ออกแบบใหม่ ให้การเก็บขยะชายหาด ได้มากกว่าเศษขยะ กับ Design Lab

ประเทศญี่ปุ่น มีการจัดการด้านขยะหรือของเสียจะดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ก็ประสบปัญหาเดียวกันกับประเทศที่เป็นเกาะ หรือที่มีพื้นที่ติดทะเล นั่นคือ “เศษขยะทางทะเล” ที่นโยบายภายในประเทศเองก็ไม่สามารถต่อกรต้นตอของขยะพวกนี้ได้


การแก้ไขปัญหาการจัดการขยะริมชายฝั่ง หรือขยะทางทะเล หลาย ๆ คน คงนึกถึงรูปแบบการใช้อาสาสมัครเดินเก็บขยะริมชายฝั่ง ก่อนนั่งจิบน้ำมะพร้าว รับลมริมทะเล


การอาสาเก็บขยะก็คงเป็นหนึ่งในทางออกของการจัดการขยะที่ทุกคนลุกขึ้นมาร่วมมือกันทำได้ แต่จริง ๆ แล้ว การแก้ปัญหาขยะทางทะเลยังมีอีกหลายวิธีที่น่าสนใจ และอาจจะนำไปต่อยอดเป็นทางออกระยะยาวได้ อย่างเช่นการใช้วิธีการ และเครื่องมือการออกแบบมาผสมผสาน เพื่อนำเสนอทางออกของขยะริมชายฝั่ง จากทีม DLX หรือ Design Lab ภายใต้ มหาวิทยาลัยโตเกียว

ที่จับถุง PIGRA ทำให้การเก็บขยะพลาสติกง่าย และสนุกกับเด็ก ๆ 

PIGRA (พิกรา) เป็นเครื่องมือการให้ร่วมออกแบบตามแนวทาง “Making picking litter fun for everyone” หรือ การทำให้การเก็บขยะเป็นเรื่องสนุกของทุกคน โดยทีม DLX ได้สร้างที่จับถุงเก็บขยะออกแบบได้เองทำจากกระดาษ (พิกรา) การเดินเก็บขยะตามชายฝั่งมีความยากลำบากด้วยลมที่ทำให้ถุงขยะปลิวไปมา ยากต่อการเก็บขยะเข้าถุงพลาสติก


ที่จับถุง พิกรา ทำจากกระดาษ ในรูปแบบที่เอามาติดตั้งได้ในเวลาไม่ถึงนาที ตัวกระดาษเป็นสีขาวเพื่อให้ผู้ใช้งานไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่สามารถระบายสี วาดภาพตามความชอบลงไปได้ ก่อนจะประกอบสร้างด้วยวิธีคล้ายกับการพับกระดาษออริกามิ และนำไปลงพื้นที่จริง เก็บขยะได้จริง

ภาพ: Design-Led X

ในสถานการณ์ลงพื้นที่เก็บขยะพลาสติก ฟังก์ชันของพิกรา นอกจากความสวยงามคือการออกแบบให้ถุงพลาสติกที่ปกติต้องใช้สองมือในการกางถุงเพื่อใส่ขยะลงไป ใช้เพียงมือเดียวได้ และให้อีกมือ ถือที่คีบหรือถือขยะได้อย่างถนัดมือ อีกส่วนที่น่าสนใจคือการออกแบบพิกราจากกระดาษ นั่นแปลว่ามันสามารถพับเก็บลงไป และนำมาใช้ซ้ำกับถุงพลาสติกอื่น ๆ ได้อีกเรื่อย ๆ รวมถึงการจัดการพิกราก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าพลาสติกหรือวัสดุชนิดอื่น ๆ

