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อเราไม่สามารถแจกเงินให้ทุกคนที่แยกขยะได้ ขยะหลายชนิดแยกมาก็ขายไม่ได้แต่จะทำยังไงให้คนรู้สึกว่า เป็นหน้าที่ของพลเมืองรูปแบบใหม่
‘ไม่เทรวม’ ทั้งคนทิ้ง ทั้งคนเก็บ
“คำว่าไม่เทรวม มีความหมายที่ลึกซึ้ง ทั้งชวนให้ประชาชนไม่เทขยะทุกประเภทรวมกัน และอีกอย่างก็บอกประชาชนว่าต่อไปนี้ กทม. ไม่เทรวมแล้วนะ คือการเจอกันครึ่งทาง ระหว่างประชาชนกับ กทม. เมื่อก่อนเราขอให้ประชาชนแยกขยะเยอะ ยุ่งยากชีวิต แต่ตอนนี้เราบอกว่าจะมาเจอกันครึ่งทาง คุณแยกหน่อยไม่ต้องยากมาก แยกแค่เศษอาหารอย่างเดียว แล้ว กทม. ก็จะแยกด้วย เราก็มาเจอกันคนละครึ่งทาง”
พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แคมเปญ ‘ไม่เทรวม’ มาจากการที่ประชาชนตั้งคำถามว่า จะแยกขยะทำไมเดี๋ยว กทม. ก็จะมาเทรวม อย่างที่สองคือสถิติพบว่า ขยะจากเศษอาหารมีจำนวนเยอะมากราว 45% ดังนั้นถ้าสามารถแยกขยะอาหารออกมาได้ก่อน ที่เหลือก็จัดการได้ง่ายขึ้น กทม. ก็เลยไปหาแนวทาง อย่างแรกคือทำยังไงให้ประชาชนไม่เทรวม ด้วยการแยกเศษอาหารออกมาก่อน ตอนนี้ขอแค่ 2 ประเภท คือ เศษอาหารและอื่นๆ จะใส่ถุงเขียว ถุงดำ ถุงก้อปแก้ป อะไรก็ได้ คิดว่าง่ายมากกว่าการขอให้แยกขยะทุกประเภทเหมือนก่อนหน้านี้ และเริ่มเป็นเส้นทางนำร่องเพียงบางพื้นที่ แบ่งออกเป็น 3 ระยะเพื่อติดตามประเมินและปรับปรุงแก้ไข
“เหตุผลที่วันนี้เลือกแค่ 3 เขต เพราะเราอยากทดลองให้โมเดลมันชัด ว่าทำได้ดีนะ แล้วจึงจะขยายผล โดยเริ่มจาก พญาไท หนองแขม และปทุมวัน ซึ่ง 2 เดือนนี้ที่ทำก็ยังไม่ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่เขต แต่จะเป็นเส้นทางนำร่องก่อนราว ๆ พันว่าครัวเรือน เพื่อให้มั่นใจว่าทำได้ในเชิงปฏิบัติ ว่าถังขยะท้ายรถรองรับได้จริงไหม ต้องถามความเห็นจากพนักงานฝ่ายรักษาความสะอาด ด้วย และจะมีการจัดรถเปิดข้างวิ่งในเส้นทางที่มีเศษอาหารเยอะ เราก็จะมีการปรับเปลี่ยนปรับปรุงไปเรื่อย ๆ”
สำหรับแผนดำเนินแคมเพน ไม่เทรวม ระยะที่ 1 (ก.ย.-ต.ค. 65) ช่วงนำร่อง กำหนด 1 เขต 1 เส้นทาง จากนั้นระยะที่ 2 (พ.ย.-ธ.ค. 2565) จะขยายเป็นเก็บทุกเส้นทางในระดับแขวง และระยะที่ 3 (ม.ค.- มี.ค.66) จะขยายทั่วทั้งพื้นที่ 3 เขตนำร่อง ขยายผลเต็มพื้นที่เขต สำหรับการเก็บขยะแยกประเภท แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ใช้รถก็บขนมูลฝอยแบบเปิดข้าง ขนาด 1.5 ตัน จำนวนเขตละ 1 คัน จัดเก็บขยะเศษอาหาร คนละเวลากับการเก็บขยะทั่วไปปกติ รวมทั้งดัดแปลงรถเก็บขนมูลฝอยแบบอัดขนาด 5 ตัน โดยติดตั้งถังรองรับขยะเศษอาหารที่ท้ายรถเพิ่มเติม 1 ถัง พร้อมถังสำรองติดตั้งบริเวณคอรถอีกจำนวน 2 ถัง สำหรับจัดเก็บขยะเศษอาหารพร้อมกับการเก็บขยะทั่วไป
สำหรับขยะเศษอาหารที่จัดเก็บได้สำนักงานเขตจะรวบรวมส่งโรงงานกำจัดมูลฝอยด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ อ่อนนุช (Mechanical and Biological Waste Treatment : MBT) เพื่อหมักเป็นก๊าซผลิตไฟฟ้า และในปี 2566 จะเริ่ม 3 เส้นทางนำร่องและระดับแขวงในพื้นที่อีก 47 เขตที่เหลือต่อไป
