ครู ในโลกนี้ เกิดมาบนความคาดหวังให้ทำหน้าที่แม่พิมพ์ที่ดี และอำนวยความสำเร็จให้เกิดขึ้นแก่ศิษย์ทุกคน
นั่นอาจทำให้ มนุษย์ครู จำต้องแสดงความสามารถเหนือปุถุชน ในชั่วโมงที่ การศึกษา ถูกท้าทายด้วยแรงกดดันสารพัดด้าน
ต้าร์ – อธิวัฒน์ ใครวิชัย เคยเป็นครูประเภทนี้ ครูผู้แบกรับทุกสิ่ง ก่อนได้ทบทวนความเป็นจริงในหน้าที่ตน
“16 มกราคม วันครูแห่งชาติ” The Active ชวนทำความรู้จักกับครูคนนี้ ที่มีเรื่องสนุกไม่น้อยไปกว่าความทุกข์ในคำว่าครู
แสงแห่งรุ่งอรุณ โรยตัวปกคลุมบรรยากาศของโรงเรียนวัดตโปทาราม ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่นี่เป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีนักเรียน 384 คน
เสียงนุ่มทุ้ม ดังขึ้นจากอาคารเรียนหนึ่งชั้น ที่อยู่ห่างร่มไม้จามจุรีไปเล็กน้อย
อธิวัฒน์ ใครวิชัย คือ เจ้าของเสียงนั้น เด็กน้อยวัย 4 ขวบ ชั้นอนุบาล 2 เรียกชายตรงหน้า ว่า “ครูต้าร์” ผู้ดูเป็นที่รักของเพื่อนต่างวัย
ใช่ ! เขาคือ “เพื่อน” ครูต้าร์บอกกับเราแบบนั้น
“ครูต้าร์คิดว่าเราเป็นเพื่อนเด็กได้ อยากให้เด็กมองเราเป็นเพื่อน ถ้ามองเป็นครูกับศิษย์ ระยะมันจะห่างกัน เวลาเราทำกิจกรรมร่วมกัน ก็จะมีระยะห่าง แต่ถ้าเมื่อใดก็ตาม เราเป็นเพื่อนกัน อยู่ด้วยกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน เขาจะเต็มที่กับเรา เวลาเห็นเขามีความสุข เราก็จะมีความสุขไปด้วย เราเห็นเขาทำเต็มที่ เราก็เต็มที่กับเขาด้วย อันนี้คือตัวตนที่ครูต้าร์คิดว่าเราไม่ใช่ครูแต่เราเป็นเพื่อน เพื่อนที่คอยทำกิจกรรมร่วมกัน คอยบอกในสิ่งที่เพื่อนไม่รู้”
ห้องสี่เหลี่ยมเปี่ยมสุขสนุกสนาน
“กังหันลมหมุนวนไปวนมา วนไปมา วนไปมา กังหันลมหมุนตามลมพา เร็ว ช้า ตามแรงลม” ครูต้าร์ร้องเพลง พร้อมเคาะจังหวะดนตรี ขณะที่เพื่อนตัวน้อยขยับแขน โยกขา ตามทำนองช้า เร็ว
“เมาคลีล่าสัตว์” เด็ก ๆ ตอบพร้อมกัน เมื่อครูต้าร์ถามว่าอยากให้เปิดเพลงอะไร จะได้แดนซ์ด้วยกัน
“เด็ก ๆ คอมพิวเตอร์ครูต้าร์มีปัญหา เดี๋ยวเราเปลี่ยนมาเล่นเกมข้ามสะพานกันนะ”
ครูต้าร์เดินไปหลังห้อง ถือท่อนไม้สี่เหลี่ยมออกมาวาง หลังเทคโนโลยีเจ้ากรรมไม่เป็นใจให้เพื่อน ๆ ได้เต้นเมาคลีล่าสัตว์ ตามคำเรียกร้อง