พลาสติก สู่ ปัญหาไมโครพลาสติก

ในการจัดเวิร์คช็อปของ DLX ให้โครงการผู้นำของอินโดแปซิฟิก โครงการของ UNITAR ทาโทมิ จาก DLX ถามคนในกิจกรรมว่า มีใครรู้เรื่องปัญหาจากไมโครพลาสติกบ้าง ทุกคนยกมืออย่างรวดเร็ว แต่พอถามต่อว่า มีใครเคยเห็นไมโครพลาสติกจริง ๆ บ้าง กลับมีคนยกมือเพียงไม่ถึง 5 คนจาก 50 คน

OMNI สำรวจและพัฒนาระเบียบวิธีใหม่ในการวัดผลทางทะเลผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน (ภาพ : UNITAR)

นี่เป็นการย้ำถึงความมุ่งมั่นของ DLX ที่อยากจะทำให้คนตระหนัก และเห็นถึงไมโครพลาสติก ว่ามันอยู่ใกล้ตัว และรอบตัวเรามากแค่ไหน อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เรามองเห็นทุกวัน ผ่านการออกแบบเครื่องมือที่ช่วยให้คนทั่วไป แม้ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ก็มองเห็นหรือเข้าใจปัญหาไมโครพลาสติกได้


DLX จึงริเริ่มทำโปรเจกต์ OMNI Microplastics ที่ใช้กระบวนการ 3 อย่างในการแก้ปัญหาไมโครพลาสติก นั่นคือ งานวิจัย, งานออกแบบ เครื่องมือ และ งานเผยแพร่ความรู้

เก็บข้อมูลแบบมีส่วนร่วม : กิจกรรมสุ่มเก็บตัวอย่างไมโครพลาสติก

การสุ่มเก็บตัวอย่างไมโครพลาสติก หรือ Microplastics Sampling Workshop เป็นกิจกรมที่ DLX พากลุ่มที่สนใจลงพื้นที่ชายหาดในหลากหลายพื้นที่ของญี่ปุ่น และเลือกพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลไมโครพลาสติก โดยมีขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้

  1. จัดหาพื้นที่เก็บข้อมูล โดยแนะนำให้เลือกพื้นที่ที่ห่างจากขอบชายฝั่งออกมา 5-10 เมตร เพราะการเก็บตัวอย่างจากทรายที่แห้งจะเก็บง่ายกว่า

  2. เลือกพื้นที่เก็บตัวอย่าง โดยวัดจากกรอบ 40 ตารางเซนติเมตร และเก็บตัวอย่างทรายลึกลงไป 5 เซนติเมตร
  3. เก็บตัวอย่างทราย 

  4. ร่อนทรายออกให้เหลือแต่พลาสติก โดยถ้าหากว่ายังมีทรายปนอยู่ ให้จำแนกด้วยตาเปล่าดูเลยว่าชิ้นไหนมีสีหรือรูปร่างที่ดูไม่เหมือนทราย

  5. ตรวจและค้นหาเศษไมโครพลาสติก

การสำรวจไมโครพลาสติกง่าย ๆ ที่อาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบมากนัก เพราะหากยึดตามหลักแล้ว เราอาจจะไม่สามารถมองเห็นไมโครพลาสติกได้ด้วยตาเปล่าทุกชิ้น แต่งานเก็บข้อมูลนี้เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าร่วมได้ และได้สัมผัสกับไมโครพลาสติกในพื้นที่จริง ๆ 


สิ่งที่ได้มากกว่าไมโครพลาสติก คือ ความตระหนักรู้ของผู้เข้าร่วม ถึงปัญหาของขยะทางทะเล รวมถึงความรู้สึกถึงปัญหาไมโครพลาสติก ว่ามันอยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด ทางฝั่งทีมงาน DLX ก็สามารถนำข้อมูลการสำรวจจากหลายพื้นที่รอบประเทศญี่ปุ่นมารวมเป็นฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์ เพื่อให้มีข้อมูลเรื่องเศษพลาสติกริมชายหาดได้ครอบคลุมมากขึ้นนั่นเอง

ภาพ : UNITAR

ออกแบบเครื่องมือ : เครื่องกระแสน้ำวน (Vortex Device)