พรพรหม กล่าวเพิ่มเติมว่า ‘รถ’ สร้างความเชื่อมั่น แต่ กทม. ก็อยากจะสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนช่วยกันแยกขยะเพิ่มเติม อาจจะเป็นเรื่องของการให้สติกเกอร์บ้านที่คัดแยกขยะ ตามทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ปลุกกระแสว่าคนอื่นทำกันเราก็ทำด้วย ไม่ด้อยไปกว่ากัน และในอนาคตอาจจะพิจารณาค่าธรรมเนียมเรากำลังพูดคุยกันอยู่ว่า ถ้าบ้านไหนแยกขยะ สามารถลดค่าขยะได้ไหม เหมือนเป็นแรงจูงใจอีกมิติหนึ่งด้วย
“กทม. มีที่ใช้ประโยชน์สำหรับเศษอาหารอยู่แล้ว ทั้งพื้นที่สำหรับทำปุ๋ย หรือแม้แต่การส่งต่อไปผลิตเป็นแก๊สชีวภาพ เพื่อผลิตไฟฟ้า เราก็มีกระบวนการพร้อมรองรับอยู่แล้ว ตั้งแต่ต้นน้ำคือการแยกขยะ กลางน้ำคือตัวรถไม่เทรวม และสุดท้ายขยะเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง แต่ทางที่ดีไม่ต้องรอ กทม. มาเก็บ คุณใช้ประโยชน์ได้เลย ถ้าที่บ้านมีพื้นที่ทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร ถ้าลดได้ตั้งแต่แหล่งกำเนิด กทม. ก็ไม่ต้องมาเก็บ เป็นการลดตั้งแต่ต้นทาง”
ในเชิงกลไกการบริหาร กรุงเทพมหานคร ได้จัดตั้ง ‘คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านการจัดการขยะต้นทางของกรุงเทพมหานคร’ มีบทบาทในการกำหนด ติดตาม และทำให้แคมเปญ ‘ไม่เทรวม’ มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่เป้าหมายในการจัดการขยะของเมืองได้จริง ดังนี้
1. กำหนดยุทธศาสตร์แผนการดำเนินการการจัดการขยะต้นทางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
2. ติดตาม เร่งรัด และผลักดันการดำเนินตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และยุทธศาสตร์ตามข้อ 1 ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะต้นทางทั้งหมด
3. ส่งเสริม สนับสนุน และให้คำปรึกษา รวมถึงเสนอแนะแนวทางและข้อคิดเห็นใน การจัดการขยะต้นให้กับหน่วยงานภายใต้สังกัดกรุงเทพมหานคร รวมถึงประชาชนในพื้นที่
4. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน เพื่อช่วยดำเนินงานที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควร
5. ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ออกคำสั่ง
6. ปฎิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย
สำหรับกระบวนการจัดการขยะอย่างยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งแวดล้อมยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556-2575) กำหนดเป้าหมายการเป็น “มหานครสีเขียว สะดวกสบาย” ดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมเมืองครบวงจร รวมถึงการกำกับ ควบคุม คุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งด้านคุณภาพอากาศ เสียง และขยะ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเมืองอย่างสอดประสานตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)