“กิจกรรมที่ครูต้าร์สอนเด็กอนุบาล เป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ จุดประสงค์ของกิจกรรมคือทำอย่างไรก็ได้ให้เด็ก ๆ ได้ออกกำลังกาย ได้เคลื่อนไหว ครูต้าร์จะถามเด็กว่าอยากทำอะไร ต้องถามก่อนนะ เราจะรู้ว่าเด็ก ๆ เราชอบแบบไหน พวกเขาชอบเต้น ชอบออกกำลังกาย”
เด็ก ๆ วิ่งกรูไปหลังห้อง แล้วต่อแถว เต็มไปด้วยเสียงเจื้อยแจ้ว แต่ก็เบาลงได้ เวลาที่ครูบอกให้ เอามือแตะหัว เอามือแตะตัว เอามือแตะเอว ก่อนให้โจทย์ข้ามสะพานทีละคน และให้เดินช้า ๆ เพราะครูจะเปลี่ยนพลิกไม้ไปมา เสี่ยงตกกันง่าย ๆ นักเรียนดูตั้งใจและเชียร์กันเสียงดัง แบบที่ครูต้าร์ก็เชียร์ไปด้วย
“ยากค่ะ มันแคบ หนูกางแขน” เด็กหญิงตัวน้อยบอกเล่าเคล้าทำท่าให้เราดู
“แต่ผมไม่ต้องกางแขนนะ เดินระวัง ๆ ใช้สมาธิ” เด็กชายอีกคนขอตอบบ้าง เพราะข้ามสะพานแล้วไม่ตกเหมือนกัน
สรุปว่าทุกคนเดินบนท่อนไม้เล็กอย่างระมัดระวัง ก่อนที่นาทีต่อมา ครูต้าร์จะพาพวกเขาเข้าสู่บทเรียน
“หลักสูตรปฐมวัยของโรงเรียนเรา จริง ๆ มี 40 หน่วย แต่ละหน่วยใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ สัปดาห์นี้เป็นเรื่องข้าว เราจะถามเด็ก ๆ ว่ารู้อะไรเกี่ยวกับข้าวมาแล้ว อันไหนที่พวกเขาอยากรู้ แล้วอันไหนที่ควรจะรู้ เป็นกระบวนการสอนปกติสำหรับเด็กปฐมวัยที่ครูต้าร์ร่ำเรียนมา เราก็จัดกระบวนการมาทีละวัน จนถึงวันนี้เป็นวันลงมือปฏิบัติ”
“ข้าวนี้เขาเรียกว่า ข้าวหอมมะลิ” ครูต้าร์บอกให้เด็ก ๆ สัมผัสเมล็ดข้าวสารที่เตรียมมาให้ดูหลายชนิด เพื่อถามว่ารู้สึกอย่างไร
“เมล็ดยาว รี ลื่น ๆ เหมือนแป้ง หอมจริงด้วยค่ะ” เด็กนักเรียนตอบออกมาอย่างมีจินตนาการ
“เก่งมาก ถ้าข้าวสุกแล้วกลิ่นจะหอม” ครูต้าร์ค่อย ๆ อธิบาย เพื่อน ๆ ในห้องตั้งใจฟัง ยิ้มหัวเราะแย่งกันคุยกับครู
เมื่อใดที่ครูต้าร์อยากให้เด็กกลับมาสนใจบทเรียน เขาจะไม่ออกคำสั่งให้เด็กต้องฟัง แต่ให้นักเรียนทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ปรบมือหนึ่งครั้ง เอามือแตะหัว เอามือแตะตัว เอามือแตะเอว สิ่งเหล่านี้ก็เป็นคำสั่ง แต่ไม่ใช่การออกคำสั่งที่ครูพูดจี้ให้เด็กทำตามเหมือนตุ๊กตาไขลาน
“พอครูต้าร์ใช้วิธีแบบนี้ มันทำให้ระยะห่างระหว่างตัวครูกับเด็กไม่ห่างกันมาก พอไม่ห่างกันมาก มันเหมือนเพื่อนอยู่ด้วยกัน เวลาทำกิจกรรมก็จะสนุกสนาน ตรงนี้แหละที่ทำให้เด็กมีความสุขในแบบของครูต้าร์”
บุรุษอนุบาล
ผู้ชาย… เป็นครูอนุบาล ?