เครื่องกระแสน้ำวนสามารถใช้ตรวจหาไมโครพลาสติกที่มองเห็นได้จากน้ำทะเลริมชายฝั่ง เครื่องถูกออกแบบมาให้มองเห็นไมโครพลาสติกได้ง่าย และในเว็บไซต์ของ DLX ก็ยังมีการเปิดเผยวิธีการทำเครื่องกระแสน้ำวนด้วยตัวเองได้อีกด้วย


จุดประสงค์ของเครื่องน้ำวนนี้ คือ การทำให้ไมโครพลาสติกมองเห็นได้ เพราะหลายคนคงไม่เคยได้สัมผัสกับไมโครพลาสติกในระบบนิเวศของเราจริง ๆ


โดยเครื่องประกอบไปด้วยสองส่วน ส่วนแรกเป็นที่ดูดปั๊มน้ำขึ้นมา และมีการติดทุ่น (สีเหลือง) ให้เครื่องส่วนนี้ลอยอยู่ในระดับน้ำทะเล ให้ช่องพอดีกับน้ำ ตัวเครื่องส่วนนี้ทำจากถังน้ำในซื้อมาจากร้านทั่วไปแล้วเอามาเจาะรูเฉย ๆ เลย โดยตัวถังจะถูกเจาะทั้งหมดสองรู คือรูด้านบน เพื่อเลือกเก็บตัวอย่างน้ำในผิวน้ำทะเล หรือรูด้านล่างถังน้ำ เพื่อเลือกเก็บตัวอย่างน้ำในระดับพื้นทะเล

อีกส่วนหนึ่งของตัวเครื่องคือเครื่องที่ใช้คัดแยกน้ำกับเศษพลาสติก โดยจะมีฟิลเตอร์หรือตัวกรองที่แยกเศษพลาสติกออกจากน้ำ โดยตัวกรองทำมาจากเหล็กแสตนเลส เพราะตะแกรงเหล็กแข็งแรงและคงทนมากกว่าพลาสติก และหากตะแกรงพลาสติกพังขึ้นมาก็จะกลายเป็นขยะไมโครพลาสติกเพิ่มขึ้นไปอีก 


โดยตัวเครื่องส่วนนี้ ใช้วัสดุที่สามารถมองทะลุได้ ทำให้เราสามารถมองเห็นไมโครพลาสติกได้ และที่เครื่องนี้ชื่อว่ากระแสน้ำวน (vortex) ก็เป็นการออกแบบเครื่องเพื่อที่จะช่วยให้น้ำไหลไปในทางเดียวกัน ให้การกรองพลาสติกทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น


การออกแบบเครื่องเป็นกระแสน้ำ Vortex คือหนึ่งในตัวอย่างของการใช้ดีไซน์มาช่วยให้เครื่องมือใช้การง่ายขึ้น


แม้เครื่องกระแสน้ำวนนี้จะไม่ได้แม่นยำในทางวิทยาศาสตร์มากเมื่อเทียบกับอุปกรณ์ราคาแพง แต่เป็นเครื่องที่ใช้ได้ง่าย ใช้ได้ทุกคน และตอบโจทย์การที่ทุกคนสามารถใช้ตาเปล่าในการมองหาไมโครพลาสติกในน้ำทะเลจริง ๆ โดยจะจำแนกง่าย ๆ ได้ด้วยการดูสี เศษที่เป็นสีแดง ฟ้า เขียว หรือสีการสะท้อนแสง 

นอกจากนี้ DLX ยังเผยแพร่คู่มือวิธีการทำ Vortex Device แบบ DIY หรือทำได้ด้วยตัวเองที่บ้าน ตอกย้ำว่า เครื่องกระแสน้ำวนนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างการออกแบบที่มาช่วยให้คนทั่วไปตระหนักถึงปัญหาได้มากขึ้น ให้ทุกคนเห็นว่าปัญหาไมโครพลาสติกเป็นเรื่องใกล้ตัว

