คุยกับ ‘นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์’ โฆษกกรมสุขภาพจิต
หรือประเทศไทยจะไปสู่ ‘การระเบิดของความหวาดกลัว’ !?
ฟังไม่ผิด! เพราะต่อจากนี้คือคำทำนายอนาคตประเทศไทยในด้านสุขภาพจิตในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ไม่ได้มาจากแม่หมอพยากรณ์ทำนายโชคชะตา เพราะมาจากการเก็บข้อมูลของงานวิจัยชิ้นสำคัญ จนท้ายที่สุดสรุปออกมาได้เป็น 5 สถานการณ์สำคัญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ตั้งแต่ในระดับที่เลวร้ายที่สุด ไปจนถึงดีที่สุด
จากสถิติทั่วโลก พบว่า เรากำลังสูญเสียการทำงานมากกว่า หนึ่งหมื่นล้านวัน/ปี ด้วยปัญหาสุขภาพจิตของประชากร นี่คือต้นทุนมนุษย์ที่เรากำลังสูญเสียไปพร้อมกับความหวาดกลัว ว่างเปล่า และเปราะบางของคนในสังคม
การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี มีนโยบายที่เหมาะสมของรัฐ และการร่วมมือของทุกภาคส่วนจึงล้วนมีส่วนในการกำหนดชะตาอนาคตสุขภาพจิตไทยทั้งสิ้น
The Active ชวนอ่านบทสรุป งานวิจัย ‘อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 – Futures of Mental Health in Thailand 2033’ ไปกับ หมอแนต – นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เจอข้อค้นพบคืออะไร ? วันนี้ประเทศไทยอยู่ตรงไหน ? และสถานการณ์แบบใดในอนาคตที่เราต้องเผชิญ ?
เมื่อผู้ป่วยจิตเวชพุ่งทะยาน สวนทางกับจำนวนบุคลากร
ภายในแค่ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มนุษย์ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ด้วยการมาถึงของเทคโนโลยีและโรคระบาด สังคมและสภาพแวดล้อมรอบตัวเปลี่ยนไปอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว มนุษย์ต่างเผชิญกับสถานการณ์กดดัน มีความเครียดสูงขึ้น ไม่แค่ในประเทศไทยแต่นี่ปัญหาระดับโลก
“โลกเรามีแนวโน้มมีปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเรื่องในระดับสิ่งแวดล้อม อย่างการเกิดก๊าซเรือนกระจก ภัยหนาว หรือการมาถึงของโรคระบาด รวมถึงการเข้ามาของเทคโนโลยี นำไปสู่การพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว จนทำให้ผู้คนห่างกันมากขึ้น
“สิ่งเหล่านี้บีบให้มนุษย์ต้องปรับตัว แม้ความสามารถในการปรับตัวเป็นสิ่งที่อยู่คู่มนุษย์ แต่หากต้องเจอสถานการณ์ที่ต้องปรับตัวเร็วมาก ๆ ก็ทำให้ความเครียดสูงขึ้นได้” นพ.วรตม์ เล่า
ขณะที่การมาถึงของเทคโนโลยีก็เป็นข้อดีที่ทำให้คนได้รู้จักปัญหาสุขภาพจิตได้มากขึ้นแตกต่างจากหลายปีก่อน
“15 ปีที่แล้ว คนไทยแทบยังไม่กล้าพูดคำว่า ‘โรคซึมเศร้า’ อย่างตรงไปตรงมาด้วยซ้ำ แต่วันนี้ เราเห็นคนกล้าเปิดเผยตัวเองว่าเจ็บป่วยจากโรคทางจิตเวชมากขึ้น สังคมเริ่มคุ้นเคย ทำให้มีการตีตราลดลง ทำให้คนไทยกล้าพูดเรื่องสุขภาพจิตได้อย่างไม่เคอะเขินกระดากปากอีกต่อไป”
เมื่อเรามีคนป่วยมากขึ้น และมีความรู้ในการเข้าถึงการรักษามากขึ้น ทำให้ความต้องการในการบำบัดรักษาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ทรัพยากร อย่างสถานพยาบาลหรือบุคลากรยังมีจำนวนเท่าเดิม ซึ่งน้อยจนไม่สอดรับกับความต้องการ
“ตลอด 33 ปี ที่ผ่านมา โรคทางจิตเวชเป็นโรคเดียวที่ไม่เคยมีจำนวนคนไข้ลดลงเลย ขณะที่โรคทางร่างกายอื่น ๆ ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือลดลงบ้าง
“การผลิตจิตแพทย์คนหนี่งใช้เวลากว่า 10 ปี ในขณะที่นักจิตวิทยาต้องใช้ระยะเวลา 4-5 ปี การผลิตบุคลากรออกมาสักคนหนึ่งมันต้องใช้เวลาไม่น้อย ระบบนี้อาจสอบรับกับจำนวนผู้ป่วยในอดีต แต่ไม่ใช่กับในปัจจุบันนี้อีกแล้ว ตอนนี้จำนวนผู้ป่วยพุ่งทะยาน การผลิตคนเพียงแค่นี้คงยังไม่เพียงพอ” นพ.วรตม์ เล่า
ด้วยระยะเวลายาวนานในการผลิตคน ไม่สอดรับกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มอย่างก้าวกระโด ทำให้ตอนนี้ สังคมไทยเกิดช่วงที่เป็นช่องว่าง (gap) ของความไม่สมดุล การทำอะไรบางอย่างในช่วงเวลานี้จึงน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด
ทางกรมสุขภาพจิตจึงคิดว่า ระหว่างที่เร่งผลิตบุคลากรอยู่นี้ ควรต้องเร่งเพิ่มองคาพยพอื่นในระบบด้วย เช่น บุคลากรในพื้นที่อย่างอาสาสมัคร อสม. รวมถึงสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี และเริ่มมองหาทรัพยากรจากภาคส่วนอื่น ๆ ที่แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพจิตโดยตรงแต่มีความสนใจร่วมกัน
“บางภาคส่วนก็ไม่ได้ทำงานด้านสุขภาพจิตโดยตรง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับทุกคน เราเห็นเทรนด์ของบริษัทเอกชนหลายแห่งพูดกันมากเรื่อง engage employee หรือ การให้พนักงานมีความผูกพันธ์ต่อองค์กรเพื่อให้รู้สึกรัก และทำงานอย่างทุ่มเท แต่ในความเป็นจริง เราเห็นหนุ่มสาวออฟฟิศมากมายบ่นว่า burn out กับงานบ้าง อยากลาออกบ้าง หรือเข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นเรื่องสุขภาพจิตโดยตรง”
เปิด 5 คำทำนาย อีก 10 ปี ประเทศไทยเดินไปสู่จุดไหน
นี่จึงเป็นที่มาของการเปิดงานวิจัยชิ้นสำคัญอย่าง ‘อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 – Futures of Mental Health in Thailand 2033’ โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ร่วมกับภาคเอกชนอย่าง ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) สะท้อนภาพอนาคตสุขภาพจิตของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า
“งานวิจัยนี้ไม่ใช่การพยากรณ์ (forecast) แบบหมอดูที่มาทำนายดวงเมืองนะ แต่มันคือการคาดการณ์เหตุการณ์ล่วงหน้า (foresight) เป็นการศึกษา future study ที่จะคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ที่มีตั้งแต่เลวร้ายที่สุดไปถึงดีที่สุด”
มีภาพเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นได้บ้างในอนาคต The Active สรุปมาให้ฟังสั้น ๆ ได้ตามนี้
สถานการณ์ที่ 1 การระเบิดของความหวาดกลัว (Terror outburst) – สถานการณ์นี้รุนแรงที่สุด ประชาชนถูกละเลยปัญหามาอย่างยาวนานจนระเบิดความเจ็บปวดออกมา พัฒนาเป็นความสิ้นหวัง หวาดกลัว และนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด
สถานการณ์ที่ 2 วิกฤตที่แฝงด้วยโอกาส (Opportunity in adversity) – สถานการณ์ผันผวน เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ผู้คนตกอยู่ในความกังวล คนต้องแยกกันอยู่เพื่อเอาตัวรอดและเริ่มดิ้นรนสร้างความเปลี่ยนแปลง ผู้คนดิ้นรนเพราะไม่อยากให้ลูกหลานต้องลำบาก องค์กรที่มีอยู่จะพยายามหาทางจัดการปัญหา จึงทำให้มีความหวังอยู่บ้าง
สถานการณ์ที่ 3 มวลชนผู้โดดเดี่ยว (Packs of lone wolves) – ผู้คนมีชีวิตบนโลกดิจิทัลเต็มรูปแบบ เกิดการเชื่อมต่อของจริงโลกเสมือนมากขึ้น ชีวิตสะดวกสบาย คนพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่กลับโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา และใช้ชีวิตอย่างสันโดษ เกิดความเหลื่อมล้ำสูงและกดดันมากขึ้นไม่ต่างจากฝูงหมาป่าเดียวดาย
สถานการณ์ที่ 4 สุขภาพใจที่กระจายถึงกัน (Decentralized mental well-being) – คนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เพราะมีกิจกรรมที่เหมาะสมให้คนทุกกลุ่ม ผู้คนมีความภูมิใจในบ้านเกิดเนื่องจากการกระจายอำนาจของรัฐสู่ท้องถิ่น ทรัพยากรด้านสุขภาพจิตก็ถูกออกแบบให้เข้ากับความต่างของแต่ละพื้นที่ได้อย่างดี คนจึงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและมีความสุข
สถานการณ์ที่ 5 จุดหมายแห่งความสุขประเทศไทย (Land of smiling minds) – ไทยกลายเป็นต้นแบบด้านสุขภาพจิต และเป็นจุดหมายให้ผู้คนทั่วโลกเข้ามาใช้ชีวิต ผู้ป่วยมีความหวังว่าจะหายจากอาการทางจิตเวช ผู้คนมีความสัมพันธ์ที่ดี มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญในทุกมิติสุขภาพจิต ประชาชนรู้สึกมีความสุข และภาคภูมิใจราวกับเห็นว่าเมืองไทยคือฟ้าอมร
ทั้ง 5 สถานการณ์ถูกไล่เรียงมาตั้งแต่เลวร้ายที่สุดไม่ต่างจากภาพเมืองที่ล่มสลายในภาพยนตร์ ไปจนถึงภาพเมืองที่ดีที่สุดราวกับเป็นวิมานในฝัน นักวิจัยยืนยันว่าทุกเส้นทางมีความเป็นไปได้ทั้งหมด อยู่ที่ว่าวันนี้เราเลือกทำปัจจุบันอย่างไร
โดยวิธีการวิจัยจะเริ่มจากการหาข้อมูลสัญญาณการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหตุการณ์กราดยิง การฆ่าตัวตาย ฯลฯ ที่เป็นชนวนเหตุแห่งปัญหาสุขภาพจิต จากนั้นนำมาวิเคราะห์ว่าปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังคืออะไร จากนั้นจึงนำมาเป็นตัวตั้งเพื่อสร้างสถานการณ์จำลอง
“เรามีความหวังว่าอยากให้อีก 10 ปี ข้างหน้า เราจะเป็นจุดหมายแห่งความสุขประเทศไทย (Land of smiling minds) ที่ไม่ใช่แค่คนไทยมีความสุขเท่านั้น แต่อยากให้ทั้งโลกรู้ว่า พื้นที่แห่งนี้มีแต่คนที่มีสุขภาพจิตดี นักท่องเที่ยวอยากกลับมาเที่ยว ชาวต่างชาติก็อยากเข้ามาอยู่ในไทย เราอยากเห็นระบบสุขภาพจิตที่ดีกระจายไปทั่วทุกที่
“มันคงเหมือนกับหนังแบบมัลติเวิร์ส ที่มีเส้นทางมากมายเต็มไปหมด ไม่ได้มีเส้นทางที่ดีที่สุดเส้นทางเดียว เราอาจไม่ได้ต้องไปถึงภาพที่ดีที่สุดทั้งหมดก็ได้ เพราะยังมีความเป็นไปได้อื่น ๆ ที่ระหว่างทางที่ไม่แย่เกินไปอยู่เหมือนกัน
“สุดท้ายแล้ว อีก 10 ปีข้างหน้า บ้านเมืองเราจะเดินไปสู่สถานการณ์ไหนนั้น มันขึ้นกับว่าวันนี้เราทำอะไรอยู่ ผมเชื่อว่าอนาคตเปลี่ยนแปลงได้โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้”
นพ.วรตม์ กล่าวทิ้งท้าย
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- จาก “ห้องทดลองนโยบาย” สู่การถอดรหัส “สุขภาพใจ” | คุยกับ ‘ฑิฟฟาณี เชน’ แห่ง Thailand Policy Lab
- 8 ขั้นตอนออกแบบนโยบายสาธารณะ เพื่อแก้ปัญหาประเทศตรงจุด-ยั่งยืน
- 8 นวัตกรรมดูแลสุขภาพจิต “HACK ใจ” ครั้งแรกในไทย
- ภาพอนาคต ‘สุขภาพจิต’ คนไทย ทำอย่างไร ? ไม่ไปสู่ระเบิดความหวาดกลัว
- มองจินตภาพใหม่ ออกแบบนวัตกรรม รับนโยบาย ‘สุขภาพจิต’