มายาคติเรื่องเพศ กับอาชีพ ที่ อธิวัฒน์ ใครวิชัย มักได้รับความแปลกใจให้ต้องเท้าความกันยาว
ย้อนไปช่วง ม.ปลาย อันแสนสุขที่ต้องเลื่อนชั้นเข้ามหาวิทยาลัย อธิวัฒน์ อยากเป็นครูมากกว่าสิ่งใด แต่ทว่าความเข้าใจสับสน ที่คิดว่าครูปฐมวัย คือ ครูชั้นประถม ทำให้หนุ่มหน้ามนคนอุดรฯ เลือกเรียนครุศาสตร์ เอกการสอนปฐมวัย แบบที่ใคร ๆ เรียกว่าจับพลัดจับผลู
แต่มันไม่ยากเกินฝัน เพียงปรับตัวเพื่อเข้าใจความแตกต่างระหว่างเด็กเล็กกับเด็กโต ความรักที่มีให้คำว่าครู ทำให้ยิ่งนานวัน ยิ่งสนุกและลุ่มหลงคำว่า ครูปฐมวัย
“ครูต้าร์จะได้รับความแปลกใจแบบนี้เยอะมาก ไปที่ไหนก็จะมีคนสงสัยว่ามีครูผู้ชายเป็นครูปฐมวัยด้วยเหรอ จะบอกว่าพอเราอยู่กับเด็กเล็ก เราไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องมีวัดผลอะไรจริงจัง เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้เด็กของเราได้พัฒนาตามศักยภาพของเขา ก็เลยเหมือนเป็นความท้าทายของเราด้วย”
600 กิโลเมตร จากตัวเมืองอุดรธานี มาที่โรงเรียนวัดตโปทารามแห่งนี้ ปี 2559 อธิวัฒน์ ใครวิชัย ถูกขานสรรพนามว่า ครูต้าร์ ครั้งแรก
ชีวิตหลังบรรจุไม่หอมหวาน แต่ก็กลมกล่อมพอหล่อหลอมความเป็นครู
“ถ้าเป็นสมัยเรียน ไม่ว่าจะเรียน ทำกิจกรรมอะไรต่าง ๆ ก็จะอยู่กับเด็กตลอด แต่พอเรามาเป็นครูเต็มตัว หน้าที่ของเราไม่ได้มีแค่งานสอน มันเยอะกว่านั้น ภาระงานหน้าที่ต่าง ๆ มีมากที่ครูต้องทำให้ได้ ทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ต้องเห็นทุกอย่างสำคัญ”
เมื่อครั้งเป็นครูใหม่ ๆ ทุกวันหลังเข้าชั้นเรียน ครูต้าร์ จะให้เด็ก ๆ ฝึกอ่าน หัดเขียน มองเห็นเแววตาของศิษย์ตัวน้อย ส่งสัมผัสถึงความเหนื่อยล้า
“มันไม่ใช่การพัฒนาเด็กจริง ๆ” ครูปฐมวัยคนนี้ฉุกคิด เมื่อเห็นเด็กไม่มีความสุข เขาเองก็ยิ่งเป็นทุกข์ สองปีแรกกับการเป็นครู เขากลับบ้านพักแล้วคุยกับตัวเองทุกวันว่า ทำไมวันนี้เหนื่อยจัง อ่อนเพลีย ไม่อยากตื่นไปโรงเรียน พลันหาคำตอบได้ว่า ถ้าเป็นเด็กที่ต้องมาโรงเรียนแล้วไม่มีความสุขจะทุกข์ขนาดไหน เมื่อลองปรับเปลี่ยนหัวใจ ครูต้าร์ เลยลองวิธีการใหม่ ใช้ ความสุขเป็นศูนย์กลาง
“คนเป็นครูจะเชื่อว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คือ หล่อหลอมเขาให้เป็นเด็กดี เป็นคนดีของสังคม เด็กแต่ละปีแตกต่างกัน บางปีมีความพร้อม บางปีไม่มีความพร้อม เราจะทำอย่างไรให้เขาสามารถพัฒนาตัวเองได้”
สองปีให้หลัง ครูต้าร์ ขยับห้องสี่เหลี่ยมให้เป็นห้องเรียนที่มีชีวิต ซึ่งดูเหมือนเด็ก ๆ จะมีความสุขเหลือเกิน
“ถ้าเรานับจากความรู้สึกตัวเองนะ ตอนที่เราเป็นนักเรียน จำเจอยู่แต่ในห้องเรียน เจอแต่ตัวหนังสือ เจอแต่ตัวเลข เราก็ไม่มีความสุข สิ่งเหล่านั้นถ้าเราไม่มีความสุข ถามว่าเด็กมีความสุขไหม ฉะนั้นความท้าทายของครูต้าร์ก็คือ ทำอย่างไรให้เด็กมาโรงเรียนแล้วมีความสุขที่สุด”
ห้องเรียนโรงนา
อากาศหนาวในโรงเรียนอุ่นสบาย เพราะเด็ก ๆ ได้ออกจากห้องสี่เหลี่ยมมาอยู่ด้วยกันที่โรงนา ถัดจากห้องเรียนไม่กี่ร้อยก้าว
ที่นี่เต็มไปด้วยข้าวของต่าง ๆ ทั้งกระบุง ตระกร้า งอบ เมล็ดพันธุ์ข้าว ถังน้ำ และทุ่งหญ้ากว้างขวาง ที่เด็ก ๆ ต่างยิ้มร่าเข้าไปวิ่งเล่น ครูต้าร์เรียกที่นี่ว่า ห้องเรียนธรรมชาติ สื่อการสอนที่พานักเรียนออกมาข้างนอก ในวันที่ เรียนเรื่องข้าว
“โรงเรียนครูต้าร์ดีอย่าง คือ มีธรรมชาติ มีศูนย์การเรียนรู้ เวลาสอนจะเน้นการปฏิบัติให้เด็ก ๆ ได้เล่น มากกว่าสอนตามรูป ครูต้าร์อยากให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ของจริง ฉะนั้น ห้องเรียนครูต้าร์ก็จะอยู่ข้างนอก ตามใต้ต้นไม้ มานั่งดูว่าต้นหญ้ามีสีต่างกันอย่างไร เรียนรู้ว่าต้นหญ้าที่ตายแล้วมีสีแบบไหน ดอกไม้ที่เราเห็นชื่อว่าอะไร เอาไปทำอะไรได้อีก เช่น ดอกอัญชัญ นอกจากจะได้รู้ว่ามันสวยงาม เขาก็จะได้รู้ว่ามันรับประทานได้ ครูต้าร์อยากให้พวกเขาได้มาเรียนรู้การใช้ชีวิต”
“ใครที่ไปถึงแล้ว ให้ถอดรองเท้ารอครูต้าร์นะลูก” เสียงครูเอ่ยขึ้น พลางมองเพื่อนซี้ต่างวัยเดินข้ามสะพานไปอีกฟาก คราวนี้ไม่ใช่ท่อนไม้ แต่คือสะพานไม้ของจริง ที่เด็ก ๆ ค่อนข้างคุ้นชินกับการระแวดระวัง
“เมื่อเช้ากิจกรรมเดินบนท่อนไม้ ครูต้าร์คิดมาแล้วว่า พอมาถึงทุ่งนาเด็ก ๆ ต้องข้ามสะพานจริง ๆ ก็วางแผนไว้ถ้าเขาได้เรียนรู้ ณ ตอนที่อยู่ห้องเรียน เขาจะรู้ว่าเดินข้ามสะพานวิ่งกันไม่ได้ จะต้องระมัดระวัง อันนี้ครูต้าร์ไม่ได้บอกเด็ก ๆ แต่เขาได้เรียนรู้เอง เห็นไหมครับ พอมาถึงสถานที่จริง มาเจอสะพาน เขารู้ว่าต้องเดินทีละคน”
ห้องเรียนขณะนี้อยู่ใต้ถุนของโรงนา เด็กน้อยกำลังตั้งใจฟังตำนานพระแม่โพสพ และประเพณีทำขวัญข้าว ที่ครูเล่าเป็นนิทาน เด็ก ๆ ออกอาการตื่นเต้น อยากรู้อยากเห็นมากขึ้น ๆ ยกมือถามไม่มีเบื่อ
ไม่นานครูต้าร์ก็ชวนไปดูสิ่งใหม่ในทุ่งนา ให้วิ่งเล่นอย่างอิสระ แถมเด็ดดอกผักบุ้งมาให้ครูเต็มกำมือ คล้ายอยู่ในบรรยากาศวาเลนไทน์
“มันคือ Active Learning เด็ก ๆ ได้เห็นจริง ๆ ได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้มาเรียนรู้ผ่านการเล่น”
ดื่มด่ำบรรยากาศท้องทุ่งนาที่มีต้นข้าวชูรวงกันจนหนำใจ ครูต้าร์ก็ให้เด็ก ๆ ลองหว่านเมล็ดข้าวเปลือกสวมบทบาทชาวนา
“อยู่กับเด็ก ๆ ดูเหมือนไม่ต้องคิดมาก จริง ๆ แล้วกิจกรรมทุกอย่างเรามีความคาดหวัง คืออย่างน้อย ๆ ให้เด็กได้ลองทำ และอย่างมาก ๆ ก็คือเด็กเกิดการเรียนรู้ว่าข้าวที่เขาทานแต่ละมื้อมีที่มาอย่างไร ยากเย็นขนาดไหนกว่าจะได้ เขาจะเกิดการเรียนรู้เอง”
จวนถึงเวลาพักกลางวัน ครูต้าร์กับเด็ก ๆ พากันเดินข้ามสะพานไปยังโรงอาหาร ที่มีแม่ครัวสวมบทบาทแม่ครู แนะนำเมนูขนมที่ทำจากข้าว ก่อนจบบทเรียนด้วยข้าวสวยร้อน ๆ ใส่จาน พร้อมมื้ออาหารแสนอร่อยให้เด็ก ๆ ได้กินกันไปแบบรู้ที่มา
“ถามว่าครูต้าร์วัดประเมินความรู้จากไหน ครูต้าร์จะไม่วัดประเมินจากเกรด วัดแค่ว่าเด็ก ๆ ทานข้าวแล้วพวกเขามีความสุขไหม ทานข้าวแล้วรู้ประโยชน์ไหม ต่อไปนี้ต้องทานอย่างเห็นคุณค่า ไม่ใช่ทานทิ้งทานขว้าง”
ครูบันดาลไฟ
ความสุข คือ แรงขับดันหลายแรงม้าที่พาครูต้าร์เดินทางบนเส้นทางของการเป็น ครู
ทว่าเรื่องน่ายินดี ก็เคยเจือด้วยความเศร้าหม่น ที่คนเป็นครูในระบบมักตบไหล่เข้าอกเข้าใจกันดี ในช่วงปีแรก ๆ ของการปรับตัว
“เราเป็นครู ก็อยากสอนนักเรียน อยากอยู่กับเด็ก อยากพัฒนาเด็ก แต่งานในโรงเรียนเราปฏิเสธไม่ได้ อย่างการเป็นครูโครงการอาหารกลางวัน ดูแลอาหารกลางวันเด็กทั้งโรงเรียน และถูกมอบหมายให้เป็นวิทยากรต่าง ๆ มันเคยบั่นทอนกำลังใจเราเรื่อย ๆ รู้ว่ามันคือหน้าที่ แต่ตอนนั้นเราไม่ได้เต็มใจที่จะทำ”
ไฟในตัวครูบรรจุใหม่ ค่อย ๆ สิ้นเชื้อทีละน้อย ๆ หลังเก็บชั่วโมงบินไม่นาน ก่อนเริ่มยอมรับมันได้ เหมือนคนเข้าใจโลก เมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนแนะนำให้ไปเข้าร่วม ก่อการครู โครงการที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมเหล่าผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ ช่วยหา เหตุผลการมีชีวิตอยู่ในระบบการศึกษา ให้แก่ครูผู้ผ่านความบอบช้ำ และถูกลดทอนพลังจากระบบและโครงสร้างงาน
“ครูต้าร์เข้าก่อการครู ปี 2562 ก่อนหน้านี้ 2-3 ปี ความตั้งใจจะเข้าไปสอนเด็กของเรามันเริ่มอ่อนแรงลง เราเริ่มทำใจได้ว่าไม่เต็มที่กับเด็กไม่เป็นไรหรอก แต่พอเข้าก่อการครูเหมือนเราได้จุดไฟขึ้นมาอีกครั้งว่าตัวเราสำคัญนะ เราสามารถสนุกกับการสอนเด็กได้ สามารถอยู่กับภาระอื่น ๆ ได้ เพราะเครือข่ายก็เจอปัญหาเหมือนกัน ได้ปรับทุกข์กัน แล้วก็แลกเปลี่ยนวิธีการดี ๆ ให้กัน ลึก ๆ แล้วพอเราอยู่กับเด็ก เรามีความสุขมาก”
หมุดหมายที่แข็งแรงจากครูพันธุ์เดียวกัน ทำให้ครูคนนี้เริ่มปรับใจได้ว่าโครงการอาหารกลางวันที่แบกไว้ ก็ทำเพื่อเด็กให้มีความสุข
“เราเห็นวิธีการใหม่ ๆ ในการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กด้วย เราเห็นว่าการจัดการศึกษาไม่ได้มีแค่วิชาการเท่านั้น มันมีหลากหลายวิธี สำคัญคือเราเห็นตัวเด็กแล้วจะทำอย่างไรให้พวกเขามีความสุข ครูต้าร์มองสิ่งเหล่านี้เห็นชัดขึ้นในก่อการครู”
ครู คือ มนุษย์ ไม่ใช่ยอดมนุษย์ เป็นสิ่งที่ตัวละครเอกในแวดวงการศึกษา อยากให้สังคมเข้าใจธรรมชาติว่า ครูก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ที่เจ็บได้ร้องไห้เป็นเหมือนทุกคน แค่อาจฝืนยิ้มมากหน่อย เพราะมีคำว่าแม่พิมพ์ที่ดีประทับไว้
แต่เมื่อเลือกแล้วว่าตัวเองจะอยู่ในหมวดของคนที่มีเมตตา เพื่อส่งความปรารถนาของการเกิดสุขไปยังผู้เรียน ครูต้าร์คนนี้ ได้จัดวางตัวเองเป็น ไม้ขีดไฟ
“ครูอนุบาลเหมือนไม้ขีดก้านแรก ที่จะจุดไฟให้กับนักเรียนได้เติบโตต่อไป สิ่งที่คาดหวังและอยากจะเห็น หรือเป้าหมายของครูต้าร์ในความเป็นครู คือ อยากเห็นนักเรียนของเราเติบโตไปเป็นคนดีที่มีความสุข แค่นั้นก็โอเคแล้ว”
วันที่เราได้พบกับครูต้าร์ จ.ชลบุรี ยังไม่มีเหตุการณ์ให้ถูกเติมสีพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มข้นจากโรคระบาด แต่คำบอกเล่าจากครูคนนี้ที่มอบไว้ท้ายบทสนทนา น่าจะพอชุบใจให้ครูทุกคนในประเทศไทย ทั้งในวันครูแห่งชาติปีนี้ และทุก ๆ วัน
“อยากให้กำลังใจครูทุกท่านในประเทศนี้ว่า ถ้าท้ออยู่ ลองเปลี่ยนหาวิธีการใหม่ ๆ ที่จะมีความสุขกับชีวิต มีความสุขกับเด็กของเรา หากสิ่งที่ทำอยู่คิดว่าบั่นทอน ให้ลองมองกลับไปในหน้าที่เรา มองกลับอีกมุมว่าเรากำลังทำเพื่อเด็ก ๆ อันนี้มาจากประสบการณ์ครูต้าร์ที่ทำแล้วมีความสุข อยากเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกท่านเลย”