เวิร์คช็อป Design Thinking ให้ไมโครพลาสติกไม่ได้อยู่แค่ในห้องแลป

DLX จัดเวิร์คช็อปเรื่องการจัดการขยะให้โครงการ UNITAR Leaders of Free and Open Indo-Pacific โดยได้พาผู้เข้าร่วมระบายสีที่จับถุง PIGRA ก่อนลงพื้นที่ชายหาดบนเกาะอาวาจิ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำการสุ่มเก็บตัวอย่างไมโครพลาสติก และทดลองใช้เครื่องกระแสน้ำวนในพื้นที่ทะเลจริง


หลังจากนั้น DLX จึงชวนผู้เข้าร่วมคิดต่อถึงปัญหาเศษขยะทางทะเล นำมาสู่การทดลองใช้เครื่องมือ Design Thinking เพื่อแก้ปัญหาขยะตามแนวนักออกแบบ


พร้อมทั้งได้ร่วมกันทำความเข้าใจปัญหา (empathize) จากทั้งฝั่งเอเชียและแปซิฟิกโดยร่วมกันคิดถึงปัญหาขยะทางทะเลต่าง ๆ ต่อมา นิยาม (define) เจาะปัญหาที่อยากแก้ไข สร้างสรรค์ทางออกของปัญหาให้ชัดเจนขึ้น (ideate) ร่วมกันวาด ออกแบบเครื่องมือ (prototype) ลองลงมือทำจริง สุดท้ายก็ทดสอบ (test) ในตลาด พรีเซนต์ให้ทุกกลุ่มฟัง และลงคะแนนกันในเวิร์คช็อป

ตัวอย่างการทำงานของกลุ่มหนึ่งในการทำ design thinking workshop ได้เริ่มจากการนำเสนอปัญหาขยะทางทะเลของแต่ละประเทศ ดังนี้

  • ไทย : ไม่มีระบบจัดการขยะอวนจับปลา นักท่องเที่ยวหนาแน่นในบางพื้นที่ชายหาด และเป็นผู้ผลิตขยะพลาสติกจำนวนมาก

  • อินโดนิเซีย: เป็นผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ ระบบการจัดการขยะยังไม่สมบูรณ์ นำมาสู่การก่อขยะไมโครพลาสติก มลพิษชายฝั่งทะเลและในแม่น้ำ

  • ตองกา : สามารถพบเห็นขยะถุงพลาสติก ขวดน้ำ และมีท่อน้ำทิ้งและมีการทิ้งน้ำมันลงในแหล่งน้ำ

  • หมู่เกาะโซโลมอน : เช่นเดียวกับตองกา คือสามารถพบถุงพลาสติกและขวดน้ำ แต่มีกระป๋องเหล็ก เสื้อผ้า และเรือที่อับปางในพื้นที่ทะเลเพิ่มเติมมา

ต่อมา ได้มีการเจาะปัญหาที่อยากแก้ไขในขั้นตอนการนิยามปัญหา จึงได้ข้อสรุปว่า สมาชิกกลุ่มอยากแก้ปัญหาขยะในแหล่งน้ำจืดอย่างแม่น้ำและลำธาร ในบริเวณก่อนที่จะปล่อยออกมาทางทะเล


ในขั้นตอนการสร้างสรรค์ทางออก ก็ได้มีการออกแบบเครื่องมือหลากหลายรูปแบบที่จะช่วยดักขยะที่ปลายแม่น้ำก่อนไหลลงสู่ทะเล และปรับจุดความสนใจไปที่การดักเก็บขยะไปพร้อม ๆ กับศึกษาประเภทของขยะด้วย อย่างเช่นการดักขยะแม่เหล็ก หรือการจำแนกขยะขนาดเล็กหรือใหญ่

และเมื่อลองผลิตตัวอย่างแล้ว สมาชิกในกลุ่มก็ได้เพิ่มเติมไอเดียต่าง ๆ เข้ามา อย่างเพื่อนในกลุ่มเสนอระบบที่เมื่อขยะเต็ม ให้สามารถนำขยะออกได้อัตโนมัติ ก่อนจะไปนำเสนอไอเดียให้ทุกกลุ่มได้ฟัง


ในการเสนอไอเดียก็สามารถนับได้ว่าเป็นการทดสอบไอเดียในตลาดจริง ที่มีผู้ฟังหลากหลาย และทุกคนสามารถร่วมโหวตไอเดียที่ชอบที่สุด และไอเดียที่ดูจะขายได้จริงมากที่สุดในตอนท้าย นำมาสู่การได้ฟังเสียงตอบรับ คอมเมนต์ และพร้อมนำไอเดียสร้างสรรค์ที่ผ่านการออกแบบไปปรับใช้ได้จริง

เก็บขยะอย่างเดียว ไม่พอแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

OMNI (ย่อมาจาก Ocean Monitoring Network Initiative หรือ เครือข่ายการริเริ่มสังเกตุการณ์มหาสมุทร) เป็นเครือข่ายสังเกตการณ์ทางทะเลขนาดใหญ่ที่ดำเนินการโดยพลเมือง ซึ่งจัดทำโดย DLX Design Lab ณ สถาบันวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยโตเกียว 


เป้าหมายของ OMNI คือ การช่วยให้ผู้คนเข้าใจมหาสมุทรได้ดีขึ้น ผ่านการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้งานง่ายและใช้ได้กับทุกคน (ตั้งแต่เด็กไปจนถึงนักวิจัย) เพื่อวิเคราะห์สถานะของทะเลในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ 

ภายในโครงการ OMNI นี้ มีโครงการย่อยส่วน OMNI Microplastic ดูแลงานวิจัยวิทยาศาสตร์โดยพลเมือง ที่มุ่งเน้นไปที่ไมโครพลาสติก และโครงการส่วน OMNI Marine Litter เป็นงานวิจัยวิทยาศาสตร์โดยพลเมือง ที่เกี่ยวข้องกับขยะทางทะเล


เป้าหมายของ OMNI ที่ใช้การออกแบบเป็นเครื่องมือต่อกรกับไมโครพลาสติก ตั้งแต่การเก็บข้อมูล การออกแบบเครื่องมือ และการเผยแพร่ความรู้ให้คนทั่วไป นับได้ว่าเป็นการทดลองหาทางออกใหม่ ๆ ให้กับขยะทางทะเล ที่ต้องร่วมมือกันในภาคประชาชนในการเก็บข้อมูลและสร้างความตระหนัก เพื่อนำไปสู่ภาคการออกแบบนโยบายจัดการขยะ 


ตัวอย่างการปรับใช้เครื่องมือและความรู้ของการออกแบบ ทั้งในมิติของการออกแบบงานวิจัย ออกแบบเครื่องมือ และออกแบบกิจกรรม ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ของปัญหาให้สังคม นำไปสู่ความห่วงใยในสิ่งแวดล้อมทั้งในกลุ่มผู้ใหญ่ไปจนถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่


เครื่องมือของ DLX เป็นตัวอย่างของการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม นับเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ ๆ ที่น่าจะนำมาปรับใช้ได้ได้สภาพแวดล้อมของประเทศไทย ทั้งในด้านของการจัดการขยะ การให้ความรู้ความเข้าใจกับเยาวชน


และไม่แน่ว่าเครื่องมือออกแบบใหม่ ๆ เหล่านี้สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวงการวิทยาศาสตร์ (อย่างการลงสำรวจเก็บข้อมูล)​ หรือไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงภาคนโยบายในส่วนสิ่งแวดล้อม การศึกษา หรือการจัดการปัญหาขยะในทะเล ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

อนวัช มีเพียร

รักโลก แต่รักคนบนโลกมากกว่า