เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าการแสดงออกของคนคนหนึ่งที่ปรากฏเป็นกระแสอยู่บนโลกออนไลน์ มาจากตัวตนหรือความต้องการของคนคนนั้นจริง ๆ? นี่อาจเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในหัวของใครหลายคนช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าเป็นอาการของ “การปั่นหัวให้รู้สึกผิด” หรือ Gaslighing หรือไม่
นอกจากความเคลื่อนไหวที่ถูกเชื่อมโยงกับกลุ่มทางการเมือง การถูกปั่นหัวแบบนี้ยังเกิดขึ้นได้กับเรื่องอื่น ๆ ทั้งอาชญากรรมทางเพศ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน คู่รัก แม้กระทั่งเจ้านาย
แต่สำหรับบางคนที่ยังไม่เข้าใจคำนี้ ลองมาสำรวจตัวเองกันว่า ที่คุณกำลังเสียความมั่นใจ สับสน รู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา เพราะมี Gaslighting เกิดขึ้นในความสัมพันธ์หรือเปล่า…? กับ นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ และโฆษกกรมสุขภาพจิต
ความจริงแล้วคำว่า Gaslighting ไม่ได้เป็นชื่อโรค หรือศัพท์ทางการแพทย์แต่อย่างใด แต่ถูกใช้เพื่อเรียกผู้ที่ตกอยู่ในภาวะนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1994 ตามภาพยนตร์เรื่อง “Gaslight” ภาพยนตร์เขย่าขวัญแนวจิตวิทยาอเมริกัน กำกับโดย George Cukor พูดถึงสามีที่มีนิสัยเจ้าเล่ห์ที่อยากได้สมบัติของภรรยา จึงพยายามทำให้เธอเสียสติ ทั้งอาการหลงลืม ได้ยินเสียงแปลก ๆ และรู้สึกถึงความผิดปกติในบ้าน
โดยคำว่า “Gaslight” ที่แปลว่า ตะเกียง มาจากฉากหนึ่งที่สามีใช้ในการปั่นหัวภรรยา คือการหรี่ไฟตะเกียงในบ้าน เมื่อภรรยาสงสัยและถามว่าตะเกียงมืดลงหรือเปล่า แต่สามีปฏิเสธว่าเธอคิดไปเอง และทำซ้ำทุกวัน ๆ ภรรยาจึงเกิดความสับสนและเสียสติไปจริง ๆ
คุณหมออภิชาติ อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะดังกล่าว จะมีความรู้สึกไม่สบายใจ ไม่มั่นใจ เป็นทุกข์ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ในกรณีที่เพิ่งเริ่มความสัมพันธ์กัน หากรู้ตัวเร็ว ผลกระทบก็อาจจะเกิดขึ้นไม่มาก แต่ถ้าไม่รู้ตัวอยู่กันมานานเป็นสิบปี ถูกกระทำซ้ำเรื่อย ๆ บางครั้งทำให้เกิดปัญหาระยะยาว ถึงหลุดจากความสัมพันธ์ก็อาจจะตามหลอกหลอนถึงปัจจุบัน
แน่นอนว่าสำหรับคนนอก เรื่องนี้อาจจะสังเกตได้ง่ายว่าความสัมพันธ์แบบไหนเป็น Gaslighting แต่ไม่ใช่สำหรับคนที่อยู่ในความสัมพันธ์ ดังนั้น อาจจะลองสังเกตจากความรู้สึกของตัวเองดังนี้
- เมื่อคู่ของเราบอกว่าสิ่งที่ทำให้เกิดจากความปรารถดี แต่ตัวเองรู้สึกในเชิงลบ ยิ่งได้ยิ่งเศร้า แสดงความความปรารถนานั้นเริ่มมีปัญหา เพราะความปรารถนาดีกับวิธีการ คือคนละเรื่องกัน
- หากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะการตัดสินใจผิดพลาด มักจะโทษว่าเรื่องนั้นเป็นความผิดของเรา หรือเป็นเพราะเรา ยิ่งไปกว่านั้นหากเราโต้ตอบด้วยอารมณ์อาจจะถูกต่อว่าเรื่องใช้อารมณ์
- บางครั้งอาจมีการพูดจาด้อยค่าการกระทำของเรา เช่น สิ่งที่เราทำก็แค่เรื่องปกติ สิ่งที่เขาทำต่างหากที่พิเศษ
- หลังมีปัญหาและพยายามปรับความเข้าใจกัน เขามักจะบอกว่าเราเข้าใจผิดไปเอง หรือจำรายละเอียดไม่ได้
เมื่อเราลองสังเกตจากความสัมพันธ์ในลักษณะของ Gaslighting แม้จะยังไม่เกิดการทำร้ายร่างกาย แต่คุณหมออภิชาติ บอกว่า นี่เป็นความรุนแรงทางอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด บางครั้งอาจหนักจนผู้ถูกกระทำไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ เพราะความรู้สึกมั่นใจ ภูมิใจในตัวเองได้หายไป
“บางกรณีเราอาจจะพบว่ามีการใช้เพื่อฉกฉวยผลประโยชน์ โดยทำให้อีกฝ่ายเชื่อว่าไม่มีความสามารถพอ ขอให้เขาเป็นคนดูแลทรัพย์สินก็มี ดังนั้น ดีที่สุดคือการที่เรารู้เท่าทัน เมื่อไหร่ที่เรารู้สึก เอ๊ะ! สงสัยในความสัมพันธ์ เราอาจจะต้องหาตัวช่วยจดบันทึก หาหลักฐาน คุยกับคนที่เราไว้ใจได้ เว้นระยะห่างจากความสัมพันธ์นั้นก่อน”
นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ
ขณะที่การใช้ Gaslighting เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ กลุ่มที่น่าห่วงและเป็นโจทย์ท้าทาย คือ เด็กและเยาวชน เนื่องจากเมื่อเกิดปัญหาชีวิตบางครั้งอาจจะปรึกษาคนในวันเดียวกัน หรือผู้ใหญ่ที่เพิ่งรู้จัก ซึ่งหากไม่ทันระวังก็อาจจะถูกฉกฉวยผลประโยชน์ได้ง่าย ผลกระทบที่ตามมาคือการที่เด็กและเยาวชนคนนั้นจะเสียความมั่นใจ ก้าวร้าว เป็นเครื่องมือของผู้ที่ไม่หวังดีได้ จึงควรกลับมาเริ่มต้นตรงจุดที่ใกล้ชิดที่สุดคือ ครอบครัว ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลภาวะอารมณ์ จิตใจ ของลูกหลาน หากสังเกตได้ตั้งแต่ต้นก็จะช่วยป้องกันปัญหาอื่น ๆ ได้ด